ชีวิตคือความไม่แน่นอนแต่ในความไม่แน่นอนของชีวิตเรากลับพบความสวยงามของชีวิต
Group Blog
 
All Blogs
 

ประสบการณ์จากมาราธอน (ตอนที่ ๓)

หลังจากกล้ามเนื้อฝ่าเท้าอักเสบ ผมไม่มีโอกาสซ้อมเพราะต้องการให้สภาพฝ่าเท้าคืนสู่สภาพปกติเร็วที่สุด ทันการแข่งขัน หลายวันต่อมาอาการฝ่าเท้าเป็นปกติแต่ไม่กล้าเสี่ยงซ้อมวิ่ง กลัวว่าถ้าเป็นอะไรไป..จะไม่มีโอกาสได้แข่งมาราธอนครั้งแรกในชีวิต

การแข่งมาราธอนครั้งนี้สำหรับผมมันมีความหมายเพราะมันเป็นการแข่งมาราธอนครั้งแรก หลังจากที่เรามีข้ออ้างและผัดผ่อนมาตลอดเวลาที่อธิบายว่าทำไมเราไม่มีโอกาสได้ลงแข่งมาราธอนเสียทีตลอดระยะเวลากว่า ๑๐ ปีที่ผ่านมา ถ้าเราไม่เริ่มต้นนับหนึ่งก็จะไม่มีก้าวที่สอง ก้าวที่สามตามมา ทุกวันก็จะมีแต่จะนับแล้วก็ไม่เอาละ ไม่ได้ กลัวทำไม่ได้ สุดท้ายก็ไม่ได้ทำเสียที

ดังนั้นผมจึงตัดสินใจว่าผมจะลงแข่งมาราธอนระยะ ๑๐ กิโลเมตรในรายการคาวะกูจิมาราธอนให้ได้ ตั้งใจว่าไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นเราจะวิ่งไปให้ถึงเส้นชัยให้ได้ จะไม่ถอดใจหยุดวิ่งก่อนถึงเส้นชัยเป็นอันขาด

ภาพความผิดพลาดตอนแข่งกีฬาสีของโรงเรียนสมัยมัธยมปลายยังตามหลอกหลอนมาตลอด เราต้องการลบภาพฝันร้ายที่ติดตามมาตลอดนับแต่การแข่งขันวิ่งระยะ ๑,๕๐๐ เมตรจบลง

พอถึงวันแข่งก็เดินจากบ้านไปที่สนามกีฬาของอำเภอคาวะกูจิ ในจังหวัดไซตาม่า ที่อยู่ห่างออกไปราวๆ ๒๐ นาที คนญี่ปุ่นมักจะไปไหนมาไหนด้วยการเดินเป็นเรื่องปกติ จากสถานีไปบ้าน ไปที่ทำงาน หรือไปมหาวิทยาลัย คนส่วนมากเขาก็เดินกัน ไม่แปลกใจที่โดยเฉลี่ยไม่ค่อยเจอคนญี่ปุ่นที่มีรูปร่างอ้วนพุงโย้มากนัก

ในพิธีการเปิดการแข่งขัน เขามีพิธีเชิญธงชาติฮิโนะมารุ และร้องเพลงคิมิกาโย ที่ฝ่ายขวาดันให้สภาผ่านยอมรับเป็นเพลงชาติของญี่ปุ่น หลังจากที่เพลงนี้ถูกใช้โดยสมมติว่าเป็นเพลงชาติมาเป็นเวลานาน คนไทยชอบสรุปกันว่า..คนญี่ปุ่นชาตินิยม คนญี่ปุ่นชาตินิยมจึงไม่ยอมพูดภาษาอังกฤษ ผมว่าเราสรุปโดยไม่รู้ข้อเท็จจริงแต่ตีความเอาจากสิ่งที่เราเห็น ซึ่งบ่อยครั้งก็ไม่ได้เป็นแบบนั้นเสมอไป ถ้าคนไทยที่พูดภาษาอังกฤษได้ไม่ดีหรือพูดไม่ได้...คนไทยรายนั้นจะยังตะบี้ตะบันพูดภาษาอังกฤษไหม? แล้วการที่คนไทยไม่ยอมพูดภาษาอังกฤษเพราะพูดไม่ได้ก็แสดงว่าเราชาตินิยมอย่างนั้นหรอครับ? ตอนที่มีพิธีเคารพธงชาติของญี่ปุ่นสิ่งที่เห็นแล้วประหลาดใจก็คือ...คนญี่ปุ่นจำนวนมากเดินไปเดินมาโดยไม่สนใจเพลงชาติ ไม่ยืนเคารพธงชาติ แล้วภาพที่เห็นบ่งบอกไหมว่าคนญี่ปุ่นเขารักชาติตามความเข้าใจแบบคนไทย เหตุผลที่คนญี่ปุ่นหลายคนไม่สนใจยืนเคารพธงชาติมีเหตุผลอยู่เบื้องหลังซึ่งคงไม่ขอหยิบขึ้นมาเขียนในกระทู้นี้

หลังพิธีเปิดการแข่งขัน เขาก็ปล่อยตัวนักวิ่งที่วิ่งแบบครอบครัวระยะ ๒ กิโลเมตร โดยพ่อหรือแม่จับเชือกพร้อมลูกวิ่งไปด้วยกันระยะ ๒ กิโลเมตร ดูแล้วรู้สึกดีที่ฝ่ายพละศึกษาเขาเข้าใจหากิจกรรมที่คนในครอบครัวทำอะไรด้วยกันได้ การวิ่งระบบครอบครัวถ้าพ่อหรือแม่คิดจะวิ่งเร็วๆโดยไม่ได้ดูกำลังลูก ก็จะไปไม่ถึงเส้นชัยพร้อมกัน ครอบครัวจะไปถึงเส้นชัยพร้อมกันก็ต่อเมื่อทั้งพ่อหรือแม่และลูกต่างพยายามวิ่งด้วยฝีเท้าความเร็วพร้อมกัน ถ้าจะเปรียบเทียบในชีวิตจริงของครอบครัว ถ้าพ่อคิดแต่ความสุขของตนเอง...คิดแต่จะไปถึงสิ่งที่ตนเองต้องการโดยไม่สนใจว่าลูกมีความสุขไหมที่ต้องพยายามทำเพื่อความสุขของพ่อ? ลูกจะไปถึงเป้าหมายที่พ่อต้องการได้ไหม? สุดท้ายครอบครัวจะไปถึงเป้าหมายนั้นร่วมกันได้อย่างไร? หรือถ้าไปถึงจุดหมายนั้นได้...จะมีความสุขไหม? ถ้าเพียงแต่พ่อยอมเสียสละบางอย่างเพื่อให้ลูกไปถึงเป้าหมายของครอบครัวพร้อมกัน เป้าหมายของครอบครัวที่ทุกคนสามารถไปถึงพร้อมกัน...ย่อมทำให้สมาชิกในครอบครัวมีความสุขร่วมกันมากกว่าจริงไหมครับ?

รายการแข่งขันระยะ ๑๐ กิโลเมตรถูกปล่อยตัวหลังรายการระยะฮาล์ฟมาราธอน ตอนผมวิ่งก็ยังกังวลว่าจะมีปัญหาเท้าหรือหัวเข่าในระหว่างวิ่งไหม? ตอนวิ่งมีคนประกบมีความรู้สึกที่แตกต่างไปจากที่เคยซ้อมวิ่ง รู้สึกว่าเราเร่งฝีเท้ามากขึ้น ผ่านระยะ ๑ กิโลเมตรแรกโดยใช้เวลาราวๆ ๔ นาทีนิดหน่อย ยังคงรักษาความเร็วโดยเฉลี่ยอยู่ราวๆ ๔ นาทีต่อกิโลเมตร จุดให้น้ำจุดแรกรับถ้วยน้ำเปล่ามาแต่ไม่มีจังหวะได้กิน ดูเหมือนเป็นแค่บ้วนปากไม่ให้คอแห้งเท่านั้น

ผ่านระยะ ๕ กิโลเมตรไปด้วยเวลาน้อยกว่า ๒๕ นาที เป็นความเร็วที่ดีกว่าตอนซ้อม ในขณะที่วิ่งมีฝนลงมาปรอยๆ เห็นนักวิ่งตาบอดรายหนึ่งเขาจับเชือกโดยมีลูกสาววิ่งประกบด้วย ทำให้ได้คิดว่าความพิการไม่ได้เป็นข้อจำกัดของผู้คนถ้าคิดจะวิ่งจริงๆ

พอเข้าระยะ ๗ กิโลเมตรเริ่มมีอาการเสียดที่ท้อง เป็นผลจากการเร่งมากเกินไป ฝีเท้าเริ่มแผ่วเบาลง พอเหลือระยะ ๒ กิโลเมตรสุดท้ายเริ่มรู้สึกว่าแรงจะหมดเอาดื้อๆ แต่ก็อดทนวิ่งต่อไป พอเข้าใกล้สนามที่เป็นจุดสิ้นสุดของการแข่งขัน ได้ยินเสียงกลองที่ทางผู้จัดได้ว่าจ้างนักตีกลองไทโกะซึ่งเป็นกลองญี่ปุ่นที่ใช้ตีในงานเทศกาลสำคัญๆ เสียงกลองทำให้รู้สึกฮึกเหิมมากขึ้น มีเรี่ยวแรงเพิ่มขึ้นมาอีกนิดนึง พยายามเร่งความเร็วแต่แรงเกือบหมดแล้ว ได้แต่วิ่งซอยเท้าเพื่อไปให้ถึงเส้นชัย พอผ่านเส้นชัย ตัวชิปที่ติดอยู่ที่หมายเลขนักวิ่งส่งสัญญาณดังวี๊ดยาวๆ เจ้าหน้าที่เขาถอดชิปออกจากกระดาษหมายเลขนักวิ่ง แล้วก็ไปรับใบประกาศนียบัตรแสดงผลการแข่งขัน เขาพิมพ์ออกมาจากเครื่องพิมพ์ทันที ปรากฏว่าผมวิ่งระยะ ๑๐ กิโลเมตรโดยใช้เวลา ๕๑ นาที ที่เคยคิดว่าเราไม่สามารถวิ่งด้วยเวลาน้อยกว่า ๕๕ นาทีเป็นอันว่าเราพิสูจน์ด้วยตนเองแล้วว่าถ้าเราตั้งใจทำอะไรอย่างจริงจัง ทุ่มเทอย่างเต็มที่ ความพยายามและความมุ่งมั่นจะทำให้เราไปถึงเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้

การวิ่งวันนี้ทำให้ได้ข้อคิดว่า ข้ออ้างที่ผู้คนชอบสร้างขึ้นมาเป็นกำแพงให้เชื่อมั่นว่าทำไม่ได้ เป็นไปไม่ได้ ข้ออ้างนี้ทำลายความเชื่อมั่นในตัวเองไป แต่ถ้าวันใดที่ใจของเรากล้าที่จะพิสูจน์ศักยภาพในตัวเราโดยละทิ้งเอาข้ออ้างไว้ข้างหลัง เราอาจจะพบว่าแท้ที่จริงแล้วกำแพงที่เราสร้างหลอกตัวเราเองต่างหากที่เป็นตัวทำให้เราไปไม่ถึงสิ่งที่เราตั้งใจทำ ถ้าเรามุ่งมั่นอย่างจริงจังทำอย่างเต็มกำลังความสามารถ...วันนึงเราจะไปถึงเป้าหมายที่เราตั้งเอาไว้

มีความสุขกับผลลัพธ์การแข่งขันวันนี้ และได้พบว่าสิ่งที่รอคอยมาหลายปีปรากฏขึ้นเป็นจริงอย่างที่เราอยากให้เป็น ลบภาพฝันร้ายที่คอยตามหลอกหลอนมาหลายปี ได้ความมั่นใจกลับมาหลังจากที่เคยหายไปนับแต่การแข่งขันวิ่ง ๑,๕๐๐ เมตรสมัยมัธยมปลาย

การแข่งมาราธอนยังไม่สิ้นสุดแค่นี้ แต่ผมหาการแข่งขันมาราธอนระยะอื่นลองท้าทายให้ตัวเองต่อไป




 

Create Date : 16 พฤษภาคม 2550    
Last Update : 16 พฤษภาคม 2550 19:58:35 น.
Counter : 575 Pageviews.  

ประสบการณ์จากมาราธอน (ตอนที่ ๒)

ช่วงที่เตรียมตัวฝึกซ้อมเพื่อจะลงแข่งขันคาวะกูจิมาราธอน พบว่าการพยายามจะเร่งฝีเท้าให้เร็วขึ้นทำเวลาที่ใช้ให้น้อยลงเป็นเรื่องที่ยากมากๆ การจะลดเวลาลง ๑ นาทีเท่ากับว่าต้องพยายามเร่งความเร็วในแต่ละรอบให้เหลือน้อยลงเรื่อยๆ การพยายามรักษาความเร็วในแต่ละรอบพบว่า...การทำแบบนั้นทำให้ความเร็วในรอบท้ายๆใช้เวลามากขึ้น สุดท้ายเวลาโดยรวมแย่ลงกว่าที่เคยทำไว้

การวิ่งมาราธอนสอนอะไรบางอย่าง...เวลาที่เสียไปช่วง ๕ กิโลเมตรแรก เราไม่สามารถเรียกคืนกลับมาได้ แต่ระยะทางที่เหลือ ๕ กิโลเมตรสุดท้ายเราสามารถเร่งเพื่อเอาเวลาที่เหลือให้ดีขึ้นได้ ซึ่งสุดท้ายเวลาทั้งหมดโดยเฉลี่ยจะดีขึ้น มันก็เหมือนการใช้ชีวิตถ้าเราทำอะไรผิดพลาดในอดีต..เราเรียกกลับคืนมาไม่ได้ ไม่ว่าจะเสียใจ เสียดายขนาดไหน แล้วทำไมเราไม่เริ่มทำในสิ่งที่ดี แก้ตัวใหม่จากนี้ไป แล้วผลลัพธ์ที่ปรากฏขึ้นในชีวิตก็จะดีขึ้นมาเอง

ผมพยายามฝึกวิ่งเพื่อให้เวลาที่ใช้กับการวิ่งระยะ ๑๐ กิโลเมตรให้เหลือน้อยกว่า ๕๕ นาทีแต่ไม่สำเร็จ

วันหนึ่งขณะที่ซ้อมมีอาการเจ็บบริเวณฝ่าเท้า แต่ก็ฝืนวิ่งเพราะถ้าไม่ถึงเส้นชัยเราจะไม่มีทางทราบว่าวันนี้เราใช้เวลาทั้งหมดเท่าไหร่ ผมสามารถเข้าถึงเส้นชัยภายในเวลา ๑ ชั่วโมง แต่ปรากฏว่าเกิดอาการเจ็บและเสียวฝ่าเท้ามาก

วันรุ่งขึ้นแวะไปพบแพทย์ คุณหมอเอ็กซเรย์เช็กสภาพกระดูกและฝ่าเท้า แล้วลงความเห็นว่ากล้ามเนื้อฝ่าเท้าเกิดอาการฉีกขาด บอกคุณหมอว่าผมสมัครมาราธอนเอาไว้และนี่เป็นการวิ่งมาราธอนครั้งแรกของผม คุณหมอห้ามวิ่ง ถามคุณหมอว่าจะใช้เวลานานแค่ไหน..กว่าอาการบาดเจ็บที่ฝ่าเท้าจะหายดี หมอบอกว่าประมาณ ๑ เดือน ดูจากอาการแล้ว...อาจจะหายไม่ทันแข่งขัน

แต่จากประสบการณ์แล้วยาที่ใช้รักษาในญี่ปุ่นเป็นยาที่ออกฤทธิ์อ่อนเมื่อเปรียบเทียบกับยาที่ใช้ในไทย คนญี่ปุ่นเชื่อกันว่ายาที่มีฤทธิ์แรงมีผลเสียต่อร่างกายมากกว่า ดังนั้นคนญี่ปุ่นจึงต้องทนกินยานานๆกว่าอาการเจ็บป่วยจะทุเลา

ผมใช้ยาเคาน์เตอร์เพนบาล์มจากเมืองไทยนวดฝ่าเท้า และทานยาแก้อักเสบที่หมอให้มา และหยุดซ้อมเพื่อให้ฝ่าเท้าคืนสภาพปกติเร็วที่สุด




 

Create Date : 15 พฤษภาคม 2550    
Last Update : 15 พฤษภาคม 2550 20:58:38 น.
Counter : 561 Pageviews.  

พูดผิด-พูดใหม่ได้

วันนี้อ่านหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ในคอลัมน์ส่วนจุดประกาย หน้าแรกเขาพาดเฮดไลน์ว่า "พูดผิด พูดใหม่ได้" พออ่านไปแล้วรู้สึกสะใจจริงๆ เพราะไม่ค่อยมีใครออกมาพูดในลักษณะแบบนี้ มุมมองนี้

คนไทยหลายคนได้แต่นั่งดูตาปริบๆที่ภาษาไทยวิบัติมากขึ้นเรื่อยๆเพราะสื่อมวลชนและคนรุ่นใหม่หลายคนพยายามดัดแปลงภาษาไทยตามความพอใจโดยไม่นึกถึงความถูกต้องในการใช้ภาษาไทย ซึ่งถ้าปล่อยออกไปเรื่อยๆสุดท้ายเราจะไม่พบการใช้ภาษาไทยที่ถูกต้องต่อไป

ถ้าวันนี้เราพูดและใช้ภาษาไทยผิดๆเพี้ยนๆ เราก็สามารถเริ่มต้นพูดและใช้ภาษาไทยให้ถูกต้องกันใหม่ได้ เพื่อให้ภาษาไทยภาษาที่เป็นเอกลักษณ์ของคนไทยไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนของโลกดำรงอยู่ต่อไปในโลกใบนี้ ไม่วิบัติไปตามกาลเวลาจนวันนึงหายไปจากโลกใบนี้

คนเขียนคอลัมน์นี้ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจเขาไปสัมภาษณ์คนที่อยู่ในวงการข่าวและบันเทิงที่มีความสามารถในการใช้ภาษาไทยและภาษาอังกฤษ แต่คนเหล่านั้นแสดงความเห็นว่าภาษาไทยมีเสน่ห์ควรค่าแก่การอนุรักษ์ และสมควรใช้ให้ถูกต้อง ไม่ใช้ดัดจริตทำเป็นพูดภาษาไทยไม่ชัด หรือพูดภาษาไทยปนภาษาอังกฤษ ที่ทำให้ดูว่าเท่เพราะไปร่ำเรียนถึงต่างประเทศมา เด็กรุ่นใหม่หลายคนแกล้งเขียนสะกดภาษาไทยเพี้ยนๆ หรือสื่อมวลชนประดิษฐ์คำเพี้ยนๆออกมาจนกลายเป็นกระแสเอาอย่างกัน

โดยส่วนตัวผมจะรู้สึกอึดอัดและรำคาญเวลาพูดกับคนไทยที่ชอบพูดภาษาไทยปนภาษาต่างประเทศ ไม่ว่าจะพูดภาษาไทยปนภาษาอังกฤษหรือว่าภาษาไทยปนภาษาญี่ปุ่น จะพูดภาษาอะไรก็พูดซักอย่าง ถ้าอยากโชว์ว่าพูดภาษาญี่ปุ่นได้ก็พูดตั้งแต่ต้นจนจบเลย ไม่ใช่พูดภาษาไทยไปซักพักแล้วก็ดันมาพูดว่า "ดูแล้วคิโมจิวารุ่ย" ฟังแล้วอนาถจริงๆ ภาษาไทยคำง่ายๆว่า ดูแล้วรู้สึกแย่ เสียความรู้สึก แบบนี้พอไปอยู่ญี่ปุ่นนานๆก็คิดเป็นภาษาไทยไม่ออก

พอได้เดินทางไปต่างประเทศได้พบเห็นว่าประเทศที่เคยเป็นอาณานิคมของฝรั่งหลายประเทศไม่มีอักษรของตนเอง ถึงเขาจะมีภาษาก็ตามแต่อักษรกลายเป็นเอาตัวโรมันมาใช้แทน ตัวอักษรดั้งเดิมไม่มีที่ใช้อีกแล้ว เห็นแล้วก็ภูมิใจในภาษาไทยที่เป็นเอกลักษณ์ และภาษาไทยเป็นสือกลางในการสื่อสารระหว่างเราที่เป็นคนไทยด้วยกัน

มีคำในภาษาไทยหลายๆคำที่สามารถสื่อความหมายได้มากกว่าภาษาอื่น ภาษาไทยเล่นคำหรือสลับคำให้ความหมายลึกซึ้งที่แตกต่างกันซึ่งในภาษาอื่นไม่สามารถทำได้ ภาษาไทยสามารถถ่ายทอดความรู้สึกระหว่างพวกเราคนไทยได้ดีกว่าภาษาอื่น

ตัวอย่างเช่น คำว่า "คอยรอ" กับ คำว่า "รอคอย" สองคำนี้ให้ความรู้สึกแตกต่างกัน

ในภาษาอังกฤษใช้คำว่า "wait" ในภาษาญี่ปุ่นใช้คำว่า 待ち "มัทจิ" ในความหมาย การรอ แต่ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาญี่ปุ่นไม่สามารถเล่นคำว่า "คอยรอ" หรือว่า "รอคอย" ที่มีความหมายลึกซึ้งได้เหมือนภาษาไทย

คำว่า "คอยรอ" เป็นคำที่มีความหมายลึกซึ้งมากกว่าแค่การรอ แต่เป็นการคอยที่จะรอ...รออย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย มีความสุขที่เป็นฝ่ายเฝ้ารอ ไม่ท้อที่จะรอต่อไป

แต่คำว่า "รอคอย" เป็นคำที่มีความหมายว่า รอและคอยว่าสิ่งที่รอจะมาถึง บางครั้งความรู้สึกของการรออาจจะไม่มีความสุขนักถ้าจะต้องรอไปเรื่อยๆ คอยไปเรื่อยๆ อย่างไม่มีจุดหมาย ผู้รออาจจะอารมณ์เสียถ้าคนที่รอหรือสิ่งที่รอยังไม่มา

ดังนั้นถ้ามีใครซักคนที่คุณนัดหมายยังไม่มา คุณจะรู้สึกอย่างไรระหว่าง คอยรอเขาคนนั้น หรือว่าเพียงแต่รอคอยเขาคนนั้น? คุณจะรู้สึกอย่างไรที่รู้ว่ามีคนคอยรอคุณอยู่ตอนนี้?




 

Create Date : 14 พฤษภาคม 2550    
Last Update : 14 พฤษภาคม 2550 18:32:07 น.
Counter : 746 Pageviews.  

ประสบการณ์จากมาราธอน (ตอนที่ ๑)

สมัยเป็นนักเรียนมัธยมปลายเคยสมัครเข้าแข่งขันวิ่งระยะ ๑๕๐๐ เมตร พอเพื่อนบางคนรู้ว่าเราจะวิ่งระยะทางขนาดนั้น บางคนปรามาสเอาไว้ก่อนว่าน้ำหน้าอย่างเราคงเป็นลมก่อนถึงเส้นชัย ในสังคมมีคนแบบนี้เยอะแยะไม่ให้กำลังใจผู้คนแต่ชอบดูถูกซ้ำเติม

แต่คนเราเกิดมาเพื่อให้คนอื่นตราหน้าชี้นำให้เดินตามคำพูดที่เขากำหนดหรือว่าเราเลือกที่จะเป็นอย่างที่เราอยากจะเป็น

ผมซ้อมก่อนแข่งอยู่ ๒ เดือน แต่ความเร็วในการวิ่งไม่สามารถทำได้ดีขึ้นมากนัก ก่อนวันแข่งขันจริงฝนตกลงมา ทำให้สนามเฉอะแฉะไปด้วยโคลน และความผิดพลาดก็เกิดจากการที่ผมสวมรองเท้าวิ่งแทนที่จะถอด ทำให้โคลนติดหนับกับรองเท้าเร่งไม่ขึ้น วิ่ง ๘๐๐ เมตรแรกก็ยังเกาะกลุ่มข้างหน้า แต่พอผ่านระยะ ๑๒๐๐ เมตรไปแล้วเริ่มถูกแซงทิ้งห่างออกไปมาก เหลือคนที่ยังวิ่งไม่ถึง ๗ คนจากคนที่เข้าแข่งขันทั้งหมด ๑๒ คน เ้ห็นนักวิ่งคนที่เข้าเส้นชัยคนแรกวิ่งทิ้งห่างระยะประมาณ ๒๐๐ เมตร พอนักวิ่งที่เข้าเส้นชัยคนแรกถึงเส้นชัยเขาเป็นลมล้มลงเลยเพราะเร่งมาก ตอนนั้นผมอยู่อันดับ ๕ อยู่ๆก็มีนักวิ่งจากทีมสีเขียวแซงขึ้นมา เขาวิ่งนำหน้าผมราวๆ ๓ เมตร ผมยังพอมีแรงที่จะวิ่งไปถึงเส้นชัย แต่อยู่ๆนักวิ่งสีเขียวที่วิ่งนำหน้าก็ถอดใจหยุดวิ่งดื้อๆ ผมวิ่งไปได้ไม่นานก็หยุดวิ่งขึ้นมาบ้าง ตอนนั้นในใจอยู่ดีๆก็คิดว่าวิ่งไปก็ไม่มีประโยชน์ เราไม่ได้ที่ ๑-๓ ไม่ได้เหรียญรางวัลอะไำร ตอนนั้นคิดอย่างเด็กวัยรุ่นที่มองว่าการกีฬาเพื่อมุ่งเน้นไปที่ชัยชนะอย่างเดียว

แต่เราไม่คาดคิดว่าความรู้สึกพ่ายแพ้จากการแข่งขันวันนั้น การไม่พยายามวิ่งไปถึงเส้่นชัยแม้ว่าจะมีเรี่ยวแรงพอที่จะวิ่งต่อไปได้ กลายเป็นฝันร้ายที่คอยหลอกหลอนเราตลอดเวลา เพราะทุกครั้งที่วิ่งก็จะมีคำพูดขึ้นมาในใจว่า วิ่งไม่ไหวหรอก หยุดวิ่งดีกว่า เพียงแค่คำพูดนี้ปรากฏขึ้นในใจ เท้าก็เหมือนมีอะไรมาทิ้งน้ำหนักลงไป เรารู้สึกเมื่อย ไม่มีเรี่ยวแรงแล้วก็พลอยมีข้ออ้างว่าหยุดวิ่งเถอะ สุดท้ายก็ไม่อยากวิ่งต่อ


พอเข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัย เห็นประกาศรับสมัครเข้าแข่งขันมินิมาราธอน เห็นแล้วก็มีความรู้สึกอยากที่จะแข่ง แต่ก็มีข้ออ้างให้กับตัวเองอยู่ตลอดเวลา อ้างว่าไม่มีเวลาซ้อมบ้าง วิ่งไม่ไหวหรอก จนกระทั่งสำเร็จการศึกษาก็ไม่มีโอกาสได้เข้าแข่งขันมินิมาราธอนอีก

หลังจากสำเร็จการศึกษาแล้วไปทำงาน ที่ทำงานอยู่ถนนสีลม ช่วงเย็นเคยออกไปวิ่งออกกำลังกาย พบว่าการพยายามวิ่งให้ได้ระยะมากกว่า ๕ กิโลเมตรช่างยากเย็นเสียจริง เพราะเราึคิดของเราว่าเราไม่มีทางวิ่งเกินกว่า ๕ กิโลเมตรได้ พอวิ่งเฉียดๆ ๕ กิโลเมตรเราจะรู้สึกว่าเหนื่อยจนทนไม่ไหวแล้วแล้วก็หยุดวิ่ง ไม่พยายามวิ่งต่อไป

ยังคงเห็นประกาศรับสมัครเข้าแข่งขันมินิมาราธอนรายการต่างๆ แต่ก็ยังเป็นแค่ความฝันที่จะเข้าแข่ง แต่ไม่มีความพร้อมที่จะเข้าแข่งขัน

จนกระทั่งผมมีโอกาสไปเรียนต่อในญี่ปุ่น ปีแรกที่ไปอยู่ในญี่ปุ่น แม้ว่าภาษาญี่ปุ่นจะยังไม่ดีมาก แต่การฝึกดูทีวีทุกวันช่วยพัฒนาความเข้าใจเรื่องของภาษาญี่ปุ่นเป็นลำดับ ทุกครั้งที่ดูทีวีมักจะเอาดิกวางไว้ใกล้ๆ พอคำไหนไม่เข้าใจก็จะเปิดดิกทันที วิํํธีนี้ช่วยทำให้เราจำศัพท์คำนั้นได้แม่นยำและนานขึ้น เพราะการฝึกดูคำศัพท์ผ่านตาบ่อยๆเป็นวิํธีการเรียนรู้ด้วยกา่รจดจำตามธรรมชาติ คุ้นเึคยคำศัพท์คำนั้น ซึ่งในที่สุดเราก็จะจำคำศัพท์คำนั้นได้นานไม่ลืมง่าย ผิดกับวิํธีท่องจำที่ทำให้เราลืมคำศัพท์นั้นง่ายกว่า ภายหลังจากที่ท่องไปแล้วแต่เราไม่มีโอกาสเจอคำศัพท์คำนั้นอีกโอกาสที่จะลืมคำศัพท์คำนั้นเป็นไปได้มาก

วันหนึ่งมีโอกาสดูโฆษณาเครื่องดื่มเกลือแร่ยี่ห้อหนึ่ง เขาใช้สโลแกนว่า "เป้าหมายของนักวิ่งมาราธอนทุกคนคือ My best time" ประโยคนี้ทำให้ทัศนคติที่มีต่อการเล่นกีฬาเปลี่ยนไป ใช่แล้ว...มาราธอนเขาไม่ได้วิ่งเพื่อไปเอาชนะคนอื่น เขาวิ่งเพื่อชนะตัวเองต่างหาก

ตอนนั้นบอกกับตัวเองว่าจะขอวิ่งมาราธอนอย่างน้อย ๑ ครั้งในประเทศญี่ปุ่น

จากจุดที่มีความตั้งใจ...ผ่านไปหลายปี ความตั้งใจยังมีแต่ขาดความพยายามที่จะทำให้ความตั้งใจเป็นจริง

จนกระทั่งปีที่ ๖ ที่อยู่ในญี่ปุ่น ปีนั้นตัดสินใจว่าจะวิ่งมาราธอนเสียที ว่าแล้วก็ไปจ่ายเงินค่าสมัครเข้าแข่งขันคาวะกูจิมาราธอน ระยะ ๑๐ กิโลเมตร พอเสียค่าสมัครไป ๒๕๐๐ เยน รู้สึกเสียดายเงินถ้าไม่ซ้อมหรือไม่วิ่งแข่งขัน เลยจัดตารางซ้อมวิ่ง พอวิ่งจริงๆระยะ ๑๐ กิโลเมตรก็ไม่ได้ยากเย็นจนเกินกำลัง แต่กว่าจะวิ่งครบระยะ ๑๐ กิโลเมตรก็เอาเรื่องอยู่เหมือนกัน โชคดีที่อากาศช่วงฤดูใบไม้ร่วงมันเย็นๆสบายๆ ทำให้การวิ่งไม่เหนื่อยง่ายเหมือนในไทยที่อากาศร้อนมากๆ

ตั้งเป้าหมายเอาไว้ว่าจะพยายามวิ่งให้อยู่ภายใน ๑ ชั่วโมง วิ่งช่วงแรกๆทำเวลาเกินมา ๔-๕ นาที แต่ค่อยๆจับจังหวะว่าควรจะเร่งช่วงไหน เวลาดีขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งผมพัฒนาการวิ่งจนวิ่งภายในเวลา ๑ ชั่วโมงสำเร็จ




 

Create Date : 13 พฤษภาคม 2550    
Last Update : 13 พฤษภาคม 2550 11:43:11 น.
Counter : 706 Pageviews.  

นิยามความรัก

เึคยอ่านเรื่องราวความรักที่หลายๆึคนเขียนเอาไว้ นิยามความรักที่คนเหล่านั้นเขียนดูมุ่งเน้นไปที่ความรักแบบชายหนุ่มหญิงสาว แท้จริืงความรักในโลกนี้มีมากกว่ารูปแบบความสัมพันธ์ชายหนุ่มหญิงสาว

ทำไมคนเรามีความรักแล้วคนเรายังเป็นทุกข์? มีหลายคนพยายามเอาพุทธโอวาทที่กล่าวไว้ว่า "ที่ไหนมีรักที่นั้นมีทุกข์" ยิ่งมีความรักสิบเท่าก็มีทุกข์สิบเท่า

คนเรารักคนอื่นแล้วคาดหวังว่าจะต้องได้รับความรักตอบแทน...คนส่วนใหญ่คิดแบบนี้จริงไหม? ดังนั้นเมื่อมีความคาดหวังในความรัก...ความคาดหวังจึงเป็นเกณฑ์ที่ทำให้คนเรามีความสุขเมื่อได้รับรักตอบแทน แต่เมื่อไม่ได้รับรักตอบแทนจึงเป็นทุกข์

ให้หลายคนนิยามความหมายของคำว่า "ความรัก" สิบคนก็นิยามไม่เหมือนกัน ร้อยคนก็นิยามไม่เหมือนกัน ผมเคยอ่านนิยามความหมายของคำว่า "ความรัก" จากนักเขียนหลายๆคน แต่คนที่เขียนนิยามความหมายของคำว่า "ความรัก" ได้โดนใจที่สุดคือ ท่านกฤษณะ มูรติ ท่านกฤษณะนิยามเอาไว้ว่า

"ความรักคือการไม่โกรธ พร้อมที่จะให้อภัย พร้อมที่จะช่วยเหลือ"


ถ้าลองพิจารณาจากนิยามนี้ จะเห็นว่าไม่มีความหมายของการต้องได้รับรักตอบแทนเลย ลองพิจารณาดูดีๆ ถ้าเรารักสัตว์เลี้ยง เราก็มีความรู้สึกแบบนี้ใช่ไหม ไม่ว่าสัตว์เลี้ยงจะทำให้เราผิดหวังแต่เราก็ไม่โกรธมัน เราให้อภัยแก่มันได้ เพราะเรามีความรักต่อมัน

พ่อแม่รักลูก พ่อแม่พร้อมที่จะช่วยเหลือให้ลูกมีความสุข ตอนที่ลูกมีแฟน หัวใจของลูกมีแต่แฟน พ่อแม่เคยคิดจะไปยื้อแย่งความรักที่ลูกมีต่อแฟนกลับมาเป็นความรักที่มีต่อตนเองไหม? เปล่าเลย พ่อแม่กลับมีความสุขที่เห็นลูกตัวเองกำลังมีความสุึขในช่วงแห่งความรักแบบชายหนุ่มหญิงสาว หรือในยามที่ลูกผิดหวังจากความรัก...ผิดพลาด...พ่อแม่ก็ให้อภัยแก่ลูกของตนเอง คอยปลอบโยนลูกตัวเองที่ทำในสิ่งผิดพลาดมา หัวไหล่ของพ่อแม่เป็นที่ซับน้ำตาให้แก่ลูกได้เสมอ

รักแบบเพื่อน เพื่อนเราทำอะไรผิดพลาด ทำให้เราโกรธเราให้อภัยแล้วก็ยังคบเป็นเพื่อนกันต่อ ในยามที่เพื่อนเราลำบาก เรายินดีช่วยเหลือเพื่อนเราให้ผ่านความยากลำบาก

ความรักในรูปแบบของการมีเมตตา อยากให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ ยื่นมือไปช่วยเหลือในเวลาที่เหมาะสม ยิืนดีเมื่อเขามีความสุข ไม่มีการคาดหวังว่าจะต้องได้รับอะไรตอบแทนจากการหยิบยื่นความช่วยเหลือไปให้แม้แต่คำว่าขอบคุณ ถ้าความรักแบบนี้เกิดขึ้นในใจของใคร ไม่ว่าจะมีความรักกี่ครั้งคงไม่เป็นทุกข์ เพราะใจเต็มไปด้วยความโปร่งเบาสบาย ยินดีที่ได้ช่วยเหลือ และวางอุเบกขาถ้าคนที่เราช่วยเพราะเรามีเมตตากลับไม่ีได้สนใจ ไม่สำนึกในความปรารถนาดีที่เราหยิบยื่นช่วยเหลือ

ในการช่วยเ้หลือคนอื่น...ทำไมเราต้องหวังว่าจะต้องได้รับคำว่าขอบคุณกลับมา ถ้าในเมื่อการช่วยเหลือเพราะใจเรามีเมตตาอยากใ้ห้เขาเหล่านั้นพ้นทุกข์ เมื่อเขาพ้นทุกข์จิตใจเราก็ยินดี สิ่งที่ตามมาภายหลังจากได้ช่วยเหลือเป็นผลพลอยได้แต่ไม่ควรเป็นความคาดหวัง เราเป็นทุกข์กันทุกวันนี้ก็เพราะเรามีความหวังเป็นที่ตั้งใช่ไหม?

ถ้าเรารักผู้คนและสิ่งต่างๆด้วยความรักที่เปี่ยมไปด้วยเมตตาโดยไม่มีเงื่อนไข เราจะไม่เป็นทุกข์ เพราะใจเราจะเบิกบานที่ได้ช่วยเหลือคนเหล่านั้น ไม่คาดหวังว่ารักแล้วต้องได้รับรักตอบแทน




 

Create Date : 12 พฤษภาคม 2550    
Last Update : 12 พฤษภาคม 2550 23:29:44 น.
Counter : 625 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  

ชีวประภา
Location :
พิษณุโลก Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add ชีวประภา's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.