bloggang.com mainmenu search



เกษตรกรชาวบ้าน | น้ำยางปลีกล้วย ช่วยกำจัดเชื้อรา

 อย่าให้เสียเปล่า... เวลาตัดปลีกล้วยแล้วหาถุงมาสวมเอายางที่ไหลออกมา เก็บใส่ตู้เย็นไว้ผสมเครื่องดื่มชูกำลัง "เอาไว้ผสมน้ำฉีดไล่เพลี้ย"

ปราบราดำ กำจัดราขาวและโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราด้วยน้ำหมักยางกล้วย

การใช้น้ำยางจากปลีกล้วยช่วยกำจัดเชื้อราในพืชเป็นองค์ความรู้ใหม่ของคุณยรรยง ยาดี เกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด ปี 2551 จ.แม่ฮ่องสอน ผู้เชี่ยวชาญด้านการทำเกษตรผสมผสานและสารขับไล่แมลง

ซึ่งได้เผยแพร่สูตรนี้ผ่านทางรายการ Farmer info ทางด่วนข้อมูลการเกษตร สถานีวิทยุร่วมด้วยช่วยกัน จังหวัดเชียงราย

พร้อมกับยืนยันว่าสูตรนี้สามารถช่วยกำจัดโรคราแป้ง ราดำ และโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา ที่ระบาดกับพืชและไม้ผลได้ นอกจากนี้ยังกำจัดแมลงที่เป็นพาหะนำโรคได้อย่างดี ด้วยวิธีการดังนี้

++ ส่วนผสม ++

1. น้ำยางจากปลีกล้วย 1 ขวดเครื่องดื่มชูกำลัง (150 ซีซี)

2.เครื่องดื่มชูกำลังยี่ห้อใดก็ได้ 1 ขวด (150 ซีซี)

++ วิธีการทำ ++

1. หลังจากที่ตัดปลีกล้วยออกจากเครือใหม่ๆจะพบว่ามีน้ำยางสีขาวขุ่นไหลออกมา ให้เกษตรกรใช้ขวดเครื่องดื่มชูกำลังรองน้ำยางนั้นไว้ให้เต็มขวด สามารถใช้น้ำยางปลีกล้วยทุกสายพันธุ์

2 หลังจากที่ได้น้ำยางจากปลีกล้วยแล้วให้นำมาเทผสมกับเครื่องดื่มชูกำลังยี่ห้อใดก็ได้อีก 1 ขวดในภาชนะที่มีฝาปิด คนให้เข้ากัน ปิดฝาหมักทิ้งไว้อย่างน้อย 1 คืน จะได้ น้ำหมักน้ำยางปลีกล้วยช่วยกำจัดเชื้อราในพืช

++ วิธีการใช้ ++

1. นำน้ำยางปลีกล้วยที่ผ่านการหมักแล้ว 1 คืนมาใช้ โดยให้ใช้ 3 ช้อนโต๊ะ ผสมกับน้ำเปล่า 5 ลิตร

2. จากนั้นนำไปฉีดพ่นทุกๆ 5-7 วัน กับต้นพืชหรือใบพืชที่มีปัญหาการระบาดของโรคราดำ ราขาว เช่น ราดำมะม่วง ราขาวต้นฝรั่ง ราดำราขาวเงาะ

3. จะช่วยลดความรุนแรงของโรคราระบาดให้น้อยลงจนปกติ

4. ช่วยกำจัดเพลี้ยต่างๆ ที่เป็นพาหะนำโรคราได้เป็นอย่างดี สามารถใช้ได้กับพืชทุกชนิด

ประโยชน์ของหัวปลี

หัวปลี คือส่วนช่อดอกของต้นกล้วย อันประกอบด้วยดอกจริงที่จะถูกหุ้มอยู่ภายในด้วยใบประดับสีแดงขนาดใหญ่ ลักษณะเป็นกาบซ้อนกันจนสุดปลายช่อ คล้ายดอกบัวตูม

เมื่อดอกเพศเมียเจริญเป็นผลโดยที่ไม่ต้องได้รับการผสมเกสร จนเป็นกล้วยหวีเล็ก ๆ หรือที่เรียกกันว่า “กล้วยตีนเต่า” ชาวสวนก็จะตัดปลีที่ปลายช่อทิ้ง

เพื่อไม่ให้แย่งอาหารที่จะไปเลี้ยงผลกล้วย ทั้งยังเป็นการป้องกันการสะสมเชื้อโรคของเครือกล้วยด้วย

ปลีกล้วยที่ตัดไปก็ไม่ได้ทิ้งเปล่า เพราะเนื้อขาวนวล กรุบกรอบรสฝาดมันของหัวปลีสด เข้ากันได้ดีกับอาหารจานเด็ดอย่างผัดไทยหรือขนมจีนน้ำยา

ส่วนหัวปลีลวก เนื้อหวานมันปนฝาด เคี้ยวนุ่มชุ่มฉ่ำ นิยมกินเป็นผักเหนาะจิ้มน้ำพริก นอกจากนี้ยังดัดแปลงไปทำยำ แกง ต้มกะทิ ต้มยำ ห่อหมก ทอดมันหัวปลี หรือชุบแป้งทอดให้รสชาติอร่อยเปี่ยมคุณค่าไม่แพ้ผักชนิดอื่น

แถมยังมีข้อดีกว่าตรงที่เป็นผักปลอดสารพิษ เพราะกล้วยเป็นพืชที่ไม่ต้องใช้สารเคมีใด ๆ ในการปลูก

วิธีการเตรียมหัวปลีก่อนนำไปปรุงอาหาร

ให้ลอกกาบสีแดงข้างนอกออก จนถึงกาบสีขาวนวล ผ่านครึ่งตามยาว นำไปแช่ในน้ำมะนาวหรือน้ำส้มสายชูเจือจาง เพื่อไม่ให้หัวปลีสีคล้ำจนไม่น่ากิน จากนั้นเฉือนแกนกลางทิ้งและดึงดอกที่แก่ออก เท่านี้ก็นำไปปรุงเป็นอาหารจานเด็ดได้แล้ว
//
เรียบเรียงโดย: ประพันธ์ จีระวัง เจ้าหน้าที่สถานีวิทยุร่วมด้วยช่วยกันจังหวัดเชียงราย
ภาพจาก: เกษตร อินเตอร์เชียงใหม่
//
คลิกชมภาพและอ่านต่อ....
Create Date :11 มีนาคม 2561 Last Update :11 มีนาคม 2561 4:00:37 น. Counter : 2282 Pageviews. Comments :0