หลักหารทำสมาธิเบี้องต้น - พระนิพนธ์สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก





หลักการทำสมาธิเบื้องต้น
พระนิพนธ์สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก





สมาธินี้ได้มีอยู่ในหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาเป็นอันมาก ในสิกขาสามก็คือ
ศีล สมาธิ ปัญญา ในมรรคมีองค์แปดก็มีสัมมาสมาธิเป็นข้อสุดท้าย และ
ในหมวดธรรมทั้งหลายก็มีสมาธิรวมอยู่ด้วยข้อหนึ่งเป็นอันมาก ทั้งได้มี
พระพุทธภาษิตตรัสสอนไว้ให้ทำสมาธิในพระสูตรต่าง ๆ อีกเป็นอันมาก
เช่นที่ตรัสสอนไว้ว่า ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงอบรมสมาธิ เพราะว่า
ผู้ที่มีจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิแล้วย่อมรู้ตามเป็นจริง ดั่งนี้ ฉะนั้น สมาธิจึงเป็น
ธรรมปฏิบัติสำคัญข้อหนึ่งในพระพุทธศาสนา

แต่ว่าสมาธินั้นมิใช่เป็นข้อปฏิบัติในทางศาสนาเท่านั้น แต่เป็นข้อที่พึง
ปฏิบัติในทั่วๆ ไปด้วย เพราะสมาธิเป็นข้อจำเป็นจะต้องมีในการกระทำทุกอย่าง
ไม่ว่าจะเป็นทางด้านการดำเนินชีวิตทั่วไปหรือทางด้านปฏิบัติธรรม มีคนไม่
น้อยที่เข้าใจว่าเป็นข้อที่พึงปฏิบัติเฉพาะในด้านศาสนา คือสำหรับผู้ที่ต้อง
การปฏิบัติธรรมอย่างเป็นภิกษุ สามเณร หรือเป็นผู้ที่เข้าวัดเท่านั้น ซึ่งเป็น
ความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง ฉะนั้น ก็จะได้กล่าวถึงความหมายของสมาธิทั่วไปก่อน

สมาธินั้น ได้แก่ความตั้งใจมั่นอยู่ในเรื่องที่ต้องการให้ใจตั้งไว้เพียงเรื่องเดียว
ไม่ให้ใจคิดฟุ้งซ่านออกไปนอกจากเรื่องที่ต้องการจะให้ใจตั้งนั้น ความตั้งใจดั่งนี้
เป็นความหมายทั่วไปของสมาธิ และก็จะต้องมีในกิจการที่จะทำทุกอย่าง
ไม่ว่าจะเป็นการเล่าเรียนศึกษา หรือว่าการงานอย่างใดอย่างหนึ่ง

ในการเล่าเรียนศึกษา จะอ่านหนังสือก็ต้องมีสมาธิในการอ่าน จะเขียนหนังสือ
ก็ต้องมีสมาธิในการเขียน จะฟังคำสอนคำบรรยายของครูอาจารย์ก็ต้องมีสมาธิ
ในการฟัง ดั่งที่เรียกว่าตั้งใจอ่าน ตั้งใจเขียน ตั้งใจฟัง

ในความตั้งใจดังกล่าวนี้ก็จะต้องมีอาการของกายและใจประกอบกัน เช่นว่า
ในการอ่าน ร่างกายก็ต้องพร้อมที่จะอ่าน เช่นว่าเปิดหนังสือ ตาก็ต้องดูหนังสือ
ใจก็ต้องอ่านด้วย ไม่ใช่ตาอ่านแล้วใจไม่อ่าน ถ้าใจไปคิดถึงเรื่องอื่นเสียแล้ว
ตาจับอยู่ที่หนังสือก็จับอยู่ค้างๆ เท่านั้น เรียกว่าตาค้าง จะมองไม่เห็นหนังสือ
จะไม่รู้เรื่อง ใจจึงต้องอ่านด้วย และเมื่อใจอ่านไปพร้อมกับตาที่อ่านจึงจะรู้เรื่อง
ที่อ่าน ความรู้เรื่องก็เรียกว่าเป็นปัญญาอย่างหนึ่ง คือ ได้ปัญญาจากการอ่านหนังสือ
ถ้าหากว่าตากับใจอ่านหนังสือไปพร้อมกัน ก็จะอ่านได้เร็ว รู้เรื่องเร็ว และจำได้ดี
ใจอ่านนี่แหละคือใจมีสมาธิ คือหมายความว่าใจตั้งอยู่ที่การอ่าน

ในการเขียนหนังสือก็เหมือนกัน มือเขียน ใจก็ต้องเขียนด้วย การเขียนหนังสือ
จึงจะสำเร็จด้วยดี ถ้าใจไม่เขียน หรือว่าใจคิดไปถึงเรื่องอื่น ฟุ้งซ่านออกไป
แล้วก็เขียนหนังสือไม่สำเร็จ ไม่เป็นตัว ใจถึงต้องเขียนด้วย คือว่าตั้งใจเขียน
ไปพร้อมกับมือที่เขียน

ในการฟังก็เหมือนกัน หูฟังใจก็ต้องฟังไปพร้อมกับหูด้วย ถ้าใจไม่ฟัง แม้เสียง
มากระทบหูก็ไม่รู้เรื่องไม่เข้าใจ ใจจึงต้องฟังด้วย ใจจะฟังก็ต้องมีสมาธิในการฟัง
คือตั้งใจฟัง

ดั่งนี้จะเห็นว่า ในการเรียนหนังสือ ในการอ่าน การเขียน การฟัง จะต้องมีสมาธิ

ในการทำการงานทุกอย่างก็เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นการงานที่ทำทางกาย
ทางวาจา แม้ใจที่คิดอ่านการงานต่างๆ ก็ต้องมีสมาธิอยู่ในการงานที่ทำนั้น
เมื่อเป็นดั่งนี้จึงทำการงานสำเร็จได้

ตามนัยนี้ จะเห็นว่าสมาธิเป็นสิ่งจำเป็นต้องมีในการทำงานทุกอย่าง นี้เป็น
ความหมายของสมาธิทั่วไป และเป็นการแสดงว่าจำเป็นต้องมีสมาธิในการเรียน
ในการงานที่พึงทำทุกอย่าง

ต่อจากนี้จะได้กล่าวถึงสมาธิในการหัด ก็เพราะว่าความตั้งใจให้เป็นสมาธิ
ดังกล่าวนั้น จำเป็นที่จะต้องมีการหัดประกอบด้วย สมาธิที่มีอยู่ตามธรรมดา
เหมือนอย่างที่ทุกคนมีอยู่ยังไม่เพียงพอ ก็เพราะว่ากำลังใจที่ตั้งมั่นที่ยังอ่อนแอ
ยังดิ้นรนกวัดแกว่ง กระสับกระส่ายได้ง่าย โยกโคลงได้ง่าย หวั่นไหวไปในอารมณ์
คือ เรื่องต่างๆ ได้ง่าย และทุกคนจะต้องพบเรื่องราวต่างๆ ที่เข้าไปเป็นอารมณ์
คือเรื่องของใจ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ คือทางอายตนะทั้ง ๖ อยู่เป็นประจำ
เมื่อเป็นดั่งนี้จึงได้มีความรักใคร่บ้าง ความชังบ้าง ความหลงบ้าง เมื่อจิตใจ
มีอารมณ์ที่หวั่นไหว และมีเครื่องทำให้ใจหวั่นไหวเกิดประกอบขึ้นมาอีก
อันสืบเนื่องมาจากอารมณ์ดังกล่าว ก็ยากที่จะมีสมาธิในการเรียน
ในการทำงานตามที่ประสงค์ได้

ดังจะพึงเห็นได้ว่า ในบางคราวหรือในหลายคราว รวมใจให้มาอ่านหนังสือ
เขียนหนังสือ ฟังคำสอน ไม่ค่อยจะได้เพราะว่าใจพลุ่งพล่านอยู่ในเรื่องนั้นบ้าง
ในเรื่องนี้บ้าง ที่ชอบบ้าง ที่ชังบ้าง ที่หลงบ้าง จนรวมใจเข้ามาไม่ติด เมื่อเป็นดังนี้
ก็ทำให้ไม่สามารถจะอ่าน จะเขียน จะฟัง ทำให้การเรียนไม่ดี

ในการงานก็เหมือนกัน เมื่อจิตใจกระสับกระส่ายไปด้วยอำนาจของอารมณ์
และภาวะที่เกิดสืบจากอารมณ์ และภาวะที่เกิดสืบจากอารมณ์ดังจะเรียกว่ากิเลส
คือ ความรัก ความชัง ความหลง เป็นต้น ดังกล่าวนั้น ก็ทำให้ไม่สามารถที่จะ
ทำการงานให้ดีได้เช่นเดียวกัน

ใจที่ไม่ได้หัดทำสมาธิก็จะเป็นดั่งนี้ และแม้ว่าจะยังไม่มีอารมณ์อะไรเข้ามา
รบกวนให้เกิดกระสับกระส่าย ดังนั้นความตั้งใจก็ยังไม่สู้จะแรงนัก ฉะนั้นจึงสู้
หัดทำสมาธิไม่ได้

ในการหัดทำสมาธินั้นมีอยู่ ๒ อย่างคือ หัดทำสมาธิเพื่อแก้อารมณ์และ
กิเลสของใจที่เกิดขึ้นในปัจจุบันอย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งก็เพื่อฝึกใจให้มีพลัง
ของสมาธิมากขึ้น

อย่างแรกนั้นก็คือว่า อารมณ์และกิเลสของใจในปัจจุบันนั้น บางคราวก็เป็น
อารมณ์รัก เป็นความรักซึ่งจะชักใจให้กระสับกระส่ายเสียสมาธิ เมื่อเป็นดั่งนี้
ก็ต้องหัดสงบใจจากอารมณ์รัก จากความรักชอบนั้น ซึ่งเป็นอันตรายต่อการ
ศึกษา ต่อการงานที่พึงทำ ตลอดจนถึงต่อกฎหมาย ต่อศีลธรรม นี่เป็นวิธีหนึ่ง
ที่พระพุทธเจ้าทรงสอน คือต้องหัดเอาชนะใจให้สงบจากอารมณ์ดังนั้นให้ได้

บางคราวก็เกิดอารมณ์โกรธ ความโกรธอันทำใจให้ร้อนรุ่มกระสับกระส่าย
ก็เป็นอันตรายอีกเหมือนกัน เพราะทำให้เสียสมาธิ ฉะนั้นก็ต้องหัดทำสมาธิ
คือหัดสงบใจ จากอารมณ์โกรธ จากความโกรธดั่งนั้น

ในบางคราวก็มีอารมณ์หลง ความหลงซึ่งมีลักษณะเป็นความง่วงงุน
เคลิบเคลิ้มบ้าง มีลักษณะเป็นความฟุ้งซ่านรำคาญใจต่างๆ บ้าง มีลักษณะ
เป็นความเคลือบแคลงสงสัยบ้าง เมื่อเป็นดั่งนี้ก็ต้องหัดทำสมาธิ หัดสงบใจ
จากอารมณ์หลง จากความหลงนั้นๆ

คราวนี้หลักของการสอนสมาธิทางพระพุทธศาสนา วิธีที่จะทำสมาธิสงบใจ
จากอารมณ์รัก โกรธ หลง ดังกล่าว ก็จะต้องเปลี่ยนอารมณ์ให้แก่ใจ

คือว่าเป็นที่ทราบแล้วว่าอารมณ์รักทำให้เกิดความรักชอบ เมื่อเป็นดั่งนี้
ก็ต้องเปลี่ยนอารมณ์รักนั้นมาเป็นอารมณ์ที่ไม่รักไม่ชอบ

ความโกรธก็เหมือนกัน ก็ต้องเปลี่ยนอารมณ์โกรธนั้นมาเป็นอารมณ์ที่
ไม่โกรธหรือให้เปลี่ยนมาเป็นอารมณ์รัก แต่ว่าเป็นความรักที่เป็นเมตตา
คือเป็นความรักที่บริสุทธิ์ อย่างญาติมิตรสหายรักญาติมิตรสหาย มารดา
บิดาบุตรธิดารักกัน

ความหลงก็เหมือนกัน ก็ต้องเปลี่ยนอารมณ์หลงมาเป็นอารมณ์ที่ไม่หลง

เพราะว่าภาวะของใจจะเป็นอย่างไรนั้น สุดแต่ว่าใจตั้งอยู่ในอารมณ์อะไร

เมื่อใจตั้งอยู่ในอารมณ์รัก ความรักชอบก็เกิดขึ้น ถ้าใจไม่ตั้งอยู่ในอารมณ์รัก
แต่ว่าตั้งอยู่ในอารมณ์ที่ตรงกันข้าม ก็เกิดความสงบ

ใจโกรธก็เหมือนกัน ก็เพราะตั้งอยู่ในอารมณ์โกรธ เมื่อเปลี่ยนอารมณ์
ให้ใจให้ตั้งอยู่ในอารมณ์ที่ตรงกันข้าม โกรธก็สงบ

หลงก็เหมือนกัน เมื่อตั้งอยู่ในอารมณ์ที่ไม่หลง ความหลงก็สงบ

พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสชี้เอาไว้ว่าอารมณ์เช่นไรควรจะหัดใจให้ตั้งไว้
ในเวลาไหน เมื่อเป็นดั่งนี้แล้วการที่หัดไว้ก็จะทำให้รู้ลู่ทางที่จะสงบใจ
ของตนเอง อย่างนี้ก็จะทำให้สามารถสงบใจของตนเองได้ ดั่งนี้เป็น
ข้อมุ่งหมายของการทำสมาธิอย่างหนึ่ง ที่จะต้องหัดเอาไว้

ประการที่ ๒ หัดทำสมาธิเพื่อให้เกิดพลังใจที่ตั้งมั่นมากขึ้น คือให้มีพลังขึ้น

ก็เหมือนการออกกำลังกายเพื่อให้กายมีกำลังเรี่ยวแรง เมื่อหัดออกกำลัง
อยู่บ่อยๆ กำลังร่างกายก็จะดีขึ้น จิตใจก็เหมือนกัน เมื่อหัดทำสมาธิอยู่บ่อยๆ
แล้ว โดยที่ปฏิบัติอยู่ในหลักของสมาธิข้อใดข้อหนึ่งเป็นประจำ สำหรับที่จะหัดใจ
ให้มีพลังของสมาธิเพิ่มขึ้น ก็จะทำให้พลังของสมาธินี้มากขึ้นได้ เช่นเดียวกับ
ออกกำลังกายทำให้พลังทางกายเพิ่มมากขึ้นได้ นี้คือสมาธิในการฝึกหัด

คราวนี้สมาธิในการใช้ก็มี ๒ อย่างเหมือนกัน อย่างหนึ่งก็เพื่อใช้ระงับอารมณ์
ระงับกิเลสที่เป็นปัจจุบันดังกล่าวข้างต้น ผู้ที่ได้ฝึกหัดทำสมาธิตามสมควรแล้ว
จะสามารถระงับใจได้ดี จะไม่ลุอำนาจของอารมณ์ของกิเลสที่เป็นความรัก ความชัง
ความหลงทั้งหลาย จะสามารถสงบใจตัวเองได้ รักษาใจให้สวัสดีได้ อารมณ์
และกิเลสเหล่านี้จะไม่มาเป็นอันตรายต่อการเรียน ต่อการงาน ต่อกฎหมาย
ต่อศีลธรรมอันดีงาม และอีกอย่างหนึ่ง ก็ต้องการเพื่อใช้สำหรับประกอบการงาน
ที่จะพึงทำทั้งหลาย ตั้งต้นด้วยในการเรียน ในการอ่าน ในการเขียน ในการฟัง
จะมีพลังสมาธิในการเรียน ในการงานดีขึ้น และเมื่อเป็นดังนี้จะทำให้เรียนดี
จะทำให้การทำการงานดี นี้คือสมาธิในการนำมาใช้

ตามที่กล่าวมานี้ เป็นการที่แสดงให้เห็นหลักของการทำสมาธิทั่วๆ ไป และก็ตั้งต้น
ตั้งแต่ความหมายทั่วไปของสมาธิ การหัดทำสมาธิ และการใช้สมาธิ

จะได้ให้วิธีทำสมาธิย่อ ข้อหนึ่ง ก็คือว่า ท่านสอนให้เลือกสถานที่ทำสมาธิที่
สงบจากเสียงและจากบุคคลรบกวนทั้งหลาย เช่นในป่า โคนไม้ เรือนว่าง มุ่งหมาย
ก็คือว่า ที่ที่มีความสงบพอสมควรที่จะพึงได้ และเข้าไปสู่สถานที่นั้น

นั่งขัดบัลลังก์หรือที่เรียกว่าขัดสมาธิเท้าขวาทับเท้าซ้าย มือชนกัน หรือว่า
มือขวาทับมือซ้าย ตั้งตัวตรง หรือว่าจะนั่งพับเพียบก็ได้ สุดแต่ความพอใจ
หรือตามที่จะมีความผาสุก

ดำรงสติจำเพาะหน้า คือหมายความว่ารวมสติเข้ามา

กำหนดลมหายใจเข้าออก หายใจเข้าก็ให้รู้ หายใจออกก็ให้รู้ หากจะถามว่า
รู้ที่ไหนก็คงจะตอบได้ว่าจุดที่ง่ายนั้นก็คือว่าปลายกระพุ้งจมูกหรือริมฝีปากเบื้องบน
อันเป็นที่ลมกระทบ เมื่อหายใจเข้า ลมหายใจเข้าจะมากระทบที่จุดนี้ ในขณะเดียวกัน
ท้องก็จะพองขึ้น ลมหายใจออกออกที่จุดนี้ ในขณะเดียวกันท้องก็จะฟุบลงหรือว่า
ยุบลงไป เพราะฉะนั้น ก็ทำความรู้ลมหายใจเข้าจากปลายกระพุ้งจมูกเข้าไปถึง
นาภีที่พอง หายใจออกก็จากนาภีที่ยุบถึงปลายกระพุ้งจมูกก็ได้ ก็ลองทำความรู้
ในการหายใจเข้าหายใจออกดูดังนี้ก่อน หายใจเข้าก็จากปลายกระพุ้งจมูกเข้าไป
ถึงนาภีที่พอง ออกก็จากนาภีที่ยุบจนถึงปลายจมูก นี่ท่านเรียกว่าเป็นทางเดินของ
ลมในการกำหนดทำสมาธิ

คราวนี้ก็ไม่ต้องดูเข้าไปจนถึงนาภีดั่งนั้น แต่ว่ากำหนดอยู่เฉพาะที่ปลายจมูก
แห่งเดียว หายใจเข้าก็ให้รู้ว่าเราหายใจเข้า หายใจออก ก็รู้ว่าหายใจออก รวมใจ
เข้ามาให้รู้ ดั่งนี้ และในการตั้งสติกำหนดนี้ จะใช้นับช่วยด้วยก็ได้ หายใจเข้า ๑
หายใจออก ๑ หายใจเข้า ๒ หายใจออก ๒ ๓-๓ ๔-๔ ๕-๕ แล้วก็กลับ ๑-๑ ๒-๒
๓-๓ ๔-๔ ๕-๕ ๖-๖ แล้วก็กลับ ๑-๑ ๒-๒ ๓-๓ ๔-๔ ๕-๕ ๖-๖ ๗-๗ แล้วก็กลับ ๑-๑
๒-๒ ๓-๓ ๔-๔ ๕-๕ ๖-๖ ๗-๗ ๘-๘ แล้วก็กลับ ๑-๑ ๒-๒ ๓-๓ ๔-๔ ๕-๕ ๖-๖
๗-๗ ๘-๘ ๙-๙ แล้วก็กลับ ๑-๑ ๒-๒ ๓-๓ ๔-๔ ๕-๕ ๖-๖ ๗-๗ ๘-๘ ๙-๙
๑๐-๑๐ ก็กลับ ๑-๑ ถึง ๕-๕ ใหม่ แล้วก็ กลับ ๑-๑ ถึง ๕-๕ ใหม่ แล้วก็ ๑-๑ ถึง
๖-๖ ใหม่ ดังนี้หลาย ๆ หน จนจิตรวมเข้ามาได้ดีพอควรก็ไม่ต้องนับคู่ แต่ว่านับ ๑ ๒
๓ ๔ ๕, ๑ ๒ ๓ ๔ ๕ ๖ เป็นต้นไป เมื่อจิตรวมเข้ามาดีแล้วก็เลิกนับ ทำความ
กำหนดรู้อยู่ที่ปลายจมูกหรือที่ริมฝีปากเบื้องบนเท่านั้น

วิธีนับดั่งนี้เป็นวิธีที่พระอาจารย์ท่านสอนมาในคัมภีร์วิสุทธิมรรค แต่ว่าจะใช้วิธีอื่น
ก็ได้ เช่น นับ ๑-๑ จนถึง ๑๐-๑๐ ทีเดียว แล้วก็กลับใหม่ หรือว่าจะเลย ๑๐-๑๐
ไปก็ได้เหมือนกัน แต่ว่าที่ท่านไว้แค่ ๑๐-๑๐ นั้น ท่านแสดงว่าถ้ามากเกินไปแล้ว
จะต้องเพิ่มภาระในการนับมาก จะต้องแบ่งใจไปในเรื่องการนับมากเกินไป
ฉะนั้น จึงให้นับอยู่ในวงที่ไม่ต้องใช้ภาระในการนับมากเกินไป อีกอย่างหนึ่ง
พระอาจารย์ท่านสอนให้กำหนด หายใจเข้าพุทหายใจออกโธ พุทโธพุทโธ
หรือธัมโมธัมโม หรือว่าสังโฆสังโฆก็ได้ เมื่อใจสงบดีแล้วก็เลิกกำหนดอย่างนั้น
ทำความรู้เข้ามาให้กำหนดอยู่แต่ลมที่มากระทบเท่านั้น ให้ทำดั่งนี้จนจิต
รวมเข้ามาให้แน่วแน่ได้นานๆ นี่เป็นแบบฝึกหัดขั้นต้นที่ให้ในวันนี้
ท่านที่สนใจก็ขอให้นำไปปฏิบัติต่อไป

สพฺเพ สตฺตา อเวรา โหนฺตุ

สุขิตา โหนฺตุ นิพฺภยา

อธิบายเรื่องปัญญา

“ปัญญาเป็นรัตนะของนรชน” นี้เป็นพระพุทธภาษิต เพราะนรชนคือคนเรา
มีรัตนะคือปัญญาติดตัวมาตั้งแต่เกิดเป็นพิเศษกว่าสัตว์ร่วมโลกทั้งหลาย
จึงได้ชื่อว่าเป็นมนุษย์ และสามารถอบรมปัญญาให้มากขึ้นได้ด้วย ฉะนั้น
คนเราจึงมีความฉลาด สามารถเปลี่ยนภาวะจากความเป็นคนป่ามาเป็น
คนเมืองมีความเจริญด้วยอารยธรรม วัฒนธรรม มีบ้านเมือง มีระเบียบ
การปกครอง มีศาสนามีเครื่องบำรุงความสุขทางกายทางใจต่างๆ สิ่งทั้ง
ปวงเหล่านี้สัตว์ดิรัจฉานทั้งหลายหามีไม่ ทั้งนี้ด้วยอำนาจของปัญญานี้เอง

พระรัตนตรัยคือพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ก็เกิดขึ้นด้วยอำนาจ
ของปัญญา แต่ปัญญาที่เป็นรัตนะของนรชนดังกล่าวมานี้ พึงทราบว่าจะต้อง
เป็นปัญญาที่ชอบ มีลักษณะเป็นความฉลาดรู้ ความจัดเจน การวินิจฉัยถูกต้อง
สามัญสำนึกดี มีเหตุผลในสิ่งทั้งหลาย ปัญญาที่ชอบดังกล่าวเป็นผลสืบมา
จากปัญญาที่มีเป็นพื้นฐานอันได้มาแต่กำเนิดของนรชนอันเรียกว่า “สชาติปัญญา”
และจากการศึกษาอบรมที่ถูกที่ชอบ อันสชาติปัญญานั้นมีพลังอำนาจที่ทำให้
ประจักษ์ เรียนรู้เข้าใจและตระหนัก เป็นพลังใจทางปัญญาของบุคคล
ถ้าอบรมศึกษาในทางที่ผิด ก็จะเพิ่มความรู้ในทางฉลาดแกมโกง ใน
ทางทำความชั่วร้าย ในทางเบียดเบียนต่างๆ

ฉะนั้น จึงตรัสสอนไม่ให้ประมาทปัญญา คือใช้ปัญญาพิจารณาอบรมศึกษา
ให้เข้าถึงความจริงตามเหตุและผลในสิ่งทั้งหลาย เพื่อให้บรรลุถึงความชอบ
ถูกต้องในทุกๆ สิ่ง รวมกันเข้าในมรรคมีองค์ ๘ ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงปฏิบัติมา
จนได้ตรัสรู้พระธรรมและทรงสั่งสอนไว้นั่นเอง คือสัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ
สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ (รวมเข้าเป็นปัญญาสิกขา) สัมมาวาจา เจรจาชอบ
สัมมากัมมันตะ การงานชอบ สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีวิตชอบ (รวมเข้าเป็นศีลสิกขา)
สัมมาวายามะ เพียรชอบ สัมมาสติ ระลึกชอบ สัมมาสมาธิ ตั้งใจชอบ (รวมเข้าเป็น
จิตตสิกขา หรือสมาธิ)

มรรคมีองค์ ๘ นี้ ก็เท่ากับ ปัญญา ศีล สมาธิ นั่นเอง อันแสดงว่าปัญญาเป็น
หัวหน้า แต่ที่แสดงไว้เป็นข้อปฏิบัติโดยลำดับทั่วไปว่า ศีล สมาธิ ปัญญา
พระพุทธเจ้าได้ตรัสรับรองไว้ด้วยว่า สัมมาทิฏฐิเป็นหัวหน้า เพราะเมื่อมีสัมมา
ทิฏฐิก็ย่อมรู้เห็นทุกๆ อย่างว่าผิดหรือถูกอย่างไร และเมื่อมีความเพียรชอบ
ความระลึกชอบเข้าประกอบ ก็จะทำให้มีความเพียร มีสติละทุกสิ่งที่ผิด ทำทุกสิ่ง
ที่ถูกให้เกิดขึ้น จนถึงเป็นความถูกต้องสมบูรณ์ แต่ทั้งนี้ก็ต้องอาศัยสมาธิเป็น
หลักเป็นที่ตั้งแห่งทุกๆ ข้อ เพราะจิตที่ไม่มีสมาธิย่อมดิ้นรนกระสับกระส่าย
ไม่อาจที่จะใช้ปัญญาอบรมปัญญาที่มีอยู่ให้เจริญขึ้นได้ เหมือนอย่างไฟฉาย
ที่แกว่งไปแกว่งมา ไม่อาจจะส่องอะไรให้มองเห็นชัดเจนได้ จึงต้องทำจิตให้
สงบด้วยสมาธิเป็นหลัก ก็จะปฏิบัติให้มรรคทุกข้อแวดล้อมเข้ามา

ปัญญาสูงสุด

เรื่องกัมมัฏฐานสำหรับแก้นิวรณ์ เก็บจากคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าจาก
ที่มาต่างๆ และข้อที่ตรัสกำชับไว้ให้มีเป็นประจำในการปฏิบัติแก้นิวรณ์ทุกข้อ
หรือในการปฏิบัติกัมมัฏฐานทุกคราว คือ โยนิโสมนสิการ แปลว่า การทำไว้
ในใจโดยแยบคาย ได้แก่การใช้ปัญญาพิจารณาให้ทราบตระหนักแน่ถึง
เหตุผลในการปฏิบัตินั้นๆ ตามเป็นจริง เมื่อใช้ปัญญาดังนี้จึงจะไม่ปฏิบัติ
ผิดทาง ทั้งจะไม่หลงตัวลืมตัว การใช้ปัญญาจึงเท่ากับเป็นการใช้เกราะป้องกัน
อันตรายอันอาจจะเกิดขึ้นจากความหลงถือเอาผิดดังกล่าว และการใช้ปัญญา
เป็นการศึกษาธรรมนั่นเอง

การฝึกหัดปฏิบัติสมาธิอย่างขาดโยนิโสมนสิการ หรือขาดการใช้ปัญญา
ก็เท่ากับไม่เป็นการศึกษาธรรม อาจหลงไปผิดทาง เช่นหลงติดอยู่กับนิมิตที่
พบเห็นในสมาธิ หรืออำนาจบางอย่างที่ได้จากสมาธิ ทำให้กัมมัฏฐาน(ที่ถูก)หลุด
หรือหลุดจากกัมมัฏฐานได้ง่าย

พระพุทธเจ้าตรัสไว้อีกด้วยว่า “ปัญญาเป็นแสงสว่างในโลก” การใช้ปัญญา
อบรมเพิ่มเติมปัญญาให้ส่องสว่างยิ่งขึ้นโดยลำดับจึงเป็นเหตุให้มองเห็นสัจจะ
คือให้รู้แจ้งเห็นจริง ให้บรรลุสุขประโยชน์ตั้งแต่ขั้นต้นจนถึงขั้นสูงสุด เพราะ
ปัญญาขั้นสูงสุดคือปัญญาที่สมบูรณ์เต็มที่ ย่อมทำให้จิตปภัสสร คือผุดผ่อง
สว่างเต็มที่ ทำให้รู้แจ้งเห็นจริงและบรรลุสุขประโยชน์สูงสุดเหมือนดังพระพุทธ
เจ้าและพระอรหันตสาวกทั้งหลาย ฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสเตือนไว้ว่า
“อย่าประมาทปัญญา” คือให้ใช้ปัญญานั่นเอง การที่ฝึกฝนใช้ปัญญาจน
รู้แจ้งเห็นจริงแล้ว ย่อมปฏิบัติตนไปในทางที่ถูกที่ควรตลอดเวลา โดยปราศจาก
กิเลสตัณหา เป็นไปโดยอัตโนมัติ

นิวรณ์และกัมมัฏฐานสำหรับแก้

จิตที่ไม่มีสมาธิก็เพราะมีนิวรณ์ ทำให้ไม่ได้ความสงบ ไม่ใช้ปัญญา จึงจะ
แสดงนิวรณ์ ๕ และกัมมัฏฐานสำหรับแก้เพิ่มเติม ดังต่อไปนี้

๑. ความพอใจใฝ่ถึงด้วยอำนาจกิเลสกาม เรียกว่า กามฉันทะ แก้ด้วย
เจริญอสุภกัมมัฏฐาน พิจารณาซากศพ หรือเจริญกายคตาสติ พิจารณาร่างกาย
อันยังเป็น ให้เป็นของน่าเกลียด

๒. ความงุ่นง่านด้วยกำลังโทสะ เรียกรวมว่า พยาบาท แก้ด้วยเจริญเมตตา
กรุณา มุทิตา อุเบกขา หัดจิตให้คิดในทางเกิดเมตตา สงสาร กรุณา
ช่วยเหลือเมื่อมีความสามารถ เกิดความพลอยยินดีไม่ริษยา เกิดความ
ปล่อยวางหยุดใจที่คิดโกรธได้

๓. ความท้อแท้หรือคร้าน และความหดหู่ ง่วงงุน เรียกว่า ถีนมิทธะ
แก้ด้วยเจริญอนุสสติกัมมัฏฐาน พิจารณาคุณของพระพุทธ พระธรรม
พระสงฆ์บ้าง พิจารณาความดีของตนบ้าง เพื่อให้จิตเบิกบานและมีแก่ใจ
หวนอุตสาหะ หรือทำอาโลกสัญญา กำหนดหมายแสงสว่างให้จิตสว่าง

๔. ความฟุ้งซ่านหรือคิดพล่าน และความจืดจางเร็วหรือความรำคาญ เรียกว่า
อุทธัจจกุกกุจจะ แก้ด้วยเพ่งกสิณ กำหนดลมหายใจเข้าออก หัดผูกใจไว้ใน
อารมณ์เดียว หรือเจริญมรณสติ อันจะทำให้ใจสงบด้วยสังเวช

๕. ความลังเลไม่แน่ลงได้ เรียกว่า วิจิกิจฉา แก้ด้วยเจริญธาตุกัมมัฏฐาน
หรือวิปัสสนากัมมัฏฐาน เพื่อกำหนดรู้สภาวธรรมที่เป็นอยู่ตามเป็นจริง
อีกอย่างหนึ่ง ทำความกำหนดรู้จิตที่มีนิวรณ์ และนิวรณ์ที่มีในจิตกับทั้งโทษ
เมื่อเกิดปัญญาความรู้จักนิวรณ์และโทษของนิวรณ์ขึ้น นิวรณ์ก็จะสงบหายไป

บทสวดประกอบการปฏิบัติสมาธิกรรมฐาน

ในการฝึกปฏิบัติสมาธิกรรมฐาน ในเบื้องต้น ควรไหว้พระสวดมนต์เพื่อทำจิตใจ
ให้ผ่องใส มีความมั่นคงแน่วแน่ในการที่จะฝึกปฏิบัติ โดยการเริ่มด้วยการ
แสดงความนอบน้อมต่อพระรัตนตรัย พร้อมทั้งอธิษฐานเบญจศีลให้บังเกิด
ขึ้นในจิต อันจะเป็นพื้นฐานของสมาธิกรรมฐาน ทั้งจะก่อให้เกิดความมั่นใจ
ในการปฏิบัติไปตามลำดับดังนี้

คำนมัสการพระรัตนตรัย

อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ ภะคะวา, พุทธัง ภะคะวันตัง อะภิวาเทมิ (กราบหนหนึ่ง)

สะวากขาโต ภะคะวะตาธัมโม, ธัมมัง นะมัสสามิ (กราบหนหนึ่ง)

สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะ สังโฆ, สังฆัง นะมามิ (กราบหนหนึ่ง)

คำนอบน้อมพระพุทธเจ้าและระลึกถึงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (ว่า ๓ หน)

อิติปิ โส ภะคะวา อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ วิชชาจะระณะสัมปันโน สุคะโต
โลกะวิทู อะนุตตะโร ปุริสะทัมมะสาระถิ สัตถา เทวะมะนุสสานัง พุทโธ ภะคะวาติ

สะวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม สันทิฏฐิโก อะกาลิโก เอหิปัสสิโก โอปะนะยิโก
ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหีติ

สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ อุชุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ
ญายะปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ สามีจิปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ
ยะทิทัง จัตตาริ ปุริสะยุคานิ อัฏฐะ ปุริสะปุคคะลา เอสะ ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ
อาหุเนยโย ปาหุเนยโย ทักขิเณยโย อัญชะลิ กะระณีโย อะนุตตะรัง ปุญญักเขตตัง
โลกัสสาติ

(กราบสามหน)

ไหว้พระสวดมนต์จบแล้ว นั่งราบ ตั้งใจอธิษฐานเบญจศีล (ศีลห้า) เพื่อให้เกิด
ศีลขึ้นในจิตใจอันจะเป็นพื้นฐานสำคัญของการปฏิบัติสมาธิกรรมฐาน
โดยการตั้งจิตอธิษฐานงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต งดเว้นจากการลักขโมย
งดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม งดเว้นจากการพูดมุสา งดเว้นจากการ
ดื่มและเสพสุราของมึนเมาทุกชนิดอันจะเป็นที่ตั้งของความประมาทจากนั้น
จึงเริ่มการปฏิบัติสมาธิกรรมฐานไปตามวิธีอันเป็นที่สบายของตน

บทสวดหลังการปฏิบัติสมาธิกรรมฐาน

หลังการปฏิบัติสมาธิกรรมฐานแล้ว ควรฝึกพิจารณาข้ออันควรพิจารณา
เนืองๆ (อภิณหปัจจเวกขณะ) พร้อมทั้งหัดแผ่พรหมวิหาร คือ เมตตา กรุณา
มุทิตา อุเบกขา และแผ่ส่วนกุศลที่ตนได้กระทำแล้วแก่สรรพสัตว์ เป็นการเสริม
จิตใจให้มีสติไม่ประมาทมัวเมาต่อชีวิต และมีความอ่อนโยนง่ายต่อการที่จะฝึก
ปฏิบัติในธรรมต่อๆ ไปด้วยบทสวดดังต่อไปนี้

อภิณหปัจจเวกขณะ

ชะราธัมโมมหิ (มามหิ)
เรามีความแก่เป็นธรรมดา
ชะรัง อะนะตีโต (อะนะตีตา)
ล่วงความแก่ไปไม่ได้
พะยาธิธัมโมมหิ (มามหิ)
เรามีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา
พะยาธิง อะนะตีโต (อะนะตีตา)
ล่วงความเจ็บไข้ไปไม่ได้
มะระณะธัมโมมหิ (มามหิ)
เรามีความตายเป็นธรรมดา
มะระณัง อะนะตีโต (อะนะตีตา)
ล่วงความตายไปไม่ได้
สัพเพหิ เม ปิเยหิ มะนาเปหิ นานาภาโว วินาภาโว
เราละเว้นเป็นต่างๆ คือว่าพลัดพรากจากของรัก ของเจริญใจ
ทั้งหลายทั้งปวง
กัมมัสสะโกมหิ (กามหิ)*
เราเป็นผู้มีกรรมเป็นของๆ ตน
กัมมะทายาโท (ทา)
เป็นผู้รับผลของกรรม
กัมมะโยนิ
เป็นผู้มีกรรมเป็นกำเนิด
กัมมะพันธุ
เป็นผู้มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์
กัมมะปะฏิสะระโณ (สะระณา)
เป็นผู้มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย
ยัง กัมมัง กะริสสามิ
จะทำกรรมอันใดไว้
กัละยาณัง วา ปาปะกัง วา
ดีหรือชั่ว
ตัสสะ ทายาโท (ทา) ภะวิสสามิ
จักเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น
เอวัง อัมเหหิ อะภิณหัง ปัจจะเวกขิตัพพัง
เราทั้งหลายพึงพิจารณาเนืองๆ อย่างนี้แล

*(คำในวงเล็บสำหรับอุบาสิกา)

พรหมวิหารภาวนา (การเจริญพรหมวิหาร)

การเจริญพรหมวิหาร คือ การแผ่เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา
ไปยังสรรพสัตว์ทั้งหลาย ดังนี้
สัพเพ สัตตา
สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง
อเวรา โหนตุ
จงเป็นผู้ไม่มีเวรเถิด
อัพยาปัชฌา โหนตุ
จงเป็นผู้ไม่เบียดเบียนกันเถิด
อนีฆา โหนตุ
จงเป็นผู้ไม่มีทุกข์กายทุกข์ใจเถิด
สุขี อัตตานัง ปะริหะรันตุ
จงเป็นผู้ มีสุขรักษาตนเถิด.

สัพเพ สัตตา
สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง
ทุกขา ปะมุจจันตุ
จงพ้นจากทุกข์เถิด.

สัพเพ สัตตา
สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง
มา ลัทธะสัมปัตติโต วิคัจฉันตุ
จงอย่าได้ปราศจากสมบัติอันได้แล้วเถิด.

สัพเพ สัตตา
สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง
กัมมัสสะกา
เป็นผู้มีกรรมเป็นของของตน
กัมมะทายาทา
เป็นผู้รับผลของกรรม
กัมมะโยนี
เป็นผู้มีกรรมเป็นกำเนิด
กัมมะพันธุ
เป็นผู้มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์
กัมมะปะฏิสะระณา
เป็นผู้มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย
ยัง กัมมัง กะริสสันติ
จักทำกรรมอันใดไว้
กัละยาณัง วา ปาปะกัง วา
ดีหรือชั่ว
ตัสสะ ทายาทา ภะวิสสันติ
จักเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น.

สัพพปัตติทานคาถา (คาถากรวดน้ำ) พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๔

ปุญญัสสิทานิ กะตัสสะ ยานัญญานิกะตานิ เม,
เตสัญจะ ภาคิโน โหนตุ สัตตานันตาปปะมาณะกา
ขอสัตว์ทั้งหลายไม่มีที่สุด ไม่มีประมาณจงเป็นผู้มีส่วนแห่งบุญที่
ข้าพเจ้าได้ทำในบัดนี้, และแห่งบุญทั้งหลายอื่น
ที่ข้าพเจ้าได้ทำแล้ว.
เย ปิยา คุณะวันตา จะมัยหัง มาตาปิตาทะโย
คือชนเหล่าใดเป็นที่รัก ผู้มีคุณมีมารดาและบิดาของข้าพเจ้าเป็นต้น.
ทิฏฐา เม จาปยะทิฏฐา วา
ที่ข้าพเจ้าได้เห็นหรือแม้ไม่ได้เห็น.
อัญเญ มัชฌัตตะเวริโน สัตตา ติฏฐันติ โลกัสมิง
แลสัตว์ทั้งหลายอื่น ที่เป็นกลาง แลมีเวรกันตั้งอยู่ในโลก.
เตภุมมา จะตุโยนิกา
เกิดในภูมิ ๓ เกิดในกำเนิด ๔.
ปัจเจกะจะตุโวการา
มีขันธ์ ๕ แลขันธ์ ๑ แลขันธ์ ๔.
สังสะรันตา ภะวาภะเว
ท่องเที่ยวอยู่ในภพน้อยแลภพใหญ่
ญาตัง เย ปัตติทานัมเม
สัตว์เหล่าใด ทราบการให้ส่วนบุญของข้าพเจ้าแล้ว.
อะนุโมทันตุ เต สะยัง
ขอสัตว์เหล่านั้นจงอนุโมทนาเองเถิด.
เย จิมัง นัปปะชานันติ
ก็สัตว์เหล่าใด ย่อมไม่ทราบการให้ส่วนบุญของข้าพเจ้านี้.
เทวา เตสัง นิเวทะยุง
ขอเทพทั้งหลายพึงแจ้งแก่สัตว์เหล่านั้น.
มะยา ทินนานะ ปุญญานัง อะนุโมทะนะ เหตุนา
เพราะเหตุ คืออนุโมทนาบุญทั้งหลายที่ข้าพเจ้าให้แล้ว.
สัพเพ สัตตา สะทา โหนตุ อะเวรา สุขะชีวิโน
ขอสัตว์ทั้งปวงจงอย่ามีเวร จงเป็นสุขเสมอเถิด.
เขมัปปะทัญจะ ปัปโปนตุ
แลจงถึงทางอันเกษมเถิด.
เตสาสา สิชฌะตัง สุภา.
ขอความหวังอันดีของสัตว์เหล่านั้นจงสำเร็จเทอญ.

ขอขอบคุณ ข้อมูลจาก
https://sites.google.com/site/smartdhamma/sangaraj_basic_smardhi


newyorknurse




Create Date : 22 กุมภาพันธ์ 2561
Last Update : 22 กุมภาพันธ์ 2561 8:31:35 น. 0 comments
Counter : 1416 Pageviews.

ผู้โหวตบล็อกนี้...
คุณวลีลักษณา, คุณเริงฤดีนะ, คุณmoresaw, คุณmcayenne94


newyorknurse
Location :
ราชบุรี .. New York ... United States

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 164 คน [?]






เริ่มเขียนBlog
เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2553

ยินดีต้อนรับค่ะ

จขบ.บันทึกประสบการณ์ต่างๆ
ระยะเวลาทำงานและระยะเกษียณ
เพื่อเก็บไว้เป็นความทรงจำ

จขบ.พยายามใช้ชีวิตเกษียณให้มีคุณค่า
รักษาสุขภาพใจและกาย ท่องเที่ยวกับเพื่อนๆ
ทำสวนดอกไม้ ออกกำลังกาย
สมัครเป็นสมาชิก 24 Hrs Fitness
เพื่อให้ชีวิตที่เหลืออยู่มีคุณภาพ
จะได้ไม่เป็นภาระกับคนที่รักและห่วงใย

จขบ.เพิ่มบล็อกสุขภาพ
เพื่อจะได้นำสาระที่มีประโยชน์
เกี่ยวกับสุขภาพทั่วๆไป

จขบ.หวังว่าข้อมูลต่างๆช่วยให้
ทุกท่านที่มาอ่าน รักษาสุขภาพ
ไปตรวจเพื่อเป็นการป้องกัน
และได้รับการรักษาเนิ่นๆ เพื่อ
ชีวิตที่แข็งแรงและมีคุณภาพ

"A time to enjoy,
a time to spend time with your family
and a time to be with your friends
all comes with retirement"


*****


"Live The Moment"

อยู่กับปัจจุบันขณะ หยุดเสียใจกับสิ่งที่เกิดขี้น
ในอดีตและกลัวหรือกังวล
สิ่งทีเกิดขี้นในอนาคต "วันนี้" และ "ขณะนี้"
คือช่วงเวลาที่ดีที่สุดของคุณ !!
ใช้มันให้ดีที่สุดให้เป็นช่วงเวลาทีมีคุณค่า
น่าจดจำเพราะว่าเวลาเป็นสิ่งที่ผ่านมา
และผ่านเลยไป เอาคืนไม่ได้และ
หาเพิ่มก็ไม่ได้เช่นกัน

ขอบคุณทุกท่านที่แวะมาค่ะ


*********


ขอบคุณ Bloggang ทำให้เราได้เขียนบล็อกต่างๆ
ขอบคุณสำหรับคะแนนโหวด
ทุกๆคะแนน นะคะ

BG Popular Award # 19


BG Popular Award # 18


BG Popular Award # 17


BG Popular Award # 16


BG Popular Award # 15


BG Popular Award # 14


BG Popular Award # 13


BG Popular Award # 12


BG Popular Award # 11


BG Popular Award # 10


BG Popular Award # 9


BG Popular Award # 8

**********



ขอบคุณทุกหัวใจวาเลนไทน์ 2561
ที่เพื่อนๆมอบให้ค่ะ


ขอบคุณทุกหัวใจวาเลนไทน์ 2560
ที่เพื่อนๆมอบให้ค่ะ
Flag Counter
New Comments
Group Blog
 
<<
กุมภาพันธ์ 2561
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728 
 
22 กุมภาพันธ์ 2561
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add newyorknurse's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.