"ความสามัคคีปรองดอง เป็นกำลังอย่างสูงสุดของชนชาวไทยทุกหมู่เหล่า ความสามัคคีของคนในชาติ จะทำให้บ้านเมืองผ่านพ้นอุปสรรค และทำให้สังคมไทย ร่มเย็นเป็นสุข" พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ
สนใจลงโฆษณา ในพื้นที่ข้างบน ติดต่อ email : nana_sara1000@ymail.com
Home Lover’s Corner นานา สาระ๑๐๐๐ นานา สารพัด พระพุทธประวัติ ภาคพิเศษ
Travel Around the World Real Estate Buyer's Guide สุขภาพกาย สุขภาพใจ Pets & Animals
ปางพระพุทธรูปตามพุทธประวัติ Horoscope 12 ราศี พระพุทธศาสนา World of Beautiful Musics
พระอุปคุตตเถระ (พระบัวเข็ม)

พระอุปคุตตเถระ (พระบัวเข็ม)

กาลครั้งนั้นพระเจ้าอโศกมหาราชทรงดำริว่า จะอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุบรรจุไว้ในพระเจดีย์ ๘๔,๐๐๐ องค์ที่สร้างไว้นั้น เพื่อจะได้เป็นที่สักการบูชาแห่งทวยเทพและมวลมนุษย์ทั่วทุกประเทศพระพุทธศาสนาจะได้แผ่ไปอย่างกว้างขวางและวัฒนาสถาพรสืบต่อไป และพระองค์ทรงมีพระราชประสงค์จะกระทำมหกรรม คือการฉลองใหญ่พระเจดีย์ทั้ง ๘๔,๐๐๐ องค์ทุกๆพระนคร ทั่วสกลชมพูทวีปกับพระมหาสถูปนั้นด้วย พระองค์จึงทรงดำริว่า “เราจะกระทำการฉลองพระสถูปเจดีย์ทั้งหลาย ทั้งจะกระทำมหาสักการบูชาให้ครบกำหนด ๗ ปี ๗ เดือน ๗ วัน จึงจะสมควรกับศรัทธาปสาทะของเรา ทำอย่างไรจึงจักไม่มีอันตรายในการบำเพ็ญกุศลครั้งนี้ เราควรถามพระอริยสงฆ์ดีกว่า ว่าจะช่วยกันคิดหาทางป้องกันประการใด ”

พระองค์ทรงเสด็จไปสู่พระวิหาร พร้อมด้วยหมู่อำมาตย์ เมื่อทรงนมัสการพระภิกษุสงฆ์ทั้งหลายแล้วประทับ ณ สถานที่อันควร จึงตรัสกับพระโมคคัลลีบุตรติสสเถระว่า “ ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ พระคุณเจ้าจงช่วยค้นหาพระภิกษุผู้มี มหิทธานุภาพมาเพื่อป้องกันอันตรายในงานมหกรรม คือการบุชา เพื่อฉลองพระสถูปเจดีย์ของโยมที่จะจัดให้มีขึ้นถึง ๗ ปี ๗ เดือน ๗ วัน ในครั้งนี้แก่โยมด้วยเถิด ”

พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระได้ฟังพระราชดำรัสแล้ว ถวายพระพรว่า “ ขอถวายพระพระบรมบพิตรพระราชสมภาร พระราชปริวิตกของพระมหาบพิตรนี้ อาตมาภาพจะขอรับภารธุระแสวงหาและเลือกพระภิกษุผู้ทรง อิทธิฤทธิ์
มาช่วยการกระทำมหากรรมในครั้งนี้ ขอถวายพระพร ”

พระเจ้าอโศกมหาราชทรงโสมนัสอย่างยิ่งต่อถ้อยคำรับรองของพระเถระแล้วทรงนมัสการลาเสด็จกลับพระราชนิเวศน์ พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระและพระภิกษุสงฆ์ทั้งหมด ได้ช่วยกันพิจารณาหาเหตุแห่งอันตรายในการบำเพ็ญพระราชกุศลของพระเจ้าอโศกมหาราช ก็ได้เห็นอันตรายแน่ชัดนั้นว่าจะมีพระยามาร มาทำลายพิธีกรรมในการทรงบำเพ็ญพระราชกุศลในครั้งนี้อย่างแน่นอน จึงได้ปรึกษากันเพื่อหาผู้มีฤทธิ์เดชที่จะสามารถต่อสู้ป้องกันภัยพิบัติอันตรายจากพระยามารในครั้งนี้ได้



ครั้นรุ่งขึ้นได้สองวันแล้วก็ยังหาผู้ที่มีความสามารถที่จะปราบพระยามารในครั้งนี้ไม่ได้ ในขณะนั้นเอง ได้มีพญานาคตัวหนึ่งได้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนามจึงได้ขึ้นมาจากนาคพิภพเพื่อจะนมัสการพระภิกษุสงฆ์ทั้งปวง ในเวลาที่พญานาคได้ถวายวันทนาการพระภิกษุสงฆ์อยู่นั้นก็พอดีมีพญาครุฑตัวหนึ่งบินผ่านมาได้เหลือบแลลงมาเห็นพญานาคเข้า ก็คิดว่าวันนี้ช่างโชคดีอะไรอย่างนี้อาหารอันโอชะเป็นเลิศช่างเป็นลาภปากของแท้ๆ ที่บินผ่านมาที่นี้ ว่าแล้วก็บินโฉบลงมาเสียงลมปีกกระพือตัดอากาศเสียงดังสนันหวั่นไหว

ฝ่ายพญานาคได้ยินเสียงนั้น ก็รู้ได้ในทันทีถึงอันตราย ด้วยสัญชาตญาณว่า
นั่นคือเสียงลมปีกกระพือของพญาคุรฑ ถึงกับสะดุ้งตกใจกลัวจนตัวสั่น จะชำแรกแทรกลงแผ่นดิน หนีลงไปก็ไม่ทันกาลเสียแล้ว จึงได้เข้าไปหลบอยู่ในระหว่างเท้าของพระสังฆ์เถระทั้งหลายและได้ร้องวิงวอนขอร้องว่า “ขอพระคุณเจ้าจงช่วยป้องกันชีวิตของข้าพระเจ้าด้วยเถิด ”

พระสังฆเถระเหล่านั้นได้กล่าวกับพญานาคว่า “ อาตมาไม่อาจช่วยป้องกันชีวิตของท่านได้หรอก พญานาค ” ในที่สังฆสันนิบาตนั้น (ประชุมสงฆ์) ได้มีสามเณรอาคันตุกะรูปหนึ่ง อายุประมาณ ๗ ขวบ นั่งอยู่ข้างหน้าอาสนของพระสงฆ์ฯ พระสงฆ์เห็นเหตุร้ายจะเกิดขึ้นเช่นนั้น จึงกล่าวกับสามเณรน้อยรูปนั้นว่า “ ดูก่อนสามเณร เธอจะช่วยป้องกันอัตราย ให้พญานาคได้รอดพ้นจากการเบียดเบียนของพญาครุฑได้หรือไม่ ” สามเณรน้อยกล่าวออกตัวแกมปฏิเสธว่า “ ข้าแต่พระเดชพระคุณทั้งหลายผู้เจริญ พระเดชพระคุณท่านทั้งหลายเป็นผู้ใหญ่ยังมิอาจป้องกันภยันตรายให้แก่พญานาคได้ ส่วนกระผมเป็นสามเณรเล็กเป็นเด็ก เหตุไฉนเลยจะสามารถคุมครองป้องกันภยันตรายได้เล่า ขอรับ ” พระภิกษุทั้งหลายจึงได้ช่วยกันปลอบประโลมขอร้องให้สามเณร จงช่วยป้องกันชีวิตของพญานาคนี้ด้วยเถิด

สามเณรน้อยผู้มีฤทธิ์ ก็จำยอมแล้วกล่าวว่า “ ตกลงขอรับกระผมจะช่วยป้องกันอันตรายให้แก่พญานาคในครั้งนี้ กระผมจะไล่ให้พญาครุฑปลิวไปประดุจปุยนุ่นไปในอากาศเลยขอรับ ” ครั้นพญาครุฑบินโฉบต่ำลงมาสูงเกือบเท่าคนยืน แต่สามเณรน้อยก็ยังคงยืนนิ่งเฉยอยู่ พระภิกษุสงฆ์ทั้งหลายจึงได้ร้องเตือนสามเณรว่า “ ดูก่อนสามเณร เธอจงไล่ครุฑโดยเร็วเถิด ” สามเณรก็เข้าฌานสมาบัติโดยฉับพลัน อธิษฐานให้บังเกิดลมพายุอันร้ายแรงเหมือนลมยุคันตวาด (หมายถึงลมที่ มาทำลายโลกเมื่อสิ้นยุค) พัดพญาครุฑให้ปลิวหนีหายไป ประดุจปุยนุ่นถูกลมพายุใหญ่พัดพาไป
ฉะนั้น

เมื่อพญานาคเห็นเช่นนั้นก็โล่งอก เรารอดตายในครั้งนี้ก็ด้วยสามเณรน้อยองค์นี้เป็นผู้ช่วยช่วยชีวิตเราไว้ พร้อมทั้งกล่าวคำสรรเสริญและกราบลาพระภิกษุสงฆ์ทั้งหลายแล้วแทรกแผ่นดินกลับไปสู่นาคพิภพ พระภิกษุสงฆ์ทั้งหลายจึงได้ซักถามสามเณรน้อยว่า “ ดูก่อนสามเณรเหตุไฉนเธอจึงได้ปฏิเสธในตอนแรก รู้ไหมว่ากระทำการอย่างนี้ไม่สมควร เอาล่ะ อาตมาพร้อมทั้งพระภิกษุสงฆ์ทั้งหลายที่อยู่ในที่นี่จะลงทัณฑกรรม เธอ” สามเณรน้อยจึงได้กราบเรียนว่าถามว่า “ พระเดชพระคุณทั้งหลายจะลงทัณฑกรรมแก่กระผมประการใด ขอรับ ”

“ ดูก่อนสามเณร บัดนี้พระเจ้าอโศกมหาราชจะทรงกระทำมหกรรมคือการฉลองพระมหาสถปเจดีย์โดยมีกำหนดนานถึง ๗ ปี ๗ เดือน ๗ วัน เกรงว่าพระยามารจะการะทำอันตรายในการทรงบำเพ็ญพระราชกุศล เธอจงมาช่วยป้องกันอันตรายของพระยามารในครั้งนี่ กิจอันนี้แหละเป็นทัณฑกรรมที่พระภิกษุสงฆ์จะลงโทษแก่เธอ ”

“ ข้าแต่พระเดชพระคุณเจ้าผู้เจริญทั้งหลาย กระผมเป็นเพียงสามเณรทั้งอายุและฤทธิ์ก็ยังน้อยนิด ไม่สามารถจะป้องกันของพระยามารได้ กระผมเห็นจะมีแต่พระนาคอุปคุตตเถระ ที่มีมหิทธิฤทธิ์ภานุภาพยิ่งล้น และจะทรมานพระยามารให้ปราชัยได้ ขอรับ ”



“ ดูก่อนสามเณร พระอุปคุตตเถระผู้มีอนุภาพมากกว่าเธอรูปนั้น ท่านอยู่ที่ไหน ” สามเณรตอบว่า “ ข้าแต่พระเดชพระคุณผู้เจริญ พระอุปคุตตเถระ ท่านได้ทำลายอุทกขันธ์ลงไปเนรมิตปราสาทแก้ว ๗ ประการ จำพรรษาอยุ่ในท้องมหาสมุทร (ที่สะดือทะเล) เพื่อหลบหนีความวุ่นวายสับสนอลหม่าน
ท่านนั่งเข้าฌานสมาบัติอยู่บนรัตนบัลลังก์ ในท่ามกลางปราสาทแก้วนั้น ไม่ได้ฉันภัตตาหารมาเป็นเวลานาน ถ้าท่านได้มาสู่สังฆสมาคมนี้ ก็จะสามารถทรมานพระยามารผู้มีใจบาปให้พ่ายแพ้ด้วยฤทธิ์เดชอันยิ่งใหญ่ของท่านได้ ดังมีเรื่องกล่าวว่า สมัยเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้ายังทรงพระชนมายุอยู่ ได้ตรัสพยาการณ์ไว้ว่า ต่อไปในอนาตคกาลข้างหน้า จะมีพระภิกษุรูปหนึ่งชื่อว่า พระอุปคุตต์ จะได้ทรมานพระยามารให้ละพยศหมดความเลวร้ายอหังการยอมพ่ายแพ้อานุภาพของท่าน แล้วจะกล่าวปฏิญาณปรารถนาพุทธภูมิ คือ ปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้า พระเดชพระคุณท่านทั้งหลายได้ทราบถึงพยากรณ์นี้บ้างไหม ขอรับ ”

พระภิกษุทั้งหลายได้ฟังคำบอกเล่าของสามเณรน้อยแล้ว ทุกองค์ต่างก็พากันชื่นชมยินดี ทั้งให้ความเห็นเป็นเอกฉันท์ว่า จะไปนิมนต์ พระอุปคุตตเถระ จึงได้จัดพระภิกษุ ๒ รูป ผู้ได้อภิญญาสมาบัติไปนิมนต์พระอุปคุตตเถระ เมื่อพระภิกษุ ๒ รูปรับหน้าที่เป็นสมณฑูต ก็ใช้อภิญญาฤทธิ์ดำดินลงไปที่ปราสาทแก้วของพระอุปคุตตเถระ แล้วเข้าไปกราบนมัสการและบอกให้ทราบถึงความประสงค์ของพระสงฆ์ทั้งหลายที่ได้ใช้มานิมนต์ขึ้นไปสังฆสันนิบาต

พระอุปคุตตเถระกล่าวกับพระภิกษุทั้ง ๒ รูป ด้วยกิริยาที่แสดงความเคารพในพระสงฆ์ มิได้แสดงอาการขัดขืนหรือแข็งกระด้างแต่ประการใดเลยว่า
“ ดูก่อนท่านผู้มีอายุ ท่านทั้งสองจงล่วงหน้าไปก่อนเถิด กระผมจะตามไปในภายหลัง ” เมื่อส่งพระภิกษุ ๒ รูปให้ออกเดินทางไปก่อนแล้ว พระอุปคุตตเถระได้ไปด้วยอิทธิฤทธิ์อันรวดเร็วยิ่งนัก และได้ไปถึงสถานที่สังฆสันนิบาตก่อนพระภิกษุทั้ง ๒ รูปนั้นเสียอีก เมื่อไปถึงแล้วจึงกระทำความเคารพพระภิกษุสงฆ์ทั้งปวง เสร็จแล้วก็นั่งบนอาสนะอันสมควรแก่ตน พอพระภิกษุสมณฑูตทั้งสองรูปมาถึงที่ประชุมสงฆ์นั้น ได้แลเห็นพระอุปคุตตเถระมานั่งอยู่ก่อนแล้ว ก็ให้บังเกิดความประแปลกประหลาดใจ จึงกล่าวกับพระเถระว่า “ ท่านส่งกระผมทั้งสองให้ล่วงหน้ามาก่อน และบอกว่าข้าพเจ้าจะตามมาทีหลัง แต่เหตุไฉนท่านกลับมานั่งอยู่ในที่นี้ก่อนพวกกระผมอีกนี่แสดงให้เห็นว่าท่านมีมหิทธิฤทธิ์เหลือล้น ขอรับ ”



ฝ่ายพระภิกษุสงฆ์ทั้งปวง ก่อนที่จะมอบหน้าที่รับผิดชอบให้พระอุปคุตตเถระ ก็ได้กล่าวตำหนิพระเถระว่า “ ดูก่อนท่านอุปคุตต์ ท่านไม่ได้ร่วมสามัคคีอุโบสถกับพระภิกษุสงฆ์ และไม่ได้ช่วยเหลืองานของพระศาสนา หลบไปหาความสงบสบายแต่ลำพังแต่ผู้เดียว ขาดความเคารพในสงฆ์ เป็นการขัดกับพระพุทธประสงค์ แม้แต่พระมหากบินเถระพระผู้มีพระภาคเจ้ายังทรงตรัสติเตียน เพราะเหตุที่ไม่เคารพในสงฆ์ ฉะนั้นท่านสมควรที่จะถูกพระภิกษุสงฆ์ลงทัณฑกรรม ” (ทัณฑกรรม คือการลงโทษ หรือลงอาญา)

พระมหาเถระได้ฟังเหตุผลของพระภิกษุทั้งปวงแล้ว ก็ยอมรับความผิดนั้นด้วยดี กราบขอขมาโทษพร้อมกับกล่าวว่า “ พระภิกษุสงฆ์ทั้งปวงจะลงทัณฑกรรมประการใด กระผมพร้อมที่จะน้อมรับทัณฑกรรมประการนั้น ขอรับ ”

“ ดูก่อนท่านอุปคุตต์ พระภิกษุสงฆ์ทั้งหมดจะยังไม่อดโทษให้ในตอนนี้
แต่จะอดโทษให้ก็ต่อเมื่อท่านได้ช่วยกระทำงานป้องกันอันตรายถวายแด่พระมหากษัตริย์ได้แล้วนั้นแหละ คือพระเจ้าอโศกมหาราชผู้ทรงเป็นสังฆอุปฏฐาก ทรงมีพระราชสัทธาปนาการจะทรงกระทำมหกรรม คือ การฉลองพระสถูปในพระนครนี้ โดยกำหนดจะกระทำอธิการสักการบูชา เป็นเวลา ๗ ปี ๗ เดือน ๗ วัน ท่านจะทรงรับภารธุระป้องกันพระยามาร อย่าให้มากระทำอันตรายในงานทรงบำเพ็ญพระราชมหากุศลครั้งนี้ งานนี้แหละเป็นทัณฑกรรมที่พระสงฆ์ลงแก่ท่าน”

พระมหาเถระได้รับฟังการลงทัณฑกรรมจากพระภิกษุสงฆ์จึงยอมรับด้วยดี ลุกขึ้นกราบเท้าพระมหาเถระทั้งหลายแล้วกล่าวว่า “ ถ้าหากกระผมแสวงหากัปปิยบิณฑบาต คือบิณฑบาตอันควร และได้ฉันกัปปิยะภัตแล้ว ก็อาจที่จะกำจัดพระยามารไม่ให้มากระทำอันตรายในการทรงบำเพ็ญบุญของพระบรมกษัตริย์ได้ อนึ่งพระบรมศาสดาได้ทรงพิจราณาเห็นเหตุนี้แล้ว จึงได้ตรัสพยากรณ์ไว้ว่า ในอนาคตกาลข้างหน้า จะมีภิกษุรูปหนึ่ง ชื่อว่า อุปคุตต์ จะทรมานพระยามารให้ละพยศหมดความร้ายกาจ ”

ครั้นรุ่งเช้า พระเจ้าอโสกมหาราชเสด็จมาสู่พระอารามทรงนมัสการพระภิกษุแล้วตรัสถามถึงเรื่องที่พระองค์ทรงได้ขอร้องไว้ พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระผู้เป็นประธานแห่งสงฆ์ทั้งปวงได้ถวายพระพรว่า “ขอถวายพระพร บรมบพิตรพระราชสมภาร พระภิกษุทั้งปวงได้หาพระภิกษุที่มีความเฉลียวฉลาดเป็นนักปราชญ์มีความรอบรู้ในพระธรรมวินัยพุทโธวาท ทั้งสมบูรณ์ด้วยศีลาจารวัตร และมี มหิทธิฤิทธิ์เป็นเลิศ จักสามารถป้องกันอันตรายจากหมู่มารที่จะมากระทำอันตรายในการทรงบำเพ็ญพระราชกุศลในครั้งนี้ได้ และจะช่วยให้การทรงบำเพ็ญพระราชกุศลของพระมหาบพิตรสำเร็จลงโดยความเรียบร้อยเป็นอันดี ขอถวายพระพร ”

“ พระภิกษุรูปนั้นอยู่ที่ไหน มีชื่อว่ากระไร ”

พระเถระยกมือชี้ไปที่พระอุปคุตตเถระ พร้อมทั้งกับถวายพระพรตอบว่า “ ขอถวายพระพรบรมบพิตรราชสมภาร พระภิกษุนั้นอยู่ที่นี่แล้ว มีชื่อว่า “พระกีสนาคอุปคุตตเถระ ขอถวายพระพร ”



พระเจ้าอโศกมหาราชเสด็จเข้าไปใกล้พระอุปคุตตเถระแล้วทรงกระทำนมัสการ และทอดพระเนตรเห็นพระมหาเถระมีร่างกายผอมมาก จึงทรงดำริว่า “พระมหาเถระนี้จะมีอนุภาพสามารถที่จะป้องกันอันตรายจากพระยามารได้หรือไม่หนอ ” ทรงนมัสการลาพระภิกษุสงฆ์ และทรงลุกขึ้นไป จากที่ประทับ แล้วเสด็จลากลับพระราชนิเวศน์

รุ่งขึ้นวันที่สอง พระเจ้าอโศกมหาราชทรงปริวิตกกังวลพระทัยจึงทรงดำริว่า “เราควรจะทดสอบพระมหาเถระดูว่า ท่านจะมีฤทธานุภาพจริงหรืออย่างไร ” ในรุ่งเช้าของวันนั้นพระอุปคุตตเถระได้เข้าไปบิณฑบาตในพระราชนิเวศน์เพื่อจะยังพระราชหฤทัยของพระเจ้าอโศกมหาราชให้ทรงเห็น และเกิดปีติโสมนัส พอได้รับบิณฑบาตจากพระเจ้าอโศกมหาราชแล้วท่านจึงกลับออกมานอกประตูพระราชวัง พระเจ้าอโศกมหาราชได้ตรัสสั่งนายควาญช้างให้เตรียมปล่อยช้างซับมัน อันเป็นช้างที่ได้รับการฝึกหัดมาดีแล้ว เพื่อจะทดลองกำลังฤทธานุภาพของพระมหาเถระดูว่า จะสู้กับช้างของพระองค์ได้หรือไม่ประการใด เพราะถ้าหากต่อสู้กับช้างไม่ได้แล้ว ไฉนเลยต่อสู้กับพระยามารได้เล่า

เมื่อพระมหาเถระออกมาพ้นประตูพระราชวังแล้ว พระเจ้าอโศกมหาราชจึงทรงให้สัญญาณแก่นายควาญช้าง ให้ปล่อยช้างพระที่นั่ง แผดเสียงร้องกึกก้อง แล้วช้างก็ได้วิ่งไล่ติดตามพระเถระไปด้วยอาการอันดุดัน ประสงค์ร้าย พร้อมที่จะบดขยี้พระมหาเถระให้แหลกลาญในพริบตา แต่เมื่อช้างนั้นวิ่งเข้ามาใกล้พระมหาเถระ พอเงาของช้างซับมันว่าวิ่งไล่ติดตามมา พระมหาเถระก็นึกรู้ได้ทันทีว่า ช้างเชือกนี้พระราชาทรงแสร้งปล่อย เพื่อจะทดลองดูฤทธิ์ของเรา ท่านจึงได้อธิษญานจิตว่า “ ขอให้ช้างนี้จงกลายเป็นช้างศิลายืนอยู่ที่นี่เถิด ” แล้วพระมหาเถระก็ได้เดินจากสถานที่แห่งนั้นไป

พระเจ้าอโศกมหาราช หลังจากที่รับสั่งให้นายควาญช้างปล่อยช้างออกไล่วิ่งตามพระมหาเถระแล้ว พระองค์ทรงเป็นห่วงเกรงว่าช้างจะไปทำร้ายพระมหาเถระจนถึงแก่มรณภาพเข้า จึงรีบเสด็จตามมา ครั้นพอทอดพระเนตรเห็นช้างยืนนิ่งมิได้ไหวติงราวกับช้างศิลาเช่นนั้น พระองค์ก็ทรงบังเกิดความพิศวงงงงวยสงสัย แล้วทรงดำริว่า “ มงคลหัตถีบริบูรณ์ด้วยสรรพลักษณะปานดังนี้ ทำไมมายืนแน่นิ่ง ร่างกายมิได้เคลื่อนไหวประดุจรูปช้างศิลาเช่นนี้ อานุภาพของพระมหาเถระช่างน่าอัศจรรย์แท้ๆ ท่านคงมีฤทธิ์สามารถป้องกันอันตรายจากพระยามารได้เป็นแน่ เราหมดความปริวิตกในเรื่องนี้แล้ว” จึงเสด็จตามพระมหาเถระมาโดยด่วน พอทันกับพระอุปคุตตเถระ ก็ทรงอภิวาทแล้วตรัสขอขมาโทษต่อพระมหาเถระว่า “ ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ ขอพระคุณเจ้าจงอดโทษให้แก่โยมด้วยเถิด การที่โยมกระทำในครั้งนี้ มิได้มีความปรารถนาจะบีฑายายีพระคุณเจ้า แต่กระทำลงไปเพื่อจะทดลองดูฤทธิ์ ของพระคุณเจ้าให้เห็นประจักษ์ และโยมก็ได้เห็นแล้วโดยมิต้องเชื่อคำบอกกล่าวเล่าลือของผู้อื่นอีกต่อไป ”

“ ขอถวายพระพร พระบรมบพิตรราชสมภาร อาตมามิได้ถือโทษแต่อย่างไร
ขอมหาบพิตรจงมีความสุขสวัสดิ์วัฒนาสถาพร และคชสารพระที่นั่งนั้นจงมีความสุข แล้วกลับไปอยู่ในที่ของตน ตามปรกติเถิด ขอถวายพระพร ” เมื่อพระมหาเถระกล่าวเพียงเท่านี้ ช้างพระที่นั่งก็สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้
แล้วเดินกลับไปที่อยู่ของตน ในกาลนั้นมหาชนผู้รู้เห็นเหตุการณ์ในครั้งนี้ต่างก็เกิดความประหลาดใจ ต่างก็โจษจันกันเรื่องของอิทธิ์ฤทธิ์ปาฏิหาริย์ของพระอุปคุตตเถระ

พอถึงวันกำหนดวันงานฉลองพระพระมหาสถูปเจดีย์ ที่ทรงสร้างไว้ ณ ริมฝั่งแม่น้ำคงคา และพระวิหารตลอดกระทั้งพระมหาเจดีย์ทั้งหลาย พระเจ้าอโศกมหาราชเสด็จพร้อมด้วยพระบรมศานุวงศ์ มหาเสนาบดี เหล่าอำมาตย์ทั้งหลาย และบรรดาเศรษฐี พราหมณ์ พร้อมทั้งประชาชนทุกหมู่เหล่าล้วนตกแต่งร่างกายด้วยสรรพาภรณ์อันวิจิตรตระการตา พร้อมทั้งเครื่องปูชนียภัณฑ์ต่างๆ เช่น ดอกไม้ธูปเทียนของหอมเป็นต้น เครื่องดนตรีนานาชนิดได้มาร่วมประชุมกันประโคมเสียงอึกทึกคึกโครมสนั่นหวั่นไหว ณ ลานพระมหาสถูปเจดีย์นั้น

เมื่อขบวนของพระเจ้าอโศกมหาราช เสด็จมาสู่ลานพระจุฬามณีเจดีย์สถาน พระองค์ตรัสสั่งให้เริ่มพิธี แล้วจุดประทีปบริเวณสถานที่รอบๆ พระมหาเจดีย์นั้น กว้างประมาณครึ่งโยชน์ และตามริมฝั่งแม่น้ำคงคา บริเวณที่ทำพิธีและริมฝั่งแม่น้ำ ได้สว่างไสวไปด้วยดอกไม้และไฟประทีปอันนับไม่ถ้วน นั้นสว่างราวกลางวันก็ไม่ปาน พระภิกษุสงฆ์ทั้งหลายที่ได้เข้ามาร่วมพิธี เพื่อนมัสการพระมหาเจดีย์จำนวนมาก โดยมีพระโมคคัลลีบุตรติสสเถระเป็นประธาน

ในขณะนั้น พระยาวัสวดีมารผู้มีใจหยาบช้า (อุปมาเหมือนคนชั่วไม่รู้จักความดี) ทราบว่าพระเจ้าอโศกมหาราชจะทรงกระทำมหาสักการบูชาฉลองพระมหาสถูปเจดีย์กับพระอาราม เป็นงานที่ยิ่งใหญ่มโหฬารตระการตานัก ก็มีจิตริษยา คิดจะขัดขวางทำลายพิธีกรรมการกุศลทั้งหลายเสีย จึงได้รีบลงมาจากสวรรค์ชั้นนรนิมมิตวดีในเทวโลก ครั้นแล้วได้แสดงอิทธิฤทธิ์บันดาลให้ท้องฟ้ามืดมัวและพายุใหญ่ก็พัดพามาแต่ไกล เพื่อต้องการจะทำลายพิธีสักการบูชาพระมหาสถูปเจดีย์ด้วยแรงใจอิจฉาริษยาของพระยามารที่ไม่ต้องการเห็นใครได้ดีกว่าตน

ส่วนพระอุปคุตตเถระ ผู้รับหน้าที่ป้องกันอันตรายมิให้เกิดในงานมหกรรมนี้
ได้พิจารณาดูเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน ผิดปรกติเช่นนี้ ท่านเข้าสมาบัติก็ทราบได้ในทันทีว่า พระยามารได้เริ่มกระทำทำลายพิธิการบำเพ็ญกุศลแล้ว ท่านจึงใช้อิทธิฤทธิ์ด้วยอธิษฐานานุภาพ ปัดเป่าให้พายุใหญ่ของพระยามารนั้นอันตรธานหายไป พระยามารเมื่อบันดาลพายุใหญ่ร้ายแรงเพื่อทำลายพิธีนั้นไม่ได้ผล ก็โกรธแค้นจึงบันดาลให้ห่าฝนทรายกรดอันรุ่งโรจน์ ดุจเพลิงตกลงมา ให้เป็นเม็ดฝนกรวดกรด ห่าฝนก้อนศิลา ห่าฝนถ่านเพลิง ห่าลมกรด ห่าฝนเถ้ารึง (ได้แก่ กองเถ้าที่ไม่มีถ่านไฟ แต่ยังมีความร้อนระอุอยู่) ห่าฝนเปือกตม ให้ตกลงมาเป็นลำดับกัน และยังบันดาลให้เกิดมืดมิดทมึนทึน ปรกคลุมบริเวณนั้นจนน่ากลัวอีก

พระมหาเถระก็อธิษฐานจิต อิทธิฤทธิ์หอบเอาห่าฝนเหล่านั้น และความมืดมิดของพระยามารไปทิ้งเสียนอกขอบจักรวาล แล้วพระยามารยิ่งโกรธแค้นจัด จึงเนรมิตร่างกายตนเป็นสัตว์ดุร้ายต่าง เช่นโคใหญ่วิ่งเข้าไปหมายจะชนทวีปให้แหลกพังพินาศไปกับตา พระมหาเถระก็เนรมิตร่างกายเป็นรูปพยัคฆ์ใหญ่ วิ่งไล่กวดจับเจ้าโคร้าย เจ้าโคร้ายพระยามารเห็นเช่นนั้นก็ตกใจส่งเสียงร้องหวาดกลัวจนสนั่นหวั่นไหวไปทั้วทั้งบริเวณ

พระเจ้าอโศกมหาราชและเหล่าอำมาตย์เสนาบดีพ่อค้าเศรษฐีและประชาชนต่างก็เฝ้าดูเหตุการณ์ด้วยใจสั่นระทึก สัตว์ทั้ง ๒ ต่อสู้ไม่นาน โคร้ายพระยามารก็เป็นพ้ายแพ่แก่พยัคฆ์ใหญ่พระมหาเถระ โคร้ายพระยามารจึงได้กลับกายร่างเป็นรูปพยานาคมี ๗ เศียร ตรงเข้าคาบกายของพยัคฆ์ใหญ่พระมหาเถระ พระมหาเถระก็กลายร่างเป็นพญาครุฑแล้วกลับกลายคาบเอาศีรษะของพระนาคพระยามารลากไปจนพระยามารต้องปราชัยอีกครั้ง

แต่พระยามารก็ยังไม่ยอมแพ้ รีบแปลงร่างจากพระยานาคเป็นยักษ์ใหญ่ตัวโตมโหฬาร ทั้งหน้าตาก็ดุร้าย เป็นที่น่ากลัวยิ่ง ในมือถือตะบองทองแดงอันใหญ่เท่าลำต้นตาลใหญ่ กวัดแกว่งเสียงดังก้องกำประนาท เข้าไปประทัตประหารพระยาครุฑพระเถระทันที ฝ่ายพระยาครุฑพระเถระจึงเปลี่ยนแปลงร่างจากพระยาครุฑเป็นยักษ์ที่ใหญ่กว่ายักษ์พระยามารอีกสองเท่า ในมือก็ถือสองตะบองไฟกวัดแกว่ง ไล่ตีศีรษะของยักษ์พระยามาร จนยักษ์พระยามารต้องวิ่งหนีหัวซุกหัวซุน

เมื่อพระยามารบันดาลอิทธิฤทธิ์หลายประการก็แล้ว แต่พระมหาเถระก็สามารถแก้อิทธิฤทธิ์ของตนให้ต้องพ้ายแพ้ตลอด และไม่สามารถที่จะเอาชนะต่อพระมหาเถระได้ จึงคิดว่า ไม่ว่าเราจะเนรมิตเป็นรูปอะไรที่ร้ายแรงแค่ไหนอย่างไร พระเถระรูปนี้ก็เนรมิตรูปนั้นให้ใหญ่กว่าและมีอิทธิฤทธิ์มากกว่าเป็นหลายเท่า เราจะทำประการใดดีหนอ เห็นทีว่าเราคงจะต้องพ่ายแพ้แก่สมณะรูปนี้เสียแล้วกระมัง จึงได้ตัดสินใจแสดงตัวให้ปรากฏเป็นรูปเดิมคือพระยาวัสสดีมาร ยืนอยู่ตรงหน้าของพระมหาเถระ

พระอุปคุตตเถระได้คิดค้นหาวิธีที่จะสยบปราบพระยามารนี้ให้สิ้นฤทธิ์
ว่าเราจะกระทำให้ยักษ์ตนนี้ ละพยศสิ้นฤทธิ์สิ้นให้ปลดเปลื้องความชั่วร้าย ให้หันกลับมาเป็นดี เมื่อพระมหาเถระคิดดังนี้แล้วจึงได้แปลงกายจากยักษ์ใหญ่กลับมาเป็นพระมหาเถระตามเดิม และก็ได้เนรมิตสุนัขเน่า มีกลิ่นเหม็นคลุ้ง เต็มไปด้วยหมู่หนอนที่เข้าซอนไซกันยั๊วเยี้ยะ มองดูแล้วน่าขยะแขยง แล้วให้ไปผูกติดไว้ที่คอของพระยามาร พร้อมกับอธิษฐานจิตว่า “ ไม่ว่าบุคคลผู้ใดก็แล้วแต่ หรือกระทั่ง เทพยดา พรหม ขออย่าให้สามารถปลดเปลื้องหรือแก้ออกได้ ” แล้วพระเถระก็กล่าวกันพระยามารว่า “ ดูก่อนมารผู้มีใจบาป หยาบช้า ท่านจงไปจากที่นี้ได้แล้ว ”

ฝ่ายพระวัสวดีมาร มีซากของสุนัขเน่า ผูกติดคออยู่ โดยที่ตัวเองไม่สามารถที่จะแกะออกได้ ไม่ว่าจะทำอย่างไร ซากสุนัขเน่าก็ไม่หลุดออก จนได้หมดอาลัยตายอยาก ให้กลัดกลุ้มและอับอายแก่เทพบุตรเทพธิดา และมวลอมนุษย์สุดจะทนไหว จึงได้เหาะขึ้นไปยังสำนักของท้าวจาตุมหาราชทั้ง ๔ คือ ท้าวธตรฐ ท้าววิรุฬหก ท้าววิปักข์ และท้าวเวสสุวัณ ได้กล่าววิงวอนให้ท่านทั้งหลายช่วยปลดเปลื้องซากสุนัขเน่านี้ ออกจากคอให้ที ท่านท้าวทั้ง ๔ จึงได้ถามถึงสาเหตุที่มาที่ไป พระยาสวัสดีมารจึงได้เล่าเรื่องให้ฟังและกล่าวว่า “ พระอุปคุตตเถระ ท่านได้เอาซากสุนัขเน่ามาผูกติดคอของข้าพระเจ้าไว้ ท่านทั้งหลายจงช่วยข้าพเจ้าด้วยเถิด”

ท้าวจาตุมหาราชทั้ง ๔ พอได้ยินชื่อของพระเถระแล้ว จึงพากันกล่าวว่า “ข้าแต่พระยามาร พระเถระรูปนั้นท่านมีฤทธานุภาพยิ่งนัก เมื่อท่านเป็นผู้ผูกไว้ พวกข้าพเจ้าก็หมดความสามารถที่จะช่วยแก้ออกให้ท่านได้ ” พระยามารเมื่อไม่ได้รับความช่วยเหลือจากท้าวจาตุมหาราชทั้ง ๔ ได้ จึงได้เหาะไปสู่สำนักของพระอินทร์ มี ท้าวสุยามา ท้าวสันดุสิต และท้าวสหัมบดีมหาพราหม พระยามารได้กล่าวขอร้องอ้อนวอนให้ช่วยแก้มัดซากสุนัขเน่านี้ออกจากคอของตนที เทวราชทั้งหลายพร้อมทั้งท้าวสหัมบดี ก็กล่าวกับพระยามารว่า “ พวกข้าพเจ้ามิอาจจะแก้ซากสุนัขเน่านี้ออกได้ เพราะพระภิกษุรูปนั้น เป็นพระอรหันต์ผู้ได้อภิญญา (ความรู้ยิ่ง) ๖ ประการ ท่านเป็นพุทธสาวกผู้ปกอปรด้วยมหิทธิเดช ท่านจงกลับไปที่สำนักของพระภิกษุรูปนั้นเถิด แล้วกล่าวขอร้องท่านด้วยวาจาอันสุภาพอ่อนหวาน แล้วท่านก็จะช่วยแก้ออกให้ท่านเอง ส่วนผู้อื่นนั้นเกรงกลัวอานุภาพของท่าน ไม่มีใครกล้าที่จะแก้ออกให้ท่านได้หรอก”

เมื่อพระยามารได้ฟังคำของเทวราชทั้งหลายแล้ว ก็รันทดท้อใจ หมดสิ้นเรี่ยวแรงความคิดที่จะพึ่งพาผู้อื่นให้ช่วยเหลือในครั้งนี้ไม่มีอีกแล้ว จึงต้องจำใจกลับไปหาพระอุปคุตตเถระ พร้อมกับซากสุนัขเน่าผูกติดอยู่ที่คอให้สุดแสนที่อะอับอาย แล้วเข้าไปกราบแทบเท้าของพระมหาเถระ แล้วกล่าวรับสารภาพผิดต่างๆ แล้วกล่าวอ้อนวอนด้วยวาจาอันสุภาพ ต่อพระเถระทั้งอาราธนาว่า “พระคุณเจ้าผู้เจริญขอท่านจงโปรดเมตตากรุณาช่วยปลดเปลื้องซากสุนัขเน่านี้ ให้แก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด พระคุณเจ้าเป็นผู้ชนะ ส่วนข้าพเจ้าเป็นผู้แพ้ จะไม่คิดต่อสู้กับพระคุณเจ้าอีกแล้ว”

พระเถระพิจารณาเห็นว่า นี่เป็นโอกาสเหมาะ ที่เราควรจะทรมานจับพระยามารมัดไว้ก่อน จนกว่างานมหกรรมของพระเจ้าอโศกมหาราชจะเสร็จสิ้น ท่านจึงกล่าวว่า “ ดูก่อนพระยามารท่านจงไปที่ภูเขาลูกนั้นเถิด ” พระยามาร ดีใจไม่รอช้ารีบไปยังภูเขาตามที่พระมหาเถระชี้บอกทันที พระมหาเถระได้ตามไปแก้เอาซากสุนัขเน่าออกจากคอออกให้ แต่ท่านก็เห็นว่าควรจะจับพระยามารนี้ไว้ก่อน จึงได้แก้รัดประคตออกจากเอวของท่าน และได้อธิษฐานจิตให้ประคตนั้นยาวพอที่จะมัดพระยามารติดกับภูเขา แล้วท่านก็จัดการผูกมัดรวบไว้กับภูเขาอย่างมั่นคงพร้อมกับบอกกับพระยามารว่า “ดูก่อนพระยามาร ท่านจงอยู่ที่ภูเขานี้ รอจนกว่าพระเจ้าอโศกมหาราช จะทรงกระทำมหากรรมพิธีใหญ่ คือบูชาพระมหาสถูปเจดีย์และอารามต่างๆ จนแล้วเสร็จแล้วอาตมาจึงจะมาแก้มัดออกให้”

พระยาวัสสดีมาร จำต้องถูกผูกติดกับภูเขาเป็นการประจาน ด้วยโทษฐานเป็นผู้มีใจบาป คอยขัดขวางทำลายของผู้กระทำความดีของผู้อื่น อย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้ งานมหกรรมการฉลองพระมหาสถูปเจดีย์ และพระอารามต่างๆ มีกำหนด ๗ ปี ๗ เดือน ๗ วัน ของพระเจ้าอโศกมหาราชได้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี โดยปราศจากพระยามารมาขัดขวาง เป็นที่พอใจของทุกฝ่าย

พระอุปคุตตเถระเมื่อเห็นว่างานมหกรรมกุศลได้สำเร็จเสร็จสิ้นไปแล้ว จึงได้ไปยังภูเขาที่จับพระยามารผูกติดไว้กับภูเขา แต่ท่านได้แอบบังกายของท่านอยู่เบื้องหลัง เพื่อจะฟังว่า พระยามารจะกล่าวว่าอย่างไรบ้าง ฝ่ายพระยามารนั้นเมื่อได้ถูกพระอุปคุตตเถระจับมัดไว้กับภูเขาถึง ๗ ปี ๗ เดือน ๗ วัน ก็ละพยศหมดความดุร้าย กลับหวนคิดถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วได้กล่าวรำพันสรรเสริญขึ้นว่า “เมื่อสมัยพระพุทธองค์ประทับเหนือรัตนบัลลังก์ ณ ภายใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ข้าพระบาทมิอาจจะอดกลั้นความโกรธอิจฉาริษยาไว้ได้ จึงได้ขว้างจักรอันคมกล้า ที่จะสามารถจะตัดวชิรบรรพต ให้ขาดสะบั้น ภายในพริบตาเดียว ราวกับตัดหน่อไม้ไผ่ฉะนั้น แต่พระพุทธองค์ทรงพิจารณาพระบารมี ๓๐ ประการ มีทานเป็นต้น และมีอุเบกขาเป็นที่สุด จักรนั้นพลันกลับกลายเป็นดอกไม้ กั้นเป็นเพดานอยู่เบื้องบน ส่วนพวกพลบริวารนั้นเล่า ได้ขว้างอาวุธต่างๆไปยังพระพุทธองค์ แต่ว่าอาวุธเหล่านั้นได้กลับกลายเป็นพวงบุปผาชาติ ตกลงยังพื้นดิน ในที่สุดข้าพระบาทก็ต้องพ่ายแพ้ต่อพระองค์ ” พระยามารระลึกถึงพระพุทธคุณกล่าวคะถาว่า “ นโม เต ปุริสาชัญญา” เป็นอาทิ ซึ่งมีความหมายว่า “ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณกระทำประโยชน์แก่สรรพสัตว์ และเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งปวง ผู้หาที่พึ่งมิได้สิ้นกาลนานโข พระพุทธองค์ทรงประเสร็ฐด้วยคุณ หาผู้เสมอมิได้ จงมาเป็นที่พึ่งของข้าพระบาทในบัดนี้ ในกาลก่อนข้าพระบาทชื่อว่าวัสสวดี กระทำอันตรายแก่พระองค์โดยหาวิธีการอันชั่วร้ายหลากหลายอย่าง แต่พระองค์ก็มิได้ทรงกระทำโทษตอบโต้แก่ข้าพระบาท แม้แต่เพียงน้อยนิดก็ไม่เคยมี แต่กาลบัดนี้พระสาวกของพระองค์ ช่างไม่มีเมตตากรุณา ลงโทษหนักแก่ข้าพระบาทให้ได้รับทุกข์แสนสาหัสเห็นปานฉะนี้ ” พระยาวัสสวดีมารผู้มีทุกข์โทมนัส ก็เอาเท้าทั้งสองถีบถูเขานั้นให้เกิดอาการหวั่นไหวต่างๆ ทั้งเบื้องบนเบื้องล่าง ราวกับจะถล่มทลายลงมาฉับพลัน แม้ภูเขาสิเนรุราช ก็น้อมยอดหวั่นไหว ประดุจดังต้นไม้เมื่อต้องลมพายุ ฉันนั้น พื้นดินก็สะเทือนดังสนั่น ดังกับเกิดแแผ่นดินไหวใหญ่ มหาสมุทรสาครก็เกิดเป็นระรอกลูกคลื่นใหญ่กระฉอกกระฉ่อน เหมือนทะเลต้องลมพายุใหญ่ร้ายแรงฉะนั้น

แล้วพระยามารก็กลับระลึกถึงพระขันติธรรมของพระผู้มีพระภาพเจ้า และก็เปล่งอุทานว่า “ถ้าหากข้าพเจ้ามีกุศลได้สร้างสมไว้แล้ว ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงบำเพ็ญบุญบารมีไว้ เพื่อการตรัสรู้ในอนาคตกาลฉันใด ขอข้าพระเจ้าจงได้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบังเกิดขึ้นในโลกนี้ฉันนั้น เพื่อจะได้เป็นที่พึ่งแห่งสรรพสัตว์ และกระทำประโยชน์โปรดเวไนยสัตว์ทั้งปวง ในสากลโลก ”

ในขณะที่พระยามารเปล่งวาจาประรถนาพุทธภูมิ คือปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้านั้น พระอุปคุตตเถระจึงแสดงกายให้ปรากฏแล้วเดินเข้าไปแก้มัดออกให้ทันที ท่านได้กล่าวกับพระยามารว่า “ดูก่อนพระยามาร ท่านจงอดโทษแก่อาตมา ที่อาตมาได้ล่วงเกินแก่ท่าน อันว่าประโยชน์ของท่าน คือความปรารถนาพุทธภูมินั้น อาตามาก็ให้บังเกิดได้แล้ว และอาตมาจะขอห้ามท่านว่า ท่านจงอย่ากระทำอันตรายในทางทรงบำเพ็ญบุญของพระบรมกษัตริย์และของผู้อื่นเลย และบัดนี้ท่านได้ถือปฏิญาณที่จะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในอนาคตกาลข้างหน้า ตั้งแต่นี้เป็นต้นไป ตัวท่านจะเป็นปูชนียบุคคล คือพระโพธิสัตว์ ควรที่ชาวโลกทั้งหลายจะกระทำนมัสการบูชา” พระยามารจึงกล่าวตัดพ้อตอบว่า “ พระคุณเจ้าผู้เป็นพุทธสาวก ช่างกระไร ไม่มีจิตใจกรุณาปราณีต่อข้าพเจ้าผู้เป็นมารบ้างเลย ”

พระอุปคุตตเถระ จึงกล่าวแสดงเหตุผลต่อพระยามารว่า “ ดูก่อนพระยามาร อาตมากับท่านเป็นคู่ทรมานกัน เพราะเหตุนี้จึงไม่มีกรุณา อาตมาลงโทษแก่ท่านก็เพื่อจะกระทำให้ท่านมีจิตยินดี ปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้า ทั้งตัวท่านก็เที่ยงแท้ที่จะได้ตรัสรู้เป็นพระสัพพัญญู และพระบรมศาสดาก็ได้ตรัสพยากรณ์ไว้ว่า อาตมานี้จะได้เป็นผู้ทรมานพระยาสวัสดีมารให้ละพยศหมดความอหังการสิ้นความร้ายกาจในอนาคตกาล และในที่สุดพระยามารนั้นก็จะเปล่งวาจาปราถนาเป็นพระพุทธเจ้าในภายภาคหน้า ขอท่านจงตั้งใจละจิตบาปเสียเถิด อย่าได้กระทำกรรมอันหยาบช้าต่อไปอีกเลย ”

พระมหาเถระกล่าวเหตุผลต่างๆ ให้พระยามารได้ฟังแล้ว ท่านก็มีความประสงค์จะให้พระยามาร ช่วยเนรมิตตนเป็นพระรูปของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ได้ชมเป็นมิ่งขวัญตา จึงได้กล่าวขอร้องต่อพระยามารว่า “ ดูก่อนพระยามาร ท่านจงช่วยอนุเคาะห์แก่อาตมาสักครั้งหนึ่งเถิด เนื่องจากพระบรมศาสดา ได้อุบัติขึ้นในโลกและได้เสด็จดับขันธปรินิพพานไปนานแล้ว อาตมาได้เห็น ก็แต่พระธรรมวินัยของพระองค์ท่าน ไม่ทันได้เห็นพระวรกายของพระองค์ ขอให้ท่านจงเนรมิตกายของท่าน เป็นพระวรกายของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และทั้งอาการทั้งปวง พร้อมทั้งพระอัครสาวกทั้งคู่ให้อาตมาได้เห็นกับตาด้วยเถิด ”

พระยามารได้ฟังคำขอร้องของพระมหาเถระนั้นแล้ว จึงได้กล่าวข้อแม้ว่า “ข้าแต่พระคุณเจ้า ถ้าหากข้าพระเจ้าเนรมิตกายเป็นพระรูปของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้เห็นเป็นประจักษ์กับตาแล้วไซร้ ขอพระคุณเจ้าจงอย่าได้ถวายนมัสการข้าเจ้าเป็นอันขาด ” พระมหาเถระก็กล่าวปฏิญาณว่า “อาตมาจะไม่ถวายนมัสการต่อท่าน จะขอเพียงแต่ขอชมเฉยๆ เท่านั้น ” เมื่อพระยามารได้รับคำปฏิญาณของพระมหาเถระเป็นมั่นแล้ว จึงเข้าไปในไพรสณฑ์แห่งหนึ่ง เพื่อจะบันดาลอิทธิฤทธิ์ให้เป็นไปตามคำขอร้องของพระมหาเถระ

พระอุปคุตตเถระ ได้บอกให้พระภิกษุทั้งหลายมาประชุมกันพร้อมเพียงโดยเร็วพลัน อย่างน่าอัศจารรย์ ด้วยอาศัยอำนาจฤทธิ์ของท่านนั่นเองพระภิกษุสงฆ์รูปใด ใคร่จะเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้า พระภิกษุรูปนั้นๆ จะนำธูปเทียนดอกไม้ของหอม มาประชุมแวดล้อมอย่างมากมาย พระอุปคุตตเถระจึงได้กล่าวว่า “ข้าพระเจ้าจะชมพระรูปของพระศาสดา และจะกระทำสักการะบูชา ต่อพระองค์ ”

ในกาลนั้น พระยามารได้เนรมิตกายเป็นพระรูปของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อันประกอบด้วยพระมหาบุรษลักษณะ ๓๒ ประการ และพระอนุพยัญชนะ ๘๐ ประการ ทั้งสว่างรุ่งเรืองด้วยพระฉัพพรรณรังสี คือ พระรัศมี ๖ ประการ
มีพระอัครสาวกอยู่ทางเบื้องขวาและเบื้องซ้าย พร้อมทั้งแวดล้อมไปด้วย พระอสีติมหาสาวกเป็นสังฆบริวาร แสดงให้ปรากฏแก่พระมหาเถระ พระภิกษุสงฆ์ ประชาชนพร้อมทั้งพระเจ้าอโศกมหาราชกับหมู่อำมาตย์และข้าราชบริพารก็ได้เสด็จมาคอยทรงทัศนาการอยู่ ณ ที่นั้น

ฝ่ายพระอุปคุตตเถระเมื่อได้แลเห็นพระรูปของพระผู้มีพระภาคเจ้า พร้อมด้วยพระมหาสาวกทั้งหลายปรากฏขึ้นดังนั้น ก็บังเกิดมีปีติขนลุกชูชัน ด้วยความเลื่อมใสศรัทธา อันไม่หวั่นไหวทำให้ลืมคำปฏิญาณที่ให้ไว้แก่พระยามาร จึงก้มลงถวายอภิวาทพระรูปของพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยเบญจางคประดิษฐ์อย่างสนิทใจ พระเจ้าอโศกมหาราชพร้อมทั้งมหาชนทั้งหลายจึงได้พร้อมเพียงกันกระทำนมัสการสักการบูชา ต่อพระรูปของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระยามารเห็นเป็นเช่นนั้นก็พลันบันดาลให้พระรูปของพระศาสดาและสาวกทั้งหลายให้อันตรธานหายไป กลับกลายมาเป็นรูปของตนเช่นเดิม และได้กล่าวต่อว่ากับพระอุปคุตตเถระว่า “ทำไมพระคุณเจ้าจึงได้ถวายอภิวาทเล่า ข้าพเจ้าได้ตกลงสัญญากับพระคุณเจ้าแล้วมิใช่หรือ ว่ามิให้กระทำนมัสการ ”

“ ดูก่อนพระยามาร อาตมามิได้กราบไหว้ท่านหรอก แต่ว่าอาตมากระทำอภิวาทพระรูปของพระบรมศาสดา และพระมหาสาวกทั้งหลาย ต่างหากเล่า” ตั้งแต่พระยามาร ตั้งความปรารถนาเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว
จิตใจก็มีความอ่อนน้อมศรัทธาในพระพุทธศาสนา ไม่มีความหยาบช้าดุร้ายเหมือนแต่กาลก่อนนั้นเลย

พระอุปคุตตเถระได้พิจารณาเห็นความเปลี่ยนแปลงเป็นไปในทางตั้งใจดีของพระยามารแล้ว ท่านจึงกล่าวกับพระยามารว่า “ ท่านจงไปโดยสุขสวัสดีเถิด ” พระยามารน้อมกายก้มกราบถวายนมัสการพระมหาเถระ แล้วลากลับสู่เทวสถานวิมานของตน...




ชีวประวัติของพระอุปคุตต์เถระ ตามตำนานไม่ได้กล่าวถึงว่าท่านดับขันธนิพพานแล้วหรือยัง ท่านอาจจะมีชีวิตอยู่ถึงกัปป์หนึ่งก็ได้ ด้วยอานุภาพแห่งอิทธิภาวนาของท่าน ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้เคยตรัสไว้กับพระอานนท์เถระไว้ว่า “ดูก่อนอานนท์ ผู้ใดเจริญอิทธิบาท๔ ให้มาก กระทำให้เป็นญาณ กระทำให้เป็นที่ตั้งไว้เนืองๆ สะสมรอบแล้ว และปรารถนาดีแล้ว ผู้นั้นจะประสงค์อยู่ตลอดกัปป์ก็ได้ ”

ชาวไทยส่วนใหญ่ ยังไม่ค่อยรู้จักพระอุปคุตต์ มากนัก ยกเว้นบางพื้นที่ ที่มีประเพณีการบูชาพระอุปคุตต์ เช่น งานไหว้พระธาตุพนม ชาวบ้านจะใส่บาตรกันตอนตี 3 เพราะเชื่อกันว่า พระอุปคุตต์ จะบิณฑบาตตอนตีสาม ส่วน
ชาวพม่ารามัญนั้น นับถือพระอุปคุตเถระกันเป็นจำนวนมากกว่าของไทย จึงมีการสร้างรูปบูชาของท่านขึ้นมา ชาวไทยจะรู้จักกันในชื่อ พระบัวเข็ม จะเห็นได้จากพระบูชาพระอุปคุตที่มีศิลปะแบบพม่าอยู่มากมาย ที่วัดพระบัวเข็ม มีการปิดทองพระบัวเข็ม จากองค์เล็กๆจนกลายเป็นองค์กลมๆใหญ่ๆ มองไม่รู้ว่าเป็นพระอะไร

พระพุทธรูป พระบัวเข็มจะสังเกตุได้ง่ายๆ คือมีใบบัวปิดบนเศียร ไม่มีเกศ เช่นพระพพุทธรูป การตั้งบูชา นิยมการตั้งบูชาบนฐานรองรับ อยู่กลางภาชนะใส่น้ำ เป็นการจำลองคล้ายกับท่านจำพรรษาอยู่ในมหาสมุทร เพื่อให้ตรงกับการเป็นอยู่จริงๆ ของท่าน แล้วใช้ดอกมะลิลอยในน้ำบูชา และต้องตั้งต่ำกว่าพระพุทธ เนื่องจากเป็นพระอรหันต์ สาวกของพระพุทธเจ้า



คาถาสำหรับบูชาเพื่อให้เกิดโชคลาภ มีดังต่อไปนี้

อุปะคุตโต จะ มะหาเถโร สัมพุทเธนะ วิยากะโต
มารัญจะ มาระ พะลัญจะ โส อิทานิ
มะหาเถโร นะมัสสิตะวา ปะติฏฐิโต อะหัง วันทามิ
อิทาเนวะ อุปะคุตตัง จะ มะหาเถรัง ยัง
ยัง อุปัททะวัง ชาตัง วิธัง เสติ อะเสสะโต
มะหาลาภัง ภะวันตุ เม ฯ

หรืออีกแบบหนึ่งว่า

อุปะคุตโต จะ มะหาเถโร ยักขาเทวา นะระปูชิโต
โสระโห ปัจจะ ยาทิมหิ มะหาลาภัง ภะวันตุ เม ฯ



TraveLArounD


ปล. ท่านที่เพิ่งเข้ามาชมบล็อกใหม่ ผมได้จัดทำเป็นสารบัญ แบบหนังสือให้ค้นดูหัวเรื่องได้ง่ายที่ group : นานา สาระ๑๐๐๐ เพราะเรื่องต่างๆ เขียนไว้ 1300 เรื่องแล้ว

ส่วนท่านที่ชอบเพลง background ผมได้รวบรวมเพลงไพเราะ เพลงรัก romantic และเพลงซึ้งๆ ที่หาฟังได้ยากในสมัยนี้ ไว้หลายชุด สนใจ email ติดต่อมาได้ครับที่ nana_sara1000@ymail.com

หมายเหตุ : ขณะได้มี website อื่นๆหลาย website ได้นำเอาเรื่องที่ผมเขียนไว้ ไปลงต่อในลักษณะของเนื้อหา โดยไม่ได้รับอนุญาตใดๆ ถ้าต้องการบทความใดไปใช้ ขอให้ติดต่อขออนุญาต ก่อนทาง Email : nana_sara1000@ymail.com มิฉะนั้น จะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมายลิขสิทธิ์

ส่วนผู้ที่ต้องการนำเรื่องไปโพสต่อ เพื่อเผยแพร่ โดยมิใช่ทางการค้า ขอให้ติดต่อขออนุญาตให้ถูกต้องก่อนโพส



Create Date : 17 กรกฎาคม 2551
Last Update : 17 พฤศจิกายน 2553 2:26:18 น. 4 comments
Counter : 8504 Pageviews.

 
ขอสอบถาม
ได้บูชาพระบัวเข็มมา แต่รูปร่างเหมือนพระสังขจายน์ แต่ที่เศียรพระมีใบบัวมาปิด และที่ไหล่ทั้ง 2 ข้างมี บัวตูม กับฝักบัว ข้างละอัน ที่ฐานพระมี ปลา และบัวอยู่รอบ ๆ
เป็นเนื้อสัมฤทธิ์ ออกสีเขียาเข้มเกือบดำ
อยากทราบว่าเป็นพระบัวเข็ม หรือเปล่า เพราะที่เห็นส่วนมาจะองค์เล็กไม่อ้วน รบกวนตอบใน Mail
kochaann@hotmail.com
ขอบคุณค่ะ


โดย: กชกร IP: 125.27.33.196 วันที่: 12 สิงหาคม 2552 เวลา:11:39:28 น.  

 
อ่านเพลินเลย่ะ

ดีมากๆ

ขอบคุณนะคะที่นำมาแบ่งปัน

อนุโมธนาค่ะ


โดย: nhoi IP: 115.87.239.129 วันที่: 3 มีนาคม 2554 เวลา:11:43:53 น.  

 
อยากทราบว่าพระอุปคุตต์เถระเป็นพระอรหันต์ใช่หรือไม่


โดย: zประพัมน์ มามีเกตุ IP: 110.171.30.101 วันที่: 16 ตุลาคม 2554 เวลา:19:25:04 น.  

 
อยากทราบว่าพระอุปคุตต์เถระเป็นพระอรหันต์ใช่หรือไม่
รบกวนช่วยตอบให้ทราบด้วยน่ะครับ
Mail pattrayus51@hotmail.com


โดย: ภัทรายุส IP: 110.171.30.101 วันที่: 16 ตุลาคม 2554 เวลา:19:40:42 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

travelaround
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 164 คน [?]





ยินดีต้อนรับทุกท่านที่แวะเข้ามาชม blog มีข้อคิดเห็น เชิญ comment มาได้นะครับ ถ้าตอบได้ จะตอบให้ทันทีครับ แต่ถ้าไม่ทราบ ต้องขอเวลา จะค้นคว้ามาให้อ่านกัน ท่านที่จะถามคำถาม หรือติดต่อเรื่องบทความ ได้ทาง Email :- d_sign_place@yahoo.com ครับ


เรื่องต่างๆที่ผมได้เขียนหรือรวบรวม เรียบเรียงมานี้ ยินดีให้ทุกท่านได้อ่านเป็นวิทยาทานและเพื่อการศึกษา ถ้าจะนำไปโพสต่อใน website สาธารณะ หรือ website อื่นใดที่ไม่ใช่ทางพาณิชย์ กรุณาระบุที่มา คือ https://www.travelaround.bloggang.com และนามปากกาผู้เขียนคือ TraveLArounD ด้วย

แต่ขอสงวนสิทธิ์สำหรับการนำไปใช้ ในเชิงพาณิชย์ หรือโดยไม่ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้อง จะถูกดำเนินคดี ตามกฏหมายลิขสิทธิ์

ส่วนบทความหรือภาพถ่ายใดๆ ที่ได้นำมาจาก website อื่น เพื่อเป็นข้อมูลประกอบเรื่องนั้นๆ เป็นการถ่ายทอดจากวิจารณญาณแล้วว่า มีความถูกต้องเป็นจริง มากที่สุด และได้นำมาจาก website ที่เป็นสาธารณะ ถ้าเรื่องราวหรือภาพของท่านที่ได้นำมาถ่ายทอดนี้ ไปละเมิดลิขสิทธิ์ของท่าน กรุณาแจ้งมาทาง email :– nana_sara1000@ymail.com ผมจะทำการลบข้อมูลหรือภาพที่ละเมิดลิขสิทธิ์ดังกล่าว ออกทันที

Acknowledges that I try to write or report accurately but postings may contain fact , speculation or rumor. I find images from the Web that are believed to belong in the public domain. If any stories or images that appear on the site are in violation of copyright law, please email to :- nana_sara1000@ymail.com and I will remove the offending information as soon as possible.


Website counter
: Users Online









ที่ดินเชียงใหม่ ทางไปแม่ริม ใกล้ศาลากลาง และสนามกีฬา 700 ปี ติดน้ำปิง ในหมู่บ้านเพชรริมปิง พื้นที่ 667 ตารางวา @ 14,000.- บาท สภาพแวดล้อมดี สนใจติดต่อ โทร. 0859559950



DESIGN PLACE CO.,LTD. รับออกแบบ และตกแต่งภายใน บ้านพักอาศัย ในแบบไทย และไทยร่วมสมัย



มรดก ฉบับที่ 1

มรดก ฉบับที่ 2

มรดก ฉบับที่ 3

มรดก ฉบับที่ 4

มรดก ฉบับที่ 5

มรดก ฉบับที่ 6

มรดก ฉบับที่ 7

ช่วยสนับสนุนการจัดทำ BLOG ด้วยการซื้อหนังสือ "มรดก" 1ชุด 7เล่ม (หนังสือเก่า) ในราคาชุดละ 700 บาท (รวมค่าส่งทางไปรษณีย์)

สนใจสั่งซื้อทาง E-mail :- nana_sara1000@ymail.com



New Comments
Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add travelaround's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.