"ยินดีต้อนรับสู่ บล็อกของคนใฝ่รู้ สำหรับผู้ใส่ใจใฝ่รู้ค่ะ" มีหลายหัวข้อเรื่องให้คุณอ่าน .. ขอบคุณที่มาเยี่ยมบล็อกค่ะ .. ขอจงมีแต่ความสุขกายสบายใจตลอดไปนะคะ
Group Blog
 
<<
มีนาคม 2559
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
25 มีนาคม 2559
 
All Blogs
 
สมเด็จพระนเรศวรทรงทำยุทธหัตถีที่ไหนแน่? ตอนนี้กาญจนบุรีก็มีเหมือนสุพรรณบุรี!

 โดย  โรม บุนนาค

 

สมเด็จพระนเรศวรทรงทำยุทธหัตถีที่ไหนแน่?ตอนนี้กาญจนบุรีก็มีเหมือนสุพรรณบุรี!
เจดีย์โบราณที่ตำบลดอนเจดีย์ อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี

ที่สุพรรณบุรีนั้นมีเจดีย์ยุทธหัตถีมานานแล้ว แต่ตอนนี้ที่กาญจนบุรีก็มีเหมือนกัน เลยไม่แน่ใจว่า สมเด็จพระนเรศวรทรงชนช้างกับพระมหาอุปราชาที่ไหนกันแน่?

       นักประวัติศาสตร์คนสำคัญท่านหนึ่ง เคยพูดทางทีวีฟันธงออกมาทำนองว่า

       เจดีย์ยุทธหัตถีของแท้อยู่ที่ไหน ตอนนี้ก็ยังไม่มีใครบอกได้ แต่ที่สุพรรณบุรีนั้นไม่ใช่

       อ้าว!

       พงศาวดารหลายฉบับบันทึกไว้ตรงกันว่า เมื่อวันจันทร์ แรม ๒ ค่ำ เดือนยี่ ปีมะโรง พุทธศักราช ๒๑๓๕ สมเด็จพระนเรศวรได้ทรงทำยุทธหัตถี ฟันพระมหาอุปราชาแห่งกรุงหงสาวดีขาดคาคอช้างแล้ว

       “ตรัสให้ก่อพระเจดีย์สถานสวมพระศพพระมหาอุปราชาไว้ ณ ตำบลตะพังตรุ”

       แม้พงศาวดารพม่าจะแย้งว่า เมื่อพระมหาอุปราชาสิ้นพระชนม์แล้ว ทัพพม่าก็เข้ากันพระศพแล้วนำกลับไปกรุงหงสาวดี ไม่ได้ถูกครอบไว้ในพระเจดีย์อย่างพงศาวดารไทยว่า

แต่ก็เป็นที่แน่ชัดว่า หลังจากทรงทำยุทธหัตถีมีชัยต่อพระมหาอุปราชาแล้ว สมเด็จพระนเรศวรโปรดให้สร้างพระเจดีย์ขึ้นที่บริเวณชนช้างองค์หนึ่ง แล้วกลับไปสร้างเจดีย์ใหญ่อีกองค์ที่วัดเจ้าพระยาไทย หรือวัดป่าแก้ว

ขนานนามว่า “พระเจดีย์ชัยมงคล” ซึ่งก็คือพระเจดีย์องค์ใหญ่ที่วัดชัยมงคลในปัจจุบันนั่นเอง

       แต่เจดีย์ที่สร้างขึ้นตรงที่ทรงทำยุทธหัตถีนั้น ถูกทอดทิ้งอยู่ในป่ามาเป็นเวลาร้อยๆ ปีจนหาไม่พบ

       ในปลายสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้มีการรื้อฟื้นที่จะหาเจดีย์ยุทธหัตถีขึ้นมาอีก โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้รับสั่งให้พระยากาญจนบุรี (นุช) ไปค้นหาเจดีย์เก่าแถวบ้านตะพังตรุ แต่ก็ไม่พบเจดีย์ที่มีลักษณะน่าจะเป็นเจดีย์ยุทธหัตถี

       ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๖ พระยาปริยัติธรรมธาดา (แพ ตาละลักษณ์) เมื่อครั้งยังเป็นหลวงประเสริฐอักษรนิติ ได้นำสมุดเก่าเล่มหนึ่งมาถวายกรมพระยาดำรงฯ อ้างว่า

ไปพบขณะยายแก่คนหนึ่งกำลังนำกระดาษเก่าๆ ใส่กระชุจะเอาไปเผา เมื่อขอค้นดูก็พบสมุดเล่มนี้ซึ่งบันทึกเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ไว้ ต่อมากรมพระยาดำรงฯ ให้เรียกสมุดเล่มนี้ว่า

“พงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐฯ” ซึ่งนอกจากพงศาวดารเล่มนี้จะจารึกวันเดือนปีของเหตุการณ์ต่างๆ ได้แม่นยำน่าเชื่อถือกว่าพงศาวดารฉบับอื่นๆ แล้ว ยังระบุว่าพระมหาอุปราชามาตั้งทัพที่ตำบลตะพังตรุ แล้วมาทำยุทธหัตถีที่หนองสาหร่าย

ขณะที่พงศาวดารฉบับอื่นๆ ระบุไว้ตรงกันว่า สมเด็จพระนเรศวรทรงทำยุทธหัตถีที่ตะพังตรุ ซึ่งทำให้นักประวัติศาสตร์บางคนเชื่อว่า พงศาวดารฉบับนี้ทำขึ้นมาใหม่ เพื่อหวังผลอะไรบางอย่าง

       เมื่อมีการระบุว่าทรงทำยุทธหัตถีที่หนองสาหร่าย กรมพระยาดำรงฯ จึงรับสั่งให้พระยาสุพรรณบุรี (อี้ กรรณสูต) ไปสืบดูว่าสุพรรณบุรีมีตำบลชื่อหนองสาหร่ายหรือไม่ ถ้ามีก็ให้ออกค้นหาเจดีย์ที่มีลักษณะน่าจะเป็นเจดีย์ยุทธหัตถี

       ไม่ถึงเดือนพระยาสุพรรณบุรีรายงานเข้ามาว่า พบเจดีย์โบราณอยู่ในป่าที่เรียกกันว่า “ดอนเจดีย์” ทางตะวันตกของตัวเมือง ซ่อนอยู่ในป่ารกทึบ ชาวบ้านได้ถางทางเข้าไปให้

พร้อมทั้งถ่ายรูปมาถวาย ซึ่งกรมพระยาดำรงฯนิพนธ์ไว้ในหนังสือ “โบราณคดี” ว่า

       “พอฉันเห็นรายงานกับรูปฉายที่พระยาสุพรรณบุรีส่งมาให้ ก็สิ้นสงสัย รู้ว่าพบพระเจดีย์ยุทธหัตถีเป็นแน่แล้ว มีความยินดีแทบเนื้อเต้น รีบนำความกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว”

       รัชกาลที่ ๖ ทรงยกขบวนเสือป่า กองพลหลวงรักษาพระองค์พร้อมทหารมหาดเล็ก รอนแรมจากพระราชวังสนามจันทร์ นครปฐม เมื่อวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๔๕๖ ถึงพระเจดีย์ในวันที่ ๒๗ มกราคม

ทรงพิธีบวงสรวงดวงพระวิญญาณสมเด็จพระนเรศวรในวันรุ่งขึ้น ทรงดำริจะเสริมองค์พระเจดีย์ขึ้นใหม่ แต่เศรษฐกิจยามนั้นตกต่ำมาก ต่อมาสงครามโลกครั้งที่ ๑ ก็เริ่มขึ้นในยุโรป ทำให้โครงการก่อสร้างต้องระงับไว้

       เจดีย์ยุทธหัตถีถูกรื้อฟื้นกันใหม่ในปลายยุค จอมพล ป.พิบูลสงคราม โดยเรี่ยไรจากประชาชนและนำเงินกองทัพมาสนับสนุน สร้างเจดีย์ใหญ่ครอบเจดีย์เดิม แล้วเสร็จในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำพิธีเปิดได้ในวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๐๒

       เจดีย์ยุทธหัตถีจึงปรากฏอยู่ที่ตำบลดอนเจดีย์ อำเภอดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งแต่เดิมเป็นตำบลบางงาม อำเภอศรีประจันต์

       แม้ทางราชการและกรมศิลปากรจะสรุปยืนยันแล้วว่า เจดีย์ยุทธหัตถีที่จังหวัดสุพรรณบุรีเป็นของแท้แน่นอน แต่นักประวัติศาสตร์หลายคนก็มีความเห็นว่า “สรุปง่ายเกินไป”

ยังมีเจดีย์โบราณที่ทรุดโทรมสึกกร่อน เอียงคดงอ อีกองค์หนึ่ง อยู่ที่ตำบลดอนเจดีย์ อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี ชาวบ้านในย่านนั้นมีความเชื่อกันว่า เจดีย์แห่งนี้เป็นเจดีย์ยุทธหัตถี ที่สมเด็จพระนเรศวรทรงสร้างไว้บริเวณชนช้าง เพราะมีสภาพแวดล้อมหลักฐานหลายอย่างที่น่าเชื่อถือ

       ในปี ๒๕๑๕ นสพ.รายวันลงข่าวกันเกรียวกราวว่า พบพระเจดีย์ยุทธหัตถีองค์จริงอยู่ที่พนมทวน กาญจนบุรี สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาและเจ้าฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ ได้เสด็จไปทอดพระเนตรพระเจดีย์และพระปรางค์ที่อยู่ห่างไปราว ๒๐๐-๓๐๐ เมตรเมื่อวันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๑๕

       ต่อมาวันที่ ๖ ธันวาคม ๒๕๑๖ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาและเจ้าฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ ได้เสด็จมาแวะ ขณะกลับจากพระราชกรณียกิจที่อำเภอบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี

       “หลังจากนั้น ตอนที่ในหลวงท่านมาประทับที่เขื่อนวชิราลงกรณ์ (เขื่อนแม่กลองในปัจจุบัน) ท่านก็ขับรถมาด้วยพระองค์เอง ไม่มีใครติดตามมาเลย”

       มนูญ เสริมสุข ชายวัยราว ๔๐ คนพื้นที่ ซึ่งตอนนั้นมาเปิดซุ้มโคคาโคล่าขายเครื่องดื่มและไอศกรีมอยู่ข้างวงเวียนเจดีย์ ให้ข้อมูลกับผู้เขียนเมื่อปี ๒๕๔๒ และรายงานข่าวพิเศษที่ นสพ.ไม่ได้รายงานว่า

       “ท่านมาจอดรถถามคนที่ทุ่งสมอว่า เจดีย์ยุทธหัตถีไปทางไหน เขาก็ชี้ทางให้ พอท่านไปแล้วไอ้คนที่ถูกถามก็มองตามไปอย่างงงๆ ว่าหน้าเหมือนในแบงก์ ท่านมาถึงก็เดินดูพระเจดีย์และคุยกับเด็กที่เลี้ยงควายอยู่แถวนั้น

คุยกันซักพักพอไอ้หมอนั่นจำได้ว่าเป็นในหลวง ก็ทรุดลงนั่งพูดอะไรไม่ออกเลย ตอนนี้เด็กเลี้ยงควายนั่นเป็นผู้ใหญ่บ้านอยู่ที่นี่”

       ท่านผู้เฒ่า ๒ คนซึ่งอยู่บนศาลสมเด็จพระนเรศวร ข้างวงเวียน ได้เล่าให้ฟังว่า เมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง แถวนี้ยังเต็มไปด้วยกองกระดูกทั้งคน ช้าง ม้า เกลื่อนอยู่บนดิน เหมือนไม่มีการฝัง ตายก็ปล่อยให้เน่าเปื่อยอยู่อย่างนั้น

และที่พระปรางค์ซึ่งอยู่ห่างออกไปทางหลังศาล ก็มีกระดูกกองใหญ่เหมือนรวบรวมเอามาไว้ที่นั่นได้จำนวนหนึ่ง ในดินนอกจากขุดพบกระดูกช้าง ม้า และกระดูกคนมากมายแล้ว

ยังพบเครื่องศัตราวุธและเครื่องช้างศึกม้าศึก เช่น หอก ดาบ ยอดฉัตร โกลนม้า ขอสับช้าง โซ่ล่ามช้าง แป้นครุฑจับนาค แป้นครุฑขี่สิงห์จับนาค ซึ่งแสดงว่าสถานที่นี้ต้องเป็นที่ทำสงครามครั้งใหญ่

       นอกจากนี้ยังมีเหตุผลอีกหลายอย่างที่อ้างว่า เจดีย์ยุทธหัตถีของอำเภอพนมทวนเป็นของแท้ อย่างเช่น

       บรรดาชื่อตำบลต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ในพงศาวดารเกี่ยวกับยุทธหัตถีครั้งนี้ ล้วนแต่มีอยู่ในอำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรีทั้งนั้น อย่างเช่น หนองสาหร่าย ตะพังตรุ

โดยเฉพาะพงศาวดารหลายฉบับระบุชัดว่า ชนช้างกันที่ตะพังตรุ มีแต่พงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐฯ ฉบับเดียวบอกว่าชนช้างที่หนองสาหร่าย

       พงศาวดารฉบับอื่นๆ ระบุว่าสมเด็จพระนเรศวรตั้งทัพที่หนองสาหร่าย แล้วทรงทำยุทธหัตถีที่ตะพังตรุ ซึ่งหนองสาหร่ายที่พนมทวนห่างจากองค์เจดีย์ที่พนมทวนราว ๑๖-๑๗ กม.

ชาวดอนเจดีย์เคยวิ่งทดสอบกันมาแล้ว ใช้เวลาประมาณ ๒ ชั่วโมง ซึ่งเป็นไปได้ที่ช้างทรงของสมเด็จพระนเรศวรกำลังตกมัน จะได้กลิ่นช้างของพระมหาอุปราชาแล้วพุ่งเข้าไปหา

แต่ถ้าพระมหาอุปราชามาชุมนุมพลที่ตะพังตรุ อำเภอพนมทวน แล้วไปชนช้างกับสมเด็จพระนเรศวรที่หนองสาหร่าย สุพรรณบุรี ซึ่งห่างไป ๙๐ กม.ตามที่พงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐฯว่า ไม่น่าจะเป็นไปได้

       หลังจากสมเด็จพระนเรศวรฟันพระมหาอุปราชาขาดคาคอช้างแล้ว พงศาวดารว่า กองทัพไทยตามไปทันพอดี จึงไล่ฆ่าฟันทหารพม่าอย่างมันมือไปถึงเมืองกาญจน์ ตายไป ๒๐,๐๐๐ คน

จับช้างใหญ่สูง ๖ ศอกได้ ๓๐๐ เชือก ช้างพลายพัง ๕๐๐ เชือก ม้าอีก ๒,๐๐๐ เศษ

       ระยะทางจากดอนเจดีย์ พนมทวน ไปถึงเมืองกาญจน์ประมาณ ๑๗ กม. ไล่ล่ากันในวันเดียวจึงเป็นไปได้ แต่ถ้าไล่ล่ากันจากเจดีย์ยุทธหัตถีที่สุพรรณบุรีถึงเมืองกาญจน์กว่า ๑๐๐ กม. กี่วันจะถึง

       เส้นทางเดินทัพทั้งของพม่าและของไทย ที่เข้าออกทางด่านเจดีย์สามองค์ จะต้องผ่านมาทางทุ่งลาดหญ้า เขาชนไก่ (เมืองกาญจน์เก่า) ปากแพรก พนมทวน (บ้านทวน) อู่ทอง สุพรรณบุรี ป่าโมก อยุธยา ไฉนจะไปชนช้างกันที่ศรีประจันต์นอกเส้นทาง

       ในพงศาวดารฉบับ “วันวลิต” ชาวฮอลันดาที่เข้ามาในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้บันทึกไว้ว่า สมเด็จพระนเรศวรทรงทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชาที่ใกล้วัดร้างแห่งหนึ่ง

ซึ่งที่พนมทวนห่างพระเจดีย์ไป ๑.๕ กม.ก็มีโบสถ์เก่า เจดีย์เก่าอยู่ที่วัดน้อยในปัจจุบัน

       อีกทั้งพื้นที่เจดีย์ยุทธหัตถีพนมทวนเป็นที่ดอนดินทราย หมู่บ้านที่ติดกับองค์เจดีย์ก็มีชื่อว่าหมู่บ้านหลุมทราย บริเวณแถบนี้ล้วนเป็นดินทราย จึงเกิดฝุ่นผงคลีดินฟุ้งกระจายจนมืดมิด ตามบรรยากาศในวันทรงทำยุทธหัตถีได้

       เหตุผลเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่ง ที่ทำให้คนจำนวนหนึ่งเชื่อว่า สถานที่ทรงทำยุทธหัตถีอยู่ที่พนมทวน

       เดิมเจดีย์นี้อยู่ในวงเวียนซึ่งมีพื้นที่เพียง ๖ งานเท่านั้น ต่อมาชาวบ้านบริจาคที่รอบๆ ให้อีกจนเป็น ๗๒ ไร่ แต่ยกให้หน่วยงานไหนก็ไม่มีใครเอา จังหวัดบอกว่าไม่มีงบดูแล กรมศิลปากรก็ไม่เอา การท่องเที่ยวก็ไม่เอา

จนในราวปี ๒๕๓๔ หลวงพ่อทวีศักดิ์ แห่งวัดศรีนวล ซึ่งทราบว่าท่านผู้หญิงบุญเรือน ชุณหะวัณ เป็นผู้นิมนต์มา เห็นว่าไม่มีใครบูรณะท่านก็เลยบูรณะเอง ขุดคูล้อมที่ทั้งหมดรวมทั้งที่ชาวบ้านบริจาค แล้วถมดินให้สูงขึ้น

ปลูกปาล์มน้ำมันรอบวงเวียน แต่เมื่อกรมศิลปากรเข้ามาขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน ก็ขุดปาล์มน้ำมันรอบวงเวียนออกไปปลูกไว้ด้านหลังของพื้นที่

       ในวันที่ ๙ กันยายน ๒๕๔๒ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ทรงรับเป็นองค์อุปถัมภ์ก่อสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ณ โบราณสถานเจดีย์ยุทธหัตถีที่พนมทวน

ทรงเป็นประธานทอดผ้าป่ามหากุศล สมทบทุนค่าก่อสร้าง ได้เงินถึง ๒,๔๘๓,๓๖๑ บาท

       สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระราชทาน ๑๐๐,๐๐๐ บาท

       สมเด็จพระสังฆราช ประทานอีก ๑,๐๔๔,๐๐๐ บาท

       องค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี ตั้งงบอุดหนุน ๓,๑๑๑,๑๒๐ บาท

       ทั้งยังมีผู้บริจาคสมทบอีกเป็นจำนวนมาก จนมีงบประมาณค่าก่อสร้างถึง ๓๐ ล้านบาท

       พระบรมราชานุสาวรีย์แห่งนี้ก็เช่นเดียวกับสุพรรณบุรี ที่ไม่ได้สร้างเป็นพระบรมรูปทรงยุทธหัตถี แต่เป็นสมเด็จพระนเรศวร ประทับบนเจ้าพระยาไชยานุภาพ ช้างพระที่นั่งที่ชนชนะศึก

ซึ่งภายหลังเปลี่ยนนามเพิ่มเกียรติเป็น “เจ้าพระยาปราบหงสาวดี” โดยมีขนาดใหญ่เป็น ๒ เท่าครึ่งของตัวจริง สูง ๕ เมตร น้ำหนัก ๒๐ ตัน มีป้ายชื่ออย่างเป็นทางการว่า “พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช จังหวัดกาญจนบุรี”

       การก่อสร้างนี้ก็ไม่ได้สร้างในบริเวณเดิมที่ กรมศิลปากรได้ขึ้นบัญชีเป็นโบราณสถานไว้ แต่ชาวบ้านบริจาคที่ดินติดกันให้อีก ๒๐ ไร่ ตัดถนนสายใหม่จากด้านหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์ ยาว ๔.๒ กม. ไปเชื่อมถนนสายกาญจนบุรี-อู่ทอง

และสร้างอาคารเรียงรายขึ้นหลายหลัง ใช้เป็นที่จัดแสดงโบราณวัตถุที่ขุดพบในบริเวณนี้

       ขณะนี้ อนุสรณ์สถานเจดียุ์ทธหัตถีจึงมีอยู่ ๒ แห่ง คือที่ดอนเจดีย์ สุพรรณบุรี และดอนเจดีย์ กาญจนบุรี ซึ่งไม่แน่ว่าอาจจะมีแห่งที่ ๓ มาท้าชนอีกก็เป็นได้

       แต่ที่ใดจะเป็นของแท้ ก็คงต้องถกเถียงกันต่อไป เถียงกันโดยค้นคว้าหาหลักฐานทางประวัติศาสตร์มายืนยัน ซึ่งก็จะเป็นการรื้อฟื้นประวัติศาสตร์ในช่วงสำคัญของชาตินี้มาสู่ความสนใจของคนในยุคปัจจุบัน ให้เกิดความภูมิใจในความเป็นมาของชาติไทย

       เจดีย์ยุทธหัตถีถูกทิ้งร้างไว้ในป่ามากว่า ๔๐๐ ปีแล้ว คงไม่มีใครมายืนยันได้ว่าอยู่ตรงไหนแน่ ได้แต่สันนิษฐานกันไป แต่ไม่ว่าจะอยู่ตรงไหน ก็ไม่ทำให้วีรกรรมของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ในการกอบกู้เอกราชของชาติต้องเปลี่ยนไป

ทุกแห่งเป็นอนุสรณ์สถานที่เชิดชูวีรกรรมของพระองค์ ที่มีคุณต่อชาติอย่างใหญ่หลวง เตือนใจให้คนไทยที่รักและหวงแหนในแผ่นดินไทย ภูมิใจในวีรกรรมของพระองค์ได้เสมอกันทุกอนุสรณ์สถาน



สมเด็จพระนเรศวรทรงทำยุทธหัตถีที่ไหนแน่?ตอนนี้กาญจนบุรีก็มีเหมือนสุพรรณบุรี!
พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช จังหวัดกาญจนบุรี


สมเด็จพระนเรศวรทรงทำยุทธหัตถีที่ไหนแน่?ตอนนี้กาญจนบุรีก็มีเหมือนสุพรรณบุรี!
หัวกะโหลกช้างที่ขุดจากรอบเจดีย์โบราณที่กาญจนบุรี


สมเด็จพระนเรศวรทรงทำยุทธหัตถีที่ไหนแน่?ตอนนี้กาญจนบุรีก็มีเหมือนสุพรรณบุรี!
ข้อมูลต่างๆในศาลาข้างเจดีย์โบราณที่อ้างว่าเป็นเจดีย์ยุทธหัตถี


ขอบคุณ MGR Online 

คุณโรม บุนนาค 

ศุกรวารสิริสวัสดิ์ค่ะ




Create Date : 25 มีนาคม 2559
Last Update : 25 มีนาคม 2559 17:24:44 น. 0 comments
Counter : 1858 Pageviews.

sirivinit
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 224 คน [?]





/



2558

2556

2555

น้ำใจจากคุณ krittut 2554

2553


สิริสวัสดิ์วรวาร
เปรมปรีดิ์มานรื่นรมณีย์นะคะ ยินดีต้อนรับ
สู่บล็อกของคนใฝ่รู้ สำหรับผู้ใส่ใจใฝ่รู้ค่ะ

เชิญอ่านตามสบายนะคะ
มีดีๆให้คุณได้ทราบหลากหลายค่ะ

๑ - ๑/๑ ฉันรักในหลวง
๒.๓.๑๐.๑๕.๓๐.๒๔.๕๙.๖๓.๙๐.ธรรมะ
๔ - ๔/๑ รวมพลคนดัง
๕. ศาสนาพุทธสุดประเสริฐ
๖. ความรู้ทั่วไปในศาสนาพุทธ
๗. ๑๖. ประวัติศาสตร์
๘ - ๙/๑ ไม้ดอก ไม้ใบ
๑๑ - ๑๑/๑ เกม
๑๒.๓๗.๔๐-๔๓.๕๓.๗๕.๘๖.ศิลปะเทศ
๑๔ - ๑๔/๑. ๒๐๘. ข่าวคนดังเทศ
๑๘. ๑๙. ๒๒. ราชวงศ์ไทย
๒๐.๑๑๖-๑๑๖/๒ ๑๙๐-๑๙๐/๘ ละคร ทีวี
๒๑. ๓๑. ๒๐๘. ราชวงศ์เทศ
๒๔. นักเขียนไทย
๒๔/๑. กลอนชั้นบรมครู
๒๙/๑-๒๙/๔โปสการ์ดจากเพื่อนบล็อก
๓๓. สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
๓๙.๑๘๑-๑๘๑/๗ สุธาโภชน์รสเลิศล้ำ
๔๑.๔๒.๕๐.๕๘.๖๐.๖๑.๘๖.มหาวิหาร
๕๗. ปราสาท พระราชวัง คฤหาสน์เทศ
๖๒. วัด
๖๕ - ๖๕/๑ การ์ตูน
๖๕/๒. นิทานเซน
๖๗. ความตายมาพรากให้จากไป
๖๙ - ๖๙/๒ สารพัดสัตว์
๗๔. สุนัข
๗๖. อุทยานสวรรค์
๗๗. ซูเปอร์แมน - แบทแมน
๗๘ - ๘๓. แสตมป์สะสม
๘๕-๘๕/๑ หนังสือสะสม
๘๗ - ๘๗/๒ ๒๑๕ ข่าวกีฬา
๘๙. ๘๙/๑ จีนแผ่นดินใหญ่
๙๐/๑ .ทิเบต
๙๑. จันทร์สูริย์ดารา
๙๒. สมเด็จพระปิยมหาราชเจ้า
๙๓ - ๙๓/๒ ภาพยนตร์
๙๔ - ๙๔/๓ ยานยนต์
๙๕ - ๙๕/๑ ดูดวง
๙๖ - ๙๖/๑ . ๒๑๑ วิทยาศาสตร์
๙๗ - ๙๗/๑.๒๐๙ แวดวงวรรณกรรม
๙๘. ภาพพุทธประวัติ
๙๙. ๑๒๗ - ๑๒๗/๑ ดนตรี
๑๐๑. ป้าย R สะสม
๑๐๒. บัตรภาพตราไปรฯสะสม
๑๐๓. DIY
๑๐๗/๑ เล่าเรื่องเมืองญี่ปุ่น
๑๐๘ - ๑๐๘/๑ หนังสือ
๑๑๓ - ๑๑๓/๑ บ้านสวย
๑๑๕. พระเครื่อง
๑๒๐. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
๑๒๓. เจ้าฟ้าเพชรรัตน์ฯ
๑๒๕. เหรียญที่ระลึก
๑๒๕/๑ เหรียญสะสมต่างประเทศ
๑๒๕/๒ เหรียญที่ระลึกจังหวัด
๑๒๕/๓ ธนบัตรที่ระลึก
๑๒๕/๔ บัตรโทรศัพท์
๑๒๕/๕ กล่องไม้ขีด และอื่นๆ
๑๓๑.เรื่องสั้นชั้นครู"เจียวต้าย"
๑๖๔.บล็อกพิเศษ วันเดียวอั๊พ 100
เอนทรี่ ให้คุณป้า"ร่มไม้เย็น"ชม
๑๙๐/๓ เรื่องย่อละคร
๑๙๓. คดีเขาพระวิหาร
๒๑๒. ศิลปะ
๒๑๗. วิถีแห่งอำนาจ บูเช็กเทียน
๒๑๗/๑.วิถีแห่งอำนาจ เจงกิสข่าน
๒๑๗/๒.วิถีแห่งอำนาจ จูหยวนจาง
๒๑๗/๓.วิถีแห่งอำนาจ ซูสีไทเฮา
๒๑๗/๔.วิถีแห่งอำนาจ หงซิ่วฉวน
๒๑๗/๕.วิถีแห่งอำนาจ แฮรี่ พอตเตอร์

ข่าวทั่วไปล่าสุด บล็อกล่างสุดค่ะ

เปิดบล็อก 1 มกราคม 2552



free counters
08.27 - 250811

207 flags collected 300316



Friends' blogs
[Add sirivinit's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.