พระเครื่อง : แหล่งข้อมูลบทความพระเครื่อง เครื่องรางของขลัง และวัตถุมงคล
Group Blog
 
<<
ตุลาคม 2556
 
13 ตุลาคม 2556
 
All Blogs
 
ความอลหม่านแห่งลิเบีย นายกฯถูกอุ้ม-อธิปไตยถูกละเมิด (คอลัมน์ สกู๊ปพิเศษ)

ความอลหม่านแห่งลิเบีย นายกฯถูกอุ้ม-อธิปไตยถูกละเมิด

คอลัมน์ สกู๊ปพิเศษ



วันที่ 14 ต.ค. ปีนี้จะเป็นโอกาสครบรอบ 40 ปี เหตุการณ์นักศึกษาและประชาชนโค่นล้มรัฐบาลทหารของ จอมพลถนอม กิตติขจร จอมพลประภาส จารุเสถียร และ พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร

เป็นการ "ปฏิวัติ" ครั้งสำคัญของไทย

ถึงทุกวันนี้ ผู้เชี่ยวชาญหลายสำนักเห็นตรงกันว่า การปฏิวัติ 14 ตุลา ยังไม่ได้สร้างระบอบ "ประชาธิปไตยสมบูรณ์" และการพัฒนาการเมืองของไทย ยังล้มลุกคลุกคลานอยู่

ฉันใดฉันนั้น กระแสการปฏิวัติ "อาหรับสปริง" ซึ่งโค่นล้มระบอบอำนาจนิยมในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือก็ยังดำเนินอยู่ต่อไป และประเทศเหล่านี้ก็ยังห่างไกลจากบทสรุปในเส้นทางสู่ประชาธิปไตย

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เหตุการณ์ที่ประเทศลิเบียสะท้อนถึงความปั่นป่วนวุ่นวายในยุคอาหรับสปริงได้อย่างดี

เมื่อ นายกรัฐมนตรีอาลี ไซดาน ถูกกลุ่มติดอาวุธลักพาตัวไปอย่างดื้อๆ กลางดึก จากห้องพักในโรงแรมหรูกลางกรุงตริโปลี และถูกปล่อยตัวในเวลาต่อมา

กลุ่มติดอาวุธดังกล่าวอ้างว่าไม่พอใจกรณีที่รัฐบาลลิเบียปล่อยให้คอมมานโดสหรัฐบุกเข้ามาจับผู้ต้องสงสัยในกรณีก่อการร้ายโดยไม่สนใจอำนาจอธิปไตยของลิเบีย

หลายฝ่ายตกใจกับกรณีลักพาตัวครั้งนี้อย่างมาก เพราะเป็นปฏิบัติการที่ท้าทายอำนาจรัฐอย่างอุกอาจ ด้านสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ก็ออกแถลงการณ์ประณามกลุ่มติดอาวุธผู้ก่อเหตุ

กองกำลังติดอาวุธเหล่านี้มีสถานะเป็นกลุ่มที่ทรงอิทธิพลอย่างมากในลิเบีย เชื่อว่ามีสมาชิกราว 200,000 คนทั่วประเทศ และมีหน้าที่เป็นทหารและตำรวจ ตรวจตราความปลอดภัยหรือรักษาความสงบในพื้นที่ของตน และปฏิบัติงานเป็นเอกเทศ ไม่ขึ้นตรงกับรัฐบาลลิเบีย

เหตุที่ลิเบียมีสภาพนี้ ก็เนื่องจากในสมัยรัฐบาลเผด็จการของพ.อ.โมอัมมาร์ กัดดาฟี กองกำลังของรัฐมีหน้าที่เป็นเสมือนองครักษ์ส่วนตัว โดยมุ่งเน้นปราบปรามผู้เห็นต่างและรักษาความมั่นคงของรัฐ

หลังฝ่ายกบฏซึ่งมีชาติตะวันตกเป็นพันธมิตรโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการกัดดาฟี เมื่อปี 2554 กองกำลังของกัดดาฟีจึงล่มสลายลง และฝ่ายกบฏก็ไม่มีกองกำลังที่เป็นเอกภาพมากพอที่จะจัดตั้งกองทัพแห่งชาติได้ จึงต้องแปรสภาพนักรบหรือกลุ่มติดอาวุธต่างๆ ที่เคยร่วมต่อสู้กันมา ให้เป็นผู้รักษาความสงบแก้ขัด ตามที่กล่าวมา พร้อมกับผนวกอดีตทหารในกองทัพของกัดดาฟีเข้าไปด้วย

แน่นอนว่ากลุ่มติดอาวุธเหล่านี้ มีความแตกต่างกันอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นด้านเชื้อชาติและเผ่าพันธุ์ที่หลากหลายในลิเบีย หรืออุดมการณ์ทางการเมืองต่างขั้ว

ประกอบกับความอ่อนแอของรัฐบาลลิเบีย ที่ไม่สามารถควบคุมกองกำลังเหล่านี้ได้ เนื่องจากแต่ละกลุ่มก็มีสายบัญชาการอย่างเอกเทศ มีหัวหน้าและก๊กของตนเอง

จึงไม่น่าแปลกใจที่ "ทหารบ้าน" ดังกล่าว บางครั้งก็ก่อเหตุโจมตีกันเอง หรือลักพาตัวบุคคลสำคัญของฝ่ายตรงข้าม และแม้แต่ตัดน้ำประปาของกรุงตริโปลีเพื่อกดดันอีกฝ่ายก็เคยมีมาแล้ว จนเดือดร้อนกันไปทั่ว

นี่คือสภาพความ "บ้านป่าเมืองเถื่อน" ของลิเบียยุคหลังโค่นล้มเผด็จการ

สภาวะข้างต้นของลิเบียยังกลายเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงนานาชาติด้วย โดยเฉพาะในประเด็นภัยก่อการร้าย

เนื่องจากกลุ่มติดอาวุธบางส่วนของลิเบีย มีสายสัมพันธ์กับ อัล ไคด้า และมีเป้าหมายหรือแนวคิดแบบอิสลามสายเคร่ง

ความเชื่อมโยงดังกล่าวเด่นชัดขึ้นในเหตุการณ์พันธมิตรอัล ไคด้า บุกโจมตีสถานกงสุลสหรัฐประจำเมืองเบงกาซีเมื่อคืนวันที่ 11 ก.ย. ปี 2555 และคร่าชีวิตเอกอัครราชทูตอเมริกัน

เมื่อไม่นานมานี้ ทางการสหรัฐก็เพิ่งใช้หน่วยคอมมานโดบุกเข้ารวบตัว นายอาบู อานัส อัล-ลิบี สมาชิกคนสำคัญของเครือข่าย อัล ไคด้า ที่อาศัยอยู่ในลิเบีย โดยก่อนหน้านี้ศาลสหรัฐได้ตั้งข้อหา นายอัล-ลิบี ว่าอยู่เบื้องหลังเหตุระเบิดสถานทูตสหรัฐประจำเคนยาและแทนซาเนีย เมื่อปี 2541 อันเป็นผลงานชิ้น "โบแดง" ของ โอซามา บิน ลาเดน ก่อนจะก่อเหตุวินาศกรรม 11 ก.ย. ไม่กี่ปีต่อมา

แหล่งข่าวของรัฐบาลสหรัฐระบุว่า สาเหตุที่ต้องบุก "อุ้ม" นายอัล-ลิบี ก็เป็นเพราะผู้ต้องสงสัยดังกล่าวใช้ชีวิตอย่างเปิดเผยในลิเบีย ท่ามกลางพลพรรคจำนวนมาก และรัฐบาลลิเบียก็ไม่กล้าจับกุมตัว เพราะเกรงกลัวอิทธิพลของกลุ่มติดอาวุธ

ถึงแม้ชาติตะวันตกรวมทั้งสหรัฐจะมีโครงการช่วยเหลือลิเบีย เพื่อจัดตั้งกองทัพหรือระบบสาธารณูปโภคส่วนกลาง แต่ก็ไม่แน่ชัดว่าจะสำเร็จ หรือจะกลายเป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ

อย่างในกรณีของอัฟกานิสถาน จนถึงบัดนี้ ก็ยังไม่มีกองทัพส่วนกลางที่รักษาความสงบและสู้รบกับกลุ่มตาลีบันในประเทศได้ ทั้งที่รับงบประมาณจากตะวันตกไปมหาศาล

เมื่อช่วงสัปดาห์ก่อน ชาวยุโรปต่างช็อกกับโศกนาฏกรรมทางทะเลครั้งใหญ่ หลังเรือขน ผู้ลี้ภัยผิดกฎหมายจากแอฟริกาอับปางลงใกล้ชายฝั่งของอิตาลี คร่าชีวิตผู้คนนับร้อยราย

ผู้รอดชีวิตระบุว่า พวกตนพยายามหลบหนีภาวะสงครามและความไม่สงบต่างๆ จากในแอฟริกา เช่น กลุ่มกบฏอิสลามสายเคร่งในโซมาเลีย และรัฐบาลเผด็จการในเอริเทรีย

ทำให้หลายองค์กรประสานเสียงกันว่า จะต้องปราบปรามขบวนการค้ามนุษย์ที่ลักลอบนำผู้ลี้ภัยลงเรือไปยังยุโรป และแก้ไขปัญหาเรื้อรังต่างๆ ในแอฟริกา เพื่อป้องกันการลี้ภัยที่เสี่ยงตายเหล่านี้ในอนาคต

ความมั่นคงของประเทศลิเบียก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นของแอฟริกาที่ประชาคมโลกต้องสนใจมากยิ่งขึ้น



Create Date : 13 ตุลาคม 2556
Last Update : 13 ตุลาคม 2556 1:19:40 น. 0 comments
Counter : 908 Pageviews.

amulet108
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 96 คน [?]








Friends' blogs
[Add amulet108's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.