Neothais : We will save the world


 
ธันวาคม 2550
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
28 ธันวาคม 2550
 

มันสมองไทยใน‘นาซ่า’ ‘ดร.ธวัช วิรัตติพงศ์’ หนึ่งในทีม‘บอมบ์ดาวหาง’

โครงการ “ดีพ อิมแพค” ขององค์การบริหารการบินแห่งชาติ (นาซ่า) สหรัฐอเมริกา ที่ส่งกระสวยอวกาศพุ่งเข้า “บอมบ์ดาวหาง” ที่ชื่อ “เทมเพล-วัน” ซึ่งเป็นข่าวฮือฮาไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ และถือได้ว่าเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ทางด้านอวกาศของมวลมนุษยชาตินั้น นอกจากนักวิทยาศาสตร์อเมริกันเองแล้ว...เบื้องหลังความสำเร็จที่เกิดขึ้นยังมีนักวิทยาศาสตร์-ผู้เชี่ยวชาญสัญชาติอื่น ๆ เข้าร่วมวงด้วย...

และก็รวมถึง “นักวิทยาศาสตร์เลือดไทย” วัย 54 ปี...ที่ได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าทีมคุมระบบสัญญาณและข้อมูลระหว่างที่ยาน “อิมแพคเตอร์” พุ่งเข้าชนดาวหาง

“ดร.ธวัช วิรัตติพงศ์”

ดร.ธวัช วิรัตติพงศ์ นักวิทยาศาสตร์ “มันสองไทย” ในองค์การ “นาซ่า” เล่าชีวิตตนเองให้ฟังว่า... พื้นเพครอบครัวนั้นอยู่ที่ จ.สงขลา เรียนจบ ม.ศ.5 ที่โรงเรียนมหาวชิราวุธ จากนั้นมาเรียนต่อปริญญาตรีด้านวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แล้วก็เรียนต่อปริญญาโททันที ซึ่งเมื่อกว่า 30 ปีก่อนตอนนั้นการเรียนปริญญาโทมีเพียงมหาวิทยาลัยเดียว และมีคนเรียนจบปริญญาโทเพียง 4 คนเท่านั้น

หลังจากเรียนจบปริญญาโทที่จุฬาฯแล้ว ได้ย้ายงานที่ทำอยู่ที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคมาเป็นอาจารย์ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อเตรียมตัวหาทุนไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกา

หาทุนอยู่ 2 ปี ก็ยังไม่มีทุนในสาขาที่อยากจะเรียน ดร.ธวัชบอกว่า... จำได้ว่าถามไปที่สำนักงาน ก.พ. ว่ามีทุนทางด้านวิศวกรรมไฟฟ้าหรือไม่ พอได้รับคำตอบว่าไม่มีก็รู้สึกว่าเซ็งมาก นั่งรถเมล์กลับบ้าน พอผ่านวัดเบญจมบพิตร ตอนนั้นนึกอย่างไรไม่ทราบรีบกดกริ่งรถเมล์ให้จอดป้าย แล้วเดินเข้าไปไหว้พระ

“นั่งอยู่ในวัดนานมาก ทำให้นึกได้ว่า ทำไมจะต้องไปโง่รอทุนอยู่ได้ตั้งนาน ทุนอาจจะไม่มีมาอีกหลายปี น่าจะไปขอพ่อสัก 6 เดือน หลังจากนั้นก็ทำงานไปด้วย เรียนไปด้วย”

คิดได้ดังนั้นก็ตัดสินใจไปขอความช่วยเหลือจากคุณพ่อ ปรากฏว่าพ่อใจดีตกลงให้เงินมา ทั้ง ๆ ที่พ่อเป็นคนประหยัดมาก เพราะครอบครัวมีพี่น้องเยอะ รายจ่ายก็เยอะตามไปด้วย ลูกบางคนคุณพ่อต้องส่งไปเรียนที่ปีนัง ส่วน ดร.ธวัชได้เรียนที่กรุงเทพฯ ซึ่งทางคุณพ่อก็ต้องประหยัดมากๆ

ดร.ธวัชบอกว่า... จุดนี้เป็นจุดเปลี่ยนของชีวิตจริงๆ รีบสมัครเรียน และได้รับการตอบรับมาหลายแห่ง แต่เลือก โอไฮโอ สเตท ยูนิเวอร์ซิตี้ เพราะมีงานวิจัยทางด้านเสาอากาศสำหรับรับคลื่นหลายชิ้น และมีทุนวิจัยให้นักศึกษาเยอะมาก ที่สำคัญมหาวิทยาลัยอยู่ในเมืองเล็กที่เงียบสงบ และปลอดภัยดี

อีกสาเหตุที่เลือกมหาวิทยาลัยแห่งนี้ก็คือ ตอนที่ทำวิทยานิพนธ์ที่จุฬาฯก็ทำด้านเสาอากาศ และได้อ่านหนังสือของ โปรเฟสเซอร์ เจ.ดี. ครอส ของโอไฮโอ สเตท ยูนิเวอร์ซิตี้ ซึ่งถือเป็นบิดาทางด้านเสาอากาศ

“ผมได้เห็นเสาอากาศที่เขาออกแบบแล้วเอาไปใช้บนดวงจันทร์ และออกแบบเสาอากาศบิ๊กเอียร์ ขนาดเท่าสนามฟุตบอล ทำให้รู้สึกตื่นเต้น อยากรู้ว่าการออกแบบใช้งานจริง ๆ จะต่างจากที่อ่านหนังสือมากแค่ไหน และอยากจะทำเองบ้าง”

ดร.ธวัชเล่าต่อไปว่า... มันเหมือนกับความฝันจริงๆ ตอนที่เรียนปริญญาเอก และได้ทำงานเป็นผู้ช่วยนักวิจัย ซึ่งห้องที่ทำงานก็อยู่ใกล้กับห้องของโปรเฟสเซอร์ เจ.ดี. ครอส ถัดกันเพียงห้องเดียว

“หลังจากเรียนจบแล้วผมได้มีโอกาสออกแบบเสาอากาศขนาดยักษ์ที่ใช้บนพื้นโลก และออกแบบชิ้นส่วนของเสาอากาศที่ใช้บนดาวเทียมด้วย ก็ตรงตามที่เคยใฝ่ฝันไว้”

นักวิทยาศาสตร์ไทยในนาซ่าเล่าย้อนถึงชีวิตนักศึกษาในสหรัฐอเมริกาว่า... ต้องใช้เงินอย่างประหยัดมากๆ ค่าใช้จ่ายต่อเดือนอยู่ที่ 100-120 เหรียญสหรัฐ ไม่รวมค่าเล่าเรียน ซึ่งถือว่าใช้น้อยมาก น้อยกว่านักเรียนทุน ก.พ. ซึ่งได้ 400 เหรียญต่อเดือน เพราะต้องประหยัดเงินที่พ่อส่งเสียมาให้

“ต้องพยายามใช้เงินให้น้อยที่สุด ปิดเทอมก็ซื้อของแห้งมากักตุนไว้ ทานอาหารข้างนอกบ้านให้น้อยที่สุด เช่าห้องพักราคาถูก ดูแค่ว่าสะอาด แต่ปลอดภัย ซื้อของก็เน้นที่ลดราคา”

พอเรียนไปได้ 6 เดือนก็ได้ทุนผู้ช่วยนักวิจัย เริ่มมีเงินเดือน มีออฟฟิศ และไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียน เงินเดือนเริ่มจาก 500 เหรียญ เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนถึง 1200 เหรียญ แต่ก็ยังใช้จ่ายแบบประหยัด จนเริ่มมีเงินเก็บ

ดร.ธวัชเล่าอีกว่า... เรียนหนังสือหนักหนาจริง ๆ เพราะไปทำวิทยานิพนธ์กับอาจารย์ที่สุดหินจริงๆ กว่าจะจบก็แทบแย่ แต่ข้อดีในสุดท้ายก็คือช่วยให้สามารถสมัครงานที่ นาซ่า–เจพีแอล (NASA-JPL) ได้ เพราะคนที่สัมภาษณ์เข้าทำงานที่นาซ่ารู้กิติศัพท์ของอาจารย์ที่ปรึกษาคนที่ว่านี้

“ผมเรียนวิชาเอกทางด้านอิเล็กโทรแมติก ทรีออรี่ และแอนเท็นน่า และวิชาโทด้านควอนตัม ฟิลิกส์ เลเซอร์ ออฟติก และคณิตศาสตร์ ซึ่งก็ไปได้ด้วยกันหมด โชคดีที่วิทยานิพนธ์ของผมได้รับเลือกเป็นวิทยานิพนธ์ยอดเยี่ยมประจำปี ค.ศ. 1983 ของอิเล็คโทร ไซน์ แลบอราทอรี่”

เมื่อเรียนจบแล้วก็รู้สึกว่าอยากจะหางานทำที่อเมริกา เพื่อหาประสบการณ์ และหาเงินเพิ่ม ก็เลยหางานทำ ปรากฏว่าไปที่บริษัทไหน ๆ ก็โดนปฏิเสธหมด ด้วยสาเหตุที่ว่าไม่มีกรีนการ์ด ไปสมัครงานอาจารย์ตามมหาวิทยาลัยซึ่งไม่ค่อยเข้มงวดเรื่องกรีนการ์ดเท่าไร แต่ก็สมัครเข้ายากเช่นกัน แต่ก็โชคดีมากที่เท็กซัส เอ แอนด์ เอ็ม ยูนิเวอร์ซิตี้ ที่แคมปัสเล็ก ๆ ที่เมืองคิงส์วิลล์ รับเข้าทำงาน ก็ดี แต่ยังรู้สึกว่าอยากจะทำงานอื่นมากกว่า

“พอผมได้กรีนการ์ดก็รีบสมัครงานตามบริษัทต่าง ๆ ทันที ในที่สุดก็ได้ทำงานที่นาซ่า เจ็ท โพรพัลชั่น แลบอราทอรี่ (NASA-JPL) ซึ่งเป็นศูนย์อันดับหนึ่งของนาซ่าที่ทำงานทางด้านสำรวจอวกาศ ทั้งใกล้โลกและห่างไกลออกไป โดยใช้ดาวเทียมหรือยานอวกาศที่ไม่มีคนอยู่เลย”

ดร.ธวัชกล่าวว่า... โชคดีมากที่ได้ทำงานร่วมกับทีมที่เป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านการออกแบบจานเสาอากาศ ได้เข้าไปเรียนรู้จากเขา และต้องพยายามตามเขาให้ทัน ภายหลังก็ทำงานไปได้ด้วยกันอย่างดีมาก และมีความนับถือในฝีมือซึ่งกันและกัน

ทำงานที่นาซ่า–เจพีแอลอยู่ร่วม 23 ปี และในช่วง 8 ปีหลัง ดร.ธวัชก็ได้ทำงานเป็นโปรเจ็ค แมเนเจอร์ โดยเริ่มจากโครงการเล็ก ๆ ก่อน ในวงเงินประมาณ 10 ล้านบาท หลังจากนั้นเมื่อทำงานประสบความสำเร็จก็ได้รับผิดชอบเป็นหัวหน้าโครงการที่ใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งทั้งหมดนี้ขึ้นกับผลงานที่ผ่านมา ถ้าทำมาดีก็จะได้ดี

“ตอนนี้ผมเป็นหัวหน้าโครงการ เป็นหัวหน้าทีมออกแบบทางด้านอาร์เอฟ ออฟติค ของจานเสาอากาศขนาด 34 เมตร ซึ่งได้ทำการก่อสร้างเสร็จงานรวม 7 จาน ในอเมริกา ออสเตรเลีย และสเปน โดยราคาจานเสาอากาศรวมค่าเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ ตกประมาณชุดละ 1,500 ล้านบาท”

นอกจากนี้ ก็ยังได้ออกแบบ ควอซี่ ออฟติดคอล ทรานมิสชั่น ไลน์ รับ-ส่งสัญญาณวิทยุบนดาวเทียม ซึ่งใช้รับ-ส่งสัญญาณวิทยุบนดาวเทียมคลาวแสท ซึ่งจะถูกปล่อยสู่อวกาศปลายปีนี้

กับชีวิตครอบครัว ดร.ธวัชเปิดเผยว่า... ปัจจุบันได้แต่งงานใช้ชีวิตคู่กับ ดร.สุมน วิรัตติพงศ์ อดีตหัวหน้าภาควิชาภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ และมีลูก 2 คนที่เกิดจาก ดร.พักตรา วิรัตติพงษ์ อดีตภรรยา ซึ่งป่วยและจากไปเมื่อหลายปีมาแล้ว โดยลูกคนโตเป็นลูกสาวชื่อ ดาริน วิรัตติพงศ์ กำลังเรียนที่มหาวิทยาลัยซานดิเอโก้ ส่วนคนเล็กเป็นลูกชายชื่อ ดิเรก วิรัตติพงศ์ กำลังเรียนอยู่เกรด 5

แม้จะมีการงานมั่นคง และครอบครัวก็อยู่กันที่ประเทศสหรัฐอเมริกา แต่นักวิทยาศาสตร์ไทยในนาซ่าคนนี้ก็ไม่ได้ลืมเมืองไทย ได้มีส่วนร่วมในงานวิจัยในเมืองไทยด้วย และกำลังจะมาเมืองไทยในเดือน ส.ค.นี้

ดร.ธวัชบอกว่า... ตอนนี้ก็มีงานวิจัยและพัฒนาบูรณาการของสำนักงานคณะกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ (วช.) ซึ่งมี ศ.ดร.ชัยอนันต์ สมุทรวานิช เป็นประธาน โดยเขาเองเป็นหัวหน้าแผนกทางด้านยา เคมีภัณฑ์ และวัสดุทางการแพทย์ โดยเน้นให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อลดการนำเข้า เพื่อเพิ่มการส่งออก ซึ่งในช่วงหลัง ๆ ก็เดินทางมาเมืองไทยบ่อย เพราะต้องมาประชุมติดตามความคืบหน้าอย่างสม่ำเสมอ

“ผมรักเมืองไทยมาก เมืองไทยเป็นบ้านเกิดของผม ไม่มีที่ไหนจะสบายเท่าที่นี่ และผมตั้งใจว่าจะต้องมาช่วยพัฒนาประเทศไทยให้เจริญทัดเทียมกับต่างชาติให้ได้” ...เป็นคำกล่าวทิ้งท้ายของ “มันสมองไทยในนาซ่า” ที่ชื่อว่า... “ดร.ธวัช วิรัตติพงศ์”

‘ดีพ อิมแพค’บรรลุฝัน

กับโครงการ “บอมบ์ดาวหาง” ที่ “ดร.ธวัช วิรัตติพงศ์” ได้มาส่วนร่วมด้วย โดยเป็นคนไทยคนเดียวในโครงการนี้นั้น เจ้าตัวบอกว่า... งานส่วนที่รับผิดชอบในโครงการคือทำหน้าที่สนับสนุนในส่วนของการรับสัญญาณที่ส่งมาจากยานอวกาศซึ่งอยู่ห่างไกลจากโลกประมาณ 130 ล้านกิโลเมตร และส่งต่อไปให้ทีม ดาต้า โปรเซสซิ่ง เพื่อนำผลและภาพเสนอต่อไปยังผู้ควบคุมโครงการอีกที

ดร.ธวัชบอกอีกว่า... แต่ละปีทางนาซ่าจะมีเรื่องตื่นเต้นเสมอ ซึ่งปีนี้ “ดีพ อิมแพค” ถือว่าตื่นเต้นมาก เพราะเป็นสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน คือการส่งยานเข้าชนดาวหางด้วยความเร็วขณะชนประมาณ 37,000 กม./ชม. ซึ่งก่อนจะชนยานจะถ่ายภาพระยะใกล้ของดาวหางแล้วส่งภาพไปให้ยานแม่เรื่อยๆ จนกระทั่งเข้าชน จากนั้นทางยานแม่ก็จะรับช่วงถ่ายภาพเก็บข้อมูล นอกจากนี้ก็ยังมียานอวกาศอื่นที่คอยมอนิเตอร์เหตุการณ์นี้ด้วย

สำหรับบนพื้นโลกก็จะมีหอดูดาวมากกว่า 60 แห่ง ใน 20 ประเทศ ที่เฝ้าดูเหตุการณ์นี้ และวันปฏิบัติการก็เป็นวันชาติอเมริกา ถือว่าเป็นดอกไม้ไฟในอวกาศ ทุกคนที่นาซ่าต่างก็ตื่นเต้นมาก และเมื่อทุกอย่างประสบความสำเร็จตรงตามแผน ทุกคน โดยเฉพาะคนที่ทำงานอยู่ในโครงการนี้ ก็ยิ่งตื่นเต้นดีใจเป็นพิเศษ

“โครงการนี้ทำให้ผมได้บรรลุความฝันในวัยเยาว์ของผม ผมอยากจะรู้ว่าบนท้องฟ้ามันมีอะไร ? ดวงดาวต่างๆ มาจากไหน ? มนุษย์ต่างดาวที่เขาร่ำลือกันมีจริงหรือเปล่า ? ซึ่งแม้ว่าผมอาจจะยังไม่ได้รับคำตอบทั้งหมด แต่ก็ถือว่าได้บรรลุความฝันในวัยเด็กของผมแล้ว” ...ดร.ธวัชกล่าว


“สุภารัตน์ ยอดศิริวิชัยกุล :รายงาน
เดลินิวส์ 31ก.ค.2548


Create Date : 28 ธันวาคม 2550
Last Update : 30 ธันวาคม 2553 20:27:10 น. 1 comments
Counter : 1677 Pageviews.  
 
 
 
 
ไม่นึกว่า อามาร์เกดอน จะกลายเป็นจริงขึ้นมาในวันนี้ อย่างนี้คำทำนายของ นอสตราดามุสก้อค่อยๆ ปรากฏเรื่องราวขึ้นเรื่อยๆ...Doom Day มิเสียแรงที่เรามีไว้อ่านเล่มหนึ่ง..


อาจารย์แกเก่งมากๆเลยคะ
 
 

โดย: ซำปอกง IP: 124.120.10.113 วันที่: 29 ธันวาคม 2550 เวลา:20:26:58 น.  

Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

Mr.Terran
 
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 39 คน [?]




ซิดนี่ย์ เจ.แฮร์ริส เคยกล่าวไว้ว่า
"อันตรายที่แท้จริง ไม่ใช่อยู่ที่ว่า Computer จะเริ่มคิดเหมือนมนุษย์
แต่อยู่ที่ว่า มนุษย์ จะเริ่มคิดเหมือน Computer" ผลงานทุกชิ้นใน BLOG ขอสงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ห้ามมิให้ดัดแปลง ลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต ยกเว้นบทความที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา New Document
New Comments
[Add Mr.Terran's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com