bloggang.com mainmenu search



ไม้ต้นนี้
มีขึ้นตามป่าดิบชื้นและป่าพรุใกล้ๆน้ำ ทางภาคใต้ของประเทศไทย ในภาคอื่นพบที่ภาคเหนือประปราย คนไทยในท้องถิ่นจะรู้จักต้น “มะตาด” เป็นอย่างดี เนื่องจากผลสุกของ “มะตาด” มีรสชาติเปรี้ยวปนหวานนิดๆ สามารถรับประทานเป็นผลไม้ป่าแก้กระหายได้ดีมาก ที่สำคัญไปกว่านั้น บางส่วนของ “มะตาด” ยังมีสรรพคุณเป็นสมุนไพรอย่างดีด้วย

เช่น ราก ใช้เป็นยาถอนพิษ ซึ่งส่วนใหญ่ใช้ภายนอกด้วยการตำละเอียด พอกถอนพิษฝีดีมาก เปลือกและใบ มีรสฝาดใช้เป็นยาสมานท้อง โดยนำไปต้มกับน้ำจนเดือดแล้วดื่มขณะอุ่นต่างน้ำชา หรือวันละ 2-3 แก้ว ผลดิบ หมอยาพื้นบ้านระบุว่า สามารถเอาไปปรุงเป็นยาแก้ไข้ได้ เนื่องจากมีรสเปรี้ยวจัด และยังใช้ปรุงเป็นอาหาร แกงส้ม ได้อร่อยด้วย

มะตาด หรือ DILLENIA INDICA LINN. อยู่ในวงศ์ DILLENIACEAE เป็นไม้ยืนต้น สูง 10-15 เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มกลม ทึบ ลำต้นมักคดงอ เปลือกต้นหนา เป็นสีเทาหรือสีน้ำตาลแดง มักล่อนออกเป็นแผ่นบางๆ กิ่งอ่อนมีขน ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับ รูปไข่กลับแกมรูปใบหอก ปลายใบแหลม โคนสอบ หรือมน ขอบใบจักเป็นฟันเลื่อย เนื้อในบาง มีเส้นใบจำนวนมาก โคนก้านใบแผ่แบน ใบเป็นสีเขียวสด ใบดกและหนาแน่นมาก

ดอก ออกเป็นดอกเดี่ยวๆตามซอกใบ มีกลีบเลี้ยง 5 แฉก เป็นรูปช้อน อวบ กลีบดอก 5 กลีบ เป็นรูปไข่กลับ กลีบบางและร่วงง่าย มีเกสรตัวผู้จำนวนมาก ดอกเป็นสีขาว เมื่อดอกบานเต็มที่เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 15-20 ซม. ซึ่งถือว่าดอกมีขนาดใหญ่มาก เวลามีดอกดกและดอกบานพร้อมกันทั้งต้นจะดูสวยงามยิ่งนัก “ผล” รูปทรงกลม เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 10-15 ซม. ผลสุกและผลดิบสามารถรับประทานได้ตามที่กล่าวข้างต้น ดอกออกช่วงระหว่างเดือนกรกฎาคมต่อเนื่องไปจนถึงเดือนกันยายนของทุกปี ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด

มีชื่อ เรียกในพื้นที่ต่างๆ อีกคือ ส้มปรุ ส้าน-กวาง ส้านท่า (สุราษฎร์ธานี) ส้านป้าว (เชียงใหม่) แส้น (นครศรีธรรมราช) ซิปโป (ยะลา-มาเลเซีย)ประโยชน์ นอกเหนือจากที่กล่าวข้างต้นแล้ว เนื้อไม้ของต้น “มะตาด” ยังนิยมเอาไปทำเครื่องเรือน เช่น ตู้ โต๊ะ ลังใส่ของ แจว พาย กรรเชียง พานท้ายปืน และรางปืนแก่น เป็นสีเหลืองอ่อน หรือสีแดงอ่อนๆปนสีน้ำตาล เนื้อไม้ค่อนข้างหยาบ มีความแข็งปานกลาง เลื่อย ผ่า ไสกบตกแต่งค่อนข้างยาก และขัดชักเงาไม่สู้ดีนัก ปัจจุบันมีต้นขนาดใหญ่ขายที่ ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ บริเวณปากทางเข้าประตู 2 ราคาสอบถามกันเองครับ.
“นายเกษตร”


credit : thairath