รีวิวสบายๆ : Cars 2

Cars 2
และแล้ว อันดับรั้งท้ายหนังพิกซ่าร์ 3 อันดับล่าสุดของผม ได้แก่ (เรียงจากแย่น้อยไปแย่มาก) Cars , Up , Cars 2
จริงๆแล้ว หากดูแบบผิวเผิน หนังมันดูสนุกอยู่แหละ รวมทั้งงานเทคนิคแอนิเมชั่นก็สวยงามมาก หนังมีฉากใหญ่ๆมากมาย ทั้งญี่ปุ่น , อิตาลี และอังกฤษ รวมทั้งจินตนาการประชากรรถก็บรรเจิดสุดๆ (ฉากการนำเสนอวัฒนธรรมของกรุงโตเกียวนั้นฮามาก) แต่สิ่งที่ขัดขาอย่างแรงคือการนำเสนอประเด็นของหนัง
ก่อนหน้านั้น Cars ภาคแรก ประสบปัญหาความเก่ากึ้กของประเด็น ส่วนในภาคสองนี้ หนังประสบปัญหายิ่งกว่านั้น คือ การนำเสนอประเด็นมันช่างเบาบางและอ่อนด้อยเหลือเกิน และแม้ว่าจะมีการใส่เนื้อหาแบบหนังสายลับเพิ่มเติมเข้ามา แต่ถึงกระนั้น หนังภาคสองก็ยังคงรักษาหัวใจของหนังชุดนี้ไว้ นั่นคือ ความพยายามในการฟื้นฟูและสรรเสริญในสิ่งเก่าๆ , ความล้าสมัย , อดีตอันหอมหวาน และแอบต่อต้านความเป็นสมัยใหม่อย่างกลายๆ
ความเก่าอย่างแรกที่เห็นได้ชัดคือ ตัวละคร เมเทอร์ เมเทอร์เป็นรถลากคันเก่าๆขึ้นสนิม เต็มไปด้วยรอยบุบ นิสัยจริงใจตามแบบฉบับคนชนบท ในภาคนี้ เมเทอร์มีโอกาสเดินทางไปตามเมืองใหญ่รอบโลก และถูกสำรวจจิตใจแบบลงลึก (แถมบทยังเยอะมาก จนดูเป็นพระเอกไปเลย) เมื่อพฤติกรรม บ้านนอก เข้ากรุง ของเมเทอร์ กลายความน่าอับอาย , ตัวตลก , โง่เง่า , ซื่อบื้อ ในสายตาของรถคันอื่นๆที่อยู่ในเมือง รวมทั้งเพื่อนซี้อย่างไลท์นิ่ง แม็คควีน ที่รู้สึกอายแทนกับการกระทำของเมเทอร์
แม้ว่าเมเทอร์จะภูมิใจกับความเก่าของตน (เมเทอร์เคยบอกว่า รอยบุบบนตัวนั้น เป็นสิ่งที่มีคุณค่าและมีความหมายระหว่างเขากับแม็คควีน) แต่เสียงหัวเราะเจือปนกับน้ำเสียงแห่งการดูถูก ก็ทำให้เมเทอร์จมอยู่ในความน้อยเนื้อต่ำใจ ทว่า ด้วยการเป็นสายลับจำเป็น ได้โชว์ภูมิความรู้เรื่องเครื่องยนต์ และแสดงความเฉลียวฉลาดในการแก้ปัญหา ส่งผลให้เมเทอร์ กลายเป็นรถเก่าสนิมเกาะที่มีคุณค่า และได้รับการยกย่องสรรเสริญจากทุกคน
นอกจากเมเทอร์แล้ว ยังมีรถคันเก่าอีกพวก นั่นคือ กลุ่มรถผู้ร้ายคันเก่าบุโรทั่ง ที่ต้องการเรียกศักดิ์ศรีกลับคืนมา หลังจากทนไม่ได้กับการดูถูกดูแคลน (ในหนังมีคำว่าล้อรถเก่าว่า พวกเครื่องเปรี้ยว) ด้วยการพยายามทำลายรถที่ใช้พลังงานชนิดใหม่ เพื่อให้ชาวรถทั่วโลกหันกลับมาใช้น้ำมันเหมือนเดิมอีกครั้ง และพวกกลุ่มผู้ร้ายรถเก่านี่เอง ทำให้ผมนึกถึงพวกรถแก่ๆในเมืองเรดิเอเตอร์ สปริงส์ จากภาคแรก
แม้ว่าพฤติการณ์จะแตกต่างกัน (ฝ่ายนึง เป็นรถนิสัยดี ฝ่ายนึง เป็นรถนิสัยเลว) แต่ชาวเรดิเอเตอร์ สปริงส์กับกลุ่มผู้ร้ายเครื่องเปรี้ยว ก็มีจุดร่วมเหมือนๆกัน นั่นคือ สถานะเป็นรถเก่า ไม่มีใครเหลียวแล ถูกทิ้งจากสังคม และทั้งสองกลุ่มยังพยายามฟื้นฟูความภาคภูมิใจกลับคืนมา ด้วยการปลุกชีพถนนสายเก่า (ชาวเรดิเอเตอร์ สปริงส์) , ทำให้ประชากรรถหันกลับมาใช้น้ำมันเหมือนเดิม (ผู้ร้ายรถเก่า) พร้อมด้วยทัศนคติมองสิ่งสมัยใหม่ในแง่ร้าย ทั้งถนนตัดข้ามรัฐ (ภาคแรก) และ พลังงานเชื้อเพลิงสะอาด (ภาคสอง)
และไม่ว่าตัวละครจะเดินทางบินข้ามประเทศกันร้อยเอ็ดเจ็ดย่านน้ำ เข้าเมืองทันสมัยมากมาย แต่สุดท้าย หนังก็เลือกที่จะจบลงที่ภาพของถนนสายเดิม ตอกย้ำการบูชาสิ่งเก่าๆได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น
kitamura
Create Date : 15 ตุลาคม 2554 |
Last Update : 15 ตุลาคม 2554 20:03:56 น. |
|
1 comments
|
Counter : 1014 Pageviews. |
 |
|
|