สอนเก่ง สอนเป็น : สอนให้ผู้เรียนเข้าใจ และ "เข้าถึงใจ" ผู้เรียน
สอนอย่างไรให้ผู้เรียนเข้าใจและ “เข้าถึงใจ” ผู้เรียน
ถ้าหากวันหนึ่งเราต้องไปสอนคน จะต้องมีคำถามต่าง ๆ เหล่านี้เกิดขึ้นในใจอย่างแน่นอน
จะสอนอย่างไรให้เขาเข้าใจ ?
จะรับมือกับผู้เรียนเจ้าปัญหาได้อย่างไร ?
จะดึงความสนใจของผู้เรียนเอาไว้ตลอดชั่วโมงเรียนได้อย่างไร ?
วันนี้มีหนังสือที่ช่วยตอบคำถามเหล่านี้มาแนะนำค่ะ




สอนเก่ง สอนเป็น
โดย Tetsuya Yasukochi
แปลโดย รศ. ดร.ศักดา ดาดวง
จำนวนหน้า 240 หน้า


“สอนเก่ง สอนเป็น” เล่มนี้แนะนำเทคนิคการสอนภาคปฏิบัติที่นำไปใช้ได้จริง โดยครูผู้มีประสบการณ์ทำงานมากว่า 20 ปี และรักงานการสอนเป็นอย่างยิ่ง จึงมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ผู้เรียนเข้าใจเนื้อหา กระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ และสร้างบรรยากาศในการเรียนที่สนุกสนาน

แต่ละหัวข้อเป็นหลักปฏิบัติและตัวอย่างจากประสบการณ์จริงในการสอนของผู้เขียน เพื่อให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับการสอนในสถานการณ์ต่าง ๆ ทั้งการเรียนในห้องเรียน การสอนงาน การบรรยาย การฝึกอบรม

มาดูเนื้อหาของแต่ละบทกันค่ะ
บทที่ 1 “การสอน” คืออะไร บอกถึงบทบาทที่ผู้สอนควรเป็น สิ่งที่ผู้สอนควรทำให้ได้ รวมถึงเรื่องของมุมมองด้วย เรียกได้ว่าเป็น “การเตรียมตัว” ให้พร้อมก่อนที่จะไปสอนนั่นเองค่ะ อย่างเช่น บทบาทที่ผู้สอนควรเป็นมี 5 อย่างด้วยกัน ได้แก่ นักวิชาการ นักแสดง หมอดู ศิลปิน และหมอรักษาโรค

บทที่ 2 วิธีการสอนให้ผู้เรียนเข้าใจ กล่าวถึงเทคนิคต่าง ๆ ในการถ่ายทอดเนื้อหาการสอนเพื่อให้ผู้เรียนเข้าใจ เช่น วิธีกำหนดขอบเขตเนื้อหาที่จะสอน วิธีการอธิบายแบบเชื่อมโยงเหตุและผล วิธีเสริมความจำ วิธีการพูดให้น่าฟัง รวมไปถึงวิธีการเตรียมเอกสารประกอบการเรียน

บทที่ 3 วิธีการสอนเพื่อสร้างความกระตือรือร้น เป็นเคล็ดลับในการทำให้ผู้เรียนสนใจการบรรยาย ดึงดูดให้อยากเรียน และสร้างความกระตือรือร้น เช่น 7 วิธีดึงดูดใจให้อยากเรียน การสร้างแรงบันดาลใจ การฝึกให้ผู้เรียนเรียนรู้ด้วยตนเองได้ การตำหนิที่ทำให้ผู้เรียนอยากเรียน เป็นต้น

บทที่ 4 วิธีการสอนให้เหมาะกับผู้เรียนแต่ละบุคลิก เนื่องจากผู้เรียนแต่ละคนย่อมมีบุคลิกลักษณะเฉพาะตัว ดังนั้นในบทนี้จึงแนะนำวิธีสอนที่เหมาะกับผู้เรียนแต่ละประเภท อย่างเช่น ผู้เรียนที่ไม่เคยมีคำถามเลย ผู้เรียนที่ถามตลอดเวลา ผู้เรียนที่มักจะมีคำถามว่า “ทำอย่างไรถึงจะเก่งขึ้น” ผู้เรียนประเภทที่สอนเท่าไรก็ทำไม่ได้ ผู้เรียนที่เชื่อมั่นในความคิดตนเองเป็นใหญ่

บทที่ 5 วิธีการสอนต่อหน้าฝูงชน แนะนำเทคนิคต่าง ๆ ในการสอนต่อหน้าผู้คนจำนวนมาก เช่น วิธีการวางเนื้อหาให้น่าสนใจตั้งแต่ต้นจนจบ วิธีแก้อาการ “ตื่นเวที” วิธีการใช้สายตา วิธีการเขียนกระดาน และวิธีการเตรียมการนำเสนอด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เป็นต้น

พูดถึงภาพรวมของหนังสือไปแล้ว ต่อไปลองมาดูตัวอย่างจากเนื้อหาบางหัวข้อกันสักหน่อยค่ะ

บทบาทต่าง ๆ ของผู้สอนที่กล่าวถึงในบทที่ 1 นั้น หลาย ๆ คนก็อาจจะพอจะนึกภาพออกได้ใช่ไหมคะว่าแต่ละบทบาทเป็นอย่างไรบ้าง แต่บทบาทหนึ่งที่คงจะทำให้หลายคนสงสัยว่า “เอ๊ะ ! มันเป็นยังไงนะ ?” ก็คงเป็นบทบาท “หมอดู” อย่างแน่นอน

บทบาทหมอดูของผู้สอนในหนังสือเล่มนี้ หมายความว่า ผู้สอนมีหน้าที่ต้องดูแลเรื่อง “กำลังใจ” ให้กับผู้เรียนด้วย โดยต้องทำให้ผู้เรียนมั่นใจว่า “ต้องประสบความสำเร็จแน่ ๆ !” ซึ่งเป็นการคาดการณ์ล่วงหน้าถึงความสำเร็จ เพื่อให้ความรู้สึกมั่นใจนี้ฝังลึกอยู่ในใจของผู้เรียน

อย่างเช่น ในกรณีที่ผู้เรียนมาขอคำปรึกษาเกี่ยวกับการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ผู้สอนในฐานะผู้ให้คำปรึกษาต้องขจัดความรู้สึกกังวลและลังเลของผู้เรียนด้วยคำตอบว่า “ไม่มีปัญหา” หรือ “ไม่เป็นไร” ทันที

มาดูอีกสักเทคนิคหนึ่งเป็นตัวอย่างนะคะ

เมื่อถามผู้เรียนว่าเข้าใจไหม แล้วคำตอบที่ได้คือ “เข้าใจครับ” ก็อย่าเพิ่งเชื่อหรือปล่อยผ่านไป เพราะอาจจะเป็นเพียงการตอบตามมารยาทก็ได้ ! ถ้าลองให้ผู้เรียนทำข้อสอบวัดความรู้อาจจะทำได้เพียงแค่ 20-30%

ดังนั้นเมื่อสิ้นสุดการเรียนในแต่ละวันหรือก่อนที่จะเริ่มเรียนในครั้งต่อไป จึงต้องทดสอบผู้เรียนเพื่อค้นหาว่าผู้เรียน “รู้และเข้าใจจริงหรือไม่ ?” เรื่องไหนรู้และเข้าใจ แต่เรื่องไหนไม่รู้ไม่เข้าใจ

80% ของคำถามในแบบทดสอบจะเกี่ยวข้องกับบทเรียนที่ได้บรรยายไป และอีก 20% ของคำถามจะต้องอาศัยการวิเคราะห์ ประมวล และสังเคราะห์เนื้อหาที่ได้เรียนไป จึงจะตอบได้

ผู้เขียนแบ่งการทดสอบออกเป็น 2 รูปแบบ คือ การทดสอบแบบเป็นครั้ง ๆ และการทดสอบแบบสั่งสม

1. การทดสอบแบบเป็นครั้ง ๆ เป็นการทดสอบในขอบเขตเนื้อหาที่สอนในครั้งเดียว ไม่รวมถึงเนื้อหาที่เคยสอนไปในครั้งก่อน ๆ

2. การทดสอบแบบสั่งสม รูปแบบจะเป็นดังนี้ค่ะ
ครั้งแรกบรรยายเรื่อง A
ครั้งที่ 2 ตอนต้นชั่วโมงจะทดสอบเนื้อหา A ที่สอนไปเมื่อครั้งที่แล้ว แล้วจึงบรรยายเรื่อง B
ครั้งที่ 3 ตอนต้นชั่วโมงจะทดสอบทั้งเนื้อหา A และ B ที่สอนไปแล้ว แล้วจึงบรรยายเรื่อง C
ครั้งที่ 4 ตอนต้นชั่วโมง จะทดสอบเนื้อหาทั้ง A, B และ C
...
ทำอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ จะช่วยให้ความรู้สั่งสมเพิ่มขึ้นไปได้เรื่อย ๆ




แม้ว่าการทดสอบแบบสั่งสมความรู้จะทำให้ปริมาณเนื้อหาที่ต้องทบทวนมีมาก เรียกได้ว่าค่อนข้างหนักหนาสาหัสสำหรับผู้เรียน แต่ก็เป็นเรื่องที่ต้องทำค่ะ เพราะประโยชน์ของการทดสอบแบบนี้ก็คือ ทำให้ได้ทบทวนเนื้อหาทั้งหมดที่เรียนไปอยู่เรื่อย ๆ นั่นเอง

ตัวอย่างที่ยกมานี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นนะคะ โปรดติดตามอีกหลาย ๆ เทคนิค แนวคิด แนวทางที่น่าสนใจ เพื่อการสอนที่สมบูรณ์ทั้งการพัฒนาความรู้ความสามารถของผู้เรียนและความสุขความสนุกสนานในการเรียนในเล่มจริงค่ะ


========================================

เชิญชมหนังสือใหม่ของสำนักพิมพ์ ส.ส.ท. ได้ที่เว็บไซต์ของสำนักพิมพ์ ส.ส.ท.







Create Date : 08 เมษายน 2554
Last Update : 8 เมษายน 2554 17:20:55 น.
Counter : 8223 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Book4u.BlogGang.com

textbook
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 20 คน [?]

บทความทั้งหมด