รีวิว “แบล็ก โชว์แมน กับฆาตกรรมในเมืองไร้ชื่อ” โดย ฮิงาชิโนะ เคโงะ
 

ชื่อเรื่อง: แบล็ก โชว์แมน กับฆาตกรรมในเมืองไร้ชื่อ
ผู้เขียน: ฮิงาชิโนะ เคโงะ
ผู้แปล: ฉัตรขวัญ อดิศัย
สำนักพิมพ์: ไดฟุกุ

คำโปรย

เมื่อ "คามิโอะ ทาเคชิ" อดีตนักมายากล จับพลัดจับผลูต้องมาสืบคดีฆาตกรรมที่คนใกล้ตัวตกเป็นเหยื่อ ในยุคที่เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่กำลังเป็นปัญหาหนักอกของประเทศญี่ปุ่นและทั่วโลก หนำซ้ำคู่ต่อสู้ของเขาไม่ได้มีแต่คนร้าย...แต่ยังต้องต่อกรกับตำรวจที่ไม่ยอมบอกข้อมูลใด ๆ ใครจะเป็นฝ่ายมีชัยในศึกประลองไหวพริบ ระหว่างนักมายากล ตำรวจ และผู้เกี่ยวข้องทั้งหลายในคดี!

บ่องตง เจอโปรยปกหลังก็คว้ามาอ่านแบบแซงคิวกองดองอื่นๆ กันเลยค่ะ เห็นปุ๊บก็คิดว่าความน่าสนใจของเรื่องนี้น่าจะอยู่ที่ฉากที่เป็นเมืองเล็กในประเทศญี่ปุ่นภายใต้สถานการณ์ โควิด-19 เชื่อว่าในโลกก็น่าจะเจอเหตุการณ์คล้ายกันแต่มันก็น่าสนใจถ้าจะมีหนังสือที่สะท้อนเหตุการณ์แบบนี้ในรูปแบบนิยาย

หลังอ่าน

ก็เป็นแบบที่จินตนาการไว้นั่นแหละ เป็นหนังสือที่สะท้อนสภาพสังคมของประเทศญี่ปุ่นในเมืองเล็กๆที่ไม่ใช่เมืองท่องเที่ยว และได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ล็อกดาวน์ ไม่มีนักท่องเที่ยว ทุกคนต่างต้องดิ้นรนเพื่อเอาชีวิตรอดในสถานการณ์แบบนี้

บอกได้เลยว่า ถ้าใครที่อยากอ่านหนังสือสืบสวนเพื่อความสนุกสนานในรูปแบบนิยายสืบสวน ข้ามเรื่องนี้ไปได้เลยค่ะ ในเชิงการสืบสวน คนเขียนใช้มุมมองแบบวัตสันที่ติดตามโฮล์มส์สืบสวน แล้วก็ไม่ได้ให้คนอ่านมีส่วนร่วมในการสืบ ไม่ได้ให้ Clue อะไรมากมายเพื่อให้คนอ่านได้ร่วมสืบสวนไปกับตัวนักสืบด้วย แต่มาแนวคอยมองนักสืบว่าเขาจะทำอะไรบ้าง

ในเมื่อไม่ได้ให้เอ็นจอยกับการสืบสวน ดังนั้นเสน่ห์หลักของเรื่องนี้คือ ตัวละครนักสืบ "คามิโอะ ทาเคชิ" นี่แหละ มั่นหน้ามั่นโหนกมาก กวนประสาท บลัฟเก่ง เนียนหลอกถามชาวบ้านแบบมืออาชีพ ตาไวมือไวจิ๊กของได้เร็วมาก ตำรวจเลยพลาดท่าโดนขโมยสมาร์ทโฟนไปดูข้อมูลอยู่บ่อยๆ แต่ละครั้งที่ได้ข้อมูลมาไม่ว่าจากใคร แสดงถึงไหวพริบและความฉลาดของตัวละครมาก

ในเรื่องนี้นักสืบเด่นกระเด้งเตะหน้าตัวละครทุกตัวในนี้กันเลยทีเดียว ปราศจากนักสืบคนนี้ เรื่องนี้จะจืดไปถนัดใจค่ะ

จุดเด่นของคนเขียนคนนี้คือ ความดราม่าในเรื่องของการสืบสวนและการฆาตกรรม แน่นอนว่าถ้าคนที่ไม่ได้จิตผิดปกติ ใครคนหนึ่งที่เลยเถิดไปถึงจุดที่สามารถฆ่าคนได้ มันย่อมมีความดราม่าในตัวอยู่แล้ว และเขาขยี้เก่งอยู่แล้ว

แต่จุดเด่นที่ว่าก็จะไม่ได้เห็นในเรื่องนี้อีกเช่นกัน

เพราะงั้นใครที่นิยมความดราม่าในเรื่องสืบสวนสอบสวน เรื่องนี้ไม่ได้ขยี้แรงแต่อย่างใด พูดง่ายๆ ว่าเรื่องนี้มันออกแนวเขียนเพื่อสะท้อนสังคมมากกว่าที่เป็นแนวสืบสวนสอบสวนอะไรจริงจังแบบนั้น

แต่ส่วนตัวหนิงที่เลือกอ่านเล่มนี้เพราะอยากรู้อยากเห็นเหตุการณ์และความเป็นไปในสังคมยุคโควิด-19 เป็นยังไงอยู่แล้ว จึงรู้สึกโอเคกับมันนะ ถ้าใครที่สนใจในทำนองเดียวกับหนิงตั้งแต่เริ่มแรก และไม่ได้คาดหวังกับการจะต้องเล่นบทนักสืบเพื่อหาตัวฆาตกร อ่านแล้วไหลตามวัตสันไปเรื่อยๆ เรื่องนี้ถือว่าแนะนำนะคะ

อันนี้นอกเรื่องหน่อย (อาจจะบ่นยาวกว่าเนื้อหารีวิวเสียอีก ใครไม่อยากฟังหนิงบ่นก็ข้ามไปได้นะคะ)

ที่จริงหนิงมีหนังสือของคุณเคโงะดองไว้อยู่หลายเล่ม ซึ่งไม่ได้มีความรู้สึกอยากหยิบมาอ่านเท่าที่ควร ทั้งที่ชื่อชั้นของนักเขียนการันตีอยู่แล้วว่าเรื่องผ่านมาตรฐานแน่นอน เพียงแต่จะถูกจริต สนุกมากหรือสนุกน้อยก็ว่ากันไป

ผิดกับเรื่องนี้ที่เห็นแค่โปรยปกก็คว้ามาเลยแบบไม่ต้องคิดอะไรเยอะ มันถึงได้เป็นจุดที่กลับมามองเห็นตัวเองว่าเกิดอะไรขึ้นด้วย

เรื่องของเรื่องคือ จุดเด่นหนึ่งของคุณเคโงะคือ ความทันสมัย โดยเฉพาะในเรื่องเขาจะใส่สิ่งที่เป็นเทคโนโลยี หรือเรื่อง controversial ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงนั้นๆ เช่นเดียวกับเรื่องนี้ที่อัพเดตสุดๆ เพราะแม้กระทั่งปีนี้ เราก็ยังคงเผชิญหน้ากับโควิด-19 กันต่อไป แม้ว่าจะเริ่มมีวัคซีนออกมาแล้ว แต่ก็ยังถือว่าอยู่ในช่วงเวลาของ Pandemic ครั้งนี้อยู่ดี

ได้อ่านเรื่องนี้ในปีนี้ นับว่าเป็นความตื่นตาตื่นใจ

แต่ถ้าลองจินตนาการว่าได้อ่านเรื่องนี้อีก 10 ปีข้างหน้า จากคำว่า 'อัพเดต' คงกลายเป็นคำว่า 'เอ้าท์เดต' เข้ามาแทนที่ และมันทำให้คนอ่านแบบหนิงไม่อินแต่อย่างใด

เหมือนกับเรานั่งอ่านนิยายที่พรรณนาถึงความมหัศจรรย์และความทันสมัยของโทรศัพท์มือถือรุ่นกระติกน้ำในขณะที่เรามีเทคโนโลยีที่ล้ำกว่านั้นมานานมากแล้ว ต่อให้เนื้อเรื่องสืบสวนสนุก แต่พอเห็นบทพรรณนาจำพวกนั้นแล้วก็อยากจะกลอกตาแล้วก็อยากจะโยนทิ้งด้วยความไม่อินที่ว่า

ดังนั้น นิยายที่ว่าจึงยังกองอยู่หลายเล่มเพราะสำนักพิมพ์ในประเทศหยิบผลงานที่เขียนเมื่อสัก 25 - 30 ปีที่แล้วมาตีพิมพ์ แล้วจะให้อินอะไรอ่ะ (ที่จริงก็มีปีอื่นๆ แหละ แต่แค่เกินยี่สิบปีหนิงก็ปล่อยกองไปแล้ว ยกเว้นแต่เรื่องที่เป็น Masterpiece ของเขาจริงๆ นั่นถึงค่อยคุ้มค่าที่จะหยิบมาอ่านหน่อย)

ทีนี้อันนี้ด้วยความยุติธรรมนะ สมมุติว่าหนิงชอบอ่านงานของเอโดงาวะ รัมโป ซึ่งเป็นงานเขียนเมื่อสัก 70 - 80 ปีก่อน หนิงมองว่ามันเป็นงานพีเรียดที่ตัวเองไม่ได้อยู่ร่วมสมัยด้วย จึงอยากอ่านและจินตนาการเอาว่าสังคมสมัยนั้นเป็นแบบไหน แต่พอดีงานเขียนของคุณเคโงะที่พิมพ์ในเมืองไทย นับว่าค่อนข้างร่วมสมัยกับช่วงชีวิตของตัวเอง หนิงเลยไม่ค่อยอินกับเนื้อหาเหล่านั้น

ในทางกลับกัน หากเป็นคนที่เกิดในช่วงปี 1995 เป็นต้นไป เขาอาจจะชอบเรื่องที่เขียนเมื่อสัก 20 - 30 ปีก่อนที่เขียนโดยคุณเคโงะ แล้วจินตนาการว่าสังคมญี่ปุ่นสมัยนั้นเป็นแบบไหน ช่วงเวลาที่พวกเขายังเด็ก หรือเพิ่งเกิดมันเป็นยังไง อาจจะสนใจเหมือนกับที่หนิงสนใจในงานของรัมโปก็เป็นได้

เพียงแต่คำถามคือ สำนักพิมพ์ทั้งหลายอยากให้ผลงานของคุณเคโงะ อยู่ในฐานะงานพีเรียดแบบนั้นจริงหรือเปล่า หรือไม่อีกทีก็คือ หนิงอาจจะไม่ใช่ Target ของงานของคุณเคโงะที่ตีพิมพ์ในเมืองไทยก็เป็นไปได้ ไม่รู้เหมือนกัน



Create Date : 27 มีนาคม 2564
Last Update : 30 มีนาคม 2564 21:02:47 น.
Counter : 3459 Pageviews.

0 comments
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Peining.BlogGang.com

peiNing
Location :
กรุงเทพ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 45 คน [?]

บทความทั้งหมด