Neothais : We will save the world


 
ธันวาคม 2550
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
29 ธันวาคม 2550
 

ดร.วิโรจน์ ตันตราภรณ์ นักเทคโนโลยี ที่ปรึกษาNASA

ประสบการณ์กว่า 40 ปี บนเส้นทางสายเทคโนโลยี ของ ดร.วิโรจน์ เริ่มตั้งแต่ผลงานวิชาการเกี่ยวกับการคายรังสีอินฟราเรดของใบไม้ ได้ตีพิมพ์ตั้งแต่ก่อนจบปริญญาตรีที่ University of Denver สาขาฟิสิกส์ โดยคะแนนเป็น ระดับ Highest Honor ซึ่งท่านได้รับทุนรัฐบาลไทยไปศึกษา ผลงานนี้ถูกนำไปเป็นส่วนหนึ่งของการคำนวณ Global Warming Rate ก่อนจบปริญญาโทและเอกสาขาเดิมจาก University of Michigan

ก้าวต่อมาในฐานะผู้สร้างเทคโนโลยี อาทิ เทคโนโลยีเกี่ยวกับ Charge Injection Device ในนามของ General Electric Company USA (GE) องค์กรที่ในอดีตท่านได้รับการยอมรับให้เป็นผู้นำในงาน R&D ที่ GE ท่านยังได้ให้คำปรึกษาแก่รัฐบาลอเมริกาเกี่ยวกับการแก้ไข Failure ในเรดาร์ และรัฐบาลแคนาดาเกี่ยวกับ Failure ในฉนวนของระบบจ่ายไฟฟ้ามาแล้ว

ขอบเขตเทคโนโลยีของท่านยังรวมถึงด้าน Micro-wave, Circuits, Crystal Growth และอื่นๆ อีกมากมาย บางชิ้นมีมูลค่านับพันล้านดอลลาร์ นอกจากนี้ ในฐานะ ที่ปรึกษาให้กับ NASA (ด้าน Thermoelectric Applications in Space) และมี US patent 13 เรื่อง ผลงาน ทางวิชาการตีพิมพ์ใน Journal ทางเทคนิคกว่า 50 เรื่อง ผลงานลับของรัฐบาลอเมริกาที่ไม่ได้ตีพิมพ์ และผลงาน เชิงพาณิชย์อีกประมาณ 50 เรื่อง ช่วยยืนยันความเป็น นักเทคโนโลยีผู้ไม่หยุดนิ่งของท่านได้ดี

ในปี พ.ศ. 2531 ท่านสละหน้าที่การงานที่สหรัฐ อเมริกากลับสู่เมืองไทย ด้วยความมุ่งมั่นจะสร้างโอกาสในการเรียนรู้ของคนไทยให้มากกว่าเดิม ได้เสนอรัฐบาลจัดตั้งกองทุน 5 หมื่นล้านบาท เพื่อการวิจัยพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในยุคแรก ซึ่งภายหลังได้ปรับเปลี่ยนเป็น สำนักงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. ในปัจจุบัน

ดร.วิโรจน์ กล่าวว่า สถานะด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในบ้านเรา ทั้งบุคลากรและแนวโน้มทางการศึกษามุ่งไปในทางวิทยาศาสตร์เกือบทั้งหมด ไม่มีนักเทคโนโลยี ทั้งที่นักเทคโนโลยีมีบทบาทโดยตรงในการพัฒนาสังคม ผู้เชี่ยวชาญที่ทำงานวิจัยส่วนใหญ่มุ่งเน้นการวิจัยที่สนองตอบความสนใจของตัวเอง Publication ผลงาน เพื่อคำนำหน้าชื่อ เพื่อตำแหน่ง แต่ส่วนรวมไม่ได้รับประโยชน์นัก เพราะผลงานที่ได้ไม่ช่วยแก้ปัญหาของประชาชน

“นักเทคโนโลยี จะตั้งต้นจากเป้าหมาย แล้วหาวิธี ไปสู่เป้าหมายนั้น เช่น ทำอย่างไรถึงจะไปดาวอังคารได้ จะต้องเตรียมต้องสร้างอะไรบ้าง แก้ปัญหาไปสู่จุดหมาย ในขณะที่นักวิจัยหรือนักวิทยาศาสตร์ มีความรู้อยู่เท่านี้ เขาอยากรู้ว่าความรู้นั้นไปถึงไหนต่อก็ค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติมไปเรื่อยๆ โดยไม่รู้ว่าจะทำได้ถึงไหน อะไรจะเกิดขึ้น บ้านเราตอนนี้ก็ฝึกคนให้เป็นนักวิทยาศาสตร์ เป็นนักวิจัย แล้วเวลาพูดถึงเทคโนโลยี ก็บอกว่าต้องต่อยอด ต้องยืนบนไหล่ยักษ์ ก็คือรับเทคโนโลยีต่างชาติเข้ามา แต่อย่าลืมว่าคนที่เขาทำ มานั้นเขาย่อมทำไปถึงที่สุดแล้ว ถึงระดับที่เขารู้แล้วว่าทำ ต่อไปก็เสียเวลา ไม่คุ้ม เขาถึงหยุดแล้วเอามาขาย จะไปต่อยอดเทคโนโลยีเขานั้นยากมาก”

สถานภาพเทคโนโลยีไทย มองมุมไหนก็อ่อนยวบ
ดร.วิโรจน์ กล่าวว่า กับสิ่งที่เห็นทุกวันนี้ ประเทศไทยเป็นผู้รับเทคโนโลยี นำเทคโนโลยีต่างชาติเข้ามาขายคิดค่า หัวคิว ส่วนที่คนไทยสร้างเองมีน้อยและเป็นเทคโนโลยีระดับต่ำ มีเป้าหมายง่ายๆ ไม่สร้างมูลค่าเพิ่มมากนัก เทคโนโลยีระดับ Breakthrough จึงไม่ต้องพูดถึงเพราะเกินความสามารถคนไทย ทั้งนี้ทั้งนั้นตัวแปรที่สำคัญที่สุด คือ “คน” ไม่ได้รับการฝึกอย่างเพียงพอ เมื่อรวมกับอีกหลายสาเหตุ ทั้งผู้บริหารในสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของรัฐบาลก็มีแนวคิด ไปในด้านวิทยาศาตร์ ไม่มีนักเทคโนโลยีพันธุ์แท้ในรัฐบาล สิ่งที่รัฐแสดงออกในการส่งเสริมเรื่องเทคโนโลยีก็เป็นไปในเชิงความตกลงทางการค้า เพื่อนำเทคโนโลยีเข้ามาได้ง่ายขึ้น เรื่องของเทคโนโลยีที่เป็นนโยบายระดับรัฐบาล แต่การ แก้ปัญหาไม่ตรงจุดก็เป็นเหตุผลที่เทคโนโลยีของไทยต้อง พึ่งต่างชาติมาตลอด

“เรามีนักวิจัยอยู่มาก แต่ยังขาดนักเทคโนโลยีซึ่งมีอยู่ไม่กี่สิบคน ถ้าเทียบกับประเทศที่เจริญแล้วอย่างญี่ปุ่น เขามีนักเทคโนโลยีมากกว่านักวิทยาศาสตร์ รวมกันแล้วมีประมาณ 1.3 ล้านคน บ้านเรามีนักวิทยาศาสตร์มากกว่านักเทคโนโลยี รวมกันแล้วประมาณ 13,000 คน เท่ากับร้อยละ 1 ของ ญี่ปุ่น เห็นได้ชัดว่าเราขาดแคลนนักเทคโนโลยีมาก แต่รัฐบาลยังไม่เข้าใจ และไม่ตั้งเป้าหมายไว้”

วิธีการไม่สำคัญเท่าการได้ไปถึงเป้าหมาย บางประเทศอาจอยู่ในฐานะนักเลียนแบบในตอนแรก แต่ท้ายที่สุดก็ก้าวพ้นสถานะเดิมไปเป็นนักเทคโนโลยีตามจุดหมาย ที่ได้ตั้งไว้ การซื้อแล้วให้ค่า Patent แก่เจ้าของเทคโนโลยี แต่ตัวเองไม่ได้อะไรนอกจากสิทธิ์ในเทคโนโลยีและค่าแรงรับจ้างผลิต ก็ไม่ทำให้อะไรดีขึ้นมา นโยบายสนับสนุนการสร้าง นักเทคโนโลยีก็ไม่ชัดเจน หากนักเทคโนโลยีไทยจะเกิดขึ้นได้สักคนคงต้องมาจากความพยายามทำทุกอย่างด้วยตัวเอง

เก่งอย่างเดียวอาจไม่พอ แม้ใจรักจะเป็นนักเทคโนโลยี
ในสัปดาห์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา มีการมอบรางวัลแก่นักเทคโนโลยีในภาคเอกชนที่พิสูจน์ว่าตนเองเป็นผู้พัฒนาเทคโนโลยีในระดับอุตสาหกรรมไปสู่สภาพที่แข่งขันได้ สามารถมีผลิตภัณฑ์และขนาดธุรกิจที่มีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ สร้างงานที่มีความหมายน่าภูมิใจแก่คนไทย ซึ่งรางวัลแบ่งออกเป็นกลุ่มนักเทคโนโลยีดีเด่นและนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ รางวัลจึงน่าจะ สร้างบรรยากาศและความตื่นตัวในการสร้างเทคโนโลยีและเป็นแบบอย่างที่ดีที่แสดงถึงการมีเทคโนโลยีเป็นของตนเอง ได้พอสมควร

“บ้านเราโตไม่ได้ในทางเทคโนโลยี ยกเว้นคนที่นอกคอก ออกไปคนเดียว อย่างคุณปิยะ จงวัฒนา ที่ได้รับรางวัล นักเทคโนโลยีดีเด่นประจำปีนี้ ที่ออกแบบและสร้างเครื่องจักรผลิตน้ำแข็งหลอด เขาก็ออกไปทำของเขาเอง ดีไซน์เครื่องมือเอง จนเป็นเครื่องจักรที่ส่งออกได้ และรับทำให้คนอื่นด้วย ถึงแม้เทคโนโลยีไม่สูงนักแต่ก็เป็นเครดิตว่าเขาทำเอง ถือเป็นเรื่องที่ดี”

ผู้ที่จะสร้างเทคโนโลยีได้ต้องมีพื้นฐานทางเทคโนโลยีที่ลึกที่สุด เพราะต้องไปค้นหาวิธีใหม่เพื่อสร้างเทคโนโลยี ไม่ใช่วิธีเก่าๆ เดิมๆ นักเทคโนโลยีต้องถึงพร้อมด้วยความรู้ระดับลึกซึ้งแล้วจึงคิดออกมา โดยไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นเทคโนโลยีระดับสูงเท่านั้น เพราะเทคโนโลยีที่ประเทศกำลังต้องการเป็นเทคโนโลยีในทุกระดับที่คนมีความสามารถทำ หรือที่รัฐบาลสนับสนุน

อย่างไรก็ตาม ด้วยหน้าที่สร้าง ซึ่งตรงกับหน้าที่ของวิศวกร แต่วิศวกรก็ไม่ใช่นักเทคโนโลยี หากเปรียบเทียบ กันแล้ววิศวกรเป็นผู้คอยตามนักเทคโนโลยี เพราะวิศวกร มีแบบแผนในการปฏิบัติงานที่ยึดถือกันมา รู้ว่าวัสดุหรือสารแต่ละอย่างมีคุณสมบัติอย่างไร เป็นผู้นำความรู้นั้นมาใช้ในงาน แต่ไม่ใช่ผู้สร้างหรือทดลองสิ่งใหม่ที่ไม่เคยมีใครทำ

ส่วนการจะสร้างนักเทคโนโลยีสักคนหนี่งต้องทำ อย่างไรนั้น ดร.วิโรจน์ กล่าวว่า นักเทคโนโลยีต้องมาจากการฝึกฝนจากนักเทคโนโลยีด้วยกัน ทำงานด้วยกัน เรียนรู้วิธีการทำงาน สร้างความเคยชินกับสภาวะท้าทาย แต่ความสำเร็จในการสร้างเทคโนโลยีก็ขึ้นกับหลายๆ อย่าง นอกจากความขยันที่ต้องมีเป็นทุนเดิมแล้ว ยังรวมถึงสิ่งที่ฝึกฝนกัน ไม่ได้อย่างพรสวรรค์ บางครั้งก็ขึ้นกับจังหวะและโอกาสด้วย

ความรู้ท่วมหัว (นักเทคโนโลยี) เอาตัว (และประเทศชาติ) ได้รอด
ปัญหาและข้อจำกัดหลายๆ อย่างทำให้เราต่างแสวงหา หนทางเพื่อความอยู่รอด ซึ่งเทคโนโลยีสามารถเป็นทางออกได้ ราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้เราเริ่มคิดถึงการพึ่งตัวเอง หันมามองสิ่งที่มีอยู่ วิกฤติน้ำมันที่จะเกิดขึ้น แน่นอนเพียงแต่ช้าหรือเร็ว เมื่อเวลานั้นมาถึงสิ่งเดียวที่ดูจะเป็นคำตอบคือเทคโนโลยี ซึ่ง ดร.วิโรจน์ ก็ได้วางแผนสำหรับโครงการรองรับวิกฤตที่คาดการณ์กันว่าจะเกิดในอีกสองทศวรรษหน้าไว้แล้ว

“ภายใน 20 ปีนี้ เราก็รู้ว่าจะเกิดวิกฤตน้ำมัน อาจจะ หมดลงหรือไม่ก็แย่งกันใช้ ซึ่งเราไม่มีโอกาสซื้อ เพราะคนที่มีอำนาจมากกว่าเขาจะซื้อไป บางคนบอกว่าถ้าอย่างนั้นเราก็ซื้อโซลาร์เซลล์เข้ามาใช้ ซื้ออีกแล้ว ไม่ซื้อน้ำมันก็ซื้อโซลาร์เซลล์ ปีละแสนล้านบาทไปเรื่อยๆ เรื่องของโซลาร์เซลล์นั้นเราสามารถ ทำเองได้ อย่างน้อยก็ทำได้ดีเท่ากับที่รับจากต่างชาติมา โดยใช้แกลบผลิตเป็นซิลิคอนวัตถุดิบในการผลิตโซลาร์เซลล์ อีกทอด ทุกวันนี้เราขายเถ้าแกลบเกวียนละไม่กี่บาทให้คนอื่นไปทำโซลาร์เซลล์มาขายเรากิโลกรัมละแสนบาท”

“ผมได้เสนอรัฐบาลในโครงการสร้างเทคโนโลยีผลิตเซลล์แสงอาทิตย์ในระดับ 5,000 คนปี ก็คือว่าถ้าทำคนเดียวจะใช้เวลา 5,000 ปี แต่ถ้า 250 คน จะใช้เวลา 20 ปี หรือ 500 คน จะใช้เวลา 10 ปี ซึ่งเราก็ต้องสร้างคนให้พร้อม ตั้งแต่แรก การสร้างนักเทคโนโลยีต้นแบบ เพื่อจะสร้าง นักเทคโนโลยีให้ได้จำนวนมากขึ้นป้อนโครงการนี้ต่อไป เบื้องต้นควรสร้างให้ได้ 250 คน เพื่อที่คนเหล่านี้อาจจะสร้างนักเทคโนโลยีเพิ่มอีกท่านละคน เมื่อมีนักเทคโนโลยี 500 คน แล้ว โครงการนี้จะสำเร็จได้ภายใน 10 ปี โครงการนี้กำลังจะ เป็นความจริงในไม่ช้าเพราะกระทรวงพลังงานเห็นชอบแล้ว ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนกฤษฎีกา หากผ่านการอนุมัติจาก ครม. ก็จะเป็นองค์กรมหาชน”

“รัฐบาลต้องเข้าใจว่าถ้าเราจะเป็นชาติที่พึ่งพาตัวเองได้ในเทคโนโลยี รัฐบาลต้องเข้าใจวิธีคิดนี้ และโครงการนี้จะเป็นแหล่งสร้างนักเทคโนโลยีที่มีความสามารถ เป็นโครงการที่จะสร้างผลประโยชน์แก่ประเทศอย่างกว้างขวางพร้อมกันไปด้วย ก็ต้องเริ่มจากการสร้างคน เพื่อที่จะไปสร้างวิธีใหม่ที่จะสร้างเซลล์แสงอาทิตย์ของเราเอง ทั้งนี้ทั้งนั้น การไปสู่จุดหมายก็ต้องมีหลายๆ Approach ด้วย แข่งกัน ใครไปถึงจุดหมายก็ Winning Technology ไม่ใช่ทำทางเดียว ถ้าล้มเหลวก็จบ”

ที่มา //www.engineeringtoday.net/magazine/articledetail.asp?arid=1407&pid=137


Create Date : 29 ธันวาคม 2550
Last Update : 30 ธันวาคม 2553 20:27:26 น. 0 comments
Counter : 1363 Pageviews.  
 
Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

Mr.Terran
 
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 39 คน [?]




ซิดนี่ย์ เจ.แฮร์ริส เคยกล่าวไว้ว่า
"อันตรายที่แท้จริง ไม่ใช่อยู่ที่ว่า Computer จะเริ่มคิดเหมือนมนุษย์
แต่อยู่ที่ว่า มนุษย์ จะเริ่มคิดเหมือน Computer" ผลงานทุกชิ้นใน BLOG ขอสงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ห้ามมิให้ดัดแปลง ลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต ยกเว้นบทความที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา New Document
New Comments
[Add Mr.Terran's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com