ชีวิตคือความไม่แน่นอนแต่ในความไม่แน่นอนของชีวิตเรากลับพบความสวยงามของชีวิต
Group Blog
 
All Blogs
 
ประสบการณ์จากมาราธอน (ตอนที่ ๖)

หลังจากการแข่งขันโตเกียวอารากาว่ามาราธอนเสร็จสิ้นลง สิ่งที่ได้จากการแข่งขันคราวนี้คือความมั่นใจอย่างที่ไม่เคยได้รับจากการแข่งขันในอดีตที่ผ่านมา เป็นความรู้สึกภูมิใจที่ทำในสิ่งที่ไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะทำได้เป็นผลสำเร็จ ผมแปลงความยินดีจากการแข่งขันมาราธอนครั้งนั้นเป็นพลังที่ผลักดันให้วิทยานิพนธ์ที่กำลังมีปัญหาในขณะนั้นก้าวต่อไปข้างหน้า วิทยานิพนธ์ที่เต็มไปด้วยปัญหา...ซึ่งต้นตอของปัญหาอยู่ที่คอขวด--อาจารย์ที่พิจารณาวิทยานิพนธ์ให้เนื้อหาผ่านหรือว่าไม่ผ่าน-- เรามุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ปัญหาค่อยๆคลี่คลายออกทีละเปลาะแม้จะใช้เวลาอยู่ก็ตาม

จากการแข่งขันมาราธอนระยะ ๔๒.๑๙๕ กิโลเมตร ก็มีเป้าหมายให้กับตัวเองว่าอยากลองวิ่งระยะที่เหลืออยู่คือ ระยะฮาล์ฟมาราธอน ระยะ ๒๑.๐๙๕ กิโลเมตร เลยสมัครเข้าแข่งขันคาวะกูจิมาราธอนในปีเดียวกันในระยะฮาล์ฟมาราธอน

สิ่งหนึ่งที่เรียนรู้จากการแข่งขันมาราธอนคือ การที่ตัวเราเองยินดีและติดกับภาพความสำเร็จ ทำให้เราไม่พยายามพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น อาการนี้ที่นักวิชาการเรียกกันว่า Fat cat syndrome องค์กรหรือผู้คนพอประสบความสำเร็จมักจะติดกับภาพความสำเร็จในอดีตและมองว่า ณ. สภาพปัจจุบันก็ดีแล้ว...ไม่เห็นความจำเป็นต้องขวนขวายพัฒนาตัวเองเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต นี่เป็นเหตุผลว่าบริษัทที่เคยประสบความสำเร็จในอดีตพ่ายแพ้ต่อคู่แข่งหน้าใหม่ในตลาด หรือนักกีฬาเก่งๆบางคนสัมผัสกับความพ่ายแพ้อย่างน่าเสียดาย

พอถึงเวลาซ้อมก่อนแข่งคาวะกูจิมาราธอน ดูเหมือนไม่กระตือรือล้นที่จะซ้อมอย่างจริงจังเพื่อเวลาที่ดีที่สุด มีเหตุผลหรือข้ออ้างหลายสาเหตุ อย่างหนึ่งมาจากการทำงานพิเศษที่ทำให้เวลาซ้อมน้อยลง กอปรกับการใช้เวลาเขียนวิทยานิพนธ์ซึ่งต้องอาศัยความตั้งใจและสมาธิมาก ผลตามมาเวลาซ้อมกับมาราธอนก็ได้ไม่เต็มที่ อีกอย่างคือความขี้เกียจและข้ออ้างต่างๆนานา

พยายามซ้อมให้ได้เวลาที่ดีที่สุด ข้อแตกต่างระหว่างวิ่งฮาล์ฟกับฟูลมาราธอนคือ ตัวเราต้องพยายามเร่งความเร็วในการวิ่งสำหรับระยะฮาล์ฟมาราธอนมากกว่าระยะฟูล เพราะว่าเขาจำกัดเวลาในการวิ่งฮาล์ฟมาราธอนว่าต้องไม่เกิน ๒ ชั่วโมงครึ่ง ถ้าเกินกว่านี้ก็จะไม่มีการจับเวลาหรือออกใบประกาศนียบัตรให้

ก่อนแข่งขันซ้อมทำเวลาได้ดีที่สุดอยู่ที่ ๒ ชั่วโมง ๒๐ นาที ก่อนวันแข่งฝนตกลงมาตลอดทั้งคืน แต่พอวันแข่งจริงซึ่งตรงกับวันอาทิตย์ที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ ปกติหลายปีที่อยู่ในญี่ปุ่น ช่วงนั้นเป็นหน้าหนาว อุณหภูมิอยู่ราวๆ ๑๐-๑๕ องศาเซลเซียส แต่สำหรับวันที่ ๕ ธันวาคมปี ๒๕๔๗ เป็นปีที่ผิดปกติมาก เพราะอุณหภูมิขึ้นไปถึง ๒๔ องศาเซลเซียส อากาศร้อนพอๆกับฤดูร้อนในญี่ปุ่นช่วงเดือนกรกฎาคมเลย แดดดี

พอออกตัวก็เริ่มวิ่งตามจังหวะความเร็วที่ซ้อมมา ผ่านระยะ ๓ กิโลเมตรแรกทำความเร็วได้ตามที่วางไว้ ผ่านระยะ ๑๐ กิโลเมตรด้วยเวลา ๕๕ นาทีถือว่าไม่เลวร้ายนัก แต่พอวิ่งขึ้นเนินแล้วก็ลงเนิน...อันนี้ต้องออกแรงต้านมากๆ หน้าแข้งต้องออกแรงมาก ผลลัพธ์คือพอผ่านระยะ ๑๓ กิโลเมตรไปแล้วแรงตกวูบทันที วิ่งไปได้ไม่นานก็เกิดความคิดว่าเมื่อยมาก อยากจะเดิน เพียงแค่ความคิดแบบนี้เกิดขึ้นมา เท้าเริ่มมีอาการล้า น่องเมื่อยขึ้นมาทันที สุดท้ายก็ตัดสินใจเดิน ก่อนจะพยายามวิ่งต่อ

พอถึงระยะ ๑๖ กิโลเมตรไปแล้ว คราวนี้เหมือนถอดใจ เริ่มเดินมากกว่าวิ่ง มีอาการล้ามากๆ พอจะพยายาม้เร่งความเร็วเพื่อวิ่งต่อ ต้นขาก็เริ่มมีอาการเป็นตะคริว นี่เป็นตะคริวครั้งแรกตั้งแต่เคยวิ่งมา ปวดต้นขามากจนทนไม่ไหว เริ่มทำการยืดกล้ามเนื้อให้อาการตะคริวหายไป พออาการตะคริวหายไปก็เริ่มเดินเร็วๆแทน จนเหลือระยะ ๒ กิโลเมตรสุดท้ายพยายามเร่งความเร็วขึ้นมา ปรากฏว่าไม่สำเร็จเพราะตะคริวเล่นงานอีก คราวนี้ต้องทำใจเดินจนอาการดีขึ้นแล้วก็วิ่งช้าๆสลับกับเดิน

จนกระทั่งถึงระยะ ๗๐๐ เมตรสุดท้าย กัดฟันวิ่งแบบแรงจะหมดแล้ววิ่งจนกว่าจะถึงเส้นชัย พอถึงเส้นชัยอาการตะคริวที่ขาปวดมากจนจะล้มให้ได้ ทำเวลาได้ ๒ ชั่วโมง ๒๐ นาที ไม่ได้ My best time แต่ก็ต้องทำใจเพราะสภาพร่างกายไม่ฟิตดีพอ แวะไปให้เต็นท์บริการทำการนวดร่างกาย เดินกะเผลกๆเพราะตะคริวเล่นงานที่ขา เจ้าหน้าที่เขาทำการนวดบริเวณที่ปวดจนอาการดีขึ้น

ในใจรู้สึกอย่างหนึ่งว่าคงมีนัดล้างตาสำหรับระยะฮาล์ฟมาราธอน


Create Date : 18 พฤษภาคม 2550
Last Update : 18 พฤษภาคม 2550 19:31:10 น. 0 comments
Counter : 763 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

ชีวประภา
Location :
พิษณุโลก Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add ชีวประภา's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.