bloggang.com mainmenu search


ต้นไม้ แต่ละต้นไม่ว่าจะเป็นไม้ดอกสวยงาม ไม้ดอกหอม หรือไม้ผลไม้ยืนต้น จะมีคุณค่าเฉพาะตัวให้คนได้ใช้ประโยชน์และศึกษาเรียนรู้เพื่อนำไปใช้กับวิถีชีวิตประจำวันได้


ซึ่งต้น “ยางนา” เป็นไม้ยืนต้นชนิดหนึ่งที่ผู้อ่านไทยรัฐจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่อยากทราบว่ามีคุณค่าใช้อะไรได้บ้าง และจะหาซื้อกิ่งพันธุ์ไปปลูกฟื้นฟูผืนป่า เพื่อคืนความเป็นธรรมชาติได้จากแหล่งไหน
ซึ่ง ความจริงแล้วต้น “ยางนา” ที่พบตามธรรมชาติจะขึ้นเป็นหมู่ๆอยู่ตามป่าดิบตามที่ต่ำชุ่มชื้น บริเวณใกล้กับแม่น้ำลำธารในป่าดิบและป่าอื่นๆทั่วไปที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 200-600 เมตร ปัจจุบันพบเห็นตามป่าธรรมชาติน้อยมาก ในยุคสมัยก่อน ผู้เฒ่า ผู้แก่ ที่ชอบเดินป่า นิยมเจาะลำต้น เอาน้ำมันที่ได้จากการเจาะไปทำเป็นน้ำมันใส่แผลชนิดต่างๆทาแก้โรคเรื้อนและปรุงเป็นยารับประทานแก้ “โรคหนองใน” ที่สมัยก่อนคนไทยทั้งชายและหญิงเป็นกันมากใช้ได้ผลดีระดับหนึ่ง ปัจจุบันไม่มีแล้ว ประโยชน์อย่างอื่นน้ำมันดังกล่าวใช้ทาไม้ ทาเครื่องจักสาน ยาเรือ ใช้เดิน เครื่องยนต์แทนน้ำมันขี้โล้ได้ เนื้อไม้ใช้ทำฝาเครื่องเรือน ทำเรือขุดขนาดย่อม ทำแจว พาย ใช้ทำหมอนรองรางรถไฟได้ทนนาน

ยางนา หรือ DIP-TEROCARPUS ALATUS ROXB. ชื่อทางการค้า YANG, GURJAN OR GARJAN. อยู่ในวงศ์ DIPTEROCEAE เป็นไม้ยืนต้น ไม่ผลัดใบ ซึ่งที่พบในป่าธรรมชาติสามารถสูงได้ถึง 40 เมตร ลำต้นเปลาตรง เปลือกเรียบ หนา สีเทาปนขาว โคนต้นมักจะเป็นพูพอน ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเป็นรูปไข่แกมรูปใบหอก ปลายแหลม โคนมน เนื้อใบหนา สีเขียวสด เวลาใบดกจะให้ร่มเงาดีมาก

ดอก ออกเป็นช่อสั้นๆตามซอกใบและปลายกิ่ง กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย มีกลีบยาว 5 กลีบ ปลายแยกเป็น 5 แฉก มีขนสั้นสีน้ำตาล กลีบดอก 5 กลีบ โคนเชื่อมติดกัน ปลายกลีบบิดเวียนแบบกังหัน เป็นสีชมพู เมื่อบานเต็มที่เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3 ซม. มีเกสรตัวผู้จำนวนมาก “ผล” ทรงกลม มีครีบยาว 5 ครีบ ปีกยาว 2 ปีก สั้น 3 ปีก ปีกยาวมีเส้นตามยาว 3 เส้น เวลาผลหล่นจากต้นจะหมุนติ้วสวยงามมาก ดอกออกช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม ของทุกปี ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด จะงอกได้ดีต้องมีอายุไม่เกิน 10 วัน นับจากร่วงจากต้น หรือแยกเหง้า มีต้นขายทั้งต้นเล็กและใหญ่ ที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ ราคาแต่ละแผงไม่เท่ากันต้องเดินสอบถามกันเอง เหมาะจะปลูกฟื้นฟูป่าจริงๆครับ.

“นายเกษตร”

credit : thairath