Ortho knowledge for all @ Do no harm patient and myself @ สุขภาพดี ไม่มีขาย ถ้าอยากได้ ต้องสร้างเอง

กลุ่มอาการปวดบริเวณ ส้นเท้า ... เส้นเอ็นร้อยหวาย อักเสบ




กลุ่มอาการปวดบริเวณส้นเท้า

ดัดแปลงจากเอกสารของ ราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย

กลุ่มอาการปวดบริเวณส้นเท้า ประกอบด้วย โรคหลาย ๆ โรค ที่ทำให้เกิดลักษณะอาการที่คล้ายคลึงกัน เช่น

เอ็นร้อยหวายอักเสบ

ถุงน้ำกระดูกส้นเท้าอักเสบ หรือ ถุงน้ำเส้นเอ็นร้อยหวายอักเสบ

กระดูกเท้าบิดผิดรูป

โรครูมาตอยด์

โรคเก๊าท์ หรือ

กระดูกหัก
เป็นต้น

ซึ่งในบางครั้งอาจพบหลายโรคพร้อม ๆ กันก็ได้



อาการและอาการแสดง

มีอาการเจ็บบริเวณด้านหลังของส้นเท้า หรือ ด้านหลังข้อเท้า ซึ่งจะมีอาการมากขึ้นเมื่อมีการเคลื่อนไหวข้อเท้า เช่น เดินขึ้นลงบันได หรือ วิ่ง เป็นต้น

บางรายพบว่าการกดทับจาก ขอบด้านหลังของรองเท้า เวลาใส่รองเท้าทำให้เกิดอาการมากขึ้น ในผู้ที่เป็นมานาน บริเวณส้นเท้าอาจบวมหรือเป็นก้อนโตขึ้นได้

ตำแหน่งที่เจ็บอาจจะอยู่ที่ เส้นเอ็นร้อยหวาย หรือ ด้านหลังต่อเส้นเอ็นร้อยหวายก็ได้ เมื่อกระดกข้อเท้าขึ้น จะมีอาการเจ็บมากขึ้น แต่เมื่อเหยียดข้อเท้าลง อาการก็จะดีขึ้น อาจคลำก้อนถุงน้ำ หรือ กระดูกงอกได้

การถ่ายภาพรังสีด้านข้างของกระดูกข้อเท้าและส้นเท้า มักจะปกติ อาจพบมีกระดูกงอกได้ในผู้ป่วยบางราย ซึ่งในคนปกติ ที่ไม่มีอาการปวดส้นเท้า ก็อาจพบกระดูกงอกได้ ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องถ่ายภาพรังสีในผู้ป่วยทุกคน




แนวทางการรักษา

การรักษาโดย ไม่ผ่าตัด

ส่วนใหญ่แล้วการรักษาโดย ไม่ผ่าตัด จะได้ผลดี ซึ่งประกอบด้วย

1. ลดกิจกรรมที่ทำให้ปวด หรือ กิจกรรมที่ต้องลงน้ำหนัก เช่น การยืนหรือเดินนาน ๆ เป็นต้น และ ควรออกกำลังชนิดที่ไม่ต้องมีการลงน้ำหนัก เช่น ว่ายน้ำ ขี่จักรยาน

2. บริหารเพื่อยืดกล้ามเนื้อน่อง และ เส้นเอ็นร้อยหวาย

3. ใช้ผ้าพันที่ข้อเท้า ใส่เฝือกชั่วคราวในตอนกลางคืน หรือใส่เฝือกตลอดเวลา เพื่อลดการเคลื่อนไหวของข้อเท้า

4. ใส่รองเท้าที่เหมาะสม เช่น ขนาดกระชับพอดีไม่หลวมเกินไป ส้นสูงประมาณ 1–1.5 นิ้ว มีขอบด้านหลังที่นุ่ม หรือใช้แผ่นรองส้นเท้ารูปตัวยู ( U ) ติดที่บริเวณขอบรองเท้าด้านหลัง เพื่อไม่ให้ขอบของรองเท้ามากดบริเวณที่เจ็บ

5. หลีกเลี่ยงการเดินด้วยเท้าเปล่า

6. รับประทานยาแก้ปวด เช่น พาราเซ็ตตามอล ยาแก้ปวดลดการอักเสบ ประคบด้วยความร้อน หรือใช้ยานวด

7. ฉีดยาสเตียรอยด์ บริเวณที่มีการอักเสบ ทุก 1-2 อาทิตย์ แต่ ไม่ควรฉีดเกิน 2 ครั้งใน 1 เดือน ถ้าไม่จำเป็นก็ ไม่ควรฉีด เพราะอาจเกิดผลแทรกซ้อนได้ เช่น เส้นเอ็นร้อยหวายขาด ผิวหนังบริเวณที่ฉีดเปลี่ยนเป็นสีขาว เป็นต้น



 การรักษาโดยการผ่าตัด

ข้อบ่งชี้ในการผ่าตัด

1. ผู้ป่วยที่ตอบสนองต่อการรักษาดี แต่กลับเป็นซ้ำบ่อย ๆ ไม่หายขาดทำให้มีปัญหาในการดำเนินชีวิตประจำวัน

2. ในรายที่ตอบสนองต่อการรักษาไม่ดี โดยเฉพาะรายที่มีสาเหตุชัดเจน เช่น ฝ่าเท้าบิดเข้าหรือบิดออก เป็นต้น


วิธีผ่าตัด เช่น ผ่าตัดเพื่อเอาถุงน้ำ เนื้อเยื่อที่อักเสบ และ กระดูกงอก ออก หรือ ผ่าตัดเปลี่ยนแนวกระดูก เป็นต้น

ผลข้างเคียงที่อาจพบได้ เช่น แผลเป็นนูนทำให้ปวดแผลเรื้อรัง เส้นเอ็นร้อยหวายขาด เป็นต้น






บทความเรื่อง " เส้นเอ็นร้อยหวาย ขาด "

https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=21-06-2009&group=6&gblog=29
 




 

Create Date : 24 กรกฎาคม 2551   
Last Update : 19 เมษายน 2562 14:20:52 น.   
Counter : 122930 Pageviews.  

เส้นเอ็นฝ่าเท้าอักเสบ ( รองช้ำ )

 



เส้นเอ็นฝ่าเท้าอักเสบ ( รองช้ำ )

อาการปวดบริเวณส้นเท้า อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น เส้นเอ็นฝ่าเท้าอักเสบ เส้นประสาทถูกกดทับที่ข้อเท้า กระดูกงอกที่ฝ่าเท้าหรือที่เส้นเอ็นร้อยหวาย กระดูกเท้าบิดผิดรูป โรครูมาตอยด์ โรคเก๊าท์ หรือ กระดูกหัก เป็นต้น

สาเหตุของการเกิดโรคที่แท้จริงยังไม่ทราบ แต่ เชื่อว่าเป็นเพราะความเสื่อมบริเวณที่เส้นเอ็นฝ่าเท้าเกาะกับกระดูก

พบมาก ในผู้หญิงวัยกลางคน ยืนหรือเดินนาน ๆ น้ำหนักตัวมาก ใส่รองเท้าที่ไม่เหมาะสม หรือ เท้าแบน เท้าบิด

อาการที่พบได้บ่อย คือ หลังจากนอนหรือนั่งสักพักหนึ่ง เมื่อเริ่มเดินลงน้ำหนักจะรู้สึกปวดส้นเท้ามาก แต่ หลังจากที่เดินไปได้สักพัก อาการปวดก็จะทุเลาลง แต่ถ้าเดินนาน ๆ ก็อาจปวดมากขึ้นอีกได้ มักจะปวดมากในช่วงตื่นนอนตอนเช้า และจะดีขึ้นในช่วงตอนสาย หรือ ตอนบ่าย ถ้ากระดกข้อเท้าขึ้นหรือกดที่ส้นเท้า จะปวดมากขึ้น

ผู้สูงอายุประมาณร้อยละ 30-70 ถ้าถ่ายภาพรังสีของเท้า จะพบว่ามีกระดูกงอกที่ไต้ฝ่าเท้าได้ ดังนั้น ถึงแม้ว่าจะพบกระดูกงอกจากภาพรังสี แต่ก็อาจจะไม่เกี่ยวกับอาการปวดส้นเท้า จึงไม่จำเป็นต้องถ่ายภาพรังสีทุกคน

โดยส่วนใหญ่ ผู้ป่วยเส้นเอ็นฝ่าเท้าอักเสบ รักษาให้หายขาดได้ ด้วยวิธีรักษาแบบไม่ผ่าตัด แต่อาจจะต้องใช้เวลารักษานานหลายเดือน อาการจะค่อย ๆ ดีขึ้น แต่ถ้ารักษาไปแล้ว 6 - 9 เดือน ก็ยังไม่ดีขึ้น อาจจะต้องรักษาด้วยวิธีผ่าตัด


แนวทางการรักษาด้วยตนเอง

1. ลดกิจกรรมที่ทำให้ปวด หรือ กิจกรรมที่ต้องลงน้ำหนัก เช่น การยืนหรือ เดินนาน ๆ เป็นต้น และควรออกกำลังที่ไม่ต้องมีการลงน้ำหนักที่ฝ่าเท้ามากนัก เช่น ว่ายน้ำ ขี่จักรยาน เดินเร็ว วิ่งเหยาะ ๆ เป็นต้น

2. บริหาร เพื่อยืดกล้ามเนื้อน่อง และ เส้นเอ็นฝ่าเท้า

3. หลีกเลี่ยงการเดินด้วยเท้าเปล่า และ ใส่รองเท้าที่เหมาะสม ขนาดพอดีไม่หลวมเกินไป มีพื้นรองเท้าที่นุ่ม และมีแผ่นรองรับอุ้งเท้าให้นูนขึ้น อาจใช้แผ่นนุ่มๆ รองที่ส้นเท้า (หนา ½ นิ้ว) ใส่รองเท้าส้นสูงประมาณ 1 – 1.5 นิ้ว หรือ ใช้แผ่นยางสำหรับรองส้นเท้าโดยเฉพาะ เช่น Heel cups , Tuli cups เป็นต้น

4. ประคบด้วยความร้อนหรือความเย็น หรือ ใช้ยานวด นวดฝ่าเท้า หรือ ใช้ผ้าพันที่ฝ่าเท้าและส้นเท้า

5. ลดน้ำหนัก เพราะถ้าน้ำหนักมาก เส้นเอ็นฝ่าเท้าก็ต้องรับน้ำหนักมาก ทำให้ผลการรักษาไม่ดี และ หายช้า


แนวทางการรักษาโดยแพทย์

1. รับประทานยา เช่น ยาแก้ปวดลดการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ยาคลายกล้ามเนื้อ

2. ฉีดยาสเตียรอยด์เฉพาะที่ บริเวณส้นเท้าจุดที่ปวด แต่ไม่ควรฉีดเกิน 2 ครั้งใน 1 เดือน เพราะอาจทำให้เกิดเส้นเอ็นฝ่าเท้าเปื่อยและขาดได้ ก่อนจะฉีดต้องทำความสะอาดที่ผิวหนังอย่างดี เพื่อป้องกันการติดเชื้อ

ขณะฉีดยาสเตียรอยด์จะรู้สึกปวดแล้วก็จะชา แต่หลังจากยาชาหมดฤทธิ์ ( ประมาณ 1-2 ชั่วโมง ) ก็อาจเกิดอาการปวดซ้ำอีกครั้ง จึงควรรับประทานยา หรือ ประคบด้วยน้ำอุ่น กันไว้ก่อน

3. ทำกายภาพบำบัด เช่น ใช้ความร้อนลึก (อัลตร้าซาวด์) ดัดยืดเส้นเอ็นฝ่าเท้า ใช้ไม้เท้าช่วยเดิน เป็นต้น

4. ใส่เฝือกชั่วคราวให้ข้อเท้ากระดกขึ้น ในตอนกลางคืน หรือ ถ้าเป็นมาก อาจต้องใส่เฝือกตลอดทั้งวัน

5. การผ่าตัด จะทำก็ต่อเมื่อรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ แล้วไม่ได้ผล คือ อาการปวดไม่ดีขึ้นหลังรับการรักษาอย่างเต็มที่ต่อเนื่องกันอย่างน้อย 6 - 9 เดือน หรือ สาเหตุการปวดเกิดจากเส้นประสาทบริเวณฝ่าเท้าถูกกดทับ

 
 
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (official)
https://www.facebook.com/medicine.cm/posts/3433651963339802

ปวดส้นเท้า สัญญาณเตือน โรครองช้ำ

อาการเจ็บปวดจี๊ดขึ้นมาที่ส้นเท้า ในบางครั้งอาจลามไปที่อุ้งเท้าด้วย โดยเฉพาะจะมีอาการปวดมากที่สุดเมื่อลุกเดินก้าวแรกหลังตื่นนอน หรือหลังจากนั่งพักเป็นเวลานาน นั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรครองช้ำ แม้จะดูเหมือนโรคนี้ไม่อันตรายร้ายแรง แต่ก็ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ทำการรักษา เพราะอาจส่งผลกระทบต่อการทำกิจวัตรประจำวันได้

 รศ.นพ.ธนวัฒน์ วะสีนนท์ อาจารย์ประจำหน่วยเท้าและข้อเท้า ภาควิชาออโทปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์ มช. กล่าวว่า

“โรครองช้ำหรือโรคที่เกิดจากการบาดเจ็บของเส้นเอ็นฝ่าเท้า ลักษณะอาการจะปวดรุนแรงที่สุดเมื่อเริ่มมีการลงน้ำหนักที่ส้นเท้าในก้าวแรก เช่น เมื่อลุกเดินก้าวแรกหลังตื่นนอน และดีขึ้นหลังจากเดินสามก้าว หรือกดเจ็บที่ใต้ส้นเท้า ในขณะที่กระดกข้อเท้าขึ้น

นอกจากนี้ อาจมีอาการปวดมากขึ้นได้ในช่วงระหว่างวันหรือหลังจากที่เท้าต้องรับน้ำหนักเป็นเวลานาน เช่น ยืนหรือเดินเป็นเวลานาน และเมื่อมีการเคลื่อนไหวมากขึ้นก็จะยิ่งมีอาการปวดมากขึ้น

 แม้จะดูเหมือนโรคนี้ไม่อันตรายร้ายแรง แต่ก็ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ทำการรักษา เพราะอาจส่งผลกระทบต่อการทำกิจวัตรประจำวันได้

โรครองช้ำอาจเกิดขึ้นได้ในหลายปัจจัย เช่น
- มีน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น ทำให้เมื่อเดิน จะทำให้เกิดแรงกดที่ฝ่าเท้ามาก จนอาจทำให้พังพืดใต้ฝ่าเท้าอักเสบได้
-มีการยืนติดต่อเนื่องเป็นเวลานาน ทำให้เอ็นฝ่าเท้ารองรับน้ำหนักกดทับมากกว่าปกติ
-สวมรองเท้าที่ไม่เหมาะสมต่อสุขภาพเท้า เช่น รองเท้าส้นสูง รองเท้าที่คับแน่น บีบเท้า หรือรองเท้าที่หลวมเกินไป รองเท้าที่ไม่มีพื้นบุรองส้นเท้า หรือพื้นรองเท้าบางเกินไป  
-มีการใช้งานฝ่าเท้าหรือส้นเท้าที่มากเกินไป เช่น การฝึกวิ่งหักโหม วิ่งระยะไกล
-มีภาวะเท้าผิดรูป เช่น อุ้งเท้าแบน อุ้งเท้าสูงหรือโก่งมากเกินไป

สำหรับจำนวนผู้ป่วยที่เป็นโรครองช้ำ ในระยะเวลา 1 ปี พบมากถึง 1,000,000 คน 85% รักษาหายโดยไม่ต้องผ่าตัด 80% หายแล้วไม่กลับมาเป็นซ้ำอีกหากในระยะเวลา 12 เดือน

 ผู้ที่มีอาการของโรครองช้ำ จำเป็นที่จะต้องอดทนในการรักษาตนเอง งดกิจกรรมที่ต้องมีการกระแทกลงน้ำหนักที่ส้นเท้า เริ่มทำการกายภาพเองที่บ้าน

สำหรับการกายภาพเองที่บ้านมี 3 ท่าด้วยกัน ได้แก่
1.ยืดพังผืดใต้ฝ่าเท้า นวดพังผืดบริเวณฝ่าเท้าครั้งละ 1 นาที ทำทั้งหมด 3 ครั้ง โดยพัก 30 วินาที ก่อนเริ่มครั้งถัดไป
2.การยืดพังผืดกับกล้ามเนื้อน่องโดยใช้ผ้ายาง โดยการ 1.บิดข้อเท้าเข้าด้านใน 2.แล้วใช้ผ้ายืดสำหรับออกกำลังกายดีงบริเวณฝ่าเท้า 3 ครั้ง ครั้งละ 30 วินาที
3.การยันกำแพงยืดกล้ามเนื้อน่องด้านใน โดยการดันกำแพง 1.เหยียดขาข้างที่ปวดไปด้านหลัง 2.บิดข้อเท้าเข้าด้านใน 3.ทำครั้งละ 30 วินาทีทำทั้งหมดสามครั้งโดยพัก 30 วินาที ก่อนเริ่มครั้งถัดไป

นอกจากนี้ยังมีวิธีการรักษาอีกหลายรูปแบบเช่น การปรับรองเท้าให้เหมาะสมกับรูปเท้า การทำกายภาพโดยใช้เครื่องมือทันสมัย การฉีดยาเกร็ดเลือด หากอาการไม่ดีขึ้นภายในเวลา 12 เดือน อาจได้รับการรักษาโดยการผ่าตัด

แม้ว่าโรครองช้ำจะไม่ทำอันตรายถึงชีวิต แต่หากไม่หยุดพักหรือทำการรักษา อาจต้องทนทุกข์ทรมานต่ออาการปวดจนส่งผลต่อคุณภาพชีวิต และอาจทำให้อาการอักเสบเรื้อรังยุ่งยากต่อการรักษา อย่างไรก็ตามหากมีอาการปวดส้นเท้าผิดปกติควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและการรักษาอย่างเหมาะสมได้ที่ หน่วยเท้าและข้อเท้า ภาควิชาออโทปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์ มช.

ติดตามรับชมรายการ สุขภาพดีกับหมอสวนดอก ตอนปวดส้นเท้า สัญญาณเตือน โรครองช้ำ ย้อนหลังได้ที่
https://www.facebook.com/SuandokGoodHealth2018/videos/663948604233808
 




 

Create Date : 23 กรกฎาคม 2551   
Last Update : 4 ตุลาคม 2563 13:37:07 น.   
Counter : 138024 Pageviews.  

เส้นเอ็นข้อศอกอักเสบ (Tennis Elbow , Golfer Elbow )

 

เส้นเอ็นข้อศอกอักเสบ

เส้นเอ็นข้อศอกอักเสบ เป็นโรคที่เกิดในบริเวณตำแหน่งที่เส้นเอ็นไปยึดเกาะกับกระดูกข้อศอก สามารถเกิดได้ทั้ง เส้นเอ็นด้านนอก และ เส้นเอ็นด้านใน

เส้นเอ็นข้อศอกด้านนอกอักเสบ หรือ เท็นนิส เอ็ลโบว์ ( Tennis Elbow ) เป็นโรคที่เกิดความผิดปกติในบริเวณข้อศอกด้านนอก ซึ่งเป็นตำแหน่งที่เส้นเอ็นของกล้ามเนื้อสำหรับกระดกข้อมือ เหยียดนิ้วมือ ไปเกาะกับกระดูก

เส้นเอ็นข้อศอกด้านในอักเสบ หรือ กอฟท์ เอ็ลโบว์ ( Golfer Elbow ) เป็นโรคที่เกิดความผิดปกติในบริเวณข้อศอกด้านใน ซึ่งเป็นตำแหน่งที่เส้นเอ็นของกล้ามเนื้อสำหรับงอข้อมือ กำนิ้วมือ ไปเกาะกับกระดูก



เครดิต FB @ โรครว้ายๆวัยทำงาน   https://www.facebook.com/strongworkers/photos/a.2321619421455504/3043636715920434/

o ยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรค แต่อาจเกิดจากการเล่นกีฬา หรือการใช้งานในชีวิตประจำวันบางอย่างที่ต้องกระดกข้อมือ หรือ งอข้อมือซ้ำ ๆ เกร็งข้อมือในท่าใดท่าหนึ่งเป็นเวลานาน ๆ ทำให้กล้ามเนื้อต้องทำงานมากเกินไปจนเกิดเส้นเอ็นอักเสบ

o พบในผู้หญิง เท่า ๆ กับ ในผู้ชาย พบบ่อยในช่วงอายุประมาณ 30 - 40 ปี

o ผู้ป่วยมักจะมีประวัติการเจ็บป่วยแบบค่อยเป็นค่อยไป มีประวัติการใช้งานซ้ำ ๆ กันของข้อศอกด้านนั้น อาการปวดจะเริ่มที่ข้อศอกด้านนอก และอาจมีอาการปวดร้าวมาตามแขนได้ จะเจ็บมากเวลากดที่ข้อศอก หรือ เวลาใช้มือทำงาน เช่น จับลูกบิด ยกขันน้ำ กวาดบ้าน หรือ ยกวัตถุในท่าคว่ำมือ เป็นต้น

o การถ่ายภาพเอ็กซเรย์ ประมาณ 25% ของผู้ป่วยอาจจะพบมีแคลเซี่ยมเกาะบริเวณที่ปวดได้




แนวทางรักษา

1. การรักษาโดยวิธีไม่ผ่าตัด

ผลการรักษาโดยวิธีไม่ผ่าตัด มักจะได้ผลดี ซึ่งมีแนวทางรักษาดังนี้

o หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ทำให้เกิดอาการปวดเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการกระดกข้อมือขึ้นลง เช่น ซักผ้า สับหมู พิมพ์ดีด เป็นต้น หรือ การเกร็งข้อมือนิ้วมือเป็นเวลานาน ๆ เช่น การหิ้วของ ใช้เมาส์คอมพิวเตอร์ เป็นต้น

o ประคบบริเวณที่ปวดด้วย ความร้อน หรือ ความเย็น อาจใช้ ยาทาบรรเทาอาการปวดร่วมด้วย

o รับประทานยาบรรเทาอาการปวดลดการอักเสบ ยาคลายกล้ามเนื้อ ประมาณ 10-14 วัน

o ฉีดยาสเตียรอยด์เฉพาะที่ บริเวณจุดที่กดเจ็บมากที่สุด เพื่อลดอาการอักเสบของเส้นเอ็น

ผู้ป่วยมักมีอาการดีขึ้นชั่วคราว (ประมาณ 3 - 6 เดือน) อาจกลับมาเป็นซ้ำได้

ถ้าฉีดยาครั้งแรกแล้วอาการไม่ดีขึ้น อาจฉีดซ้ำได้อีก 1-2 ครั้ง ถ้าอาการไม่ดีขึ้นก็ควรรักษาด้วยการผ่าตัดจะได้ผลดีกว่าที่จะฉีดยาซ้ำ เพราะการฉีดยาซ้ำบ่อย ๆ นอกจากอาการมักจะไม่ค่อยดีขึ้นแล้ว ยังอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนมากขึ้น เช่น เส้นเอ็นขาด หรือ ผิวหนังมีรอยด่างขาว เป็นต้น

o ทำกายภาพบำบัด อบด้วยความร้อน หรือ อัลตร้าซาวน์ เพื่อลดอาการปวด

o ใช้อุปกรณ์รัดบริเวณแขน (Counterforce brace) หรือ ผ้ายืด พันบริเวณแขนต่ำจากข้อศอกประมาณ 1 นิ้ว (ไม่ได้พันตรงจุดที่เจ็บ บริเวณข้อศอก ) เพื่อให้กล้ามเนื้อทำงานได้ดีขึ้น

แพทย์จะนัดผู้ป่วยมาตรวจซ้ำ เป็นระยะ เพื่อติดตามผลการรักษา โดยสังเกตจากอาการปวด การเคลื่อนไหวของข้อศอก ว่าดีขึ้นหรือไม่ ถ้าไม่ดีขึ้นก็อาจจะต้องปรับเปลี่ยนยา หรือ เปลี่ยนวิธีรักษา


2. การบริหารกล้ามเนื้อ (หลังอาการปวดดีขึ้นแล้ว)
สำหรับผู้ที่ต้องทำงานที่ต้องใช้ข้อศอกมาก ๆ ก็ควรใช้เวลาประมาณ 5 - 10 นาที บริหาร ก่อนเริ่มการทำงาน ส่วนผู้ที่มีอาการแล้วก็ควรทำการบริหารให้บ่อยที่สุดเท่าที่จะทำได้





3. การรักษาโดยการผ่าตัด

o ข้อบ่งชี้สำหรับการผ่าตัด เช่น มีอาการปวดมาก ฉีดยาสเตียรอยด์ 2 ครั้งใน 1 เดือน แต่อาการไม่ดีขึ้น เป็นต้น

o ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องผ่าตัด มีจำนวนน้อยมาก ผู้ป่วย โดยส่วนใหญ่ หายโดยไม่ต้องผ่า แต่อาจใช้เวลานานหลายเดือนกว่าจะหาย

o การผ่าตัดอาจทำได้ทั้งการฉีดยาชาเฉพาะที่ หรือ ใช้ยาสลบ หลังผ่าตัดมักจะต้องใช้เฝือกชั่วคราว 2 อาทิตย์

o การผ่าตัดจะให้ผลดีในแง่ลดความเจ็บปวด แต่ อาจทำให้กล้ามเนื้อในการกระดกข้อมืออ่อนแรง

............................................

อาการปวดกล้ามเนื้อ ปัญหาสุขภาพจากการใช้ Smartphone ... โดยภัทริยา อินทร์โท่โล่ และคณะ https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=17-04-2017&group=5&gblog=51

ออฟฟิศซินโดรม (office syndrome) .. นำมาฝาก https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=17-08-2017&group=5&gblog=53

ปวดคอ https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=26-06-2008&group=5&gblog=26

ปวดไหล่ https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=26-06-2008&group=5&gblog=25

ปวดหลัง https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=13-06-2008&group=5&gblog=18

เส้นเอ็นอักเสบแบบนิ้วไกปืน (โรคทริกเกอร์ฟิงเกอร์ ,TriggerFinger) https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=16-07-2008&group=5&gblog=29

กลุ่มอาการ เส้นประสาทถูกกดทับที่ข้อมือ(ผังผืดทับเส้นประสาท) https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=15-07-2008&group=5&gblog=28

ปลอกหุ้มเอ็นนิ้วหัวแม่มืออักเสบ (โรคเดอเกอร์แวง , De Quervain'sDisease) https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=16-07-2008&group=5&gblog=30

เส้นเอ็นข้อศอกอักเสบ https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=22-07-2008&group=5&gblog=32




 

Create Date : 22 กรกฎาคม 2551   
Last Update : 1 มิถุนายน 2564 15:14:55 น.   
Counter : 67668 Pageviews.  

ก้อนถุงน้ำที่ข้อมือ ( โรคคาร์พัล แกงเกลียน ,Carpal ganglion )








ก้อนถุงน้ำที่ข้อมือ ( โรคคาร์พัล แกงเกลียน ,Carpal ganglion )

เป็นเนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรง ที่พบได้บ่อยที่สุดของบริเวณมือและข้อมือ โดยมี

- ผนังของก้อนถุงน้ำเป็นเยื่อบุข้อ หรือ เยื่อหุ้มเส้นเอ็น

- ภายในก้อนถุงน้ำจะมีน้ำไขข้อบรรจุอยู่

-ก้อนถุงน้ำนี้จะมีช่องติดต่อกับข้อมือ

ตำแหน่งที่พบได้บ่อยคือ หลังข้อมือ และ ด้านหน้าของข้อมือ บริเวณใกล้ ๆ กับโคนนิ้วหัวแม่มือ

สาเหตุที่แท้จริงยังไม่ทราบแน่ชัด ในผู้ป่วยบางราย อาจมีประวัติ การบาดเจ็บจากการกระทบกระแทก หรือ อาจจะ เป็นผลจากการทำงานโดยเฉพาะงานที่ต้องมีการกระดกข้อมือขึ้นลงบ่อย ๆ

พบบ่อยในผู้หญิง ช่วงอายุ 20 - 40 ปี



อาการ

มีก้อนนูนขึ้นมา ลักษณะค่อนข้างแข็ง ผิวเรียบ และไม่เคลื่อนที่ ส่วนใหญ่กดไม่เจ็บ ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการเมื่อย หรือปวดข้อมือบ้างเล็กน้อย เคลื่อนไหวข้อไม่สะดวก เนื่องจากก้อนถุงน้ำไปกดเบียด เส้นเอ็นหรือเยื่อบุข้อ

ถ้ากระดกข้อมือขึ้น หรือ งอข้อมือลง จะทำให้ขนาดของก้อนถุงน้ำเปลี่ยนแปลง เช่น ถ้าก้อนทางด้านหลังข้อมือ เมื่อกระดกข้อมือขึ้น ขนาดก้อนจะเล็กลงหรือคลำไม่ได้ แต่ถ้างอข้อมือลง ก็จะโตขึ้น และแข็งมากขึ้น เป็นต้น

ถ้าปล่อยไว้ก้อนก็มักจะโตขึ้น แต่จะค่อย ๆ โตอย่างช้า ๆ อาจใช้เวลานานหลายเดือน หรือ เป็นปี จึงจะผิดสังเกต


แนวทางรักษา

1. วิธีไม่ผ่าตัด

ในรายที่ก้อนใหญ่แต่ผู้ป่วยไม่มีอาการและไม่กังวล ก็อาจปล่อยไว้โดยไม่ต้องผ่าออก เพราะก้อนถุงน้ำนี้ไม่ทำให้เกิดอันตรายและไม่กลายเป็นเนื้องอกร้ายแรง(มะเร็ง)

ถ้าก้อนมีขนาดใหญ่และมีอาการปวด ก็ควรลดการใช้ข้อมือ ให้ข้อมืออยู่นิ่ง ๆ สักพักอาการปวดมักจะดีขึ้น ถ้ามีอาการปวดมากอาจจะรับประทานยาแก้ปวดลดการอักเสบ ใช้ผ้ายืดพันรอบข้อมือ หรือ ใส่เฝือกอ่อนประมาณ 1 สัปดาห์

2. วิธีกดทำให้ก้อนแตก หรือ วิธีเจาะดูดน้ำในก้อนออก

ถ้าก้อนมีขนาดเล็ก ๆ ก็อาจกดให้ก้อนแตกออก แต่ถ้าก้อนมีขนาดใหญ่ก็ควรใช้วิธีใช้เข็มเจาะก้อนแล้วดูดน้ำที่อยู่ภายในก้อนออก อาจจะฉีดยาสเตียรอยด์ร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้ เมื่อก้อนแตกหรือเมื่อดูดน้ำในก้อนออก ก้อนก็ยุบหายไป

แต่วิธีนี้มีโอกาสที่จะเกิดก้อนซ้ำขึ้นมาใหม่ ประมาณ 35 - 70 %

3. วิธีผ่าตัด

แพทย์จะฉีดยาชาเฉพาะที่ แล้วก็เลาะเอาก้อนออก ถ้ามีหลายก้อนก็จะต้องผ่าตัดเอาก้อนออกให้หมด ในกรณีที่ช่องต่อเข้าไปในข้อมือมีขนาดใหญ่ ก็จะต้องตัดเยื่อหุ้มข้อมือบางส่วนออกไปด้วยแล้วเย็บซ่อมช่องที่เชื่อมต่อเข้าไปในข้อ มิฉะนั้นจะทำให้มีโอกาสเป็นซ้ำอีกได้

ถ้ารักษาด้วยวิธีผ่าตัดจะมีโอกาสเป็นซ้ำประมาณ 5 - 15 %

การดูแลหลังผ่าตัด

- หลังผ่าตัดพันผ้าและใส่เฝือกชั่วคราวให้ข้อมืออยู่นิ่ง ๆ ไว้ 10 – 14 วัน

- ยกแขนสูง กำนิ้วมือสลับกับเหยียดนิ้วมือบ่อย ๆ เพื่อลดอาการบวม

- เริ่มทำแผลในวันที่สองหลังการผ่าตัด แล้วทำแผลวันละครั้งจนถึงวันตัดไหม ( ประมาณ 7-10 วันหลังผ่าตัด )
 




 

Create Date : 18 กรกฎาคม 2551   
Last Update : 9 เมษายน 2562 14:12:13 น.   
Counter : 96504 Pageviews.  

ปลอกหุ้มเอ็นนิ้วหัวแม่มืออักเสบ (โรคเดอ เกอร์แวง , De Quervain's Disease)







ปลอกหุ้มเอ็นนิ้วหัวแม่มืออักเสบ
(โรคเดอ เกอร์แวง , De Quervain's Disease)

เป็นกลุ่มอาการที่เกิดจาก การอักเสบของปลอกหุ้มเส้นเอ็นนิ้วหัวแม่มือ บริเวณข้อมือ (โคนนิ้วหัวแม่มือ) ทำให้เกิดอาการบวม อาการปวด และ อาจมีการหนาตัวของเส้นเอ็น ซึ่งยังไม่ทราบสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคนี้

ผู้หญิงพบบ่อยกว่าผู้ชายประมาณ 3 - 5 เท่า มักพบในผู้หญิงช่วงอายุ 30 - 50 ปี

มักพบในคนที่ต้องใช้นิ้วหัวแม่มือบ่อย ๆ ในท่า กางนิ้วหัวแม่มือออกทางด้านข้างและกระดกขึ้น หรือ ในบางรายอาจพบว่าเคยมีการบาดเจ็บในตำแหน่งนี้มาก่อน บางครั้งก็พบได้ในช่วงใกล้คลอด หรือ หลังคลอดบุตร

อาจพบได้ในผู้ที่เป็นโรคบางอย่าง เช่น โรครูมาตอยด์ โรคเกาต์ หรือ เบาหวาน

ผู้ป่วยจะมีอาการปวดและบวมบริเวณข้อมือด้านนิ้วหัวแม่มือ จะปวดมากขึ้นเมื่อมีการเคลื่อนไหวนิ้วหัวแม่มือ เช่น เวลาเหยียดและงอนิ้วหัวแม่มือเต็มที่ บิดเสื้อผ้า ยกขันน้ำ กวาดพื้น อุ้มลูก เป็นต้น

ในผู้ป่วยบางคนอาจคลำได้ก้อนถุงน้ำบริเวณข้อมือด้วย (ก้อนถุงน้ำ บางครั้งอาจจะแข็งคล้ายกระดูก)

แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคนี้ได้จากการซักประวัติ และ การตรวจร่างกาย โดยไม่จำเป็นต้องเอ็กซเรย์



แนวทางรักษา

1. วิธีไม่ผ่าตัด

ผลการรักษาค่อนข้างดี ในผู้ป่วยที่เริ่มเป็น มีโอกาสหายประมาณ 70 – 80 % ซึ่งมีแนวทางรักษาคือ

o หลีกเลี่ยงการทำงานที่ต้องเคลื่อนไหวนิ้วหัวแม่มือ ในท่า กางนิ้วออกหรือ กระดกนิ้วขึ้น

o ถ้าปวดมากอาจใช้ผ้ายืดพัน ใส่อุปกรณ์พยุงนิ้วหัวแม่มือ หรือ ใส่เฝือกชั่วคราว

o ประคบด้วยความร้อน หรือ ใช้ยานวดบรรเทาอาการปวด

o รับประทานยาบรรเทาอาการปวดลดการอักเสบ ยาคลายกล้ามเนื้อ

o ฉีดยาสเตียรอยด์เฉพาะที่ บริเวณจุดที่กดเจ็บมากที่สุด เพื่อลดอาการอักเสบของเส้นเอ็น

ผู้ป่วยมักมีอาการดีขึ้นชั่วคราว (ประมาณ 3 - 6 เดือน) อาจกลับมาเป็นซ้ำได้

ถ้าฉีดยาครั้งแรกแล้วอาการไม่ดีขึ้น อาจจะฉีดซ้ำได้อีก 1-2 ครั้ง แล้วถ้าอาการยังไม่ดีขึ้นก็ควรรักษาด้วยการผ่าตัดจะได้ผลดีกว่าที่จะฉีดยาซ้ำ เพราะการฉีดยาซ้ำบ่อย ๆ นอกจากอาการมักจะไม่ค่อยดีขึ้นแล้ว ยังอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนมากขึ้น เช่น เส้นเอ็นขาด หรือ ผิวหนังมีรอยด่างขาว เป็นต้น


2. วิธีผ่าตัด

ผลของการรักษาด้วยวิธีผ่าตัด ได้ผลค่อนข้างดี แต่ถ้ายังไม่จำเป็นก็ไม่ควรจะผ่าตัด

o ข้อบ่งชี้สำหรับการผ่าตัด เช่น มีอาการปวดมาก ฉีดยาสเตียรอยด์ 2 ครั้งใน 1 เดือน แต่อาการไม่ดีขึ้น เป็นต้น

o วิธีผ่าตัด แพทย์จะฉีดยาชาเฉพาะที่ ใช้ยางยืดรัดแขนเพื่อห้ามเลือดแล้วทาน้ำยาฆ่าเชื้อ เมื่อเสร็จแล้วจึงใช้ ผ้าสะอาดคลุมบริเวณข้อมือ ใช้มีดกรีดแยกเยื่อหุ้มเอ็นที่บีบรัดเส้นเอ็นอยู่ให้แยกจากกัน หลังจากนั้นก็จะเย็บแผล ใช้เวลาผ่าตัดประมาณ 10 – 15 นาที ก็กลับบ้านได้ โดยไม่จำเป็นต้องพักในโรงพยาบาล

o หลังผ่าตัดทำแผลวันละครั้ง ตัดไหมหลังผ่าตัด 7-10 วัน แพทย์จะนัดมาตรวจทุก 1 – 2 สัปดาห์ในระยะแรก

o ภาวะแทรกซ้อน ที่พบได้ เช่น

มีอาการเจ็บบริเวณผ่าตัด หรือ กลับมาเป็นซ้ำ เนื่องจากมีพังผืดเกิดขึ้นมาใหม่หลังผ่าตัด

เกิดแผลเป็นแบบนูน ( คีลอยด์ )

มีโอกาสเกิดอันตรายต่อเส้นประสาทที่มาเลี้ยงผิวหนัง ทำให้มีอาการชา หรือ ปวดแสบปวดร้อน

เส้นเอ็นบริเวณโคนนิ้วหัวแม่มือ ( ข้อมือ) นูนขึ้นเวลากระดกนิ้วหัวแม่มือ





อาการปวดกล้ามเนื้อ ปัญหาสุขภาพจากการใช้ Smartphone ... โดยภัทริยา อินทร์โท่โล่ และคณะ //www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=17-04-2017&group=5&gblog=51

ออฟฟิศซินโดรม (office syndrome) .. นำมาฝาก //www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=17-08-2017&group=5&gblog=53

ปวดคอ //www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=26-06-2008&group=5&gblog=26

ปวดไหล่ //www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=26-06-2008&group=5&gblog=25

ปวดหลัง //www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=13-06-2008&group=5&gblog=18

เส้นเอ็นอักเสบแบบนิ้วไกปืน (โรคทริกเกอร์ฟิงเกอร์ ,TriggerFinger) //www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=16-07-2008&group=5&gblog=29

กลุ่มอาการ เส้นประสาทถูกกดทับที่ข้อมือ(ผังผืดทับเส้นประสาท) //www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=15-07-2008&group=5&gblog=28

ปลอกหุ้มเอ็นนิ้วหัวแม่มืออักเสบ (โรคเดอเกอร์แวง , De Quervain'sDisease) //www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=16-07-2008&group=5&gblog=30

เส้นเอ็นข้อศอกอักเสบ //www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=22-07-2008&group=5&gblog=32





 

Create Date : 16 กรกฎาคม 2551   
Last Update : 17 สิงหาคม 2560 23:40:10 น.   
Counter : 56369 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  

หมอหมู
Location :
กำแพงเพชร Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 762 คน [?]




ผมเป็น ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ หรือ อาจเรียกว่า หมอกระดูกและข้อ หมอกระดูก หมอข้อ หมอออร์โธ หมอผ่าตัดกระดูก ฯลฯ สะดวกจะเรียกแบบไหน ก็ได้ครับ

ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ เป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาหนึ่ง ซึ่งเมื่อเรียนจบแพทย์ทั่วไป 6 ปี ( เรียกว่า แพทย์ทั่วไป ) แล้ว ก็ต้องเรียนต่อเฉพาะทาง ออร์โธปิดิกส์ อีก 4 ปี เมื่อสอบผ่านแล้วจึงจะถือว่าเป็น แพทย์ออร์โธปิดิกส์ โดยสมบูรณ์ ( รวมเวลาเรียนก็ ๑๐ ปี นานเหมือนกันนะครับ )

หน้าที่ของหมอกระดูกและข้อ จะเกี่ยวข้องกับความเจ็บป่วย ของ กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูก ข้อ และ เส้นประสาท โรคที่พบได้บ่อย ๆ เช่น กระดูกหัก ข้อเคล็ด กล้ามเนื้อฉีกขาด กระดูกสันหลังเสื่อม ข้อเข่าเสื่อม กระดูกพรุน เป็นต้น

สำหรับกระดูกก็จะเกี่ยวข้องกับกระดูกต้นคอ กระดูกสันหลัง กระดูกเชิงกราน กระดูกข้อไหล่ จนถึงปลายนิ้วมือ กระดูกข้อสะโพกจนถึงปลายนิ้วเท้า ( ถ้าเป็นกระดูกศีรษะ กระดูกหน้า และ กระดูกทรวงอก จะเป็นหน้าที่ของศัลยแพทย์ทั่วไป )

นอกจากรักษาด้วยการให้คำแนะนำ และ ยา แล้วยังรักษาด้วย วิธีผ่าตัด รวมไปถึง การทำกายภาพบำบัด บริหารกล้ามเนื้อ อีกด้วย นะครับ

ตอนนี้ผม ลาออกจากราชการ มาเปิด คลินิกส่วนตัว อยู่ที่ จังหวัดกำแพงเพชร .. ใช้เวลาว่าง มาเป็นหมอทางเนต ตอบปัญหาสุขภาพ และ เขียนบทความลงเวบ บ้าง ถ้ามีอะไรที่อยากจะแนะนำ หรือ อยากจะปรึกษา สอบถาม ก็ยินดี ครับ

นพ. พนมกร ดิษฐสุวรรณ์ ( หมอหมู )

ปล.

ถ้าอยากจะถามปัญหาสุขภาพ แนะนำตั้งกระทู้ถามที่ .. เวบไทยคลินิก ... ห้องสวนลุม พันทิบ ... เวบราชวิทยาลัยออร์โธปิดิกส์ หรือ ทางอีเมล์ ... phanomgon@yahoo.com

ไม่แนะนำ ให้ถามที่หน้าบล๊อก เพราะอาจไม่เห็น นะครับ ..




New Comments
[Add หมอหมู's blog to your web]