"ยินดีต้อนรับสู่ บล็อกของคนใฝ่รู้ สำหรับผู้ใส่ใจใฝ่รู้ค่ะ" มีหลายหัวข้อเรื่องให้คุณอ่าน .. ขอบคุณที่มาเยี่ยมบล็อกค่ะ .. ขอจงมีแต่ความสุขกายสบายใจตลอดไปนะคะ
Group Blog
 
 
กุมภาพันธ์ 2556
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
2425262728 
 
27 กุมภาพันธ์ 2556
 
All Blogs
 
นิทานชาวสวน ชุด สงครามเอเซีย ความทุกข์ของชาวบ้าน (๔)

นิทานชาวสวน (๔)
ชุด สงครามเอเซีย
๔. ความทุกข์ของชาวบ้าน


๒๕ มกร ๘๕ แม่บันทึกไว้ว่า

ประเทศไทยประกาศสงครามกับประเทศอังกฤษและประเทศสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่เวลาเที่ยงวันของวันอาทิตย์ที่ ๒๕ มกราคม พ.ศ.๒๔๘๕ เป็นต้นไป เพราะประเทศทั้ง ๒ นี้ ได้รุกรานประเทศไทย ในระยะเดือนธันวาคม และมกราคม นี้ ทั้งทางพื้นดินและทางอากาศ ทางอากาศ ๓๐ ครั้ง ทางพื้นดิน ๓๖ ครั้ง สุดที่ประเทศไทยจะอดทนต่อไปได้ จึงประกาศสงคราม

สาเหตุที่อ้างนั้นทางอากาศพอจะรวม การที่มีเครื่องบินล้ำเข้ามาในเขตแดนประเทศไทย ในเวลานั้นทั้งหมด แต่ทางพื้นดินนึกไม่ออกว่าอ้างเหตุใด ไม่มีใครอธิบายให้ทราบจนบัดนี้

จากนั้นก็มีการสร้างหลุมหลบภัยเป็นการใหญ่ ทั้งทางราชการและประชาชน โดยมีเจ้าหน้าที่แนะนำรูปแบบของหลุมหลบภัย แบบเปิดก็คือการขุดดินลงไปให้ลึกพอที่จะปูเสื่อนั่งกับพื้นแล้วศีรษะไม่พ้นหลุม ถ้าบ้านไหนคนน้อยเนื้อที่น้อย ก็ขุดไม่ยาวนัก แต่ถ้ามีคนมากและมีที่กว้างเช่นโรงเรียนก็ขุดเป็นทางยาวคดเคี้ยวไปหรือที่เรียกว่า ซิกแซ็ก หักมุมไปมา ส่วนที่ทางราชการสร้างในที่สาธารณะ จะเป็นคอนครีตทั้งด้านข้างและหลังคา ตั้งอยู่บนพื้นดินหรือลึกลงไปจากพื้นเพียงครึ่งเดียว มีทางเข้าออกสองทาง ปัจจุบันดูตัวอย่างของจริงได้ ที่ในสวนสัตว์ดุสิต หรือเขาดินวนา

ต่อมาในปลายสงครามได้มีการสร้างหลุมหลบภัยตั้งอยู่กลางถนนสายใหญ่ ๆ เป็นการก่อสร้างด้วยเสาและฝาไม้สองชั้น ระหว่างฝาไม้ก็บรรจุดินเหนียวอัดให้แน่น แต่ดูแล้วเหมือนบังเกอร์ในสนามรบมากกว่า

ที่บ้านผมไม่มีที่ดินว่างพอจะขุดเป็นหลุมหลบภัยได้ และมีผู้ชายอกสามคืบอย่างผมคนเดียว จึงอาศัยปูเสื่อนอนนอกชายคาเวลาหลบภัย เท่านั้น ต่อมาเพื่อนบ้านรั้วติดกันมีเงินมาก ได้ซื้อหลุมหลบภัยสำเร็จรูปที่เขาทำขาย เป็นรูปทรงเหมือนถังส้วมใต้ดินของอาคารขนาดใหญ่สมัยนี้ แต่ทำด้วยคอนกรีตหนาเตอะ หลุมชนิดนี้ใช้พื้นที่ไม่กว้าง แต่ต้องขุดหลุมลึกแล้วก็วางถังลงไปเอาดินกลบ เหลือแต่ปากปล่องซึ่งกว้างพอที่คนจะหย่อนตัวลงไปได้ทีละคน
ภายในตรงกลางป่องออกไปมีที่นั่งรอบถังพอสำหรับคนประมาณ ๖ - ๗ คน บ้านเขามีคนเหลือจากอพยพอยู่น้อย ก็เอื้อเฟื้อให้เพื่อนบ้านข้างเคียงอาศัยหลบภัยด้วย แล้วก็อัดกันเข้าไปขนาดให้เด็กนั่งซ้อนตักผู้ใหญ่ด้วย อากาศจึงไม่ค่อยพอหายใจ ผมจึงขออนุญาตไม่ลง ขอนอนหงายข้างปากหลุม ซึ่งมองดูเหตุการณ์บนท้องฟ้าได้สบาย

อย่านึกว่าผมเป็นคนกล้าหาญ ความจริงผมก็กลัวเหมือนกับคนอื่น ๆ กลัวตั้งแต่เริ่มได้ยินเสียงสัญญาณภัยทางอากาศแล้ว ส่วนใหญ่จะมีอาการสั่นไปทั้งตัว พูดออกมาเสียงสั่นเครือ กระดูกหัวเข่ากระตุกงึก ๆ อาการนี้เป็นขึ้นเอง และบังคับให้หยุดไม่ได้ บางคนพอได้ยินเสียงสัญญาณ ซึ่งชาวบ้านทั่วไปเรียกว่าเสียงหวอมา กำลังจะวิ่งไปลงหลุมหลบภัย เกิดปวดท้องฉี่ขึ้นมาทันทีก็ได้

ชาวบ้านทุกคนจะเตรียมห่อสมบัติที่จำเป็นหรือมีค่าของตนไว้ทุกวัน พอได้ยินเสียงหวอ ไม่ว่ากลางวันหรือกลางคืนก็คว้าห่อหรือกระเป๋าสมบัติติดตัวไปด้วยเสมอ และทีขาดไม่ได้ก็คือพระเครื่อง ไม่ว่าจะพวงเล็กหรือพวงใหญ่ต้องมีติดตัวทุกคน อย่างผมไม่เคยมีสายสร้อยคอ ก็เอาพระเครื่องใส่ถุงผ้าเล็ก ๆ เอาเข็มกลัดติดกับเสื้อไปด้วยทุกที ที่ร้ายกว่านั้นบางคนก็มีผ้ายันต์ผูกคอหรือตัดเป็นเสื้อกั๊ก ถ้าผืนใหญ่ก็ทำเป็นธง พอมีเสียงเครื่องบินผ่านมาใกล้ จะได้ยินเสียงสวดมนต์เบา ๆ แข่งกันอื้ออึง คนมีธงยันต์ก็โบกธงเหมือนจะปัดลูกระเบิดได้ พอเสียงเครื่องบินผ่านพ้นไปแล้วจึงค่อยมีเสียงพูดคุยกันบ้าง

เรื่องทิศทางของเครื่องบินนี้ สัมพันธ์กับทิศทางของลูกระเบิดด้วย ถ้าเครื่องบินผ่านเราไปทางด้านข้าง ไม่ต้องกลัวมาก เพราะลูกระเบิดไม่ลงตรงที่เราอยู่แน่นอน ถ้าเครื่องบินผ่านมาตรงหัวเป๊ะ ต้องสวดมนต์ภาวนาตั้งแต่เห็นมัน จนกว่ามันจะมาถึงกลางศีรษะ จึงจะพ้นภัย เพราะรู้มาว่าลูกระเบิดที่ถูกทิ้งลงมานั้น มันจะวิ่งลงไปข้างหน้าเครื่องบินเสมอ ดังนั้นเมื่อมันมาอยู่ตรงหัวเรา ลูกระเบิดมันต้องไปตกห่างเราแน่ ๆ

เสียงของลูกระเบิดก็ทำให้เราขวัญเสีย แทบสติแตกไปเลยก็ได้ ถ้ามันตกไกลเรา ก็จะได้ยินเสียงระเบิดเหมือนฟ้าร้อง ถ้ามันใกล้หน่อยก็พอจะได้ยินเสียงโลหะแหวกอากาศ แต่ถ้าใกล้มากเสียงมันดังแหลมยาวบรรยายไม่ถูก เมื่อถึงพื้นมันจะเงียบไปอึดใจหนึ่ง แล้วก็ระเบิดดังแก้วหูแทบแตก แผ่นดินสะเทือน แล้วก็มีเศษดินเศษหินหรือถ้าถูกบ้านเรือน ก็มีเศษไม้ลอยกระจายไป เหมือนอย่างที่ได้ดูในหนัง แต่มันน่ากลัวมาก เพราะถ้ามันโดนเรา ก็จะเจ็บและตายจริง ๆ ไม่ใช่ล้อเล่น

การทิ้งระเบิดของเครื่องบินข้าศึก จากฝ่ายสัมพันธมิตรนั้น เมื่อแรกเป็นเครื่องบินสองเครื่องยนต์ใบพัด ลำไม่โต และมาเวลาเดือนหงาย ทิ้งระเบิดไม่แม่นยำ สังเกตจากบริเวณใกล้เคียงกับจุดยุทธศาสตร์ เช่น วัดเลียบใกล้สะพานพระพุทธยอดฟ้า วัดสร้อยทองใกล้กับสะพานพระรามหก วัดอะไรใกล้กับไปรษณีย์กลาง ย่านชุมชนใกล้สถานีรถไฟหัวลำโพง หมู่บ้านปากคลองบางกอกน้อย ใกล้สถานีรถไฟธนบุรี (แถวบ้านสวนของอังศุมาลิน) ต่างก็โดนลูกระเบิดซ้ำแล้วซ้ำอีก ทั้งระเบิดทำลายและระเบิดเพลิง บางคืนแสงไฟไหม้สว่างท้องฟ้า มองจากสวนอ้อยแลเห็นถนัด แล้วเดาถูกทุกที

แล้วก็มาถึงวันอังคาร ๒๗ มกร ๘๕ แม่บันทึกไว้ว่า

ตั้งแต่เช้าถึงเย็นเหตุการณ์เป็นปกติ เวลา ๒๐.๑๕ น.มีเครื่องบินผ่านเข้ามา แต่ไม่มีเสียงหวอ เวลา ๒๐.๓๐ น.มีเสียงระเบิดขึ้นแต่ไกล หวูดอันตรายก็ดังขึ้น ขณะนี้เครื่องบินแล่นอย่างเร็วผ่าน ร.พัน.๙ (ปัจจุบันเป็นกรมทหารมหาดเล็ก ร.๑ พัน.๔) ไปทางพระที่นั่งอนันตสมาคม แล้วเสียงดังบึ้ม ๆ ก็ดังขึ้น บ้านเราอยู่ใกล้ ร.พัน.๙ จึงเห็นการระเบิดของลูกระเบิดเพลิงสว่างจ้าขึ้น ๒ ครั้ง ข้าพเจ้าไม่รอดูต่อไปอีก เพราะขวัญเสีย ๆ แล้ว จูงลูกไปลงหลุมหลบภัยหลังบ้านนายอ๋อย ขณะนั้นเสียงระเบิดเสียงปืนประสานกันอยู่พัก ๆ แล้วก็เงียบไป เวลา ๒๓ นาฬิกาจึงเปิดหวูดหมดอันตราย รวมเวลาระหว่างอันตราย ๒ ชั่วโมงครึ่ง

น่าสงสารเด็กที่อยู่ในหลุมหลบภัย ถูกปลุกลงมานั่งให้ยุงกินกันใหญ่ มีเด็กจากบ้านอื่น ๕ คน บ้านเรา ๒ คน คอยหวูดจนง่วงนอนรวมกันเป็นกลุ่ม

วันพุธ ๒๘ มกร ๘๕ รุ่งเช้าขึ้นจึงได้ความว่า เครื่องบินข้าศึกเข้ามาทิ้งระเบิดเมื่อคืนนี้ ๒ เครื่อง ได้ทิ้งระเบิดหลายแห่งมากว่า ๑๐ ลูก ในบริเวณพระที่นั่งอนันตสมาคมด้าน ๔ ลูก ระเบิด ๒ ลูก โดนหลังคาตรงมุมด้านหลังพระที่นั่งพังและโหว่ไปหน่อย ทหารรักษาการตาย ๓ คน

ต่อมามีบันทึกว่า หลุมหลบภัยทุกแห่งเต็มไปด้วยน้ำฝน แต่เคราะห์ดีที่ตอนกลางคืนอากาศมืดมัวไม่แจ่มใส เครื่องบินข้าศึกจึงไม่มา มิฉะนั้นก็จะต้องไปนั่งแช่น้ำอยู่ในหลุม และสรุปว่า ในเดือนมกราคมนี้ เครื่องบินข้าศึกได้มารบกวนในพระนครรวม ๖ ครั้ง คือมาทิ้งระเบิด ๓ ครั้ง ในวันที่ ๘- ๒๔- ๒๗ มกราคม

เรื่องระเบิดเพลิงนี้ผมเคยเห็นด้วยตนเองครั้งหนึ่ง แถวถนนสุโขทัย บริเวณที่ตรงกับ ร.พัน.๙ สมัยนั้นเป็นถนนไม่กว้างมีต้นมะขามปลูกสองข้างทางเป็นระยะเท่า ๆ กัน ลูกระเบิดเพลิงเป็นท่อนเล็ก ๆ กว้างประมาณข้อมือ รูปหกเหลี่ยมยาวประมาณศอก เขาว่ามันลงมาเป็นพวงใหญ่แล้วแตกแยกกระจายออก เกิดเพลิงจากฟอสฟอรัส ที่เห็นนั้นมันปักอยู่ในดินข้างถนน มีรอยไฟไหม้ขาดครึ่ง ๆ นับสิบลูก แต่ข้างถนนไม่มีเชื้อเพลิง จึงมอดดับไปเอง มีบางลูกที่ลงตรงคลังของทหาร มีเสียงระเบิดดังตลอดคืน

ต่อมาตอนปลายสงคราม ในคืนเดือนมืด มีสิ่งแปลกใหม่มาแสดงให้เราชมอีกคือ พลุส่องแสง ที่เขาทิ้งลงมาจากเครื่องบิน แล้วมีร่มชูชีพกางลอยลงมาช้า ๆ แสงไฟสว่างจ้า ขนาดเราเห็นหน้ากันได้ถนัด หรือจะอ่านหนังสือก็ได้ สว่างยิ่งกว่าพระจันทร์ ประมาณลูกละ ๑๕ นาที คราวนี้เขาก็ไม่จำเป็นต้องรอข้างขึ้นเดือนสว่างกลางเวหาอีกแล้ว ข้างแรมเดือนมืดตื๋อก็มาได้
อีกอย่างหนึ่งก็คือระเบิดเวลา หวอปลอดภัยขึ้นนานแล้วไม่มีเสียงเครื่องบินแล้ว แต่ยังมีเสียงระเบิดดังเป็นระยะจนถึงเช้า อย่างที่สามนี้จริงหรือเท็จไม่ทราบ เขาว่าลูกระเบิดมีโซ่ร้อยเป็นพวง ทิ้งที่สะพานพระรามหก ลูกระเบิดธรรมดาลอดรางรถไฟลงไประเบิดใต้น้ำ สะพานก็ไม่เป็นไร เพราะสมัยนั้นยังไม่มีทางรถยนต์ขนานเหมือนตอนหลัง พอโดนลูกระเบิดพวงเข้าตอนสงครามใกล้จบ โซ่ทำให้ลูกระเบิดค้างอยู่บนโครงเหล็ก เล่นเอาหักกลางทิ่มลงไปในแม่น้ำทั้งสองด้าน เรื่องนี้ไม่มีใครยืนยัน ทั้งทางเอกสารหนังสือที่เขียนให้อ่านภายหลัง หรือคำบอกเล่าของผู้เห็นเหตุการณ์จริง

ในสมัยปัจจุบันเราคนไทยได้ดูการถ่ายทอดสด สงครามอ่าวหรือสงครามอิสราเอลรบกับอียิปต์ ทางโทรทัศน์ หรือเหตุการณ์ตึกเวิลด์เทรดของสหรัฐอเมริกา หรือสงครามอัฟกานิสถาน ส่วนใหญ่เราก็ดูกันเหมือนดูหนัง แต่ใครจะขนลุกด้วยความสยองเหมือนอย่างผมเองบ้างก็ไม่ทราบ เพราะผมรู้ว่านั่นมันของจริง กระสุนจริง ลูกระเบิดและจรวดจริง ตึกพังจริงและคนตายจริง ๆ ไม่ใช่การแสดง

ผลของสงครามที่คนกรุงเทพได้รับ ตลอดเวลา ๔ ปี ซึ่งขณะนั้นยังไม่รู้จุดจบ ไม่ได้มีแต่ภัยทางอากาศเท่านั้น ภัยจากการเกิดข้าวยากหมากแพง สินค้าประเภทอุปโภคขาดแคลนไปหมดทุกสิ่งทุกอย่าง ตั้งแต่ของสำคัญเช่น น้ำมันเบ็นซิน น้ำมันก๊าด สบู่ ยาสีฟัน ไม้ขีดไฟ เสื้อผ้า ยารักษาโรค เครื่องอะไหล่รถยนต์ และพวกเครื่องก่อสร้าง เช่นเหล็กเส้น ปูนซีเมนต์ น็อต ตะปู ฯลฯ

รถยนต์ส่วนบุคคลต้องจอดเพราะขาดน้ำมัน รถของทางราชการก็ต้องใช้อย่างประหยัด รถโดยสารก็ต้องเปลี่ยนไปใช้แก๊ส ที่ผลิตจากเตาถ่านขนาดใหญ่ที่ติดตั้งอยู่ท้ายรถ เหลือแต่รถรางและรถสามล้อถีบเท่านั้น ที่ให้บริการได้ดีไม่เปลี่ยนแปลง แต่สามล้อหรือรถเมล์ก็ขึ้นราคาเช่นกัน

ส่วนเครื่องบริโภคหรืออาหารการกินนั้น แม้จะไม่ขาดแคลน แต่ก็มีราคาแพงขึ้นเป็นลำดับทั้งข้าวสาร ข้าวเหนียว พืชผักผลไม้ หมู เป็ด ไก่ ปลา ฯลฯ จนทางราชการแนะนำให้ทำสวนครัว ปลูกพืชผักที่ใช้ประกอบอาหารทุกบ้าน โดยเฉพาะการเพาะถั่วงอก ที่ใช้กินกับก๋วยเตี๋ยว และผัดไทย หรือ ผัดกับเต้าหู้โดยไม่ต้องปักป้ายว่าอาหารเจ

ถึงเดือนมีนาคม ๒๔๘๕ ผมมีอายุ ๑๑ ปี แม่บันทึกเรื่องสงครามไว้ ดังนี้

วันอังคาร ๑๐ มีน ๘๕ วันนี้ทั้งวิทยุและหนังสือพิมพ์ประกาศข่าว ย่างกุ้งแตกแล้ว และชวาขอยอมแพ้ แก่ญี่ปุ่น ตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ ๘ มีน ทางราชการได้ชักชวนประชาชน ให้ชักธง ๓ วัน คือธงไตรรงค์คู่กับธงอาทิตย์อุทัย และประกาศเลิกพรางแสงไฟ เฉพาะรถราง รถยนต์เมล์ประจำทาง ตั้งแต่วันที่ ๑๐ เป็นต้นไป

วันเสาร์ ๒๑ มีน ๘๕ ตั้งแต่ชะวาและย่างกุ้งอยู่ในปกครองของญี่ปุ่นแล้ว ในจังหวัดพระนครไม่มีหวูดภัยทางอากาศอีกเลย แต่ยังพรางไฟอยู่ตามเคย เพราะยังไม่ไว้วางใจว่าจะปลอดภัย โดยมันอาจจะมาด้วยป้อมบินก็ได้ ป้อมบินนี้จุคนตั้ง ๑๒๕ คน และจุน้ำมันได้มาก สามารถไปทางไกลได้ แต่ยังไม่เคยเยี่ยมโฉมหน้าเข้ามาเลย ขอเดชะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในประเทศไทย จงบันดาลอย่าให้ป้อมบินของข้าศึกเข้ามาได้เลย เจ้าประคุณ

เวลาผ่านไปจนถึง วันเสาร์ ๒ พฤษภ ๘๕ แม่บันทึกต่อว่า วันนี้ ร.ร.เปิดเรียน และ ร.ร.ราษฎร์ทุกโรงเรียนก็เปิดเหมือนกันหมด แต่ ร.ร.รัฐบาลเปิด ๑๘ พฤษภาคม

วันอาทิคย์ที่ ๒๓ สิงหาคม ก็มีข่าวร้ายว่า พี่สาวลูกของน้าไปเที่ยวสระบุรีและสิงห์บุรี ประสบอุบัติเหตุป่วยหนัก ถูกส่งตัวมารักษาที่วชิรพยาบาล มีอาการบาดเจ็บที่กระดูกสันหลัง สาหัสมาก เพราะเป็นอัมพาตครึ่งท่อนล่าง ตั้งแต่สะดือลงไปไม่มีความรู้สึก ช่วยตนเองไม่ได้ น้าจึงต้องอยู่เฝ้าตลอดทั้งวันทั้งคืน พี่สาวรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล จนถึง ๑๘ ธันวาคม ๒๔๘๕ จึงกลับมานอนรักษากันเองที่บ้าน แต่อาการก็คือทรงกับทรุด และสุดท้ายก็เสียชีวิตเมื่อ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๔๘๖ อายุได้ ๒๔ ปี

เราจึงเหลือกันอยู่เพียง ๔ คนคือ น้า แม่ ตัวผมและน้องหญิงเท่านั้น ผจญกรรมกันไปจนกว่าสงครามจะสงบ โดยที่ไม่มีผู้ใดทราบว่าเมื่อไร และเราจะรอดปลอดภัยอยู่จนถึงเวลานั้นหรือไม่กาลเวลาข้างหน้ายังอีกยาวนานนัก จนมองไม่เห็นจุดหมายปลายทางเลย

#############
 

โดย: เจียวต้าย วันที่: 26 กุมภาพันธ์ 2556 เวลา:19:45:43 น.



Create Date : 27 กุมภาพันธ์ 2556
Last Update : 27 กุมภาพันธ์ 2556 9:05:07 น. 6 comments
Counter : 928 Pageviews.

 
สวัสดีค่ะพี่ปู่

ขอบพระคุณมากนะคะ
รายละเอียด มีมากจนมองเห็นภาพได้ชัดเจน
และกลัวเหลือเกิน

ขนาดเด็กน้อยขาสั่นงึกๆ

สงคราม รร.ราษฎร์ ยอมเปิดเรียนวันเสาร์ ก่อน รร.รัฐตั้ง ๑๖ วัน ความรับผิดชอบต่างกันสุดๆ เล้ย

โชคดีที่ไม่ได้เกิดมาทัน

ญาติเสียชีวิตแต่เด็ก ทรมานทั้งตนเองและญาติตั้งเกือบปี อุบัติเหตุนี่ มันน่ากลัวสุดๆ ระวังนะคะ

กราบขอพรพระพุทธคุณ ได้โปรดดลบันดาลให้พี่น้องและญาติมิตรของฉัน เดินทางไปหนแห่งใดปลอดภัย จากอุปัทอันตรายทั้งปวงเทอญ สาธุ อย่าลืมสวดมนต์รับนะคะ แค่อะระหังสัมมา จนจบก็ได้ค่ะ


โดย: นาถศรี (sirivinit ) วันที่: 27 กุมภาพันธ์ 2556 เวลา:9:35:57 น.  

 
ภาพชัดมากค่ะคุณลุง เวลาเราดูหนัง ถึงจะรู้ว่าเป็นการแสดงยังกลัวเลยค่ะ

ขนาดเด็กๆ วัยนั้นว่่าซนๆ กัน ยังกลัวตัวสั่น ผู้ใหญ่จะขนาดไหนล่ะคะ เสียงหวอเตือน เสียงเครื่งบิน ระเบิด คงหลอนอีกนานเลยค่ะ

ป่วยในช่วงสงครามยังไม่จบ รู้สึกแย่เลยนะคะ


โดย: สายหมอกและก้อนเมฆ วันที่: 27 กุมภาพันธ์ 2556 เวลา:18:32:03 น.  

 
มีเราสองคนมาอ่านเนาะน้องหนู
คนอื่นๆ เขามีธุระยุ่งกันน่ะ


โดย: นาถศรี (sirivinit ) วันที่: 27 กุมภาพันธ์ 2556 เวลา:18:41:53 น.  

 
สงครามนี่น่ากลัวนะคะ



อ่านไปมองนึกถึงภาพตามไป น่ากลัวจริงๆนะคะ เคยฟังพ่อเล่าให้ฟังเหมือนกัน หากแต่ตอนนั้นยังเด็กมากอยู่ จึงเหมือนฟังเฉยๆแต่มาตอนนี้โตแล้วรู้อะไรหลายๆอย่างแล้ว อ่านแล้วก็ให้รู้สึกกลัวตามไปด้วยค่ะ



เข้าใจความรู้สึกดีจังพอได้ยินเสียงหวอ ก็ให้รู้สึกปวดท้องฉี่ขึ้นมาทันใดนั้น ขนาดไม่ไช่เสียงหวอ บางทียังเป็นเลยค่ะ


โดย: Katai_Akiko วันที่: 1 มีนาคม 2556 เวลา:12:24:51 น.  

 
ดีจัง ที่หนูต่ายได้มาอ่านจากผู้มีประสบการณ์ตรง
โชคดี ที่เราเกิดมาไม่ทันนะคะ


โดย: นาถศรี (sirivinit ) วันที่: 1 มีนาคม 2556 เวลา:12:30:53 น.  

 
นิทานชาวสวน

ชุด สงครามเอเซีย


ตอน ชีวิตยังไม่สิ้น


ขอย้อนกลับมาเล่าเรื่องของตนเองบ้าง เมื่อต้น พ.ศ.๒๔๘๔ ผมสอบไล่ชั้นมัธยมปีที่ ๑ ได้จากโรงเรียนดำเนินศึกษา ที่ตั้งอยู่ในถนนวิสุทธิกษัตริย์ ใกล้สี่แยกโรงเรียนนายร้อย แล้วลาออกมาเข้าโรงเรียนมัธยมวัดราชาธิวาส เพราะย้ายบ้านมาอยู่สวนอ้อย เรียนชั้น ม.๒ อยู่จนเกิดสงครามญี่ปุ่นชวนประเทศไทยเป็นมหามิตร พอกระทรวงศึกษาธิการ ประกาศให้งดการสอบไล่ ชั้น ม.๒ ก็เลื่อนยกชั้นไปเรียนชั้น ม.๓ ใน พ.ศ.๒๔๘๕ เราเรียกการเลื่อนชั้นครั้นนั้นว่า โตโจสงเคราะห์ ตามชื่อนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น แต่โรงเรียนก็ยังไม่ปิด คงเปิดเรียนต่อไป จนถึงเดือน กันยายน ปลายฤดูฝน

ผมซึ่งไปเรียนและกลับจากโรงเรียนด้วยการเดิน จากสวนอ้อยไปวัดราชาธิวาส เพียงสองป้ายรถราง แต่ไม่ยอมขึ้นเพราะเสียดายสตางค์ นอกจากจะเกาะไป พอถึงรางหลีกที่บ้านญวน แถวโรงเรียนเซ็นต์คาเบรียล ก็โดดลงหนีคนเก็บค่าโดยสาร ที่เดินจากหัวรถมาเก็บสตางค์ท้ายรถ ทุ่นค่ารถได้สองสตางค์ รถรางสายนี้เป็นรถพ่วงสองคันต่อกัน มีกระเป๋าคนเดียว แกเดินเก็บสตางค์ทั้งสองคัน เวลาจะมาเก็บสตางค์คันหลัง แกก็ต้องโหนระหว่างหัวรถคันหน้ามาคันที่พ่วงเหมือนกัน

เมื่อเกิดสงครามตอนแรก ๆ ยังไม่มีภัยทางอากาศ ก็เรียนไปตามปกติ พอเริ่มมีภัยทางอากาศ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นเวลากลางคืนอยู่บ้าน ตอนกลางวันถึงจะมีหวอ แต่ก็ไม่มีเครื่องบินเข้ามาใน พระนคร โรงเรียนของเราไม่ได้ขุดหลุมหลบภัย แต่อาศัยว่ามีคูเล็ก ๆ กั้นทั้งด้านตะวันตก ติดกับอาณาเขตวัดราชาธิวาส และด้านใต้เป็นคลองกั้นระหว่างโรงเรียนกับท่าวาสุกรี สมัยนั้นน้ำลึกขนาดสอบว่ายน้ำลูกเสือสำรอง ไม่ต้องไปไกล เมื่อมีหวอนักเรียนก็ลงจากตึกเรียนไปนั่งอยู่ริมคูและคลองดังกล่าว คงกะว่าถ้ามีเหตุระเบิดใกล้โรงเรียน ก็ให้กระโดดลงน้ำข้ามหนีไปได้ แต่ก็ไม่มีภัยอะไรมาใกล้กราย พอหวอปลอดภัยก็ต้องขึ้นตึกไปเรียนต่อทุกที

วันหนึ่งตอนปลายเดือนกันยายน ผมเดินกลับจากโรงเรียนตอนบ่ายสามโมง ตามทางเท้าซึ่งสมัยนั้นปูอิฐสีแดง ต่ำกว่าระดับถนน เห็นมีน้ำเอ่อขึ้นมาจากท่อระบายน้ำ พอจะท่วมหลังเท้า ต้องคอยหลบหลีกไส้เดือน ที่ลอยขึ้นมาจากรอยห่างระหว่างแผ่นอิฐ ยั้วเยี้ยไปหมด จนกว่าจะถึงบ้านน้ำท่วมตลอดทาง และสูงขึ้นจนถึงขอบถนน ด้านที่มีรางรถราง และวันต่อมาน้ำก็ค่อย ๆ ท่วมถนนรวมทั้งรางรถราง และมีน้ำขึ้นน้ำลงตามแม่น้ำด้วย แต่ระดับน้ำวันต่อ ๆ มา จะสูงกว่าวันแรก ๆ

ในทีสุดก็ท่วมถนน และน้ำสูงขึ้นจนรถยนต์ต้องลุยครึ่งคัน และรถรางก็วิ่งไม่ได้ ไม่ทราบว่ากลัวไฟฟ้าจะรั่วหรือไม่ สุดท้ายก็ไม่มีรถยนต์แล่นบนถนนที่เจิ่งนองไปด้วยน้ำที่ขึ้นมาจากแม่น้ำเจ้าพระยา และขึ้นมากกว่าลง ทำให้สามารถใช้เรือพายบนถนนได้ และเรือก็ใหญ่ขึ้นจนเป็นเรือแจว ที่เคยรับส่งข้ามฟากแม่น้ำ เข้ามาแทนที่รถโดยสารประจำทาง รับส่งคนระหว่างพื้นที่ซึ่งสูงพ้นน้ำท่วม

คือสะพานต่าง ๆ ตั้งแต่บางกระบือ สะพานอนุวัฒวโรดม ถึงสะพายกิมเซ่งหลีหรือสะพานโสภณ ศรีย่าน สะพานเทเวศร์นฤมิตร ที่เทเวศร์ และสะพานนรรัตน์สถาน บางลำพู เพราะบนสะพานนั้นได้เปิดขายของแทนตลาดซึ่งจมอยู่ในน้ำทั้งสี่ตำบล

นอกจากเรือแจวรับส่ง แทนรถโดยสารประจำทาง และรถรางแล้ว ก็มีเรือสำปั้นพายรับจ้างไปส่งที่ต่าง ๆ แทนรถสามล้อด้วยราคาที่ตกลงกันได้ ถ้าเรือไปถึงสะพาน ก็อ้อมหลีกไปได้ทุกหนทุกแห่ง ไม่ว่าใกล้หรือไกล

ความลำบากจากการวิ่งหลบภัยเวลามีหวอ ก็เปลี่ยนเป็นการผจญกับน้ำท่วมใหญ่ที่สุดในชีวิตของผม บ้านของเราเป็นบ้านชั้นเดียวใต้ถุนสูง น้ำท่วมจนสูงสุดแล้ว ก็ยังไม่ถึงพื้นเรือน จึงไม่เสียหายอะไร เพราะขนย้ายสัมภาระไม่มากชิ้นขึ้นไปไว้บนบ้านแล้ว ก็อยู่ได้สบาย เพียงแต่ต้องระวังสัตว์เลื้อยคลานที่หนีน้ำ จะมาอาศัยอยู่ด้วยเท่านั้น

ขณะที่น้ำท่วมสูงสุดนั้น น้ำสูงถึงใบหูของเด็กชายอายุ ๑๑ ขวบ เวลาเดินในน้ำต้องเขย่งเท้า น้ำจึงจะไม่เข้าหู ทุกบ้านจึงมีเรือบตอย่างน้อย ๑ ลำ ของบ้านเราเป็นเรือที่ทำด้วยสังกะสี ถ้าคว่ำแล้วก็จมลงถึงพื้นเลย แต่น้ำระดับนั้น บนถนนท่วมเพียงแค่อก ผมซึ่งยังว่ายน้ำไม่เป็นจึงไม่ต้องกลัวจมน้ำ เราใช้เรือได้สารพัดประโยชน์ ผมไม่เคยพายเรือก็หัดจนพายเป็น ถึงกับพายไปดูน้ำท่วมที่พระบรมรูปทรงม้าก็ได้ เพราะพายไปบนถนน เว้นแต่ตอนที่เจอสะพานข้ามคลอง ก็ต้องหลีกไปข้าง ๆ และระวังตัวให้มากอย่ามาล่มตรงนี้เชียว

ประโยชน์แรกก็คือส่งผู้ที่จะออกจากบ้านไปธุระ ให้ไปต่อเรือจ้างที่ถนนใหญ่ ส่งน้าไปเฝ้าพี่สาวที่ป่วยอยู่วชิรพยาบาล แต่ถ้าจะกลับมาบ้านหลายวันครั้ง ก็ต้องนั่งเรือรับจ้างเข้าซอยมาเอง ประโยชน์อีกอย่างก็คือ การเอากระป๋องใส่เรือไปบรรทุกน้ำประปา จากก๊อกประปาสาธารณะ ที่หน้าสวนพุดตาน หรือพระที่นั่งวิมานเมฆในสมัยนี้

ก๊อกนี้เตี้ยกว่าตัวผม จึงจมอยู่ใต้น้ำ ในเวลาปกติ เขาจะมีสลักโผล่ด้ามอยู่ด้านบน มีน้ำหนักมากเหมือนกับกดทับท่อน้ำ ไม่ให้น้ำไหลออกมา พอยกขึ้นแล้วเอาไม้เสียบขัดไม่ให้เลื่อนลง น้ำก็จะพุ่งออกทางปากก๊อกซึ่งอยู่ต่ำลงไปนิดหน่อย ชาวบ้านที่อดอยากหิวโหย เวลาเดินผ่านก๊อกสาธารณะแบบนี้ ก็จะได้อาศัยกินน้ำประทังความหิว จนเรียกติดปากกันว่า โซดาดึง

เมื่อน้ำท่วมจนมิดก๊อก ก็ต้องเอื้อมมือลงไปดึงและเอาไม้เสียบขัดไว้โดยใช้สัมผัสด้วยมือ เพราะมองไม่เห็น และจับปลายปากก๊อกหมุนให้หงายขึ้นมาข้างบน น้ำก๊อกมีกำลังแรงมาก ก็พุ่งทะลุน้ำท่าที่ท่วมโด่งขึ้นมา ให้เข็นเรือเอาปี๊บหรือกระป๋องไปรองได้ ทำอย่างนั้นจนเต็มภาชนะทุกใบแล้ว ก็ถอดไม้สลักออกเดินเข็นเรือกลับบ้านซึ่งไม่ไกลนัก เพราะถ้าขืนขึ้นนั่งพายเรือที่มีน้ำหนักมาก และพายยังไม่แข็ง เกิดล่มน้ำประปาคว่ำลงไปปนกับน้ำท่า ก็จะต้องเสียเวลากลับไปรองใหม่เท่านั้น เข็นเรือไปจนถึงบันไดหลังบ้าน แล้วจึงขึ้นบันไดไปยกน้ำเทใส่ตุ่มไว้ใช้ต่อไป

ประโยชน์สุดท้ายก็คือทำให้พายเรือแข็งขึ้น และว่ายน้ำเป็น เพราะเมื่อไม่กลัวจมน้ำ ก็เกิดความกล้าที่จะว่ายดันเรือไปแทนที่จะเดินเข็น ไม่ช้าก็ปล่อยมือจากเรือว่ายด้วยตนเองได้

ตลอดเวลาที่น้ำท่วมกรุงเทพอยู่ประมาณสองเดือน มีเรื่องที่จำได้เพียง ๒ เรื่อง เรื่องแรกคือชาวบ้านเขาหาปลาที่มันมาตามน้ำ พอกินเป็นอาหารได้ไม่ต้องซื้อ ผมก็หาไม้มาทำคันเบ็ด เสียบเหยื่ออะไรจำไม่ได้ ปักคันเบ็ดไว้ที่บันไดหลังบ้าน แล้วก็ลืมไปทั้งวัน พอมายกดูก็มีปลาช่อนน้อยตัวหนึ่งติดเบ็ดขึ้นมา เมื่อปลดเบ็ดออกจากปากปลาแล้วก็สงสาร ไม่รู้จะเอามาทำอะไรกิน จึงปล่อยลงน้ำไปไม่ทราบว่าเป็นหรือตาย ถ้าตายก็คงบาปแน่ จึงเลิกตกปลาตั้งแต่นั้น

อีกเรื่องหนึ่งก็คือหน้าบ้านข้างในที่ติดกับรั้วบ้าน มีต้นกล้วยน้ำว้าอยู่กอหนึ่ง ต้นหนึ่งในกอนั้นออกปลีแล้วก็ติดเป็นลูกใหญ่ เรียงกันหลายหวีงามมาก คิดว่าคงจะกินได้หลายวัน แต่พอโตเต็มที่ยังไม่ออกแววว่าจะสุก ตื่นขึ้นมามันก็หายไปแล้ว ไม่รู้ใครมาดอดตัดเอาไปตอนกลางคืน ไม่ได้ยินเสียงเลย ทั้ง ๆ ที่ต้นกล้วยหนีน้ำสูงขึ้นไปจนเอื้อมไม่ถึง พอเดินเข้าไปพิสูจน์ใต้ต้นก็พบว่า ผู้ที่เข้ามาตัดโดยไม่ได้ขออนุญาตนั้น ไปเอาตุ่มใบที่ลอยอยู่มาจมลงที่ใต้ต้นกล้วย จึงปีนขึ้นไปตัดได้โดยง่าย และเงียบกริบ เราก็เลยอดกินตามเคย

โชคดีที่ระหว่างน้ำท่วมตั้งแต่เดือน กันยายน ถึงเดือน ธันวาคม ไม่มีข้าศึกมาทิ้งระเบิดทางอากาศเลย ไม่ยังนั้นก็คงไม่รู้ว่าจะหลบไปไหนพ้น

เรื่องน้ำท่วมกรุงเทพนี้ แม่ได้บันทึกสรุปไว้ยาวพอควร ดังนี้

อุทกภัยครั้งใหญ่ในประเทศไทย น้ำท่วมมากและนานกว่า พ.ศ.๒๔๖๐

น้ำเริ่มท่วม แต่ปลายเดือนกันยายน

ท่วมมากที่สุดเมื่อ ๑๒ ตุลาคม

น้ำเริ่มลดเมื่อ ๑๘ ตุลาคม

กว่าจะแห้งเป็นปกติ ก็สิ้นเดือนพฤศจิกายน

ยานพาหนะ ใช้เรือทั่วทุกถนน อาหารและเครื่องใช้แพงขึ้นอีก ไข่เป็ดฟองละ ๑๐ สตางค์ มะเขือเปราะผลละ ๑ ส.ต. พลูกำละ ๕๐ ส.ต.ถึง ๑ บาท

โรงเรียนต่าง ๆ กระทรวงสั่งให้ปิด ๒ ตุลาคม ถึง ๑๖ พฤศจิกายน จึงเปิดเรียน แต่ยังไม่วายบุกน้ำตอนออกจากบ้านครั้งหนึ่ง ตอนเข้าเขตโรงเรียนอีกครั้งหนึ่ง ร.ร.ปัญญานิธิ (โรงเรียนราษฎร์ที่แม่เป็นครูชั้นประถมอยู่ ถนนพะเนียง นางเลิ้ง) ห้องเรียนชั้นเตรียมไม่รู้จักแห้ง ต้องมาเรียนรวมกันอัดแออยู่ในห้อง ป.๑ ป.๒

ระหว่างโรงเรียนปิด ครูทุกโรงเรียนได้เงินเดือนเต็ม กระทรวงสั่งไปทุก ร.ร.ให้จ่ายเต็ม ถ้าลดให้ร้องเรียนได้ แต่พวกครูไม่ได้เห็นคำสั่ง นอกจากคนที่อื่นเขาบอก เมื่อร.ร.ปิดคราวพระนครถูกบอมม์นั้น พวกครู ร.ร.ราษฎร์จนแย่ไปตามกัน เพราะเขาให้เดือนละครึ่งหนึ่งของเงินเดือน

อีกแห่งหนึ่งบันทึกไว้ว่า

วันอาทิตย์ที่ลานพระบรมรูปสนุกมาก เขาว่ามีเรือสวยไปกันเยอะแยะ พายแข่งกันด้วย แม่ค้าก็ไปกันมาก ฉันไม่เคยนึกสนุกกับเขาเลย มองเห็นน้ำแล้วใจเหี่ยวแห้ง เศร้าและกลุ้มอึดอัด ไม่อยากพูดจากับใคร นึกถึงคราวก่อนแล้วผิดกันราวกับคนละคน เห็นน้ำท่วมสนุกใจเต้น พอ ร.ร.เลิกก็เที่ยวบุกน้ำไปตามตลาดริมคลองจังหวัดตราด จนลืมกลัวจระเข้ ซึ่งชุกชุมที่สุดในคลองเมืองตราด (แม่เกิดประมาณ พ.ศ.๒๔๓๗ เมื่อน้ำท่วมใหญ่ พ.ศ.๒๔๖๐ อายุประมาณ ๒๓ ปี เป็นครูที่โรงเรียนตราดตระการคุณ)

ตุ่มซีเมนต์ใบใหญ่ในบ้านเรา จมอยู่ในน้ำทั้งหมด เว้นแต่ใบหนึ่งมีฝาปิดและมีขันวางอยู่ด้วย ลอยไปลอยมาอยู่ใต้ถุนบ้านไม่ยักจม เมื่อวานนี้ (๑๒ ต.ค.๘๕) มีนักเลงดีย่องเข้ามาเวลาไหนไม่ทราบ ดึงเอาตุ่มใบนี้ไปข้างกอกล้วย ซึ่งมีเครือใหญ่มาก และพึ่งจะแก่ ปีนตุ่มตัดกล้วยไปทั้งเครือ แล้วตุ่มก็จมอยู่ที่นั้นเอง

อาหารการกินต้องคอยซื้ออยู่หน้าบ้าน ทานแต่ปลาทูต้ม ปลาทูทอด น้ำพริก พริกกะเกลือ แทบทุกวัน แต่ก็อร่อยทุกวัน ไม่รู้จักเบื่อ

อีกตอนหนึ่งแม่บรรยายถึงสภาพของท้องถนนจากบ้านไปโรงเรียนที่นางเลิ้ง

ว่าจ้างเรือเขาไปส่ง พอออกจากบ้านก็ลืมทุกข์ ลืมจน ใจผ่องใสรื่นเริงขึ้น เพราะได้เห็นผู้คนพายเรือกันเต็มไปหมด แทบทุกถนนที่ผ่านไป เรือแม่ค้าก็เยอะแยะ บนสถานที่ซึ่งเป็นที่แห้ง มักจะเป็นตลาด ขายของแทบทุกสะพาน แม้แดดจะจัดก็นั่งทนร้อนกันได้ คนซื้อก็แน่น ไม่มีรถชนิดใดเลยสักคัน

เรือของเราแล่นไปทางสวนสุนันทา ผ่านโรงเรียนอนุบาล (ละอออุทิศ) ร.ร.การเรือน (มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต) เลี้ยวซ้าย ร.ร.ฝึกหัดครูมัธยม (คุรุสภา) เลี้ยวหน้ากระทนวงศึกษาธิการข้ามคลองข้างสะพานมัฆวาน (คลองผดุงกรุงเกษม)ผ่านโรงเรียนนายร้อย เลี้ยวไปถนนพะเนียงถึง ร.ร.ปัญญานิธิ สั่งให้คนพายเรือคอยอยู่ใต้ถุนโรงเรียน ขึ้นไปหาเจ้าของโรงเรียน แกนอนเจ็บและช่างพูดอยู่ตามเคย ขอเบิกเงินเดือนใช้ บอกว่าแกก็จน แบ่งให้ใช้ ๓ บาท (สามบาทถ้วน)

ลาจากเจ้าของ ร.ร.ลงเรือพายไปตามถนนนครสวรรค์ ถึงสะพานผ่านฟ้า แวะซื้อกล้วยน้ำว้า กล้วยหอมที่เรือแม่ค้า ๕๐ ผลต่อ ๒๐ สตางค์ ถ้าซื้อร้านผลละ ๑ ส.ต. แล้วเลยไปทางถนนราชดำเนินกลาง ผ่านอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เลี้ยวถนนตะนาวข้างวัดมหรรณพ ที่ร้านแม่จินดา (ผู้มีพระคุณ) ที่ร้านเขาท่วมนิดหน่อย แต่ที่ถนนพายเรือได้ ถนนนี้มีจักรยานเดินบ้าง รถบรรทุกบ้าง นับว่าน้ำน้อยกว่าถนนอื่น

นั่งคุยกันสักครู่ก็ลา เขาให้เงินใช้ ๓ บาท ให้ส้มโอ ส้มเขียวหวาน ขากลับเลยไปทางบางลำพู เทเวศร์ แล้วกลับบ้าน

นั่งตากแดดตัวดำเกรียม ๔ ชั่วโมง ออกจากบ้าน ๑๐ น.ถึงบ้าน ๑๖ น. คือไปนั่งคุยกัน ๒ ชั่วโมง พายเรือไป ๔ ชั่วโมง ให้ค่าจ้างเขา ๕๐ ส.ต.

เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน หลังจากน้ำที่ท่วมลดลงแล้วรถก็ยังแล่นไม่ได้ เว้นแต่รถราง เพราะเมื่อน้ำลดใหม่ ๆ ถนนทุกสายมีตะไคร่จับ รถยนค์แล่นผ่านจะลื่นมาก เป็นอันตรายได้ง่าย จึงต้องรอให้ถนนแห้งสนิท ประเทศไทยก็กลับคืนสู่ภาวะปกติ สถานที่ราชการแห่งใดเสียหายก็ซ่อมแซมไป บ้านเรือนของประชาชนต่างก็ทำความสะอาด แล้วก็อยู่กันเป็นปกติ

เพราะเขาว่ากันว่า น้ำท่วมมากอย่างนี้ ๒๕ ปี จึงจะมีหนหนึ่ง จาก พ.ศ.๒๔๖๐ ถึง พ.ศ.๒๔๘๕ ยี่สิบห้าปีพอดี คนเริ่มพูดอาจจะตีขลุมเอาตรงนี้ก็ได้ เพราะอีก ๒๕ ปีต่อมา พ.ศ.๒๕๑๐ คนรุ่นผมก็ไม่เห็นมีน้ำท่วมใหญ่ จนมาถึง พ.ศ.๒๕๑๘ จึงได้เกิดอีกครั้งหนึ่ง แต่ก็น้อยกว่า
พ.ศ.๒๔๘๕ เพราะมีเขื่อนภูมิพลแล้ว

###########



โดย: เจียวต้าย วันที่: 1 มีนาคม 2556 เวลา:19:33:45 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

sirivinit
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 224 คน [?]





/



2558

2556

2555

น้ำใจจากคุณ krittut 2554

2553


สิริสวัสดิ์วรวาร
เปรมปรีดิ์มานรื่นรมณีย์นะคะ ยินดีต้อนรับ
สู่บล็อกของคนใฝ่รู้ สำหรับผู้ใส่ใจใฝ่รู้ค่ะ

เชิญอ่านตามสบายนะคะ
มีดีๆให้คุณได้ทราบหลากหลายค่ะ

๑ - ๑/๑ ฉันรักในหลวง
๒.๓.๑๐.๑๕.๓๐.๒๔.๕๙.๖๓.๙๐.ธรรมะ
๔ - ๔/๑ รวมพลคนดัง
๕. ศาสนาพุทธสุดประเสริฐ
๖. ความรู้ทั่วไปในศาสนาพุทธ
๗. ๑๖. ประวัติศาสตร์
๘ - ๙/๑ ไม้ดอก ไม้ใบ
๑๑ - ๑๑/๑ เกม
๑๒.๓๗.๔๐-๔๓.๕๓.๗๕.๘๖.ศิลปะเทศ
๑๔ - ๑๔/๑. ๒๐๘. ข่าวคนดังเทศ
๑๘. ๑๙. ๒๒. ราชวงศ์ไทย
๒๐.๑๑๖-๑๑๖/๒ ๑๙๐-๑๙๐/๘ ละคร ทีวี
๒๑. ๓๑. ๒๐๘. ราชวงศ์เทศ
๒๔. นักเขียนไทย
๒๔/๑. กลอนชั้นบรมครู
๒๙/๑-๒๙/๔โปสการ์ดจากเพื่อนบล็อก
๓๓. สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
๓๙.๑๘๑-๑๘๑/๗ สุธาโภชน์รสเลิศล้ำ
๔๑.๔๒.๕๐.๕๘.๖๐.๖๑.๘๖.มหาวิหาร
๕๗. ปราสาท พระราชวัง คฤหาสน์เทศ
๖๒. วัด
๖๕ - ๖๕/๑ การ์ตูน
๖๕/๒. นิทานเซน
๖๗. ความตายมาพรากให้จากไป
๖๙ - ๖๙/๒ สารพัดสัตว์
๗๔. สุนัข
๗๖. อุทยานสวรรค์
๗๗. ซูเปอร์แมน - แบทแมน
๗๘ - ๘๓. แสตมป์สะสม
๘๕-๘๕/๑ หนังสือสะสม
๘๗ - ๘๗/๒ ๒๑๕ ข่าวกีฬา
๘๙. ๘๙/๑ จีนแผ่นดินใหญ่
๙๐/๑ .ทิเบต
๙๑. จันทร์สูริย์ดารา
๙๒. สมเด็จพระปิยมหาราชเจ้า
๙๓ - ๙๓/๒ ภาพยนตร์
๙๔ - ๙๔/๓ ยานยนต์
๙๕ - ๙๕/๑ ดูดวง
๙๖ - ๙๖/๑ . ๒๑๑ วิทยาศาสตร์
๙๗ - ๙๗/๑.๒๐๙ แวดวงวรรณกรรม
๙๘. ภาพพุทธประวัติ
๙๙. ๑๒๗ - ๑๒๗/๑ ดนตรี
๑๐๑. ป้าย R สะสม
๑๐๒. บัตรภาพตราไปรฯสะสม
๑๐๓. DIY
๑๐๗/๑ เล่าเรื่องเมืองญี่ปุ่น
๑๐๘ - ๑๐๘/๑ หนังสือ
๑๑๓ - ๑๑๓/๑ บ้านสวย
๑๑๕. พระเครื่อง
๑๒๐. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
๑๒๓. เจ้าฟ้าเพชรรัตน์ฯ
๑๒๕. เหรียญที่ระลึก
๑๒๕/๑ เหรียญสะสมต่างประเทศ
๑๒๕/๒ เหรียญที่ระลึกจังหวัด
๑๒๕/๓ ธนบัตรที่ระลึก
๑๒๕/๔ บัตรโทรศัพท์
๑๒๕/๕ กล่องไม้ขีด และอื่นๆ
๑๓๑.เรื่องสั้นชั้นครู"เจียวต้าย"
๑๖๔.บล็อกพิเศษ วันเดียวอั๊พ 100
เอนทรี่ ให้คุณป้า"ร่มไม้เย็น"ชม
๑๙๐/๓ เรื่องย่อละคร
๑๙๓. คดีเขาพระวิหาร
๒๑๒. ศิลปะ
๒๑๗. วิถีแห่งอำนาจ บูเช็กเทียน
๒๑๗/๑.วิถีแห่งอำนาจ เจงกิสข่าน
๒๑๗/๒.วิถีแห่งอำนาจ จูหยวนจาง
๒๑๗/๓.วิถีแห่งอำนาจ ซูสีไทเฮา
๒๑๗/๔.วิถีแห่งอำนาจ หงซิ่วฉวน
๒๑๗/๕.วิถีแห่งอำนาจ แฮรี่ พอตเตอร์

ข่าวทั่วไปล่าสุด บล็อกล่างสุดค่ะ

เปิดบล็อก 1 มกราคม 2552



free counters
08.27 - 250811

207 flags collected 300316



Friends' blogs
[Add sirivinit's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.