สวัสดีค่ะ ภาระหน้าที่ทำให้ต้องเดินทางไกลมาถึงบัวโนสไอเรส แต่ยังคิดถึงเพื่อนบล็อกทุกคนนะค่ะ
กระดูกสันหลัง : เสาเข็มของร่างกาย

บ้านที่มั่นคงแข็งแรงมีจุดเริ่มจากรากฐานที่ดี และโครงสร้างที่แข็งแรง หากโครงสร้างของบ้านมีปัญหา ไม่ว่าบ้านหลังนั้นจะตกแต่งด้วยปูนชั้นเยี่ยม สีทาภายนอกราคาแพง หรือติดวอลล์เปเปอร์ที่ดูหรูหราเพียงใด ไม่ช้าก็เร็ว บ้านหลังนั้นก็จะทรุดลงมา ซึ่งอาจทรุดตัวตามธรรมชาติ หรือจากแรงกระเทือนเพียงเล็กน้อยที่ไม่ควรส่งผลร้ายต่อบ้านที่มีโครงสร้างดี ร่างกายของคนเราก็เช่นกัน กระดูกสันหลังของร่างกายเปรียบได้กับเสาเข็มที่ดีของบ้าน ต่างกันตรงที่บ้านหนึ่งหลังสามารถมีเสาเข็มได้หลายต้นเพื่อรองรับหรือกระจายน้ำหนักออกไป แต่เสาเข็มของคนเรามีเพียงต้นเดียวที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด และเราต้องใช้มันไปจนตาย โดยไม่สามารถเปลี่ยนเสาเข็มนี้ได้เลยอีกตลอดชีวิต ทำได้แต่เพียงดูแลรักษา หรือซ่อมแซมมันให้รองรับน้ำหนักของร่างกายไปได้จนตลอดรอดฝั่ง

เสาเข็มที่ทำให้คนต่างจากสัตว์

สิ่งมีชีวิตที่มีกระดูกสันหลังนั้นมีมากมาย แต่สิ่งที่ต่างออกไปคือในสิ่งมีชีวิตทั้งหลายเหล่านั้น มีเพียง “มนุษย์” เท่านั้นที่มีกระดูกสันหลังตั้งตรงในแนวดิ่งกับพื้นโลก ทำให้คนเราสามารถยืนได้ด้วยสองขา ในขณะที่สิ่งมีชีวิตอื่นนั้นล้วนแต่มีกระดูกสันหลังที่ขนานไปกับพื้นโลก ทำให้ต้องรับน้ำหนักด้วยสี่ขาเป็นส่วนมาก ที่ใกล้เคียงกับคนหน่อย คือ ลิง ซึ่งสามารถยืนหรือเดินสองขาได้ แต่ก็ไม่ตลอดเวลา ทำได้เพียงชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น

ด้วยเหตุที่กระดูกสันหลังของคนเราตั้งตรงเป็นแนวดิ่งกับพื้นโลก ทำให้กระดูกสันหลังต้องรับน้ำหนักร่างกายอย่างมากตามอายุและน้ำหนักตัวที่มากขึ้น ดังนั้นเราจะเห็นว่ากระดูกสันหลังจะมีขนาดใหญ่ขึ้นจากล่างขึ้นบน ตั้งแต่คอซึ่งมีหน้าตัดไม่เกิน 4-5 ซม. ไล่ลงมาถึงกระดูกช่วงเอวซึ่งอาจมีหน้าตัดถึง 10 ซม.ได้ในคนตัวใหญ่ แต่เมื่อพิจารณาจากขนาดและน้ำหนักที่มันต้องแบกรับ จะเห็นได้ว่ากระดูกสันหลังจะต้องรับน้ำหนักต่อพื้นที่สูงมาก ประเด็นหลักที่ทำให้กระดูกสันหลังต่างไปจากเสาเข็มคือ เสาเข็มของบ้านเป็นแท่งตรงไม่มีการขยับเขยื้อนโดยเด็ดขาด แต่กระดูกสันหลังของร่างกายขยับได้ เพื่อให้ร่างกายสามารถก้มเงยหรือหมุนตัวไปในทิศทางที่ต้องการได้ ดังนั้นจะเห็นว่ากระดูกสันหลังนั้นเป็นผลผลิตของธรรมชาติที่วิศวกรยังไม่สามารถเลียนแบบได้ ในแง่ที่ต้องรับน้ำหนักไปพร้อมๆ กับการให้มีการเคลื่อนไหวได้รอบทิศทาง

การเสื่อมสภาพของเสาเข็ม

กระดูกสันหลังจะโตเต็มที่เมื่อพ้นช่วงวัยรุ่นและเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ จากนั้นก็จะเริ่มเสื่อมสลายลงตามกฎของธรรมชาติที่ไม่มีอะไรเที่ยง การเสื่อมของกระดูกสันหลังที่พบได้บ่อย มักพบที่ช่วงคอ (Cervical 1-7) และเอว (Lumbar 1-5) ในขณะที่ช่วงหน้าอก (Thorax 1-12) และก้นกบ (Sacrum) จะไม่ค่อยก่อปัญหาจากความเสื่อม เพราะช่วงหน้าอกเป็นช่วงที่มีการเคลื่อนไหวน้อยกว่าช่วงคอและเอว อีกทั้งยังมีกระดูกซี่โครงช่วยกระจายการรับน้ำหนักออกไปรอบๆ ส่วนกระดูกก้นกบเป็นส่วนที่ไม่มีการเคลื่อนไหวใดๆ เลย อีกทั้งยังมีขนาดใหญ่ที่สุด ในขณะที่กระดูกคอนับเป็นส่วนที่การเคลื่อนไหวมากที่สุดของร่างกาย เราต้องหมุนศีรษะ หันซ้าย หันขวา ไปมาตลอดเวลา จึงเป็นจุดหนึ่งที่เกิดการเสื่อมได้บ่อยที่สุด ในขณะที่ช่วงเอวก็เช่นกัน เพราะเป็นช่วงที่ทำให้เราก้มเงยลำตัวได้ตามต้องการ จึงมีโอกาสเกิดการเสื่อมเนื่องจากการใช้งานมากที่สุดเช่นกัน การเสื่อมนี้ในภาษทางการแพทย์จะเรียกว่า Degeneration หรือ Spondylosis

เมื่อพูดถึงการเสื่อมสภาพของเสาเข็มนี้ ชาวบ้านทั่วไปมักนึกถึงแต่การเสื่อมของกระดูก แต่ในทางการแพทย์แล้วจะรวมถึง “หมอนรองกระดูกสันหลัง (Disc)” ไปด้วย หมอนรองกระดูกนี้จะเป็นส่วนที่ทำให้กระดูกแต่ละข้อเชื่อมต่อกันไปพร้อมๆ กับการมีอิสระในการเคลื่อนไหวตามที่ธรรมชาติสร้างมา เปรียบได้กับการที่เราตัดซอยเสาเข็มที่เป็นแท่งออกเป็นปล้องๆ และจับมันมาเรียงต่อกันใหม่ โดยแต่ละปล้องเราจะยัดวุ้นหรือเยลลีเหนียวๆ ไว้คั่นกลางกระดูกแต่ละปล้อง เพื่อยึดมันเข้าด้วยกัน ขณะเดียวกันด้วยความยืดหยุ่นของเยลลีนี้เองทำให้กระดูกแต่ละปล้องมีการเคลื่อนไหวได้ โครงสร้างของเยลลีนี้จะคล้ายกับหมอนที่เราหนุน คือมีเปลือกนอก (ปลอกหมอน) ที่มีความหนาและเหนียวมาก ภายในเต็มไปด้วยเยลลีเหนียวๆ (เทียบได้กับนุ่น) เยลลีที่เหนียวนี้เองที่เป็นตัวรับน้ำหนักและแรงกระแทกที่ถ่ายทอดลงมาตามแรงที่กระทำ (เช่น เวลาเรากระโดด) เมื่อใช้ไปนานๆ ปลอกของหมอนรองกระดูกอาจฉีกขาดทำให้เยลลีข้างในทะลักออกมาแล้วก่อปัญหากับร่างกาย

อาการเมื่อเสาเข็มเสื่อมสภาพ

เวลาพูดถึงการเสื่อมสภาพ เราจะพบว่ามักมีการเสื่อมสภาพพร้อมๆ กันของทั้งกระดูกสันหลังและหมอนรองกระดูกสันหลัง แล้วแต่ว่าอันไหนเป็นมากกว่า และอันไหนที่ก่ออาการให้เรา (ซึ่งอาจก่ออาการให้เราพร้อมๆ กัน) เวลากระดูกและหมอนรองกระดูกเสื่อมสภาพ จะมีเยลลีรั่วออกมาพร้อมๆ กับอาจมีกระดูกงอกออกมาทำให้ไปกดทับหรือระคายเคืองต่อเส้นประสาทและไขสันหลังที่ถูกร้อยเรียงอยู่ในท่อของกระดูกสันหลัง (เปรียบเหมือนมีสายไฟที่แนบไปตามความยาวของเสาเข็ม) จึงมักมีอาการจากระบบประสาทมากกว่าที่จะมีอาการจากตัวกระดูกเอง เช่น ปวดเมื่อยที่คอหรือเอว ปวดร้าวตามสะบัก ปวดร้าวหรือชาตามแขนขาปลายมือปลายเท้า ถ้าเป็นที่เอวจะมีผลทำให้เดินได้ไม่ไกล เพราะปวดหรืออ่อนแรงของขา นอกนั้นอาจมีอาการปวดตามกล้ามเนื้อท้ายทอยหรือเอว ในรายที่เป็นมาก เสาเข็มที่ว่าจะเคลื่อนตัวออกจากกัน ทำให้มีอาการปวดรุนแรง อัมพฤกษ์หรืออัมพาต (มักพบในรายที่มีการเคลื่อนตัวจากอุบัติเหตุ) อาการเหล่านี้มักดีขึ้นเมื่อได้พักหรือนอน แต่จะเป็นมากเวลานั่งหรือเดินไกลๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องยกของหนัก

การวินิจฉัยการเสื่อมสภาพของเสาเข็ม

การตรวจร่างกายทั่วๆ ไป เช่น การสังเกตการณ์เดิน ท่านั่ง การเปลี่ยนอิริยาบถ การทดสอบกำลังแขนขา เหล่านี้เป็นการตรวจที่สามารถทำได้ในทุกที่ แต่หากในรายที่แพทย์สงสัยหรือค่อนข้างมั่นใจว่าน่าจะมีความผิดปกติของเสาเข็มและต้องการวางแผนการรักษาที่แม่นยำ แพทย์จะแนะนำให้เข้ารับการตรวจกระดูกสันหลังและระบบประสาทด้วยเครื่องสนามแม่เหล็กไฟฟ้า หรือ MRI โดยให้นอนราบในอุโมงค์ที่ล้อมรอบด้วยสนามแม่เหล็กแรงสูง เครื่องจะสร้างภาพออกมาในเวลาประมาณ 30-60 นาที ภาพที่ได้จะค่อนข้างแม่นยำ สามารถทำให้แพทย์วางแผนการรักษาได้ง่ายและเหมาะสม ปัญหาที่เกิดขึ้นในการทำ MRI คือคนที่กลัวที่แคบจะไม่สามารถทำได้ ซึ่งสามารถเปลี่ยนไปใช้เครื่อง MRI แบบเปิด จะไม่มีลักษณะเป็นอุโมงค์เหมือนMRI ทั่วไป แต่คุณภาพที่ได้ในปัจจุบันของ MRI แบบเปิดนี้ยังสู้แบบที่เป็นอุโมงค์ไม่ได้

การรักษาซ่อมแซมเสาเข็ม

เมื่อมีการเสื่อมสภาพของเสาเข็มจากการใช้งาน หรือเมื่อมีอุบัติเหตุทำให้โครงสร้างเสาเข็มเสียหาย เช่นจากอุบัติเหตุรถยนต์ จักรยานยนต์ หรือจากการยกของหนักมากเกินตัว จึงจำเป็นต้องได้รับการรักษาเพื่อฟื้นฟูสภาพของกระดูกสันหลังให้กลับมาทำงานให้เป็นปกติมากที่สุด เนื่องจากเราไม่สามารถเปลี่ยนเสาเข็มนี้ได้ทั้งต้น การรักษาจึงเน้นไปในเรื่องของการป้องกัน การฟื้นฟู หรือการผ่าตัดซ่อมแซม

ในรายที่อาการน้อย เช่น ปวดไม่มาก ไม่มีอาการอ่อนแรง มีอาการชาแต่ไม่เดือดร้อนในการทำงาน อาจเพียงแค่รำคาญ มักให้รับประทานยาและทำกายภาพบำบัด โดยจุดประสงค์ไม่ใช่ให้กระดูกที่เสื่อมหรือหมอนที่แตกออกมากลับเข้าที่หรือกลับไปเป็นเหมือนเดิม แต่เพื่อทุเลาอาการที่มี เช่น เมื่อปวดก็ให้ยาแก้ปวด มีอาการชาก็ให้ยาบำรุงประสาท มีอาการอักเสบเนื่องจากการกดทับก็ให้ยาแก้อักเสบ มีอาการปวดเมื่อยที่กล้ามเนื้อก็ให้ยาคลายกล้ามเนื้อ ทั้งนี้ เราจะเห็นว่า การรักษาทางยามุ่งไปในเรื่องของการกดอาการที่มี แต่ไม่ได้รักษาตัวโรคโดยตรง แต่มุ่งหวังว่าจะดีขึ้นและสามารถใช้ชีวิตกับการเสื่อมนั้นได้ตามปกติต่อไป เรียกว่าอยู่กับโรคโดยไม่เดือดร้อน แต่ทั้งนี้ก็ต้องทราบด้วยว่าแม้ว่าอาการจะดีขึ้นแต่การเสื่อมสภาพของโครงสร้างของเสาเข็มนี้ยังมีอยู่ ซึ่งในบางรายอาจต้องมารับการแก้ไขด้วยการผ่าตัดในอนาคต และอาจทำได้ยากขึ้นเพราะสภาพของกระดูกสันหลังและหมอนรองกระดูกสันหลังจะเสื่อมมากตามเวลาที่ผ่านไป

ในรายที่ตรวจพบว่าการเสื่อมเป็นไม่มากแต่รับประทานยาแล้วไม่ได้ผล แพทย์อาจพิจารณาทำกายภาพบำบัดเป็นรายๆ โดยจุดประสงค์ของการทำกายภาพบำบัดก็เพื่อลดการอักเสบของกล้ามเนื้อเป็นหลัก แต่ไม่สามารถไปจัดการกับสภาพที่อยู่ลึกลงไปในกระดูกหรือเส้นประสาทภายในได้ ทั้งนี้การทำกายภาพบำบัดต้องอยู่ภายใต้ดุลพินิจของแพทย์เพราะบางรายมีอาการแย่ลงหลังทำกายภาพบำบัด เช่น หมอนรองกระดูกแตกเพิ่มขึ้น หรือกระดูกสันหลังเคลื่อน (กรณีนี้มักพบในรายที่ผู้ที่ไปใช้บริการภายภาพบำบัดพื้นบ้าน หรือนวดแผนโบราณ) หากเกิดการเคลื่อนขณะทำกายภาพบำบัดจะอันตรายมาก บางรายเป็นอัมพฤกษ์หรืออัมพาตทันทีและต้องรับการผ่าตัดด่วนเพื่อแก้ไขการกดทับระบบประสาท

การผ่าตัดรักษา

หากอาการเป็นมาก เช่น ปวดมากจนรบกวนการทำงานหรือการดำรงชีวิตประจำวัน แขนขาอ่อนแรง อัมพฤกษ์ มีอาการเกร็ง มีอาการชาตามปลายมือปลายเท้ามาก และตรวจด้วยเครื่อง MRI พบว่ามีการกดทับของระบบประสาท เช่น ไขสันหลังหรือรากเส้นประสาท โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรายที่มีการเคลื่อนตัวของกระดูกสันหลัง แพทย์จำเป็นต้องพิจารณาให้การรักษานอกเหนือไปจากการรับประทานยาเพียงอย่างเดียว เพราะหากปล่อยไว้อาจทำให้ระบบประสาทเสียหายมากขึ้น หรือกระดูกสันหลังทรุดตัวลงอย่างรุนแรงซึ่งจะเป็นอันตรายต่อระบบประสาทและการรับน้ำหนักตัวในอนาคต ซึ่งอาจต้องทำการรักษาอื่นตลอดจนผ่าตัด มีตั้งแต่การรักษาโดยการฉีดยาเข้าข้อซึ่งมักเป็นยาในกลุ่มสเตียรอยด์หรือยาแก้อักเสบ แต่ต้องระวังเรื่องผลข้างเคียงจากการฉีดยา เพราะการใช้ยาในกลุ่มนี้อาจส่งผลเสียในภายหลังได้

ส่วนการผ่าตัดรักษานั้นจุดประสงค์หลัก คือ แก้ไขการกดทับระบบประสาทที่เกิดจากหมอนรองกระดูกเคลื่อนตัว หรือการที่มีหินปูนงอกไปกดทับระบบประสาท ซึ่งมีตั้งแต่การใช้เข็มแทงเข้าไปในหมอนรองกระดูกสันหลังและปล่อยความร้อนที่ปลายเข็มเพื่อให้มีการหดตัวและทำให้การกดทับลดลง แต่วิธีนี้ก็มีข้อบ่งชี้จำเพาะซึ่งต้องเลือกเป็นรายๆ ให้เหมาะ เพราะอาจได้ผลเพียงแค่ชั่วคราวหรือได้ผลทางจิตวิทยาเท่านั้น ในรายที่เป็นมากแพทย์จะต้องผ่าตัดเปิดเข้าไปเพื่อแก้ไขการกดทับด้วยเครื่องมือผ่าตัดซึ่งในปัจจุบันมักใช้การผ่าตัดแบบเปิดแผลเล็ก ที่เรียกว่า minimally invasive surgery เช่น การใช้กล้องสอดเข้าไปผ่าตัด หรือการใช้กล้องจุลทรรศน์เพื่อขยายภาพในการผ่าตัด และเช่นเดียวกับการฉีดยาหรือการใช้เข็มแทงเพื่อรักษา คือต้องปรึกษาแพทย์ถึงผลดีผลเสียการใช้กล้องแต่ละแบบให้ดี เพราะมีข้อจำกัดในการผ่าตัดมิฉะนั้นอาจต้องกลับไปผ่าตัดแก้ไขใหม่ในภายหลัง




ข้อมูลจาก
//www.healthtodaythailand.com/



Create Date : 05 มีนาคม 2555
Last Update : 5 มีนาคม 2555 9:17:24 น. 1 comments
Counter : 842 Pageviews.

 
ผมจะรักษาเสาเข็มของผมให้ใช้ได้ไปอีก 50 ปีครับ

ก๊าก...เนี่ยผมจะอยู่ถึงร้อยปีหรือเนี่ย มีหวังเสาเข็มผุเป็นปุ๋ยละเนี่ย


โดย: ปลายแป้นพิมพ์ วันที่: 5 มีนาคม 2555 เวลา:15:11:03 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

kobnon
Location :
นนทบุรี Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 92 คน [?]




.
สาระน่ารู้ประจำวัน
1.โรคข้อสันหลังอักเสบติดยึด
2. บุหรี่ ทำนมยาน หูตึง
3. Upside down pineapple cake


music
Group Blog
 
<<
มีนาคม 2555
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
5 มีนาคม 2555
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add kobnon's blog to your web]
Links
 

MY VIP Friend

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.