Movie Review: Please Give ความลักลั่นของชนชั้นกลาง
Please Give สามดาว ความลักลั่นของชนชั้นกลาง โดย ฟ้าดิน
บทความนี้ได้รับการเผยแพร่ครั้งแรกในนิตยสาร Starpics ปักษ์แรก พฤษภาคม 2554 ผู้เขียนขอขอบคุณกองบก.นิตยสาร Starpics สำหรับพื้นที่ในการเผยแพร่บทความนี้
 ปฏิเสธไม่ได้ว่า คำว่า ชนชั้นกลาง นั้นกลายเป็นคำที่ถูกพูดถึงอย่างมากในสภาวะสังคมและสถานการณ์การต่อสู้ทางการเมืองในขณะนี้ ด้วยความที่ชนชั้นนี้เป็นชนชั้นที่ เสียงดัง ที่สุด มีพลังในการขับเคลื่อนสังคมหรืออุดมการณ์ใดอุดมการณ์หนึ่งได้มากที่สุด แต่ถึงกระนั้นก็ถูกมองว่า เป็นกลุ่มที่รื่นเริงไปวันๆ คิดถึงแต่ตัวเองมากที่สุดและห่วงใยสังคมน้อยที่สุด จึงไม่น่าแปลกใจที่สุดท้ายแล้ว ชนชั้นกลางจึงเป็นกลุ่มบุคคลที่ถูกโจมตีจากกลุ่มอื่นๆ มากที่สุด จนหลายคนอดบ่นออกมาไม่ได้ว่า อะไรอะไรก็กู และสุดท้ายแล้ว ชนชั้นนี้มักจะถูกผู้เขียนนิยายหรือนักสร้างหนังจับมาเสียดสีล้อเลียนอยู่เสมอทั้งในระดับหยิกแกมหยอกจนถึงระดับกัดเลือดสาด ดังจะเห็นได้จากภาพยนตร์ของวู้ดดี้ อัลเลนหรือท็อดด์ โซลอนซ์ เป็นต้น เช่นเดียวกับภาพยนตร์เรื่อง Please Give ที่กำลังจะกล่าวถึงต่อไปนี้ ก็เป็นภาพยนตร์อีกเรื่องหนึ่งซึ่งสามารถสะท้อนถึงแง่มุมและบุคลิกของชนชั้นกลางได้เป็นอย่างดี เหตุการณ์กิดขึ้นในเมืองแมนฮัตตัน นิวยอร์ค โดยเป็นเรื่องราวของเคท (แคทเธอรีน คีเนอร์) กับอเล็กซ์ (โอลิเวอร์ แพล็ตต์) คู่สามีภรรยาผู้เปิดร้านเฟอร์นิเจอร์แนวย้อนยุคในราคาแพงโดยพวกเขาหาสินค้าเข้าร้านจากการไปรับซื้อต่อจากลูกหลานที่เจ้าของบ้านเพิ่งตายด้วยราคาแสนถูก พวกเขามีความคิดที่จะขยายอพาร์ทเมนต์ด้วยการทุบผนังแล้วยุบรวมกับห้องข้างๆ ซึ่งความฝันของพวกเขาจะเป็นจริงได้ก็ต่อเมื่อ แอนดรา (แอนน์ กิลเบิร์ต) หญิงแก่เจ้าของห้องข้างๆ พวกเขาวัย 91 ปีตายเสียก่อน แอนดรามีหลานสาวสองคนซึ่งบุคลิกต่างกันคนละขั้วคอยดูแลอยู่ โดยหลานสาวคนโตอย่างแมรี่ (อแมนด้า พีท) มีนิสัยขวางโลก และใจร้อน ส่วนหลานสาวคนเล็กอย่างรีเบคก้า (รีเบคก้า ฮอลล์) นั้นมีนิสัยใจเย็น ขี้อาย และเข้าถึงง่ายมากกว่า และแล้วสองครอบครัวนี้ก็หันมาเชื่อมความสัมพันธ์กันด้วยเหตุผลเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน จากนั้นความวุ่นวายที่คาดไม่ถึงก็เริ่มก่อตัวขึ้นอย่างไม่สิ้นสุด Please Give เป็นผลงานการกำกับของนิโคล โฮโลฟเซเนอร์ผู้กำกับ-เขียนบทหญิงชาวอเมริกันซึ่งโด่งดังมาจากการทำหนังอิสระในยุค 1990-2000 โดยในยุคนั้นมีผู้กำกับหนังอิสระเพศหญิงซึ่งโด่งดังขึ้นมาพร้อมกันมากมาย อาทิเช่น ลิซ่า โชโลเดนโก้ (ผกก.The Kids Are Alright, High Art), แมร์รี่ แฮร์รอน (ผกก.American Psycho), แนนซี่ ซาโวก้า (ผกก.Dogfight!), คิมเบอร์รี่ เพียร์ซ (ผกก.Boys Dont Cry) เป็นต้น อันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมภาพยนตร์อเมริกันซึ่งยุคนั้นเป็นยุคที่หนังอิสระโด่งดังถึงขีดสุด ด้วยปัจจัยทั้งจากการผลักดันของเทศกาลหนังซันแดนซ์และสตูดิโออิสระ ซึ่งเปิดโอกาสให้ศิลปินมีโอกาสทำหนังโดยไม่จำกัดไอเดีย ทุนสร้าง เส้นสาย เพศและวัย น่าเสียดายที่หนทางสู่ดวงดาวของผู้กำกับหญิงกลุ่มนี้กลับจบลงแบบเดียวกับชะตากรรมของชะตากรรมของสตูดิโอหนังอิสระและหนังอิสระโดยรวม นั่นคือ จบลงอย่างซบเซา ทำให้ผู้กำกับหญิงกลุ่มนี้มักจะลงเอยด้วยการกำกับซีรีย์โทรทัศน์ กว่าจะมีหนังให้ดูสักเรื่องก็ต้องลุ้นกันจนปัสสาวะเหนียวกันเลยทีเดียว
ในบรรดาผู้กำกับกลุ่มนี้ คนที่ได้รับการยกย่องและเป็นที่จดจำสูงสุด อีกทั้งยังมีผลงานจวบจนถึงทุกวันนี้ ได้แก่ ลิซ่า โชโลเดนโก้ และนิโคล โฮโลฟเซเนอร์ ซึ่งหนังของทั้งสองคนนี้มีความเป็น auteur สูง โดยจะสังเกตได้ว่าประเด็นที่โชโลเดนโก้มักจะใส่ลงไปในหนังของเธอแทบทุกเรื่อง ได้แก่ เลสเบี้ยน (ซึ่งตัวจริงของเธอก็เป็นเลสเบี้ยนด้วย) และแวดวงศิลปิน ส่วนประเด็นที่เรามักจะพบในหนังของโฮโลฟเซเนอร์ที่ผ่านมา อย่าง Lovely & Amazing, Walking and Talking หรือ Friends with Money นั้น พูดถึงหญิงสาวที่อาศัยอยู่ในสังคมอเมริกันอันซับซ้อนแบบขำๆ ไม่ได้สุดขั้วเสียทีเดียว และถึงแม้จะออกไปในเชิงจิกกัด แต่น้ำเสียงของการถ่ายทอดก็เต็มไปด้วยความเข้าใจ บวกกับการที่หนังของเธอมักจะมีบทสนทนาคมคายและมุขจิกกัดให้ได้ขำกันตลอดทั้งเรื่อง นั่นทำให้เวลาดูหนังของเธอแล้ว ผู้เขียนอดคิดถึงหนังของวู้ดดี้ อัลเลนไม่ได้
 หนังมีเส้นเรื่องที่ค่อนข้างเบาบางจนยากที่จะเล่าเรื่องย่อให้เห็นภาพชัดเจนได้ ซึ่งไม่ใช่ความผิดของหนัง แต่เป็นเพราะตัวหนังเลือกที่จะขับเคลื่อนไปด้วยตัวละครมากกว่า หนังมีลักษณะคล้ายซีรีย์นั่นคือ ในแต่ละฉากมีลักษณะจบในตอน เลือกที่จะเล่าแบบผ่านๆ แทนที่จะขยี้ประเด็นนั้นอย่างลึกซึ้ง (ซึ่งไม่น่าแปลกใจที่ทางผู้สร้างซีรีย์มักจะทาบทามเธอให้ไปกำกับซีรีย์บางตอนอยู่เรื่อยๆ) แต่ถึงกระนั้นแต่ละฉากก็มีอารมณ์ขันร้ายกาจเข้าขั้นสุดยอด ซึ่งเชื่อได้ว่าผู้ชมหนังเรื่องนี้คงไม่มีใครลืมฉากบนโต๊ะอาหารในงานวันเกิดของแอนดราได้อย่างแน่นอน สิ่งที่น่าสนใจในหนังนี้ก็คือ ตัวละครชนชั้นกลางในหนังของเธอไม่ได้ถูกนำเสนอใน stereotype แบบเวอร์ทะลุมิติเหมือนซีรีย์ Sex and the City, ฟีลกู้ดหลบหนีโลกแห่งความเป็นจริงแบบ รถไฟฟ้ามาหานะเธอ, บีบคั้นให้เป็นดราม่าแบบจัดๆ เหมือนละครหลังข่าวของไทยหรือมองโลกในแง่ร้ายแบบหนังของทอดด์ โซลอนด์ ตรงกันข้าม ตัวละครในหนังของเธอถูกถ่ายทอดออกมาเป็นธรรมชาติ ในรูปแบบเหมือนกำลังยืนอยู่บนเส้นด้ายระหว่างตัวละครที่กระทำสิ่งเลวร้ายจนผู้ชมพร้อมจะเกลียด แต่ด้วยเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังการกระทำและการที่ผู้กำกับสามารถถ่ายทอดตัวละครได้แบบมีเลือดเนื้อ ทำให้ผู้ชมพร้อมที่จะเอนเอียงหันกลับมาชอบตัวละครที่เราเคยเกลียดได้อย่างน่าพิศวง ตัวละครที่มีความน่าสนใจที่สุดในหนังเรื่องนี้ ได้แก่ เคท (แสดงโดย แคทเธอรีน คีเนอร์ นักแสดงคู่บุญของโฮลอฟเซเนอร์ ซึ่งเธอไม่เคยดูดีในหนังเรื่องไหนเท่ากับเวลาที่เธออยู่ในหนังของโฮลอฟเซเนอร์เลย) ในมุมหนึ่งนั้น เธออยู่ในสถานภาพทางสังคมที่ได้เปรียบคนกลุ่มอื่น อีกทั้งยังใช้กลยุทธต่างๆ เพื่อหาผลประโยชน์เข้าตัวให้ได้มากที่สุด เช่น เคทและอเล็กซ์ซื้อเฟอร์นิเจอร์จากครอบครัวคนตายในราคาถูก (ฉากที่ทำให้ผู้ชมอดขำไม่ได้ คือ พวกเขากล้าที่จะบอกลูกค้าตรงๆ โดยไม่รู้สึกว่านั้นเป็นเรื่องผิด) จนธุรกิจของพวกเขาไปได้ดีและมั่นคง เหตุเพราะเฟอร์นิเจอร์ในยุค 50 ซึ่งเป็นสินค้าหลักของร้านนั้น เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึง โลกทางรสนิยม ของชนชั้นกลางได้เป็นอย่างดี นั่นคือเป็นสินค้าที่มีความพิเศษไม่ซ้ำแบบใคร แสดงให้เห็นถึงความเหนือกว่าทางรสนิยม แต่ก็ไม่ได้พิเศษเลิศหรูมากเกินจนเงินซื้อไม่ได้ พวกเขาสร้างสัมพันธ์ผูกมิตรโดยเสนอที่จะจัดงานวันเกิดให้กับคุณยาย แต่ในอีกใจหนึ่งก็แอบหวังให้เธอตายเร็วๆ ยิ่งเธอเห็นรีเบคก้าดูแลยายของเธอเป็นอย่างดีก็ยิ่งเหมือนเป็นตราบาปที่ทำให้เธอรู้สึกผิดกับการกระทำของตัวเองอยู่เสมอ ด้วยเหตุนี้เธอจึงพยายามไถ่บาปด้วยการให้เงินกับคนไร้บ้าน เอาอาหารที่เธอกินไม่หมดให้กับคนจรจัดข้างถนน รวมไปถึงสมัครไปเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือคนพิการ ซึ่งน่าขำที่ว่าสุดท้ายแล้วกิจกรรมไถ่บาปทั้งหมดของเธอที่เราเห็นในเรื่องนั้นกลับลงเอยด้วยความพิพักพิพ่วง คนที่เธอคิดว่าเป็นคนยากจนจนเธอต้องเอาอาหารไปให้นั้นที่จริงกลับเป็นชนชั้นกลางเหมือนเธอ เงินที่เธอยื่นให้คนจรจัดกลับสร้างความขัดแย้งระหว่างเธอกับลูกสาว (ซาราห์ สตีล) แถมกิจกรรมอาสาสมัครช่วยคนพิการของเธอกลับลงเอยด้วยความล้มเหลว
 ตามประสาคนชอบคิดเพ้อเจ้อ พฤติกรรมของเธอนั้นชวนให้ผมนึกถึงพฤติกรรมของชนชั้นกลางมากมาย ซึ่งเวลาเจอคนในพื้นที่อื่นประสบความเดือดร้อน เช่น น้ำท่วม พวกเขาก็ทำการระดมทุน ช่วยกันบริจาคผู้เดือดร้อน หรือแม้กระทั่งคิดถึงพฤติกรรมของบริษัทบางแห่งที่ประกาศว่า จะช่วยเหลือผู้เดือดร้อนผ่านจำนวนสินค้าที่พวกเขาขายได้ (สรุปคือ จะบริจาคก็ขอยอดขายเพิ่มสักหน่อย ไม่ยอมบริจาคแบบฟรีๆ หรอก) แต่หากจะให้แก้ระบบสังคมที่ไม่เป็นธรรมซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของตัวเองนั้น อาทิเช่น ปล่อยให้น้ำที่ท่วมขังที่ต่างจังหวัดไหลมาท่วมกทม.ตามที่มันควรจะเป็นซะบ้าง นั้น ไม่มีวันเสียหรอก...
ซึ่งใช่ว่าความลักลั่นดังกล่าวจะพบได้แต่ในตัวละครเคทอย่างเดียว เราจะเห็นว่านอกจากรีเบคก้าที่พอจะมีนิสัยเอาใจเขามาใส่ใจเราบ้าง ตัวละครอื่นนั้นในหัวไม่มีอะไรนอกจากเรื่องของตัวเอง แฟนเก่าฉันจะเป็นอย่างไร ทำไมไม่มีใครสนใจฉันเลย ประหนึ่งว่าตัวเองกำลังอยู่ในจุดศูนย์กลางของจักรวาล นอกจากนั้นแล้วตัวละครทั้งหมดล้วนแต่พยายามรักษามาด ตกแต่งสร้างภาพให้ตนเองเป็นคนดีไม่แพ้กัน ทั้งที่เนื้อในของแต่ละคนล้วนเปราะบางและเต็มไปด้วยข้อบกพร่อง แต่ถึงกระนั้นก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า สิ่งที่พวกเขาทำนั้นก็เป็นสิ่งที่คนธรรมดาทั่วไปทำ จนเราอาจจะรู้สึกคุ้นๆ ว่า ตัวละครนี้เหมือนคนที่เรารู้จักบางคน ซึ่งสิ่งนี้ก็เหมือนกับเป็นกระจกที่สะท้อนกลับมายังผู้ชมว่า ถ้าเป็นเรา เรายังจะทำตามแบบเขาไหม นอกจากนั้นแล้ว ตัวหนังยังใส่ประเด็นแบบที่เราจะสามารถพบได้ในหนังของโฮลอฟเซเนอร์เรื่องเก่าๆ ซึ่งก็คือ การเรียนรู้ชีวิตของตัวละครในรูปแบบต่างๆ ซึ่งมีทั้งวัยรุ่นอย่างแอบบี้ที่พยายามค้นหาการยอมรับให้กับตัวเอง แอนดราที่รู้อยู่แก่ใจว่านี่คือช่วงชีวิตสุดท้ายของเธอแล้ว อเล็กซ์กับการพยายามก้าวผ่านพ้นวิกฤตวัยกลางคน แมรี่กับการพยายามปล่อยวางเรื่องความรัก รีเบคก้ากับการพยายามเปิดหัวใจให้กับใครสักคน รวมไปถึงเคทกับการพยายามไถ่ถอนบาปที่ติดค้างอยู่ในใจ ซึ่งแน่นอนว่าผู้สร้างไม่ได้ใส่บทเรียนแบบทื่อๆ ให้ตัวละครแต่เป็นการเรียนรู้ผ่านเส้นทางขรุขระ แถมยังไม่แน่ว่าสิ่งที่พวกเขาได้เรียนรู้และค้นพบนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องจริงหรือ แต่สุดท้ายตัวละครทั้งหมดก็เลือกที่จะก้าวเดินต่อไป ดั่งคนไม่สมบูรณ์แบบที่พยายามใช้ชีวิตในโลกที่โหดร้าย พร้อมพกพามุมมองที่ว่า ความลักลั่นในชีวิตที่พวกเขาได้พบนั้นก็เป็นแค่สิ่งขวางหูขวางตาที่ไม่ยากหากต้องการจะก้าวข้ามไป กำกับ/เขียนบท นิโคล โฮลอฟเซเนอร์ อำนวยการสร้าง แอนโธนี่ เบิร์คแมน แสดง แคทเธอรีน คีเนอร์, อแมนด้า พีท, โอลิเวอร์ แพลตต์, รีเบคก้า ฮอลล์,แอนน์ กิลเบิร์ต, ซาราห์ สตีล ความยาว 90 นาที เรต - R
Create Date : 08 กรกฎาคม 2554 |
|
12 comments |
Last Update : 8 กรกฎาคม 2554 2:08:18 น. |
Counter : 15371 Pageviews. |
|
 |
|