Ortho knowledge for all @ Do no harm patient and myself @ สุขภาพดี ไม่มีขาย ถ้าอยากได้ ต้องสร้างเอง

ข้อแนะนำเกี่ยวกับยา MTX (เมทโทรเทรกเสด หรือ ยาต้านมะเร็ง)

ข้อแนะนำเกี่ยวกับยา MTX (เมทโทรเทรกเสด หรือ ยาต้านมะเร็ง)b>


คำชี้แจง :

ข้อมูลต่อไปนี้ ไม่ได้ทดแทนการตัดสินใจเกี่ยวกับการรักษาของแพทย์ ไม่ได้บอกว่ายานี้ปลอดภัย เหมาะสม หรือ มีประสิทธิภาพในการรักษาโรคที่คุณเป็นอยู่

ควรปรึกษาแพทย์ก่อนที่จะใช้ยานี้ เนื่องจากยานี้มีผลข้างเคียงสูง ไม่แนะให้ซื้อยาใช้เอง ต้องใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด และ ต้องตรวจเลือดเป็นระยะ ๆ เพื่อดูว่าเกิดผลข้างเคียงบ้างหรือไม่ ส่วนใหญ่จะเจาะเลือดครั้งแรกก่อนให้ยา และ อาจเจาะเลือดตรวจ ทุก 3 – 6 เดือนหลังจากได้รับยา



ข้อบ่งชี้การใช้ยา :

ยานี้ใช้ในโรคมะเร็งบางชนิด โรครูมาตอยด์ โรคสะเก็ดเงิน หรือ โรคข้ออักเสบที่เป็นรุนแรง ซึ่งถ้าใช้ในการรักษาโรคมะเร็ง จะใช้ปริมาณยาสูงมากกว่าปริมาณที่ใช้รักษาโรคข้ออักเสบหลายสิบเท่า


การใช้ยา :

ควรใช้ตามคำแนะนำของแพทย์เท่านั้น ไม่ควรปรับเพิ่ม หรือ ลดยาเอง ให้ดื่มน้ำมาก ๆ หลังรับประทานยา

สำหรับโรครูมาตอยด์ โดยส่วนใหญ่จะรับประทานยา 3 เม็ดต่อสัปดาห์ ซึ่งอาจแบ่งเป็น ครั้งละเม็ดวันเว้นวัน หรือ จะรับประทานครั้งเดียว 3 เม็ดเลยก็ได้ แต่ควรรับประทานยาในช่วงเวลาเดียวกัน เช่น 3 เม็ดเช้าวันจันทร์ หรือ 1 เม็ดเช้าวันจันทร์ พุธ ศุกร์ เป็นต้น ในผู้ที่มีอาการมาก อาจเพิ่มยามากขึ้น ซึ่งก็มีผลข้างเคียงมากขึ้นตามไปด้วย ดังนั้นแพทย์จึงจะปรับยาเป็นระยะเพื่อให้ยาในปริมาณที่น้อยที่สุดเท่าที่จะควบคุมอาการได้ ถ้าอาการดีขึ้นจะลดปริมาณยาลง


ผลข้างเคียง :

ยานี้อาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ ปวดท้อง หรือ วิงเวียนศีรษะได้ ถ้ามีอาการมากขึ้น ควรปรึกษาแพทย์

ควรบอกแพทย์ ถ้ามีอาการต่อไปนี้: เจ็บคอ แสบในปาก ท้องเสีย มีไข้ มีเลือดออกผิดปกติ อุจจาระมีสีดำ ปัสสาวะมีสีดำ ผื่นคัน ผิวหนังมีสีเปลี่ยนไป มีจ้ำเลือด หรือ รู้สึกแสบร้อนผิวหนัง ต่อมน้ำเหลืองโตขึ้น ปวดในกระดูก


อาการแพ้ยา :

ผื่น คัน บวม มีไข้ หายใจขัด ถ้ามีอาการดังกล่าวควรบอกแพทย์ทันที


ข้อควรระวัง :

ควรบอกแพทย์เกี่ยวกับความเจ็บป่วยในอดีต โดยเฉพาะ โรคไต โรคตับ โรคปอด และ โรคอีสุกอีใส

อาจเกิดอาการแพ้แสงแดด ได้ จึงควรหลีกเลี่ยงแสงแดดแรง ๆ ใส่หมวก เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว

หลังสัมผัสกับยา ควรล้างมือเสมอ หลีกเลี่ยงการสัมผัสตาหรือจมูกโดยไม่ได้ล้างมือ

ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการได้รับวัคซีน ระหว่างรับประทานยา

งดการดื่มแอลกอฮอล์

ไม่ควรใช้ยาในผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ และผู้กำลังให้นมบุตร ถ้าสงสัยว่าจะตั้งครรภ์ควรบอกแพทย์ทันที


ปฏิกิริยากับยาอื่น :

ควรบอกแพทย์เกี่ยวกับยาที่ใช้อยู่ เช่น ยาซัลฟา หรือ ยาปฏิชีวนะ; ยาบำรุงเลือด (folic acid); ยากันชัก (phenytoin) ; ยาแก้ปวดลดการอักเสบ ( brufen naproxen aspirin); ยาโรคหัวใจ (digoxin) ; ยาโรคหอบหืด ( theophylline ) ; ยาเพิ่มการขับกรดยูริกในโรคเก๊าท์ (probenecid) หรือ ยาอื่น ๆ ที่มีผลต่อตับ เช่น ยากดภูมิคุ้มกัน


ผลข้างเคียงเมื่อได้รับยามากเกินไป :

คลื่นไส้อาเจียนอย่างรุนแรง ท้องเสีย หรือ อ่อนเพลียมาก


เมื่อลืมทานยา :

ควรปรึกษาแพทย์ ไม่ควรเพิ่มปริมาณยาในครั้งต่อไปเอง


การเก็บยา :

เก็บยาในอุณหภูมิห้อง (15-30 องศาเซนเซียส) หลีกเลี่ยงแสงแดดและความชื้น ไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ




 

Create Date : 21 กุมภาพันธ์ 2551   
Last Update : 21 กุมภาพันธ์ 2551 19:17:01 น.   
Counter : 8849 Pageviews.  

กายภาพบำบัดในโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์


กายภาพบำบัดในโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์


เป้าหมายในการรักษา

ลดอาการปวด

เพิ่มระยะเคลื่อนไหวของข้อ

เพิ่มความแข็งแรง และ ความทนทานของกล้ามเนื้อ

ป้องกัน และ รักษาข้อที่ติดผิดรูป

ให้ความรู้ในผู้ป่วยและครอบครัวให้เข้าใจโรคและประโยชน์ของการรักษาเพื่อทำให้เกิดความร่วมมือในการรักษา


หลักการปกป้องข้อ และ การสงวนพลังงาน

หลักการปกป้องข้อ เช่น ใช้ข้อในท่าทางที่เหมาะสม ระวังไม่ใช้ข้อมากเกินไป เป็นต้น

หลักการสงวนพลังงาน เช่น จัดช่วงเวลาพัก เป็นช่วง ๆ เรียงลำดับงานที่จะทำก่อนหลัง เป็นต้น

ลดการเดินที่ไม่จำเป็น เช่น ปรับสภาพแวดล้อมในบ้าน เช่น ห้องครัว เครื่องครัว เรียงกันตามลำดับการใช้

ใช้อุปกรณ์ช่วยอื่น ๆ เช่น ช้อนด้ามใหญ่ ปากกาด้ามใหญ่ หวีด้ามยาว อุปกรณ์ช่วยเปิดกระป๋อง เสื้อผ้ามีกระดุมใหญ่หรือใช้เชือกผูก เสื้อผ้าแบบใช้สวม หรือ ใช้อุปกรณ์ช่วยเดิน (ไม้เท้า ไม้ค้ำยัน )

กายอุปกรณ์ เช่น รองเท้าที่ถอดใส่ง่าย (มีแถบ velcro strap) ผู้ที่ปวดนิ้วเท้า เนื่องจากเท้าเริ่มผิดรูป อาจใช้รองเท้าที่ตัดพิเศษเฉพาะผู้ป่วยแต่ละคน เช่น ความลึกพิเศษ ใส่อุปกรณ์นิ่ม ๆ ด้านในเพื่อช่วยลดแรงกด แรงเสียดสีที่ข้อ

ใส่เฝือกชั่วคราวในตอนกลางคืน เพื่อป้องกันการปวด ป้องกันการเคลื่อน หรือ ข้อติดผิดรูป

ปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมในการทำงาน เช่น ปรับระดับโต๊ะ เก้าอี้ทำงาน ให้อยู่ในระดับที่พอเหมาะ

พยายามปรับลักษณะการทำงานเดิม ให้เข้ากับผู้ป่วยมากที่สุด ถ้าทำไม่ได้อาจต้องเปลี่ยนงาน


ระยะที่มีอาการปวดอักเสบมาก

ช่วงระยะนี้จะประมาณ 7-10 วัน ระยะนี้จะเน้นการลดอาการปวดและให้อาการอักเสบหายเร็วที่สุด

ควรพักการใช้ข้อที่อักเสบ ช่วงสั้น ๆ ซึ่งจะช่วยลดการอักเสบได้ เช่น ใส่เฝือกช่วงคราว แต่ ถ้าพักนานเกินไปก็จะทำให้เกิดผลข้างเคียงจากการไม่เคลื่อนไหวนาน ๆ เช่น กล้ามเนื้อลีบ กระดูกพรุน เป็นต้น

การบริหาร ระยะนี้ควรใช้แบบ เกร็งกล้ามเนื้ออยู่กับที่ โดยไม่มีการขยับข้อ หลีกเลี่ยงการดัดข้อ

ลดอาการปวด โดยการใช้ความร้อน โดยเฉพาะอัลตร้าซาวน์ หรือ จะใช้ความเย็น ก็ได้



ระยะที่มีการอักเสบลดลง

ระยะนี้อาจให้มีการเคลื่อนไหวของข้อ และเริ่มใช้หลักการปกป้องข้อ และ การสงวนพลังงาน

การบริหาร เริ่มให้มีการเคลื่อนไหวข้อ โดยอาจใช้มืออีกข้างหรือใช้คนช่วยจับดัด อาจใช้ความร้อนประคบก่อนบริหารเพื่อลดอาการปวด และควรทำให้มีความสมดุลระหว่างการพักและการออกกำลัง อาจเริ่มโดยเคลื่อนไหวในน้ำ เพราะว่าแรงลอยตัวของน้ำทำให้เคลื่อนไหวได้ง่ายขึ้น ช่วยกำจัดแรงดึงโน้มถ่วงและลดน้ำหนักด้วย

ควรหลีกเลี่ยงการดัดข้ออย่างรุนแรง หรือ การบริหารด้วยวิธีเพิ่มแรงต้าน (ถ่วงน้ำหนัก )



ระยะเรื้อรัง

ระยะนี้มักเกิดความพิการ ข้อผิดรูป ข้อติด กล้ามเนื้อลีบ

การแก้ไขอาจใช้ กายอุปกรณ์เสริม เพื่อลดอาการปวดโดยการลดแรงกดต่อข้อ เพิ่มความมั่นคงแก่ข้อขณะใช้งาน และดัดข้อให้อยู่ในท่าที่เหมาะสมกับการใช้งาน

ใช้เครื่องช่วยในการเคลื่อนไหว เช่น ไม้เท้า ไม้ค้ำยัน รถเข็น รถยนต์ที่ออกแบบมาสำหรับคนพิการโดยเฉพาะ

การลดอาการปวด โดยใช้ ยา ความร้อนตื้น หรือ การกระตุ้นด้วยไฟฟ้า

การบริหาร ควรเป็นแบบ เคลื่อนไหวข้อซ้ำ ๆ กัน และเริ่มออกกำลังที่มีการต้านแรง เพื่อเพิ่มความทนทานและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ เช่น การถ่วงน้ำหนักขณะเคลื่อนไหวข้อ ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน หรือ วิธีการออกกำลังกายแบบแอโรบิก อื่น ๆ (ไม่ควรออกกำลังชนิดที่ใช้แรงต้านมากเกินไป)

การออกกำลังกายควรเริ่มจาก น้อย ๆ ก่อน แล้วค่อยเพิ่มความถี่ ความแรง มากขึ้น



ข้อบ่งชี้ว่าอาจออกกำลังมากเกินไป

• มีอาการปวด นานกว่า 2 ชม. หลังจากออกกำลังกาย

• รู้สึกเพลีย กล้ามเนื้ออ่อนแรงมากขึ้น เคลื่อนไหวข้อได้น้อยลง ข้อบวม



ท่าบริหารทั่วไป

ควรทำบ่อย ๆ ทุกวัน ท่าละ 10 ครั้ง (อย่างน้อย วันละ 5-10 รอบ)

1. นอนหงาย เข่าเหยียดตรง กางขาออกด้านข้างให้มากที่สุด ค้างไว้นับ 1-10 แล้วหุบขาเข้า ทำสลับกับอีกข้างหนึ่ง

2. นอนหงาย เข่างอตั้งฉากทั้งสองข้าง แบะเข่าออกทางด้านข้าง ๆ ให้มากที่สุด ค้างไว้นับ 1-10 แล้วหุบเข้า

3. นอนหงาย งอข้อสะโพกให้เข่าเข้ามาชิดหน้าอก เกร็งไว้ นับ 1-10แล้วจากนั้นเหยียดขาให้ตรง ทำสลับกับอีกข้างหนึ่ง

4. นอนหงาย เข่างอตั้งฉากทั้งสองข้าง ยกสะโพกขึ้น (ให้ก้นลอยขึ้น ไม่แตะพื้น) เกร็งค้างไว้ นับ 1-10 แล้วปล่อยลง

5. นั่งตามสบาย เหยียดขาขึ้นให้เข่าตรง กระดกข้อเท้าขึ้นเต็มที่ เกร็งไว้นับ 1-10 แล้วงอเข่าลง ทำสลับกับอีกข้างหนึ่ง
6. แขนแนบข้างลำตัว กางไหล่ออกทางด้านข้างแล้วยกแขนขึ้นเหนือศีรษะ แล้วหุบไหล่ลง ทำสลับกันสองข้าง

7. แขนแนบข้างลำตัว แล้วหมุนไหล่ไปด้านหน้า ผ่านไปเหนือศีรษะ แล้วหมุนไปด้านหลัง เป็นวงกลม ทำสลับกันสองข้าง

8. งอข้อศอก – เหยียดข้อศอก ให้มากที่สุด ทำสลับกันสองข้าง

9. ฝ่ามือประกบกัน ให้ข้อมือกระดกขึ้น (ท่าพนมมือ) ใช้แรงพอควรดันเข้าหากัน เกร็งไว้ นับ 1-10

10.หลังมือชนกัน ให้ข้อมืองอลง ใช้แรงพอสมควรดันเข้าหากัน เกร็งไว้ นับ 1-10

11.ข้อนิ้วมือ กำมือให้แน่นมากที่สุด เกร็งไว้ นับ 1-10 แล้วทำสลับกับ เหยียดนิ้วมือออก เกร็งไว้ นับ 1-10

12.กางนิ้วออก ให้มากที่สุด เกร็งไว้ นับ 1-10 แล้วทำสลับกับ หุบนิ้วเข้าหากัน เกร็งไว้ นับ 1-10

13.แหงนคอ – ก้มคอ – เอียงไปข้างซ้าย – เอียงคอไปด้านขวา – หมุนคอไปทางซ้าย – หมุนคอไปทางขวา



ปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ให้หายขาดได้

จุดมุ่งหมายของการรักษาทุกวิธีคือ ลดอาการปวด ทำให้ข้อเคลื่อนไหวได้ดีขึ้น ป้องกันหรือแก้ไขข้อที่ผิดรูปร่าง เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถดำเนินชีวิตอยู่ด้วย คุณภาพชีวิตที่ดีตามสมควร จึงถือว่าแนวทางรักษาข้างต้นเป็นเพียงการรักษาปลายเหตุเท่านั้น

โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ รักษาไม่หายขาดแต่ก็มีวิธีทำให้อาการดีขึ้นและชะลอไม่ให้เป็นมาก ซึ่งจะทำได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับ ความร่วมมือของแพทย์และผู้ป่วยซึ่งเป็นผู้ที่จะปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์เป็นสำคัญ




 

Create Date : 20 มกราคม 2551   
Last Update : 20 มกราคม 2551 10:15:49 น.   
Counter : 6149 Pageviews.  

โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์





โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์

โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ เป็นกลุ่มอาการของโรคที่มีการอักเสบของทุกระบบในร่างกาย แต่จะมีการอักเสบเด่นชัดที่ เยื่อบุข้อ และ เยื่อบุเส้นเอ็น ลักษณะสำคัญของโรคนี้ได้แก่ มีการอักเสบของข้อ หลาย ๆ ข้อ พร้อม ๆ กัน เป็นเรื้อรังติดต่อกันนานเป็นเดือน ๆ หรือ ปี ๆ

โรคนี้จะพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายประมาณ 5 เท่า

อาการอาจเริ่มปรากฏในช่วงอายุเท่าใดก็ได้ แต่จะพบมากในช่วงอายุ 30-50 ปี

ถ้าหากเริ่มเป็นตั้งแต่เด็กก็มักจะมีอาการรุนแรง ในเด็กจะมีอาการและอาการแสดงต่างจากผู้ใหญ่



รู้ได้อย่างไรว่าเป็นโรคนี้ …

1.มีการอักเสบเรื้อรังของข้อหลาย ๆ ข้อ ทั้งสองข้างพร้อม ๆ กัน ติดต่อกันไม่น้อยกว่า 6 อาทิตย์

2.ข้ออักเสบ พบบ่อยที่บริเวณ ข้อมือ ข้อโคนนิ้วมือ ข้อกลางนิ้วมือ ข้อเข่า ข้อเท้า ซึ่งจะมีอาการปวด บวม และกดเจ็บตามข้อต่าง ๆ

ถ้าเป็นมานานจะมีข้อผิดรูปได้ ซึ่งเกิดจาก การอักเสบของเยื่อบุข้อ การคั่งของเลือดในบริเวณข้อ ขาดการออกกำลังกายและการทำกายภาพบำบัด กินอาหารไม่เพียงพอ หรือ การฉีดยาสเตียรอยด์เข้าข้อ

3.มีอาการข้อฝืด ข้อแข็ง เคลื่อนไหวลำบาก ในช่วงตื่นนอนตอนเช้า มักต้องใช้เวลานานกว่า 1 ชั่วโมงจึงจะเริ่มขยับข้อได้ ดีขึ้น ในช่วงบ่าย ๆ มักจะขยับข้อได้เป็นปกติ

4.พบอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น เบื่ออาหาร กล้ามเนื้ออ่อนแรง ปวดเมื่อยหมดทั้งตัว น้ำหนักลด มีไข้ต่ำ ๆ ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ หลอดเลือดอักเสบ ปุ่มรูมาตอยด์ใต้ผิวหนัง และภาวะเลือดจาง

5.ตรวจเลือดพบมีรูมาตอยด์แฟคเตอร์ แต่ผู้ที่เป็นโรคนี้จะตรวจเลือดพบเพียงร้อยละ 50-70 เท่านั้น ดังนั้นถ้าตรวจไม่พบรูมาตอยด์ ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่เป็นโรครูมาตอยด์แต่ผู้ที่มีปริมาณรูมาตอยด์แฟคเตอร์สูงจะมีอาการรุนแรงกว่า

6.เจาะน้ำในข้อไปตรวจ

7.เอ๊กซเรย์ ไม่จำเป็น ยกเว้นในกรณีที่ใช้ประเมินว่าข้อถูกทำลายไปมากน้อยเพียงใด เพราะอาจจะต้องผ่าตัด


ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการไม่รุนแรง มีอาการเป็น ๆ หาย ๆ สามารถใช้ข้อต่าง ๆ ได้เกือบเท่ากับคนปกติ

จะมีผู้ป่วยส่วนน้อยประมาณร้อยละ 20 เท่านั้นที่มีอาการรุนแรง ทำให้เกิดความพิการ มีข้อบิดเบี้ยวผิดรูปร่างจนใช้งานไม่ได้ และมีผู้ป่วยจำนวนน้อยมาก ที่จะมีอาการอักเสบของอวัยวะอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ตา หัวใจ หลอดเลือด ปอด ม้าม เป็นต้น

โรคนี้เป็นโรคที่รักษาไม่หายขาด แต่ก็เป็นโรคที่สามารถควบคุมอาการได้ แต่ต้องใช้เวลานาน

ดังนั้น ผู้ป่วยจะต้องมีความอดทนในการรักษาไม่ควรเปลี่ยนแพทย์หรือเปลี่ยนยาเองเพราะจะทำให้การรักษาไม่ต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลเสียอย่างมากต่อตัวผู้ป่วยเองโดยเฉพาะเมื่อเกิดความพิการขึ้นแล้วก็ไม่สามารถรักษาให้กลับมาเหมือนเดิมได้

สำหรับข้อที่มีการอับเสบอยู่แล้ว การรักษาจะเป็นการควบคุมโรคไม่ให้เป็นมากขึ้น ดังนั้นข้อก็อาจจะบวม ผิดรูปอยู่เหมือนเดิม ซึ่งไม่ได้หมายความว่าการรักษาไม่ได้ผล

โรครูมาตอยด์มีความรุนแรงแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละคน ดังนั้นแพทย์ก็จะให้การรักษาแตกต่างกันไป โดยเฉพาะในระยะแรกแพทย์อาจต้องปรับเปลี่ยนยาไปมา เพื่อหาว่ายาตัวใดเหมาะสมกับผู้ป่วยคนนั้นมากที่สุด

ส่วนผลการรักษาจะดีมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับ ระยะเวลาที่เป็นโรค ความรุนแรงของโรค การปฏิบัติตัวของผู้ป่วยโดยเฉพาะการทำกายภาพบำบัดของข้อ และ การใช้ข้ออย่างถูกวิธี



แนวทางการรักษา


1.การทำกายภาพบำบัดของข้อ เช่น

-ประคบด้วยความร้อน หรือแช่ในน้ำอุ่น

-ใส่เฝือกชั่วคราวในช่วงที่อักเสบมากหรือตอนกลางคืน เพื่อลดอาการปวดและป้องกันข้อติดผิดรูป

-ขยับข้อให้เคลื่อนไหวมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อป้องกันข้อติดแข็ง โดยเฉพาะนิ้วมือและข้อมือ

-ออกกำลังให้กล้ามเนื้อแข็งแรง โดยเฉพาะกล้ามเนื้อนิ้วมือ มือ และแขน ซึ่งอาจจะใช้วิธีบีบฟองน้ำ ลูกบอลยาง ลูกเทนนิสหรือเครื่องออกกำลังที่ใช้มือบีบอื่น ๆ รวมถึงการยกน้ำหนัก 1 - 3 กิโลกรัมร่วมด้วยก็ได้

-ใช้ข้ออย่างถูกวิธี พยายามกระจายแรงไปหลายๆข้อ เช่น ใช้มือสองข้างช่วยกันจับสิ่งของแทนการใช้มือข้างเดียว ใช้ข้อใหญ่ออกแรงแทนข้อเล็ก เช่น ใช้แขนเปิดประตูแทนใช้ข้อมือ หรือ ใช้อุ้งมือเปิดฝาขวดแทนใช้นิ้วมือ

-ปรับสภาพแวดล้อมภายในบ้านให้เหมาะสม เช่น ก๊อกน้ำควรเป็นแบบคันโยก ไม่ควรใช้แบบบิด-หมุน ประตูควรเป็นแบบเลื่อนเปิด-ปิดไม่ควรใช้ลูกบิด


2. ยากลุ่มระงับการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์

ในผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง จะช่วยลดอาการปวดและบวมตามข้อได้ค่อนข้างดี และเมื่อเลือกใช้ยาตัวใดก็ควรรับประทานยาติดต่อกันอย่างน้อย 2 อาทิตย์ ถ้าอาการไม่ดีขึ้นจึงเปลี่ยนเป็นยาตัวอื่น

ผลข้างเคียงที่สำคัญของยาทุกตัวในกลุ่มนี้คือ ปวดศีรษะ วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ แสบท้อง เป็นแผลในกระเพาะอาหาร อาจจะมีบวมบริเวณหน้า แขน ขา ไม่ควรใช้ในผู้ป่วยที่เป็นโรคไตวายเรื้อรัง และ ต้องระวังการใช้ยาในผู้สูงอายุ

ยากลุ่มนี้จะมียาใหม่ที่มีผลข้างเคียงเกี่ยวกับการเกิดแผลในทางเดินอาหารน้อย แต่จะมีราคาค่อนข้างแพง จึงควรเลือกใช้ในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดแผลในทางเดินอาหารเช่น ผู้สูงอายุ หรือ ผู้ที่เคยมีแผลในทางเดินอาหาร


3. ยากลุ่มสเตียรอยด์

ยากลุ่มนี้มีทั้งชนิดกินและฉีดเข้ากล้ามเนื้อหรือฉีดเข้าข้อ จะใช้เมื่อการอักเสบรุนแรง แต่ไม่ควรใช้ในขนาดสูงหรือใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน เพราะผลข้างเคียงมาก เช่น กระดูกพรุน ไตวายเฉียบพลัน ติดเชื้อง่าย

เมื่อหยุดยาก็จะกลับมีอาการขึ้นอีก ในช่วงที่มีการอักเสบมาก อาจใช้ในขนาดสูง เมื่ออาการดีขึ้นก็ควรลดยาลง


4. ยากลุ่มยับยั้งข้ออักเสบรูมาตอยด์ที่ออกฤทธิ์ช้า

เป็นยาที่ค่อนข้างอันตราย มีผลข้างเคียงมาก แพทย์จึงจะใช้ในกรณีที่ใช้ยากลุ่มอื่นแล้วไม่ได้ผล หรือในผู้ที่มีอาการอักเสบรุนแรง มีรูมาตอยด์แฟคเตอร์ในเลือดสูง

ยากลุ่มนี้จะออกฤทธิ์ช้า กว่าจะเห็นผลต้องให้ยาติดต่อกันอย่างน้อย 2 เดือนขึ้นไป

ยาที่ใช้บ่อย และค่อนข้างปลอดภัยคือ ยาคลอโรควิน ซึ่งเป็นยาที่ใช้รักษาโรคมาลาเรีย และสามารถลดการอักเสบในโรครูมาตอยด์ได้ด้วย โดยมักจะใช้ควบคู่ไปกับยาในข้อ 2 มีผลข้างเคียงคือ คลื่นไส้ เวียนศีรษะ ตาพร่า ผื่นคัน ผิวแห้ง ผิวคล้ำ ซึ่งจะลดอาการทางผิวหนังได้โดยหลีกเลี่ยงการถูกแสงแดดโดยตรง แต่ถ้าเกิดผลข้างเคียงมาก เช่น ตาพร่า ก็ต้องหยุดใช้ยา

ยาตัวอื่นในกลุ่มนี้ เช่น ยาMTX ยาเกลือทอง ยาที่มีฤทธิ์กดภูมิคุ้มกันของร่างกาย และ ยังมียาใหม่ ๆ ที่เริ่มนำมาใช้อีกหลายชนิด ซึ่งเป็นยาที่อันตราย มีผลข้างเคียงสูง ถ้าจะใช้ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างเคร่งครัด


5. การผ่าตัด

เช่น ผ่าตัดเลาะเยื่อบุข้อที่มีการอักเสบออก ผ่าตัดเย็บซ่อมหรือย้ายเส้นเอ็น ผ่าตัดเชื่อมข้อติดกัน ผ่าตัดกระดูกปรับแนวข้อให้ตรงขึ้น ผ่าตัดใส่ข้อเทียม

การผ่าตัดถือว่าเป็นการรักษาปลายเหตุเพื่อบรรเทาอาการเท่านั้น

............................................................


สมาคมรูมาติสซั่มแห่งประเทศไทย  -= Thai Rheumatism Association =-

โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์

โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์คืออะไร ?

โรครูมาตอยด์เป็นโรคข้ออักเสบเรื้อรังชนิดหนึ่งที่มีลักษณะเด่นคือ มีการเจริญงอกงามของเยื่อบุข้ออย่างมาก เยื่อบุข้อนี้จะลุกลามและทำลายกระดูกและข้อในที่สุด โรคนี้มิได้เป็นแต่เฉพาะข้อเท่านั้น ยังอาจมีอาการทางระบบอื่น ๆ อีก เช่น ตา ประสาท กล้ามเนื้อ เป็นต้น

ข้ออักเสบเรื้อรังส่วนใหญ่เป็นโรครูมาตอยด์ใช่หรือไม่ ?
ถึงแม้โรครูมาตอยด์เป็นโรคข้ออักเสบเรื้อรังที่พบได้บ่อยที่สุด แต่จะมีกลุ่มโรคข้ออักเสบเรื้อรังอื่น ๆ อีกมากที่เลียนแบบโรครูมาตอยด์ได้ ผู้ป่วยควรได้รับการตรวจจากแพทย์เพื่อการวินิจฉัยที่ถูกต้อง เนื่องจากการรักษาจะแตกต่างกันออกไป

สาเหตุของโรครูมาตอยด์คืออะไร ?
สาเหตุที่แท้จริงยังไม่เป็นที่ทราบแน่นอน แต่จากการศึกษาพบว่าโรคนี้มีส่วนเกี่ยวกับการติดเชื้อบางอย่าง และมีส่วนเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม

ผู้ใดบ้างที่เป็นโรครูมาตอยด์ได้ ?
โรครูมาตอยด์สามารถเป็นได้กับทุกกลุ่มอายุตั้งแต่เด็กจนถึงวัยชรา แต่ส่วนใหญ่จะพบในผู้ป่วยวัยกลางคน และพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย

เมื่อเป็นโรครูมาตอยด์จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ?
เมื่อเป็นโรครูมาตอยด์ เยื่อบุข้อจะมีการเจริญงอกงามและมีการหนาตัว จากนั้นจะลุกลามทำลายกระดูกและข้อในที่สุด ในระยะแรกผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการอ่อนเพลีย ปวดตามข้อ มีอาการฝืดขัดข้อเป็นเวลานานในตอนเช้า เมื่อมีอาการชัดเจนข้อจะมีการบวม ร้อน และปวด โรคนี้สามารถเป็นได้กับทุกข้อของร่างกาย แต่ที่พบไดบ่อยคือข้อของนิ้วมือ ข้อมือ ข้อเข่า ข้อเท้า และข้อนิ้วเท้า อาการของข้ออักเสบจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป ในบางรายอาจมีอาการรุนแรงแบบเฉียบพลันได้ บางรายอาจมีไข้ เบื่ออาหาร และน้ำหนักลดร่วมด้วยได้ ในรายที่มีอาการรุนแรงอาจมีอาการทางระบบตา ปอด และมีปุ่มขึ้นตามตัวได้

การวินิจฉัย
ในรายที่เป็นมานานและมีข้ออักเสบชัดเจนการวินิจฉัยจะทำได้ไม่ยาก แต่ในรายที่เป็นในระยะแรกการวินิจฉัยอาจยุ่งยาก แพทย์อาจจำเป็นต้องทำการตรวจทางห้องปฏิบัติการต่าง ๆ เพื่อยืนยันการวินิจฉัยและวินิจฉัยแยกโรคที่คล้ายโรครูมาตอยด์ออกไป

การตรวจหาสารรูมาตอยด์ในเลือดจะช่วยการวินิจฉัยหรือไม่ ?
สารรูมาตอยด์สามารถตรวจพบได้ในเลือดของผู้ป่วยโรครูมาตอยด์ประมาณร้อยละ 70-80 แต่สารนี้สามารถตรวจพบได้ในโรคข้ออักเสบอื่น ๆ ที่ไม่ใช่โรครูมาตอยด์ ตรวจพบได้ในโรคติดเชื้อบางอย่าง หรือตรวจพบได้ในคนปกติ ดังนั้นการตรวจพบสารนี้จะไม่ได้บอกว่าผู้ป่วยเป็นโรครูมาตอยด์ แต่จะใช้ในการสนับสนุนการวินิจฉัยโรค อนึ่ง ในระยะแรก ๆ ของโรครูมาตอยด์การตรวจหาสารนี้อาจให้ผลลบได้

การรักษา
1. การใช้ยา ในปัจจุบันมียามากมายที่ใช้ในการควบคุมและรักษาโรครูมาตอยด์ให้ได้ผลดี ยาเหล่านี้ได้แก่ยาแอสไพรินและยาต้านการอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ ผู้ป่วยแต่ละรายจะตอบสนองต่อยาเหล่านี้แตกต่างกันออกไป ยาเหล่านี้อาจมีผลข้างเคียงทางด้านระบบทางเดินอาหารและระบบไตได้ ในรายที่เป็นรุนแรง มีอาการมากและข้อถูกทำลายมาก แพทย์อาจพิจารณาใช้ยาอีกกลุ่มหนึ่งที่เรียกว่ายาระดับที่ 2 ซึ่งได้แก่ ยาต้านมาลาเรีย ยาทองคำ ยาเมทโธเทรกเซท ยาซัลฟาซาลาซีน เป็นต้น ยาเหล่านี้ไม่มีฤทธิ์ในการระงับการเจ็บปวด แต่จะช่วยระงับการลุกลามของโรคได้ แต่เนื่องจากยาเหล่านี้มีผลข้างเคียงที่รุนแรงจึงควรใช้ในรายที่มีอาการรุนแรงและใช้โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น อนึ่ง ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์เป็นยาที่มีผู้นำเอามาใช้ในการรักษาโรครูมาตอยด์เป็นเวลานานแล้ว เนื่องจากยานี้มีคุณสมบัติในการระงับการอักเสบของข้อได้ แต่จากการศึกษาในระยะหลัง ๆ พบว่ายาชนิดนี้ไม่ได้ไปเปลี่ยนแปลงการดำเนินของโรคเลย แต่เมื่อใช้ยานี้ไปนาน ๆ ผู้ป่วยจะติดยาและไม่สามารถเลิกยาได้ พร้อมทั้งเกิดภาวะแทรกซ้อนจากยาชนิดนี้มากมาย เช่น อ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ตาเป็นต้อกระจก กล้ามเนื้ออ่อนแรง และกระดูกผุ เป็นต้น จึงไม่ควรเป็นอย่างยิ่งในการนำยานี้มาใช้รักษาผู้ป่วยโรครูมาตอยด์ ยกเว้นในรายที่มีอาการรุนแรงและไม่สามารถรักษาด้วยยาชนิดอื่นแล้ว และควรดูแลควบคุมด้วยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น
2. การพักผ่อนและการบริหารร่างกาย มีส่วนสำคัญมากในการรักษาผู้ป่วยโรครูมาตอยด์ การพักผ่อนจะช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกดีขึ้น ไม่มีอาการอ่อนเพลีย แต่การพักที่นานเกินไปจะทำให้ข้อฝืดขัด ดังนั้นการพักผ่อนจะต้องสมดุลย์กับการบริหารร่างกาย การบริหารร่างกายอย่างสม่ำเสมอไม่ติดขัด และช่วยให้ผู้ป่วยช่วยเหลือตนเองได้ (ศึกษาเพิ่มเติมจากเอกสารชุดการบริหารร่างกาย)
3. การป้องกันไม่ให้ข้อถูกทำลายมากขึ้น เป็นสิ่งสำคัญ ผู้ป่วยควรเรียนรู้ และหลีกเลี่ยงการกระทำบางอย่างที่อาจส่งเสริมให้ข้อถูกทำลายเร็วขึ้น เช่น การนั่งพับเข่าในกรณีที่มีข้อเข่าอักเสบ หรือการบิดข้อมือในกรณีที่มีข้อมืออักเสบ การรู้จักใช้กายอุปกรณ์บางอย่าง เช่น ไม้เท้า เครื่องช่วยเดิน จะช่วยให้ผู้ป่วยเคลื่อนไหวคล่องขึ้นและหลีกเลี่ยงแรงที่กระทำต่อข้อได้
4. การผ่าตัด จะมีบทบาทในการรักษาโรครูมาตอยด์ในกรณีที่ข้อถูกทำลายไปมากแล้ว หรือกรณีที่เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น เอ็นขาด เป็นต้น การผ่าตัดซ่อมแซมหรือเปลี่ยนข้อจะช่วยให้ข้อทำงานได้ดีขึ้น

เอกสารแนะนำข้อมูลโรครูมาตอยด์ สำหรับประชาชน


https://www.thairheumatology.org/โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์/
 




 

Create Date : 05 มกราคม 2551   
Last Update : 11 ตุลาคม 2564 15:30:19 น.   
Counter : 30721 Pageviews.  

ข้ออักเสบ




ข้ออักเสบ

“ข้ออักเสบ” เป็นคำทั่ว ๆ ไปที่บอกถึงกลุ่มของโรค ซึ่งมีมากกว่า 100 โรค ที่ทำให้เกิดอาการ ปวด บวม และ ข้อแข็ง ซึ่งโรคเหล่านนี้อาจเป็นที่กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น หรือ กระดูกข้อ ก็ได้

กลุ่มโรคข้ออักเสบนี้อาจมีอาการหรืออาการแสดงในระบบอื่น ๆ ของร่างกายได้ด้วย เช่น ผิวหนัง ตา ปาก ไต ปอด และระบบเลือด เป็นต้น ซึ่งโรคที่พบได้บ่อย เช่น เก๊าท์ รูมาตอยด์ เอสแอลอี (โรคพุ่มพวง) เป็นต้น

โรคข้ออักเสบส่วนใหญ่จะเป็นโรคเรื้อรัง ข้ออักเสบบางชนิดอาจเป็นไปตลอดชีวิตของผู้ป่วย ขณะที่ผู้ป่วยบางรายข้ออักเสบอาจมีลักษณะเป็น ๆ หาย ๆ และข้ออักเสบบางชนิดสามารถรักษาให้หายขาดได้ ในขณะที่บางโรครักษาไม่หายเพียงแต่ควบคุมอาการของโรคไม่ให้กำเริบรุนแรงเท่านั้น


เมื่อมีอาการหรืออาการแสดงต่อไปนี้ ควรปรึกษาแพทย์

1. มีข้อบวม เป็น ๆ หาย ๆ
2. มีอาการฝืดขัดเป็นเวลานานในตอนเช้า
3. มีอาการปวดเป็น ๆ หาย ๆ ในข้อหนึ่งข้อใด
4. ไม่สามารถเคลื่อนไหวข้อได้เป็นปกติ
5. มีอาการแดงหรือร้อนบริเวณข้อ
6. มีไข้ น้ำหนักลด หรืออ่อนแรง
7. อาการข้อ 1-6 เป็นมานานกว่า 2 สัปดาห์



การรักษาข้ออักเสบ

จุดมุ่งหมายในการรักษา คือ ลดอาการปวด เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ และ ทำให้ข้อเคลื่อนไหวดีขึ้น ซึ่งแนวทางการรักษาโดยทั่วไป ประกอบด้วย

1. ยาแก้ปวดลดการอักเสบ หรือ ยาสเตียรอยด์ ซึ่งมีอยู่หลายชนิด แพทย์จะเลือกให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละคน โดยพิจารณาจาก ชนิดของข้ออักเสบ ความรุนแรง และ ลักษณะทั่วไปของผู้ป่วย

2. การปกป้องข้อ โดยการใช้อุปกรณ์ช่วย เช่น ไม้เท้า หรือ เฝือกชั่วคราว หรือ การใช้ข้อให้ถูกวิธีในชีวิตประจำวัน เพื่อป้องกันไม่ให้ข้อต้องทำงานมากเกินไป และ ช่วยลดแรงที่กระทำต่อข้อ ทำให้ข้ออักเสบน้อยลง

3. การบริหาร และ การทำกายภาพบำบัด เช่นการประคบด้วยความร้อน

4. การผ่าตัด ซึ่งจะใช้ในกรณีที่จำเป็นเท่านั้น การผ่าตัดแก้ไขภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นหรือกรณีที่ข้อถูกทำลายไปมากหรือการรักษาทางยาไม่ได้ผล เช่น การผ่าตัดเพื่อเปลี่ยนแนวของข้อ ผ่าตัดใส่ข้อเทียม เป็นต้น



การพักผ่อนมีความจำเป็นในโรคข้ออักเสบหรือไม่ ?

ในการออกกำลังกายหรือใช้ข้อที่มีการอักเสบทำงานมากเกินไปจะทำให้มีการเพิ่มการอักเสบของข้อและปวดข้อมากขึ้น ในทางตรงกันข้ามการพักผ่อนมากเกินไปโดยข้อไม่มีการเคลื่อนไหว ก็จะทำให้เกิดข้อติดแข็งเพิ่มขึ้น ดังนั้น การพักผ่อนและการออกกำลังกายควรทำไปพร้อมกันอย่างสมดุล


ท่านจะปรับตัวให้เข้ากับโรคข้ออักเสบได้อย่างไร ?

แม้ว่าแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์จะเป็นผู้ช่วยดูแลรักษาผู้ป่วยโรคข้ออักเสบก็ตาม แต่ผู้ที่สำคัญที่สุดในการรักษาคือตัวผู้ป่วยเอง ผู้ป่วยควรรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ ออกกำลังกายและการพักผ่อนอย่างพอเพียง และรู้จักใช้อุปกรณ์เพื่อป้องกันไม่ให้ข้อต้องทำงานมากเกินไป ผู้ป่วยควรเข้าใจโรคของตนและควรปรึกษาแพทย์เมื่อมีปัญหา


ทำไมจึงต้องบริหารร่างกาย ?

ในผู้ป่วยโรคข้ออักเสบ การบริหารร่างกายเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งในการรักษา เนื่องจากเมื่อมีข้ออักเสบผู้ป่วยจะไม่ค่อยเคลื่อนไหวข้อที่ปวด ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนกำลังและลีบลง การบริหารร่างกายจะช่วยป้องกันกล้ามเนื้ออ่อนแรง กล้ามเนื้อลีบ และทำให้ข้อเคลื่อนไหวได้ดีขึ้น กายบริหารจะได้ผลมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความพยายามของผู้ป่วยเอง


ข้อแนะนำเบื้องต้น

1. โรคข้ออักเสบส่วนใหญ่จะมีอาการกำเริบและสงบเป็นระยะ ๆ เมื่อโรคมีอาการกำเริบและปวดข้อมาก อาจลดปริมาณการทำบริหารลงเล็กน้อย และเพิ่มขึ้นเป็นปกติเมื่ออาการดีขึ้น

2. ควรหลีกเลี่ยงกายบริหารใด ๆ ที่เพิ่มแรงกระทำต่อข้ออย่างมาก

3. ไม่ควรบริหารมากเกินไป ถ้ามีอาการต่อไปนี้แสดงว่า บริหารมากเกินไป เช่น มีอาการปวดนานมากกว่า 1 ชั่วโมงหลังจากการออกกำลังกาย รู้สึกอ่อนเพลียมาก ข้อ เคลื่อนไหวได้น้อยลง ข้อบวมมากขึ้น

4. ควรทำอย่างน้อยวันละ 2-3 ครั้ง เพื่อให้ข้อเคลื่อนไหวได้เต็มที่ แต่ละครั้งควรทำนานประมาณ 5-10 นาที หรือทำซ้ำ ๆ กันประมาณ 10-15 ครั้ง ออกกายบริหารอย่างช้า ๆ และสม่ำเสมอ


ท่าบริหารทั่วไป
ควรทำบ่อย ๆ ทุกวัน ท่าละ 10 ครั้ง (อย่างน้อย วันละ 5-10 รอบ)

1. นอนหงาย เข่าเหยียดตรง กางขาออกด้านข้างให้มากที่สุด ค้างไว้นับ 1-10 แล้วหุบขาเข้า ทำสลับกับอีกข้างหนึ่ง

2. นอนหงาย เข่างอตั้งฉากทั้งสองข้าง แบะเข่าออกทางด้านข้าง ๆ ให้มากที่สุด ค้างไว้นับ 1-10 แล้วหุบเข้า

3. นอนหงาย งอข้อสะโพกให้เข่าเข้ามาชิดหน้าอก เกร็งไว้ นับ 1-10แล้วจากนั้นเหยียดขาให้ตรง ทำสลับกับอีกข้างหนึ่ง

4. นอนหงาย เข่างอตั้งฉากทั้งสองข้าง ยกสะโพกขึ้น (ให้ก้นลอยขึ้น ไม่แตะพื้น ) เกร็งค้างไว้ นับ 1-10 แล้วปล่อยลง

5. นั่งตามสบาย เหยียดขาขึ้นให้เข่าตรง กระดกข้อเท้าขึ้นเต็มที่ เกร็งไว้นับ 1-10 แล้วงอเข่าลง ทำสลับกับอีกข้างหนึ่ง

6. แขนแนบข้างลำตัว กางไหล่ออกทางด้านข้างแล้วยกแขนขึ้นเหนือศีรษะ แล้วหุบไหล่ลง ทำสลับกันสองข้าง

7. แขนแนบข้างลำตัว แล้วหมุนไหล่ไปด้านหน้า ผ่านไปเหนือศีรษะ แล้วหมุนไปด้านหลัง เป็นวงกลม ทำสลับกันสองข้าง

8. งอข้อศอก – เหยียดข้อศอก ให้มากที่สุด ทำสลับกันสองข้าง

9. ฝ่ามือประกบกัน ให้ข้อมือกระดกขึ้น (ท่าพนมมือ) ใช้แรงพอควรดันเข้าหากัน เกร็งไว้ นับ 1-10

10.หลังมือชนกัน ให้ข้อมืองอลง ใช้แรงพอสมควรดันเข้าหากัน เกร็งไว้ นับ 1-10

11.ข้อนิ้วมือ กำมือให้แน่นมากที่สุด เกร็งไว้ นับ 1-10 แล้วทำสลับกับ เหยียดนิ้วมือออก เกร็งไว้ นับ 1-10

12.กางนิ้วออก ให้มากที่สุด เกร็งไว้ นับ 1-10 แล้วทำสลับกับ หุบนิ้วเข้าหากัน เกร็งไว้ นับ 1-10

13.แหงนคอ – ก้มคอ – เอียงไปข้างซ้าย – เอียงคอไปด้านขวา – หมุนคอไปทางซ้าย – หมุนคอไปทางขวา




 

Create Date : 23 ธันวาคม 2550   
Last Update : 23 ธันวาคม 2550 19:38:19 น.   
Counter : 24104 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  

หมอหมู
Location :
กำแพงเพชร Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 762 คน [?]




ผมเป็น ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ หรือ อาจเรียกว่า หมอกระดูกและข้อ หมอกระดูก หมอข้อ หมอออร์โธ หมอผ่าตัดกระดูก ฯลฯ สะดวกจะเรียกแบบไหน ก็ได้ครับ

ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ เป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาหนึ่ง ซึ่งเมื่อเรียนจบแพทย์ทั่วไป 6 ปี ( เรียกว่า แพทย์ทั่วไป ) แล้ว ก็ต้องเรียนต่อเฉพาะทาง ออร์โธปิดิกส์ อีก 4 ปี เมื่อสอบผ่านแล้วจึงจะถือว่าเป็น แพทย์ออร์โธปิดิกส์ โดยสมบูรณ์ ( รวมเวลาเรียนก็ ๑๐ ปี นานเหมือนกันนะครับ )

หน้าที่ของหมอกระดูกและข้อ จะเกี่ยวข้องกับความเจ็บป่วย ของ กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูก ข้อ และ เส้นประสาท โรคที่พบได้บ่อย ๆ เช่น กระดูกหัก ข้อเคล็ด กล้ามเนื้อฉีกขาด กระดูกสันหลังเสื่อม ข้อเข่าเสื่อม กระดูกพรุน เป็นต้น

สำหรับกระดูกก็จะเกี่ยวข้องกับกระดูกต้นคอ กระดูกสันหลัง กระดูกเชิงกราน กระดูกข้อไหล่ จนถึงปลายนิ้วมือ กระดูกข้อสะโพกจนถึงปลายนิ้วเท้า ( ถ้าเป็นกระดูกศีรษะ กระดูกหน้า และ กระดูกทรวงอก จะเป็นหน้าที่ของศัลยแพทย์ทั่วไป )

นอกจากรักษาด้วยการให้คำแนะนำ และ ยา แล้วยังรักษาด้วย วิธีผ่าตัด รวมไปถึง การทำกายภาพบำบัด บริหารกล้ามเนื้อ อีกด้วย นะครับ

ตอนนี้ผม ลาออกจากราชการ มาเปิด คลินิกส่วนตัว อยู่ที่ จังหวัดกำแพงเพชร .. ใช้เวลาว่าง มาเป็นหมอทางเนต ตอบปัญหาสุขภาพ และ เขียนบทความลงเวบ บ้าง ถ้ามีอะไรที่อยากจะแนะนำ หรือ อยากจะปรึกษา สอบถาม ก็ยินดี ครับ

นพ. พนมกร ดิษฐสุวรรณ์ ( หมอหมู )

ปล.

ถ้าอยากจะถามปัญหาสุขภาพ แนะนำตั้งกระทู้ถามที่ .. เวบไทยคลินิก ... ห้องสวนลุม พันทิบ ... เวบราชวิทยาลัยออร์โธปิดิกส์ หรือ ทางอีเมล์ ... phanomgon@yahoo.com

ไม่แนะนำ ให้ถามที่หน้าบล๊อก เพราะอาจไม่เห็น นะครับ ..




New Comments
[Add หมอหมู's blog to your web]