images by free.in.th
"
Group Blog
 
All blogs
 

ผลิตอย่างไรให้ต้นทุนต่ำกว่าคู่แข่ง 50% : ก้าวสู่การเป็นที่หนึ่งเรื่องราคาและคุณภาพ

ปัจจุบันทุกคนต่างก็ต้องการ “สินค้าคุณภาพดี ราคาถูก” ผู้ประกอบการจึงแข่งกันลดต้นทุนเพื่อนำเสนอสินค้าที่มีคุณสมบัติดังกล่าวให้กับลูกค้า โดยปรับปรุงการผลิตเพื่อลดต้นทุนลง 5-10% แต่การลดต้นทุนได้เพียงแค่นี้ ในไม่ช้าคู่แข่งจะไล่ตามทันจนต้องลดต้นทุนลงอีก ทำให้ต้องเหน็ดเหนื่อยกับการปรับปรุงการผลิตอยู่ตลอดเวลา

นอกจากต้องพะวงกับเรื่องที่คู่แข่งไล่ตามทันแล้ว การลดราคาจูงใจลูกค้าของบริษัทส่วนใหญ่ก็มีแต่จะทำให้สูญเสียกำไรและบริษัทอ่อนแอลงเรื่อย ๆ เพราะเป็นการยอมลดราคาตามคำสั่งของลูกค้าหรือเสนอลดราคาเองในเวลาที่ไม่มีลูกค้า เพื่อจูงใจลูกค้าให้ซื้อสินค้า พูดง่าย ๆ ก็คือ เป็นการลดราคาแบบก้าวถอยหลังหรือถูกต้อนให้ลดราคานั่นเอง

ดังนั้นก่อนที่จะ “ถูกต้อนให้ลดราคา” คุณต้องพยายามหาวิธีลดราคาให้ได้ ซึ่งการลดราคาที่จะทำให้ชนะคู่แข่งได้อย่างขาดลอยในสภาพการแข่งขันสูงอย่างปัจจุบัน ก็คือ การลดราคาให้ได้ถึง 50%





ผลิตอย่างไรให้ต้นทุนต่ำกว่าคู่แข่ง 50%
โดย Yoshihito Wakamatsu
แปลโดย ธนัญ พลแสน
จำนวนหน้า 200 หน้า


“ผลิตอย่างไรให้ต้นทุนต่ำกว่าคู่แข่ง 50%” เล่มนี้เป็นผลงานโดยมืออาชีพด้านไคเซ็น ซึ่งจะเปิดเผยแนวคิดและเทคนิคการปรับปรุงการผลิตที่ไม่ใช่ชนะคู่แข่ง “แค่ปลายจมูก” แต่ต้อง “ชนะขาด” เพื่อเป้าหมายให้ขายสินค้าได้ใน “ราคาลด 50%” แต่ยังคงคุณภาพและกำไรได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย


คิดราคาขายอย่างไรให้ชนะคู่แข่ง ?


ก่อนจะผลิตสินค้าสัก 1 อย่าง สิ่งสำคัญอันดับแรกคือ จะต้องคิดว่าจะกำหนดราคาขายเท่าไร ไม่ใช่แค่คิดว่า “ต้นทุนเท่าไร” แล้วค่อยหาวิธีลดต้นทุนเพื่อให้ขายได้ในราคาลด 50%

มีหลายบริษัทที่ผลิตสินค้าโดยไม่เคยคิดเรื่องต้นทุน หรือบางบริษัทแม้โดยรวมจะมีผลกำไร แต่เมื่อลองแยกเป็นรายรับของแต่ละฝ่าย กลับทำกำไรได้แค่เสมอตัว ถ้าเป็นแบบนี้ต่อให้บอกว่า “เพิ่มยอดขายสิ” “ทำให้มีกำไรให้ได้” หรือ “ลดต้นทุนสิ” ก็หาวิธีปรับปรุงที่ถูกต้องไม่ได้ ดังนั้น “การรู้ต้นทุน” และ “การจับความเคลื่อนไหวของต้นทุน” จึงเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่สุดสำหรับการปรับปรุง

ถ้าให้ฝ่ายผลิตคำนวณต้นทุน ส่วนใหญ่มักออกมาในทำนองที่ว่า “ผลิตสินค้า 100 ชิ้น ใช้เงิน 10,000 บาท แสดงว่าต้นทุนชิ้นละ 100 บาท” แน่นอนว่าการคำนวณเช่นนี้ไม่ผิด แต่สิ่งที่ควรตั้งคำถามก็คือ สินค้าที่ผลิตนั้นขายได้จริงกี่ชิ้น

ถ้าผลิตสินค้า 100 ชิ้น แต่ขายได้เพียง 50 ชิ้น แสดงว่าขายได้จริงแค่ 50 ชิ้น แต่ใช้เงิน 10,000 บาท แสดงว่าต้นทุนเฉลี่ยอยู่ที่ชิ้นละ 200 บาท การผลิตโดยคิดว่า “สินค้าที่ขายไม่ได้จะขายได้” เช่นนี้เป็นความสูญเปล่าอย่างใหญ่หลวง ถ้าใช้เงิน 7,000 บาท ผลิตของ 50 ชิ้น ต้นทุนก็จะตกชิ้นละ 140 บาท ซึ่งจะถูกกว่าการผลิตออกมา 100 ชิ้น แต่ขายได้แค่ 50 ชิ้น ดังนั้นการมองต้นทุนจึงไม่ควรมองว่า “ผลิตได้กี่ชิ้น” แต่ต้องมองว่า “ขายได้กี่ชิ้น” หรือ “จำนวนที่ต้องการมีกี่ชิ้น”


ลด 50% ทำได้อย่างไรบ้าง ?


“การลดราคา 50%” ในหนังสือเล่มนี้มีเป้าหมายอยู่ที่การลดต้นทุนการผลิตสินค้าและสร้างระบบที่ทำกำไรได้แม้จะต้องลดราคาลงครึ่งหนึ่งก็ตาม ด้วยเหตุนี้คุณจะต้องทบทวนเรื่องต่าง ๆ ในบริษัทเสียใหม่ เช่น กระบวนการผลิตและการพัฒนาสินค้า โดยต้องให้ทุกรายการค่าใช้จ่ายของทุกหน่วยงานลดลงครึ่งหนึ่ง

เวลาที่จะลดต้นทุนของสินค้า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่นั้นจะให้ความสำคัญกับการหาวิธีลดต้นทุน โดยไม่ได้ใส่ใจเลยว่าในบริษัทของตัวเองมีความสูญเปล่าอยู่หรือไม่ ซึ่งแม้จะปรับปรุงกระบวนการผลิตหรือพัฒนาสินค้าสักเท่าไร หากละเลยความสูญเปล่า ก็เป็นเรื่องยากที่จะทำกำไรได้

ดังนั้นสิ่งสำคัญที่คุณต้องเอาใจใส่เป็นอันดับแรกก็คือ 1. การขุดรากถอนโคนความสูญเปล่าที่อยู่ตรงหน้า 2. การค้นหาความสูญเปล่าที่ซ่อนอยู่ โดยทุกคนในบริษัทต้องรับรู้และหาวิธีกำจัดความสูญเปล่าร่วมกัน

ความสูญเปล่าดังกล่าวมีอยู่ 8 ประเภท ได้แก่ ของเสียและงานซ่อม, การผลิตมากเกินไป, ขั้นตอนการผลิตที่ไร้ประสิทธิภาพ, การขนย้าย, การจัดเก็บสินค้า, การเคลื่อนไหว, การรอคอย และของเหลือทิ้งในอุตสาหกรรม

ขอยกตัวอย่างความสูญเปล่าจากการผลิตมากเกินไปสัก 1 ตัวอย่าง เช่น บริษัทที่คิดว่า “ถ้าไม่ผลิตสินค้าเผื่อไว้ในสต็อก แล้วเกิดส่งมอบช้าหรือของขาดขึ้นมาจะทำให้ลูกค้าไม่พอใจได้” มีแนวโน้มที่จะ “ผลิตตุน” เพราะเข้าใจว่าการผลิตตุนช่วยป้องกันการส่งมอบที่ล่าช้าได้ หรือถ้าเครื่องจักรชำรุด ก็ใช้สินค้าในสต๊อกส่งไปก่อนได้ แต่ตราบใดที่ยังผลิตตุนไว้ ก็จะกลายเป็นการผลิตที่ต้องสต๊อกชิ้นส่วนและสินค้าไว้จำนวนมาก ซึ่งจะทำให้ไม่สามารถลดต้นทุนลงได้

ดังนั้นหากกังวลว่า “ถ้าเครื่องจักรชำรุดจะลำบาก” ก็ให้บำรุงรักษาประจำวันอย่างจริงจังและรักษาประสิทธิภาพการทำงานให้สูงอยู่เสมอ หรือหากเกรงว่า “ถ้าส่งมอบช้าขึ้นมาจะทำอย่างไร” ก็ให้หาวิธีผลิตที่ไม่ให้เกิดความล่าช้า ซึ่งวิธีที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการผลิตให้ได้ตามเวลาที่กำหนดเพื่อการลดต้นทุนก็คือ “ผลิตแค่เท่าที่ขายได้” หรือ “ผลิตของที่จำเป็น ในเวลาที่จำเป็น และเท่าที่จำเป็น” ซึ่งระบบการผลิตแบบโตโยต้าเรียกวิธีนี้ว่า “การผลิตแบบทันเวลาพอดี (Just in Time)” หากลด lead time หรือระยะเวลาตั้งแต่การนำวัตถุดิบมาผลิตจนเป็นสินค้า 1 ชิ้น และสามารถผลิตโดยแทบไม่ต้องมีสินค้าค้างในสต๊อกได้ จะช่วยลดต้นทุนได้อีกมาก


แล้วปรับปรุงอย่างไร ?


หากพูดคำว่าการปรับปรุงการผลิต คนส่วนใหญ่มักจะคิดว่าเป็นหน้าที่ของฝ่ายผลิตเท่านั้น แต่เนื้อหาของหนังสือเล่มนี้เน้นปฏิรูปการผลิตตั้งแต่ต้นทางจนถึงการส่งมอบให้ลูกค้า ทั้งฝ่ายออกแบบและพัฒนาสินค้า- ฝ่ายผลิต – ฝ่ายขาย – ฝ่ายขนส่ง จนถึงผู้รับจ้างผลิต (Supplier) โดยมีเป้าหมายอยู่ที่ประสิทธิภาพของ “ทั้งองค์กร” ไม่ใช่เฉพาะฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

ยกตัวอย่างเช่น บริษัท H เคยปรับปรุงเฉพาะกระบวนการผลิตอย่างจริงจังจนสร้างผลกำไรเพิ่มขึ้นได้อย่างมาก ทำให้ผู้บริหารและพนักงานรู้สึกพึงพอใจ แต่ก็มีผู้บริหารของบริษัทจัดจำหน่ายเข้ามาพูดคุยด้วยว่า

“ไม่รู้เป็นเพราะระยะหลังอุปกรณ์สำนักงานมีขนาดใหญ่ขึ้นหรือเปล่านะครับ เวลาที่นำสินค้าไปส่งลูกค้าแต่ละครั้ง มักจะแบกขึ้นบันไดหรือขนเข้าประตูไม่ได้ ทำให้บางครั้งต้องรื้อชิ้นส่วนก่อนขนเข้าไปแล้วค่อยประกอบใหม่ในสำนักงานของลูกค้า แต่กว่าจะประกอบเสร็จแต่ละครั้งก็ใช้เวลานาน หลายครั้งพอประกอบเสร็จ เครื่องก็ไม่ทำงานอีก จึงต้องทำให้ลูกค้าลำบากใจอยู่บ่อย ๆ ”

เมื่อได้ยินดังนั้น ผู้บริหารของบริษัท H จึงคิดว่า การกระทำดังกล่าวเป็นเรื่องเสี่ยงเกินไปที่จะให้คนทั่วไปรื้อสินค้าที่ผ่านการตรวจสอบจากโรงงานแล้วนำมาประกอบใหม่ เพราะอาจเกิดปัญหาด้านคุณภาพตามมา ดังนั้นจึงขอให้บริษัทจัดจำหน่ายส่งข้อมูลมาก่อน เช่น ขนาดทางเข้าและวิธีขนส่ง หากสภาพเดิมไม่เหมาะสมก็จะปรับเปลี่ยน และคิดหาวิธีขนย้ายให้ง่ายขึ้น รวมถึงแนบวิธีประกอบสินค้าไปด้วยในตอนที่จัดส่งสินค้า

ฝ่ายผลิตมักมองว่า “การผลิตคืองานของเรา ผลิตเสร็จก็จบ” แต่ในการผลิตที่มองแบบครบวงจร ฝ่ายผลิตควรเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง โดยพยายามนำเสนอวิธีการผลิตที่ดีขึ้นให้ต้นทางอย่างฝ่ายพัฒนาสินค้า และประสานกับปลายทางอย่างฝ่ายขายและฝ่ายขนส่ง ซึ่งถ้าแต่ละฝ่ายตระหนักว่า “กระบวนการถัดไปคือลูกค้า” และหาวิธีทำให้กระบวนการถัดไป “ทำงานง่ายขึ้น” ความพึงพอใจของลูกค้าก็จะเพิ่มขึ้นและความสามารถในการแข่งขันก็จะสูงขึ้นด้วย

แน่นอนว่าเทคนิคและแนวคิดการปรับปรุงการผลิตในหนังสือเล่มนี้ยังมีอีกมากมาย ให้คุณได้นำไปประยุกต์ใช้ภายในองค์กร เพื่อเข้าใจที่มาของต้นทุนและตระหนักถึงความสำคัญของการลดต้นทุน เพื่อกำจัดความสูญเปล่าที่ทำให้ต้นทุนสูง และเพื่อปฏิรูปการผลิต หวังเป็นอย่างยิ่งว่าหนังสือเล่มนี้จะช่วยให้บุคลากรทั้งองค์กรของคุณร่วมแรงร่วมใจปรับปรุงระบบการผลิตให้เข้มแข็ง เพื่อก้าวสู่การเป็นที่หนึ่งเรื่องราคาและคุณภาพ

นอกจาก “ผลิตอย่างไรให้ต้นทุนต่ำกว่าคู่แข่ง 50%” เล่มนี้แล้ว ยังมีอีก 1 ผลงานโดยผู้เขียนท่านนี้ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน นั่นคือ “ไคเซ็นตามวิถีโตโยต้า” เชิญแวะเข้าไปอ่านรายละเอียดของ “ไคเซ็นตามวิถีโตโยต้า”

--------------------------------------------------------------------------

พบกับหนังสือใหม่ของสำนักพิมพ์ ส.ส.ท.

เตรียมพบกับหนังสือ “เปลี่ยนลูกน้องให้เปี่ยมแรงบันดาลใจ” เร็ว ๆ นี้




 

Create Date : 24 มกราคม 2555    
Last Update : 24 มกราคม 2555 16:37:25 น.
Counter : 6038 Pageviews.  

แผนภาพ วาดให้เป็น เก่งนำเสนอ

สวัสดีปีใหม่ 2555 ค่ะ
เพื่อน ๆ ได้ไปเที่ยวที่ไหนหรือทำอะไรต้อนรับปีใหม่ส่งท้ายปีเก่ากันบ้างคะ
คนส่วนใหญ่คงเดินทางไปเที่ยวต่างที่ต่างถิ่น หลายคนอาจนัดสังสรรค์พบปะเพื่อนฝูง บางคนอาจขอแค่ได้ทำอะไรเรื่อยเปื่อยอยู่กับบ้านก็สุขใจ แม้จะหลากหลายต่างกันไป แต่เชื่อว่าคงได้พักผ่อนเต็มที่และชาร์จพลังเตรียมพร้อมเดินหน้าเข้าสู่ปีมังกรกันทุกคนนะคะ
มาดูหนังสือดี ๆ ที่จะขอแนะนำเป็นการเปิดเดือนแรกของปีจากทางสำนักพิมพ์กันดีกว่าค่ะ

หนังสือเล่มนี้รวบรวมเทคนิคการวาดแผนภาพเพื่อการนำเสนอที่สมบูรณ์แบบ มีทุกเคล็ดลับที่ควรรู้และจำเป็นต้องรู้ สำหรับทุกคนในทุกวงการการทำงานค่ะ ในแต่ละช่วงชีวิตของเราจะต้องเกี่ยวข้องกับการนำเสนองานหรือความคิดอยู่ไม่น้อยเลย ไม่ว่าจะเป็นในวัยเรียนหรือวัยทำงานอย่างเช่นนักเรียนนักศึกษาที่อาจารย์มักให้นำเสนองานหน้าชั้นเรียน หรือแม้จะผ่านพ้นวัยเรียนมาจนก้าวเข้าสู่วัยทำงานแล้ว ก็มักจะหนีไม่พ้นการนำเสนองานหรือความคิดอยู่ดี ยังไม่ต้องพูดถึงการนำเสนอใหญ่ ๆ อย่างเป็นทางการก็ได้นะคะ ความจริง แค่เราจะต้องสรุปเนื้องานให้อีกฝ่ายเข้าใจได้ง่าย ๆ ก็ถือเป็นการนำเสนออย่างหนึ่งแล้ว ซึ่งเครื่องมือที่จะขาดไม่ได้ในการอธิบาย สรุป หรือนำเสนอข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิผลก็คือ “ภาพ” หรือ “แผนภาพ” นั่นเอง


แผนภาพ วาดให้เป็น เก่งนำเสนอ
โดย YAMADA Masao
แปลโดย ประวัติ เพียรเจริญ
จำนวนหน้า 252 หน้า


88 เคล็ดลับการวาดแผนภาพในหนังสือเล่มนี้แบ่งออกเป็น 6 ขั้นตอนค่ะ นั่นก็คือ
1. กำหนด “สาร”
2. เลือก “รูปแบบ”
3. แปลงเป็น “กราฟ”
4. เพิ่ม “ข้อความ”
5. จัดวาง “เลย์เอาต์”
6. แต่งเติม “สี”

“ภาพ 1 ภาพแทน 1 ล้านคำพูด”
ถ้าเรามองว่า “แผนภาพ” สามารถสรุปเนื้อหาหรือข้อความที่ยาวเป็นพรืดให้ย่นย่อลงมาเป็นภาพภาพเดียวได้ “แผนภาพ” ก็ถือเป็นเครื่องมือนำเสนอที่ไม่ควรมองข้ามเลย จริงไหมคะ
แต่จะสร้างแผนภาพอย่างไรให้สื่อสารใจความได้ครบถ้วนและให้ผู้รับสารรับรู้และเข้าใจตรงประเด็น ?
หนึ่งในเคล็ดลับที่หนังสือเล่มนี้แนะนำไว้ก็คือ การใส่ชื่อแผนภาพเพื่อถ่ายทอดสารที่ตั้งใจจะสื่อให้ครบถ้วน ซึ่งจะทำให้ผู้อ่านเข้าใจได้เร็วขึ้นเพราะการใส่ชื่อแผนภาพจะช่วยให้ทราบประเด็นหลักได้ทันที โดยเฉพาะแผนภาพที่ซับซ้อน ไม่ใช่แค่ใส่ชื่ออย่างเดียว แต่ควรตั้งชื่อที่เข้าใจได้ง่ายด้วย
ลองมาดูตัวอย่างกันค่ะ



จากแผนภาพ before เราอาจต้องใช้เวลาสักหน่อยเพื่ออ่านแผนภาพและสรุปประเด็นหลักที่ผู้เขียนต้องการสื่อ แต่เมื่อใส่ชื่อแผนภาพลงไปแล้ว สายตาของเราจะกวาดตามองหาส่วนที่เกี่ยวโยงกับชื่อแผนภาพทันที ซึ่งเท่ากับว่าเรากำลังมองไปที่ประเด็นหลัก กล่าวได้ว่า ชื่อแผนภาพทำให้รู้ว่าสารที่ผู้เขียนต้องการสื่อคืออะไร ส่วนแผนภาพทำให้เข้าใจประเด็นดังกล่าวได้อย่างเป็นรูปธรรมและง่ายขึ้น

นอกจากนี้ การเลือกรูปแบบของแผนภาพให้เหมาะสมกับ “สาร” ที่จะนำเสนอเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะรูปแบบที่เหมาะสมทำให้เราตัดทอนคำอธิบายที่ยืดยาวหรือเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของข้อมูลได้ดียิ่งขึ้น
ขอยกตัวอย่างแผนภาพเวนน์ที่จะช่วยชูประเด็น “ส่วนที่ทับซ้อน” หรือ “จุดร่วม” ได้ดี
สมมติเรามีข้อมูลอยู่ 1 ชุดที่ต้องการนำเสนอ ดังนี้ค่ะ
หากได้นำเอาเทคโนโลยีขั้นสุดยอดของบริษัท A มารวมกับเครือข่ายการจัดจำหน่ายอันแข็งแกร่งของบริษัท B รับรองว่า ยอดขายจะต้องเพิ่มสูงขึ้นอย่างแน่นอน
ถ้าใช้แผนภาพเวนน์จะออกมาในลักษณะนี้ค่ะ



จะเห็นว่าแผนภาพเวนน์ช่วยเน้นย้ำและอธิบายข้อมูลให้มองแล้วเข้าใจได้อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น

แล้วถ้าข้อมูลที่เรามีเป็นข้อมูลตัวเลขล่ะ จะทำอย่างไร ?
เรามาเลือก “กราฟ” กันดีกว่าค่ะ ซึ่งในหนังสือเล่มนี้แนะนำไว้ว่าถ้าวาดกราฟพื้นฐานอย่างกราฟแท่ง กราฟเส้น กราฟวงกลมได้ก็ถือว่าครอบคลุมการแสดงข้อมูลตัวเลขด้วยกราฟทั้งหมดแล้ว หากสามารถเปลี่ยนข้อมูลให้อยู่ในรูปของตัวเลขได้ จะแปลงเป็นกราฟได้มากมาย แม้จะเป็นข้อมูลเชิงคุณภาพก็ตาม
หากลองใช้วิธีแบ่งคุณลักษณะแต่ละด้านแล้วประเมินด้วยคะแนน (ดังแผนภาพ before ด้านล่าง) เช่น ดีเลิศ=5, ดี=4, พอใช้=3, มีปัญหา=2, มีปัญหามาก=1 เราจะได้ข้อมูลออกมาหลายมิติ ซึ่งในกรณีนี้การใช้ “กราฟรูปหลายเหลี่ยม” ก็ทำให้ดูกระชับและสวยงามไปอีกแบบค่ะ (ดังแผนภาพ after)



ต่อมา เรามาดูเรื่องการใช้ “ข้อความ” ในแผนภาพกันค่ะ
คำอธิบายหรือข้อความยังคงเป็นสิ่งจำเป็นแม้เราจะใช้ “ภาพ” หรือ “แผนภาพ” เข้ามาช่วยในการสื่อสารแล้วก็ตาม เพราะข้อความจะถ่ายทอดใจความได้อย่างถูกต้องและแม่นยำ โดยสิ่งสำคัญก็คือการเขียนข้อความที่อ่านเข้าใจง่าย เช่น การไม่ใช้ศัพท์เฉพาะทางหรือศัพท์ในวงการที่คนทั่วไปไม่เข้าใจหรือต้องอาศัยการตีความซึ่งเป็นการเพิ่มอุปสรรคให้ผู้อ่านเสียเปล่า ๆ ค่ะ

อย่าลืมจัด “เลย์เอาต์” หรือตำแหน่งการจัดวางให้เหมาะสมด้วยนะคะ เพราะการจัดเลย์เอาต์ที่ดีจะสามารถสื่อถึงความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบต่าง ๆ หรือใจความหลักของแผนภาพให้ผู้อ่านเข้าใจได้ถูกต้องและรวดเร็ว
การเหลือที่ว่างไว้ให้พอเหมาะก็ถือเป็นหนึ่งในหลักการจัดวางเลย์เอาต์ที่ดีค่ะ เพราะที่ว่างจะไม่ทำให้แผนภาพดูแน่นจนน่าอึดอัดเกินไป ลองถามตัวเองดูว่า “สิ่งที่ต้องการถ่ายทอดออกมาจริง ๆ คืออะไร” หรือ “ประเด็นสำคัญของภาพอยู่ตรงไหน” ส่วนที่ไม่สำคัญก็ตัดใจเอาออกไปเสีย นอกจากจะทำให้แผนภาพมองดูสวยงามสะอาดตาแล้ว ยังมีประโยชน์ในกรณีแจกเอกสารนำเสนอให้ผู้ฟังด้วย ถ้าอยากรู้ประโยชน์ดังกล่าวคืออะไร ลองเปิดอ่านเฉลยจากในเล่มดูนะคะ

ส่วนขั้นสุดท้ายที่หนังสือเล่มนี้พูดถึงคือ การแต่งแต้มเติม “สี”
อาจมีหลายคนเถียงว่า ปกติแล้ว ไม่จำเป็นต้องใช้สีในแผนภาพ ก็สามารถสื่อความหมายได้ดีอยู่แล้ว แต่การเลือกใช้สีอย่างเหมาะสมจะช่วยให้แผนภาพแลดูเด่นสะดุดตาและทำให้ผู้อ่านเข้าใจเนื้อหาหรือใจความหลักของแผนภาพได้เร็วขึ้น แต่ก็ไม่ควรใช้สีมากไปจนแลดูเลอะเทอะไม่สวยงาม ประเด็นการเลือกใช้สีที่สำคัญคือ การใช้สีที่สอดคล้องกับเนื้อหาค่ะ


แน่นอนว่า เคล็ดลับดี ๆ สำหรับการวาดแผนภาพยังมีอีกมากมายในหนังสือเล่มนี้ เคล็ดลับส่วนใหญ่เป็นสิ่งที่เราอาจเผลอมองข้ามไปหรือนึกไม่ถึงซึ่งจะช่วยให้คุณผู้อ่านวาดแผนภาพออกมาได้สะดุดตาน่ามอง สื่อสาระใจความได้ครบถ้วนตรงประเด็น และที่สำคัญคือเข้าใจง่าย
ในเมื่อแผนภาพเป็นเครื่องมือสื่อสารที่ทรงประสิทธิภาพขนาดนี้ เมื่อได้เรียนรู้เทคนิคการวาดแผนภาพที่ดีไปแล้ว ก็อย่าลืมหมั่นฝึกฝนวาดแผนภาพบ่อย ๆ โดยอาจจับข้อมูลรอบตัว เช่น ข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์หรือโทรทัศน์ มาลองแปลงเป็นแผนภาพดู เพราะเมื่อเข้าสู่สังคมการทำงานแล้ว การประยุกต์ใช้ “ภาพ” เข้ามาช่วยในการนำเสนอความคิดหรือข้อมูลต่าง ๆ เป็นทักษะที่จำเป็นและเป็นประโยชน์อย่างแน่นอนค่ะหากคุณผู้อ่านนำไปปรับใช้อย่างสอดคล้องกับวิถีและรูปแบบการทำงานไม่ว่าจะอยู่ในวงการใดก็ตาม

========================
อย่าลืมแวะไปชมหนังสือออกใหม่ที่ เว็บไซต์สำนักพิมพ์ นะคะ




 

Create Date : 13 มกราคม 2555    
Last Update : 13 มกราคม 2555 17:39:49 น.
Counter : 5481 Pageviews.  

ซากุระกรรมศาสตร์ : “เบื้องหลังการสร้างชาติ” ด้วยนวัตกรรมที่ผลิบานบนความละมุนละไมของวัฒนธรรม

รากเหง้าแห่งความคิดสร้างสรรค์ที่ซ่อนอยู่ในผลิตภัณฑ์สัญชาติญี่ปุ่น
ตั้งแต่ของใช้จิปาถะไปจนถึงนวัตกรรมสุดไฮเทค



ซากุระกรรมศาสตร์
เขียนโดย Morinosuke Kawaguchi
แปลและเรียบเรียงโดย ดร.ปฏิมา สินธุภิญโญ
หนา 184 หน้า

บ.ก. คิดว่าคุณเองก็น่าจะเป็นคนหนึ่งที่เป็นสาวกของสินค้าญี่ปุ่น หรือเคยรู้สึกทึ่งในไอเดียสร้างสรรค์ของคนญี่ปุ่นที่ช่างคิด ช่างทำสินค้าออกมาได้กุ๊กกิ๊ก น่ารัก น่าใช้ และที่สำคัญไม่ได้มีเพียงแค่ประโยชน์ใช้สอยเท่านั้น แต่ยังมีลูกเล่นมากมาย ชนิดที่หาไม่ได้ในสินค้าสัญชาติอื่น

เคยสงสัยไหมคะ ว่าอะไรที่ทำให้คนญี่ปุ่นสามารถออกแบบผลิตภัณฑ์ได้สร้างสรรค์ชนิดที่ใคร ๆ เห็นปุ๊บก็รู้ได้ทันทีว่า ของเก๋ ๆ แบบนี้ต้องมาจากฝีมือของคนญี่ปุ่นอย่างแน่นอน

“ซากุระกรรมศาสตร์” เล่มนี้จะพาคุณไปค้นพบเบื้องหลังการสร้างชาติด้วยนวัตกรรมที่ผลิบานบนความละมุนละไมของวัฒนธรรม ผ่านมุมมองของกูรูชื่อดังด้านการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ถูกถ่ายทอดเป็นภาษาต่าง ๆ แล้วถึง 5 ภาษา นั่นคือ ภาษาญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน ไทย และเวอร์ชันภาษาอังกฤษก็มีกำหนดจะวางแผงในต้นปีหน้า (ข้อมูลจากเว็บไซต์ Amazon) นอกจากนี้ยังเป็นหนังสือที่อดีตนายกรัฐมนตรี Taro Aso แห่งญี่ปุ่น ชื่นชมว่าเปี่ยมไปด้วยภูมิปัญญาและหนทางแห่งการเพิ่มพลังศักยภาพของวัฒนธรรมญี่ปุ่น

สินค้าของญี่ปุ่นไม่ได้มีแค่ความเก๋ไก๋ น่าใช้เท่านั้น แต่ยังมีให้เลือกอย่างหลากหลาย ตอบสนองได้กับคนทุกเพศ ทุกวัย ทุกสถานะ และทุกความชอบส่วนตัว หากนึกไม่ออก ลองนึกถึงสินค้ากิ๊บเก๋จากญี่ปุ่นอย่างที่ห้อยโทรศัพท์มือถือดู ญี่ปุ่นถือว่าเป็นประเทศที่มีที่ห้อยโทรศัพท์มือถือให้เลือกซื้อมากที่สุดในโลกก็ว่าได้ เพราะทั้งตัวการ์ตูน เครื่องราง อาหารคาวหวานอย่าง ซูชิ เทมปุระ และเครป หรือแม้แต่ยานพาหนะอย่าง รถยนต์ รถไฟ เครื่องบิน ล้วนถูกจำลองให้กลายเป็นที่ห้อยโทรศัพท์มือถือได้หมดค่ะ

ไม่เพียงเท่านั้น แม้แต่นวัตกรรมไฮเทคอย่างรถไฟชิงกันเซน ก็ยังมีให้เลือกใช้บริการมากมายถึง 13 แบบ ต้องถือว่าหลากหลายจริง ๆ ค่ะเมื่อเทียบกับประเทศอื่น เช่น เยอรมนี สเปน อิตาลี หรือสหรัฐอเมริกา ซึ่งปกติแล้วก็มีให้ใช้บริการแค่ประเทศละหนึ่งแบบเท่านั้นเอง

ความหลากหลายนี้มีที่มาจากลักษณะพิเศษอย่างหนึ่งของชาวญี่ปุ่น นั่นคือ ความพิถีพิถันอย่างมากในการเลือกและเปรียบเทียบสินค้า ถึงขนาดว่ากันว่า ถ้าทำให้ลูกค้าชาวญี่ปุ่นพอใจในสินค้าอย่างใดอย่างหนึ่งได้แล้ว ไม่ว่าจะขายสินค้านั้นที่ไหนในโลกก็ขายได้ จากความต้องการของผู้บริโภคและความเอาใจใส่ของผู้ผลิตที่หลอมรวมกัน จึงทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย

จากความหลากหลาย ลองมาดูที่ความมีเอกลักษณ์กันบ้างนะคะว่า เพราะเหตุใดสินค้าจากแดนซากุระแห่งนี้จึงมีเอกลักษณ์ของความเป็นญี่ปุ่นแทรกอยู่ในทุกอณู

ที่เป็นเช่นนี้เพราะคนญี่ปุ่นนำอัตลักษณ์เฉพาะตนมาผสานกับเทคโนโลยีที่มีอยู่ จนออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใครก็ยากจะเลียนแบบได้ อัตลักษณ์ที่ว่านี้ก็มีทั้งเรื่องของนิสัยใจคอ ความรู้สึกนึกคิด วัฒนธรรม ตลอดจนจิตวิญญาณ เรียกว่าอะไรที่อยู่ในตัวของคนญี่ปุ่น พวกเขาจะสะท้อนมันออกมาให้เห็นในสินค้าที่พวกเขาทำได้ทั้งนั้น เช่น

จากนิสัยรักความสะอาดและขี้อาย ทำให้เกิดสุขาไฮเทคที่มีระบบชะล้างอัตโนมัติ รวมถึงมีเสียงดนตรีกลบเสียงทำธุระส่วนตัวของสาว ๆ ทำให้เกิดลูกอมสำหรับดับกลิ่นกายที่หอมได้ทั้งปากและตัว รวมไปถึงแผ่นอนามัยปกปิดเหงื่อใต้วงแขนไม่ให้เกิดรอยมาประจานให้ได้อาย

จากความน่ารักและขี้เกรงใจ ทำให้เกิด Walkman ที่สร้างสุนทรียะส่วนตัวได้ทุกที่โดยไม่ต้องรบกวนใคร เกิดเครื่องซักผ้าและเครื่องดูดฝุ่นรุ่นเก็บเสียงที่ไม่ทำลายโสตประสาทของคนข้างห้อง หรือเกิด Thanks Tail อุปกรณ์เสริมติดท้ายรถเพื่อกล่าวคำขอบคุณให้แก่รถคันอื่นที่ให้ทาง

จากวัฒนธรรมการ์ตูน ทำให้เกิดไฟหน้ารถแบบ Multi-reflector และหลอดไฟแบบ HID ที่มีประกายสีฟ้าสว่างสุกใส หรือไฟหน้าที่หมุนได้ตามพวงมาลัยรถยนต์ ทั้งยังเป็นต้นแบบของหุ่นยนต์ ตลอดจนยานอวกาศ

จากจริยธรรมและความใส่ใจต่อสิ่งรอบข้าง ทำให้เกิดนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมอย่างอีโคคาร์และรถยนต์ไฮบริด ที่ส่งให้ญี่ปุ่นกลายเป็นผู้นำด้านรถยนต์เพื่อสิ่งแวดล้อม

ลองมารู้จักสินค้าไฮเทคของญี่ปุ่นสัก 2 อย่างกันนะคะ
มอง “ของ” ญี่ปุ่นผ่านสุขาไฮเทค

ที่ประเทศญี่ปุ่น แม้บทบาทของผู้หญิงในสังคมทำงานจะน้อยกว่าผู้ชาย แต่บทบาทของผู้หญิงที่มีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของญี่ปุ่นไม่ได้น้อยเลย และถือเป็นกลุ่มกำลังซื้อที่สำคัญ ด้วยความต้องการอันไร้ขีดจำกัดและเป็นผู้ถือเงินในครอบครัว ผู้หญิงจึงกลายเป็นอีกหนึ่งแรงผลักดันที่สำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีต่าง ๆ ซึ่งเทคโนโลยีในห้องสุขาก็สะท้อนนวัตกรรมบนรากฐานของความต้องการของผู้หญิงได้เป็นอย่างดีค่ะ

สิ่งที่พิเศษของห้องสุขาญี่ปุ่นก็คือ ปุ่มกดมากมายที่เรียงรายอยู่ บ้างก็เรียงอยู่ข้างที่นั่ง บ้างก็เรียงอยู่บนฝาผนังอย่างเลิศหรู ปุ่มที่ว่านี้ก็คือ ปุ่มบังคับการทำงานของระบบการชะล้าง รวมไปถึงระบบต่าง ๆ ที่ทำให้ผู้ใช้รู้สึกสบายใจขึ้นระหว่างการใช้

ระบบการชะล้างของสุขาไฮเทคนั้น เพียงคุณกดปุ่ม ท่อฉีดน้ำจะยื่นออกมาแล้วจะฉีดตามระดับความแรงที่เลือก ส่วนตำแหน่งการฉีดก็ปรับได้ 2 ตำแหน่ง คือ ตำแหน่งที่ถ่ายหนัก กับ ตำแหน่งที่ถ่ายเบา

ส่วนระบบความสบายใจระหว่างการใช้ห้องสุขา เช่น ผู้ใช้ต้องการความเป็นส่วนตัว หรือรู้สึกเขินอายที่ห้องข้าง ๆ จะได้ยินเสียงขณะทำธุระ จึงกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ TOTO บริษัทสุขภัณฑ์สัญชาติญี่ปุ่นคิดค้นปุ่มดนตรีขึ้นมา เพียงกดปุ่มก็จะเกิดเสียงดนตรีกลบเสียงขณะทำธุระ ผู้หญิงญี่ปุ่นซึ่งส่วนใหญ่จะกดน้ำอย่างน้อย 2 ครั้ง เพื่อให้เสียงชักโครกดังกลบเสียงทำธุระของพวกเธอ ก็ไม่จำเป็นต้องกดน้ำเกินความจำเป็นอีกต่อไป ถือเป็นการประหยัดน้ำไปในตัว (ว้าว...ดีจัง)

นอกจากนี้ยังมีความสุขอีกรูปแบบหนึ่งในการใช้ห้องสุขาคือ ฝาของสุขภัณฑ์สามารถเปิดเองได้โดยอัตโนมัติ เวลาที่มีคนเข้าไปในห้องสุขา เซนเซอร์ที่ติดไว้จะเชื่อมโยงการทำงานกับสุขภัณฑ์และทำให้ฝาค่อย ๆ เปิดออก โดยให้ความรู้สึกที่นุ่มนวลเหมือนผู้หญิง และถือเป็นการต้อนรับที่สร้างความประทับใจให้ตั้งแต่แรกเริ่มค่ะ

ขอบคุณ คำง่าย ๆ ที่ทุกคนอยากฟัง

ในญี่ปุ่นมีผลิตภัณฑ์อย่างหนึ่งที่ถูกผลิตขึ้นมาเพื่อปรับปรุงมารยาทในการขับรถ โดยผู้ออกแบบเข้าใจธรรมชาติของคนเราในเวลาที่นั่งอยู่หลังพวงมาลัยว่า รถยนต์เปรียบเสมือนเกราะโลหะที่เปลี่ยนให้คนเราตัวใหญ่ขึ้น แข็งแรงขึ้น และมีอาณาจักรเป็นของตนเองซึ่งไม่ต้องเกรงใจใคร หากคุณทำอะไรที่เสียมารยาทก็แค่โดนบีบแตรใส่ นอกจากนี้เกราะโลหะนี้ยังมีแนวโน้มที่จะทำให้คนเรามองเห็นคนอื่นตัวเล็กลงได้

ดังนั้นความคิดที่ว่า “หากคนเราสื่อสารกันในขณะที่สวมเกราะโลหะนี้ได้ก็คงจะดี” จึงกลายเป็นแรงบันดาลใจให้สร้าง Thanks Tail ขึ้นมา ซึ่งมีลักษณะคล้ายหางสุนัข ทำด้วยพลาสติกติดไว้ที่หลังคารถ เพื่อใช้เป็นภาษาของรถยนต์ให้คนขับสื่อสารกัน เช่น เวลาที่รถคันหลังหยุดเพื่อให้ทางรถคันหน้าไปก่อน รถคันหน้าก็จะกดสวิตช์ Thanks Tail นี้ให้สั่นดิ๊ก ๆ แทนคำขอบคุณ นับเป็นผลิตภัณฑ์ที่เปิดมิติใหม่ให้วงการอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ เพราะเดิมการสร้างรถยนต์นั้นเป็นไปเพื่อตอบสนองเพียงความสุขของผู้ที่อยู่ในรถ แต่เจ้า Thanks Tail นี้เป็นการให้ความสุขและความสบายใจแก่คนที่อยู่นอกรถด้วยนั่นเอง

ตัวอย่างสินค้าไฮเทคที่ยกมาเล่าให้ฟังนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ในหนังสือเล่มนี้ยังมีตัวอย่างสินค้าไฮเทคและผลิตภัณฑ์สัญชาติญี่ปุ่นมากมายให้ได้เรียนรู้

อย่างไรก็ตาม การบอกเล่าความเป็นมาและผลงานสร้างสรรค์ของเทคโนโลยีและนวัตกรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของญี่ปุ่นนี้ ก็ไม่ได้เป็นการบอกให้คนไทยต้องเดินตามญี่ปุ่น แต่ให้มองญี่ปุ่นแล้วย้อนมองดูตัวเราเอง เพื่อที่เราคนไทยจะได้แง่คิดและแนวทาง ในการนำภูมิปัญญา หรือเอกลักษณ์อย่างวิถีไทย มาออกแบบสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ของไทยเราให้มีชื่อเสียงและเป็นที่จดจำของคนทั่วโลก ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันและพัฒนาประเทศให้เติบโตในวิถีทางของเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ได้อย่างยั่งยืน

-------------------------------------------

ชวนเพื่อนอ่านหนังสือและเชิญชมหนังสือใหม่ของสำนักพิมพ์ ส.ส.ท. ได้ที่ เว็บไซต์ของสำนักพิมพ์ ส.ส.ท.




 

Create Date : 04 พฤศจิกายน 2554    
Last Update : 4 พฤศจิกายน 2554 14:49:29 น.
Counter : 3665 Pageviews.  

ฉลาดถาม เป็นต่อทุกสถานการณ์

เมื่อเกิดคำถาม... ผู้ถามล้วนมีคำตอบที่คาดหวังไว้อยู่ในใจเสมอ
เพราะคำตอบจากอีกฝ่ายอาจเป็นสิ่งที่กำหนดชะตากรรม ความเป็นไป รวมถึงส่งผลต่อการตัดสินใจและกระทบต่อความรู้สึกของผู้ถาม
หากคุณเป็นผู้ถามและคาดหวังคำตอบว่า “ใช่” แต่อีกฝ่ายกลับตอบว่า “ไม่”... คุณจะทำอย่างไร
จะดีกว่าไหม ถ้าผู้ถามอย่างคุณ สามารถถามคำถามที่ทำให้อีกฝ่ายตอบว่า “ใช่” ได้ดังใจคิด



ฉลาดถาม เป็นต่อทุกสถานการณ์
โดย Tanihara Makoto
แปลโดย ประวัติ เพียรเจริญ
จำนวนหน้า 208 หน้า


ถามอย่างไรเพื่อกำหนดคำตอบของอีกฝ่ายให้เป็นไปในทิศทางที่ต้องการ
ได้ทั้งคำตอบที่ตรงใจและได้ใจคนตอบ

มาเรียนรู้ 33 เทคนิคการถามอย่างสร้างสรรค์และชาญฉลาดจากหนังสือเล่มนี้กันค่ะ เพื่อเพิ่มพลังให้คำถามของคุณ เปลี่ยนให้คุณเป็นคนฉลาดถาม รู้จักถาม ถามเป็น และใช้คำถามได้อย่างมีประสิทธิผลในหลากหลายสถานการณ์


เราลองมาดูตัวอย่างกันสักหนึ่งสถานการณ์ค่ะ...
การถามคนจำนวนมากในที่ประชุมนั้นมีเคล็ดลับและเทคนิคอย่างไร
สมมติว่าคุณผู้อ่านเป็นพิธีกรหรือกำลังฉายเดี่ยวนำเสนองานในที่ประชุม แต่พอถึงเวลาขอความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องที่พูด กลับไม่มีใครตอบคำถามคุณเลยสักคน
ถ้าเป็นอย่างนั้นแล้ว จะมีวีธีถามอย่างไรเพื่อให้ได้คำตอบ ?

ก่อนอื่น ให้ถามคำถามด้วยคำถามปิดค่ะ (คำถามปิดเป็นคำถามที่จำกัดคำตอบของผู้ถูกถามโดยให้เลือกตอบอย่างใดอย่างหนึ่ง) เพื่อรวบรวมสมาธิของผู้ฟังและดึงทุกคนให้พุ่งความสนใจมายังหัวข้อสนทนาเดียวกัน เช่น ถามว่า “ท่านใดเห็นด้วย กรุณายกมือขึ้น” จากนั้นเมื่อได้คำตอบว่า “เห็นด้วย” จากคนจำนวนหนึ่งที่ยกมือตอบแล้ว ก็เข้าสู่ขั้นตอนต่อไปค่ะ คือการชักนำเข้าสู่เวทีสนทนาแบบ “1 ต่อ 1” กล่าวคือ คุณอาจเลือกใครสักคนจากกลุ่มคนที่ยกมือตอบรับว่าเห็นด้วย ประเด็นคือควรถามคำถามเขาด้วยคำถามเปิดค่ะ (คำถามเปิดคือคำถามที่เปิดโอกาสให้คู่สนทนาพูดหรือแสดงความคิดเห็นของตนออกมาอย่างอิสระ) เพื่อให้เขามีสมาธิจดจ่อกับสิ่งที่คุณถามและยังทำให้ผู้ฟังคนอื่นตื่นตัวและคิดหาคำตอบของตนในสมองอย่างจริงจังตามไปด้วย เช่น ถามว่า “คุณคิดว่าเราควรทำอย่างไรเพื่อลดปัญหาที่เกิดขึ้นดีครับ”


นอกจากนี้ ยังมีเทคนิคการถามในสถานการณ์ต่าง ๆ อีกมากมายค่ะ ไม่ว่าจะเป็นการถามเพื่อเชื่อมสัมพันธ์ การถามให้อีกฝ่ายยอมรับความคิดของเรา การถามเพื่อกระตุ้นและจูงใจลูกน้อง การถามแทนการสั่งงาน การถามเพื่อให้ได้รับข้อมูลที่ต้องการอย่างตรงประเด็น การถามเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงของปัญหาและวิธีแก้ไข การถามให้ลูกค้าหายโกรธ การถามเพื่อป้องกันการหลุดประเด็น ฯลฯ รับรองว่าเป็นประโยชน์และพร้อมให้นำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้แน่นอนค่ะ


ที่สำคัญ หนังสือเล่มนี้ไม่เพียงสอนให้คุณถามได้อย่างชาญฉลาด แต่ยังสอนให้คำนึงถึงจิตใจของคู่สนทนาด้วย
ยกตัวอย่างเช่น การถามเพื่อให้อีกฝ่ายตอบคำถามได้ง่ายขึ้น (ส่วนหนึ่งจากบทที่ 3 ทักษะการถามชั้นเยี่ยมที่ทำให้อีกฝ่ายต้อง “หลุดปากตอบออกมา”)

ในกรณีที่หากถามตรง ๆ ฝ่ายที่ถูกถามอาจไม่ยอมตอบ ให้เริ่มจากการถามคำถามอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง หรือถามอ้อม ๆ เพื่อให้ฝ่ายตรงข้ามรู้สึกสะดวกใจที่จะตอบมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น แทนที่จะถามลูกค้าตั้งแต่เริ่มต้นว่า "ไม่ทราบว่างบประมาณของบริษัทท่านมีอยู่เท่าไรครับ ?" ก็ให้ถามอ้อม ๆ ว่า "พักนี้ ได้ข่าวว่าหุ้นของบริษัทท่านมีแต่ขึ้นเอาขึ้นเอา ดูเหมือนว่ากิจการจะไปได้ดีนะครับ เป็นอย่างนี้ ปีนี้น่าจะมีแผนลงทุนซื้อเครื่องจักรจำนวนมากอย่างแน่นอนใช่ไหมครับ ?" เป็นต้น
หากต้องถามเรื่องที่อาจทำให้ฝ่ายตรงข้ามรู้สึกเขินอายที่จะตอบ ให้เล่าเรื่องขายหน้าที่ตนเองเคยประสบมาให้อีกฝ่ายฟังก่อนถามคำถาม เช่น
“วันก่อน ผมเจอเรื่องแบบนี้มากับตัว... ไม่ทราบว่าคุณเคยมีประสบการณ์แบบนี้บ้างไหมครับ ?”
หรืออาจจะใช้วิธีถามความเห็นโดยสมมติว่าเป็นเรื่องของบุคคลที่สามแทน


การถามโดยรักษาน้ำใจของคู่สนทนาแม้จะเล็กน้อย แน่นอนว่าดีกว่าการตะลุยถามโดยไม่สนใจความรู้สึกของอีกฝ่ายหนึ่งเลย เพราะนอกจากจะไม่ได้รับคำตอบที่ต้องการแล้ว ความสัมพันธ์ก็อาจย่ำแย่ลงโดยไม่คาดคิดด้วย หากถามคำถามที่ชาญฉลาดโดยเอาใจเขามาใส่ใจเราด้วยได้ล่ะก็... คราวนี้ ได้รับทั้งใจคนตอบและคำตอบที่ต้องการอย่างแน่นอนค่ะ


การรู้จักถามให้เป็นและถามอย่างชาญฉลาดเป็นการเพิ่มพลังให้คำถามได้อย่างน่าอัศจรรย์ บางครั้ง เรามัวแต่ถามคนอื่นจนลืมไปว่าปัญหาที่เกิดขึ้นอาจแก้ไขหรือมองเห็นทางออกได้เพียงแค่หันกลับมาถามตนเอง และในทำนองเดียวกัน บางครั้ง ปัญหาที่เรารู้สึกว่ายิ่งคิดยิ่งมืดแปดด้าน ไม่สามารถแก้ไขได้ดังใจนึก หากลองใช้พลังของคำถามถามคนรอบข้างดูบ้าง แล้วน้อมรับฟังอย่างเปิดกว้างและพร้อมเข้าใจ คำถามเดียวอาจกลายเป็นกุญแจไขประตูสู่ทางสว่างและช่วยพลิกวิกฤตให้กลายเป็นโอกาสแห่งความสำเร็จก็ได้นะคะ



สุดท้ายนี้... ทางสำนักพิมพ์ ส.ส.ท. ขอส่งความห่วงใยและกำลังใจไปยังผู้ประสบภัยน้ำท่วมทุกท่าน ขอให้ปลอดภัย มีพลังกายใจและสติอันเข้มแข็งพร้อมฟันฝ่าอุปสรรคทั้งปวงนะคะ




 

Create Date : 26 ตุลาคม 2554    
Last Update : 27 ตุลาคม 2554 12:52:40 น.
Counter : 5037 Pageviews.  

ทวนกระแสธุรกิจ คิดต่าง ไม่มีทางตัน

สวัสดีค่ะ วันนี้มีหนังสือมาแนะนำกันอีกเช่นเคย
ผู้ที่สนใจทำธุรกิจหรือต้องการเปิดมุมมองทางการตลาดที่แตกต่างจะต้องสนใจกันอย่างแน่นอนค่ะ

ก่อนอื่น ขอถามว่า...เคยได้ยินกลยุทธ์ที่เรียกว่า “กลยุทธ์การตลาดแบบทวนกระแส” ไหมคะ ?
เป็นกลยุทธ์การตลาดแบบไหน ? แตกต่างอย่างไร ? ทำไมถึงต้องทวนกระแส ?
ถ้าอยากรู้แล้วละก็... เรามาหาคำตอบไปพร้อม ๆ กันเลยค่ะ




ทวนกระแสธุรกิจ คิดต่าง ไม่มีทางตัน
โดย Hirokazu Toriuchi
แปลโดย เอกนันท์ มหาเอกนันท์
จำนวนหน้า 320 หน้า


กลยุทธ์การตลาดแบบทวนกระแส ที่จะทำให้ธุรกิจของคุณแตกต่าง เติบโต และไม่มีทางตัน

หากคุณเองก็เป็นผู้หนึ่งที่กำลังกลัดกลุ้มจากการที่ไม่สามารถดำเนินธุรกิจให้ประสบผลสำเร็จได้แล้วละก็ คุณอาจเป็นคนหนึ่งที่กำลังตกอยู่ในหลุมพรางซึ่งใคร ๆ ก็มีโอกาสตกลงไปได้ค่ะ …หลุมพรางที่ว่านี้ก็คือการทำธุรกิจตามความเชื่อ ตามสามัญสำนึกเดิม ๆ หรือตามที่ใคร ๆ บอกให้ทำเช่นนั้นนั่นเองค่ะ

คุณทราบไหมคะว่า สามัญสำนึกทางธุรกิจที่ผู้คนเกือบทั้งหมดเชื่อฝังใจอยู่นั้นเป็นสิ่งที่ผิด !!

สามัญสำนึกของบุคคลที่ได้รับการยอมรับว่าประสบความสำเร็จนั้นต่างจากสามัญสำนึกที่รับรู้กันในกลุ่มคนทั่วไปอย่างสิ้นเชิง และสิ่งที่ปรากฏในหนังสือเล่มนี้ก็คือ “กลยุทธ์การตลาดแบบทวนกระแส” ที่รับรู้กันเฉพาะในกลุ่มผู้ประสบความสำเร็จซึ่งมีจำนวนเพียงหยิบมือเดียวเท่านั้นค่ะ

สิ่งที่ผู้ประสบความสำเร็จคิดและทำนั้นมีหลายอย่างที่เรียกได้ว่าอยู่ขั้วตรงข้ามกับการดำเนินธุรกิจที่คนทั่วไปยึดถือและปฏิบัติกันมา หรือดูแล้วช่างขัดกับสามัญสำนึกทั่วไป และไม่ใช่สิ่งที่น่าเชื่อถือหรือน่าคล้อยตามได้ง่าย ๆ เลยค่ะ เช่น
• อย่าริอ่านเริ่มต้นธุรกิจของตนเองเป็นอันขาด
• จงทำงานที่ไม่เหมาะกับสถานภาพของตนเอง
• จงทำในสิ่งที่ไม่ให้ผลตอบแทน
• อย่าได้โฆษณาตัวเองเป็นอันขาด
• อย่าได้เชื่อสายตาตัวเอง
• จงเปิดช่องโหว่ให้ลูกค้าเข้ามาฉกฉวยโอกาส
• จงขายให้ผู้ที่จนปัญญาจะซื้อ
ฯลฯ

แค่เพียงเริ่มต้นก็ดูน่าขัดใจและไม่น่าเชื่อแล้วใช่ไหมคะ แต่ผู้เขียนเขารับรองว่าหากได้ลงมือปฏิบัติแล้วจะเห็นผลสัมฤทธิ์อย่างแน่นอน ซึ่งก็ไม่ได้เป็นเพียงคำพูดลอย ๆ เท่านั้น เพราะผู้เขียนใช้ประสบการณ์ตรงของตัวเองมายืนยันค่ะ ซึ่งนั่นก็คือ การนำพาธุรกิจจัดสัมมนาให้ก้าวขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ในประเทศญี่ปุ่นได้ด้วยการใช้ “กลยุทธ์การตลาดแบบทวนกระแส” ทั้งที่ตอนเริ่มต้นล้มลุกคลุกคลานจนแทบจะไปไม่รอด ผู้เขียนจึงอยากถ่ายทอดประสบการณ์ที่ผ่านมาและสรุปสาระสำคัญให้คนทั่วไปได้รับรู้ เพราะตระหนักดีว่า นี่เป็นเส้นทางลัดทางเดียวที่จะทำให้ธุรกิจประสบผลสำเร็จ

นอกจากนี้ ในหนังสือเล่มนี้ยังยกตัวอย่างความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมอีกจำนวนมากจากหลากหลายแวดวงธุรกิจ อาทิ ยูนิโคล่ แมคโดนัลด์ ดิสนีย์แลนด์ คริสปี้ ครีม ฯลฯ เพื่อเป็นการพิสูจน์ว่า กลยุทธ์การตลาดทวนกระแสนี้เป็นแนวคิดที่เป็นสากล ไม่ใช่เพียงกลวิธีที่บังเอิญใช้ได้ผลเฉพาะกับธุรกิจของผู้เขียนเองเท่านั้น แต่ยังนำไปประยุกต์ใช้กับแวดวงธุรกิจหรือกับผู้คนในอาชีพที่หลากหลายได้อีกด้วยค่ะ ซึ่งที่ผ่านมากลยุทธ์นี้ก็ทำให้กิจการเหล่านั้นประสบความสำเร็จและเติบโตอย่างก้าวกระโดดมาแล้ว


ลองมาดูตัวอย่างเทคนิคการสร้างจุดขายสัก 1 ตัวอย่างในหนังสือเล่มนี้กันค่ะ
“ทำให้ลูกค้าตาลุกวาวด้วยของหายาก”
ของหายากที่กล่าวถึงในที่นี้มีนัยอยู่ 2 ประการ คือ
1. ระยะเวลาการวางจำหน่ายหรือปริมาณที่นำออกจำหน่ายมีอยู่จำกัด การจำกัดระยะเวลาจำหน่ายหรือปริมาณที่นำออกจำหน่ายเป็นวิธีการหนึ่งในการหา “เหตุผลที่ลูกค้าควรต้องซื้อสินค้าของคุณในขณะนั้น” เพราะหากเป็นสินค้าที่ซื้อเมื่อใดก็ได้ ลูกค้าก็จะใช้ข้ออ้างที่ว่า “ไม่ซื้อตอนนี้ก็ไม่เป็นไร” มาทำให้เลื่อนการตัดสินใจออกไป นอกจากนี้ หากสินค้านั้นเป็นสื่งที่ผู้อื่นหาซื้อไม่ได้ หรือเป็น “เอกสิทธิ์” ที่ให้เฉพาะคนจำนวนจำกัดเท่านั้น ลูกค้าจะรู้สึกถึงสิทธิพิเศษในการได้สินค้านั้นมาครอบครอง และอาจกลายเป็นเหตุผลที่ทำให้ตัดสินใจซื้อสินค้าในที่สุด
2. ตัวคอนเซ็ปต์ของสินค้านั้นไม่สามารถหาได้จากสินค้าชนิดอื่น นอกจากจะต้องเป็นสินค้าที่จำกัดทั้งระยะเวลาและปริมาณการจำหน่ายแล้ว สินค้านั้นต้องมีเสน่ห์ดึงดูดใจลูกค้าที่มากพอด้วย จึงจะขายได้


ต่อไปลองมาดูกันค่ะว่า เราจะสามารถผลิตสินค้าที่มีมิติเรื่องความเป็นของหายากขึ้นมาได้อย่างไร
วิธีการหนึ่งก็คือ ยึดแนวทางการนำเสนอประโยชน์ที่สามารถตอบสนองความต้องการลึก ๆ ในใจของลูกค้าได้ และเป็นประโยชน์ที่ผู้อื่นไม่มี ดังนั้นก่อนที่จะค้นหาจุดขายของเราเองที่ต่างจากบริษัทอื่น จึงจำเป็นต้องเข้าใจว่าบริษัทอื่นชูอะไรเป็นจุดขาย ตัวอย่างเช่น กรณีของร้านทำผม หรือร้านเสริมสวย ซึ่งส่วนใหญ่มักจะชูจุดขายเรื่องมีช่างแต่งผมฝีมือดี สามารถแต่งผมในสไตล์ที่ชอบได้ ออกแบบทรงผมให้รับกับธรรมชาติของเส้นผมและใบหน้าได้ บรรยากาศในร้านผ่อนคลาย เป็นต้น
การชูจุดขายที่แตกต่างจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยเพิ่มความแปลกใหม่เพื่อเพิ่มมิติความเป็นของหายากให้กับตัวสินค้า วิธีการชูจุดขายที่แตกต่างอออกไปนั้นมีหลายวิธี แต่วิธีที่ง่ายที่สุดก็คือการเดินสวนทาง หรือทำในสิ่งที่ตรงข้ามกับคนอื่น
จากตัวอย่างร้านทำผมข้างต้น หากมีร้านทำผมที่มีสโลแกนว่า “เราเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านแฮร์คัต ตัดผมให้คุณได้ภายในเวลา 10 นาที ที่ราคา 1,000 เยน เหมาะสำหรับผู้ไม่มีเวลา” เจ้าของสโลแกนที่สวนทางกับจุดขายของร้านทำผมทั่ว ๆไป อย่างสิ้นเชิงนี้ก็คือ “คิวบีเฮาส์ (QB House)” ร้านทำผมที่ประสบความสำเร็จจากการชูเรื่องราคาและความรวดเร็วเป็นจุดขาย

ในธุรกิจใดก็ตาม หากบรรดาผู้ขายทั้งหลายชูจุดขายที่มุ่งเน้นเรื่องใดเรื่องหนึ่งมากเกินไป จุดขายนั้นจะก่อให้เกิดปฏิกิริยาต่อต้าน และเป็นเหตุให้ลูกค้าบางกลุ่มปฏิเสธที่จะซื้อสินค้า เช่น อาจมีลูกค้าบางคนไม่พอใจที่เมื่อไปที่ร้านตัดผมแล้วต้องเสียเวลารอเป็นชั่วโมง กลายเป็นเหตุให้ไม่คิดอยากเข้าร้านทำผม เพราะเห็นว่ายุ่งยาก เสียเวลา การเข้าถึงลูกค้ากลุ่มนี้ของคิวบีเฮาส์ จึงเท่ากับเป็นการเข้าถึงลูกค้ากลุ่มใหม่ที่ร้านอื่นเข้าไม่ถึง โดยใช้แนวทางและจุดขายที่สวนทางกับคนอื่นอย่างสิ้นเชิงนั่นเองค่ะ


ต้องขอบอกเลยว่า... หนังสือเล่มนี้ไม่เหมือนหนังสือการตลาดธรรมดาทั่วไปค่ะ แต่เป็นหนังสือที่ช่วยปลุก “สัญชาตญาณทางการตลาด” ของคุณที่หลับใหลอยู่ให้ตื่นขึ้น เพียงคุณเปิดรับ นำไปปรับใช้ ลองแหกกฎเดิม ๆ ที่เคยรับรู้มา ก็จะมองเห็นโอกาสและช่องทางทำกำไรได้อีกไม่รู้จบ
บางที...กลยุทธ์การตลาดแบบทวนกระแสอาจเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้ธุรกิจของคุณอยู่รอดและมีที่ยืนอยู่ในตลาดที่มีการแข่งขันรุนแรงเช่นปัจจุบันก็ได้นะคะ


-------------------------------------------------------

อย่าลืมแวะไปดูโปรโมชันเด็ด ๆ สำหรับงานมหกรรมหนังสือที่เว็บไซต์สำนักพิมพ์ แล้วไปเจอกันที่บูท P17 โซน C1 นะคะ




 

Create Date : 12 ตุลาคม 2554    
Last Update : 12 ตุลาคม 2554 17:07:00 น.
Counter : 2991 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  

textbook
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 20 คน [?]




สำนักพิมพ์ ส.ส.ท. สรรค์สร้างสาระสู่สังคม
มุ่งมั่นผลิตตำราวิชาการและหนังสือเทคโนโลยีสาขาต่าง ๆ การบริหารจัดการ ด้านส่งเสริมการศึกษา เพื่อการพัฒนาตนเองและองค์กร สำหรับภาคการศึกษา ภาคธุรกิจ และอุตสาหกรรม
Friends' blogs
[Add textbook's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.