มองภาพแห่งความสำเร็จที่ชัดเจน เดินแต่ละก้าวอย่างมีสติ ด้วยใจที่สงบ
<<
เมษายน 2555
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
2930 
17 เมษายน 2555

Cpall ยังน่าลงทุนอีกมั้ย??

cpall



Cpall

บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2531 โดยบริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ เพื่อให้เป็นบริษัทของคนไทยที่ประกอบธุรกิจหลักด้านค้าปลีกประเภทร้านค้าสะดวกซื้อในประเทศไทยภายใต้เครื่องหมายการค้า “7-Eleven” โดยบริษัทได้รับสิทธิการใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวจาก 7-Eleven, Inc. สหรัฐอเมริกา และได้เปิดร้านสาขาแรกที่ซอยพัฒน์พงษ์ เมื่อปี 2532


ตัวเลขทางการเงิน

ที่โดดเด่นมากๆ คืออัตราผลตอบแทนต่อการลงทุนกว่า 40% และรายรับต่อทุนสูงกว่า 7 เท่า ถือว่าค่อนข้างสูงมากครับ อาจเป็นเพราะธุรกิจของ cpall มีการลงทุนเป็นตัวเงินต่ำ คือ ร้านค้าส่วนใหญ่ใช้ระบบเฟรนซ์ไซค์ ค่าเช่าร้านต่ำทำให้ไม่มีสินทรัพย์ที่เกินความจำเป็นสูงจนเกินไป ในส่วนของอัตราการทำกำไรสุทธิก็ค่อนข้างคงที่ อาจเป็นเพราะเป็นธุรกิจซื้อมาขายไป ไม่ค่อยมีสินค้าเป็นของตนเองจึงมีมาร์จิ้น หรือส่วนต่างกำไรไม่สูงมาก แต่ข้อดีคือคงที่ และเป็นสินค้าเครดิต แต่จำหน่ายให้กับลูกค้าเป็นเงินสดครับ ... อัตราตอบแทนปันผลค่อนข้างต่ำไปหน่อย แต่หากได้ปันผลเป็นหุ้น สำหรับผมถือว่าคุ้มค่าครับ

ภาพรวมของบริษัท

ณ สิ้นปี 2554 บริษัทมีร้าน 7-Eleven ทั่วประเทศรวม 6,276 สาขา (ถือเป็นประเทศที่มีร้าน 7-Eleven มากเป็นอันดับที่ 3 ของโลกรองจากประเทศญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา) โดยเป็นร้านในกรุงเทพฯ และปริมณฑล 2,977 สาขา (คิดเป็นร้อยละ 47) เป็นร้านในต่างจังหวัด 3,299 สาขา (คิดเป็นร้อยละ 53) เมื่อแบ่งตามประเภทของร้านพบว่า มีร้านสาขาบริษัท 2,926 สาขา (คิดเป็นร้อยละ 47) ส่วนที่เหลือเป็นร้านแฟรนไชส์ 2,884 สาขา (คิดเป็นร้อยละ 46) และร้านค้าที่ได้รับสิทธิช่วงอาณาเขต 466 สาขา (คิดเป็นร้อยละ 7) ปัจจุบันมีลูกค้าเข้าร้าน 7-Eleven เฉลี่ยวันละ 7.6 ล้านคน

ทั้งนี้ในปี 2554 บริษัทได้ขยายสาขาร้าน 7-Eleven อย่างต่อเนื่องรวม 486 สาขา ทั้งในรูปแบบของร้านในทำเลปกติ และร้านในสถานีบริการน้ำมันของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่ของลูกค้ากลุ่มเป้าหมายทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด โดย ณ สิ้นปี 2554 บริษัทมีร้านในทำเลปกติ 5,350 สาขา (คิดเป็นร้อยละ 85) และร้านในสถานีบริการน้ำมัน ปตท. 926 สาขา (คิดเป็นร้อยละ 15)

นอกจากนั้น บริษัทได้ขยายการลงทุนไปในธุรกิจที่ช่วยสนับสนุนธุรกิจร้านค้าสะดวกซื้อในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ดังต่อไปนี้

• บริษัท เคาน์เตอร์เซอร์วิส จำกัด (CS) เพื่อประกอบธุรกิจเป็นตัวแทนรับชำระเงินค่าสินค้าและบริการ

• บริษัท ซี.พี. ค้าปลีกและการตลาด จำกัด (CPRAM) เพื่อประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายอาหารแช่แข็งและเบเกอรี่

• บริษัท รีเทลลิงค์ (ไทยแลนด์) จำกัด (RTL) เพื่อประกอบธุรกิจการจำหน่ายและซ่อมแซมอุปกรณ์ค้าปลีก

• บริษัท ไทยสมาร์ทคาร์ด จำกัด (TSC) (ลงทุนร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจ) เพื่อให้บริการชำระค่าสินค้าและบริการผ่านบัตรเติมเงินอิเล็กทรอนิกส์ (Smart Purse)

• บริษัท โกซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด (GOSOFT) เพื่อให้บริการออกแบบและพัฒนาระบบงานด้านสารสนเทศ

• บริษัท เอ็ม เอ เอ็ม ฮาร์ท จำกัด (MAM) เพื่อให้บริการปรึกษาวางแผนกิจกรรมทางการตลาด

• บริษัท ไดนามิค แมนเนจเม้นท์ จำกัด (DM) เพื่อให้บริการบริหารงานกิจการขนส่งสินค้าและกระจายสินค้า

• บริษัท ศึกษาภิวัฒน์ จำกัด (SPW) เพื่อให้บริการด้านการศึกษา อันได้แก่ วิทยาลัยเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์ ซึ่งเปิดสอนในระดับอาชีวศึกษา และสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์สำหรับหลักสูตรระดับปริญญาตรี 4 สาขา ได้แก่ บริหารธุรกิจ วิศวกรรมศาสตร์ ศิลปศาสตร์ และนิเทศศาสตร์ และระดับปริญญาโท 1 สาขา คือ บริหารธุรกิจ

• บริษัท ปัญญธารา จำกัด (PTR) เพื่อประกอบกิจการการจัดฝึกอบรม และการจัดสัมมนาทางวิชาการ

นอกจากนี้ บริษัทยังมีการขยายช่องทางธุรกิจภายใต้การบริหารจัดการของบริษัท อาทิ

• ธุรกิจ 7-Catalog Order เพื่อเป็นการขยายช่องทางธุรกิจด้านการสั่งซื้อสินค้าผ่านทาง ”วารสารแคตตาล็อก”

• ธุรกิจ บุ๊คสไมล์ (Book Smile) เพื่อเป็นช่องทางในการจำหน่ายหนังสือและวารสาร

• ธุรกิจ เอ็กซ์ต้า (eXta) โดยเป็นร้านสุขภาพและความงามดำเนินธุรกิจจัดจำหน่ายสินค้าประเภทยาและเวชภัณฑ์ สินค้าสุขภาพ และเครื่องสำอาง

• ธุรกิจ คัดสรร (Kudsan) เพื่อเป็นช่องทางจำหน่ายสินค้าที่คัดสรรพิเศษทั้งกาแฟ และเบเกอรี่

ปัจจัยเสี่ยง

สำหรับปัจจัยเสี่ยงคงหนีไม่พ้นกฎหมายค้าปลีกซึ่งต้องติดตามนโยบายของรัฐบาลครับ และเรื่องของคู่แข่งทางการค้าที่ค่อนข้างจะเข้มข้นในสนามค้าปลีก ควรมีความเข้าใจธุรกิจค้าปลีก และธรรมชาติของธุรกิจนี้ดีพอสมควรสำหรับการคิดจะลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้ครับ

ส่วนต่างความปลอดภัย Margin of Safety

สำหรับนักลงทุนแนว VI ไม่เสี่ยงจะต้องคำนวณ MOS ทุกครั้งที่คิดจะลงทุน ในหุ้นตัวนี้เป็นหุ้นที่มี Brand Loyalty กับผู้บริโภคค่อนข้างสูง ไม่ว่าเด็ก สูงวัย รายได้น้อย รายได้มาก ผมเชื่อว่าเคยใช้บริการร้านสะดวกซื้อแห่งนี้แทบทั้งนั้น ตีค่าความถูกแพงของหุ้นจากความนิยมใน Brand ประมาณ 25 เท่า (เป็นความคิดเห็นส่วนตัวนะครับ) ในส่วนของกำไรต่อหุ้นมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยประเมินอัตราการทำกำไรที่ 5% จาก 1.78 บาทต่อหุ้น EPS ประเมินได้ = 1.87 บาทต่อหุ้น ดังนั้นราคาที่ควรจะเป็น = xx.72 บาทต่อหุ้น เผื่อส่วนต่อความปลอดภัยอีก 20% = 37.38 บาทต่อหุ้น ... สำหรับผมจะลองบวกราคาทุนเข้าไปในราคาประเมินด้วยครับ ราคาทุน = ทุน / จำนวนหุ้นทั้งหมด = 4.78 บาทต่อหุ้น ... ดังนั้นราคาประเมินใหม่ = xx.38 + x.78 = xx.16 บาทต่อหุ้นครับ

ถ้าคิดออกมาแบบนี้ก็จะรู้สึกว่าหุ้นแพงไปหน่อยครับ แต่อนาคตเราไม่สามารถรู้ได้ 100% เพราะหาก cpall ขยายฐานไปต่างประเทศก็จะทำให้ EPS สูงขึ้นกว่านี้ เราก็คงต้องมาคำนวณราคากันใหม่ครับ

การลงทุนมีความเสี่ยงโปรดพิจารณาให้รอบคอบนะครับ

ขอบคุณครับ... (นายแว่นธรรมดา)


แวะทักทายนายแว่นธรรมดาได้ที่นี่ครับผม...
//www.facebook.com/NaiwaenTammada

ตกแต่งบ้าน และสวนสวย
//homebuyerguides.blogspot.com/2011/09/mdf-index.html



ขอบคุณที่อุดหนุนหนังสือโดย... นายแว่นธรรมดา ครับ...



Create Date : 17 เมษายน 2555
Last Update : 28 เมษายน 2555 13:15:54 น. 10 comments
Counter : 2991 Pageviews.  

 
การเติบโตของธุรกิจการค้าปลีกสมัยใหม่และธุรกิจ “ระดับชาติ” หลายอย่างนั้นดูเหมือนว่าจะเป็น “แนวโน้มใหญ่” ที่ในที่สุดแล้วก็จะกระจายไปทั่วประเทศและยึดกุมธุรกิจเกือบทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ในระหว่างที่กำลังขยายตัวไปตามท้องถิ่นต่าง ๆ นั้น เราก็จะพบว่ามีธุรกิจที่เจ้าของเป็นคนในท้องถิ่นยังสามารถ “ต่อสู้” กับธุรกิจจาก “ส่วนกลาง” ได้ บางบริษัทนั้นสามารถที่จะขยายตัวไปในจังหวัดและพื้นที่ใกล้เคียงด้วย และถ้ามองจากภายนอก ดูเหมือนว่าร้านของบริษัทท้องถิ่นบางแห่งจะขายดีเท่ากับหรือดีกว่ากิจการ “ระดับชาติ” ที่มาเปิดสาขาอยู่ใกล้ ๆ กัน นี่อาจจะทำให้คนที่สังเกตการณ์คิดไปไกลว่า กิจการท้องถิ่นดังกล่าวอาจจะกลายเป็นคู่แข่งหรือภัยคุกคามกิจการระดับชาติที่กำลังขยายตัวด้วยซ้ำ แต่นี่เป็นความจริงหรือเป็น “ภาพลวง” กันแน่ ลองมาดูภาพของ “ธุรกิจท้องถิ่น” ที่สามารถ “ต่อกร” กับธุรกิจระดับชาติโดยเฉพาะที่เป็นร้านค้าปลีกสมัยใหม่ดู

ประเด็นแรกที่ผมจะพูดถึงก็คือ ร้านค้าปลีกท้องถิ่นที่โดดเด่นสามารถแข่งขันกับร้านค้าปลีกสมัยใหม่ระดับชาติได้นั้น เกือบทั้งหมดน่าจะเน้นที่ลูกค้าที่มีรายได้ค่อนไปทางต่ำหรือต่ำที่สุด ในทางการตลาดก็คือเน้นลูกค้าระดับ C ลงไปซึ่งไม่ใช่กลุ่มลูกค้าเป้าหมายหลักของเครือข่ายระดับชาติ และสินค้าที่ขายนั้นก็จะเน้นสินค้าที่มีราคาถูกเป็นหลัก การตั้งราคาสินค้าก็จะต่ำกว่าสินค้าแบบเดียวกันที่มีขายอยู่ในร้านที่เป็นโมเดินเทรดระดับชาติ สิ่งที่แตกต่างดูเหมือนว่าจะอยู่ที่คุณภาพของบริการที่จะน้อยและด้อยกว่าร้านค้าปลีกสมัยใหม่ เช่นเดียวกัน การตกแต่งร้านก็จะไม่หรูหราเท่า บางร้านก็ไม่ติดเครื่องปรับอากาศ ภาพของร้านก็คือ เป็นร้านที่ขายสินค้าราคาถูกแต่เป็นสินค้าที่ได้มาตรฐานและมีความน่าเชื่อถือคล้าย ๆ กับร้าน Modern Trade ไม่เหมือนกับร้านค้า “แบบดั้งเดิม” ที่ทำกันในครอบครัวและมีขนาดเล็ก

บริษัทท้องถิ่นที่ “โดดเด่น” นั้น มีในหลากหลายสินค้า ที่เห็นค่อนข้างมากนั้นรวมถึง ร้านขายสินค้าเกี่ยวกับวัสดุก่อสร้างที่มีขนาดใหญ่ในพื้นที่ ร้านเหล่านี้อาจจะมีชื่อที่ “ทันสมัย” และเน้นภาพของความที่มีราคาถูก เช่น อาจจะตั้งชื่อร้านว่า “Home Cheap” ร้านที่มีค่อนข้างมากอีกกลุ่มหนึ่งก็คือ ร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้าซึ่งก็แน่นอนว่ามีการขายเงินผ่อนด้วยซึ่งก็อาจจะตั้งชื่อเป็น “Electronic Cheap” ร้านสะดวกซื้อที่อาจจะมีชื่อว่า “Con Cheap” หรือแม้แต่ร้านประเภท “เมกกะสโตร์”ขายสินค้าหลากหลายสารพัดอย่างและมีขนาดใหญ่โตที่อาจจะตั้งชื่อว่า “Super Cheap” ร้านต่าง ๆ เหล่านี้ บางแห่งก็อาจจะเริ่มมีสาขาที่กระจายออกไปในพื้นที่อื่นของจังหวัดและในจังหวัดใกล้เคียง นั่นทำให้มีภาพและชื่อเสียงดีขึ้นไปอีกขั้นหนึ่งและเป็นเสมือนหนึ่งประกาศว่า บริษัทสามารถแข่งขันและอาจจะเอาชนะร้านที่มาจากส่วนกลางระดับชาติได้

ประเด็นที่จะต้องคิดก็คือ บริษัทท้องถิ่นที่ดูเหมือนว่าจะ “ประสบความสำเร็จ” ในการขายสินค้าราคาถูกเป็นหลัก ที่ผมอยากเรียกเป็นคำรวม ๆ ว่าบริษัท “Super Cheap” หรือ SC เหล่านั้น ประสบความสำเร็จจริงหรือ? และถ้าจริง บริษัทจะสามารถขยายตัวออกไปเรื่อย ๆ จนสามารถแข่งขันกับบริษัทระดับชาติในวงที่กว้างขึ้น และในที่สุดตนเองก็จะกลายเป็นบริษัทระดับชาติได้หรือไม่?

คำตอบนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่างแต่คำว่า “ขายดี” อาจจะไม่ใช่คำตอบ เหตุผลก็คือ การขายดีอาจจะเป็นเพราะว่าร้านนั้นขายสินค้าราคาถูกกว่าปกติ และสินค้าสำหรับลูกค้าที่มีรายได้ต่ำนั้น ลูกค้ามักจะตัดสินใจซื้อโดยเน้นที่ราคาเป็นหลัก ดังนั้น ร้าน SC จึงสามารถดึงดูดลูกค้ากลุ่มนี้ได้ ประเด็นยังมีว่า ลูกค้ามักจะซื้อสินค้าต่อรายการค่อนข้างต่ำ ดังนั้น การที่เราเห็นคนเข้าร้านมากก็ไม่ได้หมายความว่ารายได้ในการขายจะมากเท่า ๆ กับร้านที่ขายสินค้าให้คนที่มีรายได้มากกว่าและในราคาที่สูงกว่า นี่ก็เป็นเรื่องของการขายที่อาจจะเกิด “ภาพลวง” ขึ้นได้

เรื่องที่สำคัญก็คือ บริษัท SC นั้นขายสินค้าในราคาที่ต่ำกว่า แต่ต้นทุนการซื้อสินค้านั้นกลับแพงกว่าบริษัทระดับชาติเนื่องจากปริมาณการสั่งซื้อจาก Supplier ที่น้อยกว่ามาก ดังนั้น มาร์จินหรือกำไรขั้นต้นของ SC จึงน่าจะต่ำมาก อย่างไรก็ตาม อาจจะมีข้อโตแย้งว่า ต้นทุนค่าการขายและโสหุ้ยต่าง ๆ ของ SC นั้นต่ำกว่าบริษัทที่มีเครือข่ายระดับชาติ ดังนั้น SC ก็อาจจะยังมีกำไรได้ แต่นี่เป็นเรื่องที่เราคาดเดามากกว่าข้อเท็จจริง แต่ข้อโต้แย้งก็มีต่อไปว่า ถ้า SC ไม่มีกำไร บริษัทจะอยู่ได้อย่างไรมาค่อนข้างนานและที่สำคัญยังขยายตัวด้วย บางแห่งเริ่มขยายตัวอย่างน่าประทับใจ นี่ไม่ใช่สัญญาณของธุรกิจที่ประสบความสำเร็จและทำกำไรหรือ?

คำตอบของผมก็คือ อาจจะไม่ใช่! เหตุผลก็คือ ในธุรกิจค้าปลีกนั้น ผู้ขายจะขายเป็นเงินสดในขณะที่การซื้อสินค้าจาก Supplier นั้นเป็นเงินเชื่อซึ่งบางทีกว่าจะจ่ายก็เป็นเวลาหลายเดือน ดังนั้น แม้ว่าบริษัทจะค้าขายไม่มีกำไรหรือขาดทุนบ้าง กระแสเงินสดของบริษัทก็จะไม่ขาด บริษัทสามารถขายสินค้าไปได้เรื่อย ๆ โดยไม่ประสบปัญหาในการดำเนินงาน ว่าที่จริงในบางกรณี บริษัทสามารถขยายงานไปได้เรื่อย ๆ ทั้ง ๆ ที่บริษัทไม่มีกำไรเลย เหตุผลก็เช่นเดิมนั่นก็คือ บริษัทยิ่งขายสินค้ามาก เงินสดที่ได้จากการขายก็มากขึ้นในขณะที่เงินที่จะต้องจ่ายให้กับ Supplier กลับถูกเลื่อนออกไปเรื่อย ๆ ดังนั้น การขยายตัวของธุรกิจจึงอาจจะไม่ใช่เครื่องหมายของการทำกำไรก็ได้

ข้อถกเถียงต่อมาก็คือ เจ้าของธุรกิจ SC คงไม่ทำธุรกิจ หรือตัดสินใจขยายงานโดยที่รู้ว่ากิจการไม่ทำกำไร นี่ก็เป็นข้อโต้แย้งที่มีเหตุผล อย่างไรก็ตามนี่ก็มาถึงจุดอ่อนที่สำคัญที่สุดของธุรกิจของ SC นั่นก็คือ เรื่องของการจัดการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริหารสินค้าคงคลัง ปัญหาก็คือ เจ้าของหรือผู้บริหารของ SC เองนั้น อาจจะไม่รู้ข้อมูลจริง ๆ ของธุรกิจของตนเองเนื่องจากระบบข้อมูลและบัญชีอาจจะไม่ได้มาตรฐาน เขาอาจจะไม่ได้ตรวจนับสินค้าคงคลังอย่างละเอียดถี่ถ้วนเพียงพอ เขาอาจจะประมาณการสินค้าสูญหายหรือล้าสมัยต่ำเกินไปซึ่งทำให้ตัวเลขกำไรนั้นสูงเกินไป นี่เป็นตัวอย่างที่อาจจะเกิดขึ้นเนื่องจากการบริหารงานที่อาจจะมีอีกมากมาย

ถ้าสมมุติว่าทุกอย่างถูกต้อง บริษัท SC นั้น ประสบความสำเร็จจริง ธุรกิจมียอดขายที่ดี มีกำไรจริง มีการบริหารงานและระบบข้อมูลและบัญชีที่เชื่อถือได้ และสามารถขยายงานครอบคลุมในระดับจังหวัดและอาจจะในจังหวัดใกล้เคียงได้สำเร็จ แต่นี่ก็ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าบริษัทจะสามารถแข่งขันกับบริษัทระดับชาติได้อย่างแน่นอน ประเด็นก็คือ การบริหารงานบริษัทที่มีขนาดของธุรกิจขนาดหนึ่งนั้น อาจจะไม่เหมือนกับการบริหารบริษัทที่มีขนาดใหญ่ขึ้นไปมาก ระบบการบริหารอาจจะเปลี่ยนแปลงไปมาก การดูแลกิจการโดยบุคคลที่เป็น “เจ้าของ” อาจจะทำได้ไม่ทั่วถึงและนี่อาจจะเป็นข้อจำกัดของบริษัท SC

แน่นอน ต้องมีบริษัท SC ที่สามารถก้าวขึ้นมาเป็นบริษัทระดับชาติได้บ้าง ว่าที่จริงตัวอย่างก็มีอยู่ อย่างไรก็ตาม บริษัท SC จำนวนมากและน่าจะเป็นส่วนใหญ่นั้น ก็ไม่สามารถที่จะเติบโตขึ้นมาท้าทายบริษัทที่มีเครือข่ายระดับชาติได้ SC จำนวนมาก “ล้มหายตายจาก” ไป SC ที่เหลืออยู่จำเป็นต้อง “หาจุดยืน”ของตนเองให้ได้เพื่อที่จะอยู่รอดได้ในระยะยาว แต่สำหรับนักลงทุนที่ลงทุนในบริษัทค้าปลีกระดับชาติแล้ว ความคิดที่ว่า SC จะเป็นภัยคุกคามต่อการขยายตัวของบริษัทนั้น น่าจะเป็นสิ่งที่ยังห่างไกลไปมาก


โดย: . IP: 125.24.88.130 วันที่: 17 เมษายน 2555 เวลา:10:46:07 น.  

 
คอมเม้นเขียนดีกว่าบทความหลักซะอีก


โดย: aex IP: 125.24.121.95 วันที่: 17 เมษายน 2555 เวลา:12:51:34 น.  

 
comment เป็นของอาจารย์ ดร. นิเวศ ครับ


โดย: นายแว่นธรรมดา IP: 125.25.100.60 วันที่: 17 เมษายน 2555 เวลา:13:13:43 น.  

 
Thank sir


โดย: Gmann IP: 115.67.224.3 วันที่: 17 เมษายน 2555 เวลา:19:22:57 น.  

 
ได้ความรู้ดีครับ
ขอบคุณครับ


โดย: สายลม08 วันที่: 18 เมษายน 2555 เวลา:21:57:22 น.  

 
เหตุผลที่ขึ้นเป็นกระทู้ต้องการให้พวกเรามองในส่วนของ CPALL ที่จ่ายหุ้นปันผล 1:1นั้นด้วย ถ้าราคาหุ้นเพิ่มขึ้นจาก 31 ธันวาคม 2554 (ราคาปิด 66.25)
จะมีผลต่อกำไรขาดทุนของบริษัทที่ถือหุ้นด้วยครับ เพราะถือว่าเป็นเงินลงทุนของ CPF ในบริษัท CPALL

ดังนั้นหากราคาหุ้น CPALL มีราคาเพิ่มขึ้นหรือลดลง CPF จะต้องตีราคาเงินลงทุน(หุ้นที่ถืออยู่) Mark To Market(Price) ในราคาตลาดในทุกไตรมาสครับ
และบันทึกเป็นกำไรขาดทุนในหัวข้อเงินลงทุนในงบกำไรขาดทุนครับ
(ดังนั้นเราจะได้ยินว่าทุกวันที่เป็นวันสุดท้ายของไตรมาส หรือสิ้นปี จะมีการทำราคาหุ้นของตัวเองให้สูงขึ้น เพื่อให้เงินลงทุนมีกำไรเพิ่มขึ้นไงครับ
ผลกระทบในส่วนหุ้นเพิ่มทุนจะส่งผลใน Q2 ไม่ใช่ Q1 เพราะจะขึ้น XD CPALL ใน Q2 (ขอแก้ไขครับ) เพราะน่าจะทำให้เงินลงทุนของ CPFเพิ่มขึ้น

อีกอย่างหากบริษัทนั้นถือหุ้นเกิน 20% ของหุ้นของ CPALL บริํษัทCPFถือหุ้นอยู่ประมาณ 30% ตามหลักการบํญชี CPFจะต้องนำผลกำไรของ CPALL30%
มาบันทึกเป็นผลกำไรจากเงินลงทุนของCPFด้วยครับ และคิดว่าQ1 CPALLจะมีกำไรเพิ่มขึ้นอย่างมากเหมือนกัน

ส่วนผลดีอื่นๆก็มีอีกมากเช่น

1. ภาษีนิติบุคคลลดเหลือ 23% กำไรเพิ่ม 7%
2. รวมงบ cpp กำไรเพิ่ม 19% (26%-9%Dilute)
3. กำไรจากการเข้าซื้อหุ้นCPP เป็นกำไรพิเศษ 3-4พันล้าน
4.ยอดขายเพิ่มขึ้นประจำปี

เพิ่มเติม
การถือหุ้นที่จะต้องนำมาบันทึกในงบการเงิน แม้ CPF จะไม่ได้ถือโดยตรง แต่หากCPFถือหุ้นผ่านบริษัทลูกก็จะต้องนำมาคิดด้วย เรียกว่าถือหุ้นทางอ้อมครับ
โดยจะต้องคิดรวมเป็นสัดส่วนของหุ้นของ CPFด้วยว่าลงทุนเกิน20% หรือไม่
หากลงทุนถึง20% ก็ต้องนำผลกำไรหรือขาดทุนมารวมในงบการเงินของ CPF ด้วยครับ
แต่ไม่ต้องสนใจการถือหุ้นทางอ้อมก็ได้ครับ เพราะเราคงจะดูผลกระทบได้ยากมาก แต่รู้เพื่อความเข้าใจก็พอครับ

อย่างเรื่องผลขาดทุนจากเงินลงทุนที่บริษัทใดบริษัทหนึ่งไปลงทุนในบริษัทอื่น ต้องนำมารวมในงบของบริษัทผู้ลงทุนด้วย
ถ้าจำกันได้ CPALL ก็เคยลงทุนในหุ้นบริษัทโลตัส(จีน) และต้องนำผลขาดทุนมารวมกับ งบของ CPALL ทำให้กำไรลดลงอย่างมาก
แต่หลังจากได้ขาบหุ้นบริษัทโลตัส(จีน) ไป ก็ไม่ต้องรับรู้ผลขาดทุนจากบริษัทโลตัส(จีน) อีก
ตั้งแต่นั้นมาผลกำไรของCPALL ราคาหุ้นของ CPALL ก็วิ่งเอาๆ จาก 6-7 เมือ3-4ปีก่อนที่ราคา 6-7 บาท มาเป็นเกือบ 70 ในตอนนี้ำไงครับ




โดย: ใ IP: 182.53.34.55 วันที่: 20 เมษายน 2555 เวลา:20:40:58 น.  

 
พี่ครับ ผมว่าพี่อย่าพิมพ์ราคาที่เหมาะสมออกสาธารณะเลยครับ (ถึงจะมีเหตุผลประกอบก็ตาม) ผมเชื่อในเจตนาบริสุทธิ์ของพี่นะแต่ดูมันเสี่ยงๆผิดกฏหมายยังไงไม่รู้


โดย: กดหมดแถว IP: 14.207.230.220 วันที่: 25 เมษายน 2555 เวลา:21:11:22 น.  

 
รับทราบครับ จะพยายามระวังให้มากกว่านี้ครับผม

ขอบคุณมากครับที่ชี้แนะ


โดย: นายแว่นธรรมดา วันที่: 26 เมษายน 2555 เวลา:8:01:55 น.  

 
เมื่อวานเห็นเด็กไม่กี่ขวบร้องบอกแม่ว่าอยากเข้าเซเว่นนนนน...


โดย: : D IP: 10.128.28.54, 202.44.8.100 วันที่: 3 พฤษภาคม 2555 เวลา:15:56:09 น.  

 
นับเป็น Talk of the town เลยก็ว่าได้สำหรับประเด็นเรื่องราคาที่ผันผวนของหุ้นพื้นฐานดีชื่อดัง CPALL


สิ่งหนึ่งที่ผมเห็นว่าเป็นปัจจัยที่น่ากลัวก็คือการเห็นคนจำนวนมากพูดถึงเกี่ยวกับหุ้นตัวใดตัวหนึ่ง ซึ่งมันเกิดขึ้นกับหุ้น CPALL ในระยะหลังๆมานี้ สาเหตหนึ่งที่มีการตั้งกระทู้พูดคุยเกี่ยวกับหุ้นก็คือ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับตนเอง โดยการถามความเห็นจากนักเก็งกำไรคนอื่นๆ หรือเพื่อหาผู้ร่วมอุดมการณ์นั่นเอง เป็นเรื่องธรรมชาติที่คนเราจะรู้สึกอุ่นใจเมื่อรู้ว่าเราไม่ผิดปกติไปจากคนอื่น ไม่หลงซื้ออยู่คนเดียว (ดีใจที่เป็นหนึ่งในคนหมู่มาก)


ผมคิดว่าทฤษฏีผลประโยชน์ ของคุณ พิชัย จาวลา นั้นเป็นเรื่องที่น่าสนใจ และเนื้อหาใจความบางส่วนก็คล้ายกับสิ่งที่ถูกเขียนไว้ในหนังสือของเซียนหุ้นระดับโลก ผมขออนุญาติหยิบยกมาพูดสักประเด็นหนึ่ง


แท้จริงแล้วการเป็นหนึ่งในคนหมู่มาก (Mass) นั้นไม่ใช่เรื่องที่น่าประทับใจนักในตลาดทุน เป็นที่รู้กันอยู่ว่าทุกๆครั้งที่มีการซื้อ ก็ต้องมีอีกฝั่งขาย ในเมื่อเราๆ (ที่ตั้งกระทู้) ส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนรายย่อย การที่เราหลายๆคนซื้อหุ้นตัวใดตัวหนึ่งพร้อมๆกันเป็นจำนวนมากๆ ก็หมายความว่ามีผู้ถือหุ้นอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งอาจจะเป็นรายย่อยด้วยกันเอง สถาบัน หลักทรัพย์ หรือ นักลงทุนต่างชาติกำลังเทขายกันอยู่อย่างเมามันส์ แต่ไม่ว่าจะเป็นใครที่ขายอยู่ สุดท้ายผลที่ออกมาก็คือ "รายย่อย ซื้อสุทธิ"
ประโยคหนึ่งที่ทำให้ผมฉุกใจคิดขึ้นมาได้ก็คือ "เป็นไปได้จริงๆหรือ ที่ว่านักเก็งกำไรรายย่อยทุกคนจะเป็นฝ่ายที่ได้กำไรจากการซื้อขายหุ้น โดยที่อีกสามฝ่าย (สถาบัน บล. ต่างชาติ) ขาดทุนกันถ้วนหน้า ทั้งๆที่ฝ่ายตรงข้ามมีเม็ดเงินต่อคนหนากว่า มีข้อมูลวงใน และมีอำนาจในการควบคุมข่าวจากสื่อต่างๆ"


อย่างไรก็ตาม เรื่องของทฤษฏีผลประโยชน์นั้นก็ใช้ได้เฉพาะกับการ "เก็งกำไร" ซึ่่งน่ากลัวมากสำหรับคนที่เข้าซื้อหุ้นเก็งกำไรในช่วงที่ผ่านมา แต่หากมองถึงการลงทุนระยะยาวแล้ว สิ่งที่สำคัญกว่าก็คือ พื้นฐาน ของหุ้น ซึ่งผมให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกเสมอ


อย่างที่ผมเคยกล่าวไว้ในบทความ [หลักเกณฑ์การเลือกหุ้นในแบบของผม] สิ่งที่ทำให้หุ้น CPALL มีค่า P/E ที่สูงมาก ประกอบไปด้วย อัตราการเติบโตที่สูง ผู้บริหารที่เก่ง และ Competitive Advantage โดยผมมองว่าค่า P/E นี้มีความหมายโดยนัยว่า "ขณะนี้ ตลาดยอมซื้อขายหุ้นกันที่ราคากี่เท่าของกำไรต่อหุ้น"


ลองมาดูข้อมูลในอดีตย้อนหลังของหุ้นตัวนี้กันครับ (CPALL)


ปี 2552 กำไรต่อหุ้นเติบโต 50% ตลาดซื้อขายกันที่ P/E 25.29 เท่า
ปี 2553 กำไรต่อหุ้นเติบโต 33% ตลาดซื้อขายกันที่ P/E 28.4เท่า
ปี 2554 กำไรต่อหุ้นเติบโต 20% ตลาดซื้อขายกันที่ P/E 29.16เท่า
ปี 2555 (คาดการณ์ว่า) กำไรต่อหุ้นเติบโต 20% และหากสิ้นปีราคาหุ้นปิดที่ตรงนี้ (37.25บาท) จะเทียบเท่ากับค่า P/E 34.88 เท่า


จากข้อมูลชุดนี้ จะเห็นได้ว่า
1. หุ้น CPALL มีอัตราการเติบโตที่สูง แต่มีแนวโน้มลดลง
2. หุ้น CPALL มีแนวโน้มค่า P/E ที่สูงขึ้นเรื่อยๆ


สิ่งที่นักลงทุนควรให้ความสนใจก็คือ กลยุทธ์การลงทุน และการเปลี่ยนแปลงของบริษัท โดยหาก CPALL ไม่มีกลยุทธ์สร้างสรรค์ใหม่ๆเพิ่มขึ้นมา อย่างที่เคยทำในอดีต และหันมาขยายเปิดสาขาเพิ่มเพียงอย่างเดียว ก็เป็นเรื่องธรรมดาที่อัตราการเติบโตของกำไรจะมีแนวโน้มลดลงไป จนวันหนึ่ง CPALL จะเปลี่ยนจากหุ้นโตเร็ว กลายเป็น หุ้นแข็งแกร่ง ก็เป็นได้ และเมื่อถึงจุดๆนั้น ค่า P/E ที่เคยสูงอย่างทุกวันนี้อาจจะไม่ได้รับการยอมรับ และส่งผลทำให้ราคาของหุ้นตกลงอย่างรวดเร็ว และรุนแรง อย่างไรก็ตาม ผมมีความเชื่อมั่นในตัวของผู้บริหารของบริษัทว่าจะไม่ปล่อยให้เป็นเช่นนั้นในเร็ววันนี้ แต่อนาคตเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอนครับ


การเติบโตที่สูงกว่า 20% ในตลอด 4ปีที่ผ่านมานี้ ก็แสดงให้เห็นส่วนหนึ่งแล้วว่า "บริษัทนี้ไม่ธรรมดา" โดยหากเพียงแค่บริษัทรักษาอัตราการเติบโตนี้ไปเรื่อยๆได้ในระยะยาว (ทำยากมากๆ) ทฤษฏีของเลขยกกำลังจะจัดการให้ทุกอย่างดีขึ้นเอง เพราะการเติบโตนั้นมันทบต้น ลองดูกันครับว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับราคาหุ้น ผมจะคำนวณให้ดูเล่นๆ โดยสมมุติว่ากำไรต่อหุ้นของบริษัทจะเติบโตขึ้น 20% เท่ากันทุกปีเป็นเวลา 10ปีต่อจากนี้


2012 กำไรต่อหุ้น 1.07
2013 กำไรต่อหุ้น 1.28
2014 กำไรต่อหุ้น 1.54
2015 กำไรต่อหุ้น 1.84
2016 กำไรต่อหุ้น 2.21
2017 กำไรต่อหุ้น 2.66
2018 กำไรต่อหุ้น 3.19
2019 กำไรต่อหุ้น 3.83
2020 กำไรต่อหุ้น 4.59
2021 กำไรต่อหุ้น 5.51
2022 กำไรต่อหุ้น 6.61


แน่นอนว่าแนวโน้มค่า P/E จะสูงขึ้นไปเรื่อยๆหากกำไรเติบโตเช่นนี้
คำนวณแบบ Conservative ที่ P/E 40 เท่า จะได้ราคาของหุ้น CPALL ในปีที่ 2012 อยู่ที่ประมาณ 265 บาท (โต 611.4% จากราคาปัจจุบัน เฉลี่ยปีละ 61.14%)


ประเด็นสำคัญเดียวที่คุณต้องขบคิดก็คือ บริษัทมีแนวโน้มจะโตอย่างน้อย 20% แบบนี้ต่อไปทุกปีหรือเปล่า ซึ่งถ้าหากคำตอบคือ "ใช่" คุณก็ไปคิดต่อว่าผลตอบแทน 61.14% ต่อปี (ยังไม่รวมเงินปันผลที่ได้รับในแต่ละปี) นั้นคุ่มค้ากับความเสี่ยงที่เหตุการณ์จะพลิกไม่เป็นตามแผนหรือไม่ ซึ่งถ้าหากคำตอบเป็น "คุ้ม" อีก ก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่คุณจะต้องขายหุ้นที่ถืออยู่นี้ออกไปแต่อย่างใด (สำหรับคนซื้อลงทุนระยะยาวเท่านั้นนะครับ ซื้อเก็งกำไรนี่อีกเรื่องนึง)


โดย: . IP: 58.9.148.162 วันที่: 5 พฤษภาคม 2555 เวลา:11:37:17 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิกช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

นายแว่นธรรมดา
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 110 คน [?]




ยินดีต้อนรับสู่บล็อกนายแว่นธรรมดา บล็อกที่รวมเอาความคิด ความฝัน ความรู้สึกของนายแว่นธรรมดา เพื่อปะติดปะต่อภาพแห่งความรู้สึกในใจของเราให้เสร็จสมบูรณ์ (ขอสงวนการนำข้อมูลในบล็อกไปใช้ครับ)
Free counters!
New Comments
[Add นายแว่นธรรมดา's blog to your web]