Group Blog
มิถุนายน 2558

 
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
26
27
28
29
30
 
 
ทุ่มเทเลี้ยงลูก แต่ทำไมแต่ทำไมสิ่งที่ได้มาจึงเป็นแบบนี้ ....2


  ทุ่มเทเลี้ยงลูก..........2(ต่อ)



 3.2.6 ให้คุณเริ่มปฏิบัติการตัดสายสะดือ โดยทำเป็นขั้นเป็นตอน

 ขั้นที่ 1. ประเมินคุณลูกก่อน ว่าเขาอยู่ที่ตรงไหน มีใจอยากเป็นอิสระแต่ไม่กล้า หรือเป็นคนเสมือนเป็นอัมพาต คือติดการสิงพ่อแม่จนเป็นง่อยถาวร ไม่คิดไม่อ่านอะไรต่อไปทั้งสิ้น

ขั้นที่ 2. ประเมินตัวคุณ (คุณพ่อคุณแม่) เอง ว่าอะไรเป็นจุดตายของคุณ พ่อแม่บางคนจุดตายอยู่ตื้นมาก เช่นลูกเม้มปากไม่ยอมกินข้าวแค่เนี้ยะพ่อแม่ก็บ้ารับประทานแล้ว ลูกจะเอาอะไรก็ทูนหัวให้หมดขอให้กินข้าวซักคำเถอะลูก ในขั้นนี้คุณต้องมองย้อนไปดูจุดตายของคุณด้วยใจยุติธรรม ว่าอะไรเป็นเหตุให้คุณพาลูกเข้ารกเข้าพงมาจนถึงตรงนี้ได้ เพราะความรู้สึกผิดที่ทอดทิ้งเขาไปช่วงหนึ่งหรือเปล่า เพราะความรู้สึกกลัวความล้มเหลวของตัวเองว่าเลี้ยงลูกให้เป็นผู้เป็นคนแบบชาวบ้านเขาไม่ได้หรือเปล่า เพราะความรู้สึกคับแค้นที่ตัวเองไม่เคยได้รับในบางอย่างที่อยากได้ตอนเป็นเด็กหรือเปล่า ฯลฯ คุณประเมินจุดตายของตัวเองทั้งหมด เขียนใส่กระดาษไว้ แล้ววางกลยุทธ์เพื่อปิดจุดตายเหล่านี้ไปทีละจุดๆ ก่อนที่จะทำสงครามปลดแอกกับลูกบังเกิดเกล้า นี่เป็นหลักการทางการทหารธรรมดาๆ ซึ่งทหารจีนชื่อซุนวูสอนไว้

     “รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง”

ขั้นที่ 3. ตีเส้น ในขั้นนี้คือคุณต้อง “ตีเส้น” ว่าในการจะถอยบทบาทจากการเป็นขี้ข้าเปลี่ยนมาเป็นครูนี้ ต่อแต่นี้ไป อะไรคือได้ อะไรคือไม่ได้ เมื่อตั้งใจกำหนดขอบเขตได้ไม่ได้มั่นเหมาะแล้ว ต่อไปก็ต้องเปิดโต๊ะเจรจากับคุณลูก หาจังหวะสบายๆง่ายๆ เอาทีละนิด ว่ากันทีละเรื่อง ว่าต่อแต่นี้ไป พ่อกับแม่มีมิชชั่นใหม่ว่าจะช่วยให้ลูกเป็นผู้เป็นคนเสียทีพ่อกับแม่จะได้ตายตาหลับ บนมิชชั่นนี้ พ่อกับแม่กำหนดว่าต่อแต่นี้ไป พ่อแม่จะให้อะไร ไม่ให้อะไร ถ้าอยากได้มากกว่านี้ลูกต้องทำอะไรแลกเปลี่ยน จึงจะได้

   ขั้นที่ 4. ตัดสายสะดือ หมายถึงตัดความช่วยเหลือทางการเงินที่ลูกโข่งสิงกินจากพ่อแม่โดยค่อยๆเล็มให้งวดเข้าๆ ขั้นนี้ยากนิดหน่อย แต่คุณต้องเลิกเล่นบทง่ายคือ “ขี้ข้า” มาเล่นบทยากคือ “ครู” ไม่ต้องกลัวว่าลูกชายจะตายเพราะไม่มีเงิน ในโลกความจริง ถ้าเขาไม่เรียนหนังสือ ไม่ทำงาน แม้จะไม่มีเงิน เขาก็อยู่ได้ ไม่ตายหรอก เสื้อผ้าไม่มีไปหาขอบริจาคเสื้อผ้าเก่าเอาได้ จะไปไหนมาไหนก็ขึ้นรถเมล์ฟรี รถไฟฟรี อาหารก็กินของถูกๆ ไม่มีเงินตัดผมก็ไม่ต้องตัด ปล่อยมันยาวไปอย่างนั้นแหละ ถ้าเขาอยากจะทำอย่างนั้นก็ให้เขาทำไป อย่าลืมว่าคุณเป็นครูนะ ตัดสายสะดือแล้ว ครูที่ดีก็ต้องหาจังหวะให้ลูกได้เรียนรู้ด้วย คอยให้ feed back ในทางบวกถ้าศิษย์ทำดี หรือทางลบถ้าทำไม่ดี

     ขั้นที่ 5. หนีลูก ช่าย..ย หนีไปเลย หนีเป็นพักๆ เมื่อขี้ข้าลาพักร้อน เจ้านายก็ต้องหุงข้าวต้มแกงเอง นี่เป็นเรื่องธรรมดา คุณต้องวางแผนไปไหนไกลๆ บ่อยเข้าๆ เช่นไปเข้าค่ายปฏิบัติธรรมนานเป็นเดือน ถ้าลูกรบจะไปด้วยก็มาเลยลูก กรณีคุณไปไหนนานไม่ได้เพราะติดงานก็ส่งลูกออกไปอยู่นอกบ้าน เช่นลงทุนส่งเขาไปเข้าแค้มป์ดัดสันดานระหว่างปิดเทอม แค้มป์แบบนี้ในยุโรปและอเมริกามีแยะ ในเมืองไทยก็น่าจะมีแต่ผมไม่รู้จัก ส่งไปแล้วคุณตัดขาดเลยนะ ปิดโทรศัพท์ อย่าตามไปโอ๋ไปร้บใช้ คนไข้ของผมรายหนึ่งเล่าว่าส่งลูกชายขี้เกียจไปเข้าแค้มป์ฝึกนักเรียนเพื่อสอบเข้าเตรียมทหาร ลูกชายโทรศัพท์มาอ้อนร้องไห้กับแม่ทุกคืนๆจนแม่ทนไม่ไหวต้องไปรับกลับบ้าน สรุปว่าเหลวเป๋วเหมือนเดิมเพราะหนีไม่จริง

     ขั้นที่ 6. ปลง คราวนี้ปลงก็คือปลง คุณต้องปลงจริงๆ คนเราเกิดมาพบกันได้ไม่นานแล้วก็ตายจากกันไป เหมือนขอนไม้ท่อนหนึ่งลอยมาพบกับอีกท่อนหนึ่งกลางทะเลแล้วแยกจากกันไป จะเอาอะไรกันนักหนา แม้ร่างกายของเรานี้ยังไม่ใช่สมบัติของเรา จึงอย่าว่าแต่ลูกซึ่งเป็นอีกร่างอีกจิตใจหนึ่งเลย เขาก็เป็นเขา เขาโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว หน้าที่ของเราหมดแล้ว เขาจะใช้ชีวิตอย่างไรหรือแม้แต่จะเอาหัวเดินต่างตีนก็ไม่ใช่กงการอะไรของเรา มีเรื่องอะไรเป็นข่าวคราวดีร้ายมาจากเขาเราฟังแล้วก็รับรู้ เข้าใจ และเฉยเสีย...สาธุ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

..............................................................

จดหมายจากผู้อ่าน (1)

     คำตอบของคุณหมอให้ความคิดเรื่องลูกกับครอบครัวหนูได้มากเลย ตอนนี้ลูกเล็ก 7 ขวบกับ 3 ขวบ คนโตมีแววเก่งทำอะไรได้ดีหมด หนูเองกำลังมาถึงจุดเสี่ยง คือตั้งตาจะทุ่มทุนกับลูก ยังคลุมเครือมาตลอด ตอนนี้รู้สึกตัวชัดขึ้น 
     หนูส่งจดหมายฉบับนี้ถึงคุณหมอ และสำเนาให้สามีอ่านด้วย หลายครั้งที่ตัวหนูเองหมกมุ่นมากไป ตอนนี้มีสติเพิ่มขึ้น อยากคิดดีๆให้ถี่ถ้วน หนูมีความฟุ้งซ่านที่อยากเล่ารบกวนคุณหมอในเรื่องลูก คือ คนโตมีแววคณิตศาสตร์ (ครูสอนคณิตที่รู้จักกันช่วยดูให้)  แต่หนูเองไม่อยากให้เขาเรียนพิเศษแบบทั่วไป หรือเรียนเสริมเกรด (ผลการเรียนที่รร.ดีอยู่แล้ว) หรือทุ่มเงินให้เขาลงสนามไปเอาเหรียญ อยากให้เขาเป็นนักคิด จุดแข็งของเขาคืออ่านหนังสือเองโดยไม่ต้องขอหรือสั่ง และเป็นเด็กที่เห็นอกเห็นใจพ่อแม่ (นี่คงเป็นกิเลสล่อให้ตัวแม่เพ้อ ทั้งเพ้อและฟุ้งค่ะ) ตัวหนูเองเป็นครูสอนพิเศษภาษา แต่สอนคิดเลขไม่ได้ โดยเฉพาะเขามีแววในเชาวนคณิต (แม่คิดช้ากว่าลูกค่ะ) เขาชอบเข้าค่ายลูกเสือ ชอบวิชาวิทยาศาสตร์ มีความต้องการที่จะเป็นผู้นำ อยากมีหนทางให้เขาที่พอดีและถูกต้องค่ะ  (ตรงกับข้อ 3.1.2 น่ะค่ะ)

     ขอขอพระคุณความคิดคมๆของคุณหมอที่แบ่งปัน 
     ตั้งแต่งานเขียนของ Dr. Heim Ginott ทั้งสามเล่ม ก็ยังไม่รู้สึกว่างานเขียนเกี่ยวกับเด็กชิ้นไหนจะโดนใจ ต้องอ่านซ้ำ ต้องเอามาขบคิด ให้พลังความตื่นตัวของพ่อแม่เลยค่ะ 

...........................................................

ตอบครับ (ครั้งที่ 2)

     ลูกอายุเจ็ดขวบ แต่คุณก็ปลื้มเหลือเกินที่ลูกเก่งคณิตศาสตร์ คิดโน่นคิดนี่ไปสารพัดแล้ว นี่คุณกำลังตั้งต้นจะบ้าแล้วนะ..เห็นแมะ

     พูดถึงการศึกษา สิ่งที่คุณจะต้องแคร์ว่าลูกจะได้รับครบถ้วนหรือเปล่าก่อนอายุสิบขวบ ผมซึ่งเป็นคนดิบๆไม่ใช่นักการศึกษาขอเสนอว่ามีอยู่สามเรื่องเท่านั้น

     1. การเรียนให้รู้ว่ามีชีวิตอยู่อย่างไรจึงจะเป็นสุข ณ ที่นี่เดี๋ยวนี้และปฏิบัติจริงได้ด้วย หรือพูดอีกอย่างว่าการเรียนรู้เพื่อให้ตัวเองเป็นอิสระจากความทุกข์ บางคนอ้อมๆแอ้มๆเรียกมันว่าเป็น intrapersonal intelligence แต่ผมขอเรียกตรงๆโต้งๆเลยว่าเป็น spiritual intelligence อันได้แก่โลกทัศน์และทักษะที่จะยอมรับความเปลี่ยนแปลงรอบตัวอย่างเข้าใจและไม่ยึดมั่นถือมั่น และที่จะมีสติตามดูความคิดงี่เง่าของตัวเองให้ทัน

     2. การเรียนรู้ทักษะการสื่อสารสัมพันธ์และเข้าใจคนอื่น (interpersonal skill) พูดง่ายๆว่าวิชา “คนพูดกับคน” ลองปล่อยลูกอายุ 7 ขวบของคุณที่ปากซอยที่มีคนพลุกพล่านขวักไขว่แล้วดูซิว่าเขาจะสื่อสารกับชาวบ้านจนกลับบ้านได้โดยปลอดภัยหรือไม่ ถ้าเขาทำได้ ลูกคุณก็เก่งวิชานี้กว่าเด็กจบมหาลัยทุกวันนี้แล้ว

     3. ในทางการแพทย์ ทุกครั้งที่เราวัดการทำงานของสมอง เช่นการติดตามผู้ป่วยสมองเสื่อม เราวัดความสามารถในการเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่าง ระยะ ขนาด ตำแหน่ง ความลึก และการมองเห็น หรือมิติ ซึ่งเรียกรวมๆกันว่า spatial intelligence ผมมองเห็นว่าวิชานี้คือความฉลาดเชิงวิทยาศาสตร์ที่มนุษย์จำเป็นต้องมีจึงจะเข้าใจธรรมชาติได้ มันเป็นพื้นฐานของวิชาวิศวกรรม สถาปัตยกรรม ศิลปกรรม ฯลฯ และเป็นพื้นฐานของจินตนาการเชิงสร้างสรรค์ คุณมองตรงนี้ให้ออกและให้โอกาสลูกคุณได้เรียนรู้และพัฒนาเรื่องนี้ก็ไม่เสียหลาย

     ส่วนเรื่องอื่นๆไม่ว่าวิชานั้นในโรงเรียนเขาจะเรียกว่าวิชาอะไร ใครจะว่ายังไงก็ช่าง ตัวผมเห็นว่าเป็นเรื่อง “เยอะ” เกินความจำเป็นและทำให้มนุษย์เราสูญเสียโฟกัส มัวไปจดจ่อยึดถืออยู่กับเรื่องที่รังแต่จะทำให้เป็นทุกข์ จนมีชีวิตอยู่แบบตัวตลกที่สัตว์อื่นๆเช่นหมาแมวหัวเราะเยาะเอา

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์





Create Date : 25 มิถุนายน 2558
Last Update : 24 กุมภาพันธ์ 2562 8:58:35 น.
Counter : 202 Pageviews.

0 comments

jewelmoda
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 108 คน [?]



ผู้หญิงคนหนึ่ง ที่อยากทำงานด้านเด็ก อยากเป็นครู แต่กลับต้องไปทำงานแบงค์ เมื่อขอเออรี่ออกมา ขอหาข้อมูลเกี่ยวกับเด็ก เพื่อการพัฒนาเด็กไทย

Myspace angels graphics
New Comments
Friends Blog
[Add jewelmoda's blog to your weblog]