*** พื้นที่ส่วนตัวของ พันตำรวจเอก ดร. ศิริพล กุศลศิลป์วุฒิ รองผู้บังคับการกองคดีอาญา สำนักงานกฎหมายและคดี นี้ จัดทำขึ้นเพื่อยืนหยัดในหลักการที่ว่า คนเรานั้นจะมีความเป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์ได้ ก็ต่อเมื่อมีเสรีภาพในการแสดงความคิดโดยบริบูรณ์ และความเชื่อที่ว่าคนเราเกิดมาเสมอภาคและเท่าเทียมกัน ไม่มีอำนาจใดจะพรากความเป็นมนุษย์ไปจากเราได้ ไม่ว่่าด้วยวิธีการใด ๆ และอำนาจผู้ใด ***
*** We hold these truths to be self-evident, that all men are created equal, that they are endowed by their Creator with certain unalienable rights, that among these are life, liberty and the pursuit of happiness. That to secure these rights, governments are instituted among men, deriving their just powers from the consent of the governed. That whenever any form of government becomes destructive to these ends, it is the right of the people to alter or to abolish it, and to institute new government, laying its foundation on such principles and organizing its powers in such form, as to them shall seem most likely to effect their safety and happiness. [Adopted in Congress 4 July 1776] ***
Group Blog
 
All Blogs
 
ก.ตร. กับการผดุงระบบคุณธรรม


แนวคิดในการบริหารงานองค์กรให้สำเร็จสำคัญประการหนึ่ง ก็คือ องค์กรนั้น จะต้องให้ความสำคัญกับการบริหารทรัพยากรมนุษย์ (Human Resources) ให้มีกำลังขวัญที่ดีในการปฏิบัติหน้าที่ของแต่ละบุคคลให้ประสบความสำเร็จ ทันเวลา มีประสิทธิภาพ และมีประสิทธิผล ด้วยทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ซึ่งรวมถึงการบริหารงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติด้วย ที่ไม่อาจจะประสบความสำเร็จได้เลย หากองค์กรตำรวจ ละเลยการให้ความสำคัญกับบุคลากรในองค์กรของตนเอง

ตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 ได้กำหนดให้มีคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ หรือ ก.ตร. ขึ้น ตามมาตรา 30 - 43 เพื่อทำหน้าที่ในการรักษาความเที่ยงธรรมในการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจ โดยให้มีอำนาจออก กฎ ก.ตร. กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งและโยกย้ายข้าราชการตำรวจเพื่อผดุงระบบคุณธรรมอันเป็นการส่งเสริมให้ข้าราชการตำรวจที่มีความรู้ความสามารถ และ มีความประพฤติเหมาะสม ตลอดจนมีสมรรถนะในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อการอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนได้เป็นอย่างดี เพื่อตอบแทนเงินเดือนที่ได้รับมาจากภาษีของประชาชน

มาตรา 31 และ 32 ได้กำหนดอำนาจหน้าที่ของ ก.ตร.ไว้อย่างชัดเจนว่า มีอำนาจในการกำหนดนโยบายและมาตรฐานการบริหารงานบุคคลของข้าราชการตำรวจและจัดระบบราชการตำรวจ รวมตลอดทั้งการอบรม และพัฒนาข้าราชการตำรวจ โดยไม่ขัดกับนโยบายของคณะกรรมการตำรวจแห่งชาติ หรือ ก.ต.ช. ที่ได้กำหนดไว้เป็นการทั่วไป

ตั้งแต่ ปี พ.ศ.2521 นับแต่มี ก.ตร. มา จนกระทั่งปี พ.ศ.2547 ซึ่งถือว่า เป็นการปฎิรูประบบงานตำรวจครั้งใหญ่ในเชิงรูปแบบ โดยมีการเปลี่ยนแปลงผู้มีอำนาจบังคับบัญชาจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย มาเป็นนายกรัฐมนตรี การดำเนินการของ ก.ตร. ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการผดุงคุณธรรมในการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจตามระบบคุณธรรม มีเป็นผลเป็นรูปธรรมขึ้น จากการออกกฎ ก.ตร. ว่าด้วย หลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งและโยกย้ายข้าราชการตำรวจระดับ สารวัตร ถึง จเรตำรวจแห่งชาติ และรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2549 แต่กฎเกณฑ์ดังกล่าว ก็ยังไม่สมบูรณ์ครบถ้วน หลายประการ เช่น ไม่มีหลักเกณฑ์การสรรหาและวิธีการ ตลอดจนระยะเวลาเพื่อแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติอย่าง ซึ่งแท้จริงแล้วการคัดเลือกผู้บังคับบัญชาสูงสุดขององค์กรผู้บังคับใช้กฎหมายจะต้องมีมาตรฐานสูงอย่างยิ่ง มีความรู้ความสามารถ วิสัยทัศน์และทัศนคติในการบังคับใช้กฎหมาย และการนำองค์กรให้มีประสิทธิภาพสูงสุด จึงควรกำหนดวิธีการคัดเลือกโดยกระบวนการรับฟังนโยบายของผู้สมัครคัดเลือกและมีกระบวนการรับฟังความเห็นสาธารณะ (Public Hearing) โดยวิธีการโปร่งใส ตรวจสอบได้ และให้สาธารณชนรับฟังและสอบถามปัญหาหรือแนวคิดต่าง ๆ ได้ อันจะเป็นการประกาศพันธะสัญญาเพื่อผูกมัดตนเองในการปฏิบัติหน้าที่อย่างซื่อสัตย์สุจริตและอย่างมีมาตรฐานวิชาชีพสูงสุดต่อสาธารณะ เป็นต้น ซึ่งแตกต่างจากกรณี การแต่งตั้งข้าราชการตำรวจระดับตั้งแต่ ผู้บัญชาการตำรวจ ถึง จเรตำรวจแห่งชาติ และรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่กำหนดอย่างชัดเจนว่า ตาม กฎ ก.ตร.ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งและโยกย้ายข้าราชการตำรวจ ฯ พ.ศ. 2549 ข้อ 33(1) ให้พิจารณาเลื่อนตำแหน่งตั้งแต่ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติขึ้นไป ให้พิจารณาเรียงลำดับอาวุโสเป็นสำคัญ ดังนั้น ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หรือคณะกรรมการคัดเลือกเสนอแนะ ซึ่งมีอำนาจคัดเลือกข้าราชการตำรวจที่จะดำรงตำแหน่งสูงขึ้น เพื่อให้คณะกรรมการ ก.ตร. เห็นชอบ ก็จะต้องปฏิบัติตาม กฎ ก.ตร. ดังกล่าวอย่างเคร่งครัด กล่าวคือ ก็จะต้องเสนอรายชื่อตามหลักอาวุโสก่อนเสมอตาม แต่ถ้าเห็นว่าผู้ที่มีอาวุโสสูงกว่าไม่มีความเหมาะสมในการเลื่อนตำแหน่ง จะต้องมีพยานหลักฐานอย่างชัดเจนว่าไม่เหมาะสมอย่างไร จะกล่าวเพียงลอย ๆ บุคคลอื่นเหมาะสมกว่าไม่ได้ ซึ่งเรื่องนี้ ก็เคยมีคดีตัวอย่างมาแล้ว เช่น คำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขดำที่ อ.212/2546 คดีหมายเลขแดงที่ อ.89/2549 ลงวันที่ 2 พฤษภาคม 2549 ที่สั่งให้เพิกถอนคำสั่งกระทรวงการคลังที่ 226/2544 และคำสั่ง 108/2545 ที่คณะกรรมการคัดเลือกไม่ได้มีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาใด ๆ และใช้เวลาในการพิจารณาเพียงเล็กน้อยกับผู้สมัครดำรงตำแหน่งในระดับสูงขึ้น ประกอบกับการให้เหตุผลลอย ๆ ว่า ทุกคนมีคุณสมบัติเท่าเทียมกัน มีความเหมาะสมเหมือนกัน โดยไม่ได้พิจารณาให้เป็นรูปแบบ ขั้นตอน และวิธีการอันเป็นสาระสำคัญในการคัดเลือกผู้บริหารที่มีความรู้ความสามารถ อันถือว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งอาจจะทำให้ทั้งผู้เสนอชื่อและ ก.ตร. ซึ่งถือว่าเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย มีความรับผิดตาม ป.อาญา มาตรา 157 ได้ นอกจากนี้ ยังจะต้องรับผิดทางแพ่งและทางวินัยด้วย

ส่วนการแต่งตั้งในระดับผู้บัญชาการลงไปถึงระดับสารวัตร จะเป็นไปตาม มาตรา 57 และ กฎ ก.ตร. ดังกล่าวข้างต้น ที่กระจายอำนาจไปยังผู้บัญชาการตำรวจ (ผบช./ ยศพลตำรวจโท) หัวหน้าหน่วยงานระดับ กองบัญชาการให้มีอำนาจพิจารณาและคัดเลือก โดยมี กฎ ก.ตร. ข้อ 33(2) กำหนดว่า จะต้องคัดเลือกตามลำดับอาวุโส โดยหากมีหลายตำแหน่ง ให้แต่งตั้งจากผู้มีอาวุโสสูงสุดไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบห้าของจำนวนตำแหน่งที่ว่าง แต่หากมีตำแหน่งว่างเพียงตำแหน่งเดียวให้พิจารณาความเหมาะสมได้ (ข้อ 33 วรรคสอง) แต่ถ้าหากผู้บัญชาการใช้อำนาจไม่ชอบธรรม ตามพระราชบัญญัติตำรวจ พ.ศ.2547 มาตรา 56 ก็รับรองอำนาจของ ผบ.ตร. ให้แก้ไขหากมีปรากฏว่า การแต่งตั้ง ผบช. ไม่เป็นธรรม หรือมีกรณีไม่ชอบด้วยหลักเกณฑ์หรือวิธีการที่ ก.ตร. กำหนดไว้ตามมาตรา 57 ให้ ผบ.ตร. มีอำนาจสั่งแต่งตั้งข้าราชการตำรวจให้ดำรงตำแหน่งได้ตามควรแก่กรณี

นอกจากเรื่องการยึดระบบอาวุโสแล้ว ศาลปกครอง ยังได้วินิจฉัยว่า การแต่งตั้งโยกย้ายใด หากผู้ได้รับการแต่งตั้งไม่ได้ร้องขอ และไม่มีเหตุผลอันสมควรแล้ว แม้ถูกตามกฎหมาย กล่าวคือ เป็นอำนาจของ ผบช. ที่จะแต่งตั้งได้ แต่อย่างไรก็ตาม อาจจะถือว่าเป็นการใช้ดุลพินิจที่ไม่เหมาะสม ต้องกลับแก้ไขได้เช่นกัน ตัวอย่างเช่น ในกรณี พ.ต.อ.วิโรจน์ พิพิธพจนาการณ์ ที่ถูกโยกย้ายจากกองบัญชาการตำรวจภูธร ภาค ๒ (จังหวัดชลบุรี) ไปอยู่โรงเรียนนายร้อยตำรวจ (จังหวัดนครปฐม) โดยไม่มีเหตุผลรองรับอันสมควร และผู้ร้องทุกข์ไม่ได้สมัครใจหรือไม่ได้ร้องขอ ซึ่งต่อมาศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษา คดีหมายเลขดำที่ ๑๙๔๗/๒๕๕๑ และคดีหมายเลขแดงที่ ๑๐๘๒/๒๕๕๒ ให้ ภ.๒ แต่งตั้งผู้ฟ้องคดีภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด โดยให้ ผบ.ตร. กำกับดูแลให้ ผบช.ภ.๒ ดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษา พร้อมให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน ๓๐,๐๐๐ บาท ภายใน ๓๐ วัน คดีนี้ ตร. ไม่ได้ดำเนินการอุทธรณ์โดยเห็นว่าคำพิพากษาชอบแล้ว ด้วยเหตุนี้ คดีดังกล่าว จึงเป็นคดีบรรทัดฐานที่ ตร. จะต้องยึดถือปฏิบัติ การโยกย้ายที่ไม่เป็นธรรม ไม่มีเหตุผลอธิบายได้ ฯลฯ จึงเป็นเรื่องที่ไม่สามารถกระทำได้อีกต่อไป การอ้างเหตุว่าเหมาะสมลอย ๆ จึงรับไม่ได้อีกต่อไป

ตามที่กล่าวมาแล้ว ดูเหมือนว่า ก.ตร. ได้ออกกฎเกณฑ์ในการแต่งตั้งโยกย้าย เพื่อผดุงระบบคุณธรรม ให้เป็นรูปธรรมขึ้นจริง เช่น การยึดระบบอาวุโสไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 (ซึ่งทุกหน่วยก็ใช้เกณฑ์ขั้นต่ำนี้เสมอ) แต่ก็ยังขาดหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนมากมาย ดังปรากฏในคดีต่าง ๆ ที่มีการฟ้องร้องจำนวนมาก เพราะผู้บังคับบัญชามักจะอาศัยช่องว่างของ กฎ ก.ตร. ดังกล่าว จนกระทั่งมีการฟ้องร้อง และ ศาลได้พิพากษาเปลี่ยนแปลงและอุดช่องว่างของ กฎ ก.ตร. ดังกล่าว แต่ก็ยังได้เพียงพอไม่ โดยเฉพาะ หลักเกณฑ์ในการจัดทำบัญชีอาวุโสไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ซึ่งถือว่าน้อยเกินไป แม้จะมีข้อโต้แย้งว่า หากหน่วยงานใด ใช้หลักอาวุโสอย่างเดียว องค์กรนั้น ก็จะไม่มีลักษณะตื่นตัว ไม่แข่งขันกันทำงาน ทำให้องค์กร มีลักษณะเหงาหงอย ฯลฯ ซึ่งก็อาจจะจริงสำหรับบางองค์กร แต่อาจจะไม่จริงสำหรับองค์กรตำรวจ เพราะ การเปิดโอกาสให้มีการพิจารณาผู้มีความรู้ความสามารถ ถึงร้อยละ 75 ของการแต่งตั้งแต่ละครั้ง ก็คือ การเปิดโอกาสให้มีการวิ่งเต้น ดังนั้น เมื่อเร็ว ๆ นี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ซึ่งได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูประบบงานตำรวจ ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 165/2553 ลง 29 มิถุนายน 2553 โดยมี พลตำรวจเอก วสิษฐ เดชกุญชร เป็นประธาน ได้ส่งข้อเสนอของคณะกรรมการที่เห็นว่าควรเพิ่มจำนวนอัตราของผู้มีอาวุโส จากร้อยละ 25 เป็นร้อยละ 33 เป็นอย่างต่ำ เพื่อให้การแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจเป็นไปด้วยความโปร่งใส สะท้อนหลักคุณธรรม จริยธรรม โดยท่าน พลตำรวจเอก วสิษฐ ฯ ได้มีข้อเสนอ ดังนี้

1. ขอให้เพิ่มสัดส่วนของผู้อาวุโสที่สำรวจว่าได้รับการพิจารณาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่สูงขึ้น โดยระบุว่ากฎของคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจระดับสารวัตรถึงจเรตำรวจแห่งชาติและรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รองผบ.ตร.) พ.ศ. 2549 ข้อ 33 ที่กำหนดว่าจะต้องให้มีการแต่งตั้งเรียงตามลำดับอาวุโสจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของจำนวนตำแหน่งที่ว่างลง แต่ผลการศึกษาของ พล.ต.อ. วสิษฐ เสนอให้เพิ่มสัดส่วนขึ้นอีกเป็นไม่น้อยกว่าร้อยละ 33

2. การแต่งตั้งข้าราชการตำรวจสำหรับบุคคลที่มีคุณสมบัติครบในปีแรกนั้น ต้องการให้มีการจัดทำประวัติและผลงานดีเด่นของผู้ที่จะได้รับการแต่งตั้งหรือเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น โดยประกาศให้ข้าราชการตำรวจในสังกัดได้รับทราบ เพื่อให้ได้รับทราบข้อมูลการแต่งตั้งไม่ใช่ว่ามุบมิบแต่งตั้งและได้รับการแต่งตั้งเร็วกว่าคนอื่น แต่ต้องบอกว่าคนนั้นมีความสามารถอย่างไร และ

3.ในการแต่งตั้งโยกย้ายทุกครั้งต้องมีการทำบัญชีรายชื่อที่เหมาะสมที่จะเลื่อนตำแหน่งให้สูงขึ้นในระดับกองบังคับการ ซึ่งทางพ.ต.อ.วสิษฐ ได้เสนอให้นำบัญชีที่กองบังคับการทำไว้นำมาติดประกาศให้ข้าราชการตำรวจได้รับทราบล่วงหน้าเผื่อจะมีการทักท้วงหรือขอแก้ไข หากมีการแต่งตั้งข้ามอาวุโสจะต้องมีการอธิบายเป็นลายลักษณ์อักษรให้ชัดเจนว่ามีเหตุผลอะไร

เมื่อนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี ให้ควบคุมดูแลการปฏิบัติงานของ ก.ตร. เมื่อได้รับนโยบายดังกล่าวมาจากนายกรัฐมนตรี ก็ได้กล่าวว่าจะนำข้อเสนอดังกล่าวไปเสนอในที่ ประชุม ก.ตร. เพื่อให้ ก.ตร. เห็นชอบภายในเดือนสิงหาคม 2553 นี้ จากนั้น จะได้ประกาศให้ทุกหน่วยในสำนักงานตำรวจแห่งชาติปฏิบัติในแนวทางเดียวกัน

คำถามที่เกิดขึ้นคือ เหตุใด ก.ตร. ซึ่งเป็นหน่วยงานกลางในการบริหารงานบุคคลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมถึง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เอง กลับไม่ทำการปฏิรูปตัวเองก่อนที่จะให้บุคคลภายนอกวงการตำรวจมาทำการปฏิรูปการบริหารงานตำรวจ ถึงเวลาหรือยังที่ ก.ตร. จะต้องหันกลับมาพิจารณาว่า ก.ตร. ได้รับเกียรติอย่างสูงสุดในการปกป้อง และ พิทักษ์คุณธรรม ในการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ และ หาก ก.ตร. ได้ปฏิบัติงานอย่างสมเกียรติ โดย ก.ตร. ผู้ทรงคุณวุฒิ ที่ได้รับการโปรดเกล้าแต่งตั้งฯ และ ควรจะปฏิบัติหน้าที่ในการตรวจสอบและถ่วงดุลย์การใช้อำนาจตามกฎหมายของ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะ เมื่อเห็นว่า กฎเกณฑ์ต่าง ๆ ยังไม่เพียงพอ หรือ มีช่องโหว่ ฯลฯ ก็ควรจะต้องดำเนินการแก้ไขเป็นการเร่งด่วน

ปัญหาที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด ก็คือ กรณี การกำหนดระบบอาวุโสในการแต่งตั้งไว้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 25 นั้น หากพิจารณากฎเกณฑ์ที่เขียนไว้ใน กฎ ก.ตร. 2549 อย่างดีแล้ว จะพบว่า การแต่งตั้งมีอาวุโส ที่กำหนดไว้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 25 นั้นไม่มีความเป็นจริงเอาเสียเลย สามารถหลีกเลี่ยง จากการเขียนกฎเกณฑ์ให้ต้องแต่งตั้งตำรวจเฉพาะรายชื่อที่อยู่ในบัญชีรายชื่อผู้มีความเหมาะสมในการเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น ตามกฎ ก.ตร. ดังกล่าว ได้อย่างง่ายดาย และทำให้ ผู้มีอาวุโสสูง ไม่เข้ามาสู่ในบัญชีผู้มีความเหมาะสม เพราะมีการใช้กลวิธี หลีกเลี่ยงกฎเกณฑ์ดังกล่าว โดยการนำรายชื่อผู้มีอาวุโสสูง ไปอยู่ในบัญชีผู้มีความเหมาะสมในระดับต่ำ แล้วนำรายชื่อผู้มีอาวุโสน้อย ไปอยู่ในบัญชีผู้มีความเหมาะสมในระดับสูงกว่า โดย กฎ ก.ตร. ฯ พ.ศ. 2549 ดังกล่าว ได้เขียนอย่างสลับซับซ้อน เพื่อซ่อนเงื่อนไขและวิธีการบิดผันการใช้อำนาจในการจัดทำบัญชีรายชื่อผู้มีความเหมาะสม ซึ่งอาจจะทำให้ผู้มีอาวุโส ไม่อยู่ในลำดับต้น ๆ แล้วพลอยทำให้ รายชื่อผู้มีอาวุโสสูง ไม่อยู่ในบัญชีที่อยู่ในลำดับที่อาจจะได้รับการพิจารณาแต่งตั้งสูงขึ้นได้ด้วย ตัวอย่าง ข้อกำหนดเกี่ยวกับการจัดทำบัญชีข้อมูลผู้เหมาะสมเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น ซึ่งกำหนดไว้ในลักษณะที่ 3 บทที่ 1 ข้อ 18 – 29 ซึ่งดูเหมือนจะดี มีระบบ เพราะกำหนดให้มีการจัดทำบัญชีตั้งแต่ระดับหน่วยงานที่มีสารวัตรเป็นหัวหน้า จนถึง หน่วยงานที่ผู้บัญชาการเป็นหัวหน้า โดยให้มีการจัดทำบัญชีข้อมูลผู้เหมาะสมเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น ทุกระดับชั้น เสนอขึ้นมาตามลำดับ โดยมีคณะกรรมการต่าง ๆ ในการพิจารณา และ โดยหน่วยงานระดับสูงกว่า ให้คณะกรรมการ นำบัญชีรายชื่อที่เสนอมาจากหน่วยงานระดับรองลงไปมาพิจารณา แล้วสรรหาผู้เหมาะสมที่จะได้รับการพิจารณาเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นให้เหลือจำนวนไม่เกินร้อยละห้าสิบ ในแต่ละระดับตำแหน่ง แต่ไม่น้อยกว่าสองเท่าของจำนวนตำแหน่งว่างในแต่ละหน่วยงาน และ กฎ ก.ตร. ข้อ 32 ก็ได้กำหนดว่า ให้ผู้มีอำนาจแต่งตั้งข้าราชการตำรวจเฉพาะผู้มีรายชื่อในบัญชีข้อมูลผู้เหมาะสมเท่านั้น

พิจารณาจากข้อความใน กฎ ก.ตร. เกี่ยวกับการจัดทำบัญชีข้อมูลผู้เหมาะสมดังกล่าว ก็จะเห็นว่า กฎ ก.ตร. นั้น ไม่ได้ให้ความสำคัญหลักอาวุโส ที่กำหนดไว้ไม่น้อยกว่า ร้อยละ 25 เลยก็ยังว่าได้ เนื่องจากข้อความที่ปรากฏใน กฎ ก.ตร. ข้อ 26 กำหนดว่า การสรรหาบัญชีรายชื่อดังกล่าว จะต้องพิจารณาจากความรู้ความสามารถ ผลการปฏิบัติงาน การบริหารงานและการปกครองบังคับบัญชา ผลการปฏิบัติการปฏิบัติงาน คุณวุฒิ ความประพฤติ ประวัติการรับราชการ และอาวุโส ประกอบกัน จึงแสดงให้เห็นว่า บัญชีผู้มีความเหมาะสมนั้น ให้ถือเอาปัจจัยเรื่องอาวุโส มาเป็นอันดับสุดท้าย ซึ่งถือว่าไม่ให้ความสำคัญ และ ไม่สอดคล้องกับหลักการ ในบทที่ 3 เกี่ยวกับวิธีการคัดเลือกหรือแต่งตั้งของผู้มีอำนาจ ในข้อ 33 (2) ที่กำหนดไว้ให้พิจารณาเรียงลำดับอาวุโส จำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของจำนวนตำแหน่งว่างในแต่ละระดับตำแหน่ง

นอกจากนี้ หลักเกณฑ์ในการจัดทำบัญชี ยังซ่อนวิธีการในการหลีกเลี่ยงหลักอาวุโสได่ง่าย โดยผู้มีอำนาจแต่งตั้ง อาจจะสั่งการด้วยวาจาให้ผู้มีอำนาจจัดทำบัญชีผู้เหมาะสมดังกล่าว ให้จัดทำบัญชีรายชื่อ โดยนำรายชื่อผู้มีอาวุโส ๆ ไว้ในบัญชีลำดับท้ายๆ ซึ่งจะมีผลทำให้ไม่มีรายชื่ออยู่ในจำนวนร้อยละ 50 ของตำแหน่งว่าง และ เมื่อไม่มีรายชื่ออยู่ในตะกร้าบัญชีดังกล่าว ตาม กฎ ก.ตร. ข้อ 32 ก็ห้ามมิให้นำรายชื่อที่ไม่ได้อยู่ในบัญชีรายชื่อผู้เหมาะสม ( แม้จะเป็นผู้มีอาวุโสสูงสุด อันดับหนึ่งของภาคหรือ บช.นั้น ก็ตาม ) มาพิจารณาแต่งตั้งให้ได้รับตำแหน่งสูงขึ้นเลย เป็นต้น

ด้วยเหตุนี้ จึงเห็นว่า ก.ตร. ซึ่งเป็นองค์กรที่ผดุงความยุติธรรมสำหรับการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ จะต้องมีบทบาทในเชิงรุกในการแก้ไขปัญหาช่องโหว่ หรือ การหลีกเลี่ยงกฎหมายของผู้ใช้อำนาจ ไม่ว่าจะเป็น ผบ.ตร. หรือ ผบช. ก็ตาม โดยอาจจะยกเลิกการจัดจัดทำบัญชีผู้เหมาะสมดังกล่าว แต่ให้จัดทำบัญชีเรียงลำดับอาวุโสอย่างแท้จริง และมีการอธิบายคุณสมบัติ ความเหมาะสมต่อตำแหน่ง หรือไม่เหมาะสมต่อตำแหน่งอย่างชัดเจน นอกจากนี้ ควรจะต้องมีการประกาศบัญชีรายชื่ออาวุโสดังกล่าวให้เป็นที่รับทราบทั่วไป สำหรับข้าราชการตำรวจทุกระดับด้วย เป็นต้น ในเรื่องการควบคุมการใช้อำนาจของสำนักงานตำรวจแห่งชาตินี้ ถือเป็นภาระหน้าที่สำคัญของ ก.ตร. ทุกท่าน แม้ ก.ตร. โดยตำแหน่งบางท่าน จะมีตำแหน่ง รอง ผบ.ตร. ก็ตาม แต่ก็ควรจะต้องทราบถึงบทบาทในการควบคุม และ การกลั่นการใช้อำนาจของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในฐานะองค์กร ผู้บังคับใช้กฎหมาย กับ บทบาทของ ก.ตร. ที่แยกแยะจากกัน จะเกรงว่าจะเป็นการก้าวก่าย แทรกแซงการใช้อำนาจของ ผบ.ตร. หรือผู้บังคับบัญชาหาได้ไม่ เพราะไม่เพียงเหตุผลที่ ก.ตร. เป็นองค์กรที่ผดุงความยุติธรรมเท่านั้น ก.ตร. และ อนุ ก.ตร. ต่าง ๆ ยังได้รับค่าตอบแทนจากการดำรงตำแหน่งดังกล่าว จำนวนมาก โดยแต่ละปี โดยประธาน ก.ตร. ได้รับค่าตอบแทน เป็นรายเดือน ๆ ละ 10,000 บาท กรรมการ ก.ตร. อื่น ๆ ได้รับค่าตอบแทนเดือนละ 8,000 บาท ส่วนอนุ ก.ตร. ก็ได้รับค่าตอบแทน เป็นรายเดือน เช่นกัน เดือนละ 5,000 บาท สำหรับประธาน และ 4,000 บาท สำหรับกรรมการ และ ยังได้รับค่าตอบแทนในการประชุมแต่ละครั้งอีก รวมกันแล้ว จะต้องใช้งบประมาณแผ่นดิน ที่มาจากภาษีอากรของประชาชน ประมาณเดือนละเกือบ 700,000 บาท (เจ็ดแสนบาท) หรือ ประมาณปีละ 8,000,000 บาท (แปดล้านบาท) เลยทีเดียว

น่าจะถึงเวลาแล้วสำหรับ ก.ตร. และ อนุ ก.ตร. ที่จะ แสดงบทบาทในการเป็นผู้พิทักษ์คุณธรรม และ สร้างระบบคุณธรรมในการบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติด้วยตนเอง ในลักษณะเชิงรุก โดยไม่ต้องรอให้สังคม หรือ บุคคลภายนอกมากดดัน หรือ สั่งให้มีการเปลี่ยนแปลงหรือผ่าตัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติอีกต่อไป ก.ตร. ซึ่งรวมถึง อนุ ก.ตร. จะต้องทำงานให้สมกับที่ได้รับการโปรดเกล้าแต่งตั้ง และการได้รับค่าตอบแทนอันมาจากภาษีของประชาชนปีละประมาณ 8,000,000 บาท หาก ก.ตร. ได้สร้างกฎเกณฑ์ ติดตามประเมินผล และ แก้ไขกฎเกณฑ์ให้ทันสมัยอยู่ตลอดเวลาแล้ว ย่อมจะทำให้ระบบคุณธรรมที่คาดหวังเพื่อสร้างนายตำรวจที่มีอาวุโส เก่ง ดี และมีความสามารถ ให้เจริญก้าวหน้าขึ้นได้ตามลำดับ ย่อมจะทำให้นายตำรวจเหล่ามีขวัญกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ในการอำนวยความยุติธรรม และ การให้บริการแก่ประชาชนเป็นอย่างดีด้วย





Create Date : 04 สิงหาคม 2553
Last Update : 4 สิงหาคม 2553 12:37:38 น. 0 comments
Counter : 1221 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะ VIP Friend
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

POL_US
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 82 คน [?]




คลิ๊ก เพื่อ Update blog พ.ต.อ.ดร. ศิริพล กุศลศิลป์วุฒิ ได้ที่นี่
https://www.jurisprudence.bloggang.com






รู้จักผู้เขียน : About Me.

"เสรีภาพดุจดังอากาศ แม้มองไม่เห็น แต่ก็ขาดไม่ได้ "










University of Illinois

22 Nobel Prize & 19 Pulitzer Prize & More than 80 National Academy of Sciences (NAS) members







***คำขวัญ : พ่อแม่หวังพึ่งพาเจ้า

ครูเล่าหวังเจ้าสร้างชื่อ

ชาติหวังกำลังฝีมือ

เจ้าคือความหวังทั้งมวล



*** ความสุข จะเป็นจริงได้ เมื่อมีการแบ่งปัน :

Happiness is only real when shared!














ANTI-COUP FOREVER: THE END CANNOT JUSTIFY THE MEANS!






Online Users


Locations of visitors to this page
New Comments
Friends' blogs
[Add POL_US's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.