Group Blog
 
All blogs
 
Redacted (2007): วีรเวรโลกไม่ลืม (แต่ทำเมิน)

Redacted (2007) :
ดูเหมือนว่าหลังปี ค.ศ.2000 มาเนี่ย ไม่มีผลงานเรื่องไหนของป๋า Brian De Palma ที่โดดเด่นเข้าตามหาชนคนดูหนังเลย (จนหลายคนบอกว่าแกกำลังอยู่ในช่วงขาลงแล้ว) ไม่เหมือนยุคทองของแกในช่วงทศวรรษที่ 80 ซึ่งมีหนังขึ้นหิ้งคลาสสิกอย่าง Scarface (1983) และ The Untouchables (1987) หรือแม้แต่หนังตลาดทำเงินในยุค 90 อย่าง Mission: Impossible (1996) ด้วย ส่วนนี่คือผลงานล่าสุดของแกเมื่อปี ค.ศ.2007 ที่ทำให้แกซิวรางวัลสิงโตเงินมาได้จากเทศกาลหนังเวนิส แม้ว่าคำวิจารณ์จะเสียงแตกมีทั้งชอบและไม่ชอบและก่อให้เกิดเรื่องอื้อฉาวชวนวิพากษ์วิจารณ์ตามมาอีกบานก็ตามที

หนังทหารมะกันก่อวีรเวรมาอีกแล้วจ้า
หนังสร้างโดยอิงเรื่อง (หลวมๆ) จากเหตุการณ์จริงสุดบัดซบที่เกิดขึ้นในอิรัก ปี ค.ศ.2006 เมื่อทหารมะกัน 4 นายบุกไปข่มขืนสาวชาวบ้านวัย 15 ขวบ แล้วฆ่าเหยื่อตายยกครัว 4 ศพอย่างเลือดเย็น เสร็จแล้วก็โบ้ยความผิดให้พวกผู้ก่อการร้าย แม้ว่าต่อมาเรื่องจะแดง เกิดการไต่สวนคดีขึ้น แต่ก็ไม่มีใครต้องถูกดำเนินคดี สร้างความโกรธแค้นต่อชาวอิรัก จนเกิดเหตุผู้ก่อการร้ายจับทหารมะกันดวงซวยไปฆ่าโหดออกสื่อเพื่อเป็นการแก้แค้นในเวลาต่อมา

ว่างทีไรเป็นได้ล้อมวงเล่นไพ่เมากันได้ตลอด
เป็นอีกครั้งที่ป๋าแกขอกลับไปทำต่อต้านสงครามสุดหดหู่อีก หลังจากที่เคยทำหนังสงครามเวียดนามอันน่าจดจำอย่าง Casualties of War (1989) มาแล้ว โดยคราวนี้ด้วยงบสร้างอันน้อยนิด (สำหรับหนังฝรั่ง) เพียงแค่ 5 ล้านเหรียญ จึงไม่มีฉากรบพุ่งอะไรใหญ่โตหรือดาราดังๆ มาให้เห็น (อันที่จริงหนังออกมาค่อนข้างดูจะเกรดบีเลยล่ะ) หนังทำเก๋ตรงที่เล่าเรื่องโดยผ่านสื่อต่างๆ ทั้งกล้องวีดีโอ กล้องวงจรปิด ข่าวทีวี คลิปจากเว็บไซต์ เพื่อสร้างความรู้สึกเหมือนกับกำลังดูเรื่องจริงผ่านจอหรือสารคดีอะไรปานนั้น ซึ่งก็นับว่าเป็นไอเดียที่แปลกใหม่สำหรับหนังสงครามอิรักเลยก็ว่าได้

ไม่ต้องมาทำหงอยคอตกเลย
แต่ทว่าสิ่งเหล่านี้มันกลับออกมาไม่ดูน่าเชื่อถือเท่าที่ควร หนังดูห้วนๆ ไม่ได้สร้างความกดดันหรือความหดหู่ให้มากมาย ทั้งยังเปลี่ยนแปลงเรื่องราวให้กองทัพสหรัฐกลายเป็นผู้ร้ายจนเกินไป จนถ้าไม่บอกว่านี่คือหนังของ ผกก.De Palma ก็อาจจะนึกว่าผลงานของ ผกก.มือใหม่ที่ไหนก็ไม่รู้ สู้หนังแฉวีรเวรทหารมะกันที่ออกมาในปีเดียวกันอย่าง Battle for Haditha (2007) ไม่ได้เลย นี่ยังดีนะที่หนังจบลงได้อย่างชวนหดหู่ได้อยู่ ด้วยภาพถ่ายของบรรดาชาวบ้านลูกเด็กเล็กแดงที่ต้องรับเคราะห์จากสงครามครั้งนี้ ซึ่งเพียงแค่นี้ก็สามารถตอกย้ำให้เห็นถึงพิษภัยของสงครามได้ดีที่สุดแล้วล่ะนะ
  • + หนังต่อต้านสงคราม ฝีมือของ ผกก.ในตำนานอย่าง Brian De Palma เชียวนะ
  • - หนังทุนน้อยจนออกมาดูก๋องแก๋ง เหมือนหนังเกรดบี เล่าความข้างเดียว ไม่ครอบคลุม ไปแบบห้วนๆ เมื่อเทียบกับผลงานในอดีตแล้วถือว่าผิดฟอร์มของแกอย่างน่าแปลกใจ

*ช่วงอันเนื่องมาจากหนัง*
รูปของ Abeer Qassim Hamza ตอน 7 ขวบและพลทหาร Green ผู้ก่อเหตุ
เป็นที่รู้กันดีว่าหนังเรื่องนี้ของ ผกก.Brian De Palma นั้นอิงเรื่องแบบหลวมๆ มาจากเหตุการณ์จริงสุดสลดที่เกิดขึ้น ณ อิรัก ในช่วงบ่ายวันที่ 12 มี.ค.2006 เมื่อทหารประจำด่านตรวจของกองทัพสหรัฐอเมริกาจำนวนห้านายได้บุกไปยังบ้านของ Abeer Qassim Hamza หนูน้อยวัย 14 ขวบที่อยู่ห่างจากด่านไปเพียงแค่สองร้อยเมตรเท่านั้น และก่อเหตุข่มขืนเธอแล้วใช้ปืนจ่อยิงที่หน้าผากก่อนจุดไฟเผาร่าง ทั้งยังฆ่าสมาชิกในบ้านที่เหลืออีกสามคนด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้มีพลทหาร Steven Dale Green เป็นหัวโจก เมื่อเพื่อนบ้านเห็นควันไฟจึงวิ่งโร่ไปแจ้งทหารอิรักที่ด่านตรวจ ครั้นพอทุกคนมาถึงที่เกิดเหตุ ทหารพวกนี้ก็โบ้ยว่าเป็นฝีมือผู้ก่อการร้ายฝ่ายซุนนีย์ ทั้งๆ ที่ครอบครัวผู้ตายเองก็นับถือนิกายซุนนีย์อยู่เหมือนกัน (ฮ่วย!)

Kristian Menchaca และ Thomas Lowell Tucker
ให้หลังไปไม่นานทหารมะกันดวงซวยสองนายอย่าง Kristian Menchaca และ Thomas Lowell Tucker ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับคดีสลดนี้เลยสักนิด ก็ถูกกลุ่มผู้ก่อการร้ายจับตัวไปทรมานและฆ่าตัดคออย่างสุดสยองพร้อมเอารถลากศพไปตามท้องถนนเพื่อประจาน โดยงานนี้มีการบันทึกวีดีโอไปเผยแพร่ทางสถานโทรทัศน์ โดยในนั้นกลุ่มไอ้โม่งผู้ก่อเหตุได้บอกว่า นี่คือการแก้แค้นให้กับน้อง (ร่วมชาติ) สาวผู้ถูกมอบความอัปยศโดยทหารอเมริกันในครั้งนั้นนั่นเอง

Green ขณะโดนจับกุมตัว
ต่อมาเรื่องก็แดงเมื่อมีคนในกลุ่มที่ดันเล่าให้เพื่อนฟังจนถูกนำไปแฉจนเข้าหูเบื้องบน ส่งผลให้เกิดการดำเนินคดีขึ้นมา ซึ่งในที่สุดแต่ละคนก็ได้รับโทษสถานหนักกันไปอย่างสาสม (จำคุกตลอดชีวิต 90 ปีบ้าง 100 ปีบ้าง) โดยหัวโจกอย่างนาย Green นั้นทางการอยากให้เขาได้รับโทษประหารชีวิต แต่สุดท้ายก็ต้องลดโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิตโดยปราศจากทัณฑ์บน ซึ่งตัวเขาเองพยายามขออุทธรณ์ ทว่าก็แพ้ไปในที่สุด เพราะครั้งหนึ่งเขาเคยหลุดปากให้สัมภาษณ์ว่า "ผมไม่คิดว่าพวกอิรักเป็นคนว่ะ" (โหย ไอ้นี่!!)

มาดป๋า De Palma ในกองถ่าย
ส่วนหนัง Redacted นี้นั้นออกฉายในยุคที่หนังต่อต้านสงครามอิรักกำลังเกร่อ จึงถูกจงใจมองข้ามโดยชาวอเมริกันเพราะเบื่อสงครามอิรักเต็มทน หนังถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเล่าความข้างเดียว เสนอความจริงไม่หมด และสร้างความเกลียดชังต่อทหารอเมริกัน จนถึงกับมีข่าวว่าชาวเยอรมันเชื้อสายอัลเบเนียนวัย 21 ขวบคนหนึ่ง ที่พอได้ดูคลิปหนังเรื่องนี้ใน Youtube จบก็ตัดสินใจเอาปืนไปยิงทหารมะกันตายไปสองนายบาดเจ็บอีกสามในสนามบินที่เขาทำงานอยู่ และหนังยังถูกกลุ่มอิสลามหัวรุนแรงนำไปใช้ในการปลุกระดมว่าภาพที่เห็นในหนังคือเหตุการณ์จริงอีกต่างหาก ป๊าด ถึงหนังจะถูกเมินจากคนส่วนใหญ่และเจ๊งกระจายตอนออกฉาย (ทำเงินได้แค่เกือบแปดแสนเหรียญ) แต่ก็ยังมีอิทธิพลต่อสังคมได้ถึงขนาดนี้ ต้องซูฮก ผกก.ระดับตำนานคนนี้เขาจริงๆ ล่ะนะเนี่ย

*คัดข้อมูลตรงโน้นตรงนี้มาจาก wikipedia ขออภัยหากผิดพลาด*


*รีวิวหนังเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องภายในบล็อก*



Create Date : 22 มีนาคม 2555
Last Update : 22 มีนาคม 2555 6:19:40 น. 3 comments
Counter : 7605 Pageviews.

 
ไม่ค่อยสันทัดเรื่องหนังเลยค่ะ จะดูหนังก็เฉพาะเรื่องที่อยากดูเท่านั้น


โดย: babyL' วันที่: 23 มีนาคม 2555 เวลา:14:12:02 น.  

 
มีลิ้งดูป่าววคับ


โดย: ก๋อง IP: 101.51.126.65 วันที่: 1 เมษายน 2555 เวลา:23:36:07 น.  

 
ยังหาไม่เจอคร้าบ แค่โหลดยังหายากแล้วครับ


โดย: Nanatakara วันที่: 2 เมษายน 2555 เวลา:13:21:16 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Nanatakara
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 43 คน [?]




  • Friends' blogs
    [Add Nanatakara's blog to your web]
    Links
     

     Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.