"ยินดีต้อนรับสู่ บล็อกของคนใฝ่รู้ สำหรับผู้ใส่ใจใฝ่รู้ค่ะ" มีหลายหัวข้อเรื่องให้คุณอ่าน .. ขอบคุณที่มาเยี่ยมบล็อกค่ะ .. ขอจงมีแต่ความสุขกายสบายใจตลอดไปนะคะ
Group Blog
 
<<
มีนาคม 2559
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
4 มีนาคม 2559
 
All Blogs
 
ราชทูตอังกฤษลาออกมาขอรับราชการไทย เป็นคนโปรด ร.๕ หลานปู่เป็นองคมนตรี ร.๙ !!!

 

ราชทูตอังกฤษลาออกมาขอรับราชการไทย เป็นคนโปรด ร.๕ หลานปู่เป็นองคมนตรี ร.๙ !!!
เฮนรี อาลาบาสเตอร์

ชาวต่างชาติหลายรายที่เข้ามาใช้ชีวิตในเมืองไทย แล้วเกิดความประทับใจจนยึดเอาประเทศไทยเป็นเรือนตาย รายหนึ่งถูกส่งมาทำงานในสถานกงสุลอังกฤษประจำกรุงเทพฯ เคยรับหน้าที่ถึง “รักษาการแทนกงสุล”

แต่เกิดขัดใจกับกงสุลตัวจริง จึงลาออกกลับไปบ้าน แล้วกลับเข้ามาขอรับราชการไทย มีความรู้ความสามารถหลายด้าน จนเป็นคนโปรดสมเด็จพระปิยมหาราช สร้างผลงานไว้หลายอย่าง

และสืบเชื้อสายเป็นตระกูลดังของเมืองไทย หลานปู่เป็นองคมนตรีในรัชกาลปัจจุบัน

       ชาวอังกฤษต้นตระกูลไทยรายนี้ ก็คือ นายเฮนรี อาลาบาสเตอร์ ซึ่งเดินทางเข้ามาประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๙ ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ขณะที่มีอายุเพียง ๒๐ ปีเศษ โดยรัฐบาลอังกฤษสมัยควีนวิคตอเรียส่งเข้ามาเรียนภาษาไทย
เพื่อจะให้กลับไปเป็นล่ามสำหรับทางราชการอังกฤษ

ก่อนหน้านั้นนายอาลาบาสเตอร์ก็ร่ำเรียนวิชามาหลายแขนง ทั้งด้านอักษรศาสตร์ กฎหมายระหว่างประเทศ วิศวกรรมศาสตร์ วิชาแผนที่ วิชาก่อสร้าง และพฤกษศาสตร์

เมื่อรู้ภาษาไทยใช้ได้แล้ว ก็เข้าประจำอยู่ในสถานกงสุลอังกฤษที่กรุงเทพฯ เพื่อฝึกภาษาให้คล่อง แต่นายอาลาบาสเตอร์เป็นคนที่มีน้ำใจ เข้าช่วยเหลือราชการไทยหลายอย่าง เช่น การสำรวจแนวตัดถนนเจริญกรุง เป็นต้น

       ในคราวตามเสด็จพระราชดำเนินไปดูสุริยุปราคาที่หว้ากอ ประจวบคีรีขันธ์ ในวันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๔๑๑ นายอาลาบาสเตอร์ ดูจะมีความประทับใจเป็นพิเศษ ตอนนั้นรับหน้าที่รักษาการกงสุลอังกฤษแทนนายโทมัส ยอร์ช น็อกซ์ ซึ่งกลับไปเยี่ยมบ้าน

คณะของเขาได้รับเชิญให้เดินทางไปด้วยเรือรบหลวง ที่ดีที่สุดของไทย และทรงต้อนรับโดยการยิงสลุตด้วยพระองค์เอง ซึ่งทำให้นายอาลาบาสเตอร์ถือว่าเป็นเกียรติยศอย่างใหญ่หลวง ที่พระราชทานให้

ทั้งเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ เสนาบดีกลาโหม ยังต้อนรับคณะของเขาเหมือนเครือญาติ ให้ร่วมพักในที่พักของท่าน

       แต่หลังจากนั้นไม่นาน นายอาลาบาสเตอร์ มีเรื่องขัดแย้งกับเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ในด้านงาน จนถึงนายอาลาบาสเตอร์ ซึ่งยังรักษาการกงสุลอยู่ได้สั่งลดธงที่หน้าสถานกงสุลอังกฤษลง ซึ่งสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเล่าไว้ “ในความทรงจำ” ว่า

       “เรื่องกงสุลอังกฤษลดธงนั้น ตัวกงสุลเยเนอราลอังกฤษชื่อน๊อกซ์ เวลานั้นไปยุโรปกลับมายังไม่ถึงกรุงเทพฯ ผู้รักษาการแทนชื่ออาลบาสเตอร์ ที่เป็นผู้ตั้งวิวาท เกิดเหตุด้วยพวกเจ้าภาษีฝิ่น

ซึ่งขึ้นอยู่ในเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ไปจับฝิ่นเถื่อนที่โรงก๊วนพวกงิ้ว อยู่ริมวัดสัมพันธวงศ์ เกิดต่อสู้กันไฟไหม้โรงก๊วน แล้วลุกลามไปไหม้ตึกที่พวกแขกในบังคับอังกฤษตั้งร้านขายของ ทรัพย์สินเสียไปเป็นอันมาก

กงสุลอังกฤษหาว่า ความเสียหายเกิดเพราะพวกเจ้าภาษีเผาโรงก๊วน จะให้ลงโทษและเรียกค่าเสียหายทดแทนให้พวกแขก ฝ่ายเจ้าภาษีฝิ่นแก้ว่า ไฟไหม้เพราะพวกงิ้วจุดเผาโรงก๊วน เมื่อจะหนีออกทางหลังโรง

เจ้าภาษีหาได้เผาโรงก๊วนไม่ กงสุลไม่เชื่อจะให้รัฐบาลตั้งข้าหลวงไต่สวนด้วยกันกับกงสุล ตามข้อสัญญาว่าด้วยคนในบังคับ ๒ ฝ่ายวิวาทกัน เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ไม่ยอม ว่ากรณีไม่ตรงกับข้อสัญญา

เพราะเจ้าภาษีฝิ่นมิได้วิวาทกับแขกในบังคับอังกฤษ รับแต่จะให้เงินทดแทนพวกแขกเพียงเท่าทุนทรัพย์ที่ไฟไหม้ กงสุลไม่ยอม จึงเกิดวิวาทกัน

เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์รู้ว่า นายน๊อกซ์กับนายอาลบาสเตอร์ไม่ชอบกันในส่วนตัว โต้แย้งถ่วงเวลาไว้จนนายน๊อกซ์กลับมาถึง แล้วพูดจากันฉันมิตร ให้เห็นว่าที่เอากรณีเล็กน้อยเพียงเท่านั้นเป็นเหตุให้เกิดวิวาท

เฉพาะในเวลาบ้านเมืองกำลังฉุกเฉินด้วยเปลี่ยนรัชกาล จะเสียประโยชน์ของรัฐบาลทั้ง ๒ ฝ่าย นายน๊อกซ์เห็นชอบด้วยยอมถอนคดีนั้น

ส่วนเรื่องลดธง นายอาลบาสเตอร์ชึ้แจงว่า ที่จริงนั้นเป็นด้วยเชือกชักธงขาด จึงมิได้ชักธงในวันที่เตรียมการต่อเชือก หาได้ลดธงในทางการเมืองไม่ แต่เมื่อแพ้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ นายอาลบาสเตอร์ก็ลาออกจากตำแหน่ง กลับไปยุโรป...”

       ต่อมาในวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๔๑๕ สมัยรัชกาลที่ ๕ เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์เป็นผู้สำเร็จราชการ นายเฮนรี อาลาบาสเตอร์ก็กลับเข้ามาเมืองไทยอีกเป็นการส่วนตัว

ทางการไทยไม่ได้สนใจเรื่องที่เคยขัดแย้งกับนายอาลาบาสเตอร์ และไม่ได้กล่าวถึงเรื่องนี้อีก ต่อมานายอาลาบาสเตอร์ขอเข้ารับราชการไทย ซึ่งความรู้หลายแขนงของเขาได้ช่วยพัฒนาเมืองไทย ในระยะหัวเลี้ยวหัวต่อที่ปรับตัวเข้ารับอารยธรรมตะวันตกในสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้อย่างมาก

ทั้งการสำรวจตัดถนนสายปากน้ำ การก่อสร้างต่างๆ การจัดสวนพระราชอุทยานสราญรมย์และปทุมวัน ค้นคว้ารวบรวมกฎหมาย รวมทั้งงานอื่นๆ อีกหลายแขนง โดยพบพระราชหัตถเลขาสั่งการเกี่ยวกับนายอาลาบาสเตอร์ไว้มาก อาทิเช่น

       ถึง มิสเตอร์อาลบาสเตอร์


       ด้วยเราอยากจะทราบราคาเรือเหล็กเป็นป้อมดังรูปที่ส่งมาด้วย กว้างสัก ๑๒๐ ฟิตถึง ๑๓๐ ฟิต ให้กินน้ำเมื่อบรรทุกของพร้อมเพียง ๘ ฟิต ให้มีอาวุธปืน ๓๘ ตัน ๒ บอก ปืนแกตลิงกัน ๔ บอก แต่ให้มีฝีท้าวสัก ๑๒ นอด ดังนี้จะเป็นราคาทั้งลำประมาณสักเท่าใด ขอให้ถามดูที่เมซันให้ทราบ

       จดหมายมา ณ วัน ๗ แรม ๒ ค่ำ เดือน ๘ ปีฉลูนพศก ๑๒๓๙

       (พระบรมนามาภิไธย)** Chulalonkorn R.S.

(** สงสัยมากว่า เหตุใดจึงไม่ใช้ พระบรมปรมาภิไธย .. จขบ.)

        รัชกาลที่ ๕ ทรงสร้างพิพิธภัณฑ์แห่งแรกขึ้นใน พ.ศ. ๒๔๑๕ ที่หอคองคอเดีย หรือศาลาสหทัยสมาคม ในพระบรมมหาราชวัง งานนี้ก็เป็นภาระของนายเฮนรีอีกเช่นกัน

เพื่อเตรียมต้อนรับนายพลแกรนท์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ที่จะมาเยี่ยมเมืองไทยโดยทางเรือเมล์ ทรงมีพระราชหัตถเลขาสั่งการว่า

       ร. ที่ ๑๓ /๔๐


       ให้มิสเตอร์อาลบาสเตอร์กับจมื่นสราภัย แลทหารกำปนีอินชะเนีย ช่วยกันจัดการในมิวเซียมให้เยเนอราลแกรนต์ดู เมื่อจะต้องการของสิ่งใดมาตั้ง ก็ให้เรียกเอาแต่เจ้าพนักงานนั้นๆ ตามพนักงาน ให้เจ้าพนักงานส่งสิ่งของนั้นมาตั้งตามเคยเหมือนอย่างแต่ก่อน

       สั่งมา ณ วัน ๕ แรม ๔ ค่ำ ปีเถาะ ยังเป็นสัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๒๔๐

      ( พระบรมนามาภิไธย) Chulalonkorn R.S.

       งานเริ่มต้นการไปรษณีย์ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กับเจ้าหมื่นเสมอใจราช เป็นผู้รับผิดชอบ แต่ก็ต้องถึงนายเฮนรี อาลาบาสเตอร์อีกเช่นกัน ดังพระราชหัตถเลขาถึงเจ้าฟ้าภาณุรังษีฯ ตอนหนึ่งว่า

       “ถึงท่านเล็ก ด้วยเธอจดหมายส่งหนังสือมีไป แลมิสเตอร์อาลบาสเตอร์มีมา เรื่องที่จะชวนให้มาช่วยการในกรมไปรษณีย์นั้น ได้ทราบแล้ว
       ซึ่งมิสเตอร์อาลบาสเตอร์จะรับไปช่วยการวันละสองชั่วโมงนั้น เห็นว่าพอจะได้การมากอยู่แล้ว เธอต้องคิดวางผู้คนที่จะทำการให้เป็นได้ทำการจริงแล้ว การก็คงจะตลอดไปได้”

       นายอาลาบาสเตอร์คงต้องแบกงานไว้มาก จึงจัดเวลาไปช่วยวางรากฐานการไปรษณีย์ไทยได้เพียงวันละ ๒ ชั่วโมงเท่านั้น

       ไม่แต่นายเฮนรี อาลาบาสเตอร์จะทำให้เป็นที่พอพระราชหฤทัยเท่านั้น แหม่มอาลาบาสเตอร์ก็เช่นกัน ดังได้ทรงมีพระราชหัตถเลขาไปถึง มีความว่า

       ถึง แหม่มอาลบาสเตอร์

       ด้วยพระองค์เจ้ากาพย์กนกรัตน์ได้นำรูปเขียน รูปลำคลองลัดซึ่งเป็นของแหม่มเขียนเองมาให้ ฉันได้รับแล้ว แลรูปเขียนนี้เมื่อก่อนฉันได้เห็นก็นึกชอบใจมาก ด้วยเป็นรูปถิ่นฐานบ้านเมืองของเรา แลฝีมือเขียนต้นไม้แลลำน้ำงามนัก

แล้วพระองค์กาพย์ได้นำรูปที่แหม่มเขียนที่ต่างๆ มาให้ดู ฉันชอบใจรูปอ่างศิลาแลเกาะสีชัง เห็นว่าเขียนงามแลเหมือนที่นั้นจำได้ถนัดทีเดียว

พระองค์กาพย์บอกว่าแหม่มจะให้อีก ฉันต้องขอตอบขอบใจแหม่มมาก แลรูปที่ให้มานั้นคงจะเป็นสิ่งของที่รักษาสืบไป แลยังไว้ใจว่ารูปเกาะบางปะอินซึ่งแหม่มจะเขียนต่อไปนั้น คงจะยิ่งดีขึ้นไป จดหมายมา ณ วัน ๓ แรม ๑๒ ค่ำ เดือน ๘ ปีชวด อัฐศก ๑๒๓๘

       (พระบรมนามาภิไธย) จุฬาลงกรณ์ ป.ร.

       พระยามหาอำมาตยาธิบดี (เส็ง วิรยศิริ) ได้เขียนไว้ในเรื่อง“มูลเหตุจัดการกรม ไปรษณีย์โทรเลข พ.ศ. ๒๔๔๒” กล่าวถึงมิสเตอร์เฮนรี อาลาบาสเตอร์ ไว้ว่า

       “ถึงต้นรัชกาลที่ ๕ ปรากฏว่ามีฝรั่งชาวอังกฤษ ชื่อมิสเตอร์เฮนรี อาละบาสเตอร์ ผู้หนึ่ง ซึ่งเคยรับราชการอังกฤษตำแหน่งราชทูตในราชสำนักไทย แล้วลาออกมารับราชการไทย

มาถึงสมัยข้าพเจ้ารับราชการเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๕ ได้เคยเป็นครูข้าพเจ้า ข้าพเจ้ารู้จักดีตลอดทั้งครอบครัว แลบุตรของเขาได้รับราชการกระทรวงมหาดไทยถึงเป็นตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลก็มี

มิสเตอร์อาละบาสเตอร์นั้นเป็นคนอังกฤษแท้ รูปร่างสันทัด ตาเหล่เล็กน้อย เป็นผู้มีวิชาความรู้ดี เมื่อมีพระราชกิจในรัชกาลที่ ๕ อย่างไร ข้าพเจ้าได้ทราบว่ามีรับสั่งให้หาเขาเข้าไปเฝ้าเนืองๆ

เขาชำนาญการกฎหมายนานาประเทศ การเมืองต่างประเทศ โบราณวัตถุ เมื่อเวลาข้าพเจ้ารู้จักเขานั้น ได้จัดตั้งพิพิธภัณฑ์ที่หน้าประตูพิมานไชยศรี ตรงที่ศาลาสหทัยหลังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

บัดนี้เรียกกันว่ามิวเซียม และเข้าใจกันว่าเป็นมิวเซียมแรกในเมืองไทยเรา ตั้งสำนักงานของเขาที่นั้น ข้าพเจ้าสังเกตดู พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ โปรด และทรงนับถือมิสเตอร์อาละบาสเตอร์มาก

ข้าพเจ้าเคยเห็นในเวลาเสด็จพระราชดำเนินผ่านไปถึงหน้าสำนักงานของเขา เช่นเวลาเสด็จประพาสวัดพระศรีรัตนศาสดาราม มิสเตอร์อาละบาสเตอร์ลงไปเฝ้าถวายความเคารพ

เป็นหยุดกระบวนเสด็จ หยุดพระราชยาน รับสั่งทักทายปราศรัยมิสเตอร์อาละบาสเตอร์ทุกครั้ง เป็นเกียรติยศซึ่งข้าพเจ้าไม่เคยเห็นพระราชทานแก่ผู้ใด”

       นายเฮนรี อาลาบาสเตอร์รับราชการไทยได้เพียง ๑๐ ปีเศษ ก็เกิดป่วยเป็นอัมพาตอย่างกะทันหัน ขากรรไกรแข็งพูดไม่ได้ เพียง ๒ วันก็สิ้นใจในวันที่ ๘ สิงหาคม ๒๔๒๗

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงเสียพระทัยมาก มีพระราชหัตถเลขาถึงสมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระบำราบปรปักษ์ ตอนหนึ่งมีความว่า

       “ด้วยมิสเตอร์อาลบาสเตอร์ป่วยเป็นลมอำมพาธอย่างแรงที่สุด แต่คืนนี้เวลา ๑๐ ทุ่มไม่มีสติเลย มาจนเวลาวันนี้สองทุ่มตาย เป็นการขาดทุนยิ่งใหญ่ของเรา การทั้งปวงยังอะร้าอร่ามอยู่มาก

มิสเตอร์อาลบาสเตอร์ได้รับราชการมาถึงสิบสามสิบสี่ปี ทำการใดซื่อตรงจงรักภักดีต่อไทยจริงๆ การใหญ่ๆ ก็ได้ปลุกมามาก จะหาคนนอกใช้ให้เสมอเหมือนยากนัก จะว่าโดยความชอบก็มีมากให้กินพานทองได้ทีเดียว....”

       ทรงมีพระราชหัตถเลขาถึงแม่หม้าย มิสซิสอาลาบาสเตอร์ สำแดงพระทัยโศกเศร้า และพระราชทานเบี้ยเลี้ยงชีพตลอดเวลาที่ยังเป็นหม้ายอยู่ปีละ ๓๐๐ ปอนด์ คือสามสิบชั่ง หรือ ๒,๔๐๐ บาท

กับพระราชทานให้เป็นส่วนเลี้ยงบุตรอีกปีละ ๒๐๐ ปอนด์ ทั้งยังมีพระบรมราชโองการให้จัดมณฑปแบบโบสถ์ฝรั่งให้ตั้ง ณ ที่ฝังศพ และปั้นรูปนายเฮนรี อาลาบาสเตอร์ด้วยหินปูน ตั้งไว้ในมณฑปนั้นด้วย จัดพิธีศพระดับพระยาพานทอง

       นายเฮนรี อาลาบาสเตอร์มีภรรยา ๒ คน คนหนึ่งเป็นชาวอังกฤษ ได้กลับบ้านไปเมื่อนายอาลาบาสเตอร์เสียชีวิต ส่วนอีกคนเป็นคนไทย มีหน้าที่ถวายนมพระเจ้าลูกยาเธอในรัชกาลที่ ๕ พระองค์หนึ่งด้วย

มีบุตรชาย ๒ คน ชื่อ ทองคำ และ ทองย้อย เมื่อบิดาเสียชีวิตมารดาจึงนำบุตรทั้ง ๒ ไปเลี้ยงในพระบรมมหาราชวัง

       บุตรชายทั้ง ๒ ที่เกิดจากแม่ไทย ไม่ได้ถือศาสนาคริสต์ตามบิดา แต่ได้ถือศาสนาพุทธตามมารดา บวชเรียนเป็นเณร เมื่อโตขึ้นก็เข้ารับราชการทั้ง ๒ คน ต่างสร้างผลงานไว้ดีเด่นไม่แพ้บิดา

นายทองคำได้เป็น พระยาวันพฤกษ์พิจารณ์ ส่วนนายทองย้อยได้เป็น พระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมือง

       ในสมัยรัชกาลที่ ๖ ซึ่งประกาศใช้พระราชบัญญัตินามสกุล บุตรชายทั้ง ๒ ของนายเฮนรี อาลาบาสเตอร์ได้ขอพระราชทานนามสกุล พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานให้ว่า “เศวตศิลา”

ซึ่งตรงกับความหมายของ “อาลาบาสเตอร์”ในภาษาอังกฤษ ที่หมายถึง “หินสีขาว”

       ที่สุสานโปรเตสแตนท์ ถนนตก สถานที่ฝังร่างของชาวตะวันตกหลายคนที่เข้ามายึดเมืองไทยเป็นเรือนตาย เมื่อมองเข้าไปด้านในใกล้ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา จะเห็นมณฑปรูปโบสถ์ฝรั่งสีขาวเด่นสะดุดตา

ภายในยังมีรูปปั้นด้วยหินสีขาว เป็นรูปเหมือนของผู้ที่ทอดร่างอย่างสงบอยู่ใต้มณฑปนั้น ซึ่งทั้ง ๒ สิ่งนี้เป็นพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

โปรดเกล้าฯให้สร้างพระราชทานเป็นที่ระลึกถึงความดีความชอบของ นายเฮนรี อาลาบาสเตอร์ และได้รับการบูรณะอย่างสวยงามอยู่ในขณะนี้ โดยพลอากาศเอก สิทธิ์ เศวตศิลา องคมนตรี ผู้เป็นบุตรของพระยาวันพฤกษ์พิจารณ์ และเป็นหลานปู่ของนายเฮนรี อาลาบาสเตอร์ 

ราชทูตอังกฤษลาออกมาขอรับราชการไทย เป็นคนโปรด ร.๕ หลานปู่เป็นองคมนตรี ร.๙ !!!
มณฑปพระราชทานของนายเฮนรี อาลาบาสเตอร์


ราชทูตอังกฤษลาออกมาขอรับราชการไทย เป็นคนโปรด ร.๕ หลานปู่เป็นองคมนตรี ร.๙ !!!
รูปปั้นนายเฮนรี อาลาบาสเตอร์ ภายในมณฑปสุสาน

 

ขอบคุณ MGR Online  

ศุกรวารสิริสวัสดิ์ค่ะ




Create Date : 04 มีนาคม 2559
Last Update : 4 มีนาคม 2559 13:09:43 น. 0 comments
Counter : 1077 Pageviews.

sirivinit
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 224 คน [?]





/



2558

2556

2555

น้ำใจจากคุณ krittut 2554

2553


สิริสวัสดิ์วรวาร
เปรมปรีดิ์มานรื่นรมณีย์นะคะ ยินดีต้อนรับ
สู่บล็อกของคนใฝ่รู้ สำหรับผู้ใส่ใจใฝ่รู้ค่ะ

เชิญอ่านตามสบายนะคะ
มีดีๆให้คุณได้ทราบหลากหลายค่ะ

๑ - ๑/๑ ฉันรักในหลวง
๒.๓.๑๐.๑๕.๓๐.๒๔.๕๙.๖๓.๙๐.ธรรมะ
๔ - ๔/๑ รวมพลคนดัง
๕. ศาสนาพุทธสุดประเสริฐ
๖. ความรู้ทั่วไปในศาสนาพุทธ
๗. ๑๖. ประวัติศาสตร์
๘ - ๙/๑ ไม้ดอก ไม้ใบ
๑๑ - ๑๑/๑ เกม
๑๒.๓๗.๔๐-๔๓.๕๓.๗๕.๘๖.ศิลปะเทศ
๑๔ - ๑๔/๑. ๒๐๘. ข่าวคนดังเทศ
๑๘. ๑๙. ๒๒. ราชวงศ์ไทย
๒๐.๑๑๖-๑๑๖/๒ ๑๙๐-๑๙๐/๘ ละคร ทีวี
๒๑. ๓๑. ๒๐๘. ราชวงศ์เทศ
๒๔. นักเขียนไทย
๒๔/๑. กลอนชั้นบรมครู
๒๙/๑-๒๙/๔โปสการ์ดจากเพื่อนบล็อก
๓๓. สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
๓๙.๑๘๑-๑๘๑/๗ สุธาโภชน์รสเลิศล้ำ
๔๑.๔๒.๕๐.๕๘.๖๐.๖๑.๘๖.มหาวิหาร
๕๗. ปราสาท พระราชวัง คฤหาสน์เทศ
๖๒. วัด
๖๕ - ๖๕/๑ การ์ตูน
๖๕/๒. นิทานเซน
๖๗. ความตายมาพรากให้จากไป
๖๙ - ๖๙/๒ สารพัดสัตว์
๗๔. สุนัข
๗๖. อุทยานสวรรค์
๗๗. ซูเปอร์แมน - แบทแมน
๗๘ - ๘๓. แสตมป์สะสม
๘๕-๘๕/๑ หนังสือสะสม
๘๗ - ๘๗/๒ ๒๑๕ ข่าวกีฬา
๘๙. ๘๙/๑ จีนแผ่นดินใหญ่
๙๐/๑ .ทิเบต
๙๑. จันทร์สูริย์ดารา
๙๒. สมเด็จพระปิยมหาราชเจ้า
๙๓ - ๙๓/๒ ภาพยนตร์
๙๔ - ๙๔/๓ ยานยนต์
๙๕ - ๙๕/๑ ดูดวง
๙๖ - ๙๖/๑ . ๒๑๑ วิทยาศาสตร์
๙๗ - ๙๗/๑.๒๐๙ แวดวงวรรณกรรม
๙๘. ภาพพุทธประวัติ
๙๙. ๑๒๗ - ๑๒๗/๑ ดนตรี
๑๐๑. ป้าย R สะสม
๑๐๒. บัตรภาพตราไปรฯสะสม
๑๐๓. DIY
๑๐๗/๑ เล่าเรื่องเมืองญี่ปุ่น
๑๐๘ - ๑๐๘/๑ หนังสือ
๑๑๓ - ๑๑๓/๑ บ้านสวย
๑๑๕. พระเครื่อง
๑๒๐. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
๑๒๓. เจ้าฟ้าเพชรรัตน์ฯ
๑๒๕. เหรียญที่ระลึก
๑๒๕/๑ เหรียญสะสมต่างประเทศ
๑๒๕/๒ เหรียญที่ระลึกจังหวัด
๑๒๕/๓ ธนบัตรที่ระลึก
๑๒๕/๔ บัตรโทรศัพท์
๑๒๕/๕ กล่องไม้ขีด และอื่นๆ
๑๓๑.เรื่องสั้นชั้นครู"เจียวต้าย"
๑๖๔.บล็อกพิเศษ วันเดียวอั๊พ 100
เอนทรี่ ให้คุณป้า"ร่มไม้เย็น"ชม
๑๙๐/๓ เรื่องย่อละคร
๑๙๓. คดีเขาพระวิหาร
๒๑๒. ศิลปะ
๒๑๗. วิถีแห่งอำนาจ บูเช็กเทียน
๒๑๗/๑.วิถีแห่งอำนาจ เจงกิสข่าน
๒๑๗/๒.วิถีแห่งอำนาจ จูหยวนจาง
๒๑๗/๓.วิถีแห่งอำนาจ ซูสีไทเฮา
๒๑๗/๔.วิถีแห่งอำนาจ หงซิ่วฉวน
๒๑๗/๕.วิถีแห่งอำนาจ แฮรี่ พอตเตอร์

ข่าวทั่วไปล่าสุด บล็อกล่างสุดค่ะ

เปิดบล็อก 1 มกราคม 2552



free counters
08.27 - 250811

207 flags collected 300316



Friends' blogs
[Add sirivinit's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.