bloggang.com mainmenu search


ผม เคยเขียนถึง “บวบลม” ไปใน ฉบับวันจันทร์ที่ 26 ต.ค.ปี 41 ซึ่งในตอนนั้นจะเน้นเฉพาะสรรพคุณของ “บวบลม” ว่าเป็นยาดีพื้นบ้านอย่างหนึ่งที่หมอยาแผนไทยในยุคสมัยโบราณนำไปใช้เป็นยาแก้อาการปวดท้อง เนื่องจากโรคกระเพาะอาหารอักเสบ

โดย มีวิธีปรุงรับประทานแบบง่ายๆคือ
ให้เอาทั้งต้นของ “บวบลม” กะจำนวนพอประมาณต้มกับน้ำจนเดือดให้เนื้อยางออก จากนั้นดื่มขณะอุ่นวันละ 3 เวลา หลังอาหารเช้ากลางวันเย็น ต้มดื่มทุกวัน ประมาณ 3-4 วัน จะช่วยให้อาการปวดท้องเนื่องจากโรคกระเพาะอาหารอักเสบหายได้

ในช่วง ที่เขียนแนะนำ ตอนนั้นมีผู้นำเอาต้น “บวบลม” วางขายที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ ได้รับความสนใจจากผู้ซื้อไปใช้ประโยชน์เป็นยาตามที่กล่าวข้างต้นอย่างกว้างขวาง

แต่ ในปัจจุบันต้น “บวบลม” ที่นานๆจะมีผู้นำออกวางขาย ได้เปลี่ยนสถานะจากไม้สมุนไพรพื้นบ้าน กลายเป็นไม้แปลกที่ผู้ปลูก โดยเฉพาะชาวต่างชาตินิยมซื้อไปปลูกเป็นไม้ประดับจำพวกกล้วยไม้ โชว์ความสวยงามแปลกตากันอย่างแพร่หลาย

บวบลม
หรือ DISCHIDIA RAF-FLESIANA WALL. อยู่ในวงศ์ ASCLE-PIADACEAE มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์เป็นไม้เลื้อยอิงอาศัยตามคาคบไม้ใหญ่ คล้ายกล้วยไม้ พบขึ้นตามป่าเบญจพรรณและป่าดิบแล้งทุกภาคของประเทศไทย ลำต้นกลมเกาะติดกระจายราบไปกับเปลือกต้นไม้ที่อิงอาศัย มีรากฝอยเกาะติดกันเป็นรูปร่างแห ทุกส่วนมีน้ำยางสีขาว ใบเป็นใบเดี่ยว ออกตรงกันข้าม รูปไข่กว้าง หรือรูปโล่ กว้างประมาณ 2-3 ซม. สีเขียวสด

ดอก ออกเป็นช่อกระจุกตามซอกใบ แต่ละช่อประกอบด้วยดอกย่อย 6-8 ดอก
กลีบดอกเป็นรูปคนโท เป็นสีเหลืองแกมเขียว “ผล” เป็นฝัก รูปเรียวยาวคล้ายผลบวบ แต่ผิวผลจะย่นเหี่ยวเหมือนพุงปลา ผิวผลเป็นสีเขียว ขยายพันธุ์ด้วยต้นหรือเถา มีชื่อเรียกอีกคือกล้วยไม้ (เหนือ) โกฐพุงปลา (กลาง) เถาพุงปลา (อีสาน) บวบลม (โคราช-อุบลฯ) และ จุกโรหินี (ทั่วไป) มีต้นขาย ที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ บริเวณโครงการ 23 แผงจำหน่ายไม้ป่าหายาก ราคาสอบถามกันเอง นิยมปลูกให้ต้นหรือเถาเกาะกิ่งไม้ตายซาก (ตามภาพประกอบคอลัมน์) นำไปแขวนในที่แจ้ง รดน้ำพอชุ่มเช้าเย็น จะมีดอกและติดผลเป็นฝักสวยงามน่าชมมากครับ.

●“นายเกษตร”
  //www.thairath.co.th/
Create Date :22 ตุลาคม 2554 Last Update :8 พฤศจิกายน 2554 10:47:22 น. Counter : Pageviews. Comments :0