Ortho knowledge for all @ Do no harm patient and myself @ สุขภาพดี ไม่มีขาย ถ้าอยากได้ ต้องสร้างเอง

ข้อเข่าเสื่อม ( OA knee , Osteoarthritis knee )

 

เครดิต ภาพ https://med.mahidol.ac.th/ramachannel/home/article/6-อาการควรรู้--ข้อเข้าเสื/

 
ข้อเข่าเสื่อม

ข้อเข่าเสื่อม ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด อาจเกิดจาก อายุที่มากขึ้น (มักพบในผู้ที่อายุ 40 ปีขึ้นไป) น้ำหนักตัวมาก พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายถึง 3 เท่า และ จากการใช้ข้อไม่เหมาะสม สาเหตุอื่น ๆ เช่น อุบัติเหตุ การติดเชื้อในข้อ เป็นต้น

เมื่อเกิดข้อเสื่อม จะเกิดการเปลี่ยนแปลงหลาย ๆ อย่าง ภายในข้อ เช่น กระดูกอ่อนผิวข้อบางลง และ ผิวไม่เรียบ มีกระดูกงอกบริเวณขอบ ๆ ข้อ และ เกิดการสูญเสียคุณสมบัติของน้ำไขข้อ ปริมาณมากขึ้น แต่ความยืดหยุ่นลดลง

อาการและอาการแสดงของโรคข้อเข่าเสื่อม อาจพบอาการเพียงอาการเดียว หรือ หลายอาการพร้อมกันก็ได้ ในระยะแรกมักจะเป็นไม่มาก และ เป็น ๆ หาย ๆ แต่เมื่อข้อเสื่อมมากขึ้น ก็จะมีอาการบ่อยมากขึ้น หรือ เป็นตลอดเวลา

• ปวดข้อเข่า รู้สึกเมื่อย ตึงที่ ต้นขา น่อง และ ข้อพับเข่า ผิวหนังบริเวณข้อ อุ่นหรือ ร้อนขึ้น

• ข้อขัด ข้อฝืด เหยียด-งอเข่าได้ไม่สุด มีเสียงดังในข้อเวลาขยับข้อเข่า จากการเสียดสีกันของผิวข้อที่ไม่เรียบ

• ข้อเข่าบวม เพราะน้ำไขข้อมากขึ้นจากการอักเสบ หรือ มีก้อนถุงน้ำในข้อพับเข่า ( เบเคอร์ ซีสต์ , Baker’s Cyst ) จากเยื่อบุข้อเข่าโป่งออก

• เข่าคดเข้า เข่าโก่งออก หรือ มีกระดูกงอก ทำให้ข้อผิดรูปร่าง กล้ามเนื้อรอบข้อลีบเล็กลง


เอกซเรย์ อาจพบสิ่งผิดปกติ เช่น ช่องของข้อเข่าแคบลง กระดูกงอก (ในผู้สูงอายุปกติ ที่ไม่มีอาการก็พบได้ )

ความผิดปกติทางเอกซเรย์ ไม่สัมพันธ์กับอาการปวด บางคนเอกซเรย์พบว่าข้อเสื่อมมากแต่กลับไม่ค่อยปวด โดยทั่วไปแล้ว แพทย์สามารถวินิจฉัยว่าเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมได้โดยไม่จำเป็นต้องเอกซเรย์ ยกเว้นผู้ที่จะรักษาด้วยการผ่าตัด หรือ ผู้ที่รักษาแล้วอาการไม่ดีขึ้น
 


แนวทางรักษา มีอยู่หลายวิธี เช่น

• ควบคุมน้ำหนักตัวให้เหมาะสม เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน เพื่อหลีกเลี่ยงการงอเข่ามากเกินไป

• กายภาพบำบัด บริหารกล้ามเนื้อ อาจใช้ ผ้ารัดเข่า เฝือกอ่อนพยุงเข่า (แต่ถ้าใช้นาน ๆ จะทำให้กล้ามเนื้อลีบ)

• ยาบรรเทาอาการ เช่น ยาแก้ปวดลดการอักเสบที่มิใช่สเตียรอยด์ ยาคลายกล้ามเนื้อ แต่ไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานเพราะจะทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น แผลในกระเพาะอาหาร ไตวาย ความดันโลหิตสูง เป็นต้น

• ยากระตุ้นการสร้างกระดูกอ่อนผิวข้อ (ปกติ กระดูกอ่อนผิวข้อจะไม่สร้างขึ้นใหม่) หรือ ยาชะลอความเสื่อม

• ฉีดน้ำไขข้อเทียม ซึ่งจะช่วยให้อาการดีขึ้นเฉลี่ย 6 เดือน – 1 ปี แต่มีราคาค่อนข้างสูง (13,000-16,000 บาท)

• การผ่าตัด เช่น ผ่าตัดจัดแนวกระดูกใหม่เพื่อลดเข่าโก่ง ส่องกล้องเข้าไปในข้อ หรือ ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม

วิธีผ่าตัดถือว่าเป็นทางเลือกสุดท้าย จะใช้ในผู้ที่มีอาการมาก และรักษาด้วยวิธีอื่นแล้วไม่ได้ผล เท่านั้น


การฉีดยาสเตียรอยด์เข้าข้อ หรือ เจาะข้อเพื่อดูดน้ำไขข้อออก จะทำให้อาการปวดดีขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่เมื่อผ่านไป 1-2 เดือน ก็จะกลับมาเป็นอีก และมีผลข้างเคียง เช่น กระดูกอ่อนผิวข้อบางลง ทำให้ข้อเสื่อมเร็วขึ้น กระดูกพรุน กล้ามเนื้อลีบ หรือ ติดเชื้อในข้อ จึงถือว่าเป็นเพียงแค่บรรเทาอาการชั่วคราวเท่านั้น

ถ้าไม่จำเป็นจริง ๆ ก็ไม่ควรฉีดยาสเตียรอยด์เข้าข้อ หรือ เจาะดูดน้ำไขข้อออก แต่ถ้าจำเป็นต้องฉีดยาสเตียรอยด์ หรือ เจาะข้อ ก็ต้องป้องกันการติดเชื้อขณะฉีดอย่างดี (ต้องใช้ผ้าปลอดเชื้อคลุมบริเวณที่ฉีด) และ ไม่ควรฉีดมากกว่าปีละ 2-3 ครั้ง หลังจากฉีดยาสเตียรอยด์เข้าข้อ ต้องลดการใช้งานข้อข้างที่ฉีด ประมาณ 1-2 อาทิตย์ และใช้ผ้าพันรัดเข่าไว้ด้วย
 

ข้อแนะนำในการดูแลรักษาด้วยตนเอง

1. ลดน้ำหนัก เพราะเมื่อเดินจะมีแรงกดลงที่เข่าประมาณ 5 เท่าของน้ำหนักตัว แต่ถ้า วิ่ง จะมีแรงกดลงที่เข่า เพิ่มขึ้นเป็น 7 – 10 เท่าของน้ำหนักตัว ( การถีบจักรยาน เข่าจะรับแรงกดเพียง 1.5 เท่าของน้ำหนักตัวเท่านั้น )

ดังนั้น ถ้าลดน้ำหนักตัวได้ เข่าก็จะรับแรงกดน้อยลง ทำให้เข่าเสื่อมช้าลงและอาการปวดก็จะลดลงด้วย

2. ท่านั่ง ควรนั่งบนเก้าอี้สูงระดับเข่า ซึ่งเมื่อนั่งห้อยขาแล้วฝ่าเท้าจะวางราบกับพื้นพอดี

ไม่ควร นั่งพับเพียบ นั่งขัดสมาธิ นั่งคุกเข่า นั่งยอง ๆ หรือ นั่งราบบนพื้น เพราะจะทำให้ผิวข้อเข่าเสื่อมเร็วมากขึ้น

3. เวลาเข้าห้องน้ำ ควรนั่งถ่ายบนโถนั่งชักโครก หรือ นั่งบนเก้าอี้สามขาที่มี รู ตรงกลาง วางไว้เหนือคอห่าน

ควรทำที่จับยึดบริเวณด้านข้างโถนั่ง เพื่อใช้จับพยุงตัวเวลาจะลงนั่งหรือจะลุกขึ้นยืน

ไม่ควรนั่งยอง ๆ เพราะผิวข้อเข่าเสียดสีกันมาก และเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงขาถูกกดทับ ทำให้เลือดไปเลี้ยงขาได้ไม่ดี

4. นอนบนเตียง ซึ่งมีความสูงระดับเข่า เมื่อนั่งห้อยขาที่ขอบเตียงแล้วฝ่าเท้าจะแตะพื้นพอดี

ไม่ควรนอนราบบนพื้นเพราะต้องงอเข่าเวลาจะนอนหรือจะลุกขึ้น ทำให้ผิวข้อเสียดสีกันมากขึ้น ข้อก็จะเสื่อมเร็วขึ้น

5. หลีกเลี่ยงการขึ้นลงบันได ขณะขึ้นลงบันได จะมีแรงกดที่เข่าประมาณ 3 เท่าของน้ำหนักตัว

6. หลีกเลี่ยงการยืนหรือนั่งในท่าเดียวนาน ๆ ถ้าจำเป็นก็ให้ขยับเปลี่ยนท่า หรือ เหยียด-งอข้อเข่า บ่อย ๆ

7. การยืน ควรยืนตรง ขากางออกเล็กน้อย ให้น้ำหนักตัวลงบนขาทั้งสองข้างเท่า ๆ กัน

ไม่ควร ยืนเอียงลงน้ำหนักตัวบนขาข้างใดข้างหนึ่ง เพราะจะทำให้เข่าที่รับน้ำหนักมากกว่าเกิดอาการปวดได้

8. การเดิน ควรเดินบนพื้นราบ ไม่ควร เดินบนพื้นที่ไม่เสมอกัน เช่น บันได ทางลาดเอียงที่ชันมาก หรือ ทางเดินที่ขรุขระ เพราะทำให้น้ำหนักตัวที่ลงไปที่เข่าเพิ่มมากขึ้น และ อาจจะเกิดอุบัติเหตุหกล้มได้ง่าย
ควรใส่รองเท้าแบบมีส้นเตี้ย (สูงไม่เกิน 1 นิ้ว) หรือ ไม่มีส้นรองเท้า พื้นรองเท้านุ่มพอสมควร และ มีขนาดกระชับพอดี

9. ใช้ไม้เท้า โดยเฉพาะ ผู้ที่ปวดมากหรือข้อเข่าโก่งผิดรูป เพื่อช่วยรับน้ำหนัก และ ช่วยพยุงตัวเมื่อจะล้ม

วิธีถือไม้เท้า ในผู้ที่ปวดเข่ามากข้างเดียว ให้ถือในด้านตรงข้ามกับเข่าที่ปวด แต่ถ้าปวดทั้งสองข้างให้ถือในข้างที่ถนัด

10. บริหารกล้ามเนื้อรอบข้อเข่า ให้แข็งแรง ซึ่งจะช่วยลดอาการปวด ทำให้ข้อเคลื่อนไหวและการทรงตัวดีขึ้น

11. การออกกำลังกายวิธีอื่น

ควรออกกำลังกายที่ไม่ต้องลงน้ำหนักมากนัก เช่น ว่ายน้ำ ขี่จักรยาน เดินเร็ว ๆ วิ่งเหยาะ ๆ เป็นต้น

ไม่ควร ออกกำลังกายที่ต้องมีการลงน้ำหนักที่เข่าเพิ่มขึ้น เช่น วิ่งเร็ว ๆ เต้นแอโรบิก ฟุตบอล เทนนิส แบดมินตัน บาสเกตบอล เพราะอาจทำให้กล้ามเนื้อและเส้นเอ็นรอบข้อเข่าเกิดการฉีกขาดได้และมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุหกล้มได้

12. ถ้ามีอาการปวด ให้พักการใช้ข้อเข่า และ ประคบด้วยความเย็น/ความร้อน หรือ ใช้ยานวดร่วมด้วยก็ได้


ปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมให้หายขาดได้

จุดมุ่งหมายในการรักษาทุกวิธีคือ เพื่อลดอาการปวด ทำให้ข้อเคลื่อนไหวดีขึ้น ป้องกันหรือแก้ไขข้อที่ผิดรูป เพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีตามสมควร

จึงถือว่าแนวทางรักษาข้างต้นเป็นเพียงการรักษาปลายเหตุ เพื่อบรรเทาอาการเท่านั้น และ ยังมีข้อจำกัดในการรักษาอีกด้วย เช่น การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า ถึงแม้ว่าปัจจุบันจะสามารถใช้งานได้ใกล้เคียงกับธรรมชาติ และ บรรเทาอาการปวดได้ดี แต่ก็มีอายุใช้งานได้นานแค่ 10 -15 ปี เป็นต้น




 
 









เพิ่มเติม ..

ข้อเข่าเสื่อม

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=29-05-2008&group=5&gblog=15

วิธีบริหารเข่า

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=25-07-2008&group=11&gblog=5

น้ำไขข้อเทียม

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=29-05-2008&group=5&gblog=16

ปวดเข่า....ส่องกล้องข้อเข่า ... kneearthroscopy

https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=15-01-2009&group=5&gblog=42

แนวปฏิบัติบริการดูแลรักษา ข้อเข่าเสื่อม พศ. ๒๕๕๓ ของราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์

https://www.mediafire.com/?q6jqyvyci46b51s

คำชี้แจงจากราชวิทยาลัยออร์โธฯ เกี่ยวกับยารักษาข้อเข่าเสื่อม..(ที่กรมบัญชีกลางสั่งห้ามเบิก)

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=08-04-2011&group=7&gblog=132

คำชี้แจงจากราชวิทยาลัยออร์โธฯเกี่ยวกับยารักษาข้อเข่าเสื่อม(ที่กรมบัญชีกลางสั่งห้ามเบิก)..( ต่อ )

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=21-04-2011&group=7&gblog=134

คำชี้แจงจากราชวิทยาลัยออร์โธฯ เกี่ยวกับยารักษาข้อเข่าเสื่อม(ที่กรมบัญชีกลางสั่งห้ามเบิก)..(จบ?)

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=22-07-2011&group=7&gblog=146

 

ข้อเข่าเทียม

https://www.thaijoints.com/ข้อเข่าเทียม

การดูแลตนเองเมื่อใส่ข้อเข่าเทียม(Selfcare after knee replacement)

https://haamor.com/th/การดูแลตนเองเมื่อใส่ข้อเข่าเทียม/

คำแนะนำสำหรับผู้ป่วยผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมโดย รศ.นพ.ณัฐพล ธรรมโชติ

https://thaiknee.com/home/wp-content/uploads/2013/09/คำแนะนำเรื่องโรคข้อเข่า.pdf

การผ่าตัดแก้ไข"ขาโก่ง"หรือ "ข้อเข่าโก่ง(เสื่อม)" ตอนที่ 1-3

https://www.bangkokhealth.com/index.php/health/health-system/bone/2170--qq--qq--1.html

https://www.bangkokhealth.com/index.php/health/health-system/bone/2171-2.html

https://www.bangkokhealth.com/index.php/health/health-system/bone/2172-qq-qq-3.html

การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม(TotalKnee Replacement) | Bangkok Hospital

https://www.bangkokhospital.com/index.php/th/diseases-treatment/total-knee-replacement

เตรียมร่างกายให้พร้อมสำหรับการผ่าตัด...ข้อเข่าเทียม

https://www3.siphhospital.com/th/news/article/share/191

ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมทางเลือกที่ต้องเลือกจริงหรือ?

https://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=710

การผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียม

https://www.jointdee.info/knee/การผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อ/

วิธีปฏิบัติตนภายหลังการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม

https://www.samitivejhospitals.com/th/วิธีปฏิบัติตนภายหลังกา/

คนเคยป่วย ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม(12-17 ก.ค. 57)

https://mynametai.wordpress.com/2014/07/21/คนเคยป่วย-ผ่าตัดเปลี่ย/




 

 

ในคนที่ ข้อเข่าปกติ .. การวิ่ง หรือ การออกกำลังกาย ไม่ทำให้เกิด เข่าเสื่อมมากขึ้น  (ยกเวันในกรณีเกิดอุบัติเหตุ)
แต่ในคนที่ มีปัญหาเรื่องเข่า (เส้นเอ็นขาด เข่าเสื่อม) ... การวิ่ง หรือ การออกกำลังกาย "อาจ" ทำให้ เข่าเสื่อม มากขึ้น

..................

วิ่งไม่ได้ทำให้ข้อเสื่อม...ผู้เขียนนพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์

https://health2u.exteen.com/20090924/entry-1

 

วิ่งทำให้ข้อเสื่อมจริงหรือ?....ผู้เขียน นพ.กฤษฎา บานชื่น

https://www.doctor.or.th/article/detail/5585

 

 

WhyRunners Don’t Get Knee Arthritis

https://well.blogs.nytimes.com/2013/09/25/why-runners-dont-get-knee-arthritis/?emc=edit_tnt_20130925&tntemail0=y&_r=4

 

Effectsof running and walking on osteoarthritis and hip replacement risk.

https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/23377837

 

WhyDon't Most Runners Get Knee Osteoarthritis? A Case for Per-Unit-Distance Loads.

https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/24042311


:::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::
 
 
บทบาทของแพทย์ออร์โธปิดิกส์กับการรักษาข้อเสื่อมระยะต้น
พ.ต.อ.น.พ.ธนา ธุระเจน

 ข้อเสื่อม โรคที่ทำให้เกิดการเสียหายของกระดูกอ่อนในข้อต่าง ๆ นำไปสู่การที่มีอาการปวดข้อและข้อติดงอ ข้อที่พบบ่อย ๆ ที่มีอาการได้แก่ ข้อเข่า ข้อสะโพก กระดูกสันหลัง ในประเทศอเมริกาพบว่า มีคนเป็นถึง 16 ล้านคน ในช่วงอายุต่ำกว่า 45 ปี อุบัติการณ์ที่พบในผู้ชายเท่ากับผู้หญิง แต่ถ้าช่วงอายุมากกว่า 45 ปี อุบัติการณ์ที่พบในผู้ชายจะน้อยกว่าผู้หญิง กระดูกอ่อนทำหน้าที่ที่สำคัญ คือ ทำให้การเคลื่อนไหวได้อย่างถูกต้อง เรียบตามจังหวะของการเคลื่อนไหว และทำหน้าที่เป็นตัวที่กระจายแรงที่กระทำต่อข้อให้ไม่มากจนเกินไปนัก
       สาเหตุของข้อเสื่อมมีได้หลายสาเหตุ ได้แก่ ปัจจัยทางชีวภาพ ปัจจัยทางชีกลศาสตร์ กรรมพันธุ์ การมีน้ำหนักเกินกว่ามาตรฐาน อุบัติเหตุการใช้อย่างไม่เหมาะสม การเปลี่ยนแปลงของกระดูกอ่อนจะเริ่มนิ่มกว่าปกติ มีการแตกเป็นร่อง ทำให้ความสามารถในการยืดหยุ่นและกระจายน้ำหนักเสียไป กระดูกอ่อนมีการแตกมากขึ้น มีการเสียดสีของกระดูก กระดูกจะเสียรูปร่างและมีอาการผิดรูปได้แก่ ขาโก่ง เอ็นยึดข้อต่าง ๆ จะเสียไป เมื่อมีการเสื่อมและแตกเป็นร่องของกระดูก ทำให้น้ำในข้อเข่าลดลง และซึมเข้าไปในกระดูกและเกิดเป็นถุงน้ำในกระดูก ( Cyst )
       สาเหตุทั้งหมดนี้จะทำให้อาการปวดเวลามีการเคลื่อนไหวของข้อนั้น ๆ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือในระยะแรกอาจจะมีอาการเจ็บ หรือขัด ๆ เล็กน้อยเวลาเดิน ต่อมาจะมีอาการปวด เดินไม่ได้ เดินขึ้นบันไดลำบาก ขาโก่งผิดรูป ขยับเขยื้อนได้น้อยลง โดยธรรมชาติถ้าข้อมีอาการปวดจะพักโดยการลดการเคลื่อนไหว ซึ่งทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง การทรงตัวเสียไป การวินิจฉัย ได้แก่การตรวจร่างกาย และภาพถ่ายทางรังสีวิทยา ซึ่งสามารถให้การวินิจฉัยได้โดยไม่ยากนักโปรแกรมการรักษาที่ดีจะต้องลดอาการปวดข้อนั้น ให้ข้อที่ติดมีการเคลื่อนไหวได้ใกล้เคียงของเดิมเพื่อจะทำให้การกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างมีความสุข ได้แก่ การให้ความรู้เกี่ยวกับการดำเนินโรค, การรับประทานยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่ สเตียรอยด์ ( N-SAIDS) เพื่อลดการอักเสบและอาการปวด แต่ผลข้างเคียงที่พบบ่อย ๆ ได้แก่ อาการปวดท้องจากกระเพาะอาหารอักเสบ การฉีดยาเข้าข้อในปัจจุบันมียาสองประเภทที่รักษาในปัจจุบัน ได้แก่ ประเภทแรก สเตียรอยด์
       ข้อบ่งชี้คือ การใช้ในระยะการอักเสบเฉียบพลัน ลดอาการปวด ประเภทที่สอง น้ำข้อเข่าเทียม ใส่ไปในข้อ โดยที่ถ้ากระดูกอ่อนไม่มีการสูญเสียจากข้อเข่าเสื่อม ก็จะได้ผลในแง่การลดอาการปวดเพื่อให้มีโอกาสที่สามารถบริหารกล้ามเนื้อให้แข็งแรงได้ โดยเฉลี่ยก็ประมาณสามถึงหกเดือนแต่ถ้ากระดูกเหลือน้อยมากหรือเกิดการเสื่อมทั้งหมด การใส่ยาอาจไม่สามารถรักษาอาการเหล่านี้ได้ แต่อาจจะพิจารณาในกรณีที่รักษาอาการชั่วคราว เพื่อบรรเทาอาการปวดเพื่อรอการผ่าตัด
       การควบคุมน้ำหนัก นอกจากจะทำให้อาการปวดลดลงแล้วยังทำให้รูปร่างดูดี และรู้สึกแข็งแรงขึ้น การทำกายภาพบำบัด การออกกำลังกายที่เหมาะสม โดยการเดินออกกำลังกาย การออกกำลังกายแอโรบิกทำให้อาการปวดลดลง ข้อขยับได้มากขึ้น รวมทั้งกล้ามเนื้อแข็งแรงมากขึ้น ในกรณีที่ไม่สามารถรับประทานยาได้ หรือรับประทานยา ทำกายภาพบำบัดอาการไม่ดีขึ้น ด้วยวิทยาการสมัยใหม่ มีการรักษาทางออร์โธปิดิกส์ดังต่อไปนี้

การรักษาโดยการผ่าตัดผ่านกล้อง
       เป็นการรักษาที่ผ่าตัดผ่านกล้องวีดีโอทัศน์ขนาดเล็ก ประมาณ 4.5 มิลลิเมตร หรือขนาดเท่าปลายดินสอ ใส่เข้าไปในข้อที่เสื่อม ทำให้เห็นพยาธิสภาพของข้อเข่าที่เสื่อมได้อย่างชัดเจน เป็นประโยชน์ในการวินิจฉัยและวางแผนรักษา เราจะพิจารณาให้การรักษาแบบผ่าตัดผ่านกล้องในกรณีข้อเสื่อมที่มีภาวะร่วมกับเศษกระดูกที่แตกลอยอยู่ในข้อเข่า หมอนรองกระดูกในข้อเข่าที่เสื่อมและมีการฉีกขาด มีพังผืดรัดที่กระดูกอ่อน (plica)การมีลูกสะบ้าที่เอียงกดกระดูกอ่อนทางด้านนอก (lateral compression syndrome) การมีผู้ป่วยที่มีข้อเสื่อมมากที่มีภาวะซึ่งไม่สามารถรักษาด้วยการจัดกระดูก หรือทำข้อเทียมได้ เพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวด
       การรักษาด้วยการส่องกล้องเพื่อการปลูกกระดูกอ่อน arthroscopic debirdement mesenchymal cell stimulation technique โดยการใช้กล้องผ่าตัดตามปกติ เพื่อดูพื้นที่ของการเสื่อมมากน้อยเพียงใด ในกรณีที่ไม่มีการสูญเสียไม่มากนัก การรักษาโดยการใช้เข็มเล็ก ๆ ขนาดประมาณ 2 x 2 มม. ทำให้เป็นรูเล็ก ๆ ห่างกันประมาณ 2 – 4 มม. ในพื้นที่ที่กระดูกเสื่อม เพื่อเป็นการกระตุ้นกระดูกอ่อนให้ขึ้นมาใหม่ โดยปกติ กระดูกอ่อนของเราเป็นลักษณะ hyaline cartilage แต่ส่วนกระดูกที่ขึ้นใหม่ จะมีลักษณะของ fibro cartilage ซึ่งอาจจะไม่แข็งแรงเท่าเดิม แต่อาจจะใช้ได้ การรักษาวิธีนี้ควรพิจารณาในกรณีกระดูกเสื่อมไม่เกิน 2 – 4 ตารางเซติเมตร มีการโก่งงอของเข่าไม่เกิน 5-10 องศา เป็นกระดูกเสื่อมเฉพาะส่วนเท่านั้น ไม่มีการเสื่อมทั่วไปที่เรียกว่า tricompartmental knee
       ในปัจจุบันเพื่อเป็นการเพิ่มความสามารถในการเจริญเติบโตของกระดูกอ่อนชนิด fibro cartilage ที่จะงอกใหม่ โดยมีการทำวิจัยเพื่อใช้น้ำเลี้ยงข้อเข่าเทียม เสริมเข้าไปทันทีหลังจากการรักษาด้วยกล้อง โดยเชื่อว่าสารนี้ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของเนื้อเยื่อกระดูกอ่อน จะเข้าไปกระตุ้นการสร้างโปรติโอไกลแคนอื่น ๆ ที่เป็นส่วนประกอบสำคัญของกระดูกอ่อน ทำให้การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งได้เริ่มใช้แพร่หลายในประเทศทางยุโรป อย่างไรก็ตาม การติดตามผลการรักษาวิจัยทางการแพทย์ จะทำให้ช่วยทราบผลการรักษาที่ได้ผลที่เหมาะสมต่อไป

การตัดกระดูก ในกรณีที่กระดูกเสื่อมเฉพาะด้านใน
(Medial compartment)
        จุดประสงค์คือการจัดกระดูกให้อยู่ในแนวการรับน้ำหนักที่ถูกต้องเพื่อแก้ไขความผิดรูปและการลงน้ำหนักที่ดีขึ้น เข่าที่เสื่อมมากจะมีลักษณะโค้งงอ ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นปัญหาของการเดินเท่านั้น ยังทำให้กระดูกอ่อนของเราเสื่อมมากขึ้น การจัดกระดูกให้อยู่ในแนวที่ถูกต้องจึงไม่เป็นเพียงแต่การรักษาเท่านั้น ยังเป็นการป้องกันข้อเข่าไม่ให้เสื่อมต่อไปด้วย อย่างไรก็ตามข้อบ่งชี้ได้แก่ ลักษณะขาโก่งไม่เกิน 15 องศา มีการเสื่อมเฉพาะด้านในของข้อเข่า ไม่มีลักษณะของกระดูกบาง หรือเหยียดไม่สุด อายุส่วนใหญ่น้อยกว่า 55 ปี ( หรืออาจมากว่าก็ได้ ขึ้นกับการวินิจฉัยของแพทย์ ) การลดน้ำหนักจะใช้เวลาประมาณ 3- 6 เดือน เพื่อจะลงน้ำหนักได้เต็มที่โดยไม่ต้องใช้ไม้เท้า ผลการรักษาสามารถลดอาการปวดได้ประมาณร้อยละ 50-80 ขึ้นกับประมาณการเสื่อมมากหรือน้อย น้ำหนักตัว ลักษณะกระดูกที่โก่ง ภาวะกระดูกบางที่ร่วมด้วย
       การจะรักษาอย่างไรนั้นขึ้นอยู่กับอาการของโรคนั้นอยู่ในระยะใด อาการของข้อเสื่อม อายุ น้ำหนักงานที่ทำการกิจวัตรประจำวันการจะทำให้การรักษามีประสิทธิภาพนั้น ท่านควรจะมีความรู้ความเข้าใจเรื่องโรคข้อเสื่อม ผลแทรกซ้อนของยาที่ใช้ ปริมาณยาที่ใช้ การรักษาชนิดต่าง ๆ การรักษาอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง

บทบาทของแพทย์ออร์โธปิดิกส์ กับการรักษาข้อเสื่อมระยะปลาย
       ถ้าเรามีโอกาสถามว่าอะไรเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้คนอายุยืนอย่างมีความสุข จากการสำรวจพบว่าความต้องการในอันดับต้นได้แก่ สามารถอยู่ได้ด้วยตัวเอง ช่วยเหลือตัวเองได้ ไปไหนมาไหนได้ ทำอะไรที่อยากทำได้ พื้นฐานของสิ่งเหล่านี้คือ การมีข้อและกล้ามเนื้อที่แข็งแรง สิ่งเหล่านี้เป็นอุปสรรคในกรณีที่มีข้อเสื่อมในระยะท้าย ๆ ถ้าการรับประทานยา ฉีดยาหรือทำกายภาพบำบัดไม่ได้ผล เพราะคนที่อายุยืน ถ้าไม่มีการเคลื่อนไหว จะทำให้กล้ามเนื้ออ่อนตัวลง เพิ่มอุบัติการณ์ของการล้ม อาจทำให้กระดูกหักตามมา และผลต่อเนื่องจากภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ด้วยเหตุผลเหล่านี้แพทย์ออร์โธปิดิกส์ ( แพทย์โรคกระดูกและข้อ ) เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางศัลยกรรมกระดูกและข้อเป็นผู้ให้คำแนะนำการรักษาอย่างถูกต้องที่มีประสิทธิภาพการรักษาได้แก่ การรักษาโดยการทำข้อเข่าเทียม การรักษาที่ว่านี้ไม่ใช้การตัดข้ออกจากร่างกายแต่เป็นทดแทน กระดูกอ่อนส่วนที่เสียไปด้วยกระดูกอ่อนเทียม ที่ทำจากวัสดุพิเศษ โดยการทดแทนกระดูกอ่อนที่เสียไปนั้นขึ้นกับว่า มีการเสียกระดูกในส่วนใด ก็จะทดแทนส่วนนั้น เพื่อความเข้าใจ ในการรักษาด้วยวิธีดังกล่าว เราแบ่งการผ่าตัดข้อเทียมในปัจจุบันเป็น

ประเภทแรก การผ่าตัดข้อเทียมเฉพาะส่วน (unicompartment knee arthroplasty) เราพิจารณาใช้ในกรณีที่อายุมากกว่า 55 ปี (หรืออาจจะต่ำกว่านี้ ถ้ามีความเสื่อมของกระดูกที่สามารถรักษาวิธีนี้ได้) มีการเสื่อมเฉพาะด้านในของข้อเท่านั้น medial compartment เอ็นในข้อเข่าปกติไม่มีการขาด ข้อดีคือ วัสดุที่ใช้ราคาถูกลง แผลเล็กลง เดินลงน้ำหนักได้ภายในหนึ่งถึง สองวัน ตามวารสารทางการแพทย์ อายุใช้งานได้ประมาณ 8-10 ปี ข้อห้ามในการผ่าตัดมีการเลื่อมทั่วไปมากกว่า หนึ่งส่วน อาทิเช่นมีการเสื่อมของกระดูกเข่าด้านนอก lateral compartment หรือมีการเสื่อมของกระดูกลูกสะบ้าร่วมด้วย มีการขาดของเอ็นในเข่าร่วมด้วย มีข้อห้ามในการผ่าตัดจากสาเหตุอื่นทางอายุกรรม ปัจจุบันนี้การรักษาด้วยวิธีนี้เป็นที่นิยมในประเทศสหรัฐอเมริกา เนื่องจากมีแผลเล็ก หายได้เร็ว และถ้าทำตามมาตรฐาน เลือกผู้ป่วยอย่างเหมาะสมก็จะสามารถมีการใช้งานให้เคียงกับการทำข้อเทียมแบบปกติ

ประเภทที่สอง การผ่าตัดข้อเทียมทั้งหมด (total knee arthroplasty) ในกรณีผู้ป่วยที่ข้อเข่าเสื่อมมากและมีความขรุขระของกระดูกข้อเข่าและกระดูกสะบ้ามากนั้น หรือลักษณะที่เรียกว่า tricompartmental knee มีอาการปวดมาก รับประทานยาทำกายภาพบำบัดอาการไม่ดีขึ้น เข่าผิดรูป และมีการเสื่อมในลักษณะดังกล่าว การผ่าตัดเพื่อให้ผู้ป่วยเดินได้เร็วและหายปวดซึ่งใช้งานได้ดี จึงถูกพัฒนาขึ้นเพื่อการรักษา โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 60 ปี ขึ้นไปโดยใช้วัสดุที่เข้าไปแทนที่ของกระดูกอ่อนส่วนที่เสียไปทัทางด้านในและด้านนอกของข้อเข่าสำหรับในส่วนของลูกสะบ้านั้นขึ้นกับลักษณะการเสื่อมของลูกสะบ้า ว่ามีความจำเป็นต้อง เปลี่ยนหรือไม่ การรักษาได้ผลมากกกว่าร้อยละ 90 จะทำให้อาการปวดดีขึ้นเดินได้ดีขึ้นร้อยละ 95 - 98 ของผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดมี อายุการใช้งาน ประมาณ 10 ปี

ขั้นตอนการรักษาผู้ป่วยโรคข้อเข่าเทียม
1. ผู้ป่วยที่แพทย์เห็นว่าสมควรจะได้รับการผ่าตัดนั้นจะได้รับคำแนะนำอย่างละเอียดจากแพทย์และส่วนที่สำคัญคือ ได้แลกเปลี่ยนทัศนะคติกับผู้ป่วยได้รับการผ่าตัดแล้ว เพื่อให้ทราบความรู้สึกของผู้ป่วยว่าได้ผลดีอย่างไรอย่างชัดเจนขึ้น
2. การเตรียมผู้ป่วยและใช้ขนาดของข้อเข่าเสื่อม ที่เหมาะสมพอดี และแนะนำการดูแลรักษาหลังผ่าตัด
3. เราให้ยาระงับความปวดด้วยความร่วมมือของวิสัญญีแพทย์เพื่อควบคุมอาการปวดให้เหมาะสม
4. ในการผ่าตัดใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง
5. ในวันที่ 3 หรือ 4 เริ่มเดินลงน้ำหนักได้ด้วยตนเอง สามารถงอเข่าได้เฉลี่ยประมาณ 0-90 องศาและทำกายภาพบำบัดโดยการดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด หากไม่มีภาวะแทรกซ้อน และผู้ป่วยสามารถฟื้นสมรรถภาพของกล้ามเนื้อได้เร็วก็สามารถออกจากโรงพยาบาลได้ภายในเจ็ดถึงสิบวัน

       การดูแลตามขั้นตอนอย่างละเอียดและมีมาตรฐาน สำหรับผู้ป่วยที่เข้ามารับการรักษา โดยทราบถึงการปฏิบัติตัวอย่างถูกต้อง รวมถึงผลการรักษาอย่างชัดเจน ในกรณีที่ต้องการายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาสอบถามแพทย์
https://www.thaiarthritis.org/article08.php

:::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::
 

อาหารกับโรคกระดูกและข้อที่พบบ่อย
ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์
รศ.ดร.พญ.ภัทรวัณย์ วรธนารัตน์
https://med.mahidol.ac.th/ortho/th/food%20ortho/patient
https://drive.google.com/file/d/0BzVECrTBp1yodUFpQUNkV1RkTzg/view

วิถีชีวิตกับโรคกระดูกและข้อ
รศ.ดร.พญ.ภัทรวัณย์ วรธนารัตน์
ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์
https://resource.thaihealth.or.th/library/collection/14822
 https://www.ebooks.in.th/ebook/31135/วิถีชีวิตกับโรคกระดูกและข้อ

แนะนำหนังสือ ดี และ ฟรี : อาหารกับโรคกระดูกและข้อที่พบบ่อย+วิถีชีวิตกับโรคกระดูกและข้อ
https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=27-12-2017&group=5&gblog=55






..........................................................

การเสียชีวิตใน 45 วันหลังเปลี่ยนข้อเข่าจากเข่าเสื่อม

Lancet. 2014;384(9952):1429-1436.

บทความเรื่อง 45-Day Mortality after 467,779 Knee Replacements for Osteoarthritis from The National Joint Registry for England and Wales: An Observational Study รายงานว่า การศึกษาปัจจัยเสี่ยงของการเสียชีวิตในระยะกระชั้นภายหลังเปลี่ยนข้อเข่าอาจช่วยลดความเสี่ยงการเสียชีวิตหลังเปลี่ยนข้อเข่า นักวิจัยได้ประเมินแนวโน้มการเสียชีวิตภายใน 45 วันหลังเปลี่ยนข้อเข่าเนื่องจากเข่าเสื่อมในอังกฤษและเวลส์ เพื่อศึกษาผลจากการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยระหว่างผ่าตัดที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ต่อการเสียชีวิต

นักวิจัยรวบรวมข้อมูลการเปลี่ยนข้อเข่าเนื่องจากเข่าเสื่อมในอังกฤษและเวลส์ระหว่างวันที่ 1 เมษายน ค.ศ. 2003 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม ค.ศ. 2011 จากทะเบียน National Joint Registry for England and Wales โดยเชื่อมโยงข้อมูลกับฐานข้อมูลการเสียชีวิตและฐานข้อมูล Hospital Episode Statistics เพื่อติดตามข้อมูลด้านการเสียชีวิต สังคมประชากร และโรคร่วม การเสียชีวิตภายใน 45 วันประเมินจาก Kaplan-Meier analysis และบทบาทของปัจจัยด้านผู้ป่วยและการรักษาประเมินจาก Cox proportional hazards models

มีการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเพื่อรักษาข้อเสื่อมจำนวน 467,779 ครั้ง ระหว่าง 9 ปี ผู้ป่วย 1,183 คนเสียชีวิตภายใน 45 วันหลังผ่าตัด โดยการเสียชีวิตลดลงอย่างมีนัยสำคัญจาก 0.37% ในปี ค.ศ. 2003 ลงมาที่ 0.20% ในปี ค.ศ. 2011 แม้หลังปรับตามอายุ เพศ และโรคร่วม การเปลี่ยนข้อเทียมเพียงเสี้ยวเดียวสัมพันธ์กับการเสียชีวิตที่ต่ำกว่าอย่างมีนัยสำคัญเทียบกับการเปลี่ยนทั้งข้อ (HR 0.32, 95% CI 0.19-0.54, p < 0.0005) นอกจากนี้พบว่า โรคร่วมสัมพันธ์กับการเสียชีวิตที่สูงขึ้นทั้งกล้ามเนื้อหัวใจตาย (3.46, 95% CI 2.81-4.14, p < 0.0005), โรคหลอดเลือดสมอง (3.35, 2.7-4.14, p < 0.0005), โรคตับระดับปานกลาง/รุนแรง (7.2, 3.93-13.21, p < 0.0005) และโรคไต (2.18, 1.76-2.69, p < 0.0005) ปัจจัยระหว่างผ่าตัดที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้รวมถึงวิธีการผ่าตัด และการให้ยา thromboprophylaxis ไม่สัมพันธ์กับการเสียชีวิต

การเสียชีวิตหลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าลดลงอย่างมีนัยสำคัญระหว่างปี ค.ศ. 2003-2011 ความพยายามเพื่อลดการเสียชีวิตให้น้อยลงควรเน้นไปที่ผู้ป่วยสูงอายุ เพศชาย และมีโรคร่วมจำเพาะ เช่น กล้ามเนื้อหัวใจตาย หลอดเลือดสมอง ตับ และไต

https://wongkarnpat.com/viewpat.php?id=1340




Create Date : 29 พฤษภาคม 2551
Last Update : 23 สิงหาคม 2565 15:53:47 น. 18 comments
Counter : 86010 Pageviews.  

 
กำลังกลัวว่เข่าซ้ายาจะเป็นอยู่พอดี

ขอบคุณมากนะคะ


โดย: หมีสีชมพู วันที่: 29 พฤษภาคม 2551 เวลา:0:26:11 น.  

 
กลัวมากเลยอะค่ะ

คือว่าเวลาพับหรืองอเข่าเนี่ยมันจะมีเสียงดังกร๊อบ ๆ

เวลานั่งนาน ๆ เนี่ยมันเจ็บจี๊ด ๆ ที่เข่านะค่ะ มันจะคล้าย ๆ กับโรคข้อเข่าเสื่อมไหมค่ะเนี่ย


โดย: ความเจ็บปวด วันที่: 29 พฤษภาคม 2551 เวลา:1:39:51 น.  

 

ขอบคุณที่มาแจม นะครับ ..


สำหรับคุณ ความเจ็บปวด ..
อาการก็คล้าย ๆ เหมือนกันครับ .. ลองไปพบหมอกระดูกและข้อ หน่อย ก็ดีครับ จะได้รู้ว่า ใช่แน่หรือเปล่า .. ถ้าเป็นก็จะได้รักษาแต่เนิ่น ๆ


โดย: หมอหมู วันที่: 2 มิถุนายน 2551 เวลา:21:49:33 น.  

 
แวะมาอ่านครับ
direct lenders


โดย: lavenderbreeze999 วันที่: 15 พฤศจิกายน 2554 เวลา:10:49:30 น.  

 


วิ่งไม่ได้ทำให้ข้อเสื่อม
posted on 24 Sep 2009 21:46 by health2u in health

เครดิต...ผู้เขียน นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์

ที่มา //health2u.exteen.com/20090924/entry-1


ปี 2005 คณะนักวิจัย UK วิเคราะห์การศึกษาแบบสุ่ม 13 รายงานพบว่า การเดิน การเสิรมสร้างความแข็งแรง เช่น ยกน้ำหนัก เล่นเวท ฯลฯ ปลอดภัยสำหรับคนไข้ข้อเข่าอักเสบ-เสื่อม แถมยังทำให้อาการปวด และความทุพพลภาพลดลง [ Intelihealth ]

ปี 2006-7 คณะนักวิจัยจากเนเธอร์แลนด์และ UK พบว่า การออกกำลังจากน้อยไปหามาก หรือจากเบาไปหาหนัก และค่อยๆ เพิ่มความแรงขึ้นทีละน้อยปลอดภัย และช่วยรักษาข้อสะโพก-ข้อเข่าอักเสบ-ข้อเสื่อม
....................................................

อาจารย์ รศ.นพ.ฮาร์เวย์ บี. ไซมอน แห่งวิทยาลัยแพทย์ฮาร์วาร์ดและสถาบัน MIT ผู้ได้รับรางวัล 'London Prize' ด้านการสอนจากผลงานที่ฮาร์วาร์ดและ MIT ตีพิมพ์เรื่อง 'Running and your joints' = "การวิ่งและข้อของคุณ (joint = ข้อต่อ)" ผู้เขียนขอนำมาเล่าสู่กันฟัง [ Intelihealth ]

การวิ่งมีช่วงเท้าลอยอยู่ในอากาศ ทำให้มีแรงกระแทกตอนเท้ากระแทกพื้นได้มากจนถึง 8G หรือ 8 เท่าของแรงดึงดูดโลก หรือ 8 เท่าของน้ำหนักตัว

...

แรงกระแทกนี้แปรตามความเร็วด้วย คือ ยิ่งวิ่งเร็ว แรงกระแทกยิ่งมาก ทว่า... ไม่ได้หมายความว่า การวิ่งทำให้ข้อเสื่อม

การศึกษาเร็วๆ นี้พบว่า การออกกำลัง โดยเฉพาะการวิ่ง ปลอดภัยสำหรับคนทั่วไป แถมยังช่วยป้องกันข้อเสื่อมด้วย

...

เมื่อก่อนนี้คนเราเชื่อเรื่อง 'wear and tear' หรือ "ใช้มาก-ข้อสึกมาก (เสื่อมมาก)" ทว่า... การศึกษาใหม่ๆ พบว่า การวิ่งและออกกำลังไม่ได้เป็นสาเหตุที่ทำให้ข้อเสื่อม

สาเหตุของข้อเสื่อมส่วนหนึ่งมาจาก "อะไรที่เราไม่รู้" ซึ่งทางแพทย์เรียกว่า 'idiopathic' อีกส่วนหนึ่งมาจากการมีกล้ามเนื้ออ่อนแอ โดยเฉพาะกล้ามเนื้อหน้าขา

...

(1). 'Framingham Offspring Cohort' = การศึกษาติดตามลูกหลานของชาวฟรามิงแฮม"

ปี 1948 มีการศึกษาในอาสาสมัครชาวฟรามิงแฮม US 5,200 คน ทำให้เรารู้ว่า อะไรเป็นสาเหตุของโรคหัวใจและสโตรค (stroke = กลุ่มหลอดเลือดสมองแตก-ตีบตัน อัมพฤกษ์ อัมพาต)

...

ปี 1971 คณะนักวิจัยทำการศึกษาในลูกหลานและคู่สมรสของอาสาสมัคร และทำการศึกษาผลของการออกกำลังและข้ออักเสบในปี 1993-1994 อายุเฉลี่ยของกลุ่มตัวอย่างที่ไม่มีข้ออักเสบ = 53 ปี ติดตามไปจนถึงปี 2002 & 2005

การศึกษานี้มีการซักประวัติ และตรวจเอกซเรย์เข่าเปรียบเทียบ อ่านฟีล์มโดยผู้เชี่ยวชาญที่ไม่รู้ประวัติแยกกัน 2 ท่าน ทำให้เรารู้ว่า การออกกำลังไม่ได้ทำให้ข้อเสื่อม

...

การศึกษานี้พบว่า การออกกำลังไม่มีผลทำให้ข้อเสื่อม แถมคนที่อ้วนหรือผอมและออกกำลังมีข้ออักเสบ-ข้อเสื่อมมากเท่าๆ กัน

นั่นคือ คนที่ออกกำลังมากที่สุดมีความเสี่ยงข้ออักเสบ-ข้อเสื่อมเท่ากับคนที่ออกกำลังน้อยที่สุด

...

(2). การศึกษาจากออสเตรเลีย

กระดูกอ่อน (cartilage) ของข้อไม่มีเลือดไปเลี้ยง อาศัยการซึมซาบของน้ำไขข้อเข้า-ออก คล้ายการบีบน้ำ-ซับน้ำของฟองน้ำล้างจานเป็นสำคัญ หลักการนี้ทำให้การเคลื่อนไหวข้อมีแนวโน้มจะทำให้ข้อได้รับสารอาหารมากขึ้น

...

คณะนักวิจัยออสเตรเลียทำการศึกษากลุ่มตัวอย่างที่มีสุขภาพดี และไม่มีประวัติข้อเข่าอักเสบหรือบาดเจ็บ อายุ 40-69 ปี 297 คนในช่วง early 1990s = 1990-1995 ติดตามไปจนถึง 2003-4 เปรียบเทียบภาพสแกนสนามแม่เหล็ก-วิทยุ MRI

ผลการศึกษาพบว่า คนที่ออกกำลังรับแรงหนักที่สุด (เช่น วิ่ง ยกน้ำหนัก ฯลฯ) มีความหนากระดูกอ่อนหัวเข่ามากที่สุด และสุขภาพข้อดีที่สุด

...

(3). ข้อเข่าของนักวิ่งระยะไกล

การศึกษาในปี 2008 เปรียบเทียบนักวิ่งระยะไกล 284 คนกับคนที่ไม่ได้วิ่ง 156 คนไม่พบว่า การออกกำลังทำให้ข้ออักเสบ-ข้อเสื่อมถึงนัยสำคัญ (little evidence; little = น้อยมากๆ; evidence = หลักฐาน)

...

หลังจากติดตามนักวิ่งระยะไกลไป 21 ปีพบว่า นักวิ่งมีความทุพพลภาพ (บาดเจ็บ + เสื่อมสภาพ) ของกล้ามเนื้อ-เอ็น-กระดูก หรือระบบโครงสร้างน้อยกว่าคนที่นั่งๆ นอนๆ แถมนักวิ่งยังมีอัตราตายน้อยกว่า 39%

การศึกษาใหม่เปรียบเทียบนักวิ่งกับนักว่ายน้ำทีมมหาวิทยาลัยพบว่า นักวิ่งไม่ได้มีข้อเสื่อมเพิ่มขึ้น และแชมป์วิ่งไม่ได้มีข้อสะโพกอักเสบ-เสื่อมมากกว่าคนที่ไม่ได้เป็นนักกีฬา

...

ปัจจัยสำคัญอยู่ที่การบาดเจ็บ

เป็นที่ทราบกันดีในสหรัฐฯ ว่า นักอเมริกันฟุตบอลมักจะมีการบาดเจ็บของข้อ (การศึกษาอื่นๆ พบว่า คนกลุ่มนี้เป็นเบาหวานมากกว่าประชากรชัดเจน) คำตอบคือ ข้อที่บาดเจ็บจะไม่เหมือนเดิม (อีกต่อไป) และจะค่อยๆ กลายเป็นข้ออักเสบ-ข้อเสื่อม

...

การศึกษาศิษย์เก่าวิทยาลัยแพทย์ฮาร์วาร์ด 1,321 ท่านพบว่า หมอที่เคยมีข้อสะโพกบาดเจ็บตอนเรียนมีข้อเสื่อมที่อายุ 65 ปีเกือบ 14% สูงกว่าหมอที่ไม่เคยมีข้อสะโพกบาดเจ็บ ซึ่งมีข้อเสื่อม 6%

หมอที่มีข้อเข่าบาดเจ็บตอนอายุน้อยเสี่ยงข้อเข่าอักเสบ-ข้อเสื่อมเพิ่มเป็น 5 เท่าเมื่ออายุมากขึ้น

...

มีความเป็นไปได้ว่า กีฬาที่ทำให้ข้อบาดเจ็บได้ง่ายมีแนวโน้มจะเป็นกีฬาประเภทต่อสู้ ปะทะ เช่น ฟุตบอล บาสเกตบอล ฯลฯ รวมทั้งอุบัติเหตุจากการเมาแล้วขับ-ง่วงแล้วขับ ทำให้ข้อเสื่อมมากกว่าวิ่ง เดิน ว่ายน้ำ

ถึงตรงนี้... ขอให้พวกเรามีสุขภาพดีไปนานๆ ครับ >



โดย: หมอหมู วันที่: 9 กรกฎาคม 2555 เวลา:23:21:48 น.  

 




วิ่งทำให้ข้อเสื่อมจริงหรือ?

ข้อมูลสื่อ
ชื่อไฟล์: 92-013
นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่: 92
เดือน/ปี: ธันวาคม 1986
คอลัมน์: วิ่งทันโลก
นักเขียนหมอชาวบ้าน: นพ.กฤษฎา บานชื่น

ที่มา...//www.doctor.or.th/article/detail/5585


บ่อยครั้งที่ผู้เขียนถูกถามว่า การวิ่งทำให้ข้อเสื่อมจริงหรือไม่

อนุสนธิของคำถามนี้ เนื่องมาจากความเข้าใจที่แพร่หลายในหมู่คนทั่วไป (รวมทั้งนักวิ่งและหมอบางคน) ว่า การวิ่งกระทบกระเทือนต่อข้อ เป็นผลให้มีการสึกหรอหรือการเสื่อมของข้อเร็วกว่าเวลาอันควร
ผู้เขียนจะไม่บอกว่า ความเข้าใจนี้ถูกหรือผิด ขอให้เป็นหน้าที่ของผู้อ่านจะตัดสินเอาเอง

เรามักจะนึกถึงภาพการวิ่งก่อให้เกิดแรงกระแทกต่อข้อต่างๆ จนมีการสึกหรือเสื่อมไปทีละน้อยๆ จริงอยู่ถ้าร่างกายเราเป็นเครื่องจักร เช่นรถยนต์ คงมีสภาพเช่นว่านั้น แต่เนื่องจากเราเป็นสิ่งมีชีวิต ซึ่งมีความสามารถในการซ่อมแซมตัวเองได้ การออกกำลังกายเช่นการวิ่ง จึงอาจมีผลต่อข้อในทางตรงข้าม คือแทนที่จะทำให้ข้อเสื่อม ก็กลับแข็งแรงขึ้น ทำไม?

เพราะหลักเบื้องต้นที่ว่า สิ่งใดที่ไม่ได้ใช้ก็จะเสื่อมเหมือนมีดที่คมในฝักแต่ชักไม่ออก (เพราะเป็นสนิม เนื่องจากไม่เคยได้ใช้เลย) หรืออาจเปรียบกับเครื่องยนต์ ถ้ามีการเดินเครื่องอยู่เสมอ ส่วนต่างๆก็จะทำงานเรียบร้อยดี แต่ถ้าจอดทิ้งไว้หลายๆวัน พาลสตาร์ตไม่ติดเอา
ร่างกายมนุษย์ก็เหมือนกัน ข้อที่ไม่ค่อยได้ใช้ เกิดการติดขัดได้ ตัวอย่างที่พบบ่อยคือ ข้อไหล่ซึ่งมักติดในคนแก่ที่ไม่เคยบริหารไหล่หรือใช้งาน การเคลื่อนไหวข้อ ทำให้มีการหล่อลื่น และช่วยให้ข้อเคลื่อนที่ได้สะดวกอย่างไรก็ดี ทุกอย่างคงมีขีดจำกัด การใช้ข้อมากเกินไปอาจเป็นผลร้าย แต่แค่ไหนเล่าจึงจะเรียกว่ามากเกินไป การวิ่งทุกๆวันเป็นการใช้ข้อที่มากเกินไป หรือวิ่งวันเว้นวันจึงจะพอดี เหล่านี้เป็นคำถามที่ต้องการคำตอบ

คุณหมอริชาร์ด พานุช (Richard Panush) แห่งมหาวิทยาลัยฟลอริดา คงต้องการคำตอบต่อคำถามเช่นว่าเหมือนกัน จึงได้ทำการศึกษาสภาวะข้อ ของนักวิ่งวัยกลางคน 17 นาย 9 คนในจำนวนนี้เป็นนักวิ่งมาราธอน (ซึ่งหมายความว่าวิ่งกันอาทิตย์ละกว่า 100 กิโลเมตร) และมีอยู่คนหนึ่งซึ่งในชีวิตวิ่งมากว่า 78,400 กิโลเมตร โดยเฉลี่ยนักวิ่งกลุ่มนี้วิ่งสัปดาห์ละ 55 กิโลเมตร เป็นเวลา 12 ปี เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุมอีก 18 คน ที่ไม่ใช่นักวิ่ง คุณหมอพานุช ไม่พบว่าความแตกต่างกันในด้านการเสื่อมของข้อเท้า ข้อเข่า และข้อสะโพก ในคนทั้ง 2 กลุ่ม

คุณหมอพานุชสรุปว่า การวิ่งมิได้ทำให้ข้อสึกหรือเสื่อมอย่างที่เคยเข้าใจ
ในวารสาร J.A.M.A. (วารสารของสมาคมแพทย์อเมริกัน) เล่มเดียวกัน (7 มีนาคม 2529) แพทย์หญิงแนนซี่ เลน (Nancy Lane) จากมหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ด ก็ได้ทำการศึกษานักวิ่งของ Fifty-Plus Runners Association (ผู้จะเป็นสมาชิกของสมาคมนี้ได้ต้องอายุเกินกว่า 50 ปี) จำนวน 41 คน แล้วเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมซึ่งวิ่งเพียงหนึ่งในสิบและออกกำลังกายเพียงหนึ่งในสี่ของกลุ่มสมาชิกสมาคม หมอเลนพบว่าไม่เพียงแต่กลุ่มนักวิ่งจะไม่มีสิ่งซึ่งส่อแสดงการเสื่อมของข้อต่างๆ เช่น ข้อเข่า และข้อกระดูกสันหลัง แตกต่างไปจากกลุ่มควบคุม แต่ยังมีเนื้อกระดูกมากกว่ากลุ่มควบคุมถึง 40 เปอร์เซ็นต์

นั่นก็หมายความว่า ในนักวิ่งที่หมอเลนทำการศึกษา มีโอกาสเป็นโรคกระดูกผุ (osteoporosis) ซึ่งเป็นโรคสำคัญของสตรีสูงอายุชาวอเมริกันน้อยกว่า

แล้วอย่างนี้ยังจะบอกว่าวิ่งทำให้กระดูกและข้อเสื่อมอีกหรือ





โดย: หมอหมู วันที่: 9 กรกฎาคม 2555 เวลา:23:22:53 น.  

 



ขึ้นลงบันไดกับข้อเข่าเสื่อม


ข้อมูลสื่อ
ชื่อไฟล์: 128-029
นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่: 128
เดือน/ปี: ธันวาคม 1989
คอลัมน์: วิธีชะลอความแก่
นักเขียนหมอชาวบ้าน: รศ.ประโยชน์ บุญสินสุข




ตอนรับเชิญไปบรรยายในงานปัจฉิมนิเทศครั้งหนึ่ง หลังจากได้แนะนำวิธีการออกกำลังกายเพื่อชะลอความชราแล้ว มีคำถามจากผู้ฟังท่านหนึ่งว่า การขึ้นลงบันไดเป็นการออกกำลังกายที่ดีสำหรับผู้ที่เข้าสูวัย 60 หรือไม่

ตั้งแต่มนุษย์เริ่มรู้จักสร้างบ้าน ไม่ว่าจะเป็นบ้านทรงไทยมุงใบจากที่ยกขึ้นจากพื้น ซึ่งต้องปีน “บันได” ขึ้นไป หรือบ้าน 2 ชั้นตลอด พัฒนาจนเป็นตึกแถวหลายชั้น “บันได” ล้วนเป็นสิ่งจำเป็นทั้งสิ้น ดังนั้น การขึ้นลงบันไดจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน ไม่ว่าอยู่ในชนบทหรือในเมือง

เคยมีสารคดีจีนแนะนำให้ผู้สูงอายุขึ้นลงบันได เพราะถือว่าเป็นการออกกำลังกายชนิดหนึ่ง ซึ่งไม่ต้องออกไปนอกบ้าน โดยเฉพาะวันที่ฝนตก ตามตึกทำงานต่างๆ ถึงแม้จะมีบันไดขึ้นลงทุกชั้น แต่เมื่อมีลิฟต์ ซึ่งแสนจะสะดวกสบายกว่าการขึ้นลงบันได จึงมีผู้ใช้บริการมาก จนบางครั้งต้องยืนคอยเป็นเวลานาน และบ่อยครั้งที่ทำให้ลิฟต์เสียเพราะบรรจุคนเกินอัตรา ดังนั้น ข้างลิฟต์จึงมักมีข้อความติดอยู่ว่า “ขึ้นลงชั้นเดียว กรุณาใช้บันได”

ชาวยุโรปสมัยยุคกลาง คงเลื่อมใสการขึ้นลงบันไดมาก โดยเฉพาะการเดินลงบันได จึงมีภาพวาดสีน้ำมันแสดงการก้าวลงบันไดอย่างต่อเนื่องของเขา คล้ายกับการถ่ายภาพซ้อนหลายๆ ภาพ โดยเริ่มวาดตั้งแต่การก้าวลงจากบันไดชั้นบนสุดจนลงสู่พื้นล่าง

เมื่อการขึ้นลงบันไดเป็นวิธีการออกกำลังชนิดหนึ่ง ช่วยลดภาระของลิฟต์ และยังเป็นท่าทางที่น่าพิศวงจนศิลปินวาดเป็นภาพอมตะขึ้นมา จึงเข้าใจว่าควรส่งเสริมเพื่อให้สุขภาพแข็งแรงขึ้น แต่ทว่า การออกกำลังกายทุกชนิดย่อมมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ถึงแม้ว่าการไม่ออกกำลังกายเลยจะทำให้ข้อต่อเสื่อมได้ แต่การออกกำลังกายที่มากเกินไปก็ทำให้ข้อต่อเสื่อมเร็วขึ้นเช่นเดียวกัน

วัยกลางคนที่มีปัญหาการเสื่อมของข้อต่อ มักจะบ่นว่าข้อเข่าจะเจ็บปวดมากเมื่อขึ้นลงบันได โดยเฉพาะการก้าวลงบันได บางครั้งไม่ถึงกับต้องเป็นการก้าวลงบันได เพียงก้าวลงฟุตปาธเพื่อข้ามถนน ความเจ็บปวดทำให้หัวเข่าอ่อนแรงลงกะทันหัน แทบจะล้มลงไปถ้าขาอีกข้างหนึ่งพยุงไว้ไม่ทัน หรือก้าวขาไม่ออก

ดังนั้น ผู้ที่มีปัญหาของหัวเข่าจึงมักเกิดความลำบากใจปฏิบัติไม่ถูก เพราะในชีวิตประจำวันต้องขึ้นลงบันได และมักมีผู้แนะนำให้ออกกำลังกายโดยขึ้นลงบันไดได้ แต่ยิ่งขึ้นลงมากเท่าไร ข้อเข่ายิ่งอักเสบและเสื่อมเร็วขึ้นเท่านั้น

ในครั้งแรกไม่ใคร่มีใครสนใจปัญหาเรื่องนี้ แต่เมื่อพบว่า นักวิ่งที่ข้อเข่าข้อเท้าบาดเจ็บ มักจะเป็นการวิ่งลงเนินหรือลงเขา นักวิทยาศาสตร์จึงได้วิจัย และพบว่า การที่ข้อเข่าบาดเจ็บได้ง่ายเวลาวิ่งลงเขานั้น เนื่องจากการทำงานของกล้ามเนื้อไม่มีประสิทธิภาพพอที่จะป้องกันการแกว่งไปมาของข้อเข่า ทำให้กระดูกอ่อนที่บุผิวกระดูกต้นขา และหน้าแข้งเกิดการเสียดสีมาก ทั้งยังมีการฉีกขาดของเส้นเอ็นพังผืดบริเวณข้อเข่าได้ง่าย

การลงบันไดย่อมเกิดผลเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะทำให้ผู้ที่ข้อเข่าเสื่อมอยู่แล้ว ยิ่งเสื่อมขึ้นไปอีก เนื่องจากกระดูกอ่อนจะถูกเสียดสีจนเสื่อมเสียมากขึ้น เกิดกระดูกงอกหรือหินปูนมาแทนที่ ทำให้ผิวกระดูกภายในข้อขรุขระ และยิ่งทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรงมากขึ้น เนื่องจากข้อเข่าเหยียดออกหรืองอไม่เต็มที่ ในกรณีที่เกิดอาการปวดกะทันหันจนอ่อนแรงลง เกิดจากเยื่อบุผิวภายในข้อหย่อนเกินไป จึงถูกหนีบระหว่างกระดูกในข้อเข่า เกิดปฏิกิริยาตอบสนอง ทำให้หมดแรงลงทันที

จะเห็นได้ว่า การขึ้นลงบันไดโดยเฉพาะการลงบันไดนั้น มิใช่วิธีออกกำลังกายที่ดีสำหรับผู้ที่ข้อเข่าเสื่อมเพราะกำลังของกล้ามเนื้อไม่เพียงพอที่จะประคองข้อเข่าไว้ให้มั่นคงเวลาก้าวลง ถึงแม้ว่าการก้าวขึ้นบันไดมีผลเสียน้อยกว่าการก้าวลง แต่ในกรณีที่ข้อเข่าเสื่อมอยู่แล้วอาจเกิดผลเสียเช่นเดียวกับการก้าวลงบันไดด้วย จากการเสียดสีทำลายกระดูกอ่อนภายในข้อ และที่สำคัญคือ เมื่อเดินขึ้นบันไดแล้ว ย่อมต้องลงบันไดด้วย เมื่อเข้าใจกลไกของการขึ้นลงบันไดแล้ว สิ่งที่ควรปฏิบัติคือ ควรหลีกเลี่ยงการขึ้นลงบันได หรือเดินขึ้นลงบนทางลาดหรือที่ต่ำโดยไม่จำเป็น ในกรณีที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ควรหาผ้าพันยึดรัดข้อเข่าไว้เมื่อต้องเดินขึ้นลงบันได อาจเดินขึ้นทางบันไดแต่ลงชั้นล่างโดยใช้ลิฟต์

แน่นอน วิธีที่ดีที่สุดคือ การออกกำลังกายบริหารกล้ามเนื้อบริเวณข้อเข่าให้แข็งแรง กล้ามเนื้อที่สำคัญคือ กล้ามเนื้อเหยียดข้อเข่าที่ด้านหน้าของต้นขา ซึ่งกระดูกสะบ้าฝังตัวอยู่ในเอ็นของกล้ามเนื้อนี้บริเวณหัวเข่า โดยเริ่มจากนั่งหรือนอนเหยียดหัวเข่าให้ตรง พยายามเกร็งกล้ามเนื้อด้านหน้าต้นขาให้กดเข่าลง เห็นกระดูกสะบ้าเคลื่อนที่ขึ้นและลงเมื่อผ่อนกล้ามเนื้อ ทำครั้งละประมาณ 5-10 ครั้งทุก 2 ชั่วโมง อาจบริหารกล้ามเนื้อด้วยวิธีนี้ในท่ายืนได้ วิธีการออกกำลังกายนี้ นอกจากช่วยทำให้ข้อเข่ามั่นคงกระชับขึ้นแล้ว ยังทำให้กระดูกอ่อนที่บุผิวกระดูกภายในข้อเข่าเสื่อมช้าลง เพราะเป็นการช่วยให้อาหาร และออกซิเจนดูดซึมเข้ากระดูกอ่อนได้เร็วขึ้น

การออกกำลังกล้ามเนื้อด้านหน้าต้นขา ยังอาจใช้ถุงทรายถ่วงที่ปลายเท้าเพื่อต้านแรงเหยียดข้อเข่าอีก โดยอาศัยหลักการเล่นกล้ามสร้างให้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ขึ้น แต่ทั้งนี้การเล่นกล้ามนั้นต้องใช้น้ำหนักมากที่สุดที่ขาจะยกได้ กล้ามเนื้อจึงจะโตและแข็งแรงกว่าปกติได้

การนั่งยองๆ เป็นอีกท่าหนึ่งที่ควรหลีกเลี่ยง แต่อาจใช้เป็นท่าทดสอบว่า ข้อเข่าติดขัดในท่างอหรือไม่ กล้ามเนื้อมีกำลังพอที่จะพยุงข้อเข่าหรือไม่ เพราะข้อเข่าที่ติดขัดย่อมนั่งยองๆ ไม่ได้ และกล้ามเนื้อที่อ่อนแอย่อมไม่สามารถลุกยืนตัวตรงจากท่านั่งยองๆ ดังกล่าวได้

ความเชื่อที่ว่า ข้อเข่าเสื่อมเพราะการนั่งพับเพียบนั้น อาจจะไม่ใช่สาเหตุที่แท้จริง แต่การนั่งพับเพียบเป็นเวลานานๆ ทำให้การซึมผ่านของอาหารไปยังกระดูกอ่อนเป็นไปด้วยความลำบาก ทำให้ข้อเข่าเสื่อมได้เร็ว ทั้งนี้ชาวออสเตรเลียที่ไม่เคยนั่งพับเพียบเลยมีสถิติข้อเข่าเสื่อมมากไม่แพ้ประเทศไทย

ข้อเข่าเสื่อมจึงมีสาเหตุได้ 2 สาเหตุใหญ่ คือ การใช้ข้อเข่ามากเกินไป เช่น น้ำหนักมากไป ขึ้นลงบันไดมากไป วิ่งมากไป และการใช้ข้อเข่าน้อยเกินไป เช่น นั่งเฉยๆ เข้าเฝือกนานเกินไป ดังนั้น การปฏิบัติตนให้ถูกต้องย่อมป้องกันข้อเข่าเสื่อมได้




โดย: หมอหมู วันที่: 9 กรกฎาคม 2555 เวลา:23:28:32 น.  

 


//www.fda.moph.go.th/www_fda/data_center/ifm_mod/nw/%E0%B9%80%E0%B8%95%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%8A%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%A5%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B8%94%E0%B9%8C__%E0%B8%AA%E0%B9%88%E0%B8%87_29_%E0%B8%AA.%E0%B8%84._.pdf


อย. เตือนผู้บริโภค อย่าหลงเชื่อผลิตภัณฑ์ “ลองกานอยด์” จดแจ้งเป็นเครื่องสำอางแต่โฆษณาสรรพคุณในทางยา อวดอ้างรักษาโรคข้อเสื่อม


อย. ห่วงใยผู้บริโภค เตือนอย่าหลงเชื่อผลิตภัณฑ์ครีมนวด “ลองกานอยด์” ที่เผยแพร่อวดสรรพคุณในทางยาตามสื่อ
ต่าง ๆ ว่าสามารถรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม นิ้วล็อก รูมาตอยด์ แก้ปวดตามข้อได้ ตรวจสอบพบผลิตภัณฑ์จดแจ้งเป็นเครื่องสำอางใช้นวดผิวกายเท่านั้น

เผย อย. ได้ตรวจจับยึดของกลางและดำเนินดคีไปแล้ว แต่ยังพบมีการโฆษณาในลักษณะเป็นยาอีก ซึ่งหากดื้อแพ่งยังโฆษณาอวดสรรพคุณอีก นอกจากอาจถูกปรับสูงสุดถึง 1 แสนบาทต่อครั้งแล้ว ยังจะถูกเพิกถอนทะเบียนผลิตภัณฑ์ต่อไป

ย้ำเตือนมายังผู้พิมพ์ผู้โฆษณาสื่อต่าง ๆ ให้ยุติการโฆษณาอวดสรรพคุณของผลิตภัณฑ์ดังกล่าว

พร้อมแจ้งถึงนักวิจัย /สถาบันวิจัย ขอให้ช่วยตรวจสอบกรณีมีการนำผลิตภัณฑ์ไปขยายผลโฆษณาเกินจริง เพื่อมิให้ผู้บริโภคได้รับข้อมูลที่ไม่ตรงความจริง และเสียเงินทองจำนวนมาก หวังเพียงหายจากโรคข้อเสื่อม


นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ปัจจุบันพบการโฆษณาผลิตภัณฑ์ครีมนวด
ผิวกายภายใต้ชื่อ “ลองกานอยด์” ผ่านทางสื่อต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเอกสารแผ่นพับ ใบปลิว ใบแทรกในกล่อง ฉลากข้างกล่อง อินเทอร์เน็ต แม้กระทั่งใช้บุคคลในวงการแพทย์ หรือนักวิจัย บรรยายสรรพคุณว่าผลิตภัณฑ์นวดลองกานอยด์ที่เป็นสารสกัด จากเมล็ดลำไย สามารถช่วยรักษาผู้มีอาการข้อเสื่อม โดยเฉพาะข้อเข่าเสื่อม นั้น

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)ขอแจ้งเตือนมายังผู้บริโภค ให้ระมัดระวังอย่าได้หลงเชื่อโฆษณาสรรพคุณเกินจริงของผลิตภัณฑ์ดังกล่าวตามที่มีการกล่าวอ้าง ในการป้องกันรักษาโรคข้อเสื่อมเด็ดขาด เนื่องจากผลิตภัณฑ์ลองกานอยด์จดทะเบียนเป็นเครื่องสำอางที่ใช้ทาและนวดผิว
กาย

ทั้งนี้ การที่นำมาโฆษณาอวดสรรพคุณในทางยา ถือว่าเป็นการโฆษณาสรรพคุณเกินจริงและฝ่าฝืนพระราชบัญญัติ
เครื่องสำอาง เพราะตามกฎหมายผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางมีวัตถุประสงค์เพื่อความสะอาดและเพื่อความสวยงามเท่านั้น
ซึ่งหากเป็นยาต้องมีการขึ้นทะเบียนตำรับยาและขออนุญาตโฆษณาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ เจ้าหน้าที่ อย.ร่วมกับตำรวจ ปคบ. ได้เคยตรวจจับผลิตภัณฑ์ลองกานอยด์ที่อวดสรรพคุณดังกล่าว และยึดของกลาง พร้อมดำเนินคดีแล้ว แต่ก็ยังพบกระทำการฝ่าฝืนกฎหมายมีการโฆษณาอีก ซึ่ง อย. จะดำเนินคดีปรับอีกโทษฐานโฆษณาขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษปรับไม่เกิน 1 แสนบาท และหากพบยังฝ่าฝืนโฆษณาซ้ำซากอีก จะนำเรื่องเข้าคณะกรรมการเพื่อพิจารณาเพิกถอนทะเบียนผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางดังกล่าวนี้ต่อไป

นพ.พิพัฒน์ เลขาธิการฯ อย. กล่าวต่อไปว่า ขอเตือนมายังผู้พิมพ์/ผู้โฆษณา สื่อต่าง ๆ ให้ยุติการโฆษณาอวดสรรพคุณผลิตภัณฑ์ลองกานอยด์ เพราะหาก อย. ตรวจพบจะถูกดำเนินคดีปรับไม่เกิน 1 แสนบาท และปรับทุกครั้งที่พบกระทำผิด

หากไม่แน่ใจว่าเป็นโฆษณาที่ถูกต้องหรือไม่ โปรดตรวจสอบก่อนตีพิมพ์ได้ที่กลุ่มควบคุมเครื่องสำอาง อย. โทรศัพท์
0 2590 7275 – 77 ในวันเวลาราชการ

นอกจากนี้ อย. ขอแจ้งมาถึงนักวิจัย / นักวิชาการ และสถาบันวิจัยต่าง ๆ ขอให้ช่วยกันตรวจสอบกรณีมีการนำผลิตภัณฑ์ใดก็ตามที่มีการวิจัยแล้วไปขยายผลโฆษณาสรรพคุณเกินจริง หลอกให้ผู้บริโภคหลงเชื่อ ดังเช่นปัญหาที่เกิดขึ้นกับผลิตภัณฑ์ลองกานอยด์ เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยให้ผู้บริโภค

----------------------------------------------- กองพัฒนาศักยภาพผู้บริโภค 29 สิงหาคม 2555 ข่าวแจก 122 / ปีงบประมาณ พ.ศ.2555 ----



โดย: หมอหมู วันที่: 31 สิงหาคม 2555 เวลา:0:48:25 น.  

 


//www.pharmacy.mahidol.ac.th/thai/knowledgeinfo.php?id=41

ไขข้อข้องใจเกี่ยวกับกลูโคซามีน (glucosamine) ในโรคข้อเสื่อม


โรคข้อเสื่อมเป็นโรคที่พบว่ามีการสึกกร่อนของกระดูกอ่อน เนื่องจากมีปริมาณของโปรตีโอไกลแคน (proteoglycans) ลดลง ทำให้ความสามารถในการรองรับการเคลื่อนไหวของกระดูกข้อต่อลดลง เกิดอาการปวดขึ้นเมื่อมีการลงน้ำหนัก หรือมีกิจกรรมบนข้อนั้นๆ จากการเปลี่ยนแปลงของกระดูกอ่อนที่พบในผู้ป่วยโรคข้อเสื่อมดังกล่าวนี้ จึงทำให้เกิดแนวคิดในการนำเอากลูโคซามีนซึ่งเป็นสารตั้งต้นของการสร้างโปรตีโอไกลแคนที่เป็นองค์ประกอบในกระดูกอ่อนมาใช้เพื่อรักษาหรือชะลอการเสื่อมของข้อในโรคข้อเสื่อม

กลูโคซามีน (glucosamine) เป็นสารประกอบประเภทน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว (monosaccharide) ที่ปกติถูกสร้าง และพบในร่างกายของทุกคนอยู่แล้ว กลูโคซามีนจะถูกนำไปใช้เป็นสารตั้งต้นในการสร้างสารขนาดโมเลกุลใหญ่ เช่น โปรตีโอไกลแคน, ไกลโคโปรตีน (glycoprotein), ไกลโคสามิโนไกลแคน (glycosaminoglycan), กรดไฮยาลูโรนิก (hyaluronic acid) สารเหล่านี้เป็นส่วนประกอบในเนื้อเยื่อเกือบทุกชนิดของร่างกาย โดยจะพบได้มากที่กระดูกอ่อน (cartilage)ซึ่งจะอยู่ที่บริเวณส่วนปลายของกระดูกโดยเฉพาะที่ข้อต่อ กระดูกอ่อนนั้นประกอบด้วยเมทริกซ์ของเส้นใยคอลลาเจนที่มีโปรตีโอไกลแคนอยู่ภายใน โดยโปรตีโอไกลแคนเป็นสารโมเลกุลใหญ่ที่มีความสามารถในการดึงน้ำเข้ามาหาตัวเองได้ดี จึงทำให้กระดูกอ่อนมีความยืดหยุ่น และสามารถรองรับการเคลื่อนไหวของกระดูกข้อต่อได้ ซึ่งจัดเป็นบทบาทสำคัญของกลูโคซามีนในเรื่องการทำงานของข้อ นอกจากนี้กลูโคซามีนยังมีผลยับยั้งการทำงานของสารอักเสบได้หลายชนิด จึงมีผลลดการอักเสบของข้อด้วย

กลูโคซามีนที่มีจำหน่ายแบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ตามการขึ้นทะเบียน คือ (1) ยาอันตราย และ (2) ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ซึ่งทั้งสองแบบมีความแตกต่างกันในขั้นตอนการยื่นขอขึ้นทะเบียน รวมถึงเอกสารที่จำเป็นในการขอขึ้นทะเบียน กล่าวคือ

กลูโคซามีนที่ขึ้นทะเบียนเป็นยาอันตราย มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในการรักษาโรคข้อเสื่อม ซึ่งจะต้องมีเอกสารยืนยันถึงการศึกษาทางการแพทย์ที่แสดงประสิทธิภาพและความปลอดภัยของสารดังกล่าว และการใช้ยาจะอยู่ภายใต้การสั่งใช้จากแพทย์เท่านั้น

ส่วนกลูโคซามีนที่ขึ้นทะเบียนเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงใช้รับประทาน นอกเหนือจากการรับประทานอาหารหลักตามปกติ และในการขอขึ้นทะเบียนไม่จำเป็นต้องแสดงการศึกษาทางการแพทย์ประกอบ

สำหรับในประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุขได้อนุญาตให้มีกลูโคซามีนชนิดที่เป็นยาอันตรายเท่านั้นที่ได้รับการขึ้นทะเบียน และจำหน่ายในประเทศได้

ทั้งยาและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารของกลูโคซามีนมีจำหน่ายในรูปแบบของสารประกอบเกลือหลายชนิด เช่น เกลือซัลเฟต (glucosamine sulfate), เกลือไฮโดรคลอไรด์ (glucosamine hydrochloride), เกลือคลอโรไฮเดรต (glucosamine chlorohydrate หรือ N-acetylglucosamine) ซึ่งทำให้ขนาดโมเลกุลและคุณสมบัติอื่นๆ ของกลูโคซามีนมีความแตกต่างกันไป เช่น ความคงตัวเมื่อทำเป็นผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ในผลิตภัณฑ์ของกลูโคซามีนซัลเฟตยังมีการเติมโซเดียม หรือโปแตสเซียมในสูตรตำรับ เพื่อทำให้ผลิตภัณฑ์มีความคงตัวเพิ่มขึ้น โดยกลูโคซามีนซัลเฟตเป็นกลูโคซามีนที่ขึ้นทะเบียนเป็นยาอันตรายและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ส่วนกลูโคซามีนในรูปแบบอื่นจะขึ้นทะเบียนเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร

ด้านประสิทธิภาพของกลูโคซามีนต่อโรคข้อเสื่อม พบว่าการศึกษาทางการแพทย์ขนาดใหญ่ส่วนมากเป็นการศึกษาโดยใช้กลูโคซามีนซัลเฟต (glucosamine sulfate) ที่ขึ้นทะเบียนเป็นยาอันตราย

ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่าการให้ผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมได้รับกลูโคซามีนซัลเฟตในขนาด 1,500 มิลลิกรัมต่อวัน เป็นเวลานาน 3 ปี ช่วยลดอาการปวด และช่วยลดการแคบของข้อได้เมื่อเปรียบเทียบกับการไม่ใช้ยา (หรือใช้ยาหลอก)

แต่การใช้กลูโคซามีนซัลเฟตในระยะสั้น เช่น 3-6 เดือน พบว่าผลการศึกษามีทั้งสองแบบ คือ ให้ผลดีในการรักษา และไม่เห็นความแตกต่างในการรักษาเมื่อเปรียบเทียบกับการไม่ใช้ยา

นอกจากนี้การศึกษาในผู้ป่วยข้อสะโพกเสื่อมก็ไม่แสดงประโยชน์เหนือกว่าการไม่ใช้ยาเช่นกัน

สำหรับกลูโคซามีนในรูปแบบอื่นนั้น พบว่ามีการศึกษาทางการแพทย์บ้าง แต่เป็นเพียงการศึกษาขนาดเล็ก จำนวนผู้ป่วยที่ใช้ศึกษาน้อย เช่น การใช้กลูโคซามีนไฮโดรคลอไรด์ ซึ่งขึ้นทะเบียนเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อม พบว่ากลูโคซามีนไฮโดรคลอไรด์ให้ประสิทธิภาพในการระงับปวดในผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมได้ไม่แตกต่างจากกลูโคซามีนซัลเฟต

จากข้อมูลการศึกษาทางการแพทย์ของกลูโคซามีนดังกล่าวข้างต้น แสดงให้เห็นว่าประสิทธิภาพของกลูโคซามีนในโรคข้อเสื่อมนั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น รูปแบบเกลือของกลูโคซามีน ตำแหน่งข้อที่เกิดการเสื่อม ขนาดยาที่ใช้ ระยะเวลาในการใช้ ซึ่งผู้บริโภค/ผู้ป่วยที่มีความประสงค์จะรับประทานกลูโคซามีน โดยเฉพาะในรูปแบบของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่สามารถหาซื้อได้เองจากร้านขายยาทั่วไป ควรศึกษาข้อมูลของผลิตภัณฑ์ดังกล่าวให้เข้าใจ หรือปรึกษาแพทย์/เภสัชกรเพื่อให้เกิดความเข้าใจถึงประโยชน์ที่จะได้รับให้มากยิ่งขึ้น เพราะนอกจากประโยชน์ที่ได้รับจากการใช้กลูโคซามีนแล้ว กลูโคซามีนในทุกรูปแบบยังมีข้อควรระวังและทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ได้ด้วย ดังนี้

- อาการไม่พึงประสงค์ที่พบได้บ่อยจากการรับประทานกลูโคซามีน คือ คลื่นไส้ ท้องเสีย แสบท้อง ปวดท้อง ท้องอืด นอกจากนี้ยังอาจพบอาการง่วงซึม ผื่นแพ้ผิวหนัง แพ้แสง ปากคอบวม (angioedema) หรือกระตุ้นให้เกิดการจับหืดได้

- ควรระมัดระวังการแพ้ในผู้ป่วยที่มีประวัติแพ้อาหารทะเล โดยเฉพาะกุ้ง ปู เพราะกลูโคซามีนที่มีจำหน่ายสังเคราะห์มาจากเปลือกของสัตว์ดังกล่าว

- ควรระมัดระวังการใช้ในผู้ป่วยโรคเบาหวาน โดยเฉพาะถ้าไม่สามารถคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ตามเป้าหมายการรักษา เพราะมีรายงานในสัตว์ทดลองว่ากลูโคซามีนทำให้การหลั่งอินซูลินลดลงได้ ถึงแม้ว่าจะยังไม่พบรายงานดังกล่าวในคนก็ตาม


บทความโดย: อาจารย์ ธนรัตน์ สรวลเสน่ห์

ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล





โดย: หมอหมู วันที่: 29 กันยายน 2555 เวลา:0:22:39 น.  

 




คำชี้แจง จาก ราชวิทยาลัยออร์โธฯ เกี่ยวกับยารักษาข้อเข่าเสื่อม ..(ที่กรมบัญชีกลางสั่งห้ามเบิก)
https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=08-04-2011&group=7&gblog=132

คำชี้แจง จาก ราชวิทยาลัยออร์โธฯ เกี่ยวกับยารักษาข้อเข่าเสื่อม (ที่กรมบัญชีกลางสั่งห้ามเบิก)..( ต่อ )
https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=21-04-2011&group=7&gblog=134

คำชี้แจง จาก ราชวิทยาลัยออร์โธฯ เกี่ยวกับยารักษาข้อเข่าเสื่อม (ที่กรมบัญชีกลางสั่งห้ามเบิก)..(จบ?)
https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=22-07-2011&group=7&gblog=146



แนวปฏิบัติ บริการ ดูแลรักษา ข้อเข่าเสื่อม พศ. ๒๕๕๓ ของราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์
//www.mediafire.com/?q6jqyvyci46b51s

คลังคุมเข้มเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล ขรก. ... กรมบัญชีกลาง ยังไม่ให้เบิกยารักษาข้อเข่าเสื่อม ???
https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=15-06-2011&group=7&gblog=139

คลังไฟเขียวเบิกจ่ายยารักษาโรคข้อเข่าเสื่อมเหมือนเดิม ... ( ไม่รู้จะมีคดีพลิก อีกหรือเปล่า ??? )
https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=25-06-2011&group=7&gblog=141

คลัง ส่งหนังสือด่วนถึง รพ.อนุมัติเบิกจ่ายยาข้อเสื่อมได้แบบมีเงื่อนไข
https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=01-07-2011&group=7&gblog=142


L12737354 ด่วนที่สุด โรงพยาบาลรัฐและผู้ใช้บริการโปรดทราบ [สุขภาพกาย] SET50.com (10 - 3 ต.ค. 55 14:00)
//www.pantip.com/cafe/lumpini/topic/L12737354/L12737354.html



โดย: หมอหมู วันที่: 10 ตุลาคม 2555 เวลา:16:28:15 น.  

 
Learn'n'Run
https://www.facebook.com/LearnandRun/photos/a.285068351673539.1073741828.272454926268215/286829228164118/?type=1

“อย่าวิ่งมาก… เดี๋ยวเข่าเสื่อม!!!” จริงหรือ???

ผมเชื่อว่าเพื่อนๆพี่ๆที่วิ่งกันอยู่แล้ว ก็คงจะเคยได้ยินคนอื่นๆ(ที่ยังไม่ได้เริ่มวิ่ง) พูดถึงเรื่องนี้กันมาบ้างใช่มั๊ยครับ
แล้วหลายท่านที่ไม่กล้าเริ่มวิ่งออกกำลัง ก็เนื่องจากกลัวว่าเข่าจะเสื่อมนี่แหละครับ

ผมเคยลองหาข้อมูลตามที่ต่างๆดูก่อนหน้านี้ ก็พบว่ามีหลายๆที่เขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้บ้างแล้วเหมือนกันครับ โดยอ้างอิงถึงงานวิจัย 2-3 งานหลักๆ คือ

งานวิจัยของ Eliza Chakravarty จากมหาวิทยาลัย Standford ที่ศึกษานักวิ่ง 45 คน เทียบกับกลุ่มที่ไม่วิ่ง 53 คน เป็นเวลา 18 ปี พบว่ากลุ่มนักวิ่งมีอัตราการเกิดข้อเข่าเสื่อมน้อยกว่ากลุ่มที่ไม่วิ่ง (20% เทียบกับ 32%) พิมพ์ไม่ผิดครับ!!! กลุ่มนักวิ่งเกิดน้อยกว่าด้วยซ้ำ...

ส่วนอีกงานเป็นของ David Felson ซึ่งศึกษาข้อมูลในผู้เข้าร่วมวิจัย 1,279 คน พบว่าไม่มีความสัมพันธ์ระหว่างการวิ่ง กับอัตราการเกิดข้อเข่าเสื่อมเช่นกัน... จริงๆมีงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้อีกเยอะมากเลยครับ ใส่หมดคงไม่ไหว...
2 งานที่เอามาให้ดูนี้คุณภาพค่อนข้างดีครับ

แต่เมื่อปี 2013 ที่ผ่านมา มีงานวิจัยอีกงานเพิ่งตีพิมพ์ครับ งานนี้ทำให้ทุกฉบับที่ผ่านมาดูเล็กไปเลย(ผมคิดว่าน่าจะยังไม่มีคนเขียนถึงนะครับ)...

Paul Williams ได้ตีพิมพ์งานวิจัยที่ทำในนักวิ่ง 74,752 คน เทียบกับคนที่ออกกำลังกายด้วยการเดิน 14,625 คน... พบว่าในคนที่วิ่งมากกว่าประมาณ 2 กม.ต่อวัน จะมีอัตราการเกิดข้อเข่าเสื่อม รวมถึงโอกาสที่จะต้องเปลี่ยนสะโพก ”ลดลง!!!”... อีกทั้งจำนวนผู้ที่มีปัญหาจากกลุ่มนักวิ่ง ก็ยังน้อยกว่ากลุ่มเดินอีกด้วยครับ... โดยผู้วิจัยพบว่าสาเหตุที่สัมพันธ์กับการเกิดข้อเข่าเสื่อม ก็คือการที่มีน้ำหนักตัวมาก แต่นักวิ่งส่วนใหญ่นั้น สัดส่วนน้ำหนักตัวจะน้อยกว่า จึงไม่ค่อยพบปัญหานี้ครับ... ส่วนนักวิ่งที่ออกกำลังกายอย่างอื่นร่วมด้วย พบว่ามีอัตราการเกิดข้อเข่าเสื่อมสูงขึ้นครับ (ไม่ได้บอกไว้ว่าออกกำลังแบบไหนครับ)

ผมคิดว่าปัจจุบันนี้ เราน่าจะสามารถสรุปเรื่องนี้ได้แล้วนะครับว่า “การวิ่งไม่ได้ทำให้ข้อเข่าเสื่อม” แถมยังช่วยป้องกันได้ด้วยซ้ำ

เมื่อมีงานวิจัยใหญ่ขนาดนี้มาอ้างอิงแล้ว ต่อไปเวลามีคนบอกว่า “วิ่งมากๆเดี๋ยวข้อเข่าเสื่อมนะ”... เพื่อนๆพี่ๆก็ print งานวิจัยอันนี้ (Link ข้างล่างอันแรกนะครับ โหลดได้ฟรีด้วย!!!) แล้วก็ยื่นให้เพื่อนของท่านเอาไปอ่านอย่างนิ่มนวลได้เลยครับ เราจะได้มีเพื่อนวิ่งเพิ่มขึ้นๆ

Run Hard and Be Nice to People
Learn’n’Run

(ปล. ขออนุญาตอธิบายเพิ่มเติมเล็กน้อยครับ เนื่องจากมีเพื่อนๆพี่ๆถามเข้ามาว่า "แล้วอย่างงี้มันเกี่ยวกับเรื่องน้ำหนักตัวมากกว่ารึเปล่า?... จากที่อธิบายไปด้านบนแล้ว ว่าผู้วิจัยพบว่าสาเหตุที่สัมพันธ์กับการเกิดข้อเข่าเสื่อม คือการที่มีน้ำหนักตัวมาก แต่นักวิ่งส่วนใหญ่น้ำหนักตัวน้อย... อันนี้เป็นข้อจำกัดของการทำวิจัยครับ เนื่องจากจะต้องใช้เวลาในการเก็บข้อมูลเป็นระยะเวลานานมาก และรูปแบบของการออกกำลังก็แตกต่างกัน ทำให้การที่จะควบคุมเรื่องน้ำหนักตลอดงานวิจัยให้เท่ากันนั้น เป็นไปได้ยากมากครับ)

“Effects of Running and Walking on Osteoarthritis and Hip Replacement Risk”
//www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/?term=Effects+of+Running+and+Walking+on+Osteoarthritis+and+Hip+Replacement+Risk

“Long distance running and knee osteoarthritis. A prospective study”
//www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/18550323

“Effect of recreational physical activities on the development of knee osteoarthritis in older adults of different weights- the Framingham Study”
//www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed?term=effect+of+recreational+physical+activities+on+the+development+of+knee+osteoarthritis+in+older+adults+of+different+weights+the+framingham+study&cmd=correctspelling



โดย: หมอหมู วันที่: 22 กรกฎาคม 2557 เวลา:14:42:42 น.  

 
สมาคม ESCEO ชี้คริสตัลไลน์ กลูโคซามีน ซัลเฟต ที่ได้รับการจดสิทธิบัตร (pCGS) แตกต่างจากกลูโคซามีนชนิดอื่นๆ และควรเป็นยาพื้นฐานในการรักษาโรคข้อเสื่อม

ลีแยร์ฌ, เบลเยียม--2 ธ.ค.--พีอาร์นิวส์ไวร์/อินโฟเควสท์

คณะทำงานเฉพาะกิจของสมาคม European Society for Clinical and Economic Aspects of Osteoporosis and Osteoarthritis (ESCEO) และแพทย์ผู้เชียวชาญจากทั่วโลก ได้มีมติร่วมกันในการใช้แนวทางการรักษาอย่างเป็นลำดับขั้นตอนของ ESCEO ในทางปฏิบัติและหาข้อสรุปร่วมกันในข้อมูลทั้งหมดของกลูโคซามีน เพื่อชี้ชัดถึงความแตกต่างระหว่างคริสตัลไลน์ กลูโคซามีน ซัลเฟต ที่ได้รับการจดสิทธิบัตร (pCGS) ซึ่งผ่านการรับรองทางคลินิก กับกลูโคซามีนชนิดอื่นๆที่ไม่ได้ผลในทางคลินิก



(โลโก้: //photos.prnewswire.com/prnh/20151124/290592LOGO )

(Place and date)-แม้ว่าจะมีแนวทางปฏิบัติสำหรับการรักษาโรคข้อเสื่อมที่คำนึงด้านหลักฐ านทางการศึกษาจากองค์กรต่างๆทั้งในยุโรป อเมริกา และทั่วโลกแต่ก็ยังไม่สามารถสร้างมาตรฐานการรักษาร่วมกันได้

แต่เดิมการรักษาโรคข้อเสื่อมนิยมใช้ยาระงับปวดและยาต้านการอักเสบ โดยมีพาราเซตามอลเป็นยาพื้นฐานที่ใช้บรรเทาอาการปวด แต่ก็เกิดความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยในการใช้ยา ซึ่งรวมถึงผลข้างเคียงต่อทางเดินอาหารและตับ

นอกจากนี้แนวทางการรักษาเกือบทั้งหมดไม่ได้ระบุชัดเจนถึงความแตกต่างระหว่าง กลูโคซามีนที่ได้รับการพิสูจน์ทางคลินิก (จากเกณฑ์ที่มีหลักฐานการศึกษารองรับและ Cochrane Review) กับกลูโคซามีนที่ไม่ได้รับการพิสูจน์ทางคลินิก ยกเว้นแนวทางการรักษาอย่างเป็นลำดับขั้นตอนของ ESCEO ซึ่งระบุถึงความแตกต่างไว้อย่างชัดเจน จึงก่อให้เกิดความไม่สอดคล้องในแนวทางการรักษาโรคข้อเสือม อีกทั้งทำให้เกิดความสับสนในการปฏิบัติด้วย

แนวทางการรักษาอย่างเป็นขั้นตอนของ ESCEO นำเสนอทางเลือกใหม่ ด้วยการใช้ยารักษาโรคข้อเข่าเสื่อมที่ออกฤทธิ์ช้า (SYSADOAs) ซึ่งมีคริสตัลไลน์ กลูโคซามีน ซัลเฟต ที่ได้รับการจดสิทธิบัตร(pCGS) เป็นยาพื้นฐาน และเสริมด้วยยาพาราเซตามอลเพื่อระงับปวดตามความจำเป็น ศาสตราจารย์ ฌอง-อีฟ รีจินส์เตอร์ ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานของ ESCEO กล่าวว่า "แนวทางของ ESCEO แนะนำให้ใช้ยา SYSADOAs โดยเฉพาะคริสตัลไลน์ กลูโคซามีน ซัลเฟตที่ได้รับการจดสิทธิบัตร (pCGS) และคอนดรอยติน ซัลเฟต ที่จดทะเบียนเป็นยา ให้เป็นยาพื้นฐานในการรักษาโรคข้อเสื่อม ปัจจุบันเห็นได้ชัดว่ายาต่างๆไม่ได้มีประสิทธิภาพเหมือนกันทั้งหมด และความแตกต่างระหว่างแนวทางการรักษาทั้งหลายสะท้อนให้เห็นถึงความจริงที่ว่ า แนวทางเหล่านี้ไม่ได้พิจารณาการรักษาจากยาตัวเดียวกัน"

"สาระสำคัญประการแรกที่ได้จากการประชุมคือ แนวทางการรักษาทั้งหมดล้วนเห็นตรงกันว่ากลูโคซามีน ไฮโดรคลอไรด์ไม่ได้ผลในการรักษา ตัวยาดังกล่าวไม่เคยได้รับการพิสูจน์ว่ามีประสิทธิภาพในการทดลองทางคลินิก และไม่เคยมีการวิจัยใดๆที่แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการรักษาของกลูโคซามี น ไฮโดรคลอไรด์แต่อย่างใด"

ศาสตราจารย์ รีจินส์เตอร์ กล่าวเสริมว่า "ในส่วนของกลูโคซามีน ซัลเฟตที่มีใช้อยู่ในปัจจุบัน พบว่ายังมีความแตกต่างในแต่ละสูตรตำรับ โดยสูตรตำรับยาส่วนใหญ่มักไม่คงตัวและไม่ควรนำไปใช้เพราะถือว่าเป็นยาปลอม ซึ่งอ้างว่าเป็นสูตรตำรับที่มีความ"คงตัว" แต่เป็นเพียงการผสมกลูโคซามีน ไฮโดรคลอไรด์ และโซเดียม ซัลเฟต เข้าด้วยกันเท่านั้นซึ่งไม่มีความคงตัวแต่อย่างใด เพื่อให้การรักษามีประสิทธิภาพ โมเลกุลจะต้องถูกทำให้คงตัวในรูปของคริสตัลไลน์ กลูโคซามีน ซัลเฟต ที่ได้รับการจดสิทธิบัตร(pCGS) โมเลกุลที่ถูกทำให้คงตัวเท่านั้นที่สามารถทำให้มีระดับความเข้มข้นของยาเพีย งพอที่จะส่งผลในการรักษาทั้งในกระแสเลือดและน้ำเลี้ยงข้อ และมีข้อมูลการทดลองที่แสดงถึงประสิทธิภาพอย่างชัดเจน ในมุมมองของการดำเนินไปตามธรรมชาติของโรคข้อเสื่อม การใช้สั่งใช้ยากลูโคซามีนที่ไม่มีความคงตัว จากผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ถือเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องตามหลักจรรยาบรรณ เพราะเป็นที่ทราบดีว่าในท้ายที่สุดผู้ป่วยจะไม่ได้รับประโยชน์อันใดจากผลการ รักษานั้นเลย"

สรุป

การประชุมครั้งนี้ก่อให้เกิดความก้าวหน้าครั้งสำคัญในการเห็นพ้องร่วมกันถึง ความแตกต่างของแนวทางในการรักษา โดยคณะทำงานเฉพาะกิจต่างเห็นพ้องร่วมกันในความแตกต่างระหว่างคริสตัลไลน์ กลูโคซามีน ซัลเฟต ที่ได้รับการจดสิทธิบัตร (pCGS) ซึ่งได้รับการพิสูจน์ทางคลินิกและจดทะเบียนเป็นยา กับกลูโคซามีนประเภทอื่นๆ

หลักฐานทางคลินิกของคริสตัลไลน์ กลูโคซามีน ซัลเฟต ที่ได้รับการจดสิทธิบัตร

- มีประสิทธิภาพที่ดีกว่าในแง่ของการลดอาการปวดและการทำงานของเข่า

- ช่วยชะลอการดำเนินไปของโรค

ด้วยเหตุนี้ คริสตัลไลน์ กลูโคซามีน ซัลเฟต ที่ได้รับการจดสิทธิบัตร (pCGS) จึงเหนือกว่ากลูโคซามีนประเภทอื่นๆที่วางจำหน่ายในตลาด โดยเป็นกลูโคซามีนเพียงชนิดเดียวที่มีความคงตัวและมีความน่าเชื่อถือทางการร ักษา โดยส่งผลให้มีระดับความเข้มข้นของกลุโคซามีนที่ให้ผลในการรักษาทั้งในกระแสเ ลือดและและในข้อ ดังนั้นเมื่อจะสั่งยาพื้นฐานในการรักษาโรคข้อเสื่อม แพทย์ควรพิจารณาคริสตัลไลน์ กลูโคซามีน ซัลเฟต ที่ได้รับการจดสิทธิบัตร (pCGS) ซึ่งถือได้ว่าเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด

แหล่งข่าว: ESCEO


โดย: หมอหมู วันที่: 18 ธันวาคม 2558 เวลา:14:06:37 น.  

 
ผ่าตัดหัวเข่าผ่านกล้องเพื่อรักษาข้อเสื่อม
21 พฤษภาคม 2560
//visitdrsant.blogspot.com/2017/05/blog-post_21.html

อายุ 53 ปี ไม่เคยประสบอุบัติเหตุที่หัวเข่า แต่เป็นโรคข้อเข่าเสื่อม หมอทำ MRI แล้วพบว่ามี meniscal tear ตอนนี้ทั้งฉีดสะเตียรอยด์แล้ว และฉีดจาระบีแล้ว กินกลูโคซามีนแล้ว กินยาอาร์คอกเซียแทบไม่เคยขาด อาการก็ยังมีอยู่ หมอออร์โธปิดิกที่รพ.... แนะนำให้ทำผ่าตัดผ่านกล้องเพื่อล้างทำความสะอาดรักษาข้อเข่าเสื่อมและซ่อมแผ่นกระดูกอ่อนรองหน้าข้อ ซึ่งท่านบอกว่าเป็นสะเต็พที่ควรเลือกทำก่อนที่จะไปผ่าตัดใส่ข้อเข่าเทียม เพราะอายุยังน้อย อยากถามคุณหมอสันต์ว่ามีหลักฐานวิจัยใดๆว่าการผ่าตัดผ่านกล้องในกรณีนี้ดีหรือไม่ดีอย่างไร

........................................

ตอบครับ

1. ถามว่าเป็นข้อเข่าเสื่อมที่มีแผ่นรองข้อเข่าฉีกขาด (meniscus tear) จะไปผ่าตัดผ่านกล้อง (arthroscopic surgery) ผลวิจัยปัจจุบันว่าจะดีไหม ถ้าจะให้ตอบตามผลวิจัยที่นับถึงปัจจุบัน ก็ต้องตอบว่า ไม่ดีครับ

คำตอบของผมตอบตามผลวิจัยในเรื่องนี้ที่ค่อยๆมีออกมาเรื่อยๆนับตั้งแต่ปี 2014 ซึ่งมีผู้วิจัยแบบเมตาอานาไลซีสไว้ [1-3] แต่หลักฐานระดับสูงที่ตอบได้อย่างเด็ดขาดว่าการผ่าตัดผ่านกล้องได้ผลไม่ดีไปกว่าการออกกำลังกายโดยไม่ผ่าตัดคือการวิจัยแบบสุ่มตัวอย่างแบ่งกลุ่มเปรียบเทียบซึ่งทำที่นอร์เวย์และตีพิมพ์ในวารสาร BMJ เมื่อปีกลาย [4] ในงานวิจัยนี้เขาเอาผู้ป่วยอายุ 35-59 ปีที่ได้รับการวินิจฉัยจาก MRI ว่ามีการฉีกขาดของแผ่นรองข้อเข่า (medial meniscal tear) จากการเสื่อมสภาพของข้อมา 140 คน มาสุ่มตัวอย่างแบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งให้ผ่าตัดผ่านกล้อง อีกกลุ่มหนึ่งให้ออกกำลังกายอย่างเดียว แล้วตามดู 2 ปีด้วยทั้งคะแนนวัดผลข้อเข่า (KOOS4) ทั้งด้านการใช้งาน และด้านคุณภาพชีวิต พบว่าทั้งสองกลุ่มได้คะแนนดีพอๆกัน และพบว่ากลุ่มออกกำลังกายมีกล้ามเนื้อขาแข็งแรงมากกว่ากลุ่มที่ทำผ่าตัดผ่านกล้องเสียอีก

คำแนะนำว่าไม่ควรรีบทำผ่าตัดหัวเข่าผ่านกล้องนี้ หมอผู้เชี่ยวชาญเองก็แบ่งเป็นสองพวก มีกลุ่มผู้เชี่ยวชาญโรคข้อเข่าเสื่อมบางกลุ่มได้ออกคำแนะนำเวชปฏิบัติ (Clinical Practice Guidelines) ในเรื่องนี้โดยตีพิมพ์ไว้ในวารสาร BMJ ฉบับเดือนพค. 2017 [5] ซึ่งมีสาระสำคัญโต้งๆว่า

"เราแนะนำอย่างแรงว่าอย่าใช้วิธีผ่าตัดผ่านกล้องรักษาคนไข้ข้อเข่าเสื่อมเกือบทุกคน (รวมทั้งที่มีแผ่นรองข้อเข่าฉีกขาด) เพราะการทบทวนหลักฐานถึงปัจจุบันนี้พบว่ามันไม่ได้ผล"

เพื่อประกอบความเข้าใจในเรื่องนี้ ผมขอแจงเพิ่มเติมนิดหนึ่ง คือคนไข้ข้อเข่าเสื่อมนี้แยกได้เป็นสองกลุ่มนะ

กลุ่มแรก คือกลุ่มที่เป็นโรคข้อเสื่อม (osteoarthritis) เหน่งๆจ๋าๆ โดยไม่มีการเสียหายของแผ่นรองข้อเข้า (meniscus) ซึ่งในกลุ่มนี้ศัลยแพทย์กระดูกส่วนใหญ่ได้เลิกใช้การผ่าตัตผ่านกล้องล้างทำความสะอาดไปนานแล้ว เพราะมันไม่ได้ผล สถาบันเพื่อความเป็นเลิศทางสุขภาพแห่งชาติของอังกฤษ (NICE) ได้ออกคำแนะนำว่าไม่ควรทำการผ่าตัดผ่านกล้องมานานแล้วตั้งแต่ปี 2007 [6] แม้แต่วิทยาลัยศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกอเมริกัน (AAOS) ก็ยังแนะนำเมื่อเร็วๆนี้ว่าไม่ควรทำผ่าตัดผ่านกล้องในคนไข้ข้อเข่าเสื่อมที่โรคเป็นมากแล้ว

กลุ่มที่สอง คือกลุ่มที่เป็นข้อเสื่อมแบบมีการฉีกขาดของแผ่นรองข้อเข่า (medial meniscal tear) อยู่ด้วย กลุ่มนี้วงการศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกทั่วโลกถือว่าเป็นกรณีที่ควรรักษาด้วยการผ่าตัดส่องกล้องเข้าไปซ่อมแผ่นรองข้อเข่า จนกระทั่งมีการทะยอยตีพิมพ์งานวิจัยออกมาว่าทำแล้วมันไม่ได้ผลจนมีบางกลุ่มบางองค์กรออกคำแนะนำว่าไม่ควรทำดังที่ผมเล่าแล้วข้างต้น ซึ่งเป็นคำแนะนำที่ขัดแย้งกับคำแนะนำที่เชื่อถือกันมาแต่เดิม

พูดง่ายๆว่า ณ ขณะนี้ความเห็นของหมอทั่วโลกแตกเป็นสองฝ่าย คุณในฐานะคนไข้ก็ต้องใช้ดุลพินิจเอาเองว่าจะเลือกเชื่อหมอฝ่ายไหน ระหว่างฝ่ายที่บอกว่าทำเถอะเพราะมันได้ผลดี กับฝ่ายที่บอกว่าอย่าทำเลยเพราะมันไม่ได้ผล ชีวิตการเป็นคนไข้ในยุคการแพทย์แบบอิงหลักฐานก็เป็นอย่างนี้แหละครับ เพราะที่เรียกว่าหลักฐานทางการแพทย์นั้นมันไม่ใช่สัจจธรรม มันเป็นเพียงสถิติ พอมีการตีพิมพ์สถิติใหม่ออกมาพวกหัวใหม่ก็เฮโลทิ้งวิธีนี้ไปหาวิธีโน้นแต่พวกหัวเก่าก็ยังนิ่งอยู่กับวิธีเดิมไปอีกสิบปียี่สิบปี ถ้าคนไข้ไปหาหมอพวกโน้นทีพวกนี้ทีก็จะได้คำแนะนำสองแบบ แล้วก็เป็นงงทำตัวไม่ถูก

เนื่องจากหมอสันต์เป็นหมอประจำครอบครัว ไม่ใช่ศัลยแพทย์กระดูก จึงขอแนะนำคุณจากมุมมองการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมว่าควรแก้ปัญหาไปทีละขั้นทีละตอน โดยอย่าเพิ่งรีบทำผ่าตัดตอนนี้เลย แต่ให้ไปขยันออกกำลังกายฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อรอบๆข้อเข่าสักหลายๆเดือนหรือหลายๆปีก่อนจนได้ชื่อว่าได้ออกกำลังกายเต็มที่แล้วก่อน ถ้ามันทุเลาลงและใช้ชีวิตปกติได้ก็จบแค่นั้น แต่ถ้ามันยังมีอาการสาหัส เดี๋ยวป๊อกๆ เดี๋ยวกึกๆ จนชีวิตเดินหน้าลำบาก ผมว่าถึงจุดนั้นไหนๆก็ไหนๆคือหมดทางไปแล้ว การลองผ่าตัดผ่านกล้องก็เป็นทางเลือกที่ควรทำนะครับ โดยที่เมื่อตัดสินใจทำแล้วก็ต้องทำใจด้วย..ว่ามันจะได้ผลหรือไม่ได้ผลก็ต้องโอลูกเดียว

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

1. Khan M, Evaniew N, Bedi A, Ayeni OR, Bhandari M. Arthroscopic surgery for degenerative tears of the meniscus: a systematic review and meta-analysis. CMAJ2014;186:1057-64. doi:10.1503/cmaj.140433 pmid:25157057.
2. Thorlund JB, Juhl CB, Roos EM, Lohmander LS. Arthroscopic surgery for degenerative knee: systematic review and meta-analysis of benefits and harms. BMJ2015;350:h2747. doi:10.1136/bmj.h2747 pmid:26080045.
3. Brignardello-Peterson R, Guyatt GH, Schandelmaier S, et al. Knee arthroscopy versus conservative management in patients with degenerative knee disease: a systematic review. BMJ Open 2017;7:e016114. doi:doi:10.1136/bmjopen-2017-161114
4. Kise NJ, Risberg MA, Stensrud S, Ranstam J, Engebretsen L, Roos EM. Exercise therapy versus arthroscopic partial meniscectomy for degenerative meniscal tear in middle aged patients: randomised controlled trial with two year follow-up. BMJ 2016;354:i3740
5. Siemieniuk RAC, Harris IA, Agoritsas T, et al. Arthroscopic surgery for degenerative knee arthritis and meniscal tears: a clinical practice guideline. BMJ 2017;257:j1982. doi:10.1136/bmj.j1982
6. National Institute for Health and Clinical Excellence. Arthroscopic knee washout, with or without debridement, for the treatment of osteoarthritis (Interventional procedures guidance IPG230). 2007. //www.nice.org.uk/guidance/ipg230.


โดย: หมอหมู วันที่: 22 พฤษภาคม 2560 เวลา:13:14:21 น.  

 
วิ่งเยอะๆ แล้วเข่าพังจริงไหม?
by ภัทรศยา เชาว์รัศมีกุลPosted on May 28, 2017
https://www.greenery.org/articles/running-fact/

เรื่องนี้ตอบได้เลยตั้งแต่บรรทัดนี้ว่าไม่จริง เพราะคนส่วนใหญ่เข้าใจผิด คิดว่าวิ่งแล้วจะทำให้เข่าพังตอนแก่ ทั้งที่จริง มันยังมีปัจจัยอื่นอีกล้านแปดที่ส่งผลต่อข้อเข่าของคนเรา และการทำกิจกรรมใดๆ ก็ตาม ไม่ว่าจะเล่นกีฬาที่ดูไม่มีพิษมีภัยอย่างกอล์ฟ เรื่อยไปจนถึงกีฬาที่มีการปะทะสูงอย่างรักบี้หรือฟุตบอล ก็ล้วนมีความเสี่ยงแทบทั้งสิ้นหากว่าคุณไม่ระวัง

ที่ผ่านมาการวิ่งมักถูกมองเป็นผู้ร้ายทำลายเข่า ในขณะที่การว่ายหรือปั่นจักรยานดูจะมีภาษีดีกว่าตรงที่แรงกระแทก หรือแรงกระทำต่อข้อเข่าน้อยกว่า เรื่องนี้เราไม่เถียงเพราะขณะวิ่งน้ำหนักตัวที่จะกระทำต่อร่างกายจะมากกว่าปกติถึง 8-10 เท่า นั่นหมายความว่าหากคุณหนัก 60 กิโลกรัม แรงกระแทกจะสูงถึง 480-600 กิโลกรัม ฟังดูน่ากลัว แต่กลไกในร่างกายคนเรามีระบบที่เซตไว้สำหรับการซ่อมแซมและเสริมสร้างส่วนที่ชำรุด เพียงแต่คุณต้องให้เวลา เช่น กำหนดวันพักหรือไม่หักโหม เพื่อให้ร่างกายเยียวยาตนเอง และเสริมสร้างความแข็งแรงอย่างค่อยเป็นค่อยไป

นอกจากนี้ยังมีผลการศึกษาที่ออกมาหักล้างความคิดที่ว่าวิ่งมากๆ แล้วเข่าพัง เมื่อผลการศึกษาของชาวออสเตรียที่ตีพิมพ์ลง Skeletal Radiology ระบุว่าหลังพวกเขาได้ MRI นักวิ่งจำนวน 7 คน ก่อนและหลังการวิ่งมาราธอนปี 1997 (ห่างกัน 10 ปี) พบว่าข้อเข่าของนักวิ่งจำนวน 6 คนไม่มีความเสียหายใหม่เกิดขึ้น ในขณะที่นักวิ่งอีกคนที่ซึ่งเลิกวิ่งไปก่อนหน้ามีปัญหาภายในข้อเข่าหลายจุด ซึ่งสอดคล้องกับผลการศึกษาและคำแนะนำของคุณหมอหลายท่านที่ระบุว่าการวิ่งไม่ได้ทำให้เข่าเสื่อมเร็วขึ้น หากแต่ป้องกันเข่าไม่ให้เสื่อมสภาพก่อนเวลาอันควร หลังพบว่าแรงกดในข้อเข่าที่กระทำอย่างต่อเนื่อง และเป็นจังหวะช่วยส่งน้ำหล่อเลี้ยงภายในข้อ ซึ่งเป็นสารอาหารจำเป็นและอ๊อกซิเจนที่ใช้ในการสร้างและซ่อมแซมส่วนต่างๆ

ถึงไม่วิ่งก็เข่าพังได้
รวมถึงผลการศึกษาระยาวของ Standford University หลังเฝ้าติดตามกลุ่มนักวิ่งจำนวน 45 คนและกลุ่มที่ไม่วิ่งจำนวน 53 คน ตั้งแต่ปี 1984 จนได้ข้อสรุปที่ตีพิมพ์ลง American Journal of Preventive Medicine ปี 2008 ว่าหลังผ่านไป 18 ปี มีนักวิ่งเพียง 20 เปอร์เซ็นต์ที่ข้อเข่าเสื่อม ในขณะที่ปัญหาเดียวกันนี้เกิดกับกลุ่มคนไม่วิ่ง 32 เปอร์เซ็นต์ เรื่องนี้บอกเราได้ว่าต่อให้คุณไม่ได้วิ่งก็มีแนวโน้มที่ข้อเข่าจะพัง แต่การวิ่งสามารถทำให้ข้อเข่าของคุณแข็งแรงขึ้นได้ ตราบใดที่คุณไม่ทำร้ายตัวเองด้วยวิธีที่เราจะพูดถึงต่อจากนี้

ปัจจัยที่ทำให้เข่าพัง
คุณต้องอย่าลืมว่าร่างกายคนเราเหมือนรถยนต์ ใช้ไปนานๆ ย่อมเสื่อมลงตามกาลเวลา อายุจึงเป็นปัจจัยสำคัญ ยิ่งคุณอายุมากขึ้น ระบบเผาผลาญในร่างกายทำงานต่ำลง ส่งผลให้รอบเอวขยายแม้คุณจะออกกำลังกายและกินเท่าเดิม ด้วยน้ำหนักตัวที่เพิ่มมากขึ้น ข้อเข่าก็ต้องรับน้ำหนักสูงขึ้น นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมหมอถึงไม่แนะนำให้คนอ้วนออกกำลังกายด้วยการวิ่งหรือกระโดด แต่ควรเดินเร็วให้ไขมันอยู่ในระดับปลอดภัยก่อน

อีกหนึ่งปัจจัยคือสุขภาพเข่าก่อนวิ่งของคุณเป็นอย่างไร มีส่วนไหนที่เคยฉีกขาดหรือไม่ กระดูกอ่อนผิวข้อซึ่งทำหน้าที่รับแรงกระแทกระหว่างกระดูกต้นขาและกระดูกแข้งยังใช้การได้ดีอยู่ไหม กล้ามเนื้อต้นขาหน้าและต้นขาหลังสมดุลกันหรือเปล่า และพร้อมที่จะเผชิญศึกหนักอย่างการวิ่งมาราธอนแล้วหรือยัง (ข้อผิดพลาดของนักวิ่งหน้าใหม่คือใจร้อน) รูปเท้าของคุณเหมาะกับการวิ่งแบบไหน ควรใส่รองเท้าประเภทใดจึงจะเหมาะสม แล้วเทคนิคการวิ่งของคุณละ เข้าขั้นใช้ได้หรือยัง ได้วอร์มกล้ามเนื้อหรือยืดเส้นหลังวิ่งทุกครั้งไหม เหล่านี้เป็นเรื่องที่คุณควรหาคำตอบและลงมือปฏิบัติ เพราะอย่างน้อยสิ่งที่เรากล่าวแนะนำไปข้างต้นยังเป็นสิ่งที่คุณพอควบคุมได้ เพราะมีผลการศึกษาหลายชิ้นยืนยันว่าโรคข้อเสื่อมถ่ายทอดทางพันธุกรรม ความเสี่ยงจึงมีมากขึ้นในหากคนในครอบครัวของคุณมีภาวะข้อเสื่อม

วิ่งอย่างเป็นสุขทำได้ไม่ยาก
ถ้าคุณเป็นนักวิ่งมือใหม่ ควรฝึกวิ่งอย่างค่อยเป็นค่อยไป ช่วงอาจเริ่มวิ่ง 15-20 นาที แล้วค่อยเพิ่มระยะเวลา
ในหนึ่งสัปดาห์แทนที่จะวิ่งหนักทุกวัน ให้แบ่งเป็นวันวิ่งเบาๆ ถึงปานกลาง ควรมีวันพักให้ทำกิจกรรมอื่น และอย่าลืมเสริมสร้างกล้ามเนื้อขาและสะโพก รวมถึงแกนกลางลำตัวด้วยเวทเทรนนิ่ง ลงทุนกับรองเท้าวิ่งดีๆ ก่อนเปลี่ยนคู่ใหม่เมื่อใช้งานครบ 500 กิโลเมตร และที่สำคัญเราอยากให้คุณวิ่งและฟังเสียงร่างกายไปด้วยพร้อมๆ กัน หากวิ่งแล้วเจ็บหรือปวด แนะนำว่าคุณควรพัก 2 สัปดาห์เพื่อรอดูว่าอาการ หากแค่กล้ามเนื้อระบมก็ไม่ควรนานเกิน 3 วัน หากเกินกว่านั้นควรปรึกษาแพทย์



โดย: หมอหมู วันที่: 30 พฤษภาคม 2560 เวลา:20:30:03 น.  

 
อายุรศาสตร์ ง่ายนิดเดียว
https://www.facebook.com/medicine4layman/photos/a.1454742078175154.1073741829.1452805065035522/1935598710089486/?type=3&theater

อ่านมาเล่าให้ฟัง ยารักษาเข่าเสื่อมสามตัว glucosamine, chondroitin และ hyarulonic acid ติดค้างมานานแล้ว ตกลงข้อมูลว่าไง

🍖🍖 รู้จักยาสามตัวนี้คร่าวๆก่อน🍖🍖
glucosamine กับ chondroitin เป็นยากินหวังผลไปเพิ่มประสิทธิภาพและการสร้างกระดูกอ่อน เนื่องจากโรคข้อเสื่อมนั้นอวัยวะสำคัญที่ถูกทำลายคือกระดูกอ่อน สารทั้งสองตัวนี้สกัดมาจากสัตว์ glucosamine มาจากเปลือกแข็งสัตว์ทะเล ส่วน chondroitin มาจากกระดูกอ่อนของสัตว์ แต่ไม่ต้องกังวลได้ผ่านกรรมวิธีมาจนรับรองว่าใช้ได้แล้ว
สำหรับ hyaluronic acid จะเหมือนสารกันชนและหล่อลื่นในข้อ ในกลุ่มข้อเสื่อมสารนี้จะลดลง เป็นยาฉีดเข้าข้อ ยาตัวนี้มีความหลากหลายมากและผลการรักษาก็ขึ้นกับชนิดของยา เช่น มวลโมเลกุลมากหรือน้อย เกลือที่มาผสมกับ hyaluronic acid ที่ส่งผลต่อการแตกตัว ความคงรูป ก็ทำให้ผลการรักษาต่างกัน

🍟🍟เราใช้ยาทั้งสามตัวนี้เพื่ออะไร🍟🍟
แน่ละก็เพื่อทดแทนความเสื่อม เพื่อหวังผลสองประการคือนิยมใช้วัดผลคือ การลดปวด และสมรรถภาพข้อที่ดีขึ้นคือความสามารถในการเคลื่อนที่ ส่วน hyaluronic acid จะหวังผลลดปริมาณการผ่าตัดรักษาข้อเสื่อมโดยเฉพาะข้อเข่าด้วย
เมื่อมันทำหน้าที่เป็นยา ก็ต้องมีการศึกษาที่ละเอียดบอกถึงประโยชน์ ผลเสีย ข้อบ่งใช้ ข้อควรระวังที่ชัดเจน มีการศึกษามากมายทั้งสังเกตเอา ทดลองทดสอบ รวบรวมการศึกษา ที่ผมรวบรวมและทบทวนมานี้เป็นระดับการรวบรวมการศึกษาและแนวทางการรักษา โดยไปค้นเสริมการศึกษาย่อยๆที่น่าสนใจ

🍳🍳มีคำแนะนำที่เป็นแนวทางจากสมาคมแพทย์ต่างๆหรือไม่🍳🍳
ข้อดีสำหรับยายุคนี้คือหากมีการศึกษาก็จะบอกได้ว่าหลักฐานเป็นอย่างไร แข็งแรงแน่นหนาหรืออ่อนยวบ เพื่อมาประกอบคำแนะนำ หลายๆแนวทางที่ผมค้นมาเป็น backbone ยึดหลักในการอ่านและค้นต่อคือ คำแนะนำของ american colleges of rheumatology, american associations of orthopedics surgery, NICE UK guidelines ปรากฏว่าแนวทางออกมาคล้ายๆกัน รวมทั้งการรวบรวมการศึกษาแบบ systematic review อีกสามสี่อันที่จะบันทึกไว้ตอนท้าย ข้อมูลไปในทางเดียวกันทั้งสิ้น (ความน่าเชื่อถือสูง ทั้งตรงกันและแม่นยำ)

🌮🌮 glucosamine และ chondroitin ผลเป็นอย่างไร🌮🌮
หลักฐานทั้งหมดมาจากหลักฐานชั้นดีทั้งสิ้นว่า ไม่แนะนำ การใช้ยาทั้งสองในการรักษาผู้ป่วยข้อเสื่อมที่มีอาการ เพราะจากการทบทวนทั้งหมดพบว่าประสิทธิภาพในการลดปวด และประสิทธิภาพการใช้งานของข้อ สำหรับglucosamine ไม่ได้ต่างจากยาหลอกและการรักษามาตรฐานตามปกติ (ทั้ง glucosamine sulphate และ glucosamine hydrochloride)
ส่วน chondroitin มีหลักฐานเช่นกันว่าสำหรับอาการปวดนั้น ลดได้มากกว่ายาหลอกก็จริงแต่ว่าไม่มีนัยสำคัญทั้งทางคลินิกและทางสถิติ ส่วนประสิทธิภาพข้อนั้น ไม่ได้ดีกว่ายาหลอกเลย

แนวทางทั้งหมดจึงไม่แนะนำการใช้ยาทั้งสองชนิดนี้ แม้โทษจะไม่มีชัดเจน แต่ประโยชน์ก็ไม่ชัดเจนเช่นกันมีแนวโน้มไปทางไม่ต่างจากยาหลอกด้วย หากเทียบกับการรักษาอื่นๆมาตรฐานเช่นการลดน้ำหนัก การทำกายภาพ หรือยาแก้ปวดพาราเซตามอล การรักษามาตรฐานให้ผลการรักษาที่ดี ราคาไม่แพง ทรงประสิทธิภาพกว่า

🍜🍜แล้วยาฉีดเข้าข้อ hyaluronic acid จะดีกว่าไหม🍜🍜
หลักฐานทั้งหมดก็มาจากข้อมูลที่ดีเชื่อถือได้ดีเช่นกันว่า ไม่แนะนำ การใช้ยาฉีดเข้าข้อเพื่อรักษาอาการปวดและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานข้อ แต่...ตรงนี้เสียงจะแตกเล็กน้อย ไม่เป็นเสียงเดียวกัน เพราะจากการศึกษาแม้ภาพรวมจะดูประโยชน์ไม่มาก คือลดปวดได้จริงและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานข้อได้เพิ่มขึ้น หากไปเทียบกับการรักษามาตรฐานหรือยาหลอก แต่ว่าประโยชน์ที่ได้รับนั้น มันน้อยเกินกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำ (Minimal Clinically Important Improvement) ที่จะบอกว่าส่งผลดีต่อคุณภาพชีวิตโดยรวม โดย hyaluronic ชนิดโมเลกุลหนักจะให้ประสิทธิภาพที่ดีกว่า

🍦🍦แล้วมีที่ใช้บ้างไหม🍦🍦
สมาคมโรครูมาตอยด์ หรือ หลายๆวารสารที่มีความน่าเชื่อถือสูง รวมทั้งมีการศึกษาตีพิมพ์ในจดหมายเหตุการแพทย์ของไทยด้วยว่า มันก็ยังพอมีที่ใช้ เพราะการศึกษากลุ่มย่อยบางกลุ่มก็สามารถลดปวดได้ดี และชะลอการผ่าตัดได้ (เช่นผู้ที่มีโรคร่วมมากๆ มีข้อห้ามการใช้ยาต้านการอักเสบ) ลดการใช้ยาตัวอื่นที่มีผลข้างเคียงสูงได้ อันนี้คือ hyaluronic นะ ส่วนยากินนั้นค่อนข้างชัดและตรงกันว่าไม่เกิดประโยชน์
คำแนะนำของสมาคมโรครูมาติซั่มของอเมริกา แนะนำใช้ได้หากให้การรักษาทางกายภาพแล้วและให้ยาแก้ปวดลดการอักเสบเต็มขนาดแล้ว อาจจะ..ใช้คำว่าอาจจะ..ใช้ยาฉีดก่อนที่จะไปสู่ขั้นตอนการรักษาต่อไปคือการผ่าตัด

---&& อันนี้ส่วนตัวนะ ผมคิดว่าอาจจะเป็นการรักษาเพื่อชะลอการผ่าตัดเท่านั้น (เพราะน่าจะถึงขั้นต้องผ่าแล้วล่ะ) ผลระยะยาวและประสิทธิภาพโดยรวมไม่น่าจะชนะการผ่าตัดได้ แต่ว่าบางคนก็โรคร่วมมาก หรือรอคิวผ่าตัดในการปรับร่างกาย ยาตัวนี้ก็อาจมีที่ใช้ โดยคำนึงถึงราคาด้วยนะ&&--

🍞🍞ผลเสียล่ะ🍞🍞

การฉีดยาอาจเกิดการติดเชื้อหากใช้ไม่ระวัง หรืออาจมีการเจ็บและอักเสบหลังฉีดยาได้ pseudoseptic reaction ได้ และราคาที่ไม่ถูกเอาเสียเลย ต้องฉีดต่อเนื่องกันหลายครั้งหลายเข็มในหนึ่งการรักษา
ส่วนข้อสะโพกยังไม่มีการศึกษาที่ยืนยันได้ชัดเจนทั้งประโยชน์และโทษเหมือนข้อเข่านะครับ

สรุป...ปรับชีวิต...กายภาพ...ยาแก้ปวดผลข้างเคียงต่ำ...ยาต้านการอักเสบ..."อาจ"เลือกใช้ยาฉีดเข้าข้อ...ผ่าตัดรักษา น่าจะเป็นการดูแลรักษาโรคข้อเสื่อมที่ดี โดยเฉพาะข้อเข่า

อ้อ...อย่าไอมากนัก เพราะ ไอมากจะเจ็บเข่า

ที่มา
-AHRQ april 2009
-GAIT trial
-Clin Orthop Relat Res (2014);472:2028-34
-AAOS recommendation 2009
-ACR positional statement 2014
-Correspondence in NEJM 2015;372:2569-70 ...เถียงกันสนุกดี
-NICE guidelines 2014
-OARSI recommendation in osteoartritis & cartilage 2014;22:363-88
-J Med Assoc Thai 2007 Sep;90(9)
-Medscape review 2013, June 19

ข้อเข่าเสื่อม https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=29-05-2008&group=5&gblog=15
ข้อเข่าเสื่อม น้ำไขข้อเทียม https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=29-05-2008&group=5&gblog=16

๒๔ ธันวาคม ๒๕๕๕ ขยายเวลาให้ข้าราชการ เบิกค่ายากลูโคซามีน ได้ ( คดีพลิกอีกแล้วครับท่าน ) https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=26-12-2012&group=7&gblog=171
ขรก.เบิกกลูโคซามีนได้แล้ว หลังศาลปกครองมีคำสั่งเพิกถอนเกณฑ์ ก.คลัง https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=22-05-2015&group=7&gblog=187
คลังสั่งถอน “กลูโคซามีนซัลเฟต” จากระบบเบิกค่ายา ขรก. ..ห้ามเบิกตั้งแต่ ๑ พย. ๕๕ https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=10-10-2012&group=7&gblog=161
คำชี้แจง จาก ราชวิทยาลัยออร์โธฯ เกี่ยวกับยารักษาข้อเข่าเสื่อม (ที่กรมบัญชีกลางสั่งห้ามเบิก) ttp://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=08-04-2011&group=7&gblog=132
คำชี้แจง จาก ราชวิทยาลัยออร์โธฯ เกี่ยวกับยารักษาข้อเข่าเสื่อม (ที่กรมบัญชีกลางสั่งห้ามเบิก)..( ต่อ ) https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=21-04-2011&group=7&gblog=134
คำชี้แจง จาก ราชวิทยาลัยออร์โธฯ เกี่ยวกับยารักษาข้อเข่าเสื่อม (ที่กรมบัญชีกลางสั่งห้ามเบิก)..(จบ?) https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=22-07-2011&group=7&gblog=146




โดย: หมอหมู วันที่: 9 กุมภาพันธ์ 2561 เวลา:15:48:28 น.  

 
ฉีดเกล็ดเลือดแก้ปวดเข่า (Platelet Rich Plasma Therapy)
December 18, 2014 by Sant Chaiyodsilp

ผมพาคุณแม่อายุ 74 ปีไปรักษาเข่าอักเสบเรื้อรังที่รพ. …. กับคุณหมอกระดูกชื่อคุณหมอ … ครั้งสุดท้ายนี้คุณหมอเจาะเอาเลือดออกไปปั่นแล้วฉีดกลับเข้าไปในเข่า คุณหมอบอกว่าเป็นวิธีรักษาแบบใหม่เรียกว่า PRP เป็นการเอาเกล็ดเลือดของเราเองเข้าไปรักษาการอักเสบเฉพาะที่ของเราเอง ซึ่งงานวิจัยทางการแพทย์ยืนยันว่าได้ผลดี เสียค่ารักษา 8,000 บาท หลังฉีดแล้วสามสัปดาห์อาการก็ยังไม่ดีขึ้น คุณหมอได้นัดหมายฉีดเพิ่มเติมอีก ผมอยากถามคุณหมอสันต์ว่า PRP นี้เป็นวิธีรักษาที่โอเค.ไหม ได้ผลดีจริงหรือเปล่า มีอันตรายไหม ควรจะทำการรักษาต่อไปไหม ถ้าไม่โอเค.ทำไมทางโรงพยาบาลไม่ควบคุมหมอ ทำไมจึงยอมให้หมอทำอย่างนี้อยู่ได้
……………………………………….

ตอบครับ

ก่อนอื่นผมขอเล่าแบ้คกราวด์ให้ท่านผู้อ่านทั่วไปทราบสักหน่อยก่อนนะ ว่า PRP ย่อมาจาก platelet rich plasma แปลว่าน้ำเลือดส่วนที่มีปริมาณเกล็ดเลือดอยู่มาก วงการแพทย์รู้มานานแล้วว่าเกล็ดเลือด (platelet) นี้ปกติมันผลิตโมเลกุลที่เรียกรวมๆกันว่า growth factors (GF) ได้หลายตัว และรู้มานานแล้วว่าโมเลกุล GF เหล่านี้มันมีบทบาทในการแก้ปัญหาการอักเสบในร่างกาย จึงได้มีหมอจำนวนหนึ่ง “ลอง” เอาเลือดของคนไข้ออกมาปั่นแยกให้เลือดเป็นชั้นๆตามความหนักของเซลชนิดต่างๆในเลือดเอง แล้วเอาน้ำเลือดชั้นที่มีเกล็ดเลือดแยะๆที่เรียกว่า PRP นี้ออกมาใส่กระบอกฉีดยาแล้วฉีดกลับเข้าไปให้คนไข้ แต่ไม่ได้ฉีดกลับเข้าไปทางหลอดเลือดดำนะ ฉีดเข้าไปตรงกล้ามเนื้อหรือเอ็นที่คิดว่ามีการอักเสบนั่นเลย มักจะเน้นที่เอ็นหรือกล้ามเนื้อรอบๆข้อ แต่ไม่เกี่ยวอะไรกับตัวข้อนะครับ โดยตั้งสมมุติฐานว่าเมื่อเทเกล็ดเลือดปริมาณมากๆอัดเข้าไปในที่เดียวมันน่าจะปล่อย GF ออกมามากพอที่จะเร่งรัดการเยียวยาการอักเสบบริเวณนั้นให้เร็วขึ้นได้ วิธีการรักษาแบบนี้เรียกว่า platelet rich therapy (PRT)

ถามว่า PRT นี้เป็นวิธีรักษาการอักเสบรอบข้อที่ได้ผลไหม ตอบว่ามีงานวิจัยขนาดเล็กๆกะป๊อดกะแป๊ดจำนวนหลายสิบรายการซึ่งให้ผลเปะปะไปคนละทิศคนละทางสรุปอะไรไม่ได้ แต่เมื่อเดือนเมษาที่ผ่านมานี้ หอสมุดโค้กเรนได้ทำการวิจัยแบบเมตาอานาไลซีส หมายความว่าเลือกเอางานวิจัยเล็กๆเหล่านั้นเฉพาะที่ออกแบบการวิจัยไว้ดี เอาข้อมูลทุกงานวิจัยมารวมกันแล้ววิเคราะห์ดูว่าผลในภาพรวมจะเป็นอย่างไร ปรากฏว่าคัดได้ 19 งานวิจัย มีคนไข้รวม 1,088 คน ตำแหน่งที่ฉีดก็เป็นที่เข่าบ้าง ที่ไหล่บ้าง ที่ศอกบ้าง ที่เอ็นร้อยหวายบ้าง แล้วประเมินโดยเอาอาการปวด (pain) การใช้งาน (function) และผลข้างเคียงของการฉีด (adverse reaction) เป็นตัวชี้วัดในการประเมิน พบว่าข้อมูลที่ได้ยังไม่หนักแน่นพอที่จะสนับสนุนให้ใช้วิธี PRT เป็นวิธีมาตรฐานในการรักษาการบาดเจ็บหรือการอักเสบของกล้ามเนื้อและเอ็นครับ พูดแบบบ้านๆก็คือ วิธีนี้ยังไม่ได้ผลชัดเจน

ในประเด็นอันตรายของการรักษาแบบ PRT นี้นั้น ข้อสรุปจากการวิจัยของโค้กเรนนี้สรุปว่าก็ไม่มีอันตรายอะไรใหญ่โต นอกจากภาวะแทรกซ้อนเล็กๆน้อยๆเช่นฉีดเข้าไปผิดที่ไปโดนเส้นประสาทเข้าจังๆแล้วก็ปวดไปหลายเดือนเป็นต้น

ถามว่าทำไมโรงพยาบาลอนุญาตให้แพทย์ทำการรักษาที่ไม่ใช่การรักษามาตรฐานอยู่ได้ ตอบว่าคำว่าการรักษามาตรฐานนี้มันไม่เหมือนพระราชบัญญัติหรือกฎหมายที่มีตัวหนังสือครอบคลุมชัดเจนครบถ้วนไปทุกเรื่องทุกประเด็นนะครับ เพราะวิธีรักษาใหม่ๆในทางการแพทย์ถูกคิดค้นขึ้นมาตลอดเวลา คิดได้ก็เอามาลองใช้กับคนไข้ในรูปแบบของการจัยทางคลินิก การวิจัยของใหม่ๆในระยะแรกมักเป็นแบบต่างคนต่างทำแยกย้ายกันทำหลายประเทศหลายโรงพยาบาล ก็จะมีข้อมูลผลวิจัยทยอยออกมา บางงานวิจัยก็จะรายงานว่าได้ผล บางงานก็จะรายงานว่าไม่ได้ผล คือหักล้างกันเองทำให้สรุปภาพรวมไม่ได้ คำแนะนำการรักษาอย่างเป็นทางการ (guidelines) ก็ยังไม่มี ณ จุดนี้มันยังไม่มีใครบอกได้ว่านี่ถือเป็นการรักษามาตรฐานหรือยัง เรียกว่ามีช่องว่างอยู่ และในช่องว่างนี้เอง หมอที่ชอบลองวิธีรักษาใหม่ๆก็จะไปหยิบเอาเฉพาะงานวิจัยที่รายงานว่าได้ผลมาแบ๊คอัพการลองรักษาคนไข้ของตัวเอง หมอทำอะไรใหม่ๆเล็กๆน้อยๆกันแบบนี้อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน โรงพยาบาลมักจะไม่ได้เข้าไปยุ่ง ถือว่าเป็นเอกสิทธิ์ในการรักษาคนไข้ของแพทย์

ข้อดีของระบบการทำงานแบบให้เอกสิทธิ์แพทย์นี้ก็คือ (1) ทำให้วิทยาศาสตร์ก้าวหน้าไปได้เร็ว และ (2) ดึงให้คนที่มี creativity สูงอยู่ในอาชีพแพทย์ได้นาน

แต่ข้อเสียก็คือ (1) ถ้าเป็นเรื่องที่มีความเสี่ยง คนไข้ที่ถูกจับรักษาแบบใหม่โดยไม่รู้อิโหน่อิเหน่ก็จะเสียหาย และ (2) ระบบเช่นนี้เปิดช่องให้คนไม่ดีที่แฝงตัวอยู่ในอาชีพแพทย์เอาการรักษาใหม่ๆที่ยังไม่รู้ว่าดีจริงหรือไม่มาใช้กับผู้ป่วยโดยมุ่งหวังเก็บเงินให้ได้มากขึ้นเป็นสำคัญ

วิธีแก้ปัญหานี้ที่ดีที่สุดไม่ใช่ให้โรงพยาบาลคุมหมอแจมากขึ้น ขืนทำอย่างนั้นต่อไปคนที่มี creativity สูงก็จะหนีจากอาชีพแพทย์หมด แต่ทางออกที่ดีที่สุดคือทั้งคนไข้และทั้งโรงพยาบาลต้องสนับสนุนให้แพทย์ทำการวิจัยทางคลินิกได้ง่ายขึ้น ย้ำว่าผมพูดถึงสองส่วนนะครับ “คนไข้” กับ “โรงพยาบาล”

เอาด้านคนไข้ก่อน คนไข้ฝรั่งเวลาอ่านเจอเรื่องการรักษาอะไรใหม่ๆหากเขาอยากได้รับการรักษาแบบนั้นบ้างเขาจะไปสมัครเข้าร่วมงานวิจัยทางคลินิก เพราะเขาถือว่ามีแต่ได้กับได้ ด้านหนึ่งอาจจะได้ประโยชน์จากยาหรือการรักษาใหม่ๆ อีกด้านหนึ่งได้ร่วมสร้างองค์ความรู้ไว้ให้โลกด้วย แต่คนไข้ไทยหากหมอชวนเซ็นชื่อสมัครเข้าร่วมงานวิจัยจะถอยทันที เพราะคนไข้ไทยมีหลักคิดว่าเรื่องอะไรตัวเองจะยอมเป็นหนูตะเภา เอาไว้ให้คนอื่นเป็นหนูตะเภาไปก่อนแล้วตัวเองมารอรับประโยชน์เมื่อผลวิจัยมีข้อสรุปเบ็ดเสร็จแล้วไม่ดีกว่าหรือ แต่ความเป็นจริงคือว่าเมื่อคนไข้ไม่ยอมเข้าร่วมงานวิจัยในรูปแบบมาตรฐานซึ่งมีระบบให้ข้อมูลและระบบคุ้มกันความเสี่ยงคนไข้อย่างดี คนไข้คนเดิมนั้นแหละกลับต้องมาถูกลองวิธีรักษาแบบใหม่ๆชนิดหมอค่อยๆแอบทำแบบนิ่มๆเนียนๆ ประเด็นของผมคือวิธีทดลองแบบหลังนี้ไม่มีหลักประกันเรื่องความเสี่ยงใดๆในระหว่างการทดลองให้คนไข้เลยนะครับ แล้วถ้าคุณเป็นคนไข้ คุณควรจะเลือกแบบไหน

ทางด้านโรงพยาบาลบ้าง โรงพยาบาลในเมืองไทยนี้เหมือนกันหมดอยู่อย่างหนึ่งคือผู้บริหารโรงพยาบาลไม่เคยสนใจสนับสนุนงานวิจัยเลย ผมหมายความว่า 0% ไม่เว้นแม่แต่โรงพยาบาลของมหาวิทยาลัยซึ่งมี “การวิจัย” เป็นมิชชั่นหลักขององค์กร การไม่สนใจงานวิจัยของโรงพยาบาลสะท้อนให้เห็นได้จากจำนวนและคุณภาพของงานวิจัยทางคลินิกที่โรงพยาบาลแห่งนั้นตีพิมพ์ในแต่ละปี ผู้บริหารมักจะอ้างว่าแพทย์ไม่สนใจทำวิจัย การพูดอย่างนั้นเป็นไปได้อย่างใดอย่างหนึ่งในสองอย่าง คือ (1) คนพูดไม่รู้หลักวิชาบริหาร จึงไม่รู้ว่าองค์กรจะผลิตอะไรได้สำเร็จมันขึ้นอยู่ที่การวางเป้าหมายและจัดสรรทรัพยากรของผู้บริหาร ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับนิสัยของคนในองค์กร เพราะพฤติกรรมของคนในองค์กรนั้นเปลี่ยนได้ด้วยวิธีจัดสรรทรัพยากรขององค์กร หรือ (2) คนพูดไม่เชื่อในคุณค่าของการวิจัยทางคลินิก

เอ๊ะ แล้วเรามาอยู่ที่ตรงนี้ได้ไงเนี่ย หมายความว่าทำไมผมมา ส. ใส่เกือก นั่งแนะแหนผู้บริหารโรงพยาบาลทั่วประเทศอยู่ได้ ทั้งๆที่เราคุยกันเรื่องฉีดพลาสม่ารักษาปวดเข่าแท้ๆ หยุดละ จบดีกว่า ก่อนที่จะถูกเมียสั่งห้ามเขียนบล็อก

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม
1. Moraes VY. “Platelet-rich therapies for musculoskeletal soft tissue injuries”. Cochrane Database Syst Rev.2014; 29 (4): CD010071.doi:10.1002/14651858.CD010071.pub3.

https://drsant.com/2014/12/platelet-rich-plasma-therapy.html


โดย: หมอหมู วันที่: 20 มกราคม 2564 เวลา:16:17:17 น.  

 
การรักษา เข่าเสื่อม .. สิ่งสำคัญที่สุด คือ การดูแลตนเองบริหาร ยาเป็นเพียงตัวช่วย เท่านั้น

ข้อเข่าเสื่อม
https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=29-05-2008&group=5&gblog=15

บ้านสำหรับผู้สูงอายุ
https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=21-03-2008&group=5&gblog=11

ผู้สูงอายุ ท่าทางที่เหมาะสม
https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=21-03-2008&group=5&gblog=10



โดย: หมอหมู วันที่: 20 พฤศจิกายน 2564 เวลา:16:28:05 น.  

 
PRP ถือว่า เป็น ทางเลือก ... แต่เหมือนจะกลายเป็น ทางการตลาด ไปแล้ว ?
ศึกษาหาความรู้ ถ้ารู้แล้ว จะเลือก ก็ไม่ผิด ..

น้ำไขข้อเทียม (แถม ฉีดยาเข้าข้อเข่า , การฉีดเกล็ดเลือด PRP)
https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=29-05-2008&group=5&gblog=16

ผลการรักษาผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมโดยการฉีดพลาสม่าที่อุดมด้วยเกล็ดเลือด ในจังหวัดนครศรีธรรมราช
ผู้แต่ง ปรานปวีณ์ โรจน์เจริญงาม กลุ่มงานศัลยกรรมออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช
มหาราชนครศรีธรรมราชเวชสาร ปีที่ 5 ฉบับที่ 2 (2022): มกราคม 2565 - มิถุนายน 2565
https://he01.tci-thaijo.org/index.php/MNSTMedJ/article/view/253962

“ปั่นเลือดแล้วนำมาฉีดเข้าข้อเข่า” อีกหนึ่งทางเลือกก่อนการรักษาข้อเข่าเสื่อม
นพ.ณัฐพงศ์ หงษ์คู ภาควิชาออร์โธปิดิกส์ วชิรพยาบาล
https://sites.google.com/nmu.ac.th/ortho-vjr?fbclid=IwAR0DXQljH248U5QlI7v1t8_pWQW_XxqeeE_8I-ER1edZTCOhFnUN1_nQhDg

การรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมด้วยการ “ฉีดยาเข้าข้อเข่า”
โรงพยาบาลเฉพาะทางกระดูกและข้อ ข้อดีมีสุข
https://kdmshospital.com/article/knee-injection/




โดย: หมอหมู วันที่: 11 มีนาคม 2566 เวลา:17:03:01 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

หมอหมู
Location :
กำแพงเพชร Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 762 คน [?]




ผมเป็น ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ หรือ อาจเรียกว่า หมอกระดูกและข้อ หมอกระดูก หมอข้อ หมอออร์โธ หมอผ่าตัดกระดูก ฯลฯ สะดวกจะเรียกแบบไหน ก็ได้ครับ

ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ เป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาหนึ่ง ซึ่งเมื่อเรียนจบแพทย์ทั่วไป 6 ปี ( เรียกว่า แพทย์ทั่วไป ) แล้ว ก็ต้องเรียนต่อเฉพาะทาง ออร์โธปิดิกส์ อีก 4 ปี เมื่อสอบผ่านแล้วจึงจะถือว่าเป็น แพทย์ออร์โธปิดิกส์ โดยสมบูรณ์ ( รวมเวลาเรียนก็ ๑๐ ปี นานเหมือนกันนะครับ )

หน้าที่ของหมอกระดูกและข้อ จะเกี่ยวข้องกับความเจ็บป่วย ของ กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูก ข้อ และ เส้นประสาท โรคที่พบได้บ่อย ๆ เช่น กระดูกหัก ข้อเคล็ด กล้ามเนื้อฉีกขาด กระดูกสันหลังเสื่อม ข้อเข่าเสื่อม กระดูกพรุน เป็นต้น

สำหรับกระดูกก็จะเกี่ยวข้องกับกระดูกต้นคอ กระดูกสันหลัง กระดูกเชิงกราน กระดูกข้อไหล่ จนถึงปลายนิ้วมือ กระดูกข้อสะโพกจนถึงปลายนิ้วเท้า ( ถ้าเป็นกระดูกศีรษะ กระดูกหน้า และ กระดูกทรวงอก จะเป็นหน้าที่ของศัลยแพทย์ทั่วไป )

นอกจากรักษาด้วยการให้คำแนะนำ และ ยา แล้วยังรักษาด้วย วิธีผ่าตัด รวมไปถึง การทำกายภาพบำบัด บริหารกล้ามเนื้อ อีกด้วย นะครับ

ตอนนี้ผม ลาออกจากราชการ มาเปิด คลินิกส่วนตัว อยู่ที่ จังหวัดกำแพงเพชร .. ใช้เวลาว่าง มาเป็นหมอทางเนต ตอบปัญหาสุขภาพ และ เขียนบทความลงเวบ บ้าง ถ้ามีอะไรที่อยากจะแนะนำ หรือ อยากจะปรึกษา สอบถาม ก็ยินดี ครับ

นพ. พนมกร ดิษฐสุวรรณ์ ( หมอหมู )

ปล.

ถ้าอยากจะถามปัญหาสุขภาพ แนะนำตั้งกระทู้ถามที่ .. เวบไทยคลินิก ... ห้องสวนลุม พันทิบ ... เวบราชวิทยาลัยออร์โธปิดิกส์ หรือ ทางอีเมล์ ... phanomgon@yahoo.com

ไม่แนะนำ ให้ถามที่หน้าบล๊อก เพราะอาจไม่เห็น นะครับ ..




New Comments
[Add หมอหมู's blog to your web]