bloggang.com mainmenu search
เพาะกล้ายางนา 'ป่าบ้านกันตรง'

สดจากเยาวชน
สุตาภัทร หมั่นดี



ยางนาต้นสูงใหญ่นับวันจะกลายเป็นไม้หายากขึ้นทุกที

เนื่องจากเป็นไม้ขนาดใหญ่โตช้าแต่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจสูง จึงถูกตัดไปใช้ประโยชน์มากมาย

แทบทุกส่วนของยางนานำไปทำประโยชน์ได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น เนื้อไม้ใช้ก่อสร้างที่อยู่อาศัย ทำเครื่องมือเครื่องใช้ น้ำมันจากลำต้นใช้เป็นเชื้อเพลิง ชันจากลำต้นใช้ยาเรือ ช่วยสร้างแหล่งอาหารตามธรรมชาติ เมื่อใบยางนาทับถมจะเกิดเห็ดหลายชนิดที่ขึ้นในป่ายางนา ชาวบ้านได้เก็บกินตามฤดูกาลและใช้เป็นยาสมุนไพร

ประโยชน์ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ เป็นไม้ที่ให้ความร่มรื่น ให้ร่มเงา ช่วยรักษาความชุ่มชื้น ความสมดุลของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรียกได้ว่าไม้ยางนามีความสำคัญทั้งต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์และเอื้อต่อการรักษาสภาพแวดล้อม

ยางนามีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไปตามแต่ละท้องถิ่น เป็นไม้ในวงศ์ไม้ยาง ซึ่งวงศ์ไม้ยางของไทยประกอบด้วยพรรณไม้จำนวน 8 สกุล 65 ชนิด ยางนาจัดอยู่ในสกุลไม้ยาง ไม้สกุลนี้มีด้วยกัน 69 ชนิด แต่ในประเทศไทยมีเพียง 16 ชนิด

ยางนาชอบขึ้นเป็นกลุ่มตามที่ราบริมลำธาร ในป่าดิบทั่วไปที่มีดินลึกและอุดมสมบูรณ์ มีความชื้นสูง พบกระจายอยู่ทั่วประเทศไทยทั้งภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้

ด้วยประโยชน์มากมายของยางนาที่กล่าวไว้ทำให้ปัจจุบันไม่ค่อยมียางนาเหลือให้เห็นแล้ว หากไม่มีการอนุรักษ์และส่งเสริมให้ปลูกขึ้นมาแทน อนาคตคงยากที่จะได้เห็นไม้ใหญ่มากประโยชน์ชนิดนี้ คนที่รักต้นไม้ใส่ใจสิ่งแวดล้อมจึงหันมาปลูกยางนากันมากขึ้น

ทั้งที่ปลูกไว้เพื่อผลิตไม้ส่งตลาด ปลูกเพื่อเป็นแหล่งพักผ่อน ปรับสภาพแวดล้อม ปลูกเพิ่มพื้นที่ป่าสีเขียวในชุมชน ให้ลูกหลานรุ่นหลังตระหนักถึงความสำคัญของไม้ยางนาตลอดจนช่วยกันดูแลรักษา

ในชนบทบางพื้นที่ยังมีความเชื่อเรื่องผีดูแลป่าไม้ยางนา เช่น ชนบททางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยมีความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องของ 'ผีปู่ตา' ซึ่งก็คือวิญญาณของบรรพชนประจำหมู่บ้าน

ศาลปู่ตาสร้างขึ้นในพื้นที่ดอนภายในหมู่บ้าน ซึ่งส่วนใหญ่จะมีไม้ตระกูลยางขึ้นกระจายอยู่ทั่วไป ความเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ของปู่ตาทำให้ชาวบ้านไม่เข้ามาตัดไม้ทำลายป่า นับว่ากุศโลบายนี้ยังคงรักษาและอนุรักษ์ไม้ยางนาไว้อย่างดี

บ้านกันตรง ต.บึง อ.เขวาสินรินทร์ จ.สุรินทร์ แต่เดิมเคยมีต้นยางนามากมายอยู่ในชุมชน กระทั่งปัจจุบันร่อยหรอลง คุณครูโรงเรียนบ้านกันตรงจึงชักชวนเด็กๆ เพาะกล้ายางนาในปีพ.ศ.2552 เพื่อนำมาปลูกในพื้นที่สาธารณะของชุมชน ปลูกจิตสำนักความรักสิ่งแวดล้อมให้เยาวชน แจกจ่ายให้ชาวบ้านปลูกตามหัวไร่ปลายนา และปลูกใน 'ป่าปะ กัง' ป่าชุมชนของบ้านกันตรง ทุกคนจึงมีส่วนร่วมในการส่งเสริมและอนุรักษ์ยางนา ร่วมกันปลูกและดูแลรักษาจนถึงทุกวันนี้

เริ่มโครงการอย่างจริงจังมาสามปี ด้วยน้ำพักน้ำแรงของเด็กๆ และชาวบ้าน เด็กๆ จึงมีความสุขทุกครั้งที่ได้เห็นต้นยางนาของตนเอง

ด.ญ.ขวัญชนก สายบุตร หรือ น้องเบนซ์ บอกถึงความรู้สึกว่า 'หนูดีใจที่เห็นต้นยางนาที่หนูกับเพื่อนๆ ช่วยกันเพาะให้ชาวบ้านนำไปปลูกให้มันโตขึ้น บางต้นก็เกือบเท่าตัวหนูเลยค่ะ ต่อไปถ้าเราปลูกเยอะๆ หมู่บ้านของเราก็จะร่มรื่นไม่ร้อนด้วยค่ะ'

'คุณครูบอกว่าเมื่อมีต้นยางนาก็จะมีเห็ดหลายชนิดให้เราเก็บกิน เพราะใบยางนาที่หล่นตามพื้นจะเป็นเชื้อเห็ดอย่างดีเลยค่ะ' ด.ญ.ธัญญารัตน์ จันทร์น้อย หรือน้องเฟิร์นบอก

นอกจากเพาะยางนาปลูกเพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าให้กับชุมชนแล้ว รายได้จากการจำหน่ายต้นยางนาให้กับหน่วยงานหรือบุคคลทั่วไปโรงเรียนบ้านกันตรงจะนำมาสมทบสร้างอาคารอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม อาคารเรียนหลังใหม่ที่เป็นเสมือนสัญลักษณ์ความรักความสามัคคีของคุณครูและนักเรียน และสัญลักษณ์ของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

ติดตามชมเรื่องราวการเพาะต้นยางนา สร้างป่าให้ชุมชนและเป็นกำลังใจให้เด็กๆ โรงเรียนบ้านกันตรง จ.สุรินทร์ ในทุ่งแสงตะวัน ตอนเพาะกล้ายางนา วันเสาร์ที่ 14 เมษายน 2555 เวลา 06.25 น. ช่อง 3 //www.payai.com


ที่มา นสพ ข่าวสด
Create Date :13 เมษายน 2555 Last Update :13 เมษายน 2555 5:27:52 น. Counter : Pageviews. Comments :0