สวัสดีค่ะ ภาระหน้าที่ทำให้ต้องเดินทางไกลมาถึงบัวโนสไอเรส แต่ยังคิดถึงเพื่อนบล็อกทุกคนนะค่ะ
น้ำคั่งในโพรงสมองในผู้สูงอายุ

loaocatloaocat



ภาวะน้ำคั่งในโพรงสมอง หรือที่เรียกกันอีกอย่างว่าภาวะน้ำท่วมสมอง ตรงกับชื่อที่เป็นทางการในภาษาแพทย์ว่า normal pressure hydrocephalus (NPH) เป็นโรคที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ แต่รักษาได้ง่าย และได้ผลค่อนข้างดี เพียงแต่มีข้อแม้ว่าต้องได้รับการวินิจฉัยตั้งแต่เนิ่นๆ เพราะการวินิจฉัยที่ถูกต้องตั้งแต่เริ่มแรกจะนำไปสู่การรักษาที่เหมาะสม และทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสรอดพ้นจากความพิการอย่างถาวรได้ในอนาคต

ปัจจุบันมีการประมาณกันว่าร้อยละ 15-20 ของผู้สูงอายุที่ถูกปล่อยให้อยู่ตามลำพังในสถานดูแลผู้สูงอายุ หรืออยู่กับพี่เลี้ยงตามบ้าน จะป่วยด้วยภาวะน้ำท่วมสมองโดยไม่ได้รับการรักษา เพราะมาจากความเข้าใจผิดว่าเป็นโรคของคนแก่ที่รักษาไม่ได้ อย่างไรก็ดีในความเป็นจริงแล้วคาดว่าจำนวนผู้สูงอายุที่ป่วยจากภาวะนี้ในประเทศไทยน่าจะมีมากกว่านี้มาก เพราะปัจจุบันลูกหลานมักจะแยกตัวออกไปอยู่ต่างหาก ปล่อยให้ผู้สูงอายุอยู่กันตามลำพัง หรือถูกทิ้งไว้ในสถานพยาบาลมากขึ้นเรื่อยๆ

โพรงสมองคืออะไร
คนทั่วไปมักทราบแต่เพียงว่า ภายในกะโหลกศีรษะจะมีแต่เนื้อสมองบรรจุอยู่ ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้วเนื้อสมองมิได้เป็นเนื้อตันๆ หากแต่ตรงกลางของเนื้อสมองทั้งสองข้างจะมีโพรงที่ประกอบด้วยน้ำบรรจุอยู่ ซึ่งโพรงดังกล่าวจะมีชื่อในทางการแพทย์ว่า “โพรงสมอง” หรือ “Ventricle” และภายในโพรงสมองนี้เองจะมีของเหลวที่มีลักษณะใสเหมือนกับน้ำเปล่าๆ บรรจุอยู่เต็ม ของเหลวดังกล่าวนี้เรียกว่า “น้ำไขสันหลัง” หรือ “Cerebrospinal fluid, CSF”

น้ำไขสันหลัง หรือ น้ำในโพรงสมอง
ท่านที่อ่านข้อความข้างต้นอาจจะแปลกใจว่าทำไมเมื่อพูดถึงของเหลวในโพรงสมอง แทนที่จะเรียกของเหลวดังกล่าวว่า “น้ำในโพรงสมอง” กลับไปเรียกว่า “น้ำไขสันหลัง” บางท่านอาจนึกไปว่าคงพิมพ์ผิด แต่ในความเป็นจริงแล้ว ทั้งสองอย่างนี้สามารถใช้เรียกแทนกันได้ แต่ในทางการแพทย์จะนิยมใช้คำว่า “น้ำไขสันหลัง” แทนคำว่า “น้ำในโพรงสมอง” เพราะว่าในทางกายวิภาคแล้ว สมองกับไขสันหลังพัฒนามาจากเซลล์ต้นกำเนิดเดียวกัน ไขสันหลังก็เปรียบเสมือนส่วนของสมองที่ยื่นออกมานอกกะโหลกศีรษะ ลงไปตามแนวกระดูกสันหลัง ทำให้โพรงสมองต้องมีส่วนที่ยื่นตามลงมากับไขสันหลังเช่นกัน น้ำที่อยู่ในโพรงสมองจึงสามารถไหลเวียนออกมานอกสมองลงสู่ช่องไขสันหลังได้เช่นกัน น้ำที่อยู่ในโพรงสมองจึงเป็นชนิดเดียวกันกับที่อยู่ในช่องไขสันหลังนั่นเอง

ความสำคัญของน้ำไขสันหลัง
น้ำไขสันหลังหรือน้ำในโพรงสมองเป็นส่วนประกอบที่สำคัญยิ่ง เพราะจะมีหน้าที่สำคัญคล้ายกับเป็นกันชนป้องกันการกระแทกให้กับเนื้อเยื่อที่บอบบางอย่างสมองหรือไขสันหลัง ลองหลับตานึกภาพโดยเปรียบเทียบดังนี้ว่า “สมองคือเต้าหู้” “กะโหลกศีรษะคือกล่องที่ใช้ใส่เต้าหู้” และ “น้ำไขสันหลังคือน้ำที่คนขายใส่ให้ไว้ในกล่องเมื่อซื้อเต้าหู้กลับบ้าน” ในตอนที่เราหิ้วกล่องใส่เต้าหู้ขึ้นรถลงเรือ เพื่อเดินทางกลับบ้านเป็นระยะทางหลายกิโลเมตร ถ้าภายในกล่องไม่มีน้ำ เมื่อกลับถึงบ้านและเปิดกล่องออกมาดูเราก็จะพบว่าเต้าหู้ที่ซื้อมาเกิดความเสียหายอย่างมากจากการกระแทก เนื่องจากไม่มีอะไรมารองรับเลย สมองก็เช่นกันหากไม่มีน้ำไขสันหลังหรือน้ำในโพรงสมองอยู่ สมองก็จะได้รับการกระทบกระเทือนอย่างมาก
ดังนั้นหน้าที่ของน้ำไขสันหลังหรือน้ำในโพรงสมองที่สำคัญ คือ การป้องกันหรือลดแรงกระแทกที่เกิดขึ้นกับสมองหรือไขสันหลัง เมื่อร่างกายมีการเคลื่อนไหว

ความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับน้ำไขสันหลัง
น้ำไขสันหลังถูกสร้างขึ้นโดยเนื้อเยื่อพิเศษของสมอง โดยในขณะเดียวกันก็มีเนื้อเยื่อพิเศษอีกชนิดหนึ่งคอยดูดซึมน้ำดังกล่าวออกจากระบบอยู่ตลอดเวลา อนุมานให้เข้าใจได้ง่ายๆ ว่า ภายในบ่อน้ำต้องมีปั้มน้ำเพื่อส่งน้ำเข้ามาเลี้ยงปลาในบ่อและในขณะเดียวกันก็ต้องมีการดูดเอาน้ำส่วนหนึ่งออกมาอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้น้ำที่คงเหลือในบ่อมีปริมาณพอดีสำหรับให้ปลาสามารถอยู่อาศัยได้อย่างปกติสุข เช่นเดียวกัน น้ำที่ค้างในระบบของโพรงสมองก็เกิดจากสมดุลของการสร้างและการดูดกลับนี้เอง
ฉะนั้นความผิดปกติของน้ำไขสันหลังมักเกิดจาก “ความไม่สมดุลระหว่างการสร้างและการดูดกลับ” ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 2 ลักษณะคือ “การสร้างน้อยกว่าการดูดกลับ” ซึ่งจะทำให้มีน้ำคงเหลือในระบบน้อยเกินไป และ “การสร้างมากกว่าการดูดกลับ” ซึ่งจะทำให้มีน้ำคงเหลือในระบบมากเกินไป โดยมักพบจะพบกรณีที่สองได้บ่อยกว่า อันเป็นผลให้เกิดภาวะที่เรียกว่า “น้ำท่วมสมอง” หรือ “hydrocephalus” นั่นเอง

อาการของน้ำท่วมสมอง
อาการแสดงของน้ำท่วมสมองสามารถแยกออกได้เป็น 2 กรณี คือ 1. น้ำท่วมสมองแบบเฉียบพลัน ในกรณีนี้ผู้ป่วยจะมาพบแพทย์ด้วยอาการปวดศีรษะรุนแรง คลื่นไส้ อาเจียน และหากมีน้ำท่วมมากอาจหมดสติและเสียชีวิตได้ 2. น้ำท่วมสมองแบบเรื้อรัง ซึ่งผู้ป่วยอาจไม่มีอาการเหมือนในกลุ่มแรกเลย หรือหากจะมีก็มักเป็นการปวดศีรษะแบบค่อยเป็นค่อยไป เป็นๆ หายๆ ร่วมกับอาการตามัวมองไม่ชัด อย่างไรก็ดี อาการที่เหมือนกันของทั้ง 2 กรณี คือ น้ำที่คั่งในโพรงสมองจะส่งผลให้ความดันภายในสมองสูงขึ้นอย่างมาก แต่ก็มีผู้ป่วยอีกกลุ่มหนึ่งที่เชื่อกันว่าพัฒนามาจากกรณีที่สอง คือ มีน้ำท่วมสมองเรื้อรัง แต่สมองสามารถปรับตัวได้ ทำให้ความดันในโพรงสมองไม่สูงอย่างที่ควรจะเป็น เมื่อวัดความดันในโพรงสมอง ค่าที่ได้จึงมักใกล้เคียงกับคนปกติ ทำให้ในทางการแพทย์เรียกกลุ่มนี้ว่า “น้ำท่วมสมองแบบความดันไม่สูง”

อาการน้ำท่วมสมองแบบความดันไม่สูง
ผู้ป่วยที่มาพบแพทย์มักมาด้วยอาการแสดงแบบใดแบบหนึ่ง หรือทั้ง 3 แบบดังต่อไปนี้

1. เดินทรงตัวไม่ได้หรือเดินเซผิดปกติ (gait apraxia) เช่น นั่งแล้วยืนไม่ถนัด ต้องหาที่เกาะยึดหรือก้าวเดินต่อไป แต่เมื่อเดินไปแล้วมักจะก้าวสั้นๆ ช้าๆ เพราะกลัวล้ม ด้วยเหตุนี้เราจะเห็นผู้ป่วยเดินขาถ่างเพื่อช่วยการทรงตัว การเดินมักเป็นไปอย่างช้าๆ และหากมีอะไรมาขัดจังหวะการเดินก็จะทรงตัวลำบากขึ้นไปอีก จนต้องหยุดเดิน และเริ่มพยายามเดินใหม่ การเดินที่ผิดปกติจะเห็นได้ชัดขึ้นหากเราให้ผู้ป่วยกลับหลังหันเพื่อเปลี่ยนทิศทางการเดิน เราจะพบว่าผู้ป่วยต้องใช้ขาข้างใดข้างหนึ่งเป็นจุดหมุนเพื่อเปลี่ยนทิศคล้ายกับการใช้ “วงเวียน” เพื่อวาดรูปทรงกลม ลักษณะเด่นอีกอย่าง คือ การเดินจะคล้ายๆ กับมีแม่เหล็กดูดเท้าผู้ป่วยไว้ให้ติดกับพื้นตลอดเวลา ทำให้ยกเท้าก้าวเดินได้ลำบากเหมือนเท้าถูกดูดติดกับพื้น ทำให้ผู้ป่วยเหนื่อยมากเวลาเดิน ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีปัญหาเรื่องความแข็งแรงหรือการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อ ท่าเดินจะคล้ายกับโรคสันนิบาต (โรคพาร์กินสัน) เพียงแต่ผู้ป่วยโรคนี้จะไม่มีอาการเกร็งหรือสั่น (rigidity/tremor) ซึ่งผู้ป่วยที่มาพบแพทย์ในระยะเริ่มแรกด้วยอาการเดินลำบากเพียงอย่างเดียวเป็นกลุ่มที่จะได้ผลดีที่สุดจากการรักษา

2. ความจำเสื่อม (dementia) อาจเริ่มด้วยการหลงลืมเหตุการณ์ใกล้ๆ ตัว เช่น จำไม่ได้ว่ารับประทานอะไรไปเมื่อเช้า แต่ความทรงจำระยะยาวในอดีต เช่น จำเพื่อน จำพี่น้อง มักไม่ค่อยมีปัญหา (ยกเว้นระยะท้ายๆ) ซึ่งเป็นลักษณะที่แตกต่างกับโรคสมองเสื่อมแบบอื่น เช่น โรคอัลไซเมอร์

3. อาการกลั้นปัสสาวะลำบาก (urinary incontinence) เช่น ผู้ป่วยต้องรีบเข้าห้องน้ำทันทีเมื่อรู้สึกปวดเบา แต่ในรายที่เป็นมากจะปัสสาวะราดโดยไม่ทันรู้ตัว ซึ่งญาติมักแก้ปัญหาด้วยการใส่ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ ซึ่งหากทิ้งไว้มักลงเอยด้วยการกลั้นอุจจาระไม่ได้ด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ไม่จำเป็นต้องมีอาการแสดงครบทั้ง 3 อย่าง ในทางตรงกันข้าม ผู้ป่วยมักเริ่มด้วยอาการเดินผิดปกติมาก่อนสักระยะ ซึ่งอาจกินเวลานานเป็นปีก็ได้ แล้วจึงตามมาด้วย ความทรงจำเสื่อม หรือการกลั้นปัสสาวะลำบาก ในที่สุด
หากพิจารณาจากอาการทั้ง 3 อย่างจะเห็นว่า แยกได้ยากจากความผิดปกติธรรมดาของผู้สูงอายุที่ไม่ได้ป่วยด้วยโรคนี้ เพราะญาติมักจะเข้าผิดใจว่า ผู้สูงอายุของตัวเองมีอาการแบบคนแก่ธรรมดาที่จะเดินเหินลำบาก หรือเป็นธรรมดาที่หูรูดจะหย่อนยาน เมื่อแก่ตัวลงจึงมีอาการปัสสาวะเล็ด และเป็นธรรมดาที่สมองย่อมฝ่อลงเมื่อแก่ ทำให้ลืมโน่นลืมนี่ได้ง่าย จึงทำให้มีการปล่อยปละละเลยทิ้งไว้จนผู้ป่วยสูญเสียโอกาสที่จะรักษาให้ดีขึ้นได้ และท้ายที่สุดจะลงเอยด้วยความพิการและต้องนอนอยู่แต่บนเตียง ซึ่งจะตามมาด้วยแผลกดทับ และการติดเชื้อ ที่แย่ไปกว่านั้น คือ ช่วงท้ายสุดของชีวิตผู้ป่วยจะไม่สามารถจำญาติได้เพราะความทรงจำเสื่อมลงอย่างมากจากภาวะน้ำท่วมสมอง

วิธีการสังเกตของญาติ
วิธีที่ดีที่สุดในการวินิจฉัยโรคนี้ คือ หากผู้สูงอายุมีอาการอย่างน้อย 1 ใน 3 ของอาการดังที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น ก็ให้สงสัยว่าผู้สูงอายุอาจจะป่วยด้วยโรคนี้ และควรพามาพบแพทย์ตั้งแต่เนิ่นๆ โดยแพทย์ที่เหมาะสมในการประเมินผู้ป่วยกลุ่มนี้มากที่สุดควรเป็นแพทย์ทางระบบประสาทโดยเฉพาะ ซึ่งแพทย์จะทำการตรวจแยกโรคที่เกี่ยวข้องออกไปด้วยเสมอ เช่น โรคอัลไซเมอร์ โรคพาร์กินสัน โรคสมองเสื่อมจากเบาหวาน หรือเส้นเลือดสมองตีบ โรคไขสันหลัง โรคกระเพาะปัสสาวะผิดปกติ เป็นต้น หากแพทย์แยกโรคเหล่านี้ออกไปได้ (ในบางกรณีก็ไม่สามารถแยกโรคเหล่านี้ได้) และยังสงสัยว่าผู้ป่วยอาจเป็นโรคน้ำท่วมสมองจริง ก็อาจทำการส่งตรวจเพิ่มเติม เช่น การเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง(CT scan) การเอ็กซเรย์แม่เหล็ก(MRI) การเจาะหลังเพื่อระบายน้ำ หรือทดสอบด้วยการฉีดน้ำเข้าไปในโพรงไขสันหลัง เป็นต้น

น้ำท่วมสมอง...รักษาได้
ความสำคัญของการวินิจฉัยภาวะน้ำท่วมสมองให้ได้ คือ “โรคนี้เป็นโรคหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อมแบบที่รักษาหรือป้องกันได้” โดยทั่วไปแล้วเมื่อแพทย์วินิจฉัยว่าเราหรือญาติของเราป่วยด้วยโรคภาวะสมองเสื่อม จะถือว่าเป็นข่าวร้ายมากสำหรับทั้งผู้ป่วยและญาติ เพราะในปัจจุบันยังไม่มีการรักษาใดที่มีประสิทธิภาพดีพอที่จะทำให้การเสื่อมของสมองหายดี หรือหยุดยั้งการดำเนินโรคที่ทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อมได้เลย อย่างดีก็แค่ชะลอออกไปให้นานขึ้น และสุดท้ายก็ต้องลงเอยด้วยการจำใครไม่ได้ ช่วยตัวเองไม่ได้ และเสียชีวิตอย่างเดียวดาย แต่สำหรับภาวะสมองเสื่อม (ซึ่งรวมถึงการเดินที่ลำบาก) อันเกิดจากน้ำท่วมสมองนี้เป็นภาวะเดียวที่สามารถรักษาหรือป้องกันการแย่ลงได้ และผู้ป่วยมีโอกาสสูงที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นกว่าสภาพที่เป็นอยู่

ฉะนั้นความสำคัญในการรักษาโรคนี้ก็คือ “การวินิจฉัยให้ได้และวินิจฉัยให้เร็วพอ” ซึ่งเมื่อแพทย์แน่ใจ(หรือสงสัย หรือเห็นว่ามีแนวโน้มสูง)ว่า ผู้ป่วยน่าจะมีภาวะน้ำท่วมสมองก็จะแนะนำให้รักษาด้วยการผ่าตัดใส่ท่อระบายน้ำในสมอง ซึ่งเป็นการผ่าตัดที่ง่ายใช้เวลาไม่ถึงชั่วโมง มีความเสี่ยงต่ำ แต่ได้ผลค่อนข้างดี หรืออย่างเลวร้าย หากอาการไม่ดีขึ้นมากนัก แต่ก็จะสามารถชะลอการเสื่อมออกไปได้เป็นระยะเวลานาน เพื่อคงคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยไว้ให้นานขึ้น






ขอบคุณข้อมูลจาก//www.healthtoday.net/thailand/elderly/elder_123.html
กรอบและธีมสวยๆ จาก คุณ lozocat


loaocatloaocat






Create Date : 30 ตุลาคม 2554
Last Update : 30 ตุลาคม 2554 16:13:24 น. 3 comments
Counter : 2030 Pageviews.

 
อ่านแล้วได้ความรู้เยอะเลย
ใช้ภาษาเข้าใจง่ายดีค่ะ
ขอบคุณที่แบ่งปันเรื่องราวดีๆให้ได้อ่านนะค่ะ
^___^


โดย: b-pirada วันที่: 30 ตุลาคม 2554 เวลา:19:43:40 น.  

 
อ่านแล้วได้ความรู้เยอะเลย
ใช้ภาษาเข้าใจง่ายดีค่ะ
ขอบคุณที่แบ่งปันเรื่องราวดีๆให้ได้อ่านนะค่ะ
^___^


โดย: b-pirada วันที่: 30 ตุลาคม 2554 เวลา:19:43:41 น.  

 
อรุณสวัสดิ์ครับคุณกบ









โดย: กะว่าก๋า วันที่: 31 ตุลาคม 2554 เวลา:5:39:54 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

kobnon
Location :
นนทบุรี Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 92 คน [?]




.
สาระน่ารู้ประจำวัน
1.โรคข้อสันหลังอักเสบติดยึด
2. บุหรี่ ทำนมยาน หูตึง
3. Upside down pineapple cake


music
Group Blog
 
<<
ตุลาคม 2554
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
30 ตุลาคม 2554
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add kobnon's blog to your web]
Links
 

MY VIP Friend

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.