"ยินดีต้อนรับสู่ บล็อกของคนใฝ่รู้ สำหรับผู้ใส่ใจใฝ่รู้ค่ะ" มีหลายหัวข้อเรื่องให้คุณอ่าน .. ขอบคุณที่มาเยี่ยมบล็อกค่ะ .. ขอจงมีแต่ความสุขกายสบายใจตลอดไปนะคะ
Group Blog
 
<<
กุมภาพันธ์ 2559
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
2829 
 
19 กุมภาพันธ์ 2559
 
All Blogs
 
“คดีพญาระกา” ตามรักตามแค้นสะท้านเมือง! ขบวนยุติธรรมเป็นอัมพาต บั่นทอนพระชนม์ชีพ ร.๕ !!

โดย โรม บุนนาค

 

 

“คดีพญาระกา” ตามรักตามแค้นสะท้านเมือง! ขบวนยุติธรรมเป็นอัมพาต บั่นทอนพระชนม์ชีพ ร.๕ !!

กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์

เมื่อต้นเดือนมิถุนายน ๒๔๕๓ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้เกิดคดีที่ทำให้สะท้านสะเทือนราชสำนักและวงการยุติธรรม นอกจากจะเป็นมรสุมครั้งร้ายแรงในชีวิตของคนหลายคน รวมทั้ง “พระบิดาแห่งกฎหมายไทย” และ “นายกรัฐมนตรีไทยคนแรก” แล้ว

ยังทำให้กระทรวงยุติธรรมและศาลถึงกับเป็นอัมพาต เพราะขาดบุคคลากรสำคัญตั้งแต่ระดับสูงสุดลงมาถึง ๒๙ ตำแหน่ง ที่สำคัญยังทำให้สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง  ทรงโทมนัสพระราชหฤทัยอย่างหนัก ก่อนจะเสด็จสวรรคตในอีกไม่กี่เดือนต่อมา

       คดีนี้เรียกกันว่า “คดีพญาระกา” ปรากฏอยู่ในเอกสารจดหมายเหตุของสมัยนั้นหลายแห่ง แต่ที่กล่าวไว้อย่างละเอียดอยู่ใน “ประวัติต้นรัชกาลที่ ๖” ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงบันทึกไว้ ตั้งแต่ครั้งยังดำรงพระยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร และทรงรับรู้เหตุการณ์โดยตลอด

       เหตุแห่งคดีสะท้านเมืองนี้เริ่มมาจากเรื่องเล็กๆ เมื่อนางละครคนหนึ่งชื่อ ภักตร์ ของคณะ “ละครนฤมิตร์” หรือ “ปรีดาลัย” อันโด่งดังของยุคนั้น ได้หนีออกจากวังพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงศ์ เจ้าของคณะละคร เมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๔๔๓

แจ้งสาเหตุกับตำรวจในภายหลังว่า เนื่องจากถูกตบตี ภักตร์อยู่วังนี้มาตั้งแต่อายุ ๑๓ ฝึกหัดละครจนโตขึ้นจึงได้เป็นนางละคร และได้เป็น “หม่อม” คนหนึ่งของกรมหมื่นนราฯ ด้วย

กรมหมื่นนราฯได้ออกติดตามหา จนมีชาวบ้าน ๑๘ รายรวมทั้งอำแดงพุด มารดาของภักตร์ ได้ร้องต่อกระทรวงนครบาลว่า กรมหมื่นนราฯ ได้พาข้าบริวารบุกรุกเข้ามาค้นในบ้านของตนจนได้รับความเดือดร้อน

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ได้มีพระราชดำรัสเตือนกรมหมื่นนราฯ อย่าได้ทำเอะอะเช่นนั้นอีก

       ภักตร์ต้องหลบไปอยู่ตามบ้านผู้มีบรรดาศักดิ์ให้ช่วยคุ้มครอง เช่นบ้านเจ้าพระยาภาสกรณ์วงศ์ (พร บุนนาค) และท่านผู้หญิงเปลี่ยน เป็นแห่งแรกชั่วคืนเดียว ครั้นวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน อำแดงพุด จึงพาภักตร์ไปที่โรงพักพลตระเวนวัดบุบผาราม

ร้องขออารักขาจะอยู่ที่โรงพักพลตระเวน จนกว่าคดีความกับกรมหมื่นนราฯ ที่ศาลจะจบ ทางโรงพักพลตระเวนได้แจ้งเรื่องให้กรมพระนครบาลทราบ เจ้าพระยายมราช เสนาบดีกระทรวงพระนครบาล จึงสั่งให้อารักขาไว้จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง

       ในวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน กรมหมื่นนราฯ ได้ไปพบเจ้าพระยายมราชที่กระทรวง ขออนุญาตไปพบภักตร์ที่โรงพักพลตระเวน เจ้าพระยายมราชไม่อนุญาต และทูลว่าได้วางตัวเป็นกลาง ที่อารักขาภักตร์ไว้นั้น ก็ในฐานะหม่อมของกรมหมื่นนราฯ

ต่อมาเจ้าพระยายมราช ได้มีจดหมายกราบบังคมทูลพระเจ้าอยู่หัวว่า ที่ไม่อนุญาตนั้น ก็เพราะเห็นว่ายังอยู่ในโทสะกันทั้งสองฝ่าย ถ้าไปเกิดเหตุวิวาทกันที่โรงพักพลตระเวน ก็จะเป็นที่เสื่อมเสีย ผู้คนจะครหานินทาเกรียวกราวมากขึ้นอีก

       เจ้าพระยายมราชทราบว่า มีผู้ถือท้ายพายหัวให้ภักตร์มาก จึงคิดจะเกลี้ยกล่อมให้ไปอาศัยอยู่ในวังกรมหลวงดำรงราชานุภาพ หรือวังกรมหมื่นราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ให้พ้นจากโรงพักพลตระเวน และให้ห่างจากพวกถือท้ายพายหัว

จะได้เกลี้ยกล่อมให้ทั้งสองฝ่ายตกลงกันได้ เมื่อได้กราบบังคมทูลเรื่องนี้แล้วก็ได้ปรึกษากรมหลวงดำรงราชานุภาพ และกรมหมื่นราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ถึงเรื่องที่จะฝากภักตร์ไว้

ทั้งสองพระองค์ก็ไม่รังเกียจ แต่กรมหลวงดำรงฯ เห็นว่าถ้าไปอยู่วังกรมหมื่นราชบุรีฯ ก็ดี เพราะเป็นเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม

       ครั้นวันที่ ๑ ธันวาคม เจ้าพระยายมราช ได้ข้ามไปที่โรงพักพลตระเวนบุบผาราม เรียกภักตร์มาพูดต่อหน้าแม่และป้า แนะนำให้กลับไปคืนดีกับกรมหมื่นนราฯ เรื่องโทษทัณฑ์นั้นจะขอกรมหมื่นนราฯ มิให้ลงโทษ

ภักตร์ไม่ยอม จะขอฟ้องร้องให้เด็ดขาด เจ้าพระยายมราชจึงว่าภักตร์จะอยู่ที่โรงพักพลตระเวนได้แค่ ๗ วัน ๑๕ วันเท่านั้น นานกว่านั้นไม่ได้ เมื่อไม่กลับไปอยู่วังกรมหมื่นนราฯ ก็มีอีก ๒ วังที่ว่าให้เลือก ภักตร์กับแม่สมัครใจไปอยู่วังกรมหมื่นราชบุรีฯ

       ระหว่างที่ภักตร์ไปอยู่วังกรมหมื่นราชบุรีฯ ก็ไม่ปรากฏว่ากรมหมื่นนราฯ ได้ติดตามไปแต่อย่างใด จนในเดือนมีนาคมต่อมา ภักตร์ก็มาลาไปอยู่ที่อื่น แต่จะไปอยู่ใดไม่ปรากฏ

       เรื่องของภักตร์กับกรมหมื่นนราฯ นั้น น่าจะจบตามคดีที่ยังอยู่ในศาล แต่กลับมีคดีใหม่ซ้อนขึ้นมาอีก และเป็นคดีที่รุนแรงจนถึงขั้นสะท้านสะเทือนเมือง

       กรมหมื่นนราธิปประพันธพงศ์นั้น ได้ลาออกจากราชการในตำแหน่งรองเสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๓๕ มาทำธุรกิจส่วนพระองค์ ทั้งทำนา ป่าไม้ รถไฟ รถราง ขุดคลอง

แต่ที่ทำให้ทรงมีชื่อเสียงโด่งดังจนถึงทุกวันนี้ ก็เพราะทรงเป็นผู้บุกเบิกละครร้องสลับพูดขึ้น โดยดัดแปลงมาจาก “บังสาวัน” หรือ “มาเลย์โอเปร่า” ที่เข้ามาแสดงในกรุงเทพฯ ได้รับเชิญให้ไปแสดงในวังหลวงหลายครั้ง ในชื่อคณะ “ละครนฤมิตร์”

ต่อมาได้สร้างโรงละครขึ้นที่วังพระองค์เอง ในชื่อ “โรงละครปรีดาลัย” เป็นที่ชื่นชอบของคนดูในยุคนั้นมาก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ก็เคยเสด็จพระราชดำเนินมาดูหลายครั้ง และทรงมีพระราชหัตถเลขาถึงกรมหมื่นนราฯ ลงวันที่ ๒๔ มกราคม ๒๔๕๑ ว่า

กรมนราธิป

ฉันขอขอบใจส่วนตัวและครอบครัว ที่เธอได้ต้อนรับในการไปดูละครวันนี้ เปนที่พอใจด้วยกันทั้งหมด

ฉันไปดูที่โรง มันออกจะเปนอย่างฝรั่งๆ แต่ใจเปนไทยแลเปนเจ้านาย เมื่อเห็นเล่นชอบใจเลยให้รางวัล ครั้นจะให้ในเวลานั้นมันก็ยุ่มย่าม

จึงส่งเงินมาให้ ๓๐๐ บาท สำหรับเธอจะได้ให้รางวัลตามแต่จะเห็นสมควร ไม่เฉพาะแต่เวลาที่ฉันไปดูสองคราว สำหรับให้ในการที่เธอฝึกได้ดังใจนี้ด้วย

สยามินทร์

       ในคราวเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ ๒ ใน พ.ศ.๒๔๕๐ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ได้เสด็จไปดูโอเปร่าเรื่อง “มาดามบัตเตอร์ฟลาย” และได้กลับมาเล่าเนื้อเรื่องให้กรมหมื่นนราฯ ฟัง

ซึ่งก็คือที่มาของละครเรื่อง “สาวเครือฟ้า” ของคณะปรีดาลัยที่โด่งดังในปี ๒๔๕๒ ต้องเปิดแสดงอยู่นานกว่าทุกเรื่อง และยังดังมาถึงวันนี้ เป็นทั้งภาพยนตร์และละครทีวี

       ในหนังสือประวัติและผลงานของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ได้ลงรายชื่อบทละครพระนิพนธ์ไว้ถึง ๑๒๗ เรื่อง และเรื่องที่เป็นต้นเหตุของคดีเขย่าเมืองในครั้งนี้ ก็คือ “ปักษีกรณัม เรื่องพญาระกา” ซึ่งมีเนื้อเรื่องว่า

       มีไก่ใหญ่ตัวหนึ่งชื่อ “พญาระกา” มีสมุนบริวารอยู่มากในท้องนา และเชื่อว่าตัวมีอำนาจจะเรียกดวงอาทิตย์ให้ขึ้นได้ตามประสงค์ ขณะที่พญาระกาพาบริวารหากินอยู่ในทุ่งนั้น

นางไก่ญี่ปุ่นซึ่งเป็นภรรยาของพญาระกาตัวหนึ่ง ไม่พอใจในตัวพญาระกา จึงแยกฝูงไปหาไก่หนุ่มๆ และพบไก่ชนตัวหนึ่งได้ร่วมสมัครสังวาสกัน นกเอี้ยงเห็นจึงไปบอกพญาระกา

พญาระกาได้ตามไปตีไก่ชนจนแพ้หนีไป ส่วนนางไก่ญี่ปุ่นเตลิดไปถึงบึงใหญ่ พบตาเฒ่านกกะทุงตัวหนึ่ง จึงไปขออาศัยอยู่ด้วย ยายเมียตาเฒ่านกกะทุงหึง คอยจ้องระวังอยู่

ห่านตัวหนึ่งมาบอกข่าวว่า พญาระกาผู้มีฤทธิ์กำลังพาสมุน ออกตามหานางไก่ญี่ปุ่นผู้เป็นเมีย ตาเฒ่ากับเมียกลัวเดือดร้อน จึงพานางไก่ญี่ปุ่นไปฝากไว้ในรังของพวกเหยี่ยว

พญาเหยี่ยวเป็นผู้มีปัญญาเห็นว่ารับไว้เองจะไม่ดี จึงพานางไก่ญี่ปุ่นไปถวายเจ้านกเค้าแมว

พญานกเค้าแมวเกิดต้องใจจึงเข้าหา แต่แรกนางไก่ญี่ปุ่นไม่ยอม บอกว่าตนเป็นผู้มีชาติตระกูลต่ำ ทั้งเสียเนื้อเสียตัวมาแล้ว พญาเค้าแมวว่าข้อนั้นไม่เป็นไร เพราะนกค้าแมวก็ชอบกินของโสโครกอยู่แล้ว

ในที่สุดนางไก่ญี่ปุ่นก็ยอม บทตอนนี้มีกล่าวใส่ความไว้ชัดมาก ว่าพญาเค้าแมวเป็นผู้ระเริงราคะ จนลืมความละอายหรือสะดุ้งต่อบาป เอาเมียของอาเป็นเมียได้

ฝ่ายนางนกเค้าแมวมเหสี พอรู้ว่าสามีได้กับนางไก่ญี่ปุ่นก็หึงจนถึงตีกัน พญาเค้าแมวเข้าข้างนางไก่ญี่ปุ่น ไล่ตีมเหสีจนกลับเข้ากกรัง

พญาเค้าแมวได้เรียกประชุมพันธมิตรพวกหากินกลางคืนด้วยกัน จัดเป็นกองทัพไปรบกับพญาระกา ให้ค้างคาวเป็นทัพฟ้า กบเป็นทัพเรือ นกเค้าแมวเป็นทัพบก

เมื่อทัพสองฝ่ายยกเข้าเผชิญหน้ากัน ใกล้ถึงเวลาจะรุ่งพอดี เมื่อพญาระกาขันตะวันก็ขึ้น ฝ่ายนกเค้าแมวเลยตาฟางเลยต้องเลิกทัพหนีไป

       กรมหมื่นนราฯ นิพนธ์ละครเรื่องนี้ เตรียมจะเข้าแสดงหน้าพระที่นั่ง และพิมพ์ออกจำหน่าย เมื่อนิพนธ์เสร็จในเดือนพฤษภาคม ๒๔๕๓ ทรงนำไปให้กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ วางช่วงการร้องสลับคำพูดให้

กรมหลวงชุมพรฯ อ่านแล้วเห็นว่าถ้อยคำในบทนั้นดูพิกลๆ อยู่ จึงปฏิเสธ แต่ได้ลอกคำร้องบางตอนไว้ แล้วให้ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคมอ่าน กรมหลวงประจักษ์ฯ อ่านแล้วก็นำไปถวายกรมหลวงราชบุรีฯ เลยได้เรื่อง

       กรมหลวงราชบุรีฯ สั่งให้คนไปหาบทละครเรื่องนี้ที่โรงพิมพ์มาได้ พออ่านแล้วก็ทรงกริ้วมาก ทั้งยังได้ทราบจากกรมหลวงประจักษ์ฯว่า ละครเรื่องนี้กำหนดจะแสดงในวังวันที่ ๓ มิถุนายน

พระเจ้าอยู่หัวได้อ่านบทละครนี้แล้ว แต่ไม่มีพระราชกระแสแต่อย่างใด ทำให้กรมหลวงราชบุรีฯ ทรงน้อยพระทัยว่าพระราชบิดาไม่เมตตาพระองค์ ปล่อยคนหมิ่นประมาทถึงเพียงนี้ ยังให้แสดงในวัง

ทรงเสียพระทัยจนไม่ได้บรรทมทั้งคืน รุ่งเช้าวันที่ ๓๑ พฤษภาคม รับสั่งให้ตามเจ้าพระยายมราชมาเฝ้า ประทานหนังสือพญาระกาให้ดู ทรงกรรแสงตรัสว่า เมื่อมีเหตุเช่นนี้ พระองค์คงจะอยู่ไม่ได้ ต้องออกจากตำแหน่ง

       เจ้าพระยายมราชทูลวิงวอนว่า ให้คิดเสียใหม่ให้รอบคอบ กรมหลวงราชบุรีว่าทรงตรองมาตลอดทั้งคืนแล้ว ไม่เห็นทางอื่นเลย ขอให้เจ้าพระยายมราชช่วยนำหนังสือพญาระกา ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระเจ้าอยู่หัวด้วย

ส่วนพระองค์จะต้องเสด็จไปให้พ้นกรุงเทพฯ เพราะถ้าพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบเรื่องแล้วเรียกให้เข้าเฝ้า ในขณะที่เต็มไปด้วยความโทรมนัสและโทสะ ก็อาจจะกราบบังคมทูลด้วยถ้อยคำที่ไม่บังควรได้

พอบ่ายวันที่ ๓๑ จึงได้เสด็จไปที่กระทรวงยุติธรรม เรียกประชุมข้าราชการชั้นผู้ใหญ่แจ้งเรื่องให้ทราบ แล้วเสด็จลงเรือไปประทับที่คลองรังสิต โดยไม่ได้ร่ำลาผู้ใด

พอวันที่ ๒ มิถุนายน ข้าราชการของกระทรวงยุติธรรม ๒๘ คน ตั้งแต่เจ้าพระยามหิธร (ลออ ไกรฤกษ์) ซึ่งขณะนั้นเป็นพระยาจักรปาณีศรีศิลวิสุทธิ์ ปลัดทูลฉลอง ขุนหลวงพระยาไกรสี (เทียม บุนนาค) อธิบดีคดีศาลต่างประเทศ

รวมทั้งหลวงประดิษฐ์พิจารณการ (ก้อน หุตะสิงห์) ผู้พิพากษา ซึ่งต่อมาก็คือ พระยามโนปกรณนิติธาดา นายกรัฐมนตรีไทยคนแรก ได้พร้อมใจกันทูลเกล้าฯถวายฎีกา ลาออกจากราชการตามกรมหลวงราชบุรี

สมเด็จพระพุทธเจ้าทรวง ทรงทราบด้วยความโทมมนัสพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่ง กล่าวกันว่า รับสั่งให้เขียนชื่อทั้ง ๒๘ คนนี้ ซึ่งทรงเรียกว่า “พวก ๒๘ มงกุฎ” ไว้ที่ปลายพระแท่นบรรทม และทรงสาปแช่ง

ขณะนั้นทรงมีเรื่องที่ทรงกังวลอยู่แล้ว ๒ เรื่อง คือเรื่องที่ดยุคแห่งเยอรมันจะเสด็จมาเยือน ต้องเตรียมจัดการในพระนครให้เรียบร้อย กับมีเรื่องคนจีนรวมหัวกันปิดร้านประท้วงในวันที่ ๑ มิถุนายนอีก

เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่ ๓ ซึ่งกระทบกระเทือนพระราชหฤทัยอย่างหนัก ซึ่งความจริงพระองค์ยังไม่เคยได้อ่านบทละครเรื่องนี้แต่อย่างใ

ในค่ำวันที่ ๑ มิถุนายน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีรับสั่งให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนสรรพสิทธิประสงค์ เสนาบดีกระทรวงวัง พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ เสนาบดีกระทรวงต่างประเทศ

เข้าเฝ้าทูลละอองพร้อมกันที่พระที่นั่งอัมพรสถาน มีพระราชดำรัสว่า พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ เสนาบดีกระทรวงยุติธรรม ได้ให้เจ้าพระยายมราชนำความกราบบังคมทูลว่า

พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงศ์ ได้แต่งบทละครเรื่องหนึ่งชื่อว่า “ปักษีกรณัม เรื่องพญาระกา” ว่ากล่าวเปรียบเทียบหมิ่นประมาทให้เสียพระนามและพระเกียรติ

พร้อมกับได้นำบทละคร ซึ่งเป็นเหตุแห่งคดีนี้ทูลเกล้าฯ ถวายด้วย ทรงพระราชดำริเห็นว่า คดีนี้จะต้องพิจารณาให้ได้ความจริง และต้องวินิจฉัยให้เห็นผิดชอบเด็ดขาด

จึงทรงโปรดกล้าฯ ให้กรมขุนสรรพสิทธิประสงค์ กรมหลวงเทววงศ์วโรปการ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ เป็นผู้พิพากษาศาลรับสั่ง เรียกกรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงศ์มาสอบถาม เอาความจริงขึ้นกราบบังคมทูล พร้อมด้วยความเห็นของผู้พิพากษาทั้ง ๓

       โปรดเกล้าฯ ให้หม่อมเจ้าจรูญศักดิ์ กฤดากร รองเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม รักษาการเสนาบดี และชี้แจงข้อผิดชอบให้ข้าราชการที่ลาออกทราบ

เมื่อข้าราชการเหล่านั้นได้รับทราบความจริง ต่างพากันสารภาพรับผิดที่ได้ทำไปอย่างวู่วาม จนเป็นเหตุให้เกิดความยุ่งยากขึ้นในวงราชการ คงมีแต่ขุนหลวงพระยาไกรสีผู้เดียวที่ไม่ยอมรับผิด

กลับทำหนังสือทูลเกล้าฯ ถวายตอบพระราชกระทู้ แก้ตัวด้วยโวหารหมอความ ซึ่งเป็นที่ขุนเคืองพระราชหฤทัยยิ่งนัก จึงโปรดเกล้าฯ ให้ลงพระราชอาญาขุนหลวงพระไกรสีเป็นตัวอย่าง

ปลดออกจากราชการ ทั้งให้ถอดบรรดาศักดิ์ด้วย ส่วนข้าราชการคนอื่นๆ ที่ลาออกตามกรมหลวงราชบุรีฯ ก็ทรงพระมหากรุณาพระราชทานอภัยให้กลับเข้ารับราชการทุกคน แต่เส้นทางในราชการก็คงไม่ราบรื่นเหมือนเดิม

       กรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงศ์ ได้เข้าให้การต่อศาลรับสั่ง รับว่าเป็นผู้เขียนบทละครเรื่องนี้ โดยดัดแปลงมาจากเรื่อง “ซองติแคลร์” ละครของฝรั่งเศสบทประพันธ์ของเอ็ดม็องต์ รสตองด์

ซึ่งอ่านมาจากหนังสือพิมพ์ “อิลลัสเตรเตดลอนดอนนิวส์” แก้ไขดัดแปลงให้ถูกรสนิยมของคนดูในเมืองไทย ไม่ได้เอาเรื่องของภักตร์ หม่อมละครที่หลบหนีมาเป็นท้องเรื่อง ดังที่กรมหมื่นราชบุรีฯ หาว่าเป็นการหมิ่นประมาท

       ผู้พิพากษาทั้ง ๓ เห็นว่า คดีนี้ไม่จำเป็นต้องเรียกบุคคลใด มาเป็นพยานอีก เพราะหลักฐานที่เกี่ยวกับคดีมีครบแล้ว จึงพร้อมกันตรวจหนังสือที่เป็นหลักฐานเหล่านี้

       ในหนังสือพิมพ์อินลัสเตรเตดลอนดอนนิวส์ ที่มีเรื่องเกี่ยวกับพญาระกา เป็นฉบับวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๔๕๒ ส่งเข้ามาถึงกรุงเทพฯประมาณวันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๔๕๓ มีเนื้อเรื่อง “ซองติแคลร์” ย่อๆ ว่า

       มีไก่ผู้ตัวหนึ่งชื่อ ซองติแคลร์ (แปลว่า เสียงใส) เป็นใหญ่ในฝูงไก่ที่เลี้ยงอยู่ในโรงนาแห่งหนึ่ง ซองติแคลร์เชื่อว่าตัวเองมีฤทธิ์ และเกิดมาสำหรับขันเรียกพระอาทิตย์ขึ้น

อยู่มาวันหนึ่งมีนางไก่ฟ้าทอง ถูกสุนัขไล่หนีมาในรั้วบ้านของชาวนา ซองติแคลร์เกิดความเสน่หา จึงเข้าไปแทะโลม

นางไก่ฟ้าทองก็หายินยอมพร้อมใจไม่ ซองติแคลร์จึงอวดว่า ตัวเองมีฤทธิ์เดชเรียกดวงตะวันได้ นางไก่ฟ้าทองก็ยังไม่ยอมเชื่อ

ต่อมาพวกสัตว์ที่หากินกลางคืน มีนกเค้าแมวเป็นต้น ได้มาประชุมกัน สัตว์พวกนี้เชื่อว่าซองติแคลร์ เป็นผู้ทำให้เกิดแสงสว่างเป็นกลางวัน ทำให้เสียผลประโยชน์ในการหาเลี้ยงชีพของพวกตน

จึงคบคิดกันว่าถ้ากำจัดซองติแคลร์ได้ ตะวันก็จะไม่ขึ้น พอดีซองติแคร์พานางไก่ฟ้าทองออกมาในเวลาใกล้รุ่ง พอซองติแคลร์ขันตะวันก็ขึ้นพอดี

พวกนกเค้าแมวทนแสงสว่างไม่ได้ก็หนีไป นางไก่ฟ้าทองยอมเชื่อว่า ซองติแคลร์มีฤทธิ์จริงอย่างที่ว่า จึงยอมเป็นเมีย

       กล่าวถึงนางไก่ต๊อก ผู้ชอบการสมาคม ได้เชิญนกต่างๆ ไปร่วมงานสโมสรสันนิบาตเป็นจำนวนมาก รวมทั้งนกยูง ซองตะแคลร์พานางไก่ฟ้าทองพร้อมครอบครัวและบริวารไปในงานนั้นด้วย

มีผู้กล่าวว่า น่าเสียดายที่นางไก่ฟ้าทอง ที่มีรูปโฉมงดงามไปสมสู่กับไก่สามัญอย่างซองตะแคลร์ ถ้าได้กับนกยูงจะสมกันกว่า

ซองตะแคลร์ได้ยินก็โกรธ และว่านกยูงนั้นก็ดีแต่รูปเท่านั้น แต่หาฤทธาศักดามิได้ ไก่ชนตัวหนึ่งจึงพูดว่า ซองตะแคลร์ก็ดีแต่ปากเหมือนกัน ไก่ทั้งสองจึงชนกันขึ้น

เนื่องจากไก่ชนตัวนั้นบอบช้ำจากสังเวียนอื่นมาก่อนแล้วจึงแพ้ ส่วนซองตะแคลร์แม้จะชนะแต่ก็บาดเจ็บมาก เผอิญเกิดพายุแรง นกอื่นๆ พากันตกใจอลหม่าน ซองตะแคลร์ได้เรียกครอบครัวและบริวารให้มาซุกใต้ปีกของตน

และขันขึ้นด้วยเสียอันดัง จำเพาะกับพายุผ่านพ้นไป ตะวันฉายแสงพอดี ทำให้นกทั้งปวงเชื่อมั่นในบุญญาภินิหารของซองตะแคลร์ และซองตะแคลร์ก็ยิ่งฮึกเหิมกำเริบฤทธิ์ยิ่งขึ้น

แต่นางไก้ฟ้าทองยังติดใจสงสัยอยู่ จึงหาโอกาสล่อซองตะแคลร์ไปไปเที่ยวป่า บำเรอจนซองตะแคลร์หลับไป นางไก่ฟ้าทองก็เฝ้าปรนนิบัติหลอกล่อให้นอนจนรุ่งสว่าง

นางไก่ฟ้าทองก็เห็นตะวันขึ้นเอง โดยซองตะแคลร์ไม่ได้ขันเรียก จึงปลุกซองตะแคลร์ขึ้น แล้วว่าซองตะแคลร์อวดอ้างเกินจริง จะอยู่ด้วยอีกไม่ได้ ว่าแล้วก็จากไปตามปรารถนาเสรีภาพและอยากเป็นอิสระแห่งตน

แต่ไม่ช้านางไก่ฟ้าทอง ก็ไปติดแร้วของนายพราน พรานนำไปขายให้ชาวนา นางไก่ฟ้าทองจึงต้องกลับมาอยู่ร่วมกับซองตะแคลร์อีก

       พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงอธิบายเรื่อง “ซองตะแคลร์” ไว้ว่า

       “...ผู้แต่งเขาตั้งใจให้เปนปกรณัม คือเรื่องเปรียบเทียบโดยทั่วๆไป ไม่ใช่ว่าเปรียบเทียบบุคคลผู้หนึ่งผู้ใดโดยจำเพาะ ไก่ตัวผู้เปรียบด้วยบุคคลที่เปนใหญ่ และมีเสียงเพราะ

ช่างพูดลวงคนโง่ๆให้หลงเชื่อว่ามีความสามารถ และความที่หลอกผู้อื่นเสียเคยตัว จนสุดท้ายตัวเอง ก็เชื่อความสามารถของตัวเองเสียด้วย ทั้งพะเอินเปนผู้โชคดี ทำอะไรมักจะพบแก่กาละ จึ่งไม่มีผู้ใดรู้เท่า

จนในที่สุดเมื่อหลงผู้หญิงจนเผลอตัว จึงเสียกลและผู้หญิงรู้ไส้ นางไก่ฟ้าทองเปรียบด้วยผู้หญิงที่ชอบเปนอิศระแห่งตน แต่เมื่อมีภัยเบียดเบียฬก็จำใจหนีไปพึ่งผู้มีบุญ

แต่ถึงได้ไปพึ่งเขาแล้ว ก็ยังไม่เต็มใจสละอิศระภาพของตน จนได้เห็นอภินิหารของผู้มีบุญนั้นจึ่งอดนิยมไม่ได้ เพราะโดยธรรมชาติย่อมนิยมชายที่เก่ง เพราะเหตุที่มีนิสัยเปนคนอวดดีและมีความอิจฉาติดสันดาน

หญิงนั้นจึ่งพยายามกระทำกลอุบายล่อลวง จนได้รู้ไส้ชายผู้ที่เลี้ยงตน แล้วก็จากนั้นเพื่อพรากไป จนไปประสพภยันตรายเข้าอีก จึ่งต้องกลับมาอยู่กับชายนั้นตามเดิม

นกเค้าแมวเปรียบด้วยผู้อิจฉาผู้มีบุญ และคิดประทุษร้ายผู้มีบุญ เพราะเข้าใจผิดคิดว่าเขาเปนผู้กีดขวางในทางหากินทุจริตของตน นกเอี้ยงได้แก่คนปากพลอด ช่างพูดตลบตแลง

สุนัขได้แก่ผู้พูดเสียงไม่เบา กระโชกกระชาก แต่มีใจสุจริต ไก่ต็อกได้แก่หญิงหัวประจบ และชอบมีงานเพื่อแสดงว่าตนเปนคนรู้จักกับคนสำคัญๆมาก นกยูงได้แกคนที่เย่อหยิ่ง งามแต่รูป ใจไม่กล้า

ไก่ชนได้แก่คนที่เปนนักเลงเกะกะ ก้าวร้าว ไม่มีใครนับถือ แต่บางทีเมื่อประสพโอกาสเหมาะ ก็ทำร้ายแก่ผู้มีบุญวาสนาได้บ้าง

       ดังนี้ก็เห็นได้ว่า ความมุ่งหมายของผู้แต่งเรื่อง “ซองตะแคลร์” เปนคนละอย่างกับความมุ่งหมายของผู้แต่งเรื่อง “พญาระกา” ทีเดียว รสตองด์แต่งเรื่องเปนปกรณัมเปรียบเทียบโดยทั่วไป มิได้เจาะจงที่ตัวผู้ใดๆ

แต่กรมนราธิปทรงแต่งขึ้น โดยว่าเปรียบเจาะจงตัวบุคคลทีเดียว จึ่งนับเปนหมิ่นประมาท”

       ผู้พิพากษาทั้ง ๓ ก็มีความเห็นในแนวเดียวกับที่ ร.๖ ทรงบันทึกไว้นี้ แม้ทั้ง ๒ เรื่องจะมีสิ่งที่เหมือนกันคือตัวละครเป็นสัตว์ต่างๆ แต่จุดมุ่งหมายของเรื่องต่างกัน

คนที่รู้เรื่องที่ภักตร์หนี ก็รู้ว่าเอาเรื่องของภักตร์มาแปลง แม้จะไม่ได้เอ่ยชื่อใครเลย แต่ก็เห็นได้ชัดเหมือนบุคคลเอาวัตถุซ่อนไว้ในถุงผ้าที่โปร่ง

นางไก่ญี่ปุ่นนั้นหมายถึงภักตร์ หม่อมละคร พญาเหยี่ยวหมายถึงเจ้าพระยายมราช และพญาเค้าแมวนั้น หมายถึงกรมหมื่นราชบุรีดิเรกฤทธิ์

ตามเรื่องที่กล่าวว่าพญาเค้าแมวรับนางไก่ญี่ปุ่นไว้ และทำชู้ด้วยนั้น เป็นการใส่ความซึ่งอาจจะทำให้เสียชื่อเสียง

ใช่แต่เท่านั้น ที่กล่าวว่าพญาเหยี่ยวเป็นเจ้าอุบายและมารยา ก็เป็นการหมิ่นประมาทเจ้าพระยายมราชด้วย แต่ในที่นี้พระยายมราชไม่ได้กล่าวฟ้อง จึงพิจารณาแต่ในส่วนที่เกี่ยวกับกรมหมื่นราชบุรีดิเรกฤทธิ์เท่านั้น

       ทางพิจารณาได้ความว่า เจ้าพระยายมราชเป็นผู้ขอร้อง ให้กรมหมื่นราชบุรีดิเรกฤทธิ์ช่วยรับภักตร์ไว้ กรมหมื่นราชบุรีฯ ก็ได้รับอารักขาโดยถือว่าเป็นหน้าที่ราชการ

เพื่อจะป้องกันความเสียหาย อันอาจจะเกิดแก่กรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงศ์เอง แต่กรมหมื่นนราฯ กลับหมิ่นประมาทกรมหมื่นราชบุรีฯ ด้วยแกล้งแต่งบทละครใส่ความให้เสียหายพระนามและเกียรติยศดังนี้

เป็นความผิดหนักขึ้นอีกขั้นหนึ่ง ผู้พิพากษาทั้ง ๓ จึงเห็นพร้อมกันว่า กรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงศ์ ควรรับพระราชอาญาจำขังไว้มีกำหนดปีหนึ่ง ตามกฎหมาย

ส่วนหนังสือปักษีกรณัม ที่กรมหมื่นราธิปประพันธ์พงศ์แต่ง เป็นต้นฉบับก็ดี หรือที่โรงพิมพ์ก็ดี ควรให้เผาไฟเสียให้สิ้นเชิง จึงทูลเกล้าฯ ถวายความเห็นดังนี

เมื่อทรงอ่านคำพิพากษาแล้ว สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ทรงพระราชดำริเห็นชอบด้วยตามคำพิพากษา มีพระบรมราชโองการในวันที่ ๘ มิถุนายน สั่งกรมขุนสรรพสิทธิประสงค์ เสนาบดีกระทรวงวัง

ให้ขังกรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงศ์ ไว้ในพระบรมมหาราชวัง มีกำหนด ๑ ปี การขังโปรดกล้าฯ ให้เป็นตามแบบเจ้านายที่ถูกขัง คือให้จัดที่ประทับ ณ ที่ทำการกระทรวงวัง

มีเจ้าหน้าที่คอยควบคุม แต่อนุญาตให้หม่อมและพระโอรสธิดาเข้าเยี่ยมได้เป็นเวลาตามควร

       หลังจากมีคำพิพากษาแล้ว เรื่องพญาระกาก็เงียบๆ ไป แต่กรมหมื่นราชบุรีฯก็ยังไม่เสด็จกลับกรุงเทพฯ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงมีพระราชดำรัสว่า ในเรื่องที่เกิดขึ้นนี้

ผู้ที่ผิดคนที่ ๑ คือ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ ซึ่งเป็นผู้แนะนำให้ภักตร์ไปอยู่วังกรมหมื่นราชบุรีฯ

ผู้ผิดที่ ๒ คือพระองค์เอง เพราะเจ้าพระยายมราช ได้กราบบังคมทูลให้ทรงทราบแล้วว่าจะจัดการอย่างไร แต่ทรงรู้สึกตะขิดตะขวงใจ

เพราะกรมหมื่นราชบุรีฯ เคยมีมลทินเรื่องผู้หญิงอยู่แล้ว อีกประการหนึ่งทรงนึกว่าเป็นการชั่วคราวและเร็ววัน กับอีกประการหนึ่งขณะนั้นกำลังทรงวุ่นเรื่องรับเจ้าฝรั่ง ไม่อยากจะกังวลในเรื่องอื่น

แต่ก็ไม่เห็นเหตุจำเป็นที่กรมหมื่นราชบุรีฯ ต้องอาละวาดเช่นนี้ ถ้ามากราบบังคมทูลฟ้องแล้วไม่ทรงชำระให้ ทูลลาออกก็ยังดี

นี่ไม่ฟังอีร้าค่าอีรมไปประชุมข้าราชการ เล่าเรื่องให้ฟังแล้วบอกว่าจะลาออก เปิดไปโดยไปไม่ลามาไม่ไหว้ นับว่าผิดธรรมเนียมไทยๆอยู่แล้ว

แต่ถ้าจะมองด้วยสายตาแบบใหม่ก็ยังไม่พ้นผิด ทรงมอบงานให้ไปทำ เมื่อจะไปก็ควรจะนำงานที่มอบให้มาส่งคืนเสียก่อน นี่พอเกิดเหตุก็ทิ้งงาน นับว่าไม่เห็นแก่งานหรือบ้านเมืองเลย

ไม่นึกถึงใครนอกจากตัวเอง ที่รู้สึกว่าเป็นคนสำคัญเสียจนเกินประมาณ เมื่อไปตรึกตรองแล้วก็จะเห็นว่าการที่ทำไปนั้นผิด แต่จะกลับเข้ามานั้นก็เป็นการยาก ยิ่งพวกข้าราชการที่ตั้งใจจะประจบนายลาออกตาม จะกลับมาก็ทำให้ยากเข้า

โดยเฉพาะนายเทียม ที่เป็นคนสนิทถูกปลดออก ก็ยิ่งทำให้กลับยากเข้าไปอีก การที่กรมหมื่นราชบุรีฯ ว่าถ้ากลับมาตอนนี้จะทำให้กระทรวงยุติธรรมเกิดชุลมุนขึ้น ทรงพระราชดำริว่าน่าจะจริง

จึงต้องนั่งคอยฤกษ์ นัยว่าจะให้ทรงง้อ เกณฑ์ไพร่พลโยธาออกไปรับกลับเข้าพระนคร เหมือนพระเจ้ากรุงสญชัยไปรับพระเวสสันดรนั้น ก็เพราะพระเจ้ากรุงสญชัยได้ขับไล่พระเวสสันดรไป แต่นี่ไม่ได้ไล่ ตึงตังวิ่งไปเอง จะให้ทรงทำอย่างเดียวกันได้อย่างไร

       ต่อมาในวันที่ ๑๖ มิถุนายน กรมหมื่นราชบุรีฯ ได้กลับมาอย่างเงียบๆ แล้วมีหนังสือทูลเกล้าฯ ถวาย ขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาสเข้าเฝ้าสัก ๒ ชั่วโมง เพื่อกราบบังคมทูลเรื่องราวต่างๆ ให้เป็นที่เข้าพระราชหฤทัย

เลยทำให้พระเจ้าอยู่หัวทรงกริ้วอีก รับสั่งว่ากรมหมื่นราชบุรี พูดเสมือนว่าทรงเข้าพระราชหฤทัยผิด หรือทรงเชื่อคนกราบบังคมทูลยุยงต่างๆ และการที่ขอเข้าเฝ้าโดยเฉพาะเช่นนั้น โดยที่ยังไม่ได้เข้าเฝ้าตามธรรมเนียม จึงไม่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เข้าเฝ้าตามขอ

ต่อมาในคืนวันที่ ๒๕ มิถุนายน สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ทรงเปิดเผยหนังสือที่กรมหมื่นราชบุรีฯ กราบทูลก่อนหน้าจะเกิดเรื่องนี้ราว ๔๐ วัน ว่าจะขอลาออกจากราชการ เนื่องจากทรงประชวรปวดพระเศียรเป็นกำลัง ทรงบรรยายอาการว่า

“...ทั้งรู้สึกว่าในสมองนั้นร้อนเผ็ด เหมือนหนึ่งโรยพริกแดงระหว่างมันสมองกับกระดูก...” จึงทำงานไม่ได้เต็มที่คุ้มเงินเดือน แต่ที่ไม่ได้นำหนังสือฉบับนี้มาเปิดเผย ทรงเห็นว่ายังไม่ถึงเวลา

บัดนี้จึงควรยกเอาข้อความประชวร ของกรมหมื่นราชบุรีขึ้นอ้าง ในฐานทรงพระเมตตาต่อกรมหมื่นราชบุรีฯ ยอมให้ออกจากตำแหน่งเสนาบดี โดยเหตุที่มีการประชวรนั้น

       ในที่สุดในวันที่ ๒๘ มิถุนายน กรมหมื่นราชบุรีฯ ก็ได้เข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัว หลังจากที่ได้มีหนังสือสารภาพผิด โดยไม่มีข้อแก้ตัวแต่อย่างไร และจะขอเข้าเฝ้าที่พระที่นั่งอภิเษกดุสิตทุกวัน นอกจากวันที่ป่วย ในการเข้าเฝ้าครั้งแรกนี้ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงมีพระราชดำรัสว่า

       “เจ้าได้คิดผิดไปมาก เชื่อฟังคนที่ไม่ควรจะเชื่อถือ จึงคิดและประพฤติไขว้เขวไปได้เป็นหนักหนา ควรที่จะได้บอกเหตุการณ์เสียแต่ขั้นต้น ฉันพ่อกับลูก แต่ข้าก็รู้อยู่ว่าเจ้าเป็นโรคจริงๆ จึ่งมีความเมตตาและให้อภัย”

       ครั้นวันที่ ๕ กรกฎาคม กรมหมื่นราชบุรีฯ ได้มีหนังสือกราบบังคมทูล ขอพระราชทานพระมหากรุณาให้กรมหมื่นนราฯ ได้พ้นโทษ ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานโทษ กรมหมื่นนราฯ จึงได้กลับวังในวันรุ่งขึ้น

       เรื่องราว “คดีพญาระกา” ก็น่าจะจบลงตรงนี้ แต่ยังมีคน “ถูกหวย” ในเรื่องนี้อีกราย กลายเป็น “บุคคลต้องห้าม” ของราชสำนักทั้งครอบครัว

       ทั้งนี้มีเหตุให้เชื่อได้ว่า เหตุการณ์ยุ่งเหยิงต่างๆ นี้ มีกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคมเป็นผู้ยุยงต่างๆ นานา เพราะมีความแค้นเก่ากับกรมหมื่นนราฯ ได้นำความเรื่องพญาระกาไปบอกกรมหมื่นราชบุรีฯ

ทั้งยังบอกว่าพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงอ่านบทแล้ว จะแสดงในวังวันที่ ๓ และในวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ที่หม่อมเจ้าหญิงอรทิพย์ประพันธ์ พระธิดาของกรมหมื่นนราฯ ได้นำหนังสือเข้าไปทูลเกล้าฯ ถวายหลายเล่ม

รวมทั้งบทละครเรื่อง “พญาระกา” ด้วยเล่มหนึ่ง หม่อมเจ้าไศลทอง โอรสกรมหลวงประจักษ์ฯ ก็อยู่ที่นั่นด้วย ซึ่งมีพฤติกรรมที่น่าสงสัย ชอบจดบันทึกในขณะที่เฝ้าหลายครั้งแล้ว และกำลังถูกจับตาอยู่

จึงน่าจะเป็นต้นเรื่อง ที่กรมหลวงประจักษ์ฯ ได้ไปทูลกรมหมื่นราชบุรีฯ ครั้นจะให้อยู่ต่อไปก็คงหาเรื่องมายุแยงอีก จึงมีพระบรมราชโองการสั่งเสนาบดีกระทรวงวังและสมุหราชองครักษ์

ห้ามกรมหลวงประจักษ์ฯ มิให้เข้าเฝ้าในที่รโหฐาน ให้เฝ้าได้แต่ในท้องพระโรงหรือในที่มีผู้เฝ้าอยู่มาก ห้ามหม่อมเจ้าไศลทองโดยเฉพาะ มิให้เข้าในเขตพระราชฐาน

และห้ามหม่อมเจ้าหญิงชายอื่นๆ ในกรมหลวงประจักษ์ฯ มิให้ขึ้นสู่พระราชมณเฑียร ตั้งแต่ในวันนั้นเป็นต้นไป

       “คดีพญาระกา” ซึ่งความจริงต้นเหตุ มาจากเรื่องภายในครอบครัวเท่านั้น แต่กลับเป็นเรื่องสะท้านเมือง เขย่าวงการยุติธรรมในยุคเริ่มต้นปรับปรุงเสียจนคลอนแคลน

ที่สำคัญกระทบกระเทือนพระราชหฤทัย สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงอย่างหนัก ทรงมีพระราชหัตถเลขา พระราชทานสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชไว้ตอนหนึ่งว่า

       “ความเจ็บช้ำน้ำใจของพ่อครั้งนี้เปนที่สุด แต่หากเปนคนใจแขงแลค้าขันติมาเสียจนเคยแล้ว จึ่งไม่เศร้าโศกเกินไปจนกินไม่ได้นอนไม่หลับ รอนชีวิตอย่างแรง

แต่ถึงดังนั้นก็เปนเครื่องทำให้หมกมุ่นขุ่นหมองมาก ส่วนที่ต้องบำเพ็ญสันติราชธรรมนั้นเล่า ก็เปนภาระอันหนักเหลือที่จะหนัก ถึงว่าความอดกลั้นสองอย่างนี้ไม่มีกำลังกล้าพอ ที่จะทำลายชีวิตและความดำรงหน้าที่ให้เสื่อมสูญโดยเร็วก็จริง

แต่ทำให้ชีวิตพ่อหรอเข้าไปเปนอันมาก ถ้าจะมีเครื่องวัดจะเห็นว่าแก่ลงเพราะเรื่องนี้ได้เปนอันมาก”

       ส่วนเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ พระบรมโอรสาธิราช ซึ่งได้ขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ ๖ ในวันที่ ๒๓ ตุลาคมปีนั้น ได้ทรงบันทึก “ประวัติต้นรัชกาลที่ ๖” ในหน้าสุดท้ายไว้ว่า

       “ส่วนคดี “พญาระกา” และเหตุการณ์อันต่อเนื่องกับคดีนั้น ได้ให้ผลร้ายเปนอเนกประการ ประการ ๑ ฉันรู้สึกว่าได้เปนเครื่องทอนพระชนมายุทูลกระหม่อมส่วน ๑ เปนแน่แท้

อีกประการ ๑ ได้ทำให้กิจการในกระทรวงยุติธรรม ยุ่งเหยิงเปนที่น่ารำคาญใจฉันต่อมาอีกหลายปี ดังฉันได้แถลงมาแล้วข้างต้นๆ แห่งสมุดล่มนี้ และจะได้แถลงต่อไปอีกข้างน่าด้วย”



“คดีพญาระกา” ตามรักตามแค้นสะท้านเมือง! ขบวนยุติธรรมเป็นอัมพาต บั่นทอนพระชนม์ชีพ ร.๕ !!
กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์


“คดีพญาระกา” ตามรักตามแค้นสะท้านเมือง! ขบวนยุติธรรมเป็นอัมพาต บั่นทอนพระชนม์ชีพ ร.๕ !!
เจ้าพระยาภาสกรณ์วงศ์และท่านผู้หญิงเปลี่ยน


“คดีพญาระกา” ตามรักตามแค้นสะท้านเมือง! ขบวนยุติธรรมเป็นอัมพาต บั่นทอนพระชนม์ชีพ ร.๕ !!
เจ้าพระยายมราช


“คดีพญาระกา” ตามรักตามแค้นสะท้านเมือง! ขบวนยุติธรรมเป็นอัมพาต บั่นทอนพระชนม์ชีพ ร.๕ !!
กรมพระยาดำรงราชานุภาพ


“คดีพญาระกา” ตามรักตามแค้นสะท้านเมือง! ขบวนยุติธรรมเป็นอัมพาต บั่นทอนพระชนม์ชีพ ร.๕ !!
กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม

ขอบคุณ MGR Online 

คุณโรม บุนนาค

ศุกรวารสิริสวัสดิ์ค่ะ




Create Date : 19 กุมภาพันธ์ 2559
Last Update : 19 กุมภาพันธ์ 2559 12:49:22 น. 0 comments
Counter : 1291 Pageviews.

sirivinit
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 224 คน [?]





/



2558

2556

2555

น้ำใจจากคุณ krittut 2554

2553


สิริสวัสดิ์วรวาร
เปรมปรีดิ์มานรื่นรมณีย์นะคะ ยินดีต้อนรับ
สู่บล็อกของคนใฝ่รู้ สำหรับผู้ใส่ใจใฝ่รู้ค่ะ

เชิญอ่านตามสบายนะคะ
มีดีๆให้คุณได้ทราบหลากหลายค่ะ

๑ - ๑/๑ ฉันรักในหลวง
๒.๓.๑๐.๑๕.๓๐.๒๔.๕๙.๖๓.๙๐.ธรรมะ
๔ - ๔/๑ รวมพลคนดัง
๕. ศาสนาพุทธสุดประเสริฐ
๖. ความรู้ทั่วไปในศาสนาพุทธ
๗. ๑๖. ประวัติศาสตร์
๘ - ๙/๑ ไม้ดอก ไม้ใบ
๑๑ - ๑๑/๑ เกม
๑๒.๓๗.๔๐-๔๓.๕๓.๗๕.๘๖.ศิลปะเทศ
๑๔ - ๑๔/๑. ๒๐๘. ข่าวคนดังเทศ
๑๘. ๑๙. ๒๒. ราชวงศ์ไทย
๒๐.๑๑๖-๑๑๖/๒ ๑๙๐-๑๙๐/๘ ละคร ทีวี
๒๑. ๓๑. ๒๐๘. ราชวงศ์เทศ
๒๔. นักเขียนไทย
๒๔/๑. กลอนชั้นบรมครู
๒๙/๑-๒๙/๔โปสการ์ดจากเพื่อนบล็อก
๓๓. สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
๓๙.๑๘๑-๑๘๑/๗ สุธาโภชน์รสเลิศล้ำ
๔๑.๔๒.๕๐.๕๘.๖๐.๖๑.๘๖.มหาวิหาร
๕๗. ปราสาท พระราชวัง คฤหาสน์เทศ
๖๒. วัด
๖๕ - ๖๕/๑ การ์ตูน
๖๕/๒. นิทานเซน
๖๗. ความตายมาพรากให้จากไป
๖๙ - ๖๙/๒ สารพัดสัตว์
๗๔. สุนัข
๗๖. อุทยานสวรรค์
๗๗. ซูเปอร์แมน - แบทแมน
๗๘ - ๘๓. แสตมป์สะสม
๘๕-๘๕/๑ หนังสือสะสม
๘๗ - ๘๗/๒ ๒๑๕ ข่าวกีฬา
๘๙. ๘๙/๑ จีนแผ่นดินใหญ่
๙๐/๑ .ทิเบต
๙๑. จันทร์สูริย์ดารา
๙๒. สมเด็จพระปิยมหาราชเจ้า
๙๓ - ๙๓/๒ ภาพยนตร์
๙๔ - ๙๔/๓ ยานยนต์
๙๕ - ๙๕/๑ ดูดวง
๙๖ - ๙๖/๑ . ๒๑๑ วิทยาศาสตร์
๙๗ - ๙๗/๑.๒๐๙ แวดวงวรรณกรรม
๙๘. ภาพพุทธประวัติ
๙๙. ๑๒๗ - ๑๒๗/๑ ดนตรี
๑๐๑. ป้าย R สะสม
๑๐๒. บัตรภาพตราไปรฯสะสม
๑๐๓. DIY
๑๐๗/๑ เล่าเรื่องเมืองญี่ปุ่น
๑๐๘ - ๑๐๘/๑ หนังสือ
๑๑๓ - ๑๑๓/๑ บ้านสวย
๑๑๕. พระเครื่อง
๑๒๐. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
๑๒๓. เจ้าฟ้าเพชรรัตน์ฯ
๑๒๕. เหรียญที่ระลึก
๑๒๕/๑ เหรียญสะสมต่างประเทศ
๑๒๕/๒ เหรียญที่ระลึกจังหวัด
๑๒๕/๓ ธนบัตรที่ระลึก
๑๒๕/๔ บัตรโทรศัพท์
๑๒๕/๕ กล่องไม้ขีด และอื่นๆ
๑๓๑.เรื่องสั้นชั้นครู"เจียวต้าย"
๑๖๔.บล็อกพิเศษ วันเดียวอั๊พ 100
เอนทรี่ ให้คุณป้า"ร่มไม้เย็น"ชม
๑๙๐/๓ เรื่องย่อละคร
๑๙๓. คดีเขาพระวิหาร
๒๑๒. ศิลปะ
๒๑๗. วิถีแห่งอำนาจ บูเช็กเทียน
๒๑๗/๑.วิถีแห่งอำนาจ เจงกิสข่าน
๒๑๗/๒.วิถีแห่งอำนาจ จูหยวนจาง
๒๑๗/๓.วิถีแห่งอำนาจ ซูสีไทเฮา
๒๑๗/๔.วิถีแห่งอำนาจ หงซิ่วฉวน
๒๑๗/๕.วิถีแห่งอำนาจ แฮรี่ พอตเตอร์

ข่าวทั่วไปล่าสุด บล็อกล่างสุดค่ะ

เปิดบล็อก 1 มกราคม 2552



free counters
08.27 - 250811

207 flags collected 300316



Friends' blogs
[Add sirivinit's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.