รีวิวสบายๆ : The Twilight Saga: Breaking Dawn - Part 1

The Twilight Saga: Breaking Dawn - Part 1
ออกตัวไว้ก่อนว่า ผมยังไม่เคยดูภาคแรก แต่ภาคอื่นๆดูหมดแล้ว ฉะนั้น ถ้าผมพูดเนื้อหาหรือประเด็นผิด รบกวนช่วยแย้งได้ทันทีเลยนะครับ
ถ้านับแค่ภาค 2 , 3 , 4.1 เราว่าภาคนี้มันดูเพลินพอๆกับภาคสามนะครับ (ส่วนภาคที่แย่สุดในสายตาผมคือ ภาค 2) แล้วมันยังได้เปรียบนิดหน่อยตรง Story มันมีความคืบหน้ามากกว่าภาคก่อนๆ (ได้แต่งาน , มีลูก) แถมยังโชคยังดี (?) ที่ได้ บิล คอนดอน มากำกับ เลยทำให้หนังดูมีสไตล์ใหม่ๆนิดๆหน่อยๆเข้ามา เช่น การใส่เพลงประกอบที่ใส่มาซะเยอะจนสังเกตได้ (แหม ก็คนทำหนังเพลงนี่เนอะ) แต่ก็อย่างที่รู้ๆกันอยู่ว่า หนังชุดนี้ มันคงไม่สามารถไปไกลได้กว่านี้ ด้วยจุดอ่อนอย่างการแสดงที่เกือบๆจะแข็งทื่อ และเนื้อเรื่องของหนังที่ดูพายเรือวนอยู่ในอ่าง
แต่ภาค 4.1 นี้เอง ที่ทำให้ผมฉุกคิดประเด็นเรื่อง การนับความเป็นพวกพ้อง ของตัวละครในหนัง (อันที่จริง หนังมันน่าจะเล่นประเด็นนี้มาตั้งนานแล้ว แต่อะไรบางอย่างในภาคนี้ ทำให้มันดูชัดขึ้น) เอาอย่างเบสิกที่สุดคือ หนังจำแนกตัวละครออกเป็นสามพวก คือ มนุษย์ , แวมไพร์ , หมาป่า ก่อนที่หนังจะเขย่าเป็นมิลค์เชค ให้มันทับซ้อนกัน ด้วยการให้มนุษย์รักกับแวมไพร์ โดยมีหมาป่าเข้ามาแทรกกลาง ทีนี้ หนังมันก็ทำให้ซับซ้อนยิ่งขึ้น ด้วยการลากคนในเผ่าพันธุ์ของตัวเอง เข้ามาเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับความสัมพันธ์ทับซ้อนนี้ แม้ว่าจะมีหมาป่า , มนุษย์ และแวมไพร์บางตนที่ญาติดีกันได้ แต่คนที่ยังเห็นต่างก็ยังมีอยู่มาก
เมื่อหนังกำหนดให้ความขัดแย้งกันระหว่างคนสามกลุ่มดูตึงเครียดมาก (แวมไพร์กับหมาป่าและมนุษย์) แต่แล้วทุกอย่างก็คลี่คลายได้โดยง่ายดาย ถ้าสิ่งที่เป็นศัตรูได้ผูกจิตเป็นพวกเดียวกันกับตัวเอง (ส่วนใครจะเป็นพวกใคร อันนี้ไปดูกันเอาเองแล้วกันครับ) อีกทั้งพล็อตรองในภาคนี้ ยังมีตัวละครที่น้อยเนื้อต่ำใจในความเป็นส่วนเกินและไม่สามารถเข้ากลุ่มกับใครได้ ออกมาเรียกร้องความต้องการอยากจะเป็นพวกพ้องกับกลุ่มใดสักกลุ่ม นอกจากนี้หลายตัวละครยังเอ่ยถึงเหตุผลของการกระทำของตัวเองว่าทำไปเพราะต้องการปกป้องครอบครัวและอ้างอิงถึงครอบครัวอยู่เนืองๆ
และเนื้อหาส่วนที่ชัดเจนที่สุดในประเด็น เป็นก๊กเป็นเหล่า ก็คือ ลูกของเบลล่าที่กำลังจะเกิดมา แม้แต่เอ็ดเวิร์ดเองก็ยังไม่ยอมรับและใช้สรรพนามเรียกสิ่งที่อยู่ในท้องของเมียว่า มัน เสียด้วยซ้ำ เป็นไปได้หรือไม่ ว่านี่คืออาการรังเกียจสิ่งที่ไม่ใช่พวกของตนเอง เหมือนๆกับ แวมไพร์เกลียดหมาป่า ในขณะที่หมาป่าก็ไม่ชอบขี้หน้าแวมไพร์ แต่ก็นั่นแหละ ท้ายที่สุด ถ้ามีการยอมรับมีหรือมีเงื่อนไขกฎเหล็ก กำหนดให้คนต่างกลุ่ม กลายมาเป็นพวกเดียวกันได้ ทุกอย่างก็จบ
นอกจากประเด็นเรื่องพวกพ้อง ผมยังเห็นสุภาษิตสอนหญิงในหนังเรื่องนี้ ในภาคก่อนๆ คนเขียนหนังสือเรื่องนี้ อาจจะกำลังไซโคให้ผู้หญิงที่กำลังอ่านหนังสือหรือดูหนังเรื่องนี้อยู่ ได้เห็นความงดงามของผู้ชายที่มีทัศนคติโบราณหัวอนุรักษ์นิยมอย่างเอ็ดเวิร์ด อาทิ การไม่ชิงสุกก่อนห่าม และในภาคนี้ เมื่อเอ็ดเวิร์ดกับเบลล่าแต่งงานกัน จนพร้อมที่จะมีเซ็กส์ได้อย่างไม่ผิดประเพณี แต่หนังก็ยังสอนผู้หญิงต่อด้วยการใส่เนื้อหาที่ว่าด้วยความน่ากลัวของการมีเซ็กส์ ว่ามันเจ็บตัวและน่ากลัวเพียงใด แม้ว่าเบลล่าจะยินยอมและมีความสุขกับเซ็กส์แค่ไหน แต่รอยฟกช้ำและสภาพเตียงที่เละเทะ ก็อดคิดไม่ได้ว่าคนเขียนนิยายเรื่องนี้ อาจจะมองว่าการมีเพศสัมพันธ์นั้น มันน่ากลัวและเจ็บปวดมากนะจ๊ะสาวๆ
นอกจากนี้หนังสอนหญิงให้ระลึกถึงความน่ากลัวของการท้องไส้ เห็นได้ชัดว่า การตั้งครรภ์ของเบลล่า แทบจะไม่มีใครยินดีกับเรื่องนี้เลย เป็นไปได้มั้ยว่า หนังน่าจะเปรียบเทียบการท้องของเบลล่า ว่ามันเป็นเหมือนดั่งการตั้งครรภ์โดยไม่พร้อม (เบลล่ายังไม่กล้าบอกพ่อเลยด้วยซ้ำว่าตัวเองท้อง) เมื่อไม่พร้อม หนังเลยไซโคสุดๆว่าการตั้งครรภ์เนี่ย แม่งน่ากลัวฉิบหาย ด้วยการแสดงให้เห็นใบหน้าและรูปร่างของเบลล่าอันผอมซีด ไปจนถึงการนำเสนอฉากคลองลูกในโทนหนังสยองขวัญ จนอดคิดไม่ได้ (อีกที) ว่าคนเขียนนิยายเรื่องนี้ อาจจะมองว่าการท้องไส้โดยไม่พร้อมนั้น มันน่ากลัวและเจ็บปวดมากนะจ๊ะสาวๆ
ดังนั้น ถ้ากระทรวงวัฒนธรรมอยากจะฉายหนังสักเรื่องไว้สอนผู้หญิงเรื่องความอนุรักษ์นิยม ผมว่าหนังเรื่องนี้สามารถทำหน้าที่นั้นได้อย่างไม่เคอะเขินแน่นอน
kitamura
Create Date : 05 ธันวาคม 2554 |
Last Update : 5 ธันวาคม 2554 22:27:19 น. |
|
2 comments
|
Counter : 1822 Pageviews. |
 |
|
|