bloggang.com mainmenu search
หอยราก สัตว์ทะเลโบราณ สร้างนิเวศน์ คืนสมดุลสู่ผืนน้ำ



หอยราก หรือบางท้องที่เรียกว่า หอยปากเป็ด.

จากสภาพแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์ของประเทศ ไทย โดยเฉพาะในแถบชายฝั่งทะเลทั้งอันดามัน และแถบไทย ทำให้สิ่งมีชีวิตทั้ง กุ้ง หอย ปู ปลา ดำรงอยู่มาช้านาน บางชนิดยังมีให้เห็นอยู่บ้าง และบางอย่างเริ่มหมิ่นเหม่ต่อการสูญพันธุ์ลงทุกขณะ และ “หอยราก” เป็นหนึ่งในจำนวนนี้


“หอยราก” (Lingula unguis) หรือ หอยปากเป็ด เป็นสัตว์ทะเลโบราณ คาดว่าเกิดขึ้นประมาณ 600 ล้านปี มีลักษณะคล้ายคลึงกับหอย 2 ฝามาก อาศัยอยู่ในทรายเลน มีลักษณะโดย ใช้ราก ที่มีลักษณะเป็น ดุ้นเอ็นยาวดูคล้ายหาง หยั่งลงในทราย เมื่อถูกรบกวนจะหดตัวมุดลงไปในทรายเลนอย่างรวดเร็ว หายใจผ่านผิวบาง ขยายพันธุ์ด้วยการปล่อยไข่และสเปิร์มออกมาผสมกันในทะเล ตัวอ่อนกลายเป็นแพลงก์ตอนลอยในทะเล ก่อนลงพื้นเจริญเป็นตัวเต็มวัย

เมื่อโตเต็มที่ เปลือกจะมีสีเขียวคล้ายหอยแมลงภู่รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า 2 ชิ้นประกบกันตอนท้ายเรียวแหลมเป็นรูปสามเหลี่ยมยึดติดกับราก ซึ่งเป็นมัดกล้ามเนื้อหยั่งลงไปในดิน ขนาดความยาวของเปลือกประมาณ 3-5 ซม. มีรากยาวประมาณ 6 ซม. บริเวณขอบเปลือกเรียงตัวกันเป็นแถว อาศัยอยู่ตามธรรมชาติจะฝังตัวอยู่ในแนวดิ่ง ทำให้กาบทั้งสองตั้งขึ้นอยู่ในโคลนดิน

...กาบ ทำหน้าที่เสมือนเกราะห่อหุ้มอวัยวะ ภายในจะอ้าออกเล็กน้อยเพื่อให้น้ำไหลผ่านเข้าไป แล้วกรองเอาแพลงก์ตอนและอินทรียวัตถุกินเป็นอาหาร  หากได้รับการรบกวนจากศัตรูมันจะหดรากฝังตัวจมลึกลงไป  กินอาหารโดยการกรองเอาแพลงก์ตอนและตะกอนที่ละลายในน้ำ ซึ่งทำหน้าที่ช่วยคืนความสมดุลลดปริมาณแพลงก์ตอน ช่วยให้น้ำไม่เน่าเสียง่าย...

ปัจจุบัน ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ตามชายฝั่งนิยมนำเรือเล็กออกไปงมหอยดังกล่าวตามชายฝั่งซึ่งต้องใช้ความไว  เนื่อง จากพวกมันเคลื่อนที่ค่อนข้างเร็ว รวมทั้งพื้นที่ลุ่มชายเลน เพื่อส่งตามร้านค้าสำหรับนำมาทำเมนูต่างๆ ทั้ง “เปิบ” สด และดอง ไว้กินกันตลอดทั้งปี ซึ่งสนนราคาขายกันอยู่ที่กิโลฯละ 150-170 บาท

และ...จากราคาค่าตัวที่ค่อนข้างสูงนี้เอง ส่งผลให้ปัจจุบันประชากรหอยรากเริ่มหมิ่นเหม่ต่อการสูญพันธุ์ไปจากชายทะเลไทย.


เพ็ญพิชญา เตียว

ที่มา นสพ ไทยรัฐ

Create Date :28 มีนาคม 2555 Last Update :28 มีนาคม 2555 10:03:24 น. Counter : Pageviews. Comments :0