Iceicy Blog Dhamma หน้าแรก หลักธรรม ปรัชญา ท่องเที่ยวธรรม เก็บตกธรรม บทสวดมนต์ บทเพลงธรรม เว็บบอร์ด iceicy ไอที ไดอารี่
Link to us:
Group Blog
 
All blogs
 

สติ จากหลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ วัดสะแก

จากหลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ วัดสะแก

"สติ" นั้นเป็นสิ่งสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งที่จะทำให้เราได้หยุดคิดพิจารณา
 ก่อนที่จะทำ จะพูด และแม้แต่จะคิดสิ่งใดสิ่งหนึ่งว่าสิ่งนั้นดีหรือชั่ว
มีคุณประโยชน์หรือเสียหาย ควรกระทำหรือควรงดเว้นอย่างไร

เมื่อยั้งคิดได้ก็จะช่วยให้พิจารณาทุกสิ่งทุกอย่างละเอียดประณีต
และสามารถกลั่นกรองเอาสิ่งที่ไม่เป็นสาระไม่เป็นประโยชน์ออกให้หมด
คงเหลือแต่เนื้อที่ถูกต้องและเป็นธรรมซึ่งเป็นของควรคิด ควรพูด ควรทำแท้ ๆ




 

Create Date : 29 มกราคม 2556    
Last Update : 29 มกราคม 2556 11:59:38 น.
Counter : 1388 Pageviews.  

ปลาขอฝน








 





ปลาขอฝน


ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้า ประทับอยู่ที่วัดเชตวัน เมืองสาวัตถี แคว้นโกศล ทรงปรารภการบันดาลให้ฝนตกทั่วเมือง เรื่องมีอยู่ว่า ...

ในสมัยนั้น ทั่วทั้งแคว้นโกศลเกิดภัยแล้งฝนไม่ตกหลายเดือน ข้าวกล้าเหี่ยวแห้ง สระน้ำแห้งขอดเหลือแต่โคลนตม ปลาตายเกลื่อนกลาด ฝูงนก ฝูงกาบินว่อน ชาวเมืองสาวัตถีและฝูงสัตว์เกิดเดือดร้อนกันไปทั่ว แม้น้ำในสระวัดเชตวันก็เหือดแห้งเช่นกัน ปลากระเสือกระสนหนีตายเข้าไปในเปลือกตม

รุ่งเช้า พระพุทธองค์ ได้ทรงตรวจดูสรรพสัตว์ ทรงเห็นความเดือดร้อนนั้นแล้ว ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อสรรพสัตว์ หลังจากเสด็จกลับมาจากบิณฑบาตแล้ว ได้ประทับยืนอยู่ที่บันไดสระในวัดเชตวัน ตรัสเรียกพระอานนท์ให้นำผ้าอาบน้ำมาถวายพระองค์ ด้วยมีพระประสงค์จะสรงน้ำในสระ แม้พระอานนท์จะทูลว่าน้ำในสระมีแต่ตม ไม่มีน้ำมิใช้หรือ ก็ทรงตรัสว่า " อานนท์ ธรรมดากำลังของพระพุทธเจ้าใหญ่หลวงนัก เธอจงนำเอาผ้าอาบน้ำมาเถิด " พระเถระได้นำผ้ามาถวายแล้ว พระพุทธองค์ทรงนุ่งผ้าด้วยชายข้างหนึ่ง ทรงคลุมพระสรีระด้วยชายข้างหนึ่ง ประทับยืนที่บันไดตั้งพระทัยว่า เราจักสรงน้ำในสระ

ทันใดนั้นเอง แท่นศิลาอาสน์ของท้าวสักกะก็แสดงอาการร้อน ท้าวเธอทราบเรื่องนั้นแล้วจึงบัญชาให้วลาหกเทวราชเจ้าแห่งฝน บันดาลฝนให้ตกทั่วแคว้นโกศลโดยไม่ขาดสายครู่เดียวเท่านั้น น้ำก็เต็มสระ ท้วมถึงบันไดสระ พระพุทธองค์ทรงลงสรงน้ำในสระแล้ว ทรงครองผ้าสองชั้นสีแดง คาดรัดประคต ทรงครองสุคตจีวร เฉวียงพระอังสะ เสด็จประทับในพระคันธกุฎี

ในเวลาเย็น พวกภิกษุประชุมกันในธรรมสภายกเรื่องพระพุทธองค์ทรงบันดาลให้ฝนตก ด้วยพระกรุณาในชาวเมืองและสรรพสัตว์ขึ้นมาสนทนากัน พระพุทธองค์จึงได้ตรัสอดีตนิทานมาสาธกดังนี้ว่า...

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ที่ห้วยแห่งหนึ่ง มีเถาวัลย์รกรุงรัง พระโพธิสัตว์เกิดเป็นปลาช่อนตัวหนึ่ง อาศัยอยู่ในห้วยนั้น สมัยนั้น เกิดภัยแล้งฝนไม่ตกเช่นเดียวกัน ฝูงปลาต่างดิ้นรนเอาชีวิตรอดด้วยเปลือกตม ฝูงนกการุมจิกกินหมู่ปลา ปลาช่อนนั้นเห็นความพินาศของหมู่ญาติ จึงทำสัจกิริยาให้ฝนตกด้วยการแหวกออกจากเปลือกตม มองดูอากาศแล้วบันลือเสียงแก่เทวราชปัชชุนนะว่า
" หมู่ปลาเดือดร้อนมาก ข้าพเจ้ารักษาศีลไม่เคยกินปลาด้วยกันตลอดชีวิต ด้วยความสัตย์นี้ขอท่านจงให้ฝนตกลงมาเถิด "

แล้วกล่าวคาถาว่า
" ปัชชุนนเทพ ท่านจงคำรณคำรามให้ฝนตกมา
ทำลายขุมทรัพย์ของฝูงกา ทำฝูงกาให้ได้รับความเศร้าโศก
และช่วยปลดเปลื้องข้าพเจ้าและหมู่ญาติ ให้พ้นจากความเศร้าโศกเถิด "

ฝนห่าใหญ่จึงตกลงมาช่วยชีวิตสัตว์ให้รอดพ้นจากความตายได้



นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า :
คุณของศีลสามารถช่วยเหลือชีวิตของผู้อื่นให้รอดพ้นจากความตายได้

ที่มา:
//iceicy.freeforums.org/topic-t1853.html




Create Date : 19 เมษายน 2552    
Last Update : 19 เมษายน 2552 1:46:40 น.
Counter : 1536 Pageviews.  

ความสุขที่เลือนหายไป








 





นิทานธรรมะ ความสุขที่เลือนหายไป


ศิษย์ “อาจารย์ครับทำไมทุกวันนี้ดูเหมือนความสุขของเราจะมีน้อยลงเรื่อยๆ ขณะที่ เมื่อก่อนดูเหมือนอะไรมันดูไม่วุ่นวายความสุขก็ดูจะหาไม่ยาก ไม่เหมือนทุกวันนี้เลยครับ”

อาจารย์ “ก็เพราะ เราไม่รู้จักความสุขเราจึงหาความสุขไม่พบน่ะซิ”

ศิษย์ “ทำไมจะไม่รู้จักละครับ ทุกคนก็ดิ้นรนแสวงหาความสุขด้วยกันทั้งนั้น”

อาจารย์ “ สิ่งที่เราแสวงหากัน มันเป็นความสุขที่ต้องแสวงหามาและเลือนหายไปอย่างรวดเร็ว ขณะที่เราต้องลงทุนสร้างความทุกข์จากความอยากขึ้นมาก่อน แล้วเราจึงจะได้ความสุขมาตอบสนอง

เราต้องลงแรงกายแรงใจ ทำงานหาเงินมาเพื่อใช้แสวงหาความสุข แต่เรากลับได้ความสุขมาครอบครองได้ไม่นาน แล้วความสุขก็กลับเลือนหายไป สิ่งต่างๆที่เราได้มาอาจจะยังอยู่แต่ความสุขนั้นกลับจืดจางลงไปอย่างรวดเร็ว เหมือนๆจะได้มาแต่ไม่เคยได้มาจริงสักที จิตใจที่คอยแต่จะหิว จะอยาก จึงดิ้นรนตลอดเวลา

อีกประการหนึ่งก็คือ ความสุขของเราไม่เคยอยู่ในปัจจุบัน มันอยู่ในเงื่อนไข อยู่ในความหวัง อยู่ในอนาคต ถ้าเราทำอย่างนั้น อย่างนี้แล้วเราจะมีความสุข”

ศิษย์ “อาจารย์ช่วยอธิบาย สักน่อยครับ”

อาจารย์ “ลองคิดย้อนดูตอนเด็กๆ เราคิดว่าเราเรียนหนังสือจบ ถ้ามีงานทำ เราจะมีความสุข สักพักถ้าเรามีแฟน เราจะมีความสุข ต่อมาถ้าเรามีลูก เราจะมีความสุข ต่อมาก็มีต้องมีบ้าน มีรถ มีเงินเก็บพอสมควรเราจะมีความสุข พอแก่มากๆมีโรคประจำตัวรุมเร้าทุกข์ทรมาน ก็คิดว่า ถ้าเราตายไวๆแล้วเราคงจะมีความสุข ความสุขไม่เคยอยู่ในปัจจุบันเลย มันมีแต่ข้อแม้ตลอดเวลา เราวิ่งหาความสุข จนเหน็ดเหนื่อยตลอดชีวิต”

ศิษย์ “แหมอาจารย์พูด จนผมหมดแรงเลย แล้วตัวความสุขมันเป็นอย่างไร เผื่อผมจะหาความสุขได้ง่ายขึ้นสักหน่อย”

อาจารย์ “จงจำไว้สุขและทุกข์คือสิ่งเดียวกัน มันเป็นปัจจัยซึ่งกันและกัน เสมือนเหรียญที่ย่อมมีสองด้าน เสมือนต้นไม้และผลไม้ เราต้องลงทุนปลูกต้นไม้แห่งความทุกข์ อันได้แก่ความอยากมีอยากเป็น ไม่อยากมีไม่อยากเป็น ลงในใจของเราก่อน เราทำกรรมต่างๆเปรียบเสมือนให้ปุ๋ยและน้ำ เฝ้ารออย่างทรมานใจ แล้วต้นไม้จึงจะมีดอกและผลออกมา

ความสุขที่เกิดขึ้นเพียงชั่วคราวแต่เราต้องทุกข์ทรมานอยู่เนิ่นนาน ครั้นเราได้กินผลไม้จนหมดแล้ว เราก็ต้องบำรุงต้นความทุกข์อีก ต้องให้รากเจาะชอนไชหัวใจอันบอบช้ำของเราจนอิ่มหนำ แล้วก็จะได้ผลแห่งความสุขมาสักผลสองผลกันได้ มันช่างไม่คุ้มกับการลงทุนเสียจริงหัวใจเราจึงไม่เคยอิ่มไม่เคยพอ

ปกติทุกข์นั้นเกิดตลอดเวลา ทั้งทางกายและทางใจ ทางกายก็ได้แต่ความปวดเมื่อย โรคภัย ความแก่ชราของร่างกาย

ทางใจเราก็ต้องการอารมณ์ดีๆเข้ามา เราจึงเที่ยวหาการเปลี่ยนแปลงเพื่อมาดับทุกข์ เราต้องการคนมาพูดด้วย มาเอาใจ แต่ก็ไม่มีใครจะดีกับเราตลอดเวลา ถ้าเรากินอาหารที่เราชอบที่สุด แต่ให้เรากินทุกวัน เราก็จะเบื่อจนกินไม่ลง เราดูหนังเรื่อง ฟังเพลงเพลงเดียวทุกวันก็ทนไม่ได้ ที่เราอยู่กันได้เพราะมีการเปลี่ยนแปลงพอจะทำใจให้เพลิดเพลินไปแค่นั้นเอง”

ศิษย์ “อาจารย์พูดแล้วทำให้ผมรู้สึกว่าดูๆไปแล้วทุกข์จะเป็นความจริงที่เกิดขึ้นตลอดเวลา ส่วนสุขก็เป็นแค่การแก้อาการของความทุกข์เป็นคราวๆไปแค่นั้นเอง
ถ้าอย่างนั้นถ้าเราอยากมีความสุขจริงๆเราต้องทำอย่างไรครับ”

อาจารย์ “เราต้องรู้จักความสุขแบบที่ไม่ต้องอาศัยสิ่งอื่นหรือผู้อื่นบ้าง เช่นความสุขจากการไม่ทำชั่วต่อตนเองและผู้อื่น ความสุขที่ได้จากการพักผ่อนนอนหลับเต็มที่ ความสุขจาการใช้ชีวิตเหมาะสมกับฐานะและรายได้ ความสุขจากการทำทานรักษาศีล ความสุขจากการนั่งสมาธิทำใจให้สงบ เพื่อให้ใจได้พักผ่อนบ้าง

ที่สำคัญคือความสุขจากการมีสติในชีวิตประจำวัน การมีสติจะทำให้ชีวิตกลับมาสู่ปัจจุบัน ไม่ฝากความหวังไว้กับเงื่อนไขและความอยาก เมื่อมีสติตื่นขึ้นมา จิตใจก็จะเป็นกุศลจะมีความสุขเนื่องจากการไม่เผลอปล่อยใจให้ต้องเป็นทุกข์กับความคิดที่เกิดขึ้นมา การรับรู้ด้วยความรู้สึกที่เป็นกลาง จิตใจก็จะมีความสุขได้เองโดยไม่ต้องทำอะไรเลย

จิตโดยแท้จริงก็มีความสุขอยู่แล้วตามธรรมชาติ ยิ่งเมื่อมีปัญญาเห็นความจริงว่ากายและใจนี้เราควบคุมไม่ได้จริง เรามีสติรู้ที่กายและใจอยู่เสมอ สติจะตั้งมั่นกลายเป็นผู้รู้ผู้ดูอยู่เฉยๆ สิ่งทั้งหลายเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป โดยเราไม่เป็นทุกข์ด้วย นี่แหละคือปัญญา บางครั้งที่มีความอยากเกิดขึ้น ถ้าเรามีสติ เราก็จะเห็นความทุกข์เกิดขึ้นมาตั้งแต่เริ่มอยากทั้งร้อนทั้งแน่นในอก เราก็จะไม่พยายามสร้างความอยากเพราะเห็นทุกข์อย่างรวดเร็ว เป็นการคุ้มครองตัวจากตัณหา ราคะ ที่จะเข้ามาทางตา หู ทางความคิด

เมื่อมีปัญญาถอนความยึดมั่นในตัวเราเพราะเห็นว่ากายและใจนี่แหละเป็นความทุกข์ เราก็ไม่ต้องคอยแสวงหาความสุขให้กายและใจอีกต่อไป จิตใจก็มีความสุขเต็มขึ้นมาได้เอง นี่แหละเป็นความสุขที่เกิดในใจของผู้ที่รู้จักการเจริญสติในชีวิตประจำวัน เป็นความสุขที่เป็นเป้าหมายของศาสนาพุทธเลยทีเดียว”

ศิษย์ “ฟังแล้วค่อยมีกำลังใจหน่อย เพราะความสุขอย่างหลังนี้ดูจะไม่ไกลตัวของเราเลย ความสุขที่แท้จริงก็มีอยู่แล้วในใจของเรานี่เอง เพียงแค่เราเรารู้จักมัน ทำในสิ่งที่เป็นกุศล และคอยมีสติในปัจจุบันอยู่เสมอๆขอบพระคุณอาจารย์มากครับ”



ที่มา :variety.teenee.com




Create Date : 10 มีนาคม 2552    
Last Update : 10 มีนาคม 2552 1:19:40 น.
Counter : 1938 Pageviews.  

แบ่งกันไม่ลงตัว








 





แบ่งกันไม่ลงตัว


ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับอยู่วัดเชตวัน เมืองสาวัตถีทรงปรารภพระอุปนันทศากยบุตรผู้โลภมาก
ได้ตรัสอดีตนิทานมาสาธก ว่า...

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว พระโพธิ์สัตว์เกิดเป็นรุกขเทวดาประจำอยู่ต้นไม้ที่ฝั่งแม่น้ำแห่งหนึ่ง
ณ ที่ไม่ไกลจากนั้น มีสุนัขจิ้งจอกสองผัวเมียอาศัยอยู่ อยู่มาวันหนึ่งสุนัขจิ้งจอกตัวเมียพูดกับสามีว่า
"พี่ ฉันแพ้ท้องอยากกินเนื้อสด ๆ ที่ยังมีเลือดอยู่ ที่ช่วยหามาหาให้หน่อยสิ" สุนัขสามีรับคำว่า
"น้องไม่ต้องเป็นห่วงเดี๋ยวพี่จะจัดการหามาให้" จึงเดินไปตามริมฝั่งแม่น้ำนั้น

ขณะนั้นเองมีนาก ๒ ตัวหากินอยู่ฝั่งแม่น้ำนั้น ตัวหนึ่ง หากินอยู่ในน้ำลึก อีกตัวหนึ่งหากินตามฝั่ง
วันนั้น นากตัวหากินในน้ำลึกได้ปลาตะเพียนแดงตัวใหญ่ตัวหนึ่ง แต่ไม่สามารถนำปลาขึ้นฝั่งได้
เพราะปลาตัวใหญ่เกินไป จึงเรียกนากอีกตัวมาช่วยกันลากปลาขึ้นฝั่ง พอลากปลาขึ้นฝั่งได้แล้ว
นากทั้งสองตัวทะเลาะกันตกลงแบ่งปลากันไม่ได้ พอดีสุนัขจิ้งจอกตัวนั้นเดินไปพบเข้า
นากทั้งสองตัวจึงวิงวอนให้สุนัขจิ้งจอกช่วยแบ่งปลาให้หน่อย สุนัขจิ้งจอกจึงบอกว่า
"สบายมากสหายทั้งสอง เราเคยเป็นผู้พิพากษามาก่อน" ว่าแล้วก็แบ่งปลาออกเป็น ๓ ส่วน
พร้อมกับพูดว่า "ท่อนหางเป็นของนากผู้หากินตามฝั่ง ท่อนหัวเป็นของนากผู้หากินทางน้ำลึกนะ
ส่วนท่อนกลางเป็นของเราผู้พิพากษา" กล่าวจบก็คาบปลาท่อนกลางเดินจากไป

นากทั้งสองเห็นเช่นนั้น และก็ได้แต่นั่งซึมเซาพร้อมกับบ่นว่า "ถ้าพวกเราไม่ทะเลาะกัน
ท่อนกลางก็จะเป็นอาหารของเรากินได้อีกหลายวัน เพราะทะเลาะกันท่อนกลางจึงตกเป็นอาหารของสุนัขจิ้งจอกไป"

ฝ่ายสุนัขจิ้งจอกก็คาบปลาท่อนกลางไปให้เมียได้กินตามความต้องการ เมียเห็นก็ดีใจพร้อมกับถามว่า
"พี่ไปได้มาอย่างไร" สุนัขจิ้งจอกจึงตอบด้วยความเย่อหยิ่งว่า "น้องรัก คนทั้งหลายผ่ายผอมเพราะทะเลาะกัน
สูญเสียทรัพย์ก็เพราะทะเลาะกัน นาก ๒ ตัวก็เพราะทะเลาะกัน จึงทำให้ไม่ได้กินปลาท่อน
กลางน้องรักเจ้าจงกินปลาสดเถิด" รุกขเทวดาผู้เห็นเหตุการณ์นั่นแล้วได้แต่ให้เสียงสาธุการ

พระพุทธองค์เมื่อตรัสอดีตนิทานมาสาธกแล้ว จึงตรัสพระคาถาว่า
"ในมนุษย์ ขอพิพาทกันเกิดขึ้น ณ ที่ใด พวกเขาจะวิ่งหาผู้พิพากษาเพราะผู้พิพากษา
เป็นผู้แนะนำพวกเขา ฝ่ายพวกเขาก็จะเสียทรัพย์ ณ ที่นั้น เหมือนนาก ๒ ตัวนั้นเอง แต่คลังหลวงเจริญขึ้น"



นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า :
ญาติพี่น้องเพราะทะเลากันเรื่องมรดก จึงเป็นเหตุให้เสียทรัพย์เพื่อจ้างทนายให้เป็นผู้แบ่งปันให้ ดังนั้น จึงไม่ควรทะเลาะกัน เพราะจะนำความสูญเสียทรัพย์มาให้

ที่มา :หนังสือนิทานชาดก เล่มที่ ๒ โดย พระมหาสุนทร สุนฺทรธฺมโม (เสนาซุย) : เว็บไซด์ธรรมะไทย dhammathai




Create Date : 23 กุมภาพันธ์ 2552    
Last Update : 23 กุมภาพันธ์ 2552 23:51:02 น.
Counter : 1087 Pageviews.  

บุญที่ให้ทานแก่ปลา








 





บุญที่ให้ทานแก่ปลา


ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับอยู่วัดเชตวันเมืองสาวัตถี ทรงปรารภพ่อค้าโกงชาวเมืองสาวัตถีคนหนึ่ง
ได้ตรัสอดีตนิทานมาสาธก ว่า...

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว พระโพธิสัตว์เกิดเป็นลูกชายของพ่อค้าตระกูลหนึ่งในเมืองพาราณสี มีน้องชายอยู่คนหนึ่ง
เมื่อบิดาเสียชีวิตแล้วสองพี่น้องได้ปรึกษาหารือกันเรื่องบริหารกิจการค้าขาย ตกลงกันเดินทางไปสะสางบัญชีการค้า
ที่หมู่บ้านแห่งหนึ่ง ได้เงินพันหนึ่งแล้วก็เดินทางกลับมานั่งกินข้าวห่อรอเรือข้ามฟากที่ริมฝั่งแม่น้ำคงคา

หลังจากกินข้าวเสร็จแล้ว พระโพธิสัตว์ได้ให้อาหารที่เหลือแก่ปลาในแม่น้ำแล้วอุทิศส่วนบุญกุศล
ให้สรรพสัตว์รวมถึงเทวดาที่แม่น้ำนั้นด้วย เทวดาพออนุโมทนารับส่วนบุญเท่านั้น ก็เป็นผู้บริบูรณ์ด้วย
ลาภยศอันเป็นทิพย์ เมื่อให้อาหารปลาหมดแล้วเขาก็ลาดผ้าบนหาดทรายล้มตัวลงนอนหลับไป
ส่วนน้องชายของเขามีนิสัยเป็นหัวขโมยมาตั้งแต่เด็ก นั่งคิดวางแผนฉกเอาทรัพย์จึงห่อก้อนหิน
ขึ้นห่อหนึ่งขนาดเท่ากับถุงห่อเงินนั้น

เมื่อเรือข้ามฟากมาถึง เขาก็ปลุกพี่ชายแล้วถือถุงสองถุงขึ้นเรือไปก่อน เมื่อเรือไปถึงกลางแม่น้ำ
เขาก็ทำให้เรือโครงเครงทำทีเป็นเสียหลักโยนถุงหนึ่งลงน้ำไปพร้อมกับพูดขึ้นว่า
" พี่ ถุงห่อเงินตกน้ำไปแล้ว เราจะทำอย่างไรละทีนี้ "
" เมื่อมันตกน้ำไปแล้วก็ช่างมันเถอะ อย่าคิดถึงมันเลยหาเอาใหม่ได้มากกว่านี้ " พี่ชายตอบ

เทวดาประจำแม่น้ำคงคาเห็นเหตุการณ์นั้นตลอดจึงบันดาลให้ปลาปากกว้างตัวหนึ่งมากลืนกินถุงเงินนั้นไป
ฝ่ายน้องชายเมื่อกลับถึงบ้านแล้วก็รีบแก้ถุงเงินอีกถุงหนึ่งออกดูด้วยความกระหยิ่มใจ
แต่พอแก้ห่อดูกลับเป็นถุงห่อก้อนหินจึงได้แต่นั่งคร่ำครวญเสียใจอยู่คนเดียวที่หลงทิ้งถุงห่อเงินลงน้ำไป
ฝ่ายพี่ชายก็กลับไปบ้านของตนโดยไม่คิดอะไร

หลายวันต่อมา พวกชาวประมงไปหาปลาจับได้ปลาปากกว้างตัวนั้น จึงเที่ยวเดินขายปลาอยู่ว่า
" ปลาสดๆ จ้า ตัวนี้ขายตัวละ ๑,๗๐๐ บาท สนไหมครับ "
ชาวบ้านพากันหัวเราะเยาะว่า " ปลาอะไรจะแพงขนาดนั้นละ "
จึงไม่มีใครซื้อไป พวกเขาเดินขายไปจนถึงประตูร้านบ้านของพระโพธิสัตว์ได้ร้องขายปลาอยู่หน้าร้านนั้น

พระโพธิสัตว์เดินออกมาดูปลา สนใจปลาปากกว้างตัวนั้นจึงถามราคาว่า
" ปลาตัวนี้ราคาเท่าไหร่จ้ะ "
" ผมขายให้ ๒๘ บาทละกันครับ " ชาวประมงตอบ

เขาจึงซื้อปลาตัวนั้นไปมอบให้ภรรยาปรุงอาหาร พอภรรยาผ่าท้องปลาเท่านั้นก็พบถุงเงินจึงมอบให้เขา
เขาเปิดดูเห็นตราประทับห่อของตนก็จำได้ จึงนั่งคิดแปลกใจอยู่คนเดียวว่า
" แปลกจัง ชาวประมงร้องขายปลาให้คนอื่น ๑,๗๐๐ บาท แต่ขายให้เราเพียง ๒๘ บาท เราได้เงินคืนมาเพราะอะไรหนอ "

ขณะนั้น เทวดาได้ปรากฏร่างยืนอยู่ในอากาศพูดว่า
" เราเป็นเทวดาประจำแม่น้ำคงคา ท่านให้อาหารปลาวันนั้นแล้วอุทิศส่วนบุญแก่เรา
เราจึงขอมอบทรัพย์แก่ท่านคืน ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะแผนการณ์ของน้องชายท่านเอง ชื่อว่าความเจริญย่อมไม่เกิดแก่คนผู้มีจิตคิดร้ายผู้อื่น "

แล้วได้กล่าวคาถาว่า
" ผู้ใดทำกรรมชั่ว ล่อลวงเอาทรัพย์สมบัติของพี่น้องและของพ่อแม่
ผู้นั้นจัดว่าเป็นผู้มีจิตชั่วร้าย ย่อมไม่มีความเจริญ แม้เทวดาก็ไม่นับถือเขา "

กล่าวคาถาจบก็หายร่างไป



นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า :
ผลบุญกุศลช่วยให้ผู้มีจิตไม่ประทุษร้ายได้รับของคืน แม้เทวดาก็สรรเสริญยกย่อง

ที่มา :ที่มา : หนังสือนิทานชาดก เล่มที่ ๒ โดย พระมหาสุนทร สุนฺทรธฺมโม (เสนาซุย) : เว็บไซด์ธรรมะไทย dhammathai





Create Date : 02 กุมภาพันธ์ 2552    
Last Update : 2 กุมภาพันธ์ 2552 1:22:30 น.
Counter : 1145 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  

lcelcy
Location :
ชลบุรี Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




มิถุนายน เดือนดี๊ดี " จุดกำเนิด iceicy's blog Dhamma"
ครบรอบ ๗ ปี แล้วค่ะ"

คนมาจากไหน?
เริ่มจาก เกิด แก่ เจ็บ และก็ตาย
คนก็หายไป !!...แต่ความดีไม่เคยหายไปด้วย..
ทุกคนจำวันเกิดตัวเองได้ไหม... ก็คงจำได้กันหมดอะน่ะ
เคยคิดจะทำอะไรดีดี....
ให้กับตัวเองและคนอื่น..ในวันครบรอบวันเกิดของตัวเองไหมค่ะ?

ตั้งแต่เดือนมิถุนายน ปีพ.ศ. ๒๕๔๙ (๗ ปีได้ผ่านมาแล้ว)
ฉันได้ทำสิ่งที่ชอบ และชอบในสิ่งที่ฉันได้ทำ
สิ่งนั้น คือ " บล๊อกเกี่ยวกับหลักธรรมข้อคิดต่างๆ "
เริ่มจากทำไม่เป็น ลองผิดลองถูก ทำจนสำเร็จ
ทั้งนี้ ขอขอบพระคุณ " กำลังใจ " คนรอบข้าง
และทุกท่านที่เข้ามาเยี่ยม iceicy's blog Dhamma น่ะค่ะ
(ซึ้งน่ะซึ้งน่ะเนี่ย!!!!)
<

วัตถุประสงค์ iceicy blog Dhamma
1. เพื่อเผยแพร่และสนับสนุนส่งเสริมพระพุทธศาสนาให้อยู่คู่กับประเทศไทย
2. เพื่อนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ประโยชน์ในทางพระพุทธศาสนา
3. เพื่อแบ่งปันความรู้ทางพระพุทธศาสนา และแลกเปลี่ยนข่าวสารทั่วไป
4. สรรเสริญบุคคลที่ควรสรรเสริญ ยกย่องบุคคลที่ควรยกย่อง

Google



Link to us:
ท่านสามารถนำ code ของ banner นี้
ไปติดที่เว็บของท่านได้ตามสะดวกน่ะค่ะ
ขอขอบคุณและขออนุโมทนามา ณ ที่นี้ด้วยน่ะค่ะ

Iceicy blog dhamma



New Comments
Friends' blogs
[Add lcelcy's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.