 |
|
|
|
 |
|
ชีวิต เ ป็ น ไ ป อ ย่ า ง ไ ร. กรรม |
|
ตอน ๓: ชีวิต เป็นไปอย่างไร ?
กรรม ในฐานะหลักธรรมที่เนื่องอยู่ในปฏิจจสมุปบาท
ความนำ
หลักธรรมต่างๆ ไม่ว่าจะมีชื่อใดๆ ล้วนสัมพันธ์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทั้งสิ้น เพราะแสดงถึงหรือสืบเนื่องมาจากสัจธรรมเดียวกัน และเป็นไปเพื่อจุดหมายเดียวกัน แต่นำมาแสดงในชื่อต่างๆ กัน โดยชี้ความจริงเพียงส่วนใดส่วนหนึ่งคนละส่วนละตอนกัน บ้าง เป็นความจริงอันเดียวกัน แต่แสดงคนละรูปละแนว เพื่อวัตถุประสงค์คนละอย่าง บ้าง ด้วยเหตุนี้ หลักธรรมบางข้อจึงเป็นเพียงส่วนย่อยของหลักใหญ่ บางข้อเป็นหลักใหญ่ด้วยกัน ครอบคลุมความหมายของกันและกัน แต่มีแนวหรือรูปแบบการแสดง และความมุ่งหมายจำเพาะในการแสดงต่างกัน
ปฏิจจสมุปบาทเป็นหลักธรรมใหญ่ที่แสดงความเป็นไปของชีวิตไว้ทั้งหมด มีขอบเขตกว้างขวางครอบคลุมหลักธรรมปลีกย่อยในระดับต่างๆ อย่างทั่วถึง เรียกได้ว่าเป็นกระบวนการแห่งชีวิต หรือกระบวนธรรมเบ็ดเสร็จ ถ้าเข้าใจปฏิจจสมุปบาทแล้ว ก็ชื่อว่าเข้าใจชีวิต หรือเข้าใจพระพุทธศาสนาทั้งหมด ดังพุทธพจน์ที่ว่า “ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้นเห็นธรรม” (ม.มู. ๑๒/๓๔๖/๓๕๙)
หลักธรรมส่วนย่อยของปฏิจจสมุปบาท ที่นิยมอธิบายกันมากที่สุด คงได้แก่ หลักกรรม การนำหลักกรรมมาอธิบาย อาจมองได้ทั้งในแง่ที่ ว่า กรรมเป็นเรื่องน่าสนใจในตัวของมันเอง และในแง่ที่ว่า ความเข้าใจเกี่ยวกับกรรมนั้น เป็นบันไดสำคัญที่จะก้าวสู่ความความเข้าใจหลักปฏิจจสมุปบาท
ว่าที่จริง การอธิบายหลักกรรมตามเนื้อหาอย่างตลอดสาย ก็คือ วิธีการที่ง่ายขึ้นอย่างหนึ่ง ในการอธิบายหลักปฏิจจสมุปบาทนั่นเอง
กรรม เป็นเพียงส่วนหนึ่งในกระบวนการแห่งปฏิจจสมุปบาทซึ่งเห็นได้ชัด เมื่อแยกส่วนในกระบวนการนั้นออกเป็น ๓ วัฏฏะ (วน,วังวน) คือ กิเลส กรรม และวิบาก หลักปฏิจจสมุปบาทแสดงถึงกระบวนการทำกรรม และการให้ผลของกรรมทั้งหมด ตั้งต้นแต่กิเลสที่เป็นเหตุให้ทำกรรม จนถึงวิบากอันเป็นผลที่จะได้รับ เมื่อเข้าใจปฏิจจสมุปบาทดีแล้ว ก็เป็นอันเข้าใจหลักกรรมชัดเจนไปด้วย ดังนั้น ว่าโดยตัวกฎหรือสภาวะ จึงไม่มีความจำเป็นอะไรที่จะต้องชี้แจงเรื่องกรรมไว้ต่างหาก ณ ที่นี้อีก
อย่างไรก็ดี การอธิบายตามแนวปฏิจจสมุปบาทนั้น เป็นการพิจารณาในแง่ของกระบวนการธรรมชาติ ว่าด้วยตัวกฎหรือสภาวะล้วนๆ และเป็นการมองอย่างกว้าง ๆ ตลอดทั้งกระบวนการ ไม่เน้นที่จุดใดจุดหนึ่งโดยเฉพาะ แต่ในทางปฏิบัติ เมื่อมองในแง่ความเป็นไปในชีวิตจริง จะเห็นว่าส่วนของปฏิจจสมุปบาทที่ปรากฏเด่นชัดออกมาในการดำเนินชีวิตประจำวัน เป็นเรื่องของการแสดงออก และเกี่ยวข้องกับความรับผิดชอบของคนโดยตรง ก็คือส่วนที่เรียกว่า กรรม ถ้าเพ่งในทางปฏิบัตินี้ ก็อาจยกเอากรรมขึ้นเป็นจุดเน้น และเป็นบทตั้งแล้วเอาส่วนอื่นๆ ของปฏิจจสมุปบาท เป็นตัวประกอบสำหรับสืบสาวราวเรื่องต่อไป
ถ้าทำอย่างนี้ ปฏิจจสมุปบาทก็จะปรากฏในรูปร่างที่นิยมเรียกกันว่า "กฎแห่งกรรม"* และจะมีเรื่องราวในแง่อื่นๆ ที่น่าสนใจเข้ามาเกี่ยวข้องเพิ่มขึ้นอีก นับว่าเป็นแนวการอธิบายที่น่าศึกษา ดังปรากฏว่า ในสมัยหลังๆ นี้ ก็นิยมพูดถึงกฎแห่งกรรมกันมากกว่าจะพูดถึงปฏิจจสมุปบาท เพราะการพูดถึงกรรม เป็นการพูดถึงกิริยาอาการ ซึ่งเป็นสิ่งที่หยาบ ปรากฏชัด เห็นง่าย เกี่ยวข้องอยู่เฉพาะหน้าทุกขณะทุกเวลา เหมาะที่จะถือเอาเป็นจุดเริ่มต้นของการพิจารณา
ยิ่งกว่านั้น การอธิบายเรื่องกรรม อาจทำได้หลายระดับ คือ จะอธิบายอย่างง่ายๆ ในระดับผิวเผิน พอให้เห็นเหตุเห็นผลในสายตาของชาวบ้านก็ได้ จะยกเอาเหตุการณ์หรือบทบาทของคนทั้งหลายขึ้นมาเป็นตัวอย่างก็ทำได้สะดวก หรือจะอธิบายลึกลงไปถึงกระบวนการธรรมภายในจิต จนต้องใช้หลักปฏิจจสมุปบาทเต็มรูปก็ได้
ด้วยเหตุผลดังกล่าวมานี้ จึงจะได้เสนอคำอธิบายหลักกรรม หรือ กฎแห่งกรรม ไว้ ณ ที่นี้ด้วย พอเป็นแนวสำหรับทำความเข้าใจ
* ตัวอย่างพุทธพจน์แห่งหนึ่งที่เชื่อมปฏิจจสมุปบาท กับ กฎแห่งกรรมสนิทกันเป็นอย่างดี คือ ที่ตรัสว่า "บัณฑิตผู้เห็นปฏิจจสมุปบาทฉลาดในกรรมและวิบาก ย่อมมองกรรมตามเป็นจริง ดังนี้..." (ม.ม.๑๓/๗๐๗/๖๔๘ ฯลฯ)
Create Date : 08 พฤศจิกายน 2566 |
Last Update : 22 เมษายน 2567 17:58:09 น. |
|
0 comments
|
Counter : 469 Pageviews. |
 |
|
|
|
|
 |
|
|
|