สื่อรักแท้จากแม่ตั้งครรภ์...ถึงเจ้าตัวเล็ก






สื่อว่า " รัก " ให้ลูกรู้อย่างไรดีนะ

ยามตั้งครรภ์ ผู้ที่มีอิทธิพลต่อการเจริญเติบโตของลูกมากที่สุดคือ คุณแม่ ซึ่งสามารถติดต่อสื่อสารถึงลูกในท้องได้ทุกนาทีผ่านทางกายเป็นอันดับแรก ซึ่งนั่นก็คือลูกต้องอาศัยแม่ทำหน้าที่เป็นผู้ส่งอาหาร ออกซิเจนและเลือดผ่านรกไปสู่ลูก การติดต่อสื่อสารผ่านทางพฤติกรรมเป็นอันดับต่อมา โดยการรับรู้พฤติกรรมของกันและกัน เช่น เมื่อลูกดิ้นน้อยลง แม่ก็จะรับรู้ได้ว่าลูกอาจไม่ปลอดภัยต้องรีบพบแพทย์ หรืออื่นๆ รวมทั้งการติดต่อสื่อสารผ่านทางใจเป็นอันดับสุดท้าย ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญเพราะการถ่ายทอดความรัก ความอบอุ่นความผูกพัน เป็นสิ่งที่สองแม่ลูกสามารถรับรู้และส่งความรู้สึกถึงกันได้อย่างที่ใครก็มิอาจเลียนแบบด้วยค่ะ


**รู้จักให้ลึกถึงโลกใบเล็กของลูก ท้องของแม่ที่รองรับการเติบโตของลูก เป็นที่ที่สร้างประสบการณ์ในชีวิตแรกเริ่มของลูก ท้องของแม่จึงมีอิทธิพลต่อลูกเป็นอย่างมาก หากสิ่งแวดล้อมในท้องแม่อบอุ่นปลอดภัย ลูกก็จะมีทัศนคติที่ดีต่อโลกภายนอก แต่ถ้าโลกใบแรกของลูกเต็มไปด้วยความเครียดกังวล ลูกก็จะมองโลกในแง่ร้าย และมีพื้นฐานทางอารมณ์ที่ไม่ดี ทั้งนี้เนื่องจากลูกสามารถรับรู้อารมณ์ความรู้สึกของแม่ได้ทั้งหมด เพราะสารเคมีที่หลั่งออกมาในกระแสเลือดของแม่ในขณะที่มีอารมณ์ต่างๆ สามารถส่งผ่านรกไปสู่ลูกในครรภ์ได้ตลอดเวลานั่นเองค่ะ

ในเมื่อมีภาษีที่ไม่เหมือนใครเช่นนี้ คุณแม่ก็สามารถหยิบฉวยโอกาสอันมีค่ามาสื่อสารให้ลูกรับรู้ว่ารักได้ทุกเมื่อ เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีตั้งแต่ในครรภ์ เริ่มตั้งแต่วันที่ลูกก่อร่างสร้างตัวเป็นชีวิตน้อยๆ ช่วงตั้งครรภ์ระยะแรกที่คุณแม่สามารถทำจิตใจให้เปี่ยมสุข ส่งความคิดถึงและความรู้สึกดีๆ ไปให้ลูกน้อยในครรภ์ เรื่อยไปจนถึงช่วง 5 เดือนขึ้นไปที่คุณแม่สามารถใช้วิธีอื่นที่สื่อสารว่ารักได้ชัดเจนขึ้น

* เตรียมตัวให้พร้อม เพื่อสื่อรักจากหัวใจแม่

หลังจากเลิกงานประจำในตอนเย็นแล้ว ขอแนะนำคุณแม่ทุกท่านเตรียมอาบน้ำเย็นๆ ให้ผ่อนคลาย สวมเสื้อผ้าหลวมๆโปร่งๆ แล้วนอนพักบนเก้าอี้ในท่าที่รู้สึกสบายมากที่สุด อยู่ในห้องที่มีอากาศถ่ายเทได้ดี เพื่อให้เกิดความผ่อนคลายมากที่สุด จัดหาช่อดอกไม้กลิ่นหอมอ่อนๆ ที่คุณแม่ชอบมาประดับห้องให้เกิดความรื่นรมย์ในใจ จากนั้นมาเริ่มต้นสื่อรักกับลูกน้อยในครรภ์ด้วยเสียงคุณแม่ และสื่อรักด้วยวิธีอื่นๆอีกต่อไปค่ะ

* เสียงจากแม่นี้...ถ่ายทอดว่ารักลูกมากกว่าใคร

เสียงการบีบตัวของลำไส้ เสียงการเคลื่อนไหวของกระแสโลหิต และเสียงหัวใจแม่เต้น เป็นเสมือนเพลงกล่อมแรกสุดที่ทำให้ลูกเกิดความคุ้นเคย อบอุ่นและปลอดภัย นอกจากนี้ลูกยังสามารถรับรู้อารมณ์ความรู้สึกที่แฝงในน้ำเสียง และจะมีความสุขเมื่อได้ยินเสียงพูดที่อ่อนโยนจากคุณแม่ได้ ทั้งนี้เพราะเซลล์สมองด้านการได้ยินของลูกเริ่มสร้างขึ้นในช่วงตั้งครรภ์เดือนที่ 3 แต่จะเริ่มได้ยินเสียงจากโลกภายนอกเมื่ออายุครรภ์ได้ประมาณ 18 สัปดาห์ขึ้นไป อีกทั้งน้ำคร่ำรอบตัวลูกก็ยังเป็นสื่อนำเสียงให้ลูกฟังได้เป็นอย่างดีอีกด้วยค่ะ


* วิธีปฎิบัติ

เมื่อเสียงของแม่สามารถส่งผ่านสู่ลูกในครรภ์ได้อยู่แล้วตามธรรมชาติโดยไม่ต้องใช้เครื่องมือใดๆ ดังนั้นในยามว่าง ก่อนนอน หรือเมื่อลูกกำลังดิ้น ซึ่งแสดงว่าเป็นช่วงที่ลูกกำลังตื่นอยู่ และพร้อมที่จะรับรู้ต่อสิ่งกระตุ้นต่างๆนั้น คุณแม่ควรพูดคุยกับลูกโดยออกเสียงดังพอสมควร เพื่อให้ลูกได้ยิน ใช้เสียงนิ่มนวลเพื่อแสดงความรัก และใช้โทนเสียงระดับสูงกว่าปกติ อาจจะเป็นประโยคคำถาม ย้ำคำ ย้ำประโยคบ่อยๆ จะช่วยให้ลูกรับรู้และจดจำเสียงแม่ได้ดี เช่น " ลูกจ๋า แม่รักลูกมากที่สุดนะจ๊ะ " หรือ " รักลูกจังเลยรู้ไหมจ๊ะ "

* สัมผัสแม่นี้...ลูบผ่านท้องบอกว่ารักลูกทุกจังหวะ

คุณแม่สามารถลูบคลำลูกในครรภ์ผ่านทางหน้าท้อง ลูกจะรู้สึกได้ถึงความรัก ความอบอุ่นของแม่จากการสัมผัสนั้น โดยเฉพาะในช่วงท้ายของการตั้งครรภ์ เพราะเมื่อลูกมีขนาดตัวโตขึ้น คุณแม่จะคลำลูกได้ชัดเจนยิ่งขึ้น อีกทั้งทารกมีการเคลื่อนไหวและได้รับการสัมผัสตลอดเวลาขณะที่แม่เคลื่อนไหว ผิวทารกจะสัมผัสกับผนังด้านในของมดลูก ซึ่งเป็นการพัฒนาเส้นใยสมองส่วนรับความรู้สึก ดังนั้น การลูบสัมผัสผ่านทางหน้าท้องของแม่ นอกจากจะช่วยพัฒนาสมองส่วนรับความรู้สึกที่ดีให้ลูกแล้ว ยังช่วยสร้างความอบอุ่น ความผูกพันระหว่างคุณแม่และลูกน้อย ทำให้ลูกรู้สึกคุ้นเคยและเกิดความสุขจากการสัมผัสของคุณแม่ได้อีกด้วย


* วิธีปฎิบัติ

ให้คุณแม่ทำจิตใจให้สบายๆ คิดถึงแต่สิ่งดีงาม และสร้างความรู้สึกว่าการตั้งครรภ์เป็นสิ่งมีค่าควรแก่การทะนุถนอม และส่งใจแสดงความรักความผูกพันไปสู่ลูกในครรภ์ พร้อมกับลูบไล้หน้าท้องวนเป็นรูปวงกลมรอบสะดืออย่างแผ่วเบา แล้วคลำไปตามส่วนต่างๆของลูกอย่างนุ่มนวล จากนั้นพูดคุยกับลูกด้วยความรักไปพร้อมกัน เช่น " ลูกจ๋าอยู่ไหนเอ่ย มาทักทายกันหน่อยสิ รู้ไหมแม่รักลูกมากเลยนะจ๊ะ "

* เสียงเพลงนี้...แม่ขับกล่อมให้ฟังว่ารักลูกเหลือเกิน


จากผลการวิจัยพบว่าทารกในครรภ์ชอบเพลงที่ฟังง่ายๆ สบายๆ อย่างเช่น ชอบเพลงกล่อมเด็กมากกว่า เพลงที่มีจังหวะรุนแรง มีการทดลองกลุ่มคุณแม่ตั้งครรภ์ที่ร้องเพลงกล่อมเด็กให้ทารกในท้องฟังอย่างสม่ำเสมอนั้น เมื่อคลอดออกมาแล้ว และได้ยินเสียงเพลงนี้จากคุณแม่อีก ทารกจะนิ่งเงียบ และสนใจฟังเพลงนั้นอย่างมาก ทำให้ทราบว่าทารกสามารถจำเสียงเพลงที่เคยได้ยินตั้งแต่อยู่ในครรภ์ และเมื่อคลอดออกมาทารกก็จะมีพัฒนาการที่ดี มีอารมณ์แจ่มใส ไม่ร้องกวน ตรงกันข้ามกับเสียงรบกวนต่างๆที่แม่ฟังขณะตั้งครรภ์ เช่นเสียงเครื่องบิน เสียงรถไฟ ซึ่งมีผลทำให้ลูกในครรภ์มีน้ำหนักตัวน้อย ขี้ตกใจ ร้องกวนหลังคลอด และอาจทำให้คลอดก่อนกำหนดได้


* วิธีปฎิบัติ

คุณแม่ควรหลีกเลี้ยงเสียงที่มีผลเสียต่อลูกในครรภ์ แล้วหันมาส่งเสริมเสียงที่ดี โดยร้องเพลงกลอมเด็กให้ลูกฟัง เพื่อให้ลูกคุ้นเคยกับเพลงขับกล่อมนั้นตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ร้องเพลงเดิมประจำให้เป็นเวลาตรงกันทุกวัน เช่น ช่วงที่ลูกกำลังดิ้น ก่อนนอน ในยามว่างหรืออื่นๆ ซึ่งเป็นช่วงที่ลูกกำลังตื่นอยู่ และเมื่อคลอดแล้ว คุณแม่ก็สามารถนำเพลงเดิมที่เคยขับกล่อมให้ลูกฟังนั้นมาเห่กล่อมให้ลูกสงบและหลับง่ายขึ้น เช่น เพลง " เจ้าเนื้อละมุนเอย เจ้าเนื้ออุ่นเหมือนสำลี แม่มิให้ผู้ใดต้อง เนื้อเจ้าจะหมองศรี ทองดีเจ้าคนเดียวเอย "

* เสียงดนตรีนี้...แม่เปิดให้ลูกซึมซับและรับรู้ว่ารักลูกเสมอ

จากการวิจัยเกี่ยวกับดนตรีกับทารกในครรภ์ โดยให้คุณแม่ตั้งครรภ์ฟังอย่างสม่ำเสมอทุกวัน พบว่าเด็กที่คลอดออกมามีพัฒนาการด้านร่างกาย และไอคิวสูงกว่าเด็กทั่วไป อีกทั้งยังเลี้ยงง่าย มีอารมณ์แจ่มใส และมีความผูกพันกับคุณแม่เป็นอย่างมากด้วย และผลวิจับพบว่าลูกในครรภ์ชอบดนตรีบรรเลงเบาๆ มากกว่าเสียงดนตรีที่มีจังหวะกระแทกกระทั้น ดังนั้น เสียงดนตรีที่ควรส่งเสริมลูก ควรเป็นเสียงดนตรีเย็นๆ เช่น เพลงบรรเลง เพลงคลาสสิก หรือเพลงไทยเดิม เป็นต้น

* วิธีปฎิบัติ

เลือกเวลาที่เหมาะสม เช่น ช่วงเย็นเป็นต้นไป ผลวิจัยพบว่าทารกมักจะแจ่มใส เคลื่อนไหว ตื่นตัว และกระตือรือร้น พร้อมที่จะรับฟังเสียงในเวลานี้ ส่วนอีกช่วงหนึ่งคือ หลังอาหารเย็นประมาณ 1 ชั่วโมงขึ้นไป เพราะกลูโคสกำลังเดินทางไปเลี้ยงสมอง ทำให้ทารกมีอารมณ์แจ่มใส พร้อมรับการส่งเสริมเช่นกัน วิธีปฏิบัติคือ วางเทปดนตรีคลาสสิก หรือเทปเพลงที่สื่อว่ารักให้ลูกฟังวันละครั้งครั้งละประมาณ 10-15 นาที เปิดเพลงเดิมให้ลูกฟังบ่อยๆ เพื่อให้ลูกรับรู้และเรียนรู้เพลงนั้นไปด้วย เมื่อลูกเกิดมาแล้วแม่เปิดเพลงนั้นให้ลูกฟัง ลูกจะได้สงบ ไม่งอแงร้องกวน และหลับได้ง่ายขึ้นด้วยค่ะ

* บันทึกช่วงเวลานี้...แม่สื่อว่ารักลูกทุกตัวอักษร

ช่วงเวลาที่ตั้งครรภ์จะกลายเป็นช่วงเวลาที่มีความหมายมากที่สุดสำหรับคุณแม่และลูกน้อย หากทำการจดบันทึกประจำวันลงในสมุดบันทึก เขียนบันทึกความรัก ความรู้สึกนึกคิดต่างๆตามเวลาที่ผันผ่านไปในแต่ละวัน ในวันข้างหน้าเมื่อลูกออกมาสู่โลกภายนอกแล้ว คุณแม่จะย้อนกลับมารำลึกถึงความทรงจำอันน่าภูมิใจนี้ได้ เมื่อลูกโตขึ้นแล้วได้มีโอกาสได้อ่านสมุดบันทึกที่คุณแม่เขียนระบายความรู้สึกและความคิดคำนึงจากส่วนลึกของหัวใจแม่ถึงลูกน้อยในครรภ์ ลูกก็จะเข้าใจความรักความผูกพันของแม่ที่มีต่อลูกอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้นด้วย


* วิธีปฎิบัติ

เขียนความรู้สึกถึงลูกตั้งแต่วันแรกที่รู้ตัวว่าตั้งครรภ์ โดยทำเป็นบันทึกประจำวันตั้งแต่วันแรกไปจนถึงวันที่กำลังจะได้พบหน้าลูก เขียนถ่ายทอดจินตนาการ และความรู้สึกต่างๆ และความปรารถนาที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น พร้อมเก็บบันทึกนั้นไว้เป็นอย่างดี เพื่อมอบเป็นของขวัญในวันเกิดของลูกเมื่อลูกเติบโตเป็นผู้ใหญ่




Create Date : 13 กุมภาพันธ์ 2551
Last Update : 14 กุมภาพันธ์ 2551 21:20:45 น. 1 comments
Counter : 576 Pageviews.

 
ขอบคุณสำหรับสาระดี ๆ นะคะ มีประโยชน์มาก ๆ ค่ะ


โดย: แม่โกลเด้นฯ วันที่: 17 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:17:50:02 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

แม่น้องแปงแปง
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]






แป๊ว แม่น้องแปงแปง






Photo Flipbook Slideshow Maker


Photo Flipbook Slideshow Maker


Photo Flipbook Slideshow Maker





Group Blog
 
 
กุมภาพันธ์ 2551
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
242526272829 
 
13 กุมภาพันธ์ 2551
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add แม่น้องแปงแปง's blog to your web]
Links
 

MY VIP Friend

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.