bloggang.com mainmenu search


Diarist
ถนนสายนี้มีตะพาบ ก.ม.ที่ 238
วิถีการกินอยู่ของผู้สูงวัย
เก็บประสบการณ์ตรงไว้ในความทรงจำ
โจทย์โดยคุณ toor36

Healing Music・Stress relief

cr: すべてうまくいく☆

**************************************************** 
ความจริงเรื่องราวที่จะเล่านี้ก็ไม่ได้ตั้งใจจะเล่าตั้งแต่แรกที่เกิดขึ้น แต่เพราะโจทย์นี้เอื้อให้พอจะเล่าได้ ก็เอาเสียหน่อยจะเป็นไรมี เผื่อจะเป็นประโยชน์แก่ผู้สูงวัยบางท่าน

เมื่อเราสองคนตายายมีอายุ 68/60 ตามลำดับ ซึ่งเรียกได้ว่าเข้าสู่วัยชรา ก็รับรู้ว่ามีพฤติกรรมหลายอย่างที่ต้องปรับเปลี่ยน แต่เพราะเรายังคงแข็งแรงตามปกติ เราก็ไม่ได้คิดว่าต้องปรับเปลี่ยนอะไร นอกจากเริ่มมีโรคภัยไข้เจ็บมาเยือน สายตาเปลี่ยนไปเร็วมากจนต้องเปลี่ยนเลนซ์สายตา จนมาใกล้ 90/80 ยังคงไม่รู้สึกว่าต้องปรับเปลี่ยนอะไรอีก เพียงแต่รู้สึกว่า ลิ้นไม่รับอาหารเผ็ดมากอย่างที่เคยกินได้ ก็กินเผ็ดน้อยลง รสชาติเปรี้ยว เค็ม หวานก็ยังอร่อยเหมือนเดิม กินมากเกือบจะเท่าเดิม ทำอะไรกินก็กินกันจนหมดแม้บางครั้งจะทำมากไป หรือไปกินตามร้านแล้วสั่งมากเกินไป ต้องพยายามกวาดให้หมดจาน ไม่งั้นจะเสียดาย เหมือนกินไม่คุ้มงั้นเลย

ถ้าเรามีกินมากและคิดว่ากินไหว ถึงวัยนี้ก็อย่าชะล่าใจกินเพลิน เพราะเครื่องย่อยอาหารของเราอาจไม่แข็งแรงและทำหน้าที่ไม่ได้เต็มกำลังเหมือนที่เราคิดว่าเคยทำได้

เหตุที่คิดว่าต้องปรับเปลี่ยนก็เพราะเมื่อสองเดือนที่แล้วอยากกินข้าวยำซึ่งเพื่อนบ้านชาวใต้ทำขาย ซื้อเขาสองชุด เขาก็แพ็กให้มาแบบใจดีให้เสียมาก ซึ่งที่จริงถ้าชุดเดียวแบ่งกันแล้วมีขนมตบท้ายสักหน่อยก็จะอิ่มกำลังดี แต่เราก็คลุกคนละแพ็ก กินไปคุยกันไป หมดไปคนละกว่าครึ่งเล็กน้อยก็อิ่มแล้ว แต่ก็เสียดายส่วนที่เหลือ ยังคงพยายามเคี้ยวใส่ลงพุงไปเรื่อยๆ เขี่ยเครื่องปรุงที่ไม่ชอบทิ้งไปบ้าง แล้วก็อิ่มแบบใกล้จุก

พอใกล้อาหารเย็นวันนั้น นึกได้ว่าวันก่อนตำน้ำพริกกะปิเยอะ ยังเหลืออีกครึ่งถ้วย เย็นนั้นก็ผัดข้าวคลุกน้ำพริกนั้น มีชะอมทอดไข่เหลืออยู่ด้วยก็ผัดรวมไป แล้วก็ทอดปลาสลิดมาแกล้มอีกตัว กินกันไปแบบไม่คิดอะไรมาก ก็จะคิดอะไรล่ะ ถึงเวลากิน มีอะไรก็กินไป ไม่ได้มีแม่ครัวเทียบสำรับให้ทุกมื้อนี่นา ลูกๆก็ไม่ค่อยกลับมากินอาหารที่บ้าน ทำใหม่ทุกมื้อก็กินไม่หวาดไม่ไหว เหนื่อยอีกต่างหาก บางวันทำอาหารสามมื้อ เหมือนมีชีวิตอยู่แต่ในครัวก็ไม่ปาน แล้วทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นผักหญ้า หมูไก่ เครื่องปรุงต่างๆ รถกับข้าวสดก็มักแพ็กมาขาย ต้องซื้อเป็นมัดๆแพ็กๆ ทำแค่พอกินแต่ละมื้อก็เหลือทิ้งเสียของ ทำสูตรใหญ่ก็ไม่วายต้องกินมากหรือกินหลายมื้อ

ค่ำนั้นรู้สึกได้เลยว่า อาหารหนักๆสองมื้อติดกันนั้น ทำให้อึดอัดในท้องไม่น้อย แต่ดื่มน้ำขิงไปคนละถ้วยก็สบายขึ้น นอนหลับได้ตามปกติ รุ่งขึ้นอีกสองวัน ออกไปซื้อของกัน พอดีไปใกล้ร้านที่มีคัตสึเจ้าอร่อย ก็แวะกินมื้อกลางวัน เคยไปกินกับลูก สั่งคนละชุดกินไม่หมด วันนั้นเลยสั่งชุดเดียว+ราเม็งอีกหนึ่ง ปรากฏว่า ราเม็งมาชามเบ้อเริ่ม ต้องตัดสินใจกินราเม็งให้หมด กินคัตสึไปครึ่งเดียวแล้วให้ห่อที่เหลือกลับบ้าน เย็นนั้นทำสลัดกินกับคัตสึที่เหลือ รู้สึกได้ก่อนนอนว่า ไม่สบายท้องมาก

คืนนั้นพ่อ(ของลูก)ถ่ายท้องอย่างหนักทั้งที่ไม่ได้รู้สึกปวดท้อง ถ่ายไปหกครั้งก็หยุด คงไม่เหลืออะไรให้ถ่าย แล้วก็หลับไปด้วยความเพลีย วันรุ่งขึ้นมีนัดกับหมออายุรกรรมที่ร.พ.ของรัฐ พ่อบอกว่าถ่ายท้องอย่างหนักมากจนเพลีย หมอถามว่าหยุดถ่ายหรือยัง พ่อว่าหยุดแล้ว หมอก็บอกขำๆว่า แก่แล้วก็เป็นอย่างนี้แหละ แล้วก็ไม่ได้แนะนำหรือให้ยาอะไร พ่อก็พอใจเท่าที่หมอบอก แต่เราไม่พอใจ เพราะเราก็แก่แล้ว กินเหมือนๆกับพ่อ แต่เราเพียงแต่รู้สึกไม่สบายท้อง แต่พ่อถ่ายมากจนเราใจเสีย

ต่อจากนั้น เราก็ยังกินอาหารอย่างที่เคยเพราะไม่ได้รู้ว่าต้องแก้ไขอย่างไรหรือว่าไม่ต้องแก้ไขอะไรเลย ล่วงไปอีกสี่วัน พ่อก็ถ่ายท้องแบบเดิมอีก ครั้งนี้เราบอกให้หมอลูกชายพาพ่อไปร.พ.เอกชนที่ลูกทำงาน เช็กให้รู้เรื่องว่ามันเป็นเพราะอะไรกันแน่ หลังจากหมอเฉพาะทางซักประวัติแล้วก็บอกว่า คงไม่ได้มีเชื้ออะไรในกระเพาะหรือลำไส้ น่าจะเป็นอาหารเป็นพิษธรรมดา ถ่ายหมดก็หยุด แล้วก็แนะนำว่า ให้ทำกับข้าวให้สะอาด ถ้าอาหารค้างต้องอุ่นให้ระอุ อุ่นด้วยเวฟไม่ปลอดภัย

แต่เรามานั่งคิดถึงพฤติกรรมการกินของเราในช่วงที่ผ่านมา มันไม่น่าจะใช่อาหารเป็นพิษ เพราะเราก็กินเหมือนๆกัน และที่สำคัญเราทำอาหารสะอาดแน่นอน อุ่นด้วยเวฟเราไม่ทำเพราะรู้มานานแล้วว่ามันไม่สุกระอุจริง ที่สำคัญยิ่งกว่าคือทำไมพ่อถ่ายท้องอยู่คนเดียว มันน่าจะเป็นเพราะระบบย่อยอาหารของพ่อทำงานไม่ปกติ ย่อยไม่หมด หมักหมมอยู่ในกระเพาะเป็นสาเหตุสำคัญมากกว่า

หลังจากนั้นเราก็ปฏิวัติมื้ออาหาร เช้ากินตามปกติ เช่น กาแฟ แฮม ไข่ดาว หรือซุปข้นกับขนมปังปิ้งและกาแฟ โจ๊กก็ชอบกินกัน กลางวันเป็นมื้อหลัก แต่ก็ไม่กินมาก มื้อเย็นน้อยกว่ามื้อกลางวัน หรือเป็นข้าวต้ม เน้นการกินพออิ่ม มีอาหารว่างระหว่างมื้ออาหารด้วย อาหารเหลือก็ทิ้งเลย ทำมื้อกินมื้อเท่านั้น และที่ต้องจำไว้ให้แม่นคือต้องไม่กินอาหารย่อยยากทีละมากๆ หรือบ่อยๆ

อาหารมื้อกลางวันที่เป็นมื้อหลัก อาทิตย์หนึ่งจะมีอาหารประเภทน้ำพริกกะปิ หรือหลนเต้าเจี้ยว ที่เคยทำทีละมากมายกินไปเรื่อยๆจนหมดก็ทำแต่พอกินมื้อเดียว จะทำเผื่อให้ลูกก็ทำแล้วแบ่งไว้ให้ ที่เหลือก็กินพออิ่ม เหลืออีกก็ทิ้งหรือให้เหมดไป

ตัวอย่าง น้ำพริกกะปิของผู้ชรา รสชาติก็กลางๆนะคะ ไม่เผ็ด ใช้พริกชี้ฟ้าเขียวแดง กรีดเอาเมล็ดทิ้งหมด ผักที่จัดมา ซื้อดอกแค ดอกโสน และสะตอ แพ็กมารวมกัน 15 บาท ไม่มากไม่น้อย ยอดแคอีกกำ 10 บาท ปลาทู 3 ตัว 25 บาท ตัดหัวหางออกบ้างเพื่อให้ลงกระทะเล็กๆได้ เดี๋ยวนี้ใช้หม้อไหถ้วยชามใบเล็กๆจะเหมาะมือ ใบใหญ่นักก็คอนน้ำหนักไม่ไหว นี่ถ้ามีหลาน ต้องโดนแอบแฮ้ปหม้อกระทะไปเล่นขายของแน่นวน

ตัวน้ำพริกนั้นมีมะอึกด้วย เผากะปิ ป่นกุ้งแห้ง เคี่ยวน้ำตาลปึก แล้วก็ลงมือตำ เน้นความสะอาดเต็มพิกัด เสร็จแล้วก็หน้าตาประมาณนี้ค่ะ



เวลากินน้ำพริกหรือเครื่องจิ้ม เราไม่ทำแกงจืด พ่อบอกว่า ขี้เกียจกิน คือมันเริ่มจะยุ่งเหยิงเต็มโต๊ะไปหมด

ตัวอย่าง เต้าเจียวหลน เน้นผักมีขมิ้นขาวเพื่อรักษาท้อง มีไข่ต้มหนี่งฟอง แบ่งกันคนละครึ่ง ลืมถ่ายภาพ จัดผักมาให้ดูน่ากิน แต่ไม่ได้กินหมด ส่วนผัดผักบุ้งไฟแดงนั้น กวาดซะเรียบ



ตั้งแต่ลดการกินแต่ละมื้อแล้ว ถึงวันนี้ก็เกือบเดือน พ่อก็ยังไม่ได้ถ่ายท้องอย่างหนักอีกเลย พิสูจน์ว่า คนชราใกล้ 90 นั้น ไม่ควรกินอาหารย่อยยากติดๆกันหรือบ่อยๆ ต้องกินน้อยลง มากมื้อขึ้นก็ได้ เราเองก็กว่า 80 แล้ว กินตามพ่อไปเลยก็น่าจะดีกับสุขภาพ



ขอบคุณที่ติดตามอ่านนะคะ
ใครยังไม่สูงวัยก็นำไปแนะนำแก่ผู้สูงวัยที่บ้านบ้างก็ดีค่ะ


Diarist
Create Date :15 ตุลาคม 2562 Last Update :19 พฤศจิกายน 2562 15:48:14 น. Counter : 1538 Pageviews. Comments :50