Apple has lost a visionary and creative genius, and the world has lost an amazing human being.

But his spirit will forever be the foundation of Apple. 6 October 2011

 
กรกฏาคม 2566
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
19 กรกฏาคม 2566

จารึกวัดพระงาม : ทวารวตีวิภูติ (1)





(ภาพจากเฟซบุ๊กสำนักศิลปากรที่ 2 สุพรรณบุรี)
 
21 มี.ค. 2565 มีพิธีเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์
หลังจากการปิดซ่อมกว่า 3 ปี แต่วัตถุจัดแสดงนั้นก็เป็นของเก่าที่เคยมีอยู่
เพียงแต่ใช้วิธีจัดแสดงใหม่เท่านั้น ถ้าให้ผมเดินทางมาดูวิธีจัดแสดงเหล่านี้
ก็คงไม่ใช่เรื่องที่คุ้มค่าเท่าใด หากแต่สิ่งที่ทำให้ผมต้องดั้นด้นเดินทางมา
 
ก็เพื่อจะได้เห็นจารึกวัดพระงามนี่เอง ศิลาจารึกที่ได้ชื่อว่า
ลายมือของผู้จดจารนั้นงดงามกว่าจารึกใดๆ ที่เคยมี
 
การเดินทางของผมครั้งนี้เริ่มต้นในช่วงต้นปี พ.ศ. 2566
รถไฟสายสีแดงพาเราจากในเมือง ไปลงที่สถานีตลิ่งชัน
จากนั้นจะใช้รถไฟสายชานเมืองของการรถไฟไปถึงนครปฐม
ปรากฏว่าไปเจอรถไฟสายหัวหินแทน 
 
2 ต.ค. 2562 หลังจากสำนักศิลปากรที่ 2 จ. สุพรรณบุรี
ได้ขุดแต่งโบราณสถานวัดพระงาม ได้มีผู้พบแผ่นหินที่วางอยู่
บนศิลาแลง 2 แผ่น ใกล้กับแนวอิฐที่เป็นแนวของฐานเจดีย์
สิ่งก่อสร้างที่กรมศิลปากรกำหนดอายุไว้ราวพุทธศตวรรษที่ 14 
 
ใช่ว่าจะไม่มีเคยมีการพบจารึกสมัยทวารวดีมาก่อน
เพียงแต่การจะพบจารึกที่มีขนาดใหญ่
สามารถที่จะอ่านเรื่องราวในยุคสมัยนั้นได้
 ไม่ใช่เพียงจารึกคาถาเยธรรมมา นั้นหาได้ยากยิ่ง
 
4 ต.ค. 2562 สำนักศิลปากรที่ 2 จ. สุพรรณบุรี
 ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านภาษามาตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า
เป็นจารึก 1 ด้าน ความยาว 6 บรรทัด ภาษาสันกฤต ตัวอักษรปัลลวะ
กำหนดอายุราว พุทธศตวรรษ ที่ 11-12 และมีคำว่า ทวารวดีศรีวิภูติ
 

 
(ภาพจากเฟซบุ๊กสำนักศิลปากรที่ 2 สุพรรณบุรี)

แน่นอนว่าเป็นจารึกในสมัยทวารวดีอย่างไม่ต้องสงสัย 
จารึกถูกนำกลับมาที่กรุงเทพเพื่อทำการอนุรักษ์ให้เสร็จเสียก่อน
หลังจากนั้นจึงจะถูกอ่านเพื่อตีความต่อไปหลังการอนุรักษ์ราว 1 ปี
ก็มีการเผยแพร่คำอ่านออกมา โดย อ. ก่องแก้ว ในวารสารกรมศิลปากร


(พระราชา)ใดทรงชนะรอบทิศ ทระชนะรัศมีอันบริสุทธิ์ผุดผ่องของพระพหรม
ที่แผ่ไปด้วยแสงที่แผ่ออกไปจากพระวรกายของพระองค์  
.. ซึ่งความเจริญรุ่งเรืองที่แผ่นดินรองรับไว้ ...
 
ในสงครามด้วยพระพักต์ที่งามเหมือนดวงจันทร์
... ที่ไหลออกมาเหมือนน้ำอมฤตที่ไหลออกมา
จากแสงจันทร์คือพระทนต์ของพระองค์ 
... พอพระทัยในการสงครามมีพระทัยกว้าง

ทรงประกอบยัญพิธี (สม่ำเสมอ) ... บริสุทธิ์
.. พระองค์ทรงใส่พระทัยในพระราชธุระ
แห่งราชวงศ์ที่รุ่งเรืองของพระองค์
การอวตารลงมาบนแผ่นดิน (ของพระองค์)  
 
ได้รับการร้องขอโดยพวกเทพ เพื่อปราบ 
.... มีพระเกียรติที่แผ่ไปกว้างไกล  ....
ด้วยความกล้าหาญที่อัศจรรย์ยิ่ง (พระราชา?) นั้น
เมื่อได้ข้ามพ้นคำปฏิญญาที่ยิ่งใหญ่
ดังมหาสมุทรด้วยความหนาวเย็น ได้เสวยน้ำอมฤตที่ชื่อว่า
สัทวิชยะ (ชัยชนะที่แท้จริง)

 เมื่อได้สร้าง   ..... เหมือนของคนทั้งหลายที่กำลังเข้าไปในเรือนกระจก (เมือง?)
ทิมิริงคะ เป็นเหมือนยานของพระลักษมี เป็นเมืองที่ไม่มีเมืองใดเทียบได้
เมืองนั้นคือเมืองหัสตินปุระและคือเมืองทวารวตีซึ่งยิ่งใหญ่
เนื่องจากความเจริญรุ่งเรืองเหมือนเมืองของพระวิษณุ
.... ที่มีชื่อว่า .... โดยข้าพเจ้า

เครื่องประดับที่ดีสำหรับสำหรับท้องพระคลังของพระปศุปติ (ศิวะ) (ได้แก่?)
ต้นมะม่วงทอง 30 ต้น ผู้ ... นาจำนวน 300 คน?)  … นับได้จำนวน .. ร้อย
 ... แม่โคจำนวน 400 ตัว ลูกนกคุ่มจำนวน 156 ตัว สิ่งของที่กล่าวมาแล้วนี้
เป็นของพระปรเมศวร  .. ของฝั่ง (ขอบ) ทั้งหลาย  ... แผ่นศิลา

 

 
นอกจากคำว่าทวารวดีที่ได้พบ ก็ดูว่าเรายังไม่ได้อะไรเพิ่มเติม
เพราะจารึกนี้นอกจากมีส่วนที่ชำรุด ทำให้การแปลอาจจะไม่แน่นอนแล้ว
จารึกก็เป็นเพียงการสรรเสริญพระมหากษัตริย์โดยเทียบกับพระผู้เป็นเจ้า
แต่สาระสำคัญที่ได้จากจารึกนี้น่าจะให้เบาะแสสำคัญคือ
 
จารึกนี้ใช้สิ่งที่เป็นขนบ ดังที่เราเห็นในจารึกเขมรโบราณ
การบรรยายความสามารถของกษัตริย์โดยอ้อม
ที่ใช้การเปรียบความงาม ความเก่งกล้าสามารถกับพระเป็นเจ้า
 
ดังนั้นทวารวดีน่าจะมีระบบกษัตริย์ปกครอง และควรจะมีสภาพเป็นรัฐ
จารึกให้เบาะแสที่สองว่า แม้ว่าเมืองนี้นับถือพระศิวะ ลัทธิปศุปตะ
แต่ชื่อทวารวดีมีมาจากความเจริญรุ่งเรืองเปรียบดังเมืองของพระวิษณุ
นักวิชาการบางท่านจึงใช้เรื่องนี้เป็นหลักฐาน เชื่อมโยงว่าทวารวดีอยู่ที่ศรีเทพ
เพราะเป็นโบราณสถานที่เดียวในเมืองไทย ที่พบเทวรูปพระวิษณุ
 
ส่วนเสริมความรู้ย่อยก็คือ อย่าเพิ่งเชื่อการแปลจารึกทุกประโยค
เพราะเมื่อเวลาผ่านไป มีคนมาอ่านจารึกใหม่
ก็อาจจะแปลได้ไม่เหมือนเดิม เช่น อ. กังวล ก็มาแปลช่วงคำว่า
มะม่วงทองจำนวน 30 ใหม่ว่า ทองจำนวน 130
และลูกนกคุ่มจำนวน 156 ตัว ว่าคนรับใช้ 156 คน
 
ซึ่งเป็นเรื่องปรกติทางวิชาการ ที่รอยขีดตำแหน่งเดียวกัน
นักวิชาการสามารถตีความเป็นคำที่แตกต่างกันได้
เนื่องเพราะความชำรุดของหินที่ต้องจินตนาการคำเต็มเอง
แต่ที่สำคัญที่สุดคือ จารึกชิ้นนี้เดิมตั้งทีอยู่ที่นี่หรือเปล่า
 

 

 
การตรวจสอบโดยนักวิชาการธรณีวิทยาพบว่า มันไม่ใช่หินชนวน
แต่เป็นหินภูเขาไฟ ซึ่งไม่สามารถพบได้ที่นครปฐม หรือแม้กระทั่งอู่ทอง
ใกล้ที่สุดแต่เป็นไปได้น้อยเช่น ลพบุรี ปราจีนบุรี แต่ที่เป็นไปได้มาก
ก็คือปล่องภูเขาไฟที่เรารู้จักกันดี ก็คือ บุรีรัมย์
 
ทำให้ต้องย้อนกลับไปยังจุดตั้งต้นยังสถานที่ค้นพบว่า
ก่อหน้านี้มีการพบเพียงจารึกสั้นๆ ในศาสนาพุทธที่เป็นภาษาบาลี
หรือว่าจารึกชิ้นนี้น่าจะถูกเคลื่อนย้ายมาจากที่อื่น

แล้วที่ใดที่ใช้ภาษาสันสกฤต มีระบบเทวราชาที่นับถือไศวนิกาย
เมื่อคำนึงถึงแหล่งที่มาของหิน จารึกชิ้นนี้อาจจะมาไกลจากอีสานใต้
หรือชายสุดของภาคตะวันออกไทยในปัจจุบันหรือเปล่า
 
นักวิชาการไม่ได้กล่าวล่วงเกินไปกว่านั้น แต่ผมอยากจะคาดเดา
โดยนึกถึงจารึกในกลุ่มที่เรียกว่า จารึกจิตรเสน ที่พบมากในประเทศไทย
แถบภาคอีสาน ปราจีนบุรี ลาว และกัมพูชา รวมแล้ว 23 หลัก
ตัวอักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤต กำหนดอายุพุทธศตวรรษที่ 12
 

เป็นจารึกที่ใช้ประกาศชัยชนะในพื้นที่ที่พระองค์ได้ทำสงครามเข้ายึดครองได้
แล้วมีการสร้างศิวลึงค์ พร้อมจารึก ส่วนใหญ่มีเนื้อความที่คล้ายๆ กัน

พระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใดทรงพระนามว่าจิตรเสนผู้เป็นพระโอรสของ
พระเจ้าศรีวี รวรมันเป็นพระราชนัดดาของพระเจ้าศรีสารวเคามะ
แม้โดยศักดิ์จะเป็นพระอนุชาแต่ก็ได้เป็นพระเชษฐาของพระเจ้าาศรีภววรมัน
ผู้มีพระนามปรากฏในด้านคุณธรรมแต่พระเยาว์
 
พระเจ้าแผ่นดินพระองค์นั้นได้รับพระนามอันเกิดแต่การอภิเษกว่า
พระเจ้าาศรีมเหนทรวรมันชนะประเทศนี้ทั้งหมดแล้ว
ได้สร้างพระศิวลึงค์ อันเป็นเสมือนหนึ่งเครื่องหมาย
แห่งชัยชนะของพระองค์ไว้บนภูเขานี้ฯ

 


จะเห็นได้ว่า มีธรรมเนียมที่พระเจ้าจิตรเสนผู้สถาปนาอาณาจักรเจนละ
ได้ทำจารึกที่มีตัวอักษร ภาษา และการพรรณนาบรรยาย
ในรูปแบบที่คล้ายกับจารึกวัดพระงาม และอยู่ในช่วงเวลาเดียวกัน
 
ในความเห็นผมการพบจารึกวัดพระงามที่นครปฐม
ไม่สามารถกล่าวได้ว่านี่คือจารึกของทวารวดี
โดยหากจะตีความใหม่ตรงข้อความที่มีชื่อปริศนาว่า
 
 
ทิมิริงคะเป็นเหมือนยานของพระลักษมี เป็นเมืองที่ไม่มีเมืองใดเทียบได้
เมืองนั้นคือเมืองหัสตินปุระและคือเมืองทวารวตีซึ่งยิ่งใหญ่
เนื่องจากความเจริญรุ่งเรืองเหมือนเมืองของพระวิษณุ

 
ดังนั้นจารึกบอกว่ามาจากเมืองทิมิริงคะ แต่อาศัยเปรียบเทียบว่า
เมืองนี้มีความยิ่งใหญ่เทียบได้กับเมืองในตำนานอย่างหัสตินาปุระ
และทวารวดีของพระวิษณุ ทวารวดีในที่นี้ใช้เป็นการเปรียบเทียบ
ไม่ใช่บอกว่าจารึกนี้ คือจารึกเมืองทวารวดีที่อยู่ในพื้นที่ของสุวรรณภูมิ
ตามที่เรากำลังหาความเชื่อมโยงกับหลักฐานเดิมอื่นๆ อยู่
 
ดังนั้นจารึกวัเดพระงาม อาจจะไม่หลักฐานยืนยันการมีอยู่ของทวารวดีที่นครปฐม
จารึกอาจไม่ได้สถาปนาอยู่ตรงนี้ และไม่มีความสำคัญในฐานะประกาศของกษัตริย์
ไม่เช่นนั้นคงไม่ได้ถูกใช้เป็นฐานรองรับเจดีย์ทางพุทธศาสนาอย่างแน่นอน
อายุของตัวอักษรปัลลวะก็อยู่ในช่วงเจนละ ก่อนจะมีอาณาจักรพระนคร
ดังนั้นจารึกนี้ก็ไม่มีความสัมพันธ์กับศิวลึงค์ที่พบในนครปฐมหลังยุคทวารวดี
 
เป็นไปได้มากกว่า จารึกนี้ถูกเคลื่อนย้ายมาจากที่อื่น
ที่ซึ่งมีการนับถือไศวนิกาย ที่ซึ่งมีแหล่งหินภูเขาไฟ
น่าเสียดายที่จารึกวัดพระงามนี้ ไม่ได้มีการกล่าวถึงนามองค์พระราชา
ไม่เช่นนั้นเราน่าจะกำหนดลงไปได้ว่า จารึกนี้มาจากที่ใดในปัจจุบัน  



Create Date : 19 กรกฎาคม 2566
Last Update : 17 สิงหาคม 2566 12:51:19 น. 3 comments
Counter : 549 Pageviews.  

ผู้โหวตบล็อกนี้...
คุณหอมกร


 
เคยไปวัดพระงามครั้งนึงครับ แต่นานมาแล้วครับ


โดย: ทนายอ้วน วันที่: 20 กรกฎาคม 2566 เวลา:8:38:53 น.  

 
สวัสดีครับ

ขอบคุณที่แวะไปส่งกำลังใจนะครับ


โดย: มาช้ายังดีกว่าไม่มา วันที่: 20 กรกฎาคม 2566 เวลา:21:57:34 น.  

 
แวะมาเยี่ยมเยียนจ้า



โดย: หอมกร วันที่: 20 สิงหาคม 2566 เวลา:17:48:06 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

ผู้ชายในสายลมหนาว
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 21 คน [?]




New Comments
[Add ผู้ชายในสายลมหนาว's blog to your web]