Group Blog
 
All Blogs
 

กรรม

กรรม

มาฆบูชานี้ปีเสือร้าย
ไม่เบื่อหน่ายฟังธรรมนำมาสอน
ทำความดีละความชั่วนั้นแน่นอน
มุ่งอาทรทำจิตใสไร้ราคี

มีเรื่องใหญ่มากวนใจให้หมกมุ่น
ละเรื่องบุญลืมกันไปในหลายที่
มัววิจารณ์ขานข่าวความคดี
ต่างแบ่งสีแยกพวกจวกกันเพลิน

คนทำดีต้องได้ดีไม่มีเว้น
ทำเรื่องชั่วแม้ซ่อนเร้นไม่ขัดเขิน
ต้องรับกรรมที่ทำไว้ไม่ขาดเกิน
ดีสรรเสริญชั่วแช่งด่าพาเสียคน

จะดีชั่วมีใจเห็นเป็นที่ตั้ง
ต้องระวังกายวาจาพาเกิดผล
ยึดคุณธรรมประจำไว้ในใจตน
จะหลุดพ้นคนวิจารณ์กล่าวขานเอย.




 

Create Date : 01 มีนาคม 2553    
Last Update : 1 มีนาคม 2553 20:48:24 น.
Counter : 611 Pageviews.  

ธรรมะสำหรับตนเอง (๖)

ธรรมะสำหรับตนเอง (๖)

มีผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือท่านหนึ่ง พูดเมื่อปีใหม่ว่า เห็นเราเขียนหนังสือ อิงธรรมะบ่อย ๆ ลองอธิบายซิว่านิพพานคืออะไร ฟังดูเหมือนกับจะทดสอบ เราอยากจะตอบไปว่า ผมไม่ทะเยอทะยานถึงกับจะไปนิพพานหรอก ขอแต่เพียงได้เป็นคนดีก็พอแล้ว แต่ได้ตอบไปว่า ผมนั้นศีลห้าข้อยังรับได้ไม่หมดเลย จะไปคิดถึงเรื่องนิพพานได้อย่างไร เพียงแต่ฝึกความไม่โลภ กับความไม่โกรธ ให้สำเร็จก็นับว่าดีมากแล้ว

แต่ไม่กล้าบอกว่า ความจริงได้ฝึกความไม่หลงอีกอย่างหนึ่ง คือ ไม่หลงว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้น ที่ได้รับทั้งทุกข์ทั้งสุข ว่าเป็นของแน่นอน ไม่หลงว่าความสุขที่ได้รับจากผัสสะทั้งหกจะไม่เปลี่ยนแปลง ไม่หลงว่าจะไม่เจ็บป่วย จะอายุยืน ไม่หลงว่าเราทำดีพอแล้ว ไม่หลงว่าเรารู้พอที่จะคุยได้แล้ว

เราเพียงแต่จะอยู่ให้พอดีกับการดำรงชีวิต และใช้กรรมที่เคยได้ทำไว้ ไม่ว่าจะต้องการหรือไม่ก็ตาม จะทุกข์หรือสุขเพียงใดก็ตาม ด้วยความอดทนและสงบเสงี่ยม เท่านั้น


############




 

Create Date : 21 พฤศจิกายน 2552    
Last Update : 21 พฤศจิกายน 2552 6:27:37 น.
Counter : 355 Pageviews.  

ธรรมะสำหรับตนเอง (๕)

ธรรมะสำหรับตนเอง (๕)

การให้ถือว่า เป็นการเสียสละก็ได้

ในชีวิตของคนเราทุกคน ย่อมได้รับประโยชน์จากบุคคลอื่นมาตั้งแต่เกิด เริ่มแต่บิดามารดา ครูอาจารย์ มิตรสหาย ภรรยา สามี และแม้ผู้อื่นที่เคยเกื้อกูลช่วยเหลือตามโอกาส รวมทั้งธรรมชาติ และสัตว์ทั้งหลายด้วย ท่านสอนให้เรารู้คุณของบุคคลและสรรพสิ่งเหล่านั้น และจดจำไว้ เมื่อมีโอกาสก็จะต้องหาหนทางทดแทนคุณ แก่ผู้มีคุณและสิ่งที่มีคุณเหล่านั้นเสมอ

บางทีอาจจะไม่ได้ตอบแทนตรงกับผู้มีคุณนั้นก็ได้ เช่นบิดามารดาท่านสิ้นชีวิตไปแล้ว เราก็ทำบุญอุทิศไปให้ ผู้ที่เคยให้ความอุปการะเมื่อเรายังยากไร้ขัดสน เราก็อาจตอบแทนแก่บุตรและญาติของท่าน หรือช่วยเหลือบุคลอื่นที่สมควรช่วยเหลือ ดุจเดียวกับที่เราได้เคยรับการช่วยเหลือมาแล้ว สัตว์ที่เคยมีคุณแก่เรา ก็อาจตอบแทนด้วยการเมตตาสัตว์อื่น ๆ ธรรมชาติที่ เอื้ออำนวยให้เรามีชีวิตอยู่ ก็ตอบแทนด้วยการรักษาธรรมชาติ เป็นต้น

ทั้งนี้ไม่ได้เป็นแต่เพียงความคิด แต่ได้ปฏิบัติมาโดยตลอด ในช่วงท้ายของชีวิตซึ่งมีความสามารถที่จะทำเช่นนั้นได้แล้ว ซึ่งเข้าใจว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง

และการให้แก่ผู้ที่มีคุณต่อเรามาก่อน ถือว่าเป็นความกตัญญูกตเวที ก็ได้

ความกตัญญูกตเวที เป็นธรรมะที่สำคัญสำหรับคนดี


############




 

Create Date : 21 พฤศจิกายน 2552    
Last Update : 21 พฤศจิกายน 2552 6:25:04 น.
Counter : 1006 Pageviews.  

ธรรมะสำหรับตนเอง (๔)

ธรรมะสำหรับตนเอง (๔)

อุดมคติ

ใคร ๆ ก็มีอุดมคติด้วยกันทั้งนั้น แต่จะปฏิบัติได้ตามอุดมคตินั้น จริงหรือเปล่า หรือว่าพูดเล่นโก้ ๆ ว่าฉันมีอุดมคติ อุดมคตินี้เป็นสิ่งที่ดีงาม มีคุณประโยชน์ ไม่ใช่พูดว่า อุดมคติของฉันคือเงิน แล้วก็ทำตามนั้นไม่ว่าจะถูกหรือผิด ถือว่าทำตามอุดมคติแล้ว อย่างนี้ไม่ใช่คนดี อย่างแน่นอน

อุดมคติของผมนั้น เคยตั้งไว้ว่า จะต้องทำปัจจุบันให้ดีที่สุด และยินดีที่จะรับผลของการกระทำนั้น ไม่ว่าจะถูกใจหรือไม่ก็ตาม

แต่เมื่ออยู่มาจนถึงบัดนี้ รู้สึกว่าสั้นไป ต้องขยายออกไปอีก โดยถือว่า

ครองใจอยู่ในอุเบกขา
อุตส่าห์ในศุภกิจให้ผลิตผล
ค้ำจุนผู้อ่อนแอแลอับจน
ส่วนตนอย่าได้ของ้อผู้ใด.....

กลอนสี่บรรทัดนี้ลอกมาจากนวนิยาย ของ "ดอกไม้สด" เพราะชีวิตได้ดำเนินมาในกรอบของ กลอนสี่บรรทัดนี้อย่างเห็นได้ชัด คือ

๑. ครองใจอยู่ในอุเบกขา ไม่หวั่นไหวยินดียินร้าย ต่อสิ่งที่เกิดขึ้นกับตนเอง ทั้งที่ถูกใจและไม่ถูกใจ ทั้งที่เป็นความสุข และความทุกข์ ยอมให้ทุกสิ่งทุกอย่างผ่านไปโดยสงบเงียบเรียบร้อย

สำหรับผู้อื่นก็เช่นเดียวกัน เขาได้ดีมีสุขก็ไม่อิจฉาริษยา กลับมีมุทิตาพลอยยินดีด้วยกับเขา ถ้าเขาทุกข์ร้อนด้วยเรื่องที่เราไม่สามารถช่วยได้ ก็ต้องใช้อุเบกขาวางเฉย โดยไม่ให้ตนเองต้องพลอยทุกข์ร้อนไปด้วย

เรื่องนี้ได้ฝึกปฏิบัติมาตลอดเวลา ตั้งแต่อายุน้อย จนถึงปัจจุบันอายุกว่า ๗๐ ปีแล้ว ไม่เปลี่ยนแปลง

๒. อุตส่าห์ในศุภกิจให้ผลิตผล เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่ยึดถือมาโดยตลอด คือตั้งใจทำงาน ราชการ ด้วยความมีฉันทะพอใจสนใจในงานนั้น และมีความวิริยะอุตสาหะขยันหมั่นเพียร กับ เอาใจใส่ไตร่ตรองหาหนทางในการทำงานให้เรียบร้อยตลอดเวลา และแก้ไขปรับปรุงพัฒนางาน ให้ก้าวหน้าขึ้นกว่าเดิมอยู่เสมอ

เป็นผลให้ได้รับความสำเร็จสูงสุด เท่าที่จะมีโอกาสได้ ส่วนงานรองนั้น คือการเป็นนักเขียน แม้จะไม่ได้ผลสำเร็จสมหวังตั้งใจ แต่ก็ทำด้วยความสุข ไม่ทะเยอทะยานอยากได้ ในสิ่งที่ไม่ได้นั้น

๓. ค้ำจุนผู้อ่อนแอแลอับจน ก็เป็นเรื่องที่อยู่ในจิตใจตลอดมา มีเมตตากรุณาแก่ผู้ยากไร้ และขาดแคลน ถ้าสามารถช่วยได้ ก็ช่วยไปตามกำลัง ถ้าช่วยไม่ได้ก็ต้องใช้อุเบกขาในข้อแรก เพื่อไม่ให้เกิดความทุกข์ไปกับเขาด้วย จนสามารถเป็นที่พึ่งของคนอื่นได้พอสมควร

๔. ส่วนตนนั้นอย่าได้ของ้อผู้ใด เป็นเรื่องของความเข้มแข็งอดทน ต่อสู้กับความยากลำบาก ทั้งทางกาย วาจา และใจ แม้ไม่ขอร้องให้ใครช่วย แต่ถ้ามีผู้ช่วยเหลือ ก็กตัญญูรู้คุณท่าน และพยายามกตเวทีตอบแทนคุณท่านเท่าที่จะทำได้

ตรงกันข้ามได้พยายามช่วยเหลือผู้อื่น ทุกเรื่องที่สามารถช่วยได้ ตามข้อที่สาม ต้องการให้ผู้อื่นได้รับในสิ่งที่เขาต้องการจากเราเสมอ


ทั้งหมดนี้เป็นอุดมคติ ที่ได้ทำมาแล้วในอดีต และยึดถือว่าจะทำต่อไปจน ชั่วชีวิต ด้วยการลดความโกรธ ลดความอยาก ลดความลุ่มหลง

ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นแล้วจริง ไม่ใช่เขียนขึ้นมาสอนคนอื่น สุดท้ายของอุดมคติก็คือความสันโดษ พอใจในสิ่งที่มี สิ่งที่เป็นอยู่ ไม่ต้องการสิ่งที่ดีเลิศ เหนือเหตุผล

เช่นเรื่องครอบครัว ไม่ว่าใครก็ต้องการครอบครัวที่เรียบร้อยราบรื่น มีลูกที่ดี ฉลาด และมีอนาคตที่สดใส แต่เราก็ต้องดูที่ตนเองก่อนว่า เราเป็นคนดีแค่ไหน ฉลาดแค่ไหน มีชีวิตที่ถูกต้องแค่ไหน ถ้าเราเองก็แค่นี้ ภรรยาก็แค่นั้น แต่เราก็เต็มใจรับมาไว้เป็นครอบครัว เมื่อมีลูกจะเอาให้ดีเลิศเกินพ่อแม่ไปได้อย่างไร มันก็เป็นไปตามกรรมของเราทั้งหมดนั้นเอง

ไม่ว่าญาติหรือมิตรสหายเพื่อนฝูง ใคร ๆ ก็อยากได้แต่คนที่ดีทั้งนั้น แต่ถ้าเลือกไม่ได้ เราก็ต้องปรับตัวเองให้สามารถ เป็นญาติที่ดี เพื่อนที่ดี หรือเป็นพ่อแม่ที่ดีของเขาให้ได้ นั่นจึงจะเรียกว่า ได้ประสบความสำเร็จในชีวิตแล้ว

##############





 

Create Date : 20 พฤศจิกายน 2552    
Last Update : 20 พฤศจิกายน 2552 10:41:10 น.
Counter : 465 Pageviews.  

ธรรมะสำหรับตนเอง (๓)

ธรรมะสำหรับตนเอง (๓)


เมื่อเล่าถึงการระงับความโกรธ
ก็มีบางท่านให้พิจารณา พรหมวิหาร ควบคู่ไปด้วย

แต่โดยปกติผมใช้ ขันติ โสรัจจะ คือความอดทน และความสงบเสงี่ยม

ความอดทนจำเป็นต้องฝึกให้มาก ฝึกไปพร้อมกับการระงับความโกรธ
ถ้าสละความโกรธแล้ว แต่ไม่รู้จักอดทน ก็พลุ่งพล่านอยู่ในใจ

ความอดทนนี้ได้พยายามฝึกมาตั้งแต่เด็ก
เพราะทุกคนที่ผ่านพบมา เป็นผู้ใหญ่กว่าทั้งนั้น
ต่างก็ออกคำสั่งให้เราทำอย่างนั้นอย่างนี้
ซึ่งบางทีเราขี้เกียจไม่อยากทำ บางทีเราไม่ชอบก็ไม่อยากทำ

บางทีก็ฝืนความรู้สึก แต่ก็ต้องทำเพื่อความสงบสุข ของตัวเราเอง

เมื่อโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ได้ทำงาน
ก็มีนายที่จะคอยสั่งให้ทำโน่นทำนี่อยู่ตลอดทั้งชีวิต

ตั้งแต่ตำแหน่งหน้าที่เล็กจ้อย อย่างนักการภารโรง
จนเป็นถึงหัวหน้าแผนก จึงได้ค่อยยังชั่วลง

ความอดทนนั้นช่วยให้นายเห็นว่าเราเป็นคนดี
จึงได้ประสบความสำเร็จ ในชีวิตของการทำงาน

ความอดทนนั้นต้องทนทั้งทางกาย เช่น การทำงานหนักเกินกำลัง
ทางวาจา เช่น การถูก ตำหนิติเตียน เยาะเย้ย ถากถาง ดูถูก เหยียดหยาม
การ สบประมาท ยั่วโทโส

ทางใจ เช่น การถูก บังคับให้ทำในสิ่งที่ไม่เห็นด้วย เป็นต้น

เมื่อแก่ตัวลงก็ยังไม่พ้นที่จะถูกบ่นว่า หรือตำหนิติเตียนในสิ่งที่ได้ทำลงไป
เพราะเขาเห็นว่าเป็นคนแก่ งุ่มง่ามหลงลืม ผิดพลาด ไม่มีใครอยากให้อภัย

ก็ต้องอดทน ไม่แสดงกิริยา หรือคำพูด ที่ไม่ไพเราะออกไปให้เรื่องบานปลาย

สรุปว่าความอดทนจะต้องใช้ไปจนตลอดชีวิต จึงจะมีความสุขได้

คาถาที่จะช่วยให้ความอดทนเกิดผลสำเร็จก็คือ
อนิจจัง ทุกสิ่งไม่เที่ยง ไม่คงทนยั่งยืน
สิ่งที่เกิดกับเราในปัจจุบัน มันจะต้องเปลี่ยนแปลงไป พ้นไป ผ่านไป

เราจะสามารถอดทนต่อ สิ่งที่เราไม่ชอบได้
ถ้าเราเชื่อมั่นว่า ทุกอย่างจะต้องเปลี่ยนแปลงไป
ไม่มีใครทำเช่นนั้นกับเราได้ตลอดไป

แต่แน่นอนรายหนึ่งผ่านไปแล้ว อีกรายหนึ่งก็เข้ามาแทน แล้วก็ผ่านไปอีก
ถ้าเราอดทนเราก็ไม่มีความทุกข์

ในทางตรงกันข้าม เมื่อมีความดีงาม ได้รับคำสรรเสริญ ชมเชยหรือได้รางวัล
ก็ต้องพยายามข่มตนเอง ไม่ให้ลุ่มหลง ก็ต้องใช้ความอดทนอีก
อดทนต่อกิเลสที่มาเย้ายวนให้ทำผิดพลาดคลาดเคลื่อนไป
เพราะคำสรรเสริญเยินยอนั้น

และก็เป็นเช่นเดียวกัน อีกไม่นานมันก็พ้นไป
ไม่มีใครจะเฝ้าชมเชยสรรเสริญอยู่ได้ตลอดไป
เราก็ต้องกลับไปเป็นตัวของตัวเองอีก

เมื่อได้อดทนต่อคำพูดที่ไม่พอใจ การกระทำที่ไม่ถูกไม่ชอบ
งานการที่เหน็ดเหนื่อยหนักตรากตรำ ผ่านมาจนถึงวัยชรา
ก็เตรียมอดทนต่อโรคาพยาธิ ที่จะเข้ามาเบียดเบียน

อดทนต่อความเจ็บปวดจากโรคร้าย
โดยถือคติอย่างเดิมคือมันจะไม่อยู่กับเราตลอดไป
ถ้าไม่หายก็ตายพ้นทุกข์ไป

ความตายใช้เวลาไม่เกินสิบนาทีเท่านั้น
กัดฟันทน เอาพระธรรมเป็นที่พึ่ง ไม่ช้าก็พ้นทุกข์

แต่ถ้าโชคร้าย ยังไม่ตาย แต่ก็ไม่หาย อยู่ไปแบบช่วยตัวเองไม่ได้
นี่ก็คือนรกในชีวิต ต้องใช้ความอดทนอีก และใช้มากเสียด้วย

ถ้าสามารถอยู่ในนรกได้ โดยไม่มีทุกข์ ก็เป็นอันว่าผ่านการฝึกอย่างสมบูรณ์แล้ว

##############





 

Create Date : 20 พฤศจิกายน 2552    
Last Update : 20 พฤศจิกายน 2552 7:22:35 น.
Counter : 1148 Pageviews.  

1  2  3  4  5  

เจียวต้าย
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 45 คน [?]




เชิญหารายละเอียดได้ ที่หน้าบ้านชานเรือนครับ
Friends' blogs
[Add เจียวต้าย's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.