"ยินดีต้อนรับสู่ บล็อกของคนใฝ่รู้ สำหรับผู้ใส่ใจใฝ่รู้ค่ะ" มีหลายหัวข้อเรื่องให้คุณอ่าน .. ขอบคุณที่มาเยี่ยมบล็อกค่ะ .. ขอจงมีแต่ความสุขกายสบายใจตลอดไปนะคะ
Group Blog
 
<<
กันยายน 2554
 
6 กันยายน 2554
 
All Blogs
 

แนะนำ เรื่องสั้นชั้นครู ...เจียวต้าย เรื่องถนนนักอ่าน




เรื่องเล่าของคนวัยทอง

ถนนนักอ่าน

"เพทาย"




ผมไม่ได้ตั้งใจจะมาเปิดคลับใหม่ ในห้องสมุดของพันทิปซึ่งเป็นที่รู้จักของผู้เข้ามาเล่นเนตกันอย่างแพร่หลายหรอก เพียงแต่อยากจะเล่าถึงตนเอง แทนคนเขียนหนังสือทั่ว ๆ ไปว่า สิ่งที่นักเขียนทุกคนต้องการเป็นสิ่งแรก คือคนอ่าน เราไม่ได้เขียนให้แมลงสาปหรือปลวกอ่าน เราต้องการคนอ่านจริง ๆ ในห้องต่าง ๆ ของ พันทิป.คอม.คาเฟ ก็จะมีแต่ผู้ตั้งกระทู้ และผู้แสดงความคิดเห็น อาจจะเป็นการเห็นด้วย หรือเป็นการโต้แย้ง หรือเป็นการเสนอข้อมูล ที่ผู้ตั้งกระทู้ยังไม่รู้ก็ได้

แต่ในถนนนักเขียน เมื่อได้ตั้งกระทู้ในหมวด นิยาย เรื่องสั้น บทกวี ความเรียง และบทประพันธ์อื่น ๆ แล้ว ก็จะมีการติชมส่งเสริมแนะนำ หรือพูดคุยล้อเล่น ต่อเนื่องกันไปตามอารมณ์ของผู้อ่าน ซึ่งผู้อ่านในที่นี้ก็มีอีกประเภทหนึ่งที่แปลกกว่าห้องอื่น ๆ คืออ่านอย่างเดียว ไม่ออกความเห็น อ่านแล้วก็แล้วกันไป หรืออ่านแล้วก็ลงชื่อว่าอ่านแล้วนะ หรือทำเครื่องหมายสัญลักษณ์ให้ผู้เขียนรู้ว่ามาเยี่ยมเยียนแล้วจ้ะ ทำนองนี้ก็มี

ดังนั้นกระทู้แต่ละเรื่องจึงมีผู้เข้ามาอ่านมากน้อยไม่เท่ากัน แล้วแต่รสนิยมของผู้อ่านแต่ละท่าน และมีผู้เขียนหลายท่านเข้ามาแล้ว เห็นว่าไม่ค่อยมีผู้เข้ามาลงชื่ออ่าน ก็เลยหายหน้าค่าชื่อไปเลย ก็มีไม่น้อย นอกจากผู้ที่มีความอดทนสูงอย่างผม จึงจะยืนหยัดอยู่ได้

เมื่อสมัยที่ผมเริ่มเขียนหนังสือส่งไปให้หนังสือพิมพ์หรือวารสารต่าง ๆ ทั้งรายเดือน รายสัปดาห์ รายปักษ์ รายทศ รายลอตเตอรี่ และรายวัน นั้น ผมไม่มีโอกาสรู้เลยว่า บรรณาธิการหรือผู้บริหารสำนักพิมพ์นั้น ๆ อ่านเรื่องของผมหรือไม่ หรือว่าได้รับแล้วก็โยนลงตะกร้าไปเลย ผมจะต้องคอยติดตามไปสังเกตการณ์ตามแผงหนังสือที่ใกล้บ้านหรือที่ทำงานอยู่ ทุกคาบที่หนังสือเหล่านั้นวางตลาด บางทีก็ต้องตระเวนไปหลายแห่ง เพื่อแอบพลิกหนังสือเล่มนั้น อีกแห่งพลิกเล่มนี้ อีกแห่งพลิกเล่มโน้น เพราะถ้ายืนพลิกที่เดียวหลาย ๆ เล่ม ก็คงโดนไล่ตะเพิดเป็นแน่ ไม่ซื้อหนังสือเขาเลยได้แต่พลิกอย่างเดียว

ถ้าเจอเล่มไหนลงเรื่องของเราก็ดีอกดีใจ รีบซื้อกลับไปบ้านอ่านเสียสามสี่เที่ยวให้สบายใจ แล้วก็ปั่นเรื่องใหม่ส่งไปให้อีก ด้วยความหวังว่าเขาจะลงให้อีก แต่ถ้าพลิกแล้วพลิกเล่าไม่เจอเรื่องของเราเป็นเดือน ก็ไม่กล้าส่งไปให้ที่นั้นอีก ต้องเร่หาเจ้าใหม่ต่อไป

ดังนั้นเมื่อมาเจอเอาสนามใหญ่ของพันทิป ที่เราจะเขียนเรื่องอะไรส่งไปให้เขาก็ลงให้ทุกครั้งไม่จำกัดประเภท ไม่จำกัดความสั้นยาว ไม่จำกัดแนวไม่ว่า จะรักเศร้าเคล้าน้ำตา บู๊โลดโผนโจนทะยาน เรื่องผีสางนางไม้ เรื่องนอกโลกและนอกจักรวาล หรือเพ้อฝันเหมือนคนเป็นโรคประสาท ก็ได้ทั้งสิ้น ผมจึงมีความสุขมาก และคิดว่าอายุคงจะยืนยาวไปได้อีกนาน เพราะเวลานี้ผมก็ทำอะไรไม่ได้เลยสักอย่าง เว้นแต่การเขียนหนังสือ

เมื่อก่อนหน้าที่จะมาเจอถนนนักเขียนของห้องสมุดพันทิปนี้ ผมก็โหยหาผู้อ่านเป็นอย่างยิ่ง แม้จะมีโอกาสได้ลงพิมพ์ในวารสารรายต่าง ๆ อยู่อย่างสม่ำเสมอ ก็ไม่มีทางทราบได้เลยว่าผู้อ่านเหล่านั้นมีความรู้สึกต่อเรื่องของเราอย่างไรบ้าง ผมจึงเอาเรื่องเหล่านั้นมารวมเล่ม โดยใช้ถ่ายสำเนาด้วยกระดาษเอสี่หนาประมาณสามสิบถึงสี่สิบหน้า แล้วก็ส่งไปให้ผู้ที่เคารพนับถือรักใคร่สนิทสนมกัน ทั้งในทางส่วนตัวและที่ทำงาน ในวาระขึ้นปีใหม่บ้าง วันเกิดของผู้รับบ้าง หรือวันเกิดของผู้เขียนบ้าง ทุกปี ซึ่งก็ได้รับการต้อนรับพอสมควร โดยทางโทรศัพท์หรือบัตร ส.ค.ส.หรือการพูดคุยเมื่อเจอกันบ้าง

แต่หลาย ๆ คน เมื่อถามถึงหนังสือของผมที่ส่งไปให้ ว่าอ่านแล้วหรือยัง ก็มักจะได้คำตอบว่า อ่านไปบ้างแล้ว หรือกำลังจะอ่าน แต่ที่ทำให้หัวใจห่อเหี่ยวก็คือคำตอบที่ว่า ขอโทษทียังไม่มีเวลาว่างจะอ่านเลย ผมก็สงสัยว่าท่านทำอะไรหนักหนาในวันหนึ่ง ๆ หรือท่านเอาหนังสือของผมไปวางไว้ที่ไหนจนหาไม่เจอก็ไม่รู้ แต่ถ้ามีผู้ตอบว่าอ่านแล้ว สนุกมาก หรือสามารถยกเอาบางเรื่องมาย้ำว่าชอบตรงไหน ผมก็อิ่มอกอิ่มใจมีความสุขไปหลายวันทีเดียว

แต่ผมมีเพื่อนอยู่คนหนึ่ง เขาเป็นน้องของเพื่อนคนหนึ่งที่สนิทกันมากของผม เขาชื่นชมเรื่องของผมอย่างมากมาย จนมีความศรัทธาที่จะให้ผมดำเนินการทำหนังสือที่ระลึกงานฌาปนกิจศพบิดาของเขา ซึ่งก็เป็นที่เคารพนับถือของผมมาตั้งแต่ผมยังเด็ก เขายินดีออกเงินค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น แบบไม่จำกัด แล้วแต่ผมจะเห็นสมควร ผมก็แย้งว่าผมไม่เคยเขียนเรื่องที่เป็นสาระหรือวิชาการ หรือเรื่องแทรกธรรมะที่น่าจะเอาไปพิมพ์เป็นหนังสืองานศพได้ เขาก็ยืนยันว่าเอาเรื่องที่ผมเขียนมาแล้วนั่นแหละ เลือกเอาที่มันขำขันหรือขบขันหรือหรรษา มารวมเข้าด้วยกันก็สิ้นเรื่อง ผมยิ่งค้านใหญ่ว่ามันจะไม่ผิดธรรมเนียมของหนังสืองานศพไปหรือ เขาบอกไม่เป็นไรเขาเป็นเจ้าภาพ ใครมันจะว่าก็ให้ไปว่าเขาเอง ผมไม่เกี่ยว

ผมจึงมีกำลังใจที่จะทำหนังสือเล่มนี้ให้ดีที่สุด เพราะเจ้าภาพจะต้องลงทุนเป็นจำนวนหมื่น ๆ ผมก็ลงมือคัดเลือกเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจได้เก้าเรื่อง เอาบทธรรมะของท่านเจ้าประคุณ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ วัดราชผาติการาม ซึ่งเป็นอุปัชฌาย์ของเจ้าภาพนำหน้าไว้ก่อน แถมกลอนแฝง ธรรมมะอีกสองบท รวมเป็นเล่มขนาด ๑๖ หน้ายก หนา ๗๒ หน้า โดยไม่มีประวัติของผู้วายชนม์และรายชื่อบุตรธิดาหลานเหลน รวมทั้งคำไว้อาลัยของญาติมิตรที่สนิทสนมกับครอบครัวนี้ แต่อย่างใด ซึ่งนับว่าเป็นการแหวกขนบธรรมเนียมประเพณี ของหนังสือที่ระลึกงานศพ อย่างกล้าหาญทีเดียว

หนังสือเล่มนี้ได้จัดทำเมื่อ พ.ศ.๒๕๔๐ ให้ชื่อไว้ที่หน้าปกว่า ใครลิขิต และในปัจจุบันที่ผมชอบเข้าไปอ่านหนังสืองานศพในหอสมุดแห่งชาติอยู่อย่างสม่ำเสมอ ก็ยังไม่เคยเจอหนังสืองานศพเล่มใดที่คล้ายคลึงกับหนังสือที่ผมทำให้เพื่อนรุ่นน้องคนนี้เลย จึงถือโอกาสนำเอาสารบัญมาลงให้ดูเป็นตัวอย่าง ซึ่งท่านผู้อ่านในที่นี้ก็คงจะเคยได้อ่านมาบ้างแล้วคือ

ผ้หญิงในสามก๊กสามก๊ก......................”เล่าเซี่ยงชุน”

ชีวิตเศร้าของนางผีเสื้อ........................ฑ มณฑา

ผู้ชนะสิบทิศของพม่า...........................พ.สมานคุรุกรรม

เหตุเกิดที่พระบรมรูปทรงม้า.................”วชิรพักตร์”

เพื่อนเก่า...........................................”เพทาย”

กรรมเก่า............................................”เพทาย”

คนใจบุญ...........................................”เพทาย”

กรรมของนก.......................................”เทพารักษ์”

ฆาตกรรมซ่อนเงื่อน..............................”เทพารักษ์”

หลังจากเสร็จงานศพรายนั้นแล้ว ภายหลังผมก็ได้ถามเจ้าภาพว่ามีเสียงสะท้อนกลับมาจากผู้รับบ้างหรือไม่ เขาบอกว่าไม่มีเลย ผมก็พยายามทำความเข้าใจว่า คงไม่มีใครกล่าวหาว่าทำหนังสือแปลก มากกว่าที่จะไม่มีใครอ่านหรอกนะ

หลังจากที่น้องคนนี้เกษียณอายุมาได้หลายปี เมื่อเร็ว ๆ นี้ได้พบกันอีกในงานฌาปนกิจศพพี่ชายของเขาซึ่งเป็นเพื่อนของผมเอง ที่วัดเครือวัลย์ ได้คุยกันอยู่นานเขาต่อว่าที่ผมไม่ได้ส่งหนังสือประจำปีของผมให้อ่านเลย ยังทำอยู่หรือเปล่า ผมก็บอกว่าทำมาตลอดทุกปี ตัวเขาได้รับถึงปีไหนแล้ว จะได้ส่งเล่มใหม่ไปให้ เขาก็บอกว่าได้รับเล่มสุดท้ายคือ ชีวิตที่พอเพียง พ.ศ.๒๕๔๕ ผมก็ขอโทษว่าทำที่อยู่ของเขาหายไป จึงลืมที่จะส่งมาให้ แล้วผมก็รวบรวมหนังสือดังกล่าว ส่งให้เขาจนถึงเล่มปีปัจจุบัน

เพื่อนรุ่นน้องคนนี้นับได้ว่าเป็นนักอ่านที่ดีที่สุดของผม เพราะเขาสามารถเล่าเรื่อง ต่าง ๆ ของผมที่ได้อ่านแล้ว ให้ผมฟังได้อย่างทุกต้องโดยไม่ตกหล่นในรายละเอียดเลย ผมถามเขาว่าเอาเวลาที่ไหนมาอ่านหนังสือ เขาก็ตอบว่า

“ ผมชอบอ่านหนังสือมาตั้งแต่เด็กแล้ว เดี๋ยวนี้เลิกทำงานแล้วมีเวลาว่างมาก ก็ยิ่งอ่านใหญ่เลย แต่ผมชอบเรื่องของพี่มากนะครับ อ่านแล้วสบายใจดี อ่านตอนไหนน่ะเหรอ ขอโทษนะพี่.....”

เขายกมือไหว้ผม

“ผมอ่านตอนนั่งส้วมเช้า ๆ น่ะครับ มันปลอดโปร่งดี “

###########

ถนนนักเขียน ห้องสมุดพันทิป
๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๙


โดย: เจียวต้าย วันที่: 6 กันยายน 2554 เวลา:6:48:17 น.




 

Create Date : 06 กันยายน 2554
15 comments
Last Update : 6 กันยายน 2554 18:54:54 น.
Counter : 503 Pageviews.

 

สวัสดีค่ะ

อ่านตอนไหนไม่สำคัญ
ขอให้อ่านก็แล้วกัน

ตอนยังไม่เล่นบล็อก นาถอ่านหนังสือทั้งวัน
ตื่นขึ้นก็อ่าน เข้าห้องน้ำก็อ่าน
นั่งรถไปทำงานก็อ่าน ถึงที่ทำงานก็อ่าน
พักทานอาหารก็อ่าน อ่านไปทานไป
อ่าน ๆๆๆ ก็มันของชอบ

สายตาทั้งเอียงและสั้น
เวลาซื้อหนังสือนี่ ไม่เคยเสียดายเงินเลยค่ะ

ต่อมาติดหนังเกาหลี ดูทุกวัน ดูทั้งวัน
ไม่กินไม่นอน ซื้อที ๗๐ แผ่นสองพันกว่าบาท
หลังจากไม่ฉลาด ซื้อสองแผ่นสองพันกว่าบาทมาแล้ว
ก็เพิ่งทราบว่า เขามีขายอีกอย่าง ราคาถูก
แล้วตอนนี้ ตื่นขึ้นก็มานั่งหน้าจอ...จ้อไป

หนังสืองานศพที่เล่าเข้าท่ามาก
ชอบชื่อ ที่สามารถแปลว่า "หน้า ร.พ.วชิระ" ด้วยค่ะ
พ.สมานคุรุกรรม มาจาก เพทาย...กระมังคะ
ฑ มณฑา สงสัยชื่อแม่บ้าน ฮ่าๆๆๆ

นาถนึกว่า นามสกุลเดิมของพี่ คือ แซ่ห่อ เห็นใช้ "เจียวต้าย"
และทหารชอบนำตัวแรกของนามสกุลมาเรียกเป็นชื่อเล่นกัน
"เล่าเซี่ยงชุน" คุ้นๆ ค่ะ


วันนี้ตื่นไม่สายมากนัก (สำหรับนาถ)
ทำไมพี่ห่อไปทักอีกบล็อกว่า นาถตื่นเช้าล่ะคะ
หากเห็นในบล็อกที่ เวลาอั๊พนั้น น่ะคือยังไม่ได้นอนค่ะ

วันนี้ยังอยู่ในอันดับ ๑ ที่คนมาอ่านมากที่สุดเท่าที่มีมาค่ะ
ได้เรื่องสั้นพี่ห่อมาช่วยด้วยแรงหนึ่ง
ขอบพระคุณนะคะ

 

โดย: nart (sirivinit ) 6 กันยายน 2554 9:05:05 น.  

 


สวัสดีค่ะคุณลุง

หนูก็ชอบอ่านหนังสือค่ะ วันๆ จะมีเวลาว่างอยู่ประมาณ 3-4 ชั่วโมง จริงๆ งานบ้านไม่มีหมด แต่ก็อยากทำอะไรๆ อย่างอื่นบ้าง หนังสือดูจะเป็นทางเลือกดีที่สุดค่ะ ชอบซื้อหนังสือ อาจจะไม่ถึงขนาดพี่นาถ (เยอะจริงๆ ค่ะ นับถือเลย...) หลังจากเพิ่งเข้ามาเขียนบล็อกจะ 2 ปีแล้ว ไม่ค่อยได้จับหนังสือเท่าไหร่ค่ะ แต่ก็ยังไปงานสัปดาห์หนังสือทุกครั้งที่มี ไปเอาหนังสือที่เค้าลดราคามาไว้ มีคติว่า หนังสือไม่บูดไม่เน่าขอซื้อมาเก็บไว้ก่อน...หนูเคยส่งเรื่องที่หนูเขียนไปสำนักพิมพ์แห่งหนึ่ง เค้าตีกลับมาบอกว่า...ที่หนูเขียนเหมือนบทรำพึงรำพันอะไรไม่รู้ ไม่ชัดเจนเรื่องเนื้อหา ตอนนั้นประมาณวัยรุ่่นหน่ะค่ะ เขียนเก็บๆ ไว้หลายเล่ม นึกอยากลองส่งไปดู เผื่อเค้าจะพิมพ์รวมเล่มให้...พอไม่ได้ ไม่เคยคิดส่งอีกเลยค่ะ เราคงไม่เหมาะทางด้านนี้ อ่านอย่างเดียวดีกว่า....

หนูไม่ค่อยชอบเอาหนังสือเข้าไปอ่านในห้องน้ำ เพราะกลัวจะเปียกบ้าง กลัวน้ำกระเซ็นใส่บ้างค่ะ เป็นประเภทโรคจิตค่ะ หวงหนังสือมากส่วนใหญ่หนังสือที่อ่านแล้ว ปกจะยังเนี๊ยบอย่างดี ไม่ยับ เหมือนไม่เคยเปิดเลยค่ะ

เป็นธรรมดาของคนเขียนหนังสือทุกคนค่ะ อยากรู้ว่าเค้าอ่านหนังสือเราแล้วรู้สึกยังไง....

เห็นว่าจะมีอีกชุดมาลงต่อใช่มั้ยคะ

หนูจะรออ่านค่ะ


 

โดย: สายหมอกและก้อนเมฆ 6 กันยายน 2554 14:52:42 น.  

 

น้องหนู

พี่นาถเป็นคนอ่านหนังสือเร็ว
อ่านแป๊บเดียวจบ
ที่จริง ควรเปิดร้านขายหนังสือใหญ่ๆ
แล้วอ่านๆๆๆ นำเก็บไปไว้ที่เดิมได้...เหมือนเก่า...

 

โดย: nart (sirivinit ) 6 กันยายน 2554 15:02:42 น.  

 

ผมอ่านหนังสือมาแต่เด็ก ยังไม่จบชั้นมัธยม ก็เริ่มหัดเขียนหนังสือแล้วครับ

ก็ยังไม่กล้าส่งไปให้หนังสือพิมพ์ที่ไหน พออายุ ๑๗ ปี ทำงานแล้วจึงเริ่มส่งให้วารสารรายปักษ์ ชื่อ โบว์ แดง ก็ได้ลงทันที ได้ค่าเรื่อง ๒๐ บาท เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๑ แล้วก็เขียนต่อมาอีก ๖๐ ปีครับ
วันพรุ่งนี้จะเอาเรื่องนี้มาเล่าให้อ่านกันครับ.

 

โดย: เจียวต้าย 6 กันยายน 2554 15:50:19 น.  

 

สำหรับนามปากกานั้น

เล่าเซี่ยงชุน คือสุราของจีนชนิดหนึ่ง ที่กินเมื่อหนุ่ม ๆ ใช้เขียนเรื่องะงศาวดารจีน จึงแปลงเหล้า เป็นเล่า ให้เป็นญาติกับเล่าปี่

ฑ.มณฑา เป็นอักษรตัวหนึ่งในชื่อจริง

พ.สมานคุรุกรรม พ.เป็นชื่อตัวของคุณพ่อ และเป็นอักษรตัวหนึ่งในชื่อของผม สมานคุรุกรรม เป็นราชทินนามของท่าน

คุณนาถเก่งจัง แปล วชิรพักตร์ ได้ถูกต้องเป๋งเลยครับ

เพทาย เป็นชื่อเพ็ชรชนิด หนึ่ง เช่นเดียวกับชื่อจริง

เทพารักษ์ แปลแล้วตรงกับคำแปลของนามสกุลพระราชทานครับ.

 

โดย: เจียวต้าย 6 กันยายน 2554 15:57:18 น.  

 

พรุ่งนี้เสนอเรื่อง
หกสิบปีบนเส้นทางนักเขียน ครับ

เรื่องสุดท้ายของชุด
เรื่องเล่าของคนวัยทอง ครับ.

 

โดย: เจียวต้าย 6 กันยายน 2554 15:59:35 น.  

 

มัวแจ้นไปดูนามสกุลพระราชทาน ที่ ๑๖.ภูมิพิสัยพิสุทธิวรพงศ์

หมวด ส .. ไม่พบค่ะ

 

โดย: nart (sirivinit ) 6 กันยายน 2554 18:21:29 น.  

 

"สมานคุรุกรรม เป็นราชทินนามของท่าน"

สมานคุรุกรรม .. ที่ไม่มีทางแปลว่า เทพารักษ์
เดาอีกว่า เทพรักษ์ ฮ่าๆๆๆ

 

โดย: sirivinit 6 กันยายน 2554 18:23:45 น.  

 

คงต้องรอพิจาณาเมื่อหมดแต่ละชุดแล้วครับ

แต่น่าจะเปลี่ยนชื่อกลุ่ม เพราะกระดากคำว่า นักเขียนชั้นครู ครับ
.
.

ชอบชื่ออะไร บอกมานะคะ
นาถยินดีจัดให้ค่ะ

 

โดย: nart (sirivinit ) 6 กันยายน 2554 18:53:45 น.  

 

ชุดนี้ชื่อ เรื่องธรรมดาของคนธรรมดา ครับ

ทายชื่อถูกอีกแล้วครับ แต่มีข้อมูลเยอะนี่ครับ ไม่ยากเลยครับ

นามสกุลนี่ยากมากครับ เพราะไม่มีในพจนานุกรม
แต่จะบอกให้ว่า

เทพารักษ์ แปลว่า เทวดารักษา ครับ.

 

โดย: เจียวต้าย 6 กันยายน 2554 19:26:38 น.  

 

เทวาภิบาล
เทวาพิทักษ์
เทพบริรักษ์
เทพนฤบาล

 

โดย: nart (sirivinit ) 6 กันยายน 2554 19:44:32 น.  

 

คุณนาถรู้ศัพท์ภาษาไทยมากมาย จึงสามารถคิดชื่อบล็อกได้วิศมาหรานับร้อยชื่อ

บอกให้อีกก็ได้ครับ นามสกุลนี้อยู่ในกลุ่ม น.ครับ

คราวนี้ตอบได้แน่นอนครับ.

 

โดย: เจียวต้าย 7 กันยายน 2554 6:17:07 น.  

 

สวัสดีค่ะ

ชอบอ่านหนังสือเหมือนกันค่ะ แต่ไม่เท่าคุณพี่ sirivinit หรอกนะคะ

ชอบอ่านหนังสือในห้องน้ำเหมือนกันค่ะ เพราะรู้สึกว่ามีสมาธิ ดีเหลือเกิน

ในห้องน้ำที่บ้านมีตู้หนังสือเล็กๆ วางไว้ด้วยค่ะ

 

โดย: Katai_Akiko 7 กันยายน 2554 6:22:14 น.  

 

ขนาดมีตู้หนังสือในห้องน้ำนี่ เรียกว่าเป็นหนอนหนังสือได้แล้วนะครับ.

 

โดย: เจียวต้าย 7 กันยายน 2554 9:02:42 น.  

 

อดแวะมาไม่ได้ ยังไม่มีงานลงบล็อกเล้ย นอกจากดูหมอ ดร.ซี
มาดามอากิโกะ เธอชอบที่จะซื้อหนังสือให้นาถอ่านแทนค่ะพี่ห่อ

นามสกุล เดี๋ยวค่อยทายต่อนะคะ กลัวทายถูก ฮ่าๆๆๆ เอิ๊ก เอิ๊ก...

 

โดย: nart (sirivinit ) 7 กันยายน 2554 10:28:40 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 


sirivinit
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 224 คน [?]





/



2558

2556

2555

น้ำใจจากคุณ krittut 2554

2553


สิริสวัสดิ์วรวาร
เปรมปรีดิ์มานรื่นรมณีย์นะคะ ยินดีต้อนรับ
สู่บล็อกของคนใฝ่รู้ สำหรับผู้ใส่ใจใฝ่รู้ค่ะ

เชิญอ่านตามสบายนะคะ
มีดีๆให้คุณได้ทราบหลากหลายค่ะ

๑ - ๑/๑ ฉันรักในหลวง
๒.๓.๑๐.๑๕.๓๐.๒๔.๕๙.๖๓.๙๐.ธรรมะ
๔ - ๔/๑ รวมพลคนดัง
๕. ศาสนาพุทธสุดประเสริฐ
๖. ความรู้ทั่วไปในศาสนาพุทธ
๗. ๑๖. ประวัติศาสตร์
๘ - ๙/๑ ไม้ดอก ไม้ใบ
๑๑ - ๑๑/๑ เกม
๑๒.๓๗.๔๐-๔๓.๕๓.๗๕.๘๖.ศิลปะเทศ
๑๔ - ๑๔/๑. ๒๐๘. ข่าวคนดังเทศ
๑๘. ๑๙. ๒๒. ราชวงศ์ไทย
๒๐.๑๑๖-๑๑๖/๒ ๑๙๐-๑๙๐/๘ ละคร ทีวี
๒๑. ๓๑. ๒๐๘. ราชวงศ์เทศ
๒๔. นักเขียนไทย
๒๔/๑. กลอนชั้นบรมครู
๒๙/๑-๒๙/๔โปสการ์ดจากเพื่อนบล็อก
๓๓. สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
๓๙.๑๘๑-๑๘๑/๗ สุธาโภชน์รสเลิศล้ำ
๔๑.๔๒.๕๐.๕๘.๖๐.๖๑.๘๖.มหาวิหาร
๕๗. ปราสาท พระราชวัง คฤหาสน์เทศ
๖๒. วัด
๖๕ - ๖๕/๑ การ์ตูน
๖๕/๒. นิทานเซน
๖๗. ความตายมาพรากให้จากไป
๖๙ - ๖๙/๒ สารพัดสัตว์
๗๔. สุนัข
๗๖. อุทยานสวรรค์
๗๗. ซูเปอร์แมน - แบทแมน
๗๘ - ๘๓. แสตมป์สะสม
๘๕-๘๕/๑ หนังสือสะสม
๘๗ - ๘๗/๒ ๒๑๕ ข่าวกีฬา
๘๙. ๘๙/๑ จีนแผ่นดินใหญ่
๙๐/๑ .ทิเบต
๙๑. จันทร์สูริย์ดารา
๙๒. สมเด็จพระปิยมหาราชเจ้า
๙๓ - ๙๓/๒ ภาพยนตร์
๙๔ - ๙๔/๓ ยานยนต์
๙๕ - ๙๕/๑ ดูดวง
๙๖ - ๙๖/๑ . ๒๑๑ วิทยาศาสตร์
๙๗ - ๙๗/๑.๒๐๙ แวดวงวรรณกรรม
๙๘. ภาพพุทธประวัติ
๙๙. ๑๒๗ - ๑๒๗/๑ ดนตรี
๑๐๑. ป้าย R สะสม
๑๐๒. บัตรภาพตราไปรฯสะสม
๑๐๓. DIY
๑๐๗/๑ เล่าเรื่องเมืองญี่ปุ่น
๑๐๘ - ๑๐๘/๑ หนังสือ
๑๑๓ - ๑๑๓/๑ บ้านสวย
๑๑๕. พระเครื่อง
๑๒๐. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
๑๒๓. เจ้าฟ้าเพชรรัตน์ฯ
๑๒๕. เหรียญที่ระลึก
๑๒๕/๑ เหรียญสะสมต่างประเทศ
๑๒๕/๒ เหรียญที่ระลึกจังหวัด
๑๒๕/๓ ธนบัตรที่ระลึก
๑๒๕/๔ บัตรโทรศัพท์
๑๒๕/๕ กล่องไม้ขีด และอื่นๆ
๑๓๑.เรื่องสั้นชั้นครู"เจียวต้าย"
๑๖๔.บล็อกพิเศษ วันเดียวอั๊พ 100
เอนทรี่ ให้คุณป้า"ร่มไม้เย็น"ชม
๑๙๐/๓ เรื่องย่อละคร
๑๙๓. คดีเขาพระวิหาร
๒๑๒. ศิลปะ
๒๑๗. วิถีแห่งอำนาจ บูเช็กเทียน
๒๑๗/๑.วิถีแห่งอำนาจ เจงกิสข่าน
๒๑๗/๒.วิถีแห่งอำนาจ จูหยวนจาง
๒๑๗/๓.วิถีแห่งอำนาจ ซูสีไทเฮา
๒๑๗/๔.วิถีแห่งอำนาจ หงซิ่วฉวน
๒๑๗/๕.วิถีแห่งอำนาจ แฮรี่ พอตเตอร์

ข่าวทั่วไปล่าสุด บล็อกล่างสุดค่ะ

เปิดบล็อก 1 มกราคม 2552



free counters
08.27 - 250811

207 flags collected 300316



Friends' blogs
[Add sirivinit's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.