|
หนังสือปีใหม่ ปีเปิกใจ้ จ.ศ. ๑๓๗๐
หนังสือปีใหม่ ปีเปิกใจ้ (ปีชวด สัมฤทธิศก จ.ศ. ๑๓๗๐) ปกติมาส ปกติวาร อธิกสุรทิน

มังคลวุฒิสิริศุภมัสตุ จุลศักราชได้ ๑๓๗๐ ตัว กุญช์ฉนำ กัมโพชพิสัย เข้ามาในคิมหันตอุตุ จิตรามาส สุกรปักษ์ อัฏฐมี รวิวาระไถง ไทภาษาว่าปีเมืองใค้ เดือน ๗ ออก ๘ ค่ำ พร่ำว่าได้วันอาทิตย์ วันไทวันก่าเม็ด วันที่ ๑๓ เมษายน ๒๕๕๑ ยามนั้นระวิสังขานต์มีตนเรื่อเรืองงามประดุจดั่งคำสิงคี ประดับตนดีด้วยรัตตอาภรณ์สีแดง ใส่เครื่องประดับอันงามเลิศแล้วด้วยแก้วประวาฬปทัมราค มือขวาถือดอกบัว มือซ้ายถือผาลา (หอก) ยืนบนเศวตอาชาสินธพ คือม้าตัวขาวพรรณพิลาศ ยัวริยาตรย้ายตนไปจากมีนราศีประเทศ โดยโคจรวิถีไปสู่เมษราศีอันมีหนปุพพตะวันออก ในยามตูดเดิก็ เวลา ๑๘ นาฬิกา ๕๕ นาที ๔๘ วินาที คนทังหลายจิ่งเรียกว่า สังขานต์ล่อง
ยามนั้นยังมีนางเทวดาชื่อ ธังสี ยืนถ้ารับเอาขุนสังขานต์ ด้วยเหตุปีนี้สังขานต์ไปวันอาทิตย์ จักเดือดร้อนแก่ชาวเมือง บ้านเมืองจักมีข้าเสิก็สงคราม ปีนี้เสาร์ตกภูมิ ฝนจักมีปานกลาง หัวปีมีมาก กลางปี หล้าปี บ่มีหลาย เคราะห์เมืองจักมีด้วยข้าวของจักแพง คนจักวิวาทผิดเถียงกัน คนมีทรัพย์มากจักเดือนร้อน ของแดงลายจักมีราคา ของขาวจักถูก คนเกิดวันอังคารจักมีเคราะห์ คนเกิดวันเสาร์จักมีโชคลาภ ในวันสังขานต์ไปนั้น จุ่งหื้อพากันไปสู่แม่น้ำทางไขว่ เค้าไม้ใหญ่ อว่ายหน้าไปสู่ทิสสะวันตกแจ่งเหนือ พากันสระเกล้าดำหัว อาบองค์สรงเกศด้วยคาถามนต์วิเศษว่า "สัพพะทุกข์ สัพพะโศก สัพพะโรค สัพพะภัย สัพพะอันตรายทั้งมวล จุ่งตกไปด้วยปีเดือนวันยามนี้เต๊อะ โอมทุเรทุเร เภทะสวาหาย"
ปีนี้ศรีอยู่ลิ้น กาลกิณีอยู่อก จังไรอ่ยู่สะดือ เอาส้มป่อยเช็ดคว่างเสีย ผีหัวหลวงอยู่ทิศพายัพ ดำหัวอย่าบิ่นหน้าไปทางนั้น แล้วมานุ่งผ้าผืนใหม่ เหน็บดอกไม้นามปี ปีนี้ดอกแก้ว ไทยว่าดอกพิกุล เปนพระญาดอก ควรเอามาเหน็บเกศเกล้ามวยผม และเหน็บไว้ประตูบ้าน ประตูเรือน เปนมังคละ จักอยู่สุขสวัสสดีชะแล
ในเดือน ๗ ออก ๙ ค่ำ ตรงกับวันจันทร์ที่ ๑๔ เมษายน ไทได้วันกาบสัน เปนวันปูติ คือวันเน่า ปีนี้เน่าวันเดียว อย่าไปทำมงคลในวันนี้ อย่าได้วิวาทผิดเถียงเดือดด่า จักบ่ดีตลอดปี หื้อได้พากันขนทรายเข้าวัด กวาดข่วงไม้สรี พระเจดีย์ วิหาร จักได้พ้นเคราะห์กับตนกับบ้านเมืองและพระพุทธศาสนา
ในเดือน ๗ ออก ๑๐ ค่ำ ตรงกับวันอังคารที่ ๑๕ เมษายน วันไทวันดับเร้า เปนวันพระญาวัน พระสุริยะอาทิตย์เสด็จสถิตทิพยวิมานในเวลากาลได้ยามเดิก็ เวลา ๒๒ นาฬิกา ๕๓ นาที ๒๔ วินาที
ยามนั้นจุลศักราชขึ้นแถม ๑ ตัว เปนจุลศักราช ๑๓๗๐ ตัว ชวดฉนำกัมโพชพิสัย ไทภาษาว่าปีเปิกใจ้ หื้อได้พากันได้กระทำบุญหื้อทาน ทานเจดีย์ทราย ช่อ ตุง ไม้ค้ำสรี พากันสระสรงองค์พุทธรูปเจ้า ครูบาสังฆะ พ่อเถ้าแม่อุ้ย และพ่อแม่จักเปนบารมีกับตนไปใจ้ใจ้ อยู่สุขสวัสสดีตลอด
ปีนี้ได้เศษ ๒ ไก่รักษาปี งัวรักษาเดือน เสือรักษาป่า เป็ดรักษาน้ำ รุตตจักกเทวบุตรรักษาอากาศ ปชุนเทวบุตรรักษาดิน พราหมณาจารย์เปนใหญ่แก่คน งัวเปนใหญ่แก่สัตว์ ๔ ตีน นกยางเปนใหญ่แก่สัตว์ ๒ ตีน ไม้พร้าว เปนใหญ่แก่ไม้จิง ไม้บงเปนใหญ่แก่ไม้กลวง หญ้าปล้องเปนใหญ่แก่หญ้าทังหลาย ไม้ไผ่เปนพระญาแก่ไม้ทังมวล ขวัญเข้าอยู่ไม้ไผ่ ผีเสื้ออยู่ไม้มูก จักมีอันตรายแก่สัตว์ ๒ ตีน ๔ ตีน
นาคหื้อน้ำ ๘ ตัว บันดาลหื้อฝนตก ๔๐๐ ห่า ชื่อภูมมาธิปติ ตกในมหาสุมทท์และเขาสัตตปริภัณฑ์ ๑๙๑ ห่า ตกในป่าหิมพานต์ ๑๓๓ ห่า ตกในมนุสสโลก ๗๖ ห่า
ปีนี้เทวดาวางเครื่องประดับหนอุตตระ ปาปะเคราะห์ ปาปะลักขณะอยู่หนพายัพ ทิสะเหล่านี้เปนอัปมงคล บ่ดีไป บ่ดีทำมงคลแก่บ้านเมืองในทิศนั้น บ่ดีปกเสามงคลทิศนั้น จักเสียสรีเตชะ
อตีตวรพุทธศาสนาคลาล่วงแล้ว ๒๕๕๐ พรรษาธิกาปลาย ๑๐ เดือน ปลาย ๒๕ วัน นับแต่วันพระญาวันคืนหลัง อนาคตศาสนาอันยังจักมาภายหน้าค้างอยู่บ่หน้อย ยังแถม ๒๔๔๙ พรรษาธิกาปลาย ๑ เดือน ๕ วัน บ่มีเศษ เหตุนับแต่วันปากปีไปเอามาบวกกับกันก็เต็มห้าพันพระวัสสาถ้วนบ่มีเศษ เหตุตามฎีกาที่มหาพิลางคสัมมิหรสีเจ้าหากวิสัชนาแต่งแปลงสืบ ๆ มาก็ปริปุณณาแล้วแล
(พระครูอดุลสีลกิตติ์ วันธาตุคำ จังหวัดเชียงใหม่ เปนผู้วิสัชนาปล่านแปลงแต่งแต้มทำนายพยากรณ์ แล)
Create Date : 10 เมษายน 2551 | | |
Last Update : 10 เมษายน 2551 12:03:21 น. |
Counter : 1224 Pageviews. |
| |
|
|
|
|
ฤๅพระเจ้าติโลกจะไม่ได้สร้างพระเจ้าทองทิพย์ที่น่าน
ฤๅพระเจ้าติโลกจะไม่ได้สร้างพระเจ้าทองทิพย์ที่น่าน
สลุงเงิน

นันทบุรีศรีนครน่าน หรือจังหวัดน่านในปัจจุบัน ได้ขนานนามตนเองว่า ล้านนาตะวันออก อันเป็นแหล่งที่ตั้งของเมือง ที่อยู่ทางตะวันออกสุดของดินแดนล้านนา แม้กระนั้นบางท่านก็ยังไม่ค่อยจะยอมรับความเป็นล้านนาสักเท่าไร เพราะความเป็น น่าน ของตน ด้วยในอดีตนั้น เมืองน่านเป็นนครรัฐ ที่อิสระรัฐหนึ่ง ซึ่งมีประวัติศาสตร์ความเป็นมาอันยาวนาน บางตำนานก็อ้างไปถึง สมัยของบุตรสามพี่น้องของ ลาวจง ปฐมกษัตริย์แห่ง เวียงเหรัญญนครเงินยางเชียงแสน ตนเค้า ชื่อว่า ลาวก่อ ตนถัดมาชื่อว่า ลาวเกือ และ ตนซ้อยชื่อว่า ลาวเกล้า ที่พากันไปจับปูหลวงริมน้ำของ(โขง)แล้วทิ้ง ลาวเกล้า ไว้คนเดียวนั้น ซึ่งถัดจากเหตุการณ์ในครั้งนั้น ทำให้สามคนที่น้องเคืองกัน จนไม่สามารถที่จะอยู่ร่วมกันได้ ดังนั้นลวจังกราช ส่งสามพี่น้องไปกินเมืองต่าง ๆ โดยให้ ลาวเกล้าครองอยู่กับผู้เป็นพ่อ ลาวเกือ ให้ไปกินเมืองผาลาวผาพวง ส่วนลาวก่อนั้นส่งให้ไปอยู่บ้า/นถ้ำ ถัดนั้นไม่นาน ส่วนว่าลาวก่อผู้ไปอยู่ยังบ้านถ้ำนั้น พระญาเจ้าตนพ่อ ก็ซ้อหื้อย้ายไปกินแฅว้นกาว คือว่า เมืองน่านเสียหั้นแล 1 แต่ในเอกสารพื้นเมืองน่านแล้ว จะเริ่มประวัติศาสตร์ของตนที่การตั้งเมืองพลัว(ปัว) ในช่วงปลายของพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ซึ่งตั้งแต่แรกเริ่มของเมืองพลัวจวบจนถึงเมืองน่านนั้น ไม่ค่อยจะมีปฏิสัมพันธ์กันกับเชียงใหม่เท่าไรนัก มักจะเป็นคู่ศึกสงครามมากกว่า ดังในสมัยของพระญาแสนภู ที่เจ้าเมืองน่านต้องทำการรบกับพระญาคำฟู2 และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสมัยของพระเจ้าติโลกราชอันเป็นที่มาของเรื่องที่จะเล่ากันนี้ สำหรับเมืองที่มีความสัมพันธ์อันดีกับเมืองน่าน ได้แก่ล้านช้างหลวงพระบาง และสุโขทัย สำหรับเมืองล้านช้างนั้น มีความสัมพันธ์ในระบบเครือญาติมาตั้งแต่สมัยเริ่มตั้งเมืองพลัว ซึ่งจากตำนานจะให้ความสัมพันธ์ได้อย่างชัดเจน โดยให้บุตรบุญธรรมของพระญาภูคาสองคนพี่น้อง คือ ขุนนุ่น ที่ไปครองเมืองจันทบุรี (น่าจะเป็นเมืองเวียงจันทน์ บางท่านให้ความเห็นว่าเป็นเมืองหลวงพระบาง) และ ขุนฟอง ที่ครองเมืองพลัว เมืองกำเนิดของเมืองน่านในกาลต่อมา ไม่เพียงแต่เท่านี้ ในสมัยของพระญาผากอง แห่งเมืองน่านนั้น เมืองน่านก็ได้เป็นที่ลี้ภัยและที่สวรรคตของเจ้าฟ้างุ้มแห่งล้านช้าง ในปี พ.ศ. ๑๙๑๘ แล้วพระญาผากอง จึงสร้างวัดคร่อมอัฐิธาตุของพระองค์ไว้ในนครน่าน ใส่ชื่อว่า วัดเชียงงาม 3 ซึ่งอาจารย์สมเจตน์ วิมลเกษม ได้สันนิษฐานว่า น่าจะเป็นวัดเมืองราม ต.นาเหลือง อ.เวียงสา ส่วนทางด้านสุโขทัย มีความสัมพันธ์กับเมืองน่านตั้งแต่สมัยพ่อขุนรามคำแหง จากหลักศิลาจารึกหลักที่หนึ่ง แต่ความโดดเด่นมีอยู่สี่ช่วง ได้แก่ ช่วงแรก ในสมัยของพระญาครานเมือง ที่ลงไปช่วยพระมหาธรรมราชาลิไทยสร้างวัดหลวงอภัย (เรียกตามพื้นเมืองน่าน) ซึ่งมีการสันนิษฐานกันว่าน่าจะหมายถึงวัดป่ามะม่วง เพียงแต่ศักราชในพื้นเมืองน่านและจารึกคลาดเคลื่อนกันไปเล็กน้อย4 ซึ่งนับว่าเป็นจุดแรกเริ่มของการสถาปนาพุทธศาสนาแบบสุโขทัยในดินแดนของเมืองน่าน ด้วยในคราวนั้นพระญาครานเมืองได้รับพระราชทานพระบรมสารีริกธาตุกลับมาด้วย และได้บรรจุไว้ที่พระธาตุแช่แห้งจวบจนปัจจุบัน ในช่วงที่สอง เป็นสมัยของพระญาผากอง ที่ไปช่วยสุโขทัยรบกับพระบรมราชาธิราช ที่ ๑ หรือขุนหลวงพงั่ว แห่งกรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ. ๑๙๑๙ ดังที่ว่า ...ศักราช ๗๓๘ (พ.ศ. ๑๙๑๙) เสด็จไปเอาเมืองชากังราวเล่า ครั้งนั้น พญาคำแหงแลท้าวผ่าคอง คิดด้วยกันว่าจะยอทัพหลวง... 5 ในช่วงที่สาม ในสมัยของพระเจ้าไสลือไทยที่ทำจารึกสัญญากับเจ้าคำตันแห่งเมืองน่าน ในปีพ.ศ. ๑๙๓๕ อันได้แก่จารึกปู่ขุนจิดขุนจอด และ จารึกคำปู่สบถ6 ที่ว่า ...กังวลอนตรายอันใดมีในเรา และท่านช่อยปลดช่อยมล้างด้วยรี้ด้วยพลแห่งท่าน ผิบ่มีกังวลก็ดี ผิจักมีหิญริพยานใดว่าเรามักมากท่านให้มาก เรามักน้อยท่านให้น้อย อนึ่ง บ้านเมืองเราทั้งหลาย และเมืองแพร่เมืองงาว เมืองน่านเมืองพลั่ว ปู่พระญาดูดังเดียวอันตรายมีในราชสีมาเรา ปู่พระยาเป็นเจ้าเห็นว่ามีในราชสีมาท่านแล
7 ในช่วงที่สี่ ในสมัยท้าวหุง ที่มีพระญาเถรและพระญาออนโมง จากเมืองแพร่มาชิงเมือง และในสมัยของพระญาอินทแก่นท้าว ที่ถูกท้าวแพงและท้าวเหาะผู้น้องชิงเมือง ทั้งสอง ต่างหนีไปพึ่งพระญาเชลียง ฉะนั้นเมืองน่านกับเมืองสุโขทัยจึงมีความสำพันธ์กันอย่างแน่นแฟ้น จึงไม่แปลกเลยที่เมืองน่านจะมีอะไรที่เหมือน ๆ กันกับสุโขทัย สถาปัตยกรรมหลายแห่งของเมืองน่านก็ได้รับอิทธิพลของสุโขทัย ไม่ว่าจะเป็นวัดหลวงกลางเวียงหรือวัดช้างค้ำ และวัดสวนตาล สำหรับที่วัดช้างค้ำนั้น ร่องรอยที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ ฐานของพระธาตุเจดีย์ประธาน ที่มีฐานสี่เหลี่ยม และมีช้างรองรับเจดีย์อยู่โดยรอบจำนวน ๒๔ เชือก ซึ่งเหมือน ๆ กับที่สุโขทัย และกำแพงเพชร8 ส่วนพระธาตุเจดีย์ที่วัดสวนตาลนั้น จากภาพถ่ายในอดีตก่อนที่จะมีการบูรณะในสมัยของพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช ในปี พ.ศ. ๒๔๕๗ 9 นั้นจะเป็นธาตุเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ แบบสุโขทัยดังเช่นที่วัดมหาธาตุ กรุงสุโขทัยเป็นต้น

ทั้งนี้จากตำนานของพระธาตุก็สอดคล้องกับรูปแบบสถาปัตยกรรมที่ปรากฏ ว่าสร้างโดยนางปทุมมาเทวี มเหสีฝ่ายซ้ายของพระญาพูเข็ง (ครองเมืองระหว่างปี พ.ศ. ๑๙๕๐ ๑๙๖๐) ที่มีใจใสศรัทธาจักสร้างพระธาตุยังบริเวณบ้านเกิดของพระนาง จึงขอกับพระญาพูเข็ง พระองค์จึงประทานอนุญาตให้สร้างวัดสวนตาลขึ้น10 และที่เป็นประเด็นหลักของเรื่องนี้ก็คือ พระเจ้าทองทิพย์ ที่วัดสวนตาล ที่สอดคล้องกันกับพระธาตุเจดีย์แบบพุ่มข้าวบิณฑ์ของสุโขทัย ที่ว่า เป็นพระพุทธรูปสำริด สูง ๔๑๗ ซม. ศิลปะแบบสุโขทัย หมวดใหญ่ ปางมารวิชัย รัศมีเป็นเปลว เม็ดพระศกใหญ่ พระพักตร์รูปไข่ พระวรกายออกจะอวบอ้วนมากกว่าพระพุทธรูปศิลปะสุโขทัยทั่ว ๆ ไปสักเล็กน้อย พระหัตถ์คล้ายมือมนุษย์ ชายจีวรเป็นเขี้ยวตะขาบ มีเส้นคาดต่อไปที่พระหัตถ์จนถึงพระชงค์ขวา 11 ซึ่งทั้งรูปแบบของเจดีย์และพระเจ้าทองทิพย์นี้ ทำให้คุณปฏิพัฒน์ พุ่มพงษ์แพทย์กล่าวว่า ดังนั้นจึงไม่มีเหตุผลว่า พระเจ้าติโลกราชจะมาสร้างเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์และพระพุทธรูปแบบสุโขทัยขึ้นที่เมืองน่าน เพื่อแสดงแสนยานุภาพหรือชัยชนะเหนือเมืองน่าน 12

สำหรับองค์พระเจ้าทองทิพย์นั้น ไม่ได้มีแต่ที่วัดสวนตาลที่เดียว ยังมีอีกหลายองค์ หลายลักษณะ ในหลายพื้นที่ด้วยกัน เพียงแต่ชื่อเหมือนกัน การที่ได้ชื่อว่าพระเจ้าทองทิพย์นั้นเป็นด้วยเหตุที่เนื้อโลหะที่หล่อเป็นองค์พระไม่กลมกลืนกันดีนัก13 และตำนานที่กล่าวถึงพระเจ้าทองทิพย์ที่สวนตาลนี้ ได้กล่าวถึงการหล่อพระเจ้าทองทิพย์ไว้ว่าดังนี้ หลังจากที่พระเจ้าติโลกราชต้องการเกลือบ่อมางไปค้ำส่วยเชียงใหม่ จึงยกทัพมารบกับพระญาอินทแก่นท้าว อยู่ถึง ๖ ปีด้วยกัน จึงได้เมืองน่านเป็นส่วนหนึ่งของล้านนาเชียงใหม่14 ด้วยตั้งทัพอยู่บริเวณสวนตาลหลวงแล้วยิงปืนใหญ่เข้าเมือง พระญาอินทแก่นท้าวจึงพาครอบครัวหนีไปพึ่งพระยาเชลียง พระเจ้าติโลกราชจึงได้เมืองโดยไม่เสียเลือดเนื้อ จึงรำพึงว่า พระองค์เราได้เมืองน่านนี้ก็บ่ได้ฆ่าฟันบั่นเนื้อกันเลย เป็นดั่งเทพทิพย์มาค้ำชู สมควรเราจักทำสักขีพยานไว้แล 15 จึงตัดสินใจหล่อพระพุทธรูป แต่ว่าทองทั้งหลายที่จะมาหล่อยังไม่มี เลยตั้งสัจจะอธิษฐานลองบารมี จากนั้น ๗ วันจึงมีผู้คนนำทองหลายชนิดมารวมกันได้ ๑๒ ตื้อเศษ จึงทำการหล่อพระเจ้าทองทิพย์ขึ้นมา และว่ากันว่าทองนั้นเหลือ จึงนำไปหล่อเป็นพระเจ้าทองทิพย์น้อยไว้ที่วัดบุปผาราม (ต.ฝายแก้ว กิ่งอำเภอภูเพียงในปัจจุบัน) อีกองค์หนึ่ง จากการที่สร้างพระเจ้าทองทิพย์เพื่อเป็นสักขีพยานในการได้เมืองน่าน แต่รูปแบบพระเจ้าที่ออกมากลับเป็นแบบอย่างของสุโขทัยโดยมาก ทำให้คิดว่าพระเจ้าทองทิพย์ ไม่ได้สร้างขึ้นมาโดยพระเจ้าติโลกราชแห่งเชียงใหม่ แต่น่าจะสร้างในช่วงสมัยของเจ้าคำตัน (พ.ศ. ๑๙๓๕) ถึงพระญาสารผาสุม (พ.ศ. ๑๙๗๔) 16 แต่หากพิจารณาใหม่อีกครั้ง ก็มีลักษณะที่แตกต่างจากพระพุทธรูปสุโขทัยอยู่เล็กน้อย เป็นต้นว่า พระวรกายอวบอ้วน พระนาสิกใหญ่ สันพระนาสิกหนา พระหนุเป็นต่อมกลมนูนออกมาทางด้านหน้า ซึ่งลักษณะเหล่านี้เป็นลักษณะพุทธศิลป์แบบล้านนา เข้ามาผสมกับพุทธศิลป์แบบสุโขทัยโดยใช้พระพุทธรูปปางมารวิชัย วัดเจดีย์ อ.เมืองน่าน เป็นแม่แบบ17 ซึ่งลักษณาการผสมผสานเช่นนี้ไม่ได้มีเฉพาะพระเจ้าทองทิพย์แห่งวัดสวนตาลองค์เดียว แต่หากยังมีอีกหลายองค์ เช่น พระพุทธรูปปางมารวิชัย ที่วัดหัวข่วง, พระพุทธรูปปางมารวิชัย วัดพระธาตุช้างค้ำฯ และพระพุทธรูปลีลา วัดนาปัง เป็นต้น การมองในลักษณะการผสมผสานแบบนี้ ทำให้เห็นถึงความเป็นไปได้ที่พระเจ้าติโลกราช จะสร้างพระพุทธรูปเพื่อเป็นสักขีพยานในการที่มีชัยเหนือเมืองน่าน ด้วยพระองค์ไม่ได้หักหาญเอาเลยทีเดียว ใช้วิธีประนีประนอม เรียกว่าเป็นการซื้อใจกันก็ว่าได้ แม้นว่าจะครุบชิงเอาเมืองได้ แต่ก็ยังให้เวลาสำหรับที่จะปรับตัวและค่อย ๆ ซึมซับความเป็นล้านนาทีละน้อย โดยการผสมผสานเข้าด้วยกันในยุคนี้ นโยบายการปกครองในตอนแรกของการผนวกดินแดนเมืองแพร่เมืองน่านเข้ากับล้านนาเชียงใหม่นั้น ก็ให้เจ้าเมืองเดิมปกครองต่อไปก่อน ดังเช่นเมื่อที่มหาเทวี...พระราชมารดาของพระเจ้าติโลกราชตีเมืองแพร่นั้น เมื่อตีเมืองแพร่ได้ มหาเทวีค็หื้อท้าวแม่นคุนกินเมืองแพล่ดั่งเกล่า หั้นแล 18 ส่วนทางด้านเมืองน่านนั้น เมื่อพระเจ้าติโลกตีเมืองน่านได้สำเร็จ ก็ปลูกลูกท้าวแพงชื่อว่า ผาแสง กินเมืองปีกัดใส้ หั้นแล 19 แต่พอสิ้นพระญาผาแสงแล้ว ก็สิ้นสุดพระญาน่านแห่งเชื้อกาวไทยเมืองน่านลง และมีการแต่งตั้งเจ้าเมืองจากส่วนกลางมาปกครองต่อ การไม่หักเชื้อเครือเมืองในคราวแรกนี้ นับว่าเป็นผลดีไม่น้อย ที่ทำให้ชาวเมืองยอมรับพระองค์ไปในตัวด้วย หากแต่งตั้งผู้ปกครองจากส่วนกลางแล้ว ผู้คนอาจจะไม่ยอมรับและอาจจะลุกฮือ และเป็นปัญหาในการจัดการอีก เพราะหลังจากที่ได้เมืองแพร่เมืองน่านแล้วสองปี เป้าหมายของพระองค์คือการไปตีเมืองเชลียงต่อไป หากเมืองน่านเกิดปัญหา การรบกับอยุธยาก็ย่อมมีปัญหาตามไปด้วย เพราะจะกลายเป็นศึกสองด้าน และที่สำคัญ ปัญหานั้นอาจจะมีผลกระทบต่อส่วยเกลือ อันเป็นทรัพยากรที่สำคัญยิ่งของเมืองน่าน ด้วยสมัยก่อน เกลือเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในทุกครัวเรือน แทนที่จะได้ส่วยเกลือมาในระบบการค้าเพื่อสร้างความมั่งคั่งแก่เชียงใหม่ กลับจะต้องสูญเสียผลประโยชน์ที่พึงจะได้ จึงไม่แปลก ถ้าพระเจ้าติโลกราช จะสร้างพระพุทธรูปโดยใช้รูปแบบของท้องถิ่นเป็นหลัก ด้วยในสมัยนั้น อิทธิพลสุโขทัยในเมืองน่านมีอยู่สูงมาก และก็ได้รับความนิยมกันทั่วไป เป็นการหลอมหล่อให้ผู้คนยอมรับพระองค์อย่างจริงจัง และไม่กระด้างกระเดื่อง ดังสะท้อนออกมาในเรื่องราวแบบปาฏิหาริย์ถึงบารมีของพระองค์ ที่สามารถรวบรวมโลหะมาหล่อพระเจ้าทองทิพย์ในครั้งนั้นของผู้คนอย่างล้นหลาม เพื่อตัดปัญหาที่จะเกิดมีดังที่กล่าวไปแล้วนั้น แต่ก็ยังใช้พุทธศิลป์แบบล้านนาเข้าไปปะปน โดยไปทิ้งรูปแบบพุทธศิลป์แบบสุโขทัยของเมืองน่านเอาไว้ พระเจ้าทองทิพย์จึงเป็นการผสมผสานกันอย่างที่เห็นอยู่ทุกวันนี้ ถึงอย่างไรก็ตามถึงแม้เมืองน่านในระยะแรกจะมีความสัมพันธ์กับสุโขทัยอย่างแน่นแฟ้น แต่เมื่อสุโขทัยถูกผนวกเข้ากับอยุธยา และเมืองน่านถูกผนวกเข้ากับล้านนา อิทธิพลของสุโขทัยก็อ่อนลง โดยมีอิทธิพลจากล้านนาเชียงใหม่เข้ามาผสมกลมกลืนจนแทบจะกลายเป็นเนื้อเดียวกัน โดยใช้สื่อเดียวกันกับสุโขทัยและได้ผลอย่างมากที่สุดคือการใช้พระพุทธศาสนา โดยใช้เชียงใหม่เป็นศูนย์กลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการทำสังคายนาพระไตรปิฏกที่วัดเจ็ดยอดในรัชสมัยของพระเจ้าติโลกราช ก็ยิ่งทำให้อิทธิพลของเชียงใหม่แผ่ออกไปมากขึ้น โดยใช้สถาบันสงฆ์เป็นกลไกสำคัญ และเป็นมรดกตกทอดมาจนถึงปัจจุบัน และนี่ก็เป็นอีกความคิดหนึ่งที่อาจจะเห็นต่างกันออกไป เกี่ยวกับพระเจ้าทองทิพย์ที่วัดสวนตาล อันเป็นสัญลักษณ์แห่งจุดเปลี่ยนทางประวัติศาสตร์อันสำคัญจุดหนึ่งของเมืองน่าน๚๛
---------------------------------
เชิงอรรถ
1 สรัสวดี อ๋องสกุล : ปริวรรต ตรวจสอบ และวิเคราะห์. พื้นเมืองเชียงแสน. (กรุงเทพฯ : อมรินทร์, ๒๕๔๖) น. ๓๑ 2 รัตนปัญญาเถระ แปลโดย แสง มนวิทูร. ชินกาลมาลีปกรณ์. ([ม.ป.ท.]: มิตรนราการพิมพ์, ๒๕๑๐) น. ๑๐๗ 3 มหาสิลา วีระวงส์ เรียบเรียง, สมหมาย เปรมจิตต์ แปล. พงศาวดารลาว. (เชียงใหม่ : คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ๒๕๓๒) น. ๕๓ 4 สุรศักดิ์ ศรีสำอาง. ล้านช้าง : ล้านนา. (กรุงเทพฯ : ม.ป.พ., ๒๕๔๖) น. ๑๐๘ 5 พระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐ ใน ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม ๑. (กรุงเทพฯ:กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, ๒๕๔๒) น. ๒๑๒ 6 ทั้งสองชื่อ เรียกตาม ประชุมจารึก ภาคที่ ๘ จารึกสุโขทัย 7 จารึกคำปู่สบถ ใน ประชมจารึก ภาคที่ ๘ จารึกสุโขทัย. (กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, ๒๕๔๘) น. ๑๖๕ ๑๖๖ 8 จากเอกสารประกอบการบรรยายเรื่อง วัดสวนตาล พระเจ้าติโลกราช สร้างเป็นอนุสรณ์แห่งชัยชนะเหนือเมืองน่านจริงหรือ? โดย นายปฏิพัฒน์ พุ่มพงษ์แพทย์ ผู้อำนวยการสำนักงานศิลปากร ที่ ๗ น่าน เมื่อวันที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๔๙ อาคารเอนกประสงค์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน 9 ประชุมพงษาวดาร ภาคที่ ๑๐ เรื่องราชวงษปกรณ์ พงษาวดารเมืองน่าน : ฉบับพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช พระเจ้านครน่านให้แต่งไว้สำหรับบ้านเมือง. (พิมพ์ครั้งแรก) (กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, ๒๔๖๑) น. (๑๙) 10 โปรดดู ตำนานพระธาตุแช่แห้ง ใน สงวน โชติสุขรัตน์. ประชุมตำนานลานนาไทย (เล่ม ๑).(กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์, ๒๕๑๕) น.๕๘๓ 11 ปฏิพัฒน์ พุ่มพงษ์แพทย์ , อ้างแล้ว 12 เรื่องเดียวกัน 13 อุดม รุ่งเรืองศรี. พระเจ้าทองทิพย์ ใน สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคเหนือ. (กรุงเทพฯ:มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์, ๒๕๔๒) น. ๔๓๐๙ 14 ดูใน คณะอนุกรรมการตรวจสอบและชำระตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่,ปริวรรตและตรวจสอบชำระต้นฉบับ.ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับเชียงใหม่ ๗๐๐ ปี. (เชียงใหม่ : ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ สถาบันราชภัฏเชียงใหม่, ๒๕๓๘) น. ๖๕ 15 สงวน โชติสุขรัตน์, อ้างแล้ว. น. ๕๘๘ 16 ปฏิพัฒน์ พุ่มพงษ์แพทย์ , อ้างแล้ว 17 สุรศักดิ์ ศรีสำอาง. อ้างแล้ว, น. ๑๒๕ 18 ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับเชียงใหม่ ๗๐๐ ปี. อ้างแล้ว 19 สรัสวดี อ่องสกุล ผู้ปริวรรตและจัดทำ ; นิธิ เอียวศรีวงศ์ บรรณาธิการ. พื้นเมืองน่าน ฉบับวัดพระเกิด. (กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์พับลิชชิ่ง, ๒๕๓๙) น. ๑๕
Create Date : 13 สิงหาคม 2550 | | |
Last Update : 13 สิงหาคม 2550 17:39:26 น. |
Counter : 1869 Pageviews. |
| |
|
|
|
|
สุเทวบรรพต...ดอยศักดิ์สิทธิ์เหนือเมืองเชียงใหม่
สุเทวบรรพต...ดอยศักดิ์สิทธิ์เหนือเมืองเชียงใหม่
สลุงเงิน
แสงสีทองสะท้อนแสงตะวัน ดูวาววับระยับอยู่บนยอดดอยทางทิศตะวันตกของเมืองเชียงใหม่ ไม่ว่าจะอยู่จุดไหนมุมของเมืองเชียงใหม่ (แม้นว่าจะถูกตึกสูง และป้ายโฆษณาบดบังไปบ้าง หรือบางคราวก็มีควันไฟฝุ่นละอองปกคลุมห่อห้อมล้อมไว้ก็ตามที) จะเห็นองค์พระธาตุเรืองรองประหนึ่งเป็นสิ่งที่คอยปกป้อง คุ้มครองเมืองเชียงใหม่อยู่ตลอดมา หากว่าเราเปรียบแม่ระมิงค์ เป็นแม่ แม่ที่คอยหล่อเลี้ยงสัพพะชีวิตในเมืองเชียงใหม่ และพ่อนั้นก็คงเป็นดอยสุเทพเบื้องตะวันตกของเมืองเป็นแม่นมั่น พ่อ ผู้ก่อกำเนิดชีวิต ภายในเมือง ด้วยสิ่งที่พ่อมี หากจะกล่าวถึงอายุอานามของดอยสุเทพแห่งนี้ นับว่า อยู่ยืนยาวมานานจนเทียบไม่ได้กับเมืองเชียงใหม่ ซึ่งมีอายุเพียง ๗๐๙ ปี (นับถึงปี ๒๕๔๘)เท่านั้น ด้วยอายุของดอยสุเทพ อาจอยู่ในช่วง ๓๕๐ ๖๐๐ ล้านปีล่วงมา หากนับเป็นยุคก็คือตั้งแต่ยุคก่อนแคมเบรียนไล่มาจนถึงยุคคาร์บอนิเฟอรัส เลยทีเดียว ด้วยมีทั้งหินแปร หินแกรนิต และหินตะกอน อยู่ยืนยงมาถึงปัจจุบัน ก็นั่นก็แสดงถึงความเก่าแก่ ที่ผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านวิกฤตของโลกมานานนับ จนเป็นแหล่งอันอุดมสมบูรณ์ที่เอื้อต่อสรรพชีวิต การเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ มาจนถึงปัจจุบันนั้น พบว่าในอุทยานดอยสุเทพ ปุยเป็นแหล่งทรัพยากรที่สำคัญของเมือง จากการศึกษาของ J.F. Maxwell และ Stephen Elliott พบว่าพรรณไม้ต่าง ๆ ในอุทยานนี้มีอยู่ถึง ๒๒๔๗ สปีชีส์ และในจำนวนนี้เป็นพืชที่มีท่อลำเลียงอยู่ ๕๑๒ สปีชีส์ ไม่เพียงเท่านี้ ยังมีพืชที่ใช้ชื่อของดอยสุเทพ เป็นส่วนหนึ่งในชื่อวิทยาศาสตร์อีกด้วย แต่สะกดเป็น Sootep ซึ่งเป็นการสะกดแบบเก่าก่อนที่จะมีการเปลี่ยนมาเป็น Sutep แต่ว่าเมื่อใช้ชื่อดอยสุเทพแบบเก่าในการตั้งชื่อวิทยาศาสตร์แล้ว จึงไม่สามารถที่จะนำมาแก้ไขในการเขียนตัวสะกดได้ ถึงอย่างไรก็หมายถึงดอยสุเทพอยู่ดี พืชเหล่านั้นก็ได้แก่ Gardenia sootepensis Hutch. (Golden Gardenia) ในกลุ่มเดียวกับดอกเก็ดถวาแต่ดอกที่แก่จะมีสีเหลืองทอง , Indigofera sootepensis Craib. หรือต้นคราม, Antidesma sootepense Craib. หรือต้นเหม้าสาย เป็นต้น เหล่านี้ ช่วยย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของดอยสุเทพเป็นอย่างยิ่ง

ดอยสุเทพอุดมไปด้วยพฤกษานานาพรรณ ที่เกาะกลุ่มขึ้นตามความลาดชันและความสูงของภูดอยนั้นทำให้ดอยสุเทพมีความหลากหลายของพืชพรรณและสภาพของป่า โดยไล่ตั้งแต่ป่าเต็งรัง ป่าผสมผลัดใบ และป่าดิบชื้นตามลำดับความสูง ส่งผลให้ฝนตกตามยอดดอยในปริมาณที่มาก กอปรกับมีชั้นหินอุ้มน้ำกระจายอยู่ทั่วไป ด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้ดอยสุเทพเป็นแหล่งกำเนิดต้นน้ำลำธารอยู่หลายสายด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นห้วยแก้ว ห้วยกู่ขาว ห้วยผาลาด ห้วยช่างเคี่ยน ฯลฯ อันถือว่าเป็นหนึ่งในมงคล ๗ ประการในการสร้างเมืองเชียงใหม่ในสมัยของพระญามังราย ที่ว่า อัน ๑ อยู่ที่นี้ หันน้ำตกแต่อุจฉุปัพพตะดอยสุเทพ ไหลลงมาเปนแม่น้ำ ไหลขึ้นไหนเหนือ แล้วไหลกระหวัดไพหนวันออก แล้วไหลไพใต้ แล้วไหลไพวันตกเกี้ยวเวียงกุมกาม แม่น้ำนี้เปนนครคุณเกี้ยวกระหวัดเมือง อันนี้เปนไชมังคละถ้วน ๕ แม่น้ำอันนี้ไหลแต่ดอยลงมาที่ขุนน้ำ ได้ชื่อว่าแม่ข่า ไหลเมือวันออกแล้วไหลไพใต้เถียบข้างแม่พิง ได้ชื่อว่าแม่โทร ต่อเท้าบัดนี้แล และมงคลอีกอย่างหนึ่งสำหรับการสร้างเมืองเชียงใหม่ ที่เกี่ยวกับดอยสุเทพ อันเป็นภูเขาที่อยู่ทางตะวันตก ทำให้พื้นที่ทางตะวันตกจะมีความลาดลงไปยังตะวันออก ที่ว่า อัน ๑ ภูมิฐานเราจักตั้งเวียงนี้สูงวันตกหลิ่งมาวันออก เปนไชยมังคละอันถ้วน ๔ แล จากความอุดมสมบูรณ์ทั้งพืชพรรณ สัตว์ป่า และสายน้ำนี้เอง ทำให้ดอยสุเทพเป็นแหล่งที่ตั้งชุมชนมาแต่โบราณ จากตำนานต่าง ๆ ล้วนแล้วแต่ผูกพันกับดอยสุเทพเป็นอย่างยิ่ง และชุมชนเหล่านั้นอาจจะเป็นชุมชนในระดับง่าย ๆ เช่นอยู่กับเป็นแบบชนเผ่าที่มีสัตว์ต่าง ๆ เป็นตัวแทน ด้วยหลายตำนานมักกล่าวถึง คนในรอยตีนสัตว์ ดังตำนานสุวรรณคำแดงหรือเชียงใหม่ปางเดิม ในตอนที่เจ้าหลวงคำแดงเดินทางตามทรายคำจากเชียงดาวมาจนถึงดอยสุเทพ ก็พบกับคนอยู่ในรอยตีนสัตว์สามชนิด คือ ทรายคำ, แรด และช้าง อย่างละคู่ คือ ชายหนึ่ง และหญิงหนึ่ง รวมเป็น หกคน ซึ่งคนทั้งหกนี้ พระรสีเจ้าก็ได้ไขปัญหาไว้ว่า หื้อท่านทั้งหลายได้เอาเขาเป็นอธิปัตติเป็นที่จั้งที่เพิ่งแด่เทอะ เหตุว่าคนอันเกิดอยู่ยังรอยตีนทรายคำนั้น เขาเกิดมาก็ย่อมหัวตำดิน ตีนมันตำหญ้า เขาเกิดหั้นเป็นหั้น หื้อได้ฟังคำเขานั้นเทอะ คนอันสูท่านทังหลายได้หันเกิดอยู่ในรอยตีนแรดนั้น คือดั่งเห็ดเกิดกับขอนนั้นแล มันหากเกิดหั้นเป็นหั้น อันสูได้คนในรอยตีนช้างนั้น พร่ำเป็นดั่งบอนเกิดกับห้วยนั้นแล ซึ่งคำเหล่านี้ นั้นย่อมเป็นคำกล่าวที่ย้ำให้เห็นถึง ในดินแดนแห่งนี้เป็นสถานที่ของการตั้งถิ่นฐานของผู้คนมานานแล้วนั่นเอง ต่อมาผู้คนก็มีสร้างเมือง ล้านนา ของเจ้าหลวงคำแดง สืบเช่นมาแต่ลูกของเจ้าหลวงคำแดงกับนางผมเฝือและนางสาดกว้าง จนเมืองล่ม แล้วก็สร้างเมืองใหม่อีกนามว่า เมืองนารัฏฐะ แล้วก็ล่มอีก และในที่สุดก็ร่นลงมาสร้างเวียงใหม่ในเชิงดอยด้านตะวันออกของดอยสุเทพ คือเวียงเจ็ดริน หรือ เวียงเชฏฐปุรี ต่อมาผู้คนมากขึ้น บ้านเมืองขยายตัวมากขึ้น ก็พากันไปสร้างเวียงใหม่อีกแห่งหนึ่งทางด้านตะวันออก คือ เวียงสวนดอก เมื่อมาสร้างเวียงใหม่แห่งนี้ ก็พบปัญหาเดียวกัน คือมีประชาการหนาแน่น จึงขยายเมืองไปทางทิศตะวันออกอีกครั้ง คือไปสร้างเมือง นพบุรี ตามตระกูลของลัวะทั้ง ๙ ตระกูลนั้นเอง ซึ่งว่ากันว่าเป็นบริเวณเดียวกับเมืองเชียงใหม่ในปัจจุบัน สำหรับตำนานนี้เป็นช่วงต้นของตำนานการเกิดเสาอินทขีล ซึ่งหากจะฟังเอา ความจริง ในตำนานนี้ ก็คงจะอยากเต็มที ว่าเมืองเหล่านั้นมีจริงหรือไม่มีจริงกันแน่ แต่นั่นไม่สำคัญเท่ากับทำให้เราได้ทราบว่า ดอยสุเทพ เป็น บ้าน บ้านอันก่อเกิดชุมชนขึ้นมาในระดับหนึ่งแล้ว ซึ่งอาจจะเป็นเพียงเมืองเล็ก ๆ ของกลุ่มชนหลายกลุ่มที่อาศัยอยู่บนดอยสุเทพที่ถือรูปสัตว์ต่างๆ เป็นสัญลักษณ์ แล้วขยับขยายลงมาสู่ที่ราบเชิงดอย อันเป็นแหล่งรับน้ำจากดอยสุเทพ ทำให้บริเวณนี้มีความอุดมสมบูรณ์อย่างหาที่เปรียบไม่ได้ ทำให้เมืองเชียงใหม่แต่เดิมออนก่อนนั้นมีความเจริญอยู่ก่อนในระดับหนึ่งแล้ว ก่อนที่จะมีการเข้ามาของพระญามังรายที่สร้างเมืองใหม่ในปี พ.ศ. ๑๘๓๙ และหลังจากนั้นเป็นต้นมานั้นมีความเจริญรุ่งเรืองอย่างมาก ส่วนหนึ่งนั้นก็เป็นผลมาจากความอุดมสมบูรณ์ของดอยสุเทพด้วย นอกจากที่ ดอยสุเทพ จะเป็นแหล่งกำเนิดชีวิตแล้ว ดอยสุเทพ ยังเป็นแหล่งกำเนิดความเชื่อและศรัทธาอีกประการ ด้วยถือว่า ดอยสุเทพสืบต่อไปถึงดอยคำ หรือในตำนานเรียกว่าดอยเหนือ ดอยใต้นั้น ที่เป็นแหล่งแห่งที่สถิตของ ปู่แสะ กับ ย่าแสะ ที่ผู้คนทั้งเคารพและยำเกรงเป็นที่ยิ่ง โดยที่แต่ละปีนั้นจะมีการเซ่นสรวงปู่แสะที่เชิงดอยสุเทพแถววัดฝายหิน ต่อมาเมื่อสถาบันการศึกษาเข้าไป จึงมีการย้ายการเลี้ยงผลีกรรมไปรวามกันเสียที่เดียวกับย่าแสะที่เชิงดอยคำ ริมน้ำแม่เหียะ ด้วยถือว่าหากไม่มีการเลี้ยงผลีกรรมนั้นไซร้ บ้านเมืองก็อาจถึงขั้น ตกขึด เลยทีเดียว นอกจากนี้แล้วความศักดิ์สิทธิ์อันเนื่องมาจากปู่แสะย่าแสะแล้ว ตัวของ ฤๅษีวาสุเทพ เองนั้นก็ถือว่าเป็นสิ่งศักดิ์คู่ดอยสุเทพแห่งนี้ ด้วยหนึ่งนั้น นามของท่านก็นำมาเรียกขานดอยแห่งนี้จวบจนปัจจุบัน ว่ากันว่าท่านฤๅษีเป็นบุตรของปู่แสะและย่าแสะ ความศักดิ์สิทธิ์จึงเท่าทวี กอปรกับสถานที่แห่งนี้เป็นแหล่งบำเพ็ญเพียรของท่านฤๅษีวาสุเทพอยู่ตลอดมาและครั้นเมื่อสิ้นสุเทวะฤๅษีลง ก็ได้มีการสร้างกู่ฤๅษีไว้บนดอยแห่งนี้ด้วย

นั่นก็นับว่า ดอยแห่งนี้มีความศักดิ์สิทธิ์เป็นแม่นมั่น จวบสมัยของพระญากือนา ราชวงสาที่ ๖ สืบมาแต่พระญามังราย ได้ทำการประดิษฐานความเชื่อเรื่องของพระธาตุไว้บนดอยแห่งนี้ ด้วยการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุที่เชื่อกันว่าพระสุมนเถระนำมาจากสุโขทัย ด้วยช้างเผือกขึ้นไปจนถึงยอดดอยสุเทพแล้วฐาปนาพระบรมสารีริกธาตุไว้ ณ ที่แห่งนั้นตราบจนปัจจุบัน ทำให้ความศักดิ์สิทธิ์ของดอยสุเทพทวีความสำคัญขึ้นมามากขึ้น ด้วยความเชื่อเก่าและความเชื่อใหม่ยืนอยู่บนฐานอันเดียวกัน นั่นก็คือ ดอยสุเทพ อันตระหง่านเงื้อมของเมืองเชียงใหม่ ตั้งแต่มีการประดิษฐานพระบรมธาตุไว้ที่ยอดดอย ก็ทำให้มีการเดินทางขึ้นไปกราบไหว้พระธาตุ โดยเฉพาะงาน เตียวขึ้นดอย หรืองาน ขึ้นพระธาตุ ในวันเพ็ญเดือน ๙ ซึ่งต่อมาปรับเปลี่ยนมาเป็นในวันวิสาขบูชาแทน ถึงอย่างไรจะวันไหนก็ตาม ศรัทธาก็ยังมั่นคงต่อพระธาตุอยู่นั่นเอง การเดินทางขึ้นดอยสุเทพนี้ แต่เดิมจะลัดป่าเลาะเขาไต่เต้าตามทางขึ้นไปสู่ยอดดอย ซึ่งจะออกเดินทางตั้งแต่เย็นของวันออก ๑๔ ค่ำ บางท่านอาจจะขึ้นเอาเมื่อกลางดึก ถึงอย่างไรก็จะต้องพร้อมกันบนวัดพระธาตุดอยสุเทพในเช้าวันออก ๑๕ ค่ำ ก่อนที่จะออกเดินทางจะต้องตระเตรียมเข้าปลาอาหาร ดอกไม้ธูปเทียน น้ำอบน้ำหอม ขึ้นไปด้วย ซึ่งเดินทางทางวัดฝายหิน ลัดเลาะขึ้นไปถึงผาลาด จนในที่สุดก็จะถึงวัดพระธาตุดอยสุเทพอันเป็นที่หมาย เส้นทางเดินนี้ นับว่าเป็นเส้นทางสำคัญอีกเส้นหนึ่งที่ นอกจากจะใช้เป็นแหล่งศึกษาธรรมชาติที่ห้อมล้อมอยู่นั้นซึ่งหลายปีก่อนได้จัดทำเส้นทางไว้ด้วย เรียกว่า เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติผาลาด มีจุดที่ให้ความรู้ต่าง ๆ แต่ปัจจุบันนั้นร้างรา และผุพังไปมาก ด้วยไม่มีหน่วยงานไหนดูแลได้อย่างทั่วถึง หากว่ามีการรื้อฟื้นเส้นทางนี้ขึ้นมาอีกครั้ง จะเป็นเส้นทางที่มีศักยภาพอย่างมาก ด้วยอยู่ไม่ไกลจากชุมชนเท่าใดนัก ความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติก็ยังคงอยู่ ไม่เพียงแต่เป็นแหล่งศึกษาธรรมชาติแล้ว ยังเป็นแหล่งศึกษาศิลปะ และประวัติศาสตร์อีกทางหนึ่งด้วย เพราะเส้นทางเดินนี้ มีโบราณสถานเก่าแก่หลายจุดด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นเนินดิน ที่อยู่ห่างจากสถานีโทรทัศน์ช่อง ๗ ประมาณ ๑ กิโลเมตรนั้น เป็นเนินดินที่มีการเรียงตัวของก้อนอิฐก้อนหิน และศิลาแลง สูงจากพื้นประมาณ ๑ เมตร กว้างประมาณ ๒๐ × ๔๐ เมตรเห็นจะได้ นอกจากนี้ก็ไม่มีหลักฐานใด ๆ ที่บ่งบอกไปมากกว่านี้ บ้างก็ว่าเป็นวิหารของวัดสามยอบ หรือวันโสดาปันนาราม อันเป็นหนึ่งในสี่วัดที่เป็นตัวแทนของอริยสงฆ์ทั้งสี่ ได้แก่ โสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี และ อรหันตา แล้วความเชื่อเรื่อง สี่วัดนี้ เห็นชัดในสมัยของครูบาเจ้าศรีวิชัย ดังปรากฏในนิราศพระธาตุดอยสุเทพ ของ แมน สุรตโน ที่ว่า
...สร้างถนน ผลมี มั่งจีรัง......... บางตอนยัง ย้ำชัด สร้างศรัทธา คือขั้นตอน ปฏิบัติ สร้างวัดก่อน ....... เริ่มขั้นตอน ต้นคิด ปริศนา คืออาราม นามมี ศรีโสดา....... สกิทาคา อนาคา- มี- นัย อรหันต์ ชั้นสุด ถึงจุดยอด...... ทางตลอด ผาลาด ก็ขาดไข..
โดยวัดศรีโสดา ที่เชิงดอยนั้นยังคงมีให้เห็นจนถึงปัจจุบันที่เป็นวัดโสดาบัน และวัดพระธาตุดอยสุเทพเป็นวัดอรหันตา ส่วนซึ่งเนินดินนั้น ก็ต้องมีการศึกษากันต่อไป เมื่อเลยจากเนินโบราณสถานนี้แล้วก็จะล่วงลุถึงวัดผาลาด ซึ่งมีสิ่งก่อสร้างทั้งเก่าและใหม่ หลายช่วงสมัยอยู่ด้วยกัน ในสมัยก่อนถือว่า จุดนี้เป็นจุดครึ่งทาง และจุดที่จะวัดบุญในการขึ้นไปสักการะพระธาตุดอยสุเทพ กันเลยทีเดียว หากใครบุญไม่ถึงก็จะต้องประสบความขัดข้องนานาประการ วัดผาลาด นับว่าเป็นวัดโบราณที่ยังคงมีโบราณสถานที่ให้เยาวชนรุ่นหลังได้ศึกษาหาความรู้ได้อีกมาก ไม่ว่าจะเป็นวิหาร เจดีย์ บ่อน้ำ พระพุทธรูปที่เพิงผา เป็นต้น และยังมีที่เคยมีอยู่บนเส้นทางเดินนี้ แต่ปัจจุบันไม่อาจทราบได้ว่าอยู่ตรงไหน หรือจุดไหน นั่นก็คือ พระเจ้าเกิด็กา อันหมายถึงพระพุทธรูปที่สกัดกาไม่ให้ขึ้นไปบนยอดดอย ทำให้บนดอยไม่มีกาเลย จึ่งได้ชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า ดอยกาละ สำหรับพระเจ้าเกิด็กา นี้ปรากฏใน ค่าวฮ่ำตำนานดอยสุเทพเจ้า ของขนานหลวงเป็ง กาวิโล และปริวรรตโดยพระครูสิริพัฒนานุกูล วัดพวกหงษ์ ที่ได้พรรณนาการเดินทางขึ้นไปไหว้สาพระธาตุดอยสุเทพ ในเส้นทางเดินเดิม ก่อนที่จะมีการสร้างถนนศรีวิชัยขึ้นไปบนดอยสุเทพ ได้บอกไว้ว่าอยู่เลยวัดผาลาดขึ้นไป
...ที่ผาลาดหลวง อารามที่พัก เป๋นวัดเก่าเกื้อ บัวราณ มีเจติยะ ศาลาวิหาร ริมหนทาง ขึ้นไปธาตุเจ้า อกพุทโธ คนโซแก่เฒ่า หัวใจ๋ดีใน ชื่นย้าว พ่องเอาอาหาร กล้วยไข่กล้วยค้าว ไปใส่เข้า ปูชา พ่องเอาดอกไม้ ธูปเทียนบุบผา ไปถวายปูชา องค์พระที่ไหว้ พระเจ้าเกิ๊ดก๋า ชื่อนามบอกให้ เป๋นที่คนไป ยั้งพัก...
และเรื่องนี้ก็เป็นอีกเรื่องที่จะต้องค้นหาและศึกษากันอีกต่อไป ทำให้เส้นทางเดินนี้เป็นเส้นทางเดินที่มีคุณค่า การที่ได้สัมผัสธรรมชาติและร่องรอยอันเป็นอารยะ ที่บรรพชนได้สร้างสมเอาไว้ นอกจากนั้นหลังจากที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยได้สร้างถนนหนทางขึ้นบนดอยสุเทพ ต่อจากถนนห้วยแก้วแล้ว ระหว่างทางก็มีซากวัดอยู่อีกหลายวัด ไม่ว่าจะตรงที่ หน่วยป้องกันไฟป่า หรือตรงข้ามกับหอดูดาว ก็ยังคงมีร่องรอยให้เห็นอยู่ คาดว่าอาจจะเป็นวัดในชุดของวัดตัวแทนของอริยสงฆ์ก็เป็นได้ รวมไปถึง สันกู่ อันเป็นตัวแทนหนึ่งในความรุ่งเรืองมาแต่อาณาจักรหริภุญไชยกันเลยทีเดียว

กอปรกับภายหลังมีการสถาปนาความเชื่อเรื่อง ชุธาตุ ก็ได้เอาพระธาตุดอยสุเทพ เป็นหนึ่งในบรรดาชุธาตุ ของคนเกิดปีเม็ด หรือปีมะแม ก็ยิ่งให้ดอยสุเทพ เป็นดินแดนที่อบอวลไปด้วยความเชื่อ และศรัทธายิ่งนัก นับแต่เชิงดอยขึ้นไปถึงยอด ตั้งแต่อดีตกาลโพ้นมาถึงปัจจุบัน การเคารพและศรัทธาก็ทวีความสำคัญมากขึ้น ทั้งจากคนเชียงใหม่เอง และคนทั่วทั้งประเทศ

ดังเหตุการณ์ในสมัยหนึ่ง เมื่อจะมีการสร้างกระเช้าขึ้นไปยังดอยสุเทพ ประมาณปี ๒๕๒๘ นั้นปรากฏว่ามีการคัดค้านกันอย่างแพร่หลาย จนต้องมีการทำการศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้นด้วยในตอนนั้น และได้พบว่า มีผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยผลกระทบทางตรงก็คือต้องโค่นไม้ลงมาเป็นจำนวนมากถึง ๑๕๓ ต้น ซึ่งไม่รวมที่ต้องทอนกิ่งลงไปอีก ส่วนผลกระทบทางอ้อมนั้น ก็ทำให้เรือนยอดไม่ต่อเนื่องกัน เกิดผลกระทบต่อสัตว์ต่าง ๆ ที่อาศัยอยู่บนเรือนยอด และในที่สุด โครงการนั้นก็เป็นอันพับไป ดอยสุเทพ นับว่าเป็นสมบัติของแผ่นดิน เป็นคลังทรัพยากรอันสำคัญยิ่งของเมืองเชียงใหม่ ทั้งคลังทรัพยากรธรรมชาติ และคลังทรัพยากรองค์ความรู้ที่ดำรงอยู่ คอยหล่อเลี้ยงทุกชีวิตในเมืองเชียงใหม่ เปรียบเหมือน พ่อ ผู้ที่คอยแต่จะให้ เพื่อให้ลูก ๆ ที่อยู่ในเมืองอยู่สุขสบาย สืบแต่อดีตมา ลูก ๆ ทั้งหลายต่างเคารพ และศรัทธาในความสำคัญอันยิ่งยวดของดอยสุเทพ และเชิดชูขึ้นเหนือหัวเหนือเกล้า และจะไม่ยอมให้ใครมาย่ำยีทำลายลงไปได้ และดอยสุเทพ จักเป็นสัญลักษณ์สำคัญอย่างหนึ่ง เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์อันควรแก่การเคารพของเมืองเชียงใหม่ไปอีกยาวนานสมกับคำขวัญที่ว่า ดอยสุเทพเป็นศรี ประเพณีเป็นสง่า บุบผชาติล้วนงามตา นามล้ำค่านครพิงค์
Create Date : 11 สิงหาคม 2550 | | |
Last Update : 11 สิงหาคม 2550 21:46:13 น. |
Counter : 1037 Pageviews. |
| |
|
|
|
|
ตามรอยบูรพกษัตริย์ ณ วัดเชียงยืน

ตามรอยบูรพกษัตริย์ ณ วัดเชียงยืน
สลุงเงิน

หากเราลัดเลาะมาตามถนนมณีนพรัตน์ หรือถนนเลียบคูเมืองด้านนอกทางทิศเหนือ จากแจ่งหัวลิน ผ่านประตูช้างเผือก มาได้ไม่นานนัก ก็จะเจอทางเข้าภายใต้ซุ้มประตูที่ทำด้วยไม้ มีป้ายบอกไว้อย่างชัดเจน ซึ่งเป็นหนึ่งในวัดมงคลนาม หลาย ๆ วัดในเชียงใหม่ วัดที่มีความสำคัญและโดดเด่นในด้านความเชื่อและประวัติศาสตร์ของเมืองเชียงใหม่อย่างยิ่งวัดหนึ่งนั้น ก็คือ วัดเชียงยืน วัดเชียงยืน หรือในเอกสารโบราณเช่นพงศาวดารโยนกอาจเรียกว่า วัดฑีฆชีวะวัสสาราม หรือในตำนานชินกาลมาลีปกรณ์เรียกว่า วัดฑีฆายวิสาราม หรือ ฑีฆาชีวิตสาราม ซึ่งล้วนแล้วแต่หมายถึงชีวิตที่ยืนยาวทั้งสิ้น เฉกเช่นชื่อวัดที่เรียกกันโดยทั่วไปนั่นเอง ทำให้หลาย ๆ คนต่างมุ่งที่จะได้ไปไหว้ไปสาที่วัดแห่งนี้ในวันสำคัญ ๆ ไม่ว่าจะเป็นวันปีใหม่สากล วันปีใหม่ไทย เป็นต้น ความเป็นมาของวัด ยังไม่แน่ชัด แต่ก็มีข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับที่มาเอาไว้ตามเอกสารของทางวัดว่าไว้ว่า น่าจะสร้างในสมัยพระญามังราย ด้วยสร้างไว้ให้เป็นคู่กันกับวัดเชียงหมั้น(เชียงมั่น) ที่เป็นวัดแรกในเวียงเชียงใหม่ ส่วนวัดเชียงยืนเป็นวัดที่สอง สร้างไว้นอกเวียงทางด้านหัวเวียง เพื่อให้มีความหมายว่า มั่นคง และ ยั่งยืน นอกจากนี้ ยังสร้างไว้ให้เป็นที่สำหรับประกอบพิธีกรรมทางศาสนา สำหรับศรัทธาข้าเมืองทั้งหลายที่อยู่รอบนอกกำแพงเมือง ยามเมื่อประตูเมืองปิดลง การกล่าวถึงวัดเชียงยืนครั้งแรกนั้น ได้ปรากฏอยู่ในเอกสารที่ชื่อว่า ชินกาลมาลีปกรณ์ ที่รจนาโดยพระรัตนปัญญาเถระ ผู้เป็นปราชญ์แห่งล้านนาท่านหนึ่ง ซึ่งกล่าวไว้ว่า เมื่อปีเถาะ จุลศักราช ๘๘๑ (พ.ศ. ๒๐๖๒) พระเมืองแก้วและมหาเทวีพระมารดา ได้กระทำการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุในพระสถูปใหญ่ที่วัดทีฆาชีวิตสาราม เมื่อวันพุธ ขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๓ ส่วนในปีถัดมา ปีมะโรง จุลศักราช ๘๘๒ (พ.ศ. ๒๐๖๓) ฝ่ายพระราชากับพระราชมารดาได้โปรดให้จัดงานยกฉัตรมหาเจดีย์วัดทีฆาชีวิตสาราม เมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๘ ยามเที่ยง ทำให้เชื่อกันว่า เจดีย์วัดเชียงยืนแห่งนี้สร้างในสมัยพระเมืองแก้ว และได้มีการบูรณะกันเรื่อยมา จนถึงปัจจุบัน องค์เจดีย์เป็นเจดีย์ทรงกลม ฐานเหลี่ยมสูง ย่อเก็จ มีรูปปั้นสิงห์ตัวใหญ่ ๑ ตัว เล็ก ๒ ตัวประดับมุมฐานเจดีย์ทั้ง ๔ ทิศ กอปรกับตัวองค์เจดีย์นั้นได้มีการประดับด้วยดอกไม้สีทองอยู่ทั่วไปอีกด้วย จนเมื่อวันจันทร์ ที่ ๑๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้มีการบวงสรวงอัญเชิญยอดฉัตรเจดีย์ลงเพื่อทำการบูรณะใหม่ ปรากฏว่ามีการพบองค์พระธาตุซึ่งประดิษฐานอยู่บริเวณข้างในดอกบัวตูมยอดฉัตร จำนวน ๗ องค์ และได้อัญเชิญนำไปประดิษฐานไว้ในวิหารพระสัพพัญญูเจ้า เพื่อรอการอัญเชิญนำขึ้นประดิษฐานที่เดิม ยามที่ทำการบูรณะเสร็จสิ้นแล้ว ส่วนจุดที่ทำให้วัดเชียงยืนกลายเป็นหนึ่งในสถานที่ ที่ผู้จักครองเมืองเชียงใหม่จะต้องมาทำการสักการะพระสัพพัญญู พระประธานในวิหารวัดเชียงยืนเสียก่อนทุกคราไปนั้น มาจากสมัยของพระไชยเชษฐาธิราช หรือในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่เรียกว่า พระญาอุปปโย ในคราวที่มาครองเมืองเชียงใหม่ต่อจากมหาเทวีจิรประภาผู้เป็นยาย หลังจากที่พระญาอุปปโยเดินทางจากล้านช้าง มาพักอยู่ที่เชียงแสน เชียงรายตามลำดับ จนมาถึงเหมืองแก้ว ที่นั้นเหล่าบรรดาเสนาอามาตย์ได้นำเครื่องเทียมยศมาแห่ต้อนรับเอาพระญาอุปปโยเข้าไปยังเวียงเชียงใหม่ เดินทางมาจนถึงวัดเชียงยืน ซึ่งในตำนานกล่าวไว้ว่า อังคาสราธนาเข้ามาเถิงปะตูโขงวัดเชียงยืน พระเปนเจ้าถอดเครื่องประดับไว้ ทรงผ้าเสื้อขาว ทือขันเข้าตอกดอกไม้เทียนเงินเทียนคำ เข้าไพปูชาไหว้นบพระสัพพัญญูเจ้าวัดเชียงยืน จากนั้นจึงทำการเข้าสู่เวียงทางประตูช้างเผือก อันถือเป็นด้านหัวเวียง ไปสู่ราชมณเฑียรหอคำแท่นแก้ว จารีตนี้ได้สืบทอดต่อกันมา แม้นว่าช่วงหนึ่งที่ล้านนาตกเป็นเมืองขึ้นของพม่านานถึงสองร้อยกว่าปี ตราบจนฟื้นม่านสำเร็จ เจ้ากาวิละแห่งตระกูลเจ้าเจ็ดตน เมื่อจักครองเมืองเชียงใหม่ ก็ยังคงได้กระทำดังเช่นบูรพกษัตราธิราชได้กระทำมาแต่ก่อนนั้น ดังนี้ ดือน ๖ ออก ๑๒ ฅ่ำ วัน ๕ ยามตูดเช้า ท้าวค็เสด็จเข้ายั้งอยู่วัดปุพพาราม ตามปุพพะทำนองโปราณะแห่งท้าวพระญาทังหลายฝูงอันเปนแล้วมาแต่ก่อน บ่ห่อนละเสียยังปเวณี ค็ปทักขิณวัฏฏ์กระหวัดไพทิสสะหนใต้ ลำดับไพด้วยด้านวันตกไพเถิงวัดเชียงยืนด้านเหนือ พระเปนเจ้าเข้าไพสักการบูชาไหว้พระเจ้าวัดเชียงยืนแล้ว เถิงเพลายามแตรจักใกล้เที่ยง ท้าวค็ยกเอาหมู่ยัสสปริวารเข้าเวียงหลวง ด้วยปะตูช้างเผือกทิสสะหนเหนือ หื้อลวะจูงหมา พาแชกนำเข้าก่อน เหล่านี้เป็นธรรมเนียมเกี่ยวกับกษัตริย์ผู้ครองล้านนาเชียงใหม่ ตกทอดสืบถึงรุ่นหลัง แต่ชาวบ้านทั่วไปก็เคารพนับถือพระสัพพัญญูเจ้าวัดเชียงยืนเป็นอย่างยิ่ง กอปรกับชื่อวัดอันเป็นมงคลมักนิยมที่จะมาทำการสืบชะตาที่วัดเชียงยืนนี้ เพื่อหวังให้มีอายุที่ยืนยาว ดังจะเห็นเมื่อครั้งยามที่พระเจ้าอินทวิชชยานนท์ หลังจากที่กลับมาจากกรุงเทพฯ โดยขึ้นที่ท่าน้ำวัดไชยมงคล ก็จำไปทำการลอยเคราะห์ที่วัดลอยเคราะห์และดับภัย ที่วัดดับภัย แล้วจึงมาทำการ สืบชะตาที่วัดเชียงยืนแห่งนี้ ศาสนาสถานอีกแห่งหนึ่งของวัดนี้ ที่มีความงดงามโดดเด่นไม่แพ้พระธาตุเจดีย์ หรือตัววิหารอันเก่าแก่แล้ว ยังมีอุโบสถทรง ๘ เหลี่ยม แตกแต่งตามสถาปัตยกรรมแบบพม่า ที่งดงามและสมควรที่จะอนุรํกษ์ไว้เป็นอย่างยิ่ง นับเป็นอารามที่อยู่คู่เมืองเชียงใหม่มายาวนาน และฝังรากลึกถึงความเคารพและศรัทธาของสาธุชนคนทั่วไปที่มีต่อวัดเชียงยืน และองค์พระสัพพัญญูเจ้าวัดเชียงยืน อย่างแน่นแฟ้น ดังจะเห็นว่าชุมชนที่เป็นศรัทธาวัดเชียงยืนมาจากหลายชุมชน ไม่ว่าจะเป็นชุมชนเชียงยืน ชุมชนอุ่นอารีย์ ชุมชนสามัคคีพัฒนา และชุมชนป่าเป้า จะร่วมมือกันดูแลอุปปัฏฐากวัดนี้ไม่เคยขาด โดยจะมีงานประจำปีคือประเพณีการสรงน้ำพระบรมธาตุวัดเชียงยืนในช่วงต้นเดือนเมษายน เป็นลำดับถัดจากวัดเชียงหมั้นเสมอ ฉะนั้นหากมาเชียงใหม่ ลองเข้าไปไหว้สาพระสัพพัญญูเจ้าที่วัดเชียงยืนสักครั้ง จะได้รู้ว่าเหตุใด วัดแห่งนี้จึงมีความสำคัญต่อเมืองเชียงใหม่ และชาวเชียงใหม่สืบจากอดีตถึงปัจจุบัน๚๛
Create Date : 05 พฤษภาคม 2550 | | |
Last Update : 5 พฤษภาคม 2550 0:05:48 น. |
Counter : 1653 Pageviews. |
| |
|
|
|
|
เมิงเจงตุ๋ง - เมืองเชียงตุง
เมืองเชียงตุง

๓ จอม ๗ เชียง ๙ หนอง ๑๒ ประตู คือฉายานามของเมืองเชียงตุง อันหมายถึง จอม หรือยอดดอยที่อยู่ในเมืองเชียงตุงสามยอด อันได้แก่ จอมมน จอมคำ และจอมทอง เจ็ดเชียงคือหมู่บ้านดั้งเดิมของเมืองเชียงตุง ซึ่งก่อนที่จะมีการขยายออกไปได้แก่ เชียงยืน เชียงจันทร์ เชียงลาน เชียงงาม เชียงขุ่ม เชียงจั่น และเชียงจาม ส่วนเก้าหนองได้แก่ หนองตุง หนองเย หนองยาง หนองท่าช้าง หนองแก้ว หนองไค้ หนองป่อง หนองผา และหนองเข้ และสิบสองประตู คือ ประตูต่าง ๆ ของเมือง เชียงตุงที่มีมากกว่า เมืองโบราณ เมืองโบราณอื่นๆ เมืองเชียงตุง เป็นชื่อเรียกทั่วไป บางครั้งอาจจะได้ยินว่า เจงตุ๋ง ตามสำเนียงไทขึน หรือ เกงตุ๋ง ตามสำเนียงไทยใหญ่ และ เจียงตุ๋ง ตามสำเนียงของคนเมืองล้านนา นอกจากนี้ ยังมีนามอันเรียกขานกันอีกหลายนาม ไม่ว่าจะเป็น เขมรัฐ อันหมายถึงนครรัฐเชียงตุง และ ตุงคบุรี อันหมายถึงเมืองเชียงตุง ซึ่งชื่อเชียงตุงนี้ ก็มาจากชื่อของ ตุงคฤๅษี ผู้ที่ให้กำเนิดดินแดนแห่งนี้ตามตำนาน เชียงตุง นั้นสร้างโดยพระญามังรายเมื่อปี พ.ศ. ๑๘๑๐ หากนับถึงปัจจุบันนี้ ก็ประมาณ ๗๔๐ ปีล่วงมาแล้ว ซึ่งปกครองโดยเชื้อสายแห่งราชวงศ์มังรายสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งมีความสัมพันธ์กับเมืองเชียงใหม่อย่างแน่นแฟ้น โดยแต่ก่อนก็ปกครองโดยเชื้อพระวงศ์จากราชวงศ์มังราย ต่อมาเมื่อเชียงใหม่ปกครองโดยกลุ่ม เจ้าเจ็ดตน ก็มีความผูกพันธ์ฉันเครือญาติอยู่เสมอมา นอกจากนี้แล้ว ความสัมพันธ์ทางศาสนา ภาษา และวัฒนธรรมก็ยิ่มคล้ายคลึงและสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่นไม่แพ้กัน ปัจจุบันเมืองเชียงตุง เป็นจังหวัดหนึ่งในรัฐฉานของประเทศพม่า ซึ่งมีผู้คนอยู่หลากหลายชาติพันธุ์ โดยชนพื้นเมืองดั้งเดิมคือกลุ่มลวะ ปัจจุบันก็ยังมีหลงเหลืออยู่ และก็ยังคงเกี่ยวพันกับประเพณีอยู่เสมอมา เช่นประเพณีตีกลองโดยชาวลวะเมื่อยามปีใหม่ ส่วนผุ้คนส่วนใหญ่ก็จะเป็น ไทขึน ไทยใหญ่ พม่า ไทลื้อ อาข่า ดาละอั้ง ว้า เป็นต้น การที่เป็นเมืองในหุบเขา ทำให้เมืองเชียงตุงมีเสน่ห์อบอวลอยู่เสมอ เป็นดินแดนที่หลายคนฝันใฝ่ที่จักได้มาเยือนอยู่มิคลาย ด้วยยังคงความสงบและบริสุทธิ์อยู่มาก ทั้งผู้คน วิถีชีวิต อาหารการกิน ตลอดถึงอาคารบ้านเรือน มีตนเปรียบเปรยไว้ว่า การไปเมืองเชียงตุง เหมือนกับย้อนรอยอดีตเมืองเชียงใหม่ไปประมาณ ๖๐ ปี ความสงบและความมีไมตรีของผู้คนที่นี่ก็เป็นเสน่ห์อีกอย่างหนึ่ง ที่มัดใจของผู้ไปเยือนทุกครั้งไป ชาวไทขึนและชาวไทยใหญ่ต่างมีศรัทธาที่มั่นคงในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก ดังปรากฏเห็นได้ทั้งการปฏิบัติตน และการรังสรรค์ผลงานเพื่อถวายแก่พระพุทธศาสนา ทั้งวัดวาอารามหลากหลายวัดที่เป็นเอกลักษณ์และวิจิตรทุกส่วนสัด และมีวัดที่สวยงามด้วยฝีมือเชิงช่างดังที่ว่านั้นอยู่หลายวัดด้วยกัน โดยกะจะฝากฝีมือให้ลือชาปรากฏว่า ฝีมือเชิงช่างของที่นี่ ไม่เป็นอื่นรองใคร ทั้งเรื่องราวความเป็นมาในอดีต จากรุ่นสู่รุ่น จากกาลเวลาหนึ่งสู่อีกกาลเวลาหนึ่งนั้น ได้สั่งสมสิ่งดีสิ่งงาม แฝงเสน่ห์อันลึกล้ำด่ำดื่มอยู่ตลอดมา แม้นใครได้ไปเยือน จักมิสามารถลืมเลือนเมืองเชียงตุงได้เลย ๚๛
Create Date : 19 เมษายน 2550 | | |
Last Update : 20 มกราคม 2551 7:06:08 น. |
Counter : 3419 Pageviews. |
| |
|
|
|
|
| |
|
|