แผนภาพ วาดให้เป็น เก่งนำเสนอ
สวัสดีปีใหม่ 2555 ค่ะ
เพื่อน ๆ ได้ไปเที่ยวที่ไหนหรือทำอะไรต้อนรับปีใหม่ส่งท้ายปีเก่ากันบ้างคะ
คนส่วนใหญ่คงเดินทางไปเที่ยวต่างที่ต่างถิ่น หลายคนอาจนัดสังสรรค์พบปะเพื่อนฝูง บางคนอาจขอแค่ได้ทำอะไรเรื่อยเปื่อยอยู่กับบ้านก็สุขใจ แม้จะหลากหลายต่างกันไป แต่เชื่อว่าคงได้พักผ่อนเต็มที่และชาร์จพลังเตรียมพร้อมเดินหน้าเข้าสู่ปีมังกรกันทุกคนนะคะ
มาดูหนังสือดี ๆ ที่จะขอแนะนำเป็นการเปิดเดือนแรกของปีจากทางสำนักพิมพ์กันดีกว่าค่ะ

หนังสือเล่มนี้รวบรวมเทคนิคการวาดแผนภาพเพื่อการนำเสนอที่สมบูรณ์แบบ มีทุกเคล็ดลับที่ควรรู้และจำเป็นต้องรู้ สำหรับทุกคนในทุกวงการการทำงานค่ะ ในแต่ละช่วงชีวิตของเราจะต้องเกี่ยวข้องกับการนำเสนองานหรือความคิดอยู่ไม่น้อยเลย ไม่ว่าจะเป็นในวัยเรียนหรือวัยทำงานอย่างเช่นนักเรียนนักศึกษาที่อาจารย์มักให้นำเสนองานหน้าชั้นเรียน หรือแม้จะผ่านพ้นวัยเรียนมาจนก้าวเข้าสู่วัยทำงานแล้ว ก็มักจะหนีไม่พ้นการนำเสนองานหรือความคิดอยู่ดี ยังไม่ต้องพูดถึงการนำเสนอใหญ่ ๆ อย่างเป็นทางการก็ได้นะคะ ความจริง แค่เราจะต้องสรุปเนื้องานให้อีกฝ่ายเข้าใจได้ง่าย ๆ ก็ถือเป็นการนำเสนออย่างหนึ่งแล้ว ซึ่งเครื่องมือที่จะขาดไม่ได้ในการอธิบาย สรุป หรือนำเสนอข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิผลก็คือ “ภาพ” หรือ “แผนภาพ” นั่นเอง


แผนภาพ วาดให้เป็น เก่งนำเสนอ
โดย YAMADA Masao
แปลโดย ประวัติ เพียรเจริญ
จำนวนหน้า 252 หน้า


88 เคล็ดลับการวาดแผนภาพในหนังสือเล่มนี้แบ่งออกเป็น 6 ขั้นตอนค่ะ นั่นก็คือ
1. กำหนด “สาร”
2. เลือก “รูปแบบ”
3. แปลงเป็น “กราฟ”
4. เพิ่ม “ข้อความ”
5. จัดวาง “เลย์เอาต์”
6. แต่งเติม “สี”

“ภาพ 1 ภาพแทน 1 ล้านคำพูด”
ถ้าเรามองว่า “แผนภาพ” สามารถสรุปเนื้อหาหรือข้อความที่ยาวเป็นพรืดให้ย่นย่อลงมาเป็นภาพภาพเดียวได้ “แผนภาพ” ก็ถือเป็นเครื่องมือนำเสนอที่ไม่ควรมองข้ามเลย จริงไหมคะ
แต่จะสร้างแผนภาพอย่างไรให้สื่อสารใจความได้ครบถ้วนและให้ผู้รับสารรับรู้และเข้าใจตรงประเด็น ?
หนึ่งในเคล็ดลับที่หนังสือเล่มนี้แนะนำไว้ก็คือ การใส่ชื่อแผนภาพเพื่อถ่ายทอดสารที่ตั้งใจจะสื่อให้ครบถ้วน ซึ่งจะทำให้ผู้อ่านเข้าใจได้เร็วขึ้นเพราะการใส่ชื่อแผนภาพจะช่วยให้ทราบประเด็นหลักได้ทันที โดยเฉพาะแผนภาพที่ซับซ้อน ไม่ใช่แค่ใส่ชื่ออย่างเดียว แต่ควรตั้งชื่อที่เข้าใจได้ง่ายด้วย
ลองมาดูตัวอย่างกันค่ะ



จากแผนภาพ before เราอาจต้องใช้เวลาสักหน่อยเพื่ออ่านแผนภาพและสรุปประเด็นหลักที่ผู้เขียนต้องการสื่อ แต่เมื่อใส่ชื่อแผนภาพลงไปแล้ว สายตาของเราจะกวาดตามองหาส่วนที่เกี่ยวโยงกับชื่อแผนภาพทันที ซึ่งเท่ากับว่าเรากำลังมองไปที่ประเด็นหลัก กล่าวได้ว่า ชื่อแผนภาพทำให้รู้ว่าสารที่ผู้เขียนต้องการสื่อคืออะไร ส่วนแผนภาพทำให้เข้าใจประเด็นดังกล่าวได้อย่างเป็นรูปธรรมและง่ายขึ้น

นอกจากนี้ การเลือกรูปแบบของแผนภาพให้เหมาะสมกับ “สาร” ที่จะนำเสนอเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะรูปแบบที่เหมาะสมทำให้เราตัดทอนคำอธิบายที่ยืดยาวหรือเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของข้อมูลได้ดียิ่งขึ้น
ขอยกตัวอย่างแผนภาพเวนน์ที่จะช่วยชูประเด็น “ส่วนที่ทับซ้อน” หรือ “จุดร่วม” ได้ดี
สมมติเรามีข้อมูลอยู่ 1 ชุดที่ต้องการนำเสนอ ดังนี้ค่ะ
หากได้นำเอาเทคโนโลยีขั้นสุดยอดของบริษัท A มารวมกับเครือข่ายการจัดจำหน่ายอันแข็งแกร่งของบริษัท B รับรองว่า ยอดขายจะต้องเพิ่มสูงขึ้นอย่างแน่นอน
ถ้าใช้แผนภาพเวนน์จะออกมาในลักษณะนี้ค่ะ



จะเห็นว่าแผนภาพเวนน์ช่วยเน้นย้ำและอธิบายข้อมูลให้มองแล้วเข้าใจได้อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น

แล้วถ้าข้อมูลที่เรามีเป็นข้อมูลตัวเลขล่ะ จะทำอย่างไร ?
เรามาเลือก “กราฟ” กันดีกว่าค่ะ ซึ่งในหนังสือเล่มนี้แนะนำไว้ว่าถ้าวาดกราฟพื้นฐานอย่างกราฟแท่ง กราฟเส้น กราฟวงกลมได้ก็ถือว่าครอบคลุมการแสดงข้อมูลตัวเลขด้วยกราฟทั้งหมดแล้ว หากสามารถเปลี่ยนข้อมูลให้อยู่ในรูปของตัวเลขได้ จะแปลงเป็นกราฟได้มากมาย แม้จะเป็นข้อมูลเชิงคุณภาพก็ตาม
หากลองใช้วิธีแบ่งคุณลักษณะแต่ละด้านแล้วประเมินด้วยคะแนน (ดังแผนภาพ before ด้านล่าง) เช่น ดีเลิศ=5, ดี=4, พอใช้=3, มีปัญหา=2, มีปัญหามาก=1 เราจะได้ข้อมูลออกมาหลายมิติ ซึ่งในกรณีนี้การใช้ “กราฟรูปหลายเหลี่ยม” ก็ทำให้ดูกระชับและสวยงามไปอีกแบบค่ะ (ดังแผนภาพ after)



ต่อมา เรามาดูเรื่องการใช้ “ข้อความ” ในแผนภาพกันค่ะ
คำอธิบายหรือข้อความยังคงเป็นสิ่งจำเป็นแม้เราจะใช้ “ภาพ” หรือ “แผนภาพ” เข้ามาช่วยในการสื่อสารแล้วก็ตาม เพราะข้อความจะถ่ายทอดใจความได้อย่างถูกต้องและแม่นยำ โดยสิ่งสำคัญก็คือการเขียนข้อความที่อ่านเข้าใจง่าย เช่น การไม่ใช้ศัพท์เฉพาะทางหรือศัพท์ในวงการที่คนทั่วไปไม่เข้าใจหรือต้องอาศัยการตีความซึ่งเป็นการเพิ่มอุปสรรคให้ผู้อ่านเสียเปล่า ๆ ค่ะ

อย่าลืมจัด “เลย์เอาต์” หรือตำแหน่งการจัดวางให้เหมาะสมด้วยนะคะ เพราะการจัดเลย์เอาต์ที่ดีจะสามารถสื่อถึงความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบต่าง ๆ หรือใจความหลักของแผนภาพให้ผู้อ่านเข้าใจได้ถูกต้องและรวดเร็ว
การเหลือที่ว่างไว้ให้พอเหมาะก็ถือเป็นหนึ่งในหลักการจัดวางเลย์เอาต์ที่ดีค่ะ เพราะที่ว่างจะไม่ทำให้แผนภาพดูแน่นจนน่าอึดอัดเกินไป ลองถามตัวเองดูว่า “สิ่งที่ต้องการถ่ายทอดออกมาจริง ๆ คืออะไร” หรือ “ประเด็นสำคัญของภาพอยู่ตรงไหน” ส่วนที่ไม่สำคัญก็ตัดใจเอาออกไปเสีย นอกจากจะทำให้แผนภาพมองดูสวยงามสะอาดตาแล้ว ยังมีประโยชน์ในกรณีแจกเอกสารนำเสนอให้ผู้ฟังด้วย ถ้าอยากรู้ประโยชน์ดังกล่าวคืออะไร ลองเปิดอ่านเฉลยจากในเล่มดูนะคะ

ส่วนขั้นสุดท้ายที่หนังสือเล่มนี้พูดถึงคือ การแต่งแต้มเติม “สี”
อาจมีหลายคนเถียงว่า ปกติแล้ว ไม่จำเป็นต้องใช้สีในแผนภาพ ก็สามารถสื่อความหมายได้ดีอยู่แล้ว แต่การเลือกใช้สีอย่างเหมาะสมจะช่วยให้แผนภาพแลดูเด่นสะดุดตาและทำให้ผู้อ่านเข้าใจเนื้อหาหรือใจความหลักของแผนภาพได้เร็วขึ้น แต่ก็ไม่ควรใช้สีมากไปจนแลดูเลอะเทอะไม่สวยงาม ประเด็นการเลือกใช้สีที่สำคัญคือ การใช้สีที่สอดคล้องกับเนื้อหาค่ะ


แน่นอนว่า เคล็ดลับดี ๆ สำหรับการวาดแผนภาพยังมีอีกมากมายในหนังสือเล่มนี้ เคล็ดลับส่วนใหญ่เป็นสิ่งที่เราอาจเผลอมองข้ามไปหรือนึกไม่ถึงซึ่งจะช่วยให้คุณผู้อ่านวาดแผนภาพออกมาได้สะดุดตาน่ามอง สื่อสาระใจความได้ครบถ้วนตรงประเด็น และที่สำคัญคือเข้าใจง่าย
ในเมื่อแผนภาพเป็นเครื่องมือสื่อสารที่ทรงประสิทธิภาพขนาดนี้ เมื่อได้เรียนรู้เทคนิคการวาดแผนภาพที่ดีไปแล้ว ก็อย่าลืมหมั่นฝึกฝนวาดแผนภาพบ่อย ๆ โดยอาจจับข้อมูลรอบตัว เช่น ข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์หรือโทรทัศน์ มาลองแปลงเป็นแผนภาพดู เพราะเมื่อเข้าสู่สังคมการทำงานแล้ว การประยุกต์ใช้ “ภาพ” เข้ามาช่วยในการนำเสนอความคิดหรือข้อมูลต่าง ๆ เป็นทักษะที่จำเป็นและเป็นประโยชน์อย่างแน่นอนค่ะหากคุณผู้อ่านนำไปปรับใช้อย่างสอดคล้องกับวิถีและรูปแบบการทำงานไม่ว่าจะอยู่ในวงการใดก็ตาม

========================
อย่าลืมแวะไปชมหนังสือออกใหม่ที่ เว็บไซต์สำนักพิมพ์ นะคะ



Create Date : 13 มกราคม 2555
Last Update : 13 มกราคม 2555 17:39:49 น.
Counter : 5284 Pageviews.

0 comments
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Book4u.BlogGang.com

textbook
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 20 คน [?]

บทความทั้งหมด