ขอนแก่นชูเมกะโปรเจ็กต์ เชื่อมระบบขนส่งต้นแบบพัฒนาเมืองใหญ่
ขอนแก่นเป็นจังหวัดต้นแบบของการพัฒนาเมืองใหญ่ด้วยระบบขนส่งมวลชนในรูปแบบของรถไฟฟ้ารางเบาโดยภาคเอกชนในจังหวัดรวมตัวก่อตั้งเป็นบริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมืองจำกัด หรือเคเคทีที ทุนจดทะเบียน 200 ล้านบาท โครงการนี้มีความคืบหน้าแค่ไหนนายเข็มชาติ สมใจวงษ์ประธานหอการค้าจังหวัดขอนแก่นจะมาให้คำตอบ

7 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น + องค์กรภาคเอกชนอีก 50 แห่ง จับมือกันพัฒนาเมืองโดยเน้นหนักไปที่โครงสร้างพื้นฐาน
ที่มาภาพ : คลิปข่าว youtube จากสปริงนิวส์
-เป้าหมายพัฒนาเมือง
ขอนแก่นกำลังสร้างพื้นฐานการพัฒนาจังหวัดในทุกๆด้านด้วยระบบการคมนาคมขนส่ง และการสร้างเมืองเป็นศูนย์กลางการประชุมแห่งภาคตะวันออกเฉียงเหนือและอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ด้วยศักยภาพจากทำเลที่ตั้ง เป็นทางเชื่อมของโครงการรถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ตั้งเป้าให้เป็นเมืองศูนย์กลางของบริการทางการแพทย์รักษาพยาบาล ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องพัฒนาระบบการขนส่งสาธารณะให้เหมาะสมโดยเริ่มต้นที่รถบัสโดยสารปรับอากาศ ขอนแก่นซิตี้บัสที่เชื่อมท่าอากาศยานของแก่นกับสถานีขนส่งผู้โดยสาร 3 ผ่านสถานที่สำคัญในตัวเมืองมีบริการไวไฟในรถบัส สามารถชำระค่าโดยสารด้วยสมาร์ทการ์ดอันดับต่อมาคือการพัฒนาแท็กซี่โดยสารในตัวเมือง ให้สะอาด ปลอดภัย พร้อมเพิ่มทักษะด้านภาษาให้ผู้ขับขี่ สร้างความประทับใจให้กับผู้โดยสาร ซึ่งทำมาได้ 3-4 ปีแล้ว อันดับต่อมาคือระบบขนส่งมวลชนรถไฟฟ้ารางเบาหรือ แอลอาร์ที

ที่มาภาพ : คลิปข่าว youtube

ตั้งเป้าให้เป็นเมืองศูนย์กลางของบริการทางการแพทย์ รักษาพยาบาล
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
-คืบหน้ารถไฟฟ้ารางเบา
เป้าหมายของขอนแก่นพัฒนาเมืองในการสร้างรถไฟฟ้ารางเบาแนวเหนือใต้สำราญท่าพระ มีระยะทางรวม 26 กิโลเมตร จำนวน 21 สถานีใช้รถไฟฟ้าที่ผลิตและผลิตในประเทศ 15 ขบวน ขบวนละ 3 ตู้ สามารถจุผู้โดยสารได้ 180 คน ความคืบหน้าล่าสุด 5 เทศบาลในจังหวัดขอนแก่นประกอบด้วยเทศบาลนครขอนแก่น เทศบาลเมืองศิลา เทศบาลตำบลเมืองเก่า เทศบาลตำบลสำราญและเทศบาลตำบลท่าพระ ซึ่งเป็นเส้นทางที่รถไฟฟ้ารางเบาวิ่งผ่านได้ร่วมกันก่อตั้งบริษัท ขอนแก่น ทรานซิท ซิสเท็มส์ หรือ เคเคทีเอส ( KKTS ) ด้วยทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาทให้เป็นหน่วยงานที่บริหารจัดการเดินรถ จัดทำ TOR เพื่อจัดหาผู้ดำเนินการก่อสร้างและจัดเก็บรายได้ของระบบขนส่งสาธารณะ ซึ่งขณะนี้ ขอนแก่น ทรานซิท ซิสเท็มส์กำลังดำเนินการประสานโครงการต่อ ทั้งในส่วนของผลการศึกษาจากงบของ สนข.ซึ่งจะแล้วเสร็จในเดือนพฤษภาคมนี้รวมถึงการประสานกับกรมทางหลวง และกรมธนารักษ์ เพื่อขอใช้พื้นที่เกาะกลางถนนจากนั้น นำเข้า ครม.เพื่อรออนุมัติ โดยคาดว่า ปลายปี 2560 นี้จะเริ่มก่อสร้างได้อย่างเป็นทางการ มีกำหนดแล้วเสร็จในปี 2562-2563 ใช้เงินลงทุนประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท

โครงการรถไฟฟ้ารางเบา (LRT-LIGHT RAIL TRANSIT) ขอนแก่น

SMART CITY BUS ระบบขนส่งสายรอง (FEEDER)

ส่งเสริมการท่องเที่ยว ศิลปวัฒนธรรมดึงดูดนักท่องเที่ยวด้วยภาคกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง
ที่มาภาพ : เทศบาลนครขอนแก่น ภาคกิจกรรม
นอกจากนี้ บริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง จำกัดยังได้ลงนามบันทึกข้อตกลงกับบริษัท ไทยแลนด์ ไอโอที คอนซอร์เตียม จำกัดเพื่อนำเทคโนโลยี IoT มาพัฒนาขอนแก่นให้เป็นเมืองสมาร์ทซิตี้อย่างเต็มรูปแบบ
-ต้นแบบพัฒนาเมืองใหญ่
การดำเนินงานของขอนแก่นพัฒนาเมือง จะเป็นต้นแบบของการพัฒนาเมืองใหญ่ในภูมิภาคที่มีการร่วมมือกันภาคเอกชนในการพัฒนาเมืองอย่างมีแบบแผนชัดเจนมีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งขอนแก่นจะเป็นจังหวัดแรกที่จะเกิดรถไฟฟ้ารางเบาเนื่องจากมีการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการล่วงหน้า แม้อาจมีการมองว่า รถไฟฟ้ารางเบาเป็นการลงทุนที่สูงเกินไปควรจะเริ่มต้นด้วยรถบีอาร์ที จะประหยัดต้นทุนกว่าแต่ทางขอนแก่นก็ยอมลงทุนเพื่ออนาคตในระยะยาว ให้เป็นเอกลักษณ์ของเมืองโดยจะใช้การพัฒนาอสังริมทรัพย์ ศูนย์การค้า อาคารสำนักงานเพื่อมาเสริมรายได้ให้กับโครงการนี้ด้วย
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,261 วันที่ 14 - 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2560
//www.thansettakij.com/content/148857