Ortho knowledge for all @ Do no harm patient and myself @ สุขภาพดี ไม่มีขาย ถ้าอยากได้ ต้องสร้างเอง

อาหารเสริมกับโรคข้อ

อาหารเสริมกับโรคข้อ
ดัดแปลงจากบทความของ นพ. พงษ์ศักดิ์ วัฒนา
//www.thaiarthritis.org/people03.htm

เป็นความเชื่อของมนุษย์เราตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์ที่พยายามขวนขวายหาวิธีการลดอาการปวดของข้อต่อที่อักเสบ ตลอดจนอาการปวดทุกชนิดที่เป็นเรื้อรังและไม่ทราบสาเหตุ โดยการเลือกหรืองดอาหารบางประเภทว่าสามารถลด อาการปวดลงได้ ในประเทศสหรัฐอเมริกา ยุโรป แม้แต่ในประเทศไทยมีการจำหน่ายอาหารเสริมกันอย่างมากมาย และมีการอวดอ้างสรรพคุณในการรักษาโรคจากอาการปวดได้ทุกชนิด เป็นธุรกิจที่ดีมาก อาหารเสริมดังกล่าวมีดังนี้
1. อาหารเสริมแคลเซี่ยม
2. วิตามินเสริม
3. น้ำมันจากปลา ( Fish Oil )
4. เกลือแร่ต่าง ๆ เช่น ธาตุเหล็ก , ธาตุสังกะสี
5. สมุนไพรชนิดต่าง ๆ
6. กระเทียม
7. น้ำผึ้ง
8. กลูโคซามีน , ดอนครอยติน ( Glueosamine และ Chondroitin )
9. น้ำผลไม้ น้ำจากลูกยอทั้งจากต่างประเทศและในประเทศ

อาหารเสริมเหล่านี้มีการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ว่าสามารถรักษาโรคอาการปวดข้อ ได้ผลน้อยมาก ในต่างประเทศกลุ่มของอาหารเสริมสามารถจะหาซื้อได้โดยไม่ต้องใช้ใบสั่งยา ผู้ป่วยที่เป็นโรคข้อซึ่งพวกเรา คงทราบแล้ว ว่ากว่าร้อยละ 90 ของโรคข้อเป็นโรคที่รักษาไม่หายขาด จำเป็นต้องรับประทานยาต้านการอักเสบ (N’SAID s) เป็นระยะเวลาเป็นเดือนหรือเป็นปี ก็พยายามดิ้นรนที่จะรักษาโรคข้อ ให้หายขาดจากการแนะนำของ เพื่อน การโฆษณาทางหนังสือพิมพ์ หรือการซื้อขายทางตรง ( Direct Sale ) เพื่อหวังว่าอาการทางโรคข้อมีโอกาส หายขาดได้ การซื้ออาหารเสริมมารับประทานกันเองทำให้ต้องสูญเสียเงินทองอย่างมหาศาลในแต่ละปี ผู้เขียนเคยพบ อาหารเสริมจำนวนมากมายจากผู้ป่วยที่มารักษาที่คลินิกส่วนตัวที่นำมาให้ดู โดยที่ญาติอาจจะเป็นลูกหรือพี่น้องที่หวัง ดีซื้อส่งมาจากประเทศอเมริกา มาให้รับประทาน

วิตามินเสริม ในขนาดที่แนะนำจะไม่เกิดอันตรายต่อสุขภาพแต่ถ้ารับประทานวิตามินเอ หรือวิตามินดี ในขนาดที่สูงกว่าที่กำหนดไว้จะมีอันตรายต่อสุขภาพได้

ธาตุเหล็ก ใช้ในการรักษาในโรคโลหิตจาง ซึ่งพบบ่อยใน คนที่เป็นโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ สาเหตุการเป็นโรคโลหิตจางมีสาเหตุจากโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์เอง หรือจากการ รับประทานยาต้านอักเสบ ( N ’ SAID s ) ทำให้เกิดแผลในกระเพาะหรือจากรับประทานยาสเตียรอยด์มานาน ๆ การรับประทานธาตุเหล็กอย่างเดียวอาจจะไม่ได้ผล ควรปรึกษาแพทย์โรคข้อทุกครั้งก่อนรับประทานธาตุเหล็ก

แคลเซี่ยมเป็นอาหารเสริมยอดฮิตในปัจจุบันประชาชนทั่วไปเมื่อมีอาการปวดจากข้อเสื่อมหรือข้ออักเสบชนิดใดก็ตาม จะไปซื้อแคลเซี่ยมมารับประทาน ทำให้บริษัทขายนมมีการผสมระดับของแคลเซี่ยมให้สูงขึ้น เพื่อเป็นจุดขายของ สินค้าของตน แคลเซี่ยมจะมีประโยชน์ ในเด็กที่กำลังเจริญเติบโต ในผู้หญิงตั้งครรภ์ ในผู้หญิงที่หมดประจำเดือน ในผู้สูงอายุที่รับประทานลำบาก และระบบย่อยอาหารไม่ค่อยดี หรือ ในผู้ที่มีกระดูกหัก เป็นต้น
แคลเซี่ยมจะช่วยให้กระดูกแข็งแรงขึ้น ป้องกันโรคกระดูกโปร่งบาง ( Osteoporosis ) ซึ่งโรคนี้ปกติจะไม่ค่อยมี อาการปวด จะมีอาการปวดเมื่อกระดูกหักแล้วประชาชนทั่วไปเข้าใจผิดคิดว่าแคลเซี่ยมสามารถรักษาโรคข้ออักเสบ ได้ บางคนดื่มนมตลอดทั้งวันเพื่อให้อาการปวดเข่าหายไป ซึ่งนอกจากจะเสียเงินแล้วยิ่งทำให้ตนเอง อ้วนมากขึ้น ก็ยิ่งทำให้ข้อเข่าเสื่อมมากขึ้น

กลูโคซามีน และคอนตรอยติน อาหารเสริมในกลุ่มนี้เป็นที่นิยมกันมากมีกว่า 100 ชนิด ผลิตจากหลายบริษัท กลูโคซามีน สกัดมาจากกระดองปู กุ้งมังกร และเปลือกกุ้ง ส่วนคอนตรอยติน สกัดมาจากหลอดลมของวัว ควาย โดยเชื่อว่าสารทั้ง 2 ชนิดนี้จะช่วยซ่อมสร้างผิวกระดูกอ่อนที่ปลายกระดูกในข้อต่อ เสื่อม ให้กลับฟื้นขึ้นมาได้ และทำให้ลดอาการปวดลง แพทย์กระดูกและข้อในประเทศสหรัฐอเมริกาไม่เชื่อว่า อาหารเสริมกลุ่มนี้ช่วยรักษาข้อเสื่อมได้ แต่แพทย์กระดูกและข้อในทวีปยุโรปมีความเชื่อว่าช่วยรักษาได้ โดยสรุปแล้วการรักษาโรคข้อเสื่อมด้วยกลูโคซามีน และคอนดรอยตินในโรคข้อเสื่อมยังเป็นข้อถกเถียงกันอยู่ แต่มีหลักการคร่าว ๆ ดังนี้ ถ้ารับประทานยาในกลุ่มนี้แล้วไม่ได้ผลในการลดอาการปวดจากข้อเสื่อมในระยะเวลา 1 – 2 เดือน ควรหยุดยาได้แล้ว ปกติจะได้ผลในระยะเวลา 6 – 8 สัปดาห์ โดยใช้ขนาดดังนี้
กลูโคซามีน 1,500 มก. / วัน
คอนดรอยติน 1,200 มก. / วัน

ถ้าท่านอยากจะลองรับประทานอาหารเสริมขอแนะนำดังนี้
1.ปรึกษาแพทย์ก่อนว่าควรจะรับประทานอาหารเสริมหรือไม่?
2.อย่าหยุดยาที่แพทย์สั่งให้รับประทาน
3.ควรจะให้แพทย์วินิจฉัยว่าเป็นอาการปวดจากโรคข้อเสื่อม ก่อนจึงค่อยรับประทาน เพราะกลูโคซามิน , คอนดรอยติน ไม่สามารถรักษาอาการปวดจากโรคเนื้องอก ( Cancer ) , กระดูกหัก หรือ ข้ออักเสบรูมาตอยด์ได้
4.อย่ารับประทานอาหารเสริม ถ้าท่านตั้งท้องหรือคิดว่าตั้งท้อง และไม่ควรให้เด็กรับประทาน
5.ถ้าท่านเป็นโรคเบาหวาน ถ้ารับประทานกลูโคซามิน ควรจะตรวจระดับน้ำตาลในเลือดให้บ่อยขึ้น
6.คนที่แพ้อาหารทะเล จะมีโอกาสแพ้อาหารเสริมกลูโคซามีนด้วย
7.ถ้าท่านรับประทาน แอสไพริน ในการป้องกันหลอดเลือดตีบในหัวใจ ถ้ารับประทานคอนดรอยติน ควรจะตรวจการแข็งตัวของเลือดในร่างกาย
8.อย่าหยุดยาที่รับประทานในการรักษาโรคข้อ แม้รับประทานอาหารเสริมแล้วลดอาการปวดข้อได้
9.บริหารร่างกาย รักษาน้ำหนักตัวอย่าให้อ้วนเกินไป และรับประทานอาหารตามที่แพทย์สั่ง



Create Date : 01 กรกฎาคม 2551
Last Update : 1 กรกฎาคม 2551 19:56:42 น. 3 comments
Counter : 10753 Pageviews.  

 

กระดูกอ่อนฉลามรักษามะเร็ง?

//www.doctor.or.th/node/2526

นิตยสาร หมอชาวบ้าน เล่ม :236
เดือน-ปี :12/2541
นักเขียน หมอชาวบ้าน :รศ.นพ.สุ รเกียรติ อาชานานุภาพ


ยาเม็ดแคปซูลกระดูกอ่อนฉลาม (shark cartilage) เป็นผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพอีกชนิดหนึ่งที่มีการกล่าวขาน (ลือ)กันว่า สามารถรักษามะเร็งได้ เริ่มแรกมีการจำหน่ายในตลาดอเมริกา ในปัจจุบันก็มีการนำมาเผยแพร่ ในบ้านเรา ซึ่งจำหน่ายในราคาที่ค่อนข้างแพง และก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่นิยมซื้อยานี้มากิน

ผู้เผยแพร่สรรพคุณของ ยาชนิดนี้ กล่าวอ้างว่า นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบว่า ในกระดูกอ่อนฉลามมีสารโปรตีนชนิดหนึ่งที่มีฤทธิ์ในการยับยั้งการสร้างหลอด เลือด ใหม่ของก้อนมะเร็ง นั่นก็คือเท่ากับตัดเส้นทางลำเลียงอาหารและอากาศที่ไปบำรุงเลี้ยงเซลล์ มะเร็ง จึงทำให้เซลล์มะเร็งฝ่อตายในที่สุด

นอกจากนี้ผู้เผยแพร่ยัง อ้างว่า ฉลามเป็นสัตว์ที่ไม่เป็นมะเร็ง(เพราะมีสารดังกล่าวอยู่ในตัวเอง) กอปรกับยานี้มีการใช้ในหมู่ชาวอเมริกัน(ซึ่งเป็นหมู่ชนที่พัฒนาแล้ว)ด้วย เหตุผลเหล่านี้จึงเชื่อว่า กระดูกอ่อนฉลาม รักษามะเร็งได้จริง

คำ ถามน่าคิด ก็คือ ถ้าได้ผลจริง ทำไมแพทย์ จึงไม่ส่งเสริมให้นำมาใช้รักษามะเร็ง?

คำตอบก็คือ แพทย์เรามักจะต้องอาศัยหลักฐานการ ทดลองวิจัยในคนไข้ จนเห็นว่าได้ผลจริงและปลอดภัยจริงแล้วเท่านั้น จึงจะยอมรับ ดังกรณีของเอนโดสแตติน และแองจิโอสแตติน ที่ถึงแม้จะทดลองในหนูตะเภาว่าได้ผลในการรักษามะเร็ง แต่ก็ยังต้องรอพิสูจน์ในคนต่อไป เพราะมียาจำนวนมากที่ทดลองในหนูได้ผล แต่ทดลอง ในคนกลับไม่ได้ผลหรือไม่ก็มีผลข้างเคียงร้ายแรงตามมาแทน (ดูใน “หมอชาวบ้าน” ฉบับมิถุนายน ๒๕๔๑ หน้า ๒๐-๒๑)

ดังนั้นการอนุมานแต่ เพียงว่า ในกระดูกอ่อนฉลามมีสารโปรตีน ที่มีฤทธิ์ที่สามารถยังยั้งการเจริญเติบโตของมะเร็งได้ ก็น่าจะนำมาใช้รักษามะเร็งในคนได้ ย่อมไม่จำเป็นต้องถูกเสมอไป

หรือคิด ว่า ขนาดชาวอเมริกันที่เป็นอารยชนยังนิยมใช้ยานี้กัน ยานี้ต้องมีผลดีแน่หรือคิดตื้นๆว่า ยานี้มีราคาแพง ก็คงจะต้องเป็นยาดี

ความ คิดเหล่านี้ย่อมขัดกับหลักกาลามสูตรของพระพุทธองค์ที่สอน มิใช่สักแต่เชื่ออะไรๆ ด้วยเหตุที่น่าเชื่อ

ข่าวสารสุขภาพในเว็บไซ ต์(อินเตอร์เนต)ของเมโยคลินิก ซึ่งเป็นสถาบันการแพทย์ที่มีชื่อเสียงของอเมริกา ได้เคยสรุปความเห็นของผู้เชี่ยวชาญโรคมะเร็งเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า “อย่ามัวเสียเงินซื้อแคปซูลกระดูกอ่อนฉลาม มากินรักษามะเร็งกันเลย เพราะยังไม่มีหลักฐานการ วิจัยในคนไข้เลยสักชิ้น”

นอกจากนี้ ยังมีข้อเท็จจริงที่ควรพิจารณา เช่น

- ปลาฉลามก็ป่วยเป็น มะเร็งได้เช่นกัน(ตรงข้ามกับการกล่าวอ้างหรือข่าวที่ลือกัน)

- สารโปรตีนดังกล่าว เมื่อกินตกลงไปในกระเพาะลำไส้ ก็จะถูกน้ำย่อยย่อย จนเหลือน้อยมากที่จะถูก ดูดซึมเข้าร่างกาย(ทั้งนี้ยังไม่ได้พูดถึงประเด็นที่แคปซูลกระดูกอ่อนฉลาม จะมีสารโปรตีนดังกล่าวอยู่ปริมาณ มากน้อยเพียงใดอีกด้วย)

ข่าวล่า จากเว็บไซต์ของเมโยคลินิกเดียวกันนี้ ได้มีข่าวสารเพิ่มเติมว่า วารสารทางการแพทย์ (Journal of Clinical Oncology) ฉบับเดือนพฤศจิกายนนี้ มีการตีพิมพ์ผลการวิจัยการใช้แคปซูลกระดูกอ่อนฉลามในคนไข้มะเร็งเต้านม ลำไส้ใหญ่ ต่อมลูกหมาก และสมอง จำนวน ๖๐ ราย ว่าไม่ได้ผลในการยับยั้งมะเร็งแต่อย่างใด

นี่คงเป็นคำตอบว่า ทำไมกระดูกอ่อนฉลามที่ลือกันว่าใช้รักษามะเร็งได้ แพทย์จึงยังไม่สนใจที่จะนำมาใช้และก็คงจะเป็นอุทาหรณ์สำหรับผู้บริโภคว่า ในการรับฟังข่าวสารอะไร คงต้องยึดหลักกาลามสูตรและอย่าพึงเชื่ออะไรง่ายๆ




ปล. แต่ปัจจุบันนี้ ก็ยังมีคนเชื่ออยู่


โดย: หมอหมู วันที่: 21 กรกฎาคม 2553 เวลา:9:20:17 น.  

 
//www.pharmacy.mahidol.ac.th/thai/knowledgeinfo.php?id=41

ไขข้อข้องใจเกี่ยวกับกลูโคซามีน (glucosamine) ในโรคข้อเสื่อม


โรคข้อเสื่อมเป็นโรคที่พบว่ามีการสึกกร่อนของกระดูกอ่อน เนื่องจากมีปริมาณของโปรตีโอไกลแคน (proteoglycans) ลดลง ทำให้ความสามารถในการรองรับการเคลื่อนไหวของกระดูกข้อต่อลดลง เกิดอาการปวดขึ้นเมื่อมีการลงน้ำหนัก หรือมีกิจกรรมบนข้อนั้นๆ จากการเปลี่ยนแปลงของกระดูกอ่อนที่พบในผู้ป่วยโรคข้อเสื่อมดังกล่าวนี้ จึงทำให้เกิดแนวคิดในการนำเอากลูโคซามีนซึ่งเป็นสารตั้งต้นของการสร้างโปรตีโอไกลแคนที่เป็นองค์ประกอบในกระดูกอ่อนมาใช้เพื่อรักษาหรือชะลอการเสื่อมของข้อในโรคข้อเสื่อม

กลูโคซามีน (glucosamine) เป็นสารประกอบประเภทน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว (monosaccharide) ที่ปกติถูกสร้าง และพบในร่างกายของทุกคนอยู่แล้ว กลูโคซามีนจะถูกนำไปใช้เป็นสารตั้งต้นในการสร้างสารขนาดโมเลกุลใหญ่ เช่น โปรตีโอไกลแคน, ไกลโคโปรตีน (glycoprotein), ไกลโคสามิโนไกลแคน (glycosaminoglycan), กรดไฮยาลูโรนิก (hyaluronic acid) สารเหล่านี้เป็นส่วนประกอบในเนื้อเยื่อเกือบทุกชนิดของร่างกาย โดยจะพบได้มากที่กระดูกอ่อน (cartilage)ซึ่งจะอยู่ที่บริเวณส่วนปลายของกระดูกโดยเฉพาะที่ข้อต่อ กระดูกอ่อนนั้นประกอบด้วยเมทริกซ์ของเส้นใยคอลลาเจนที่มีโปรตีโอไกลแคนอยู่ภายใน โดยโปรตีโอไกลแคนเป็นสารโมเลกุลใหญ่ที่มีความสามารถในการดึงน้ำเข้ามาหาตัวเองได้ดี จึงทำให้กระดูกอ่อนมีความยืดหยุ่น และสามารถรองรับการเคลื่อนไหวของกระดูกข้อต่อได้ ซึ่งจัดเป็นบทบาทสำคัญของกลูโคซามีนในเรื่องการทำงานของข้อ นอกจากนี้กลูโคซามีนยังมีผลยับยั้งการทำงานของสารอักเสบได้หลายชนิด จึงมีผลลดการอักเสบของข้อด้วย

กลูโคซามีนที่มีจำหน่ายแบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ตามการขึ้นทะเบียน คือ (1) ยาอันตราย และ (2) ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ซึ่งทั้งสองแบบมีความแตกต่างกันในขั้นตอนการยื่นขอขึ้นทะเบียน รวมถึงเอกสารที่จำเป็นในการขอขึ้นทะเบียน กล่าวคือ

กลูโคซามีนที่ขึ้นทะเบียนเป็นยาอันตราย มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในการรักษาโรคข้อเสื่อม ซึ่งจะต้องมีเอกสารยืนยันถึงการศึกษาทางการแพทย์ที่แสดงประสิทธิภาพและความปลอดภัยของสารดังกล่าว และการใช้ยาจะอยู่ภายใต้การสั่งใช้จากแพทย์เท่านั้น

ส่วนกลูโคซามีนที่ขึ้นทะเบียนเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงใช้รับประทาน นอกเหนือจากการรับประทานอาหารหลักตามปกติ และในการขอขึ้นทะเบียนไม่จำเป็นต้องแสดงการศึกษาทางการแพทย์ประกอบ

สำหรับในประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุขได้อนุญาตให้มีกลูโคซามีนชนิดที่เป็นยาอันตรายเท่านั้นที่ได้รับการขึ้นทะเบียน และจำหน่ายในประเทศได้

ทั้งยาและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารของกลูโคซามีนมีจำหน่ายในรูปแบบของสารประกอบเกลือหลายชนิด เช่น เกลือซัลเฟต (glucosamine sulfate), เกลือไฮโดรคลอไรด์ (glucosamine hydrochloride), เกลือคลอโรไฮเดรต (glucosamine chlorohydrate หรือ N-acetylglucosamine) ซึ่งทำให้ขนาดโมเลกุลและคุณสมบัติอื่นๆ ของกลูโคซามีนมีความแตกต่างกันไป เช่น ความคงตัวเมื่อทำเป็นผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ในผลิตภัณฑ์ของกลูโคซามีนซัลเฟตยังมีการเติมโซเดียม หรือโปแตสเซียมในสูตรตำรับ เพื่อทำให้ผลิตภัณฑ์มีความคงตัวเพิ่มขึ้น โดยกลูโคซามีนซัลเฟตเป็นกลูโคซามีนที่ขึ้นทะเบียนเป็นยาอันตรายและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ส่วนกลูโคซามีนในรูปแบบอื่นจะขึ้นทะเบียนเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร

ด้านประสิทธิภาพของกลูโคซามีนต่อโรคข้อเสื่อม พบว่าการศึกษาทางการแพทย์ขนาดใหญ่ส่วนมากเป็นการศึกษาโดยใช้กลูโคซามีนซัลเฟต (glucosamine sulfate) ที่ขึ้นทะเบียนเป็นยาอันตราย

ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่าการให้ผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมได้รับกลูโคซามีนซัลเฟตในขนาด 1,500 มิลลิกรัมต่อวัน เป็นเวลานาน 3 ปี ช่วยลดอาการปวด และช่วยลดการแคบของข้อได้เมื่อเปรียบเทียบกับการไม่ใช้ยา (หรือใช้ยาหลอก)

แต่การใช้กลูโคซามีนซัลเฟตในระยะสั้น เช่น 3-6 เดือน พบว่าผลการศึกษามีทั้งสองแบบ คือ ให้ผลดีในการรักษา และไม่เห็นความแตกต่างในการรักษาเมื่อเปรียบเทียบกับการไม่ใช้ยา

นอกจากนี้การศึกษาในผู้ป่วยข้อสะโพกเสื่อมก็ไม่แสดงประโยชน์เหนือกว่าการไม่ใช้ยาเช่นกัน

สำหรับกลูโคซามีนในรูปแบบอื่นนั้น พบว่ามีการศึกษาทางการแพทย์บ้าง แต่เป็นเพียงการศึกษาขนาดเล็ก จำนวนผู้ป่วยที่ใช้ศึกษาน้อย เช่น การใช้กลูโคซามีนไฮโดรคลอไรด์ ซึ่งขึ้นทะเบียนเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อม พบว่ากลูโคซามีนไฮโดรคลอไรด์ให้ประสิทธิภาพในการระงับปวดในผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมได้ไม่แตกต่างจากกลูโคซามีนซัลเฟต

จากข้อมูลการศึกษาทางการแพทย์ของกลูโคซามีนดังกล่าวข้างต้น แสดงให้เห็นว่าประสิทธิภาพของกลูโคซามีนในโรคข้อเสื่อมนั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น รูปแบบเกลือของกลูโคซามีน ตำแหน่งข้อที่เกิดการเสื่อม ขนาดยาที่ใช้ ระยะเวลาในการใช้ ซึ่งผู้บริโภค/ผู้ป่วยที่มีความประสงค์จะรับประทานกลูโคซามีน โดยเฉพาะในรูปแบบของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่สามารถหาซื้อได้เองจากร้านขายยาทั่วไป ควรศึกษาข้อมูลของผลิตภัณฑ์ดังกล่าวให้เข้าใจ หรือปรึกษาแพทย์/เภสัชกรเพื่อให้เกิดความเข้าใจถึงประโยชน์ที่จะได้รับให้มากยิ่งขึ้น เพราะนอกจากประโยชน์ที่ได้รับจากการใช้กลูโคซามีนแล้ว กลูโคซามีนในทุกรูปแบบยังมีข้อควรระวังและทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ได้ด้วย ดังนี้

- อาการไม่พึงประสงค์ที่พบได้บ่อยจากการรับประทานกลูโคซามีน คือ คลื่นไส้ ท้องเสีย แสบท้อง ปวดท้อง ท้องอืด นอกจากนี้ยังอาจพบอาการง่วงซึม ผื่นแพ้ผิวหนัง แพ้แสง ปากคอบวม (angioedema) หรือกระตุ้นให้เกิดการจับหืดได้

- ควรระมัดระวังการแพ้ในผู้ป่วยที่มีประวัติแพ้อาหารทะเล โดยเฉพาะกุ้ง ปู เพราะกลูโคซามีนที่มีจำหน่ายสังเคราะห์มาจากเปลือกของสัตว์ดังกล่าว

- ควรระมัดระวังการใช้ในผู้ป่วยโรคเบาหวาน โดยเฉพาะถ้าไม่สามารถคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ตามเป้าหมายการรักษา เพราะมีรายงานในสัตว์ทดลองว่ากลูโคซามีนทำให้การหลั่งอินซูลินลดลงได้ ถึงแม้ว่าจะยังไม่พบรายงานดังกล่าวในคนก็ตาม


บทความโดย: อาจารย์ ธนรัตน์ สรวลเสน่ห์

ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล



โดย: หมอหมู วันที่: 11 พฤษภาคม 2556 เวลา:21:21:18 น.  

 
“หมอธีระวัฒน์” เผย สมาคมแพทย์สหรัฐฯ จักษุวิทยา ชี้ กลูโคซามีน ผลข้างเคียงทำตาบอด

//www.hfocus.org/content/2015/07/10419
Fri, 2015-07-17 14:22 -- hfocus

“หมอธีระวัฒน์” เผย รายงานสมาคมแพทย์สหรัฐ จักษุวิทยา ชี้ผลข้างเคียง “กูลโคซามีน” ทำผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมความดันลูกตาสูง เสี่ยงภาวะต้อหิน-ตาบอด ระบุแพทย์สั่งจ่ายต้องเฝ้าระวังและติดตามผู้ป่วยใกล้ชิด พร้อมระบุงบรักษาพยาบาลมีจำกัด เฉลี่ยใช้ดูแลรักษาคนทั้งประเทศ ควรเลือกใช้ยารักษาโรคโดยตรง ไม่แค่สร้างความรู้สึกว่าดีขึ้น พร้อมยันไม่มีเจตนามุ่งโจมตีบริษัทขาย เพียงแต่แปลและให้ข้อมูลต่อสาธารณะเท่านั้น

นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ศาสตราจารย์สาขาประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงรายงานผลข้างเคียงจากการกิน “กูลโคซามีน” ที่ทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะต้อหินและตาบอดว่า เป็นรายงานจากวารสารสมาคมแพทย์สหรัฐ ทางจักษุวิทยา (JAMA) เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2556 ซึ่งได้เฝ้าระวังผู้ป่วยที่ใช้กูลโคซามีนเพื่อหวังผลในการลดอาการข้อเข่าเสื่อม โดยพบว่าผู้ป่วยกลุ่มนี้หลังกินกูลโคซามีนจะมีภาวะความดันลูกตาสูงขึ้นอย่างชัดเจน และเมื่อหยุดกินความดันก็จะลดลง ซึ่งไทยเป็นประเทศที่มีการสั่งจ่ายกูลโคซามีนกันมาก โดยมีทั้งในรูปแบบยาและอาหารเสริม แม้ว่าที่ผ่านมาจะไม่มีผลการพิสูจน์ว่ากูลโคซามีนมีประโยชน์ต่อผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมแค่ไหน แต่ก็มีการใช้ไปเพราะเห็นว่าไม่มีโทษ แต่หลังจากมีการายงานผลข้างเคียงกูลโคซามีนที่ชัดเจน ในการใช้ไม่ว่าจะเป็นแพทย์หรือผู้ป่วยจากนี้คงต้องระวัง เพราะจะทำให้สายตาเสื่อมลงอย่างต่อเนื่องจากภาวะต้อหินจนตาบอดในที่สุด

ทั้งนี้จากการออกมาให้ข้อมูลในเรื่องนี้ ที่ผ่านมามีบริษัทที่จำหน่วยกูลโคซามีนออกมาต่อว่าตน เพราะกระทบต่อยอดขายและการตลาด เรื่องนี้ควรต่อว่าไปยังสมาคมแพทย์สหรัฐ ทางจักษุวิทยา เนื่องจากตนเพียงแต่แปลผลการศึกษาและนำมาให้ข้อมูลต่อสาธารณสุขเท่านั้น ไม่ได้โจมตีผลิตภัณฑ์ของใคร ซึ่งเรื่องนี้ได้ตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์เรียบร้อยแล้ว

“ที่ผ่านมาประเทศไทยไทยให้น้ำหนักกลูโคซามีนมากและเชื่อว่ามีประโยชน์มหาศาลแม้จะไม่มีหลักฐานผลวิจัยยืนยัน และไม่ได้มีฤทธิ์เสริมสร้างข้อเข่าหรือกระดูกอ่อน”

จากการสั่งจ่ายกูลโคซาจำนวนมากจนเป็นภาระต่อระบบสวัสดิการข้าราชการ กรมบัญชีกลางจึงได้มีการประกาศให้ระงับการสั่งจ่ายกูลโคซามีน ซึ่งต่อมาศาลปกครองได้สั่งให้ยกเลิกการงับสั่งจ่ายกูลโคซามีนนั้น นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า ในช่วงที่สั่งระงับการเบิกจ่ายกูลโคซามีนนั้น เป็นข่าวใหญ่โตและได้มีการร้องเรียนยกเลิกคำสั่งนี้ ซึ่งความเห็นต่อเรื่องนี้มองว่า ในระบบรักษาพยาบาลของไทยที่มีงบประมาณจำกัด จึงควรมุ่งเลือกใช้ยาที่รักษาโรคได้โดยตรงที่มีผลการวิจัยยืนยันมากกว่า อย่างไรก็ตามกรณีที่แพทย์ที่ยังสั่งจ่ายกูลโคซามีนจะต้องใช้ความระมัดระวัง เนื่องจากผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุที่มักมีภาวะความดันลูกตาสูงอยู่แล้ว จึงต้องดูว่าผู้ป่วยกลุ่มนี้มีโรคประจำตัวหรือไม่ โดยเฉพาะโรคต้อหินที่ต้องติดตามดูว่ามีภาวะสายตาที่แย่งลงหรือไม่

ผู้สื่อข่าวถามว่า การที่ศาลปกครองมีคำสั่งให้กรมบัญชีกลางยกเลิกการระงับสั่งจ่ายกูลโคซามีน จะทำให้จำนวนการใช้เพิ่มสูงขึ้นหรือไม่ นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า เรื่องนี้คิดว่า ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศร่ำรวย งบประมาณในการรักษาพยาบาลเป็นเงินของคนทั้งประเทศ ดังนั้นยาที่ใช้ในระบบไม่ว่าจะเป็นระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือระบบสวัสดิการข้าราชการต้องไม่แตกต่างกัน ไม่ใช้ข้าราชการจะต้องมีสิทธิมีเสียงมากกว่าคนทั่วไปและต้องเข้าใจว่า นอกจากนี้ควรเน้นยาที่ใช้รักษาได้ตรงจุด ไม่ใช่ยาที่เพียงแต่ทำให้รู้สึกดีขึ้นแต่ภาวะโรคยังดำเนินไปตามปกติ

“ผมก็เป็นข้าราชการและเห็นว่า ข้าราชการดูเหมือนมีอภิสิทธิ์มากกว่าคนปกติทั่วไป โดยเฉพาะในเรื่องของยา ซึ่งกรณีของกูลโคซามีนถือเป็นตัวอย่างที่มีผลเพียงแค่ให้ความรู้สึกผู้ป่วยดีขึ้นเท่านั้น แต่ไม่มีผลต่อการรักษาก็ยังเบิกจ่ายได้ ทั้งที่งบประมาณรักษาพยาบาลบ้านเรามีจำกัด แต่กลับต้องมาเสียเงินกับกรณีแบบนี้ ไม่แต่เฉพาะกูลโคซามีน แต่รวมถึงการเลือกเบิกจ่ายยาต้นแบบที่มีราคาแพง ทั้งที่ภายในประเทศก็ผลิตได้เอง มีคุณภาพและมาตรฐานไม่แตกต่าง และราคาถูกกว่ามาก ในฐานะข้าราชการจึงควรช่วยกันประหยัดเงินตรงนี้ เพราะป็นงบประมาณเพื่อเฉลี่ยดูแลรักษาพยาบาลคนทั้งประเทศ นอกจากนี้ไม่ว่าจะเป็นระบบหลักประกันสุขภาพใด ควรที่จะใช้บัญชียาเดียวกัน โดยหากใครต้องการเลือกใช้ยาต้นแบบจะต้องจ่ายเงินเอง ไม่ควรใช้สิทธิข้าราชการมาอ้าง” นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว



โดย: หมอหมู วันที่: 17 กรกฎาคม 2558 เวลา:15:24:43 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

หมอหมู
Location :
กำแพงเพชร Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 762 คน [?]




ผมเป็น ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ หรือ อาจเรียกว่า หมอกระดูกและข้อ หมอกระดูก หมอข้อ หมอออร์โธ หมอผ่าตัดกระดูก ฯลฯ สะดวกจะเรียกแบบไหน ก็ได้ครับ

ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ เป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาหนึ่ง ซึ่งเมื่อเรียนจบแพทย์ทั่วไป 6 ปี ( เรียกว่า แพทย์ทั่วไป ) แล้ว ก็ต้องเรียนต่อเฉพาะทาง ออร์โธปิดิกส์ อีก 4 ปี เมื่อสอบผ่านแล้วจึงจะถือว่าเป็น แพทย์ออร์โธปิดิกส์ โดยสมบูรณ์ ( รวมเวลาเรียนก็ ๑๐ ปี นานเหมือนกันนะครับ )

หน้าที่ของหมอกระดูกและข้อ จะเกี่ยวข้องกับความเจ็บป่วย ของ กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูก ข้อ และ เส้นประสาท โรคที่พบได้บ่อย ๆ เช่น กระดูกหัก ข้อเคล็ด กล้ามเนื้อฉีกขาด กระดูกสันหลังเสื่อม ข้อเข่าเสื่อม กระดูกพรุน เป็นต้น

สำหรับกระดูกก็จะเกี่ยวข้องกับกระดูกต้นคอ กระดูกสันหลัง กระดูกเชิงกราน กระดูกข้อไหล่ จนถึงปลายนิ้วมือ กระดูกข้อสะโพกจนถึงปลายนิ้วเท้า ( ถ้าเป็นกระดูกศีรษะ กระดูกหน้า และ กระดูกทรวงอก จะเป็นหน้าที่ของศัลยแพทย์ทั่วไป )

นอกจากรักษาด้วยการให้คำแนะนำ และ ยา แล้วยังรักษาด้วย วิธีผ่าตัด รวมไปถึง การทำกายภาพบำบัด บริหารกล้ามเนื้อ อีกด้วย นะครับ

ตอนนี้ผม ลาออกจากราชการ มาเปิด คลินิกส่วนตัว อยู่ที่ จังหวัดกำแพงเพชร .. ใช้เวลาว่าง มาเป็นหมอทางเนต ตอบปัญหาสุขภาพ และ เขียนบทความลงเวบ บ้าง ถ้ามีอะไรที่อยากจะแนะนำ หรือ อยากจะปรึกษา สอบถาม ก็ยินดี ครับ

นพ. พนมกร ดิษฐสุวรรณ์ ( หมอหมู )

ปล.

ถ้าอยากจะถามปัญหาสุขภาพ แนะนำตั้งกระทู้ถามที่ .. เวบไทยคลินิก ... ห้องสวนลุม พันทิบ ... เวบราชวิทยาลัยออร์โธปิดิกส์ หรือ ทางอีเมล์ ... phanomgon@yahoo.com

ไม่แนะนำ ให้ถามที่หน้าบล๊อก เพราะอาจไม่เห็น นะครับ ..




New Comments
[Add หมอหมู's blog to your web]