< Goodbye, Dragon Inn : โรงหนังเก่า >
< Goodbye, Dragon Inn : โรงหนังเก่า >

ถ้าเอ่ยถึงความสัมพันธ์ระหว่างผมกับโรงมหรสพอย่างโรงภาพยนตร์แล้ว คงต้องย้อนกลับไปสักราวๆสิบปีก่อน ตอนนั้นพ่อกับแม่จูงมือผมและน้องชายไปดูหนังเรื่อง Godzilla ฉบับ โรแลนด์ เอ็มเมอริช ณ โรงหนังเล็กๆภายในห้างจัสโก้ รัตนาธิเบศร์(ปัจจุบันถูกรื้อถอน กลายเป็นเซ็นทรัลพลาซ่าไปเสียแล้ว)
การนั่งดูหนังครั้งในครานั้น นับเป็นการได้ดูหนังในโรงภาพยนตร์ครั้งแรก ซึ่งมันเต็มไปด้วยความสนุก ความตื่นตาตื่นใจ และความลึกลับ(ยังไงวะ?) จนไม่อยากจะให้ห้วงเวลานั้นมันจบลงเลยจริงๆ ซึ่งหลังจากนั้น ผมเองก็เสพติดการเข้าโรงหนังตลอดมา

สาเหตุที่ผมมานั่งรำลึกถึงการเข้าโรงหนังครั้งแรก เป็นผลปฏิกิริยาต่อเนื่องมาจากการชมหนังไต้หวันเรื่อง Goodbye, Dragon Inn ของ ไฉ้หมิงเลียง ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการฉายหนังรอบสุดท้ายและเรื่องราวของพนักงานขายตั๋ว,คนฉายหนัง และเหล่าคนดูอันบางตาภายในโรงหนังเก่าที่กำลังจะปิดตัวแห่งหนึ่ง
Goodbye, Dragon Inn ยังคงเป็นหนังที่เปี่ยมไปด้วยสไตล์แบบไฉ้ๆ นั่นคือ นิ่ง เนิบ ช้า (หลับ) ทั้งการตั้งกล้องแช่ภาพเป็นเวลานานๆ ผสมกับการตัดต่อเปลี่ยนซีนอย่างใจเย็น ซึ่งจากท่วงท่าลีลาดังกล่าวเป็นผลให้ต้องมีการเรียกร้องสมาธิกับความอดทนจากคนดูพอสมควร แต่ถ้าสามารถจูนกับหนังติดและก้าวข้ามผ่านความนิ่งของหนังไปได้ ก็จะพบว่า Goodbye, Dragon Inn เป็นหนังที่ตลกและดูสนุกเอาการ

จุดเด่นของหนังอยู่ตรงการหยิบเอามุกเหตุการณ์แปลกๆของคนที่อยู่ในโรงหนังมานำเสนอแบบยั่วล้อและทีเล่นทีจริง อาทิ ดนตรีประกอบและเสียงพูดของหนังที่ฉายอยู่ มันสอดคล้องกับเหตุการณ์ที่ตัวละครกำลังประสบอยู่อย่างพอเหมาะพอเจาะ สิ่งเหล่านี้แหละครับ ที่ช่วยทำให้หนังสามารถดูได้อย่างเพลินเพลิด และทำให้ผมพลางนึกถึงเหตุการณ์ประหลาดๆที่ผมเคยพบเจอในโรงหนังอยู่เนืองๆ
ผมจำได้นะครับว่าภายในโรงมืดๆมีเงากระทบบนผ้าสีขาวนั้น ผมเคยพบคนแก่นั่งทำอะไรขยุกขยิกกับอวัยวะเบื้องล่างของตัวเอง เรื่อยไปจนถึงเจอเจ๊ผู้หญิงวัยกลางคนที่เอาขนมเข้ามากินมากราวกับเปิดโต๊ะจีน แม้ว่ามันจะไม่ดูพิลึกกึกกือเท่ากับในหนัง (เช่น ฉากที่ผู้ชายอยากจะขอยืมไฟแช็ค แต่กลับทำท่าทำทางราวกับจะคุกคามคนอื่น) ทว่ามันก็สร้างอารมณ์ให้เชื่อมโยงกับประสบการณ์ส่วนตัวของผมที่มีต่อโรงหนังได้ดีทีเดียว

จะว่าไปแล้ว Goodbye, Dragon Inn อาจเป็นเสมือนจดหมายรักที่เขียนถึงโรงหนังที่ต้องปิดตัวลง เมื่อจุดมุ่งหมายหลักของหนัง คือต้องการให้คนดูได้ซึมซับกับความเป็นโรงหนัง ก่อนที่มันจะเลิกกิจการไป ด้วยการปล่อยให้ผู้ชม (ทั้งในและนอกจอ) ได้ร่วมประสบการณ์สัมผัสกับตัวหนังที่อยู่บนจอและบรรยากาศรายรอบตัวอย่างเต็มอารมณ์
โดยส่วนตัวนั้น ผมเองไม่เคยไปดูหนังในรอบส่งท้ายที่ไหน แต่ในห้วงเวลาที่โรงหนังใน Goodbye, Dragon Inn เปิดไฟไล่คนดู,ห้องขายตั๋วปิดบริการ และประตูเหล็กหน้าโรงถูกกดให้เลื่อนลงนั้น มันสามารถสร้างความอาลัยอาลัยอาวรณ์ให้กับผมได้อย่างประหลาด
ผมเชื่อของผมเองนะครับว่า ถ้าเมื่อสิบปีก่อน ผมไม่ได้เข้าไปดูเจ้าก็อตซิลล่าในวันนั้น ผมเองคงไม่เข้าใจความรู้สึกต่างๆในหนังเรื่องนี้ได้เลย เพราะมันเป็นเรื่องของคนที่ต้องมีความผูกพันกับโรงหนัง(ไม่ว่าจะเก่าหรือใหม่) และมองสถานที่นี้ราวกับเห็นบ้านของตัวเอง ซึ่งผมเองก็คือคนจำพวกนั้นครับ
แด่โรงหนังเก่าที่จากไป
ด้วยรักและคิดถึง kitamura

Create Date : 13 กรกฎาคม 2553 |
|
1 comments |
Last Update : 13 กรกฎาคม 2553 1:54:02 น. |
Counter : 2335 Pageviews. |
|
 |
|