พระเครื่อง : แหล่งข้อมูลบทความพระเครื่อง เครื่องรางของขลัง และวัตถุมงคล
Group Blog
 
<<
ตุลาคม 2556
 
27 ตุลาคม 2556
 
All Blogs
 
มหากาพย์"สอดแนม" สหรัฐไม่ละเว้นพันธมิตร? (คอลัมน์ สกู๊ปพิเศษ)

มหากาพย์"สอดแนม" สหรัฐไม่ละเว้นพันธมิตร?

คอลัมน์ สกู๊ปพิเศษ



กําแพงมีหู ประตูมีตา คำพังเพยนี้คนไทยเกือบทุกคนก็คงรู้จัก

แต่ในสมัยปัจจุบัน สงสัยต้อง "อัพเดต" ให้ทันสถานการณ์โลก ด้วยการเสริมคำว่า "หน่วยข่าวกรองสหรัฐอเมริกามีทั้งหูและตา" เข้าไปด้วย

ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวสะเทือนโลกที่เปิดโปงว่า หน่วยงานความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐ (เอ็นเอสเอ) มีศักยภาพดักฟังโทรศัพท์มือถือของบรรดาผู้นำประเทศอย่างน้อย 35 ราย

ในจำนวนนี้บุคคลที่กระหึ่มที่สุดคือ นายกรัฐมนตรีแองเกลา แมร์เคิล แห่งเยอรมนี สตรีที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลก

ต่อเนื่องจากรายงานชาวฝรั่งเศสถูกดักฟังถ้วนหน้ากว่า 70.3 ล้านเลขหมาย และ นาง ดิลมา รุสเซฟฟ์ ประธานาธิบดีหญิงของบราซิล ถูกสอดแนมทางอีเมล์

แต่ละเหยื่อที่กล่าวมาล้วนสังกัดอยู่ในฝั่ง "พันธมิตร" ของสหรัฐทั้งสิ้น

ข่าวนี้เป็นอีกมหากาพย์ "แฉ" ต่อเนื่องจาก เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน อดีตเจ้าหน้าที่ข่าวกรองสหรัฐที่ตอนนี้หลบหนีไปอยู่ในรัสเซีย

เมื่อข่าวนี้เผยแพร่ออกไป ทั้งนางแมร์เคิล และประธานาธิบดีฟรังซัวส์ ออลลองด์ แห่งฝรั่งเศส ต่างก็โทรศัพท์สายตรงถึงประธานา ธิบดีบารัก โอบามา เพื่อแสดงความไม่พอใจอย่างยิ่ง

เพราะเหมือนคนเป็นเพื่อนกัน ทำกันอย่างนี้ได้อย่างไร

การเปิดโปงขอบเขตปฏิบัติการสอดแนมของสหรัฐมีอย่างต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่โครงการปริซึม (Prism) ที่เก็บบันทึกข้อมูลการใช้โทรศัพท์ของชาวอเมริกัน และบันทึกข้อมูลการใช้อินเตอร์เน็ตของชาวต่างชาติ ทั่วโลกที่ "สงสัย" ว่าเกี่ยวข้องกับ "ภัยความมั่นคง" อย่างภัยก่อการร้าย

รายงานแฉเพิ่มว่า ปฏิบัติการดังกล่าว ไม่ได้จำกัดอยู่แค่สหรัฐเท่านั้น เอ็นเอสเอ ยังเก็บข้อมูลการใช้โทรศัพท์ของชาติอื่นๆ อย่างเยอรมนี ฝรั่งเศส และสเปน พร้อมกับติดตั้งอุปกรณ์สอดแนมในสำนักงานการทูตต่างๆ ในสหภาพยุโรป (อียู) อีกต่างหาก

ในฟากฝั่งหนึ่งของมหาสมุทรแอตแลนติก ประธานาธิบดีรุสเซฟฟ์แห่งบราซิล ก็ประท้วงต่อทางการสหรัฐอย่างเผ็ดร้อนหลังมีรายงานว่าหน่วยข่าวกรองสหรัฐดักฟังโทรศัพท์ของเธอ และสอดแนมการใช้อินเตอร์เน็ตของ ชาวบราซิล

ข่าวนี้ทำให้ชาวบราซิลจำนวนหนึ่งกล่าวติดตลกว่า สมัยนี้เวลาเขียนอีเมล์ต้องอย่าลืมกล่าวทักทายเจ้าหน้าที่เอ็นเอสเอที่กำลังอ่านข้อความอยู่ด้วย

แต่ข่าวการดักฟังมือถือของนางแมร์เคิล เป็นที่สื่อทั่วโลกจับตามากที่สุด เพราะนางแมร์เคิลเป็นพันธมิตรสำคัญที่สุดคนหนึ่งของนายโอบามาในภูมิภาคยุโรป

นอกจากนี้ นางแมร์เคิลยังมีประวัติที่ขมขื่นกับ "การสอดแนม" มาตั้งแต่วัยเยาว์ เพราะนายกฯหญิงผู้นี้เกิดและโตขึ้นมาในเยอรมนีตะวันออก สมัยที่พรรคคอมมิวนิสต์กระทำการสอดส่องและดักฟังประชาชน อย่างต่อเนื่อง และใช้ตำรวจลับหรือ "สตาซี่" แฝงตัวในหมู่เพื่อนฝูง เพื่อนบ้าน หรือแม้แต่ครอบครัว เพื่อคอยสอดแนมผู้ที่สงสัยว่าเป็นภัยต่อรัฐ

นางแมร์เคิลจึงมีปฏิกิริยาที่แข็งกร้าวเป็นพิเศษต่อข่าวการดักฟังโทรศัพท์โดยฝีมือเอ็นเอสเอ

นักวิเคราะห์มองว่าข่าวนี้ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับชาติพันธมิตรในยุโรปยิ่งย่ำแย่ลงอีก

เห็นได้จากคำแถลงการณ์ร่วมของอียูที่ระบุว่า "โครงการสอดแนมของสหรัฐที่อ้างว่าเป็น การต่อสู้กับผู้ก่อการร้ายนั้น จะส่งผลร้ายต่อความร่วมมือในการหยุดยั้งขบวนการก่อการร้ายระหว่างสหรัฐกับยุโรปเสียเอง เพราะชาติพันธมิตรต่างสูญเสียความไว้ใจ"

กรณีนี้ยังเป็นข่าวใหญ่ขึ้นมาในช่วงที่ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิเสรีภาพในยุโรป กำลังรณรงค์ให้ศาลในชาติต่างๆ ของอียู ต่อต้านนโยบายเก็บข้อมูลของบริษัทอินเตอร์เน็ตยักษ์ใหญ่ของสหรัฐ ไม่ว่าจะเป็น กูเกิ้ล ยาฮู หรือเฟซบุ๊ก เนื่องจากบริษัทเหล่านี้มีประวัติละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของผู้ใช้ทั่วโลก

จึงเชื่อได้ว่าการต่อสู้ในประเด็นสิทธิส่วนบุคคล จะเป็นประเด็นสำคัญในความสัมพันธ์ยุโรป-อเมริกาในอีกหลายปีข้างหน้า

นอกจากนี้คาดว่าชาวยุโรปหลายคนคงผิดหวังกับรัฐบาลสหรัฐ ภายใต้การบริหารของนายโอบามา จากเดิมที่เคยคาดหวังไว้มากว่าจะเปลี่ยนแปลงนโยบายต่างๆ ให้ดีขึ้นกว่าสมัยอดีต ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช

ขณะที่โอบามาดับเครื่องชนกับพรรครีพับลิกันในนโยบายภายในประเทศ แต่ในเชิงการเมืองระหว่างประเทศแล้ว แทบไม่ต่างกันเลย เพียงแต่ใช้วิธีต่างกัน บางคนถึงกับตั้งชื่อนายโอบามาว่าเป็น "บุชแบบเจือจาง" (Bush Lite)

จากที่บุชเคยสั่งยกทัพบุกอัฟกานิสถานและอิรักอย่างเอิกเกริก โอบามาก็หันมาใช้โดรน หรือเครื่องบินไร้คนขับเด็ดหัวเป้าหมาย หรือใช้คอมมานโดลักลอบเข้าไปอุ้มแกนนำขบวนการก่อการร้ายแทน

แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เปลี่ยนคือ ขนาดและอำนาจของปฏิบัติการสอดแนมต่างๆ ที่มีแต่จะขยายขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ภายใต้การนำของทั้งบุชและโอบามา จนถึงกับงานล้นมือ ต้องจ้างเจ้าหน้าที่จากเอกชนนับแสนคนเข้ามาช่วยดูแลระบบสอดแนม (อย่างสโนว์เดน)

ทำให้มีเสียงเตือนจากผู้เชี่ยวชาญว่า อุตสาหกรรมความมั่นคงของสหรัฐกำลังกลายสภาพเป็นกลไกรัฐที่อยู่ภายนอกการควบคุมของรัฐบาลด้วยซ้ำ เพราะแต่ละหน่วยงานต่างก็มุ่งแต่ขยายเขตงานของตน

ซ้ำยังปิดตราเป็น "ความลับ" ที่สาธารณชนตรวจสอบไม่ได้อีกด้วย

เปรียบได้กับเครื่องจักรขนาดมหึมาที่หาสวิตช์ปิดไม่ได้ และอาจเป็นการสร้างภัยแก่ความน่าเชื่อถือของสหรัฐในเวทีโลกเสียเอง



Create Date : 27 ตุลาคม 2556
Last Update : 27 ตุลาคม 2556 0:29:39 น. 0 comments
Counter : 1032 Pageviews.

amulet108
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 96 คน [?]








Friends' blogs
[Add amulet108's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.