สวัสดีค่ะ ภาระหน้าที่ทำให้ต้องเดินทางไกลมาถึงบัวโนสไอเรส แต่ยังคิดถึงเพื่อนบล็อกทุกคนนะค่ะ
ไวรัสตับอักเสบบี เรื้อรัง

ปัจจุบันประชากรโลกประมาณ 350-400 ล้านคนติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรัง โดยร้อยละ 75 ของผู้ป่วยจะอยู่ในแถบเอเชียแปซิฟิก สำหรับประเทศไทยมีคนไทยประมาณร้อยละ 3-5 ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรัง ดังนั้นไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรังจึงยังเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญอันหนึ่งในประเทศไทยและเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตจากโรคตับที่สำคัญอันหนึ่งด้วย

สาเหตุการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี

     ไวรัสตับอักเสบบีเป็นไวรัสชนิดหนึ่งที่เมื่อติดเชื้อเข้าสู่ร่างกายมนุษย์แล้ว จะไปเจริญเติบโตแบ่งตัวเป็นหลักอยู่ภายในเซลล์ตับ ไวรัสบีจะปนเปื้อนมากับเลือด น้ำเหลือง และสารคัดหลั่งของผู้ป่วย แล้วสามารถติดเชื้อสู่คนผ่านทางบาดแผล เยื่อบุ
สำหรับสาเหตุการติดเชื้อไวรัสบีที่สำคัญในคนไทย คือ

      1. จากมารดาสู่ทารก ซึ่งเป็นสาเหตุการติดเชื้อที่สำคัญ และพบบ่อยในคนไทย มารดาที่มีไวรัสบีที่ยังมีการแบ่งตัวขณะตั้งครรภ์ จะมีโอกาสติดเชื้อไวรัสบีไปยังทารกแรกเกิดได้สูงถึงมากกว่าร้อยละ 90 โดยมากกว่าร้อยละ 90 ของทารกจะไม่มีอาการอะไร แต่ก็ไม่หายจากโรค และจะกลายเป็นติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรัง

      2. การใช้เข็มหรืออุปกรณ์ที่ปนเปื้อนเลือดของผู้ป่วย เช่น ผู้ป่วยที่ฉีดยาเสพติดเข้าเส้น ใช้เข็มสักผิวหนังที่ไม่สะอาด รวมถึงการใช้อุปกรณ์บางชนิดร่วมกับผู้ป่วย เช่น ใบมีดโกน กรรไกรตัดเล็บ แปรงสีฟัน

      3. ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เนื่องจากไวรัสบีสามารถปนมากับสารคัดหลั่งในช่องคลอด หรือน้ำอสุจิ เราจึงสามารถติดเชื้อได้จากการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ป่วยไวรัสบี

      4. การรับเลือดหรือส่วนประกอบของเลือดที่มีไวรัสบี แต่เนื่องจากปัจจุบันมีการตรวจคัดกรองเลือดก่อนนำมาใช้ ทำให้โอกาสติดเชื้อไวรัสบีจากการรับเลือดหรือส่วนประกอบของโรคเลือดพบได้น้อยลงอย่างชัดเจน

กลุ่มเสี่ยง
    
       สำหรับกลุ่มเสี่ยงที่จะติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีที่สำคัญ ได้แก่

      1. ผู้ป่วยที่ฉีดยาเสพติดเข้าเส้น

      2. ทารกที่เกิดจากมารดาที่เป็นไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรัง

      3. บุคคลในครอบครัวที่อยู่ร่วมกับผู้ป่วย

      4. สามีหรือภรรยาของผู้ป่วย

      5. บุคลากรทางการแพทย์ที่มีโอกาสถูกเข็มแทงหรือสัมผัสกับเลือดของผู้ป่วย

      6. บุคคลที่มีโอกาสสัมผัสกับเลือดหรือสารคัดหลั่งของผู้ป่วย เช่น ทหาร เจ้าหน้าที่ช่วยเหลือผู้ป่วยหรือเก็บศพผู้ป่วย

อาการและอาการแสดง
     ผู้ป่วยที่เป็นไวรัสตับอักเสบบีฉับพลันมักจะเริ่มจากมีอาการไข้ ซึ่งมักเป็นไข้ต่ำๆ ร่วมกับอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน อาจมีอาการเจ็บที่บริเวณใต้ชายโครง และผู้ป่วยจะเริ่มสังเกตเห็นว่าปัสสาวะมีสีชาเข้มหลังจากเป็นไข้มาประมาณ 5-7 วัน หลังจากนั้นจะเริ่มสังเกตว่ามีอาการตาเหลือง ตัวเหลืองตามมา ซึ่งในช่วงที่ตัวเหลือง ตาเหลืองนี้ มักจะไม่มีไข้แล้ว หลังจากนั้นอาการจะค่อยๆ ดีขึ้น และหายเหลืองภายในระยะเวลา 1-2 เดือน แต่ในผู้ป่วยบางรายอาการตัวเหลืองอาจจะอยู่นานถึง 2-4 เดือน ซึ่งพบได้ประมาณร้อยละ 10-15 ของผู้ป่วย ขณะที่ประมาณร้อยละ 10-15 ของผู้ป่วยอาจมีอาการอย่างอื่นร่วมด้วย เช่น ปวดข้อ ข้ออักเสบ มีผื่นที่ผิวหนัง เป็นต้น
สำหรับผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อนานเกิน 6 เดือน โดยมีการตรวจพบ HBsAg ในเลือดนานเกิน 6 เดือนนั้น ก็จะจัดว่าเป็นไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรัง ซึ่งในระยะแรกผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรังส่วนใหญ่มักจะไม่มีอาการอะไร แต่เมื่อโรคมีการดำเนินจนมีตับแข็ง ผู้ป่วยมักจะมีอาการอ่อนเพลีย ไม่ค่อยมีแรง หรือรู้สึกอ่อนเพลียในตอนบ่าย เมื่อตรวจร่างกายอาจพบลักษณะของโรคตับอักเสบเรื้อรังหรือตับแข็ง เช่น มีเส้นเลือดฝอยขยายที่หน้าอก (spider nevi) เต้านมโตขึ้น (gynecomastia) เป็นต้น และเมื่อโรคดำเนินต่อไปจนเกิดภาวะตับวายเรื้อรังก็อาจพบอาการตัวเหลือง ท้องโตขึ้นจากการมีน้ำในช่องท้องที่เรียกว่าท้องมาร รวมถึงตับของผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรังอาจมีอาการอักเสบขึ้นมารุนแรงจนมีอาการคล้ายไวรัสตับอักเสบบีฉับพลัน หรือตับวายได้

การดำเนินโรค
     ผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรังที่ไม่ได้รับการรักษาจะมีอาการอักเสบของตับเรื้อรัง มีการทำลายตับและเกิดพังผืดมากขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นตับแข็ง ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วจะมีโอกาสเกิดตับแข็งประมาณร้อยละ 2-5 ต่อปี ถ้ายังมีตับอักเสบต่อเนื่อง ผู้ป่วยก็จะมีโอกาสเกิดตับวายเรื้อรัง (decompensated cirrhosis) ร้อยละ 4-6 ต่อปี ที่สำคัญคือมีโอกาสเกิดมะเร็งร้อยละ 2-5 ต่อปี ซึ่งในผู้ป่วยบางรายอาจเกิดมะเร็งตับโดยที่ไม่จำเป็นต้องมีตับแข็ง อย่างไรก็ตามผู้ป่วยบางรายอาจจะสามารถควบคุมการแบ่งตัวของไวรัสได้เอง ทำให้การดำเนินโรคไปเป็นตับแข็งหรือมะเร็งตับลดลง สำหรับผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสบีเรื้อรังตั้งแต่วัยทารกจะเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากโรคตับประมาณร้อยละ 25-40

การวินิจฉัยโรค
     การตรวจวินิจฉัยโรคไวรัสตับอักเสบบีสามารถทำได้โดย

      1. ตรวจดูว่ามีการติดเชื้อไวรัสบีเรื้อรัง โดยตรวจพบ HBsAg เป็นบวกในเลือดนานเกิน 6 เดือน

      2. ตรวจการแบ่งตัวของไวรัสบี โดยตรวจพบ HBeAg เป็นบวกในเลือด หรือตรวจนับปริมาณไวรัสบี (HBV DNA ) ในเลือด

      3. ตรวจเลือดดูการทำงานของตับ (liver function test : LFT) เพื่อประเมินดูว่ามีการอักเสบของตับและประเมินดูการทำงานของตับว่ายังสามารถทำงานได้หรือไม่

      4. การตรวจอัลตราซาวนด์ เพื่อประเมินดูว่าตับมีลักษณะตับแข็งหรือมะเร็งตับหรือไม่ นอกจากนี้ยังสามารถดูว่าผู้ป่วยมีน้ำในช่องท้อง มีม้ามโตหรือไม่

      5. ตรวจเลือดดู AFP เพื่อคอยเฝ้าระวังการเกิดมะเร็งตับ

      6. ปัจจุบันมีการใช้เครื่อง fibroscan เพื่อประเมินว่าตับมีพังผืดมากขนาดไหน และดูว่ามีตับแข็งหรือไม่

      7. การเจาะชิ้นเนื้อตับมาตรวจ เพื่อยืนยันการวินิจฉัยโรค ประเมินภาวะการอักเสบ และพังผืดของตับ

การรักษา
     ปัจจุบันแพทย์จะพิจารณารักษาผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรัง เมื่อยังมีการแบ่งตัวของไวรัสร่วมกับมีการอักเสบของตับ หรือหากมีหลักฐานว่ามีโรคตับ หรือมีพยาธิสภาพโรคตับ ดังนั้นในกรณีที่ผู้ป่วยมี HBsAg เป็นบวกในเลือด แต่ไม่มีการแบ่งตัวของไวรัสบี หรือไม่มีการอักเสบของตับ และไม่มีพยาธิสภาพในตับจึงยังไม่ต้องมีการรักษา แต่ต้องทำการเฝ้าระวัง และให้การรักษาเมื่อมีข้อบ่งชี้
สำหรับการรักษาไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรังในปัจจุบันมี 2 แบบหลักๆ คือ

      1. การฉีดยาอินเตอร์เฟียรอน หรือ เพ็กไกเลดเต็ด อินเตอร์เฟียรอน (pegylated interferon) ซึ่งเป็นการใช้ยาไปกระตุ้นภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยให้ต่อสู้และคุมไวรัสบี นอกจากนี้ยายังมีส่วนในการยับยั้งการแบ่งตัวของไวรัสบีโดยไปรบกวนการสร้างโปรตีนที่จำเป็นของไวรัส การรักษาด้วยวิธีนี้จะต้องฉีดยานานประมาณ 6-12 เดือน

      2. การรับประทานยาต้านไวรัสบี เช่น lamivudine, adefovir, entecavir, telbivudine ซึ่งยาจะไปยับยั้งการแบ่งตัวของไวรัสบี แต่ต้องกินยาระยะยาวจนกว่าจะมีลักษณะให้หยุดยาได้ เช่น HBeAg เป็นลบร่วมกับ anti HBe เป็นบวก และตรวจ HBV DNA ไม่พบ ซึ่งการรับประทานยาระยะยาวจะมีโอกาสเกิดการดื้อยาได้
การรักษาทั้ง 2 ชนิดมีทั้งข้อดีกับข้อเสียที่ต่างกัน และอาจจะเหมาะสมกับผู้ป่วยบางกรณีมากกว่ากัน ดังนั้นจึงควรปรึกษาแพทย์และให้แพทย์ประเมินความเหมาะสมถึงวิธีการรักษาจนเข้าใจก่อน โดยผู้ป่วยควรมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเลือกการรักษาและควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ในการรักษาสม่ำเสมอ ปัจจุบันมีปัจจัยก่อนการรักษาและระหว่างการรักษาที่ช่วยแพทย์ในการให้การรักษาที่มีประสิทธิภาพดีขึ้น การรักษาไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรังจะมีผลช่วยลดหรือหยุดการอักเสบของตับ ลดการดำเนินโรคไปเป็นตับแข็ง มะเร็งตับ ทำให้ผู้ป่วยมีชีวิตยืนยาวขึ้นและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

การดูแลและการปฏิบัติตัวของผู้ป่วย
     ข้อแนะนำในการดูแลปฏิบัติตัวของผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบเรื้อรังมีดังนี้

      1. รับประทานอาหารให้ครบทุกหมวดหมู่ แต่ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่อาจปนเปื้อนเชื้อรา เช่น พริกป่น ถั่วลิสงตากแห้ง เพราะเชื้อราบางชนิดจะสร้างสารอัลฟาทอกซิน ซึ่งสารนี้จะเพิ่มความเสี่ยงการเกิดมะเร็งตับ ที่สำคัญสารอัลฟาทอกซินทนความร้อนได้สูงถึง 296 องศาเซลเซียส จึงไม่ถูกทำลายด้วยความร้อนที่ใช้ในการหุงต้มอาหาร

      2. ในกรณีที่มีผู้ป่วยมีตับแข็งแล้วไม่ควรรับประทานอาหารเค็ม และควรหลีกเลี่ยงอาหารทะเลที่ไม่สุกสะอาด เพราะผู้ป่วยตับแข็งมีโอกาสติดเชื้อแบคทีเรีย vibrio vulfinicus ในอาหารทะเลได้มากกว่าคนปกติ

      3. หลีกเลี่ยงการรับประทานยาที่ไม่จำเป็น ทั้งยาแผนปัจจุบันและยาแผนโบราณ เพราะยาหลายชนิดจะถูกทำลายที่ตับ จึงมีโอกาสเสี่ยงที่จะทำให้เกิดตับอักเสบจากยาได้ ส่วนในกรณีที่ผู้ป่วยมีตับแข็งแล้วควรรับประทานยาเท่าที่จำเป็น และถ้าต้องรับประทานยาแก้ปวดพาราเซตามอล ควรรับประทานเพียงครั้งละ 1 เม็ด ขนาด 500 มิลลิกรัม และกินซ้ำได้ไม่เร็วกว่าทุก 6 ชั่วโมง

      4. หลีกเลี่ยงการดื่มสุรา หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และควรงดการสูบบุหรี่ เพราะบุหรี่เองอาจมีผลเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งตับ

      5. พักผ่อนให้เพียงพอ สามารถออกกำลังกายและทำงานตามปกติได้ แต่ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหนัก หรือทำงานหักโหมเกินไป

      6. บุคคลในครอบครัวควรได้รับการตรวจเลือด ซึ่งถ้าพบว่ามีไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรังก็ควรมาปรึกษาแพทย์ ในกรณีที่ไม่มีเชื้อไวรัสบีและไม่มีภูมิป้องกัน ก็ควรได้รับการการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี

      7. หลีกเลี่ยงการใช้อุปกรณ์ที่ปนเปื้อนเลือดร่วมกัน เช่น กรรไกรตัดเล็บ แปรงสีฟัน และมีดโกน ควรใช้ช้อนกลางในการรับประทานอาหารร่วมกัน

      8. มาพบแพทย์สม่ำเสมอ เพื่อติดตามผลการดูแลรักษา

      9. เฝ้าระวังการเกิดมะเร็งตับในผู้ป่วยชายอายุมากกว่า 40 ปี ผู้ป่วยหญิงอายุมากกว่า 50 ปี หรือผู้ป่วยที่มีตับแข็ง โดยการตรวจอัลตราซาวนด์ตับและตรวจเลือดดูระดับ AFP ทุก 6 เดือน

การป้องกัน
     สำหรับการป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ก็คือหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อดังที่ได้กล่าวถึงมาแล้วข้างต้น ขณะที่ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี ซึ่งปัจจุบันเด็กไทยแรกเกิดจะได้รับการฉีดวัคซีนไวรัสบีในโปรแกรมการฉีดวัคซีนอยู่แล้ว

 

 

ข้อมูลจาก

www.healthtoday.net




Create Date : 01 มิถุนายน 2555
Last Update : 1 มิถุนายน 2555 9:03:12 น. 5 comments
Counter : 2614 Pageviews.

 
ทเทยฺย ปุริโส ทานํ อปฺปํ วา ยทิวา พหํ
เกิดมาเป็นคน จะมากหรือน้อย ก็ควรให้ปันบ้าง

มีความสุขกับการทำบุญทำทาน ตลอดไป...นะคะ



คุณกบ...
โชคดีนะคะ มาทำงานแล้วยังได้ใส่บาตรอีกด้วย
แสดงว่าหน่วยงานให้ความสำคัญกับวันวิสาขฯ ดี..นะคะ

อนุโมทนาบุัญด้วย...ค่ะ



โดย: พรหมญาณี วันที่: 1 มิถุนายน 2555 เวลา:11:18:29 น.  

 
เพื่อนที่เป็นจากไปแล้วคนนึงค่ะ


โดย: tuk-tuk@korat วันที่: 1 มิถุนายน 2555 เวลา:16:25:54 น.  

 
อรุณสวัสดิ์ครับคุณกบ








โดย: กะว่าก๋า วันที่: 2 มิถุนายน 2555 เวลา:5:38:06 น.  

 
อปฺปเสโนปิ เจ มนฺตี มหาเสนํ อมนฺตินํ

ถึงแม้จะมีกำลังพลน้อย แต่มีความคิด
ก็เอาชนะกองทัพใหญ่ที่ไร้ความคิดได้




สวัสดีค่ะ

ระยะนี้ ปอป้าไม่ได้เข้าบล๊อกทุกวัน
เนื่องจากติดภารกิจเดินสายต่างจังหวัดทุกสัปดาห์
อาจจะทำให้การทักทายขาด ๆ หาย ๆ ไปบ้าง
ถ้ามีโอกาสก็จะรีบเข้ามาทักทายตอบเม้นท์เหมือนเช่นเคย..นะคะ

คิดถึงเพื่อนบล๊อกทุกท่านเสมอ...ค่ะ



โดย: พรหมญาณี วันที่: 5 มิถุนายน 2555 เวลา:14:33:09 น.  

 

ไม่ได้แวะมาบล็อกคุณกบนานมาก
คืนนี้แวะมาเม้นท์ด้วยความคิดถึงค่ะ



โดย: อุ้มสี วันที่: 5 มิถุนายน 2555 เวลา:22:16:47 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

kobnon
Location :
นนทบุรี Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 92 คน [?]




.
สาระน่ารู้ประจำวัน
1.โรคข้อสันหลังอักเสบติดยึด
2. บุหรี่ ทำนมยาน หูตึง
3. Upside down pineapple cake


music
Group Blog
 
<<
มิถุนายน 2555
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
 
1 มิถุนายน 2555
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add kobnon's blog to your web]
Links
 

MY VIP Friend

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.