Group Blog
 
All Blogs
 



ผ่าวิกฤติ "งูกินหาง" การเมือง-รัฐ-ชาวบ้าน...แนะฟื้นประเทศทุกมิติ

ผ่าวิกฤติ "งูกินหาง"
การเมือง-รัฐ-ชาวบ้าน
แนะฟื้นประเทศทุกมิติ

          เวที “ศาลายาเสวนานโยบายสาธารณะ ครั้งที่ 7” หัวข้อ “มหาวิทยาลัยกับการปฏิรูปประเทศไทย” เมื่อวันจันทร์ที่ 7 มิ.ย.ที่ผ่านมา ที่มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา มีผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายสาขาร่วมเสนอความเห็นเพื่อหาแนวทางฝ่าวิกฤติความขัดแย้งของเมืองไทย

          นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วิกฤติที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ขอเรียกว่า “วิกฤติ เม.ย.-พ.ค.53” ซึ่งยังไม่จบเพียงเท่านี้ เพียงแต่มีความรุนแรงปรากฏขึ้นแล้ว และความรุนแรงต้องไม่นับที่จำนวนคนตาย คนเจ็บเท่านั้น แต่ต้องรวมถึงความแตกแยกแตกสลายในสังคมด้วย

          วิกฤติที่เป็นความเสียหายและเป็นความรุนแรงแตกแยกครั้งนี้ต้องถือว่ายิ่งใหญ่ที่สุดในสมัยรัตนโกสินทร์ 

          สำหรับสาเหตุของวิกฤติมีองค์ประกอบ 3 ด้านซึ่งมีปฏิสัมพันธ์กัน และกระทบกันเป็น "งูกินหาง" ได้แก่ 

          1.การเมือง ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง พรรคการเมือง ระบบการเมือง กระบวนการทางการเมือง และการเมืองภาคประชาชน

          2.ประชาชน เป็นฐานของสังคม และฐานทางการเมือง

          3.ราชการ เป็นกลไกของรัฐที่ดำเนินงานต่างๆ เพื่อพัฒนาประเทศ และบริหารบ้านเมืองให้เดินไปได้ 

          “ประเทศไทยของเรานั้น ทั้ง 3 องค์ประกอบมีปัญหาหมด การเมืองมีปัญหาก็ทำให้ราชการมีปัญหา เมื่อราชการมีปัญหาก็ทำให้ประชาชนมีปัญหา และเมื่อประชาชนมีปัญหา ก็ทำให้การเมืองมีปัญหา หลายคนบอกว่าการเมืองบ้านเราไม่พัฒนา เมื่อการเมืองไม่พัฒนาราชการก็ไม่พัฒนา ส่งผลถึงประชาชนไม่พัฒนา และเมื่อประชาชนไม่พัฒนา การเมืองก็ไม่พัฒนา”

          นายไพบูลย์ กล่าวว่า ทั้งสามองค์ประกอบเป็นวังวนแห่งวิกฤติ และปรากฏเป็นความรุนแรงครั้งใหญ่ที่สุดของกรุงรัตนโกสินทร์ในช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค.ที่ผ่านมา ฉะนั้นประชาชนต้องปรับวงจรนี้ให้ได้ เปลี่ยนวงจรอุบาทว์ให้เป็นวงจรแห่งการพัฒนา ต้องช่วยกันออกแรง  

          “สังคมไทยน่าจะใช้วิกฤติครั้งนี้เป็นโอกาส ต้องไม่ลืมหรือปล่อยผ่านไปง่ายๆ เหมือนในอดีต แต่ต้องระดมพลังกันครั้งใหญ่ ทำเรื่องที่ไม่เคยทำกันมาก่อน และต้องทำให้ได้ ต้องสร้างจินตนาการใหม่และใหญ่ เหมือนกับสหรัฐอเมริกาที่เคยตั้งเป้าจะส่งคนไปดวงจันทร์ แล้วก็ทำได้สำเร็จ” 

          “ถึงเวลาแล้วที่การเมือง ประชาชน และราชการ ต้องปรับวงจรใหม่ ทำให้ทุกองค์ประกอบพัฒนาให้ได้ ระดมพลังกันทำ เริ่มตรงไหนก่อนก็ได้ ส่วนจะพัฒนาแต่ละองค์ประกอบอย่างไร ต้องระดมความคิดเห็นในรายละเอียดกัน และต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม ซึ่งไม่ใช่ของใหม่ เราเคยทำมาแล้วในการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 8-9 และการยกร่างรัฐธรรมนูญปี 2540” อดีตรองนายกรัฐมนตรี ระบุ

6 ภารกิจ 3 กลไกขับเคลื่อน

          นายไพบูลย์ ยังเสนอว่า การเดินหน้าคลี่คลายวิกฤติของประเทศครั้งนี้มี 6 เรื่องที่ต้องทำ คือ 1.เยียวยา 2.สร้างกระบวนการยุติธรรม 3.ค้นหาความจริง 4.ฟื้นฟูกายภาพ ทั้งกิจการ บุคคล และสังคม 5.ปฏิรูป และ 6.บูรณาการแผนปรองดองของรัฐบาลให้สอดรับกับความคิดและแผนงานของภาคประชาชน ไม่ใช่ต่างฝ่ายต่างทำ 

          “เราต้องทำ 4 ข้อแรกให้ได้ก่อนจึงจะไปถึงข้อ 5 คือการปฏิรูป และต้องมีกลไกในการขับเคลื่อนทั้ง 6 เรือง ได้แก่ 1.กลไกติดตามและศึกษา 2.กลไกจัดกระบวนการ เพราะถ้ากระบวนการดีจะเป็นโอกาสตัดไฟแต่ต้นลมได้ เช่น การเจรจาระหว่างรัฐบาลกับ นปช.ถ้ามีกระบวนการที่ดีพอจะแก้ไขปัญหาได้ และ 3.กลไกสนับสนุนชุมชนท้องถิ่นให้อยู่เย็นเป็นสุข” นายไพบูลย์ กล่าว

ต้องแก้“ทุนการเมืองผูกขาด”

          ศ.ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวว่า ต้นตอของปัญหาในประเทศไทยเกิดขึ้นโดยนักการเมือง คนที่ต้องรับผิดชอบคือนักการเมือง รองลงมาคือนักวิชาการ หมายถึงผู้วางระบบกลไกการบริหารทั้งหลาย ประเทศไทยสร้างระบบการบริหารในรัฐธรรมนูญที่ผิดพลาดมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2535 เพราะไปเขียนรัฐธรรมนูญทำให้เกิดระบบเผด็จการโดย “พรรคการเมืองนายทุน” ขึ้นในประเทศไทย 

          “เราไปแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไปเติมให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง ทำให้กลุ่มนายทุนรวมตัวกันเป็นพรรคการเมือง แล้วซื้อเสียงเพื่อให้ได้อำนาจรัฐ ท่ามกลางความอ่อนแอของทุกภาคส่วนในประเทศไทย”

          “เหตุการณ์รุนแรงเมื่อเดือน เม.ย.-พ.ค.2553 คือผลจากระบบดังกล่าว เผด็จการพรรคการเมืองนายทุนจับขั้วกันให้ได้เสียงข้างมากเพื่อให้ได้เป็นรัฐบาล ในขณะที่ระบบการบริหารและระบบสังคมยังไม่พัฒนา ตรงนี้คือต้นเหตุของปัญหาและความรุนแรงในปัจจุบัน” 

          ศ.ดร.อมร กล่าวต่อว่า ปัญหานี้ยังไม่ได้รับการแก้ไข เหตุการณ์จับขั้วและปรับ ครม.เที่ยวล่าสุดคือตัวอย่างที่ดี การคอร์รัปชั่นไม่ได้รับการแก้ไขเลย เป็นแค่การแก่งแย่งระหว่างนายทุนที่มาลงทุนในพรรคการเมือง ที่ผ่านมานักวิชาการทั้งหลายพยายามสร้างกลไกมาควบคุมนายทุนในพรรคการเมือง แต่ไม่ได้แก้ที่สาเหตุใหญ่ 

          “ผมเสนอให้มีรัฐธรรมนูญเพื่อการปฏิรูปการเมือง เพราะการสร้างการเมืองที่มีส่วนร่วมของประชาชนต้องจัดระบบของการมีส่วนร่วมด้วย ไม่ใช่เอาคนไม่มีความรู้มาโหวต ใครได้เสียงมากกว่าก็ได้อำนาจรัฐไป แบบนั้นแก้ไขปัญหาไม่ได้ การสร้างระบบการมีส่วนร่วมเป็นสิ่งสำคัญ เพราะการมีส่วนร่วมเฉยๆ แก้ปัญหาไม่ได้ การจะหยุดวงจรอุบาทว์นี้ต้องสร้างระบบการมีส่วนร่วมที่เหมาะสม แต่ปัญหาคือใครจะเอาระบบนี้มาใช้” ศ.ดร.อมร ตั้งคำถาม 

สร้างจิตสำนึกร่วม-สังคมบูรณาการ

          รศ.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า วิกฤติคือผลผลิตขั้นสุดท้ายของระบบที่เป็นอยู่ โดยสิ่งที่สังคมไทยเป็นอยู่คือทุนสามานย์ครองอำนาจ ถ้าเราต้องการลดวิกฤติเชิงระบบ จะต้องสร้างนวัตกรรมใหม่ขึ้นมาในสังคมเพื่อล้มล้างระบบทุนสามานย์

          รศ.ณรงค์ อธิบายว่า ทุนสามานย์หมายถึงระบบ ไม่ใช่ตัวบุคคล ลักษณะของทุนสามานย์ชอบความไม่เป็นธรรม ไม่โปร่งใส ไม่สมดุล ไม่เป็นประชาธิปไตย การรักษาทุนสามานย์คือการชิงอำนาจรัฐ เอาทุนสามานย์ไปสร้างอำนาจรัฐ แล้วเอาอำนาจรัฐไปรักษาทุนสามานย์อีกที ฉะนั้นถ้าไม่อยากให้เกิดวิกฤติซ้ำอีกต้องเร่งลดความขัดแย้งเชิงระบบ

          “ต้องมาร่วมกันคิดว่าจะทำอย่างไรให้คนมีจิตสำนึกร่วม ต้องแบ่งงานกันทำอย่างเป็นระบบ เพราะในสังคมไทยมีผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ มากมาย เพียงแต่ต้องทำให้เกิดความคิดบูรณาการ แต่สังคมไทยมักมีปัญหาในเรื่องนี้” นักเศรษฐศาสตร์การเมืองชื่อดัง ระบุ

ปลูกฝังเยาวชน-นักวิชาการติดดิน

          ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ จากศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ความขัดแย้งในระดับ “ร้าวลึก” ในปัจจุบัน ลงไปถึงชุมชนหมู่บ้าน การเมืองทำให้คนในหมู่บ้านแตกแยกออกเป็น 2 กลุ่ม นี่คือวิกฤติในเรื่อง “คน” ที่ไม่เคยเจอมาก่อน และได้ขยายวงสู่ผลกระทบทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม 

          “ขณะนี้ในแง่เศรษฐกิจมีความเหลื่อมล้ำอย่างมาก เกษตรกรทั่วประเทศ 6 ล้านครอบครัวเป็นหนี้รวมกันนับล้านล้านบาท เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ และไม่มีโอกาสใช้คืน เกือบ 1 ใน 3 ของครอบครัวในสังคมไทยมีปัญหาแตกแยกหย่าร้าง เป็นปัญหาสังคมที่น่าวิตก คนฐานรากไม่สามารถอยู่ได้อย่างสงบสุข ทั้งคนและคุณภาพชีวิตมันตกต่ำถึงขนาดไม่สามารถหันหน้าเข้าหากันได้อีกแล้ว” 

          ดร.เพิ่มศักดิ์ กล่าวอีกว่า เรื่องของสื่อที่เป็นการสื่อสารทางเดียวก็เป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ชาวบ้านคิดทางเดียว ประกอบกับระบบการศึกษาเรียนรู้ของสังคมทำให้คนเชื่อง่ายเกินไป เมื่อรับสารมาก็ขาดการคิดวิเคราะห์ที่รอบด้าน แต่เลือกข้างในทันที ทำให้ปัญหายิ่งรุนแรง

          “แนวทางแก้ไขต้องมุ่งไปที่คน 3 กลุ่ม คือเด็กและเยาวชน นักศึกษามหาวิทยาลัย และบรรดานักการเมือง ต้องทำให้คนเหล่านี้ได้เรียนรู้และเข้าใจใกล้ชิดกับประชาชนฐานรากอย่างแท้จริง ให้ทุกฝ่ายได้มีส่วนร่วมอย่างจริงจัง มหาวิทยาลัยต้องสร้างนักวิชาการตีนเปล่า เท้าติดดิน คลุกคลีกับชาวบ้านมากขึ้น จะช่วยแก้ปัญหาได้ในระยะยาว”

ดินหน้าสังคมแห่งการเรียนรู้ 

          ศ.วิจารณ์ พานิช นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล และประธานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กอ.) กล่าวเสริมว่า ระบบการศึกษาเป็นส่วนหนึ่งที่ก่อให้เกิดภาวะ “ร้าวลึก” ในสังคมไทย เพราะระบบการศึกษาที่เป็นสมองของสังคมยังทำหน้าที่น้อยเกินไป เนื่องจากส่วนหนึ่งไม่เข้าใจสังคมอย่างแท้จริง ไม่ได้คลุกคลีกับประชาชนระดับฐานราก

          ขณะที่นโยบายต่างๆ ตลอดจนกฎหมาย หรือแม้แต่คำตัดสินของศาล ขาดการนำมาทำความเข้าใจกับประชาชน และขาดการวิเคราะห์ผลว่าจะทำให้เกิดอะไรขึ้นในอนาคต 

          “เราไม่ได้ขับเคลื่อนให้สังคมเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ หรือ learning society คนของเรายังมองโลกแบบไม่ซับซ้อน มองโลกแบบไม่เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง สังคมอุดมศึกษามีหน้าที่ต้องขับเคลื่อนสิ่งเหล่านี้ ซึ่งไม่ใช่การชี้ถูกชี้ผิดทางการเมือง แต่เป็นการสร้างองค์ความรู้ให้กับสังคม ผมคิดว่าบทบาทของมหาวิทยาลัยไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากตอบว่าต้องสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นให้ได้เท่านั้น” ศ.วิจารณ์ กล่าวปิดท้าย

-----------------------------------------------

หมายเหตุ : ภาพจากศาลายา - เริ่มจากคนที่ 4 จากซ้าย ศ.ดร.อมร จันทรสมบูรณ์, รศ.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ, ศ.วิจารณ์ พานิช, นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม และ ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์


Create Date : 09 มิถุนายน 2553
Last Update : 9 มิถุนายน 2553 8:25:28 น. 0 comments
Counter : 644 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

boyberm
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




boyberm
Friends' blogs
[Add boyberm's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.