ฉันเป็นดั่งนกไร้ขา บินไปบินมาไร้จุดหมาย โอกาสลงดินนั้นไซร้ ต่อเมื่อความตายมาเยือน
Group Blog
 
<<
เมษายน 2553
 
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
252627282930 
 
1 เมษายน 2553
 
All Blogs
 

บันทึกการเดินทางที่ชื่อ "น้ำต้มผักก็ว่าหวาน" - สร้างบ้านดินและปลูกผักที่บ้านโจน จันใดร่วมกับทรงกลด บางยี่ขันและชาวคณะ

บันทึกการเดินทางที่ชื่อ น้ำต้มผักก็ว่าหวาน
การเดินทางไปสร้างบ้านดินและปลูกผักที่บ้านคุณโจน จันใด อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่
ร่วมกับคุณทรงกลด บางยี่ขันและชาวคณะ

ฉบับสมบูรณ์ (update ตอน 2 แล้ว)

ขอขอบคุณ คุณปรัชญา ประมูล เอื้อเฟื้อภาพประกอบ

*****************************************



Welcome to Pun Pun


ผมเคยได้ยินชื่อคุณโจ-โจน จันใดมานานแล้ว
คุณโจน เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างบ้านดิน ผู้ก่อตั้งศูนย์เรียนรู้เพื่อการพึ่งตนเองและศูนย์เก็บเมล็ดพันธุ์ ‘พันพรรณ’ และเป็นปราชญ์ผู้มีแนวคิดในเรื่องการใช้ชีวิตในรูปแบบเรียบง่ายและใกล้ชิดธรรมชาติ
คุณโจนเคยให้สัมภาษณ์หลายครั้ง ทั้งในรายการโทรทัศน์ ในนิตยสาร a day, open ทุกวันนี้มีคนที่สนใจในวิถีชีวิตเขาขึ้นไปพูดคุยกับเขามากมาย อีกทั้งมีหลายหน่้วยงานจัดทริปเพื่อขึ้นไปฟังคุณโจนบรรยายโดยเฉพาะ

เมื่อปลายปีที่แล้ว คุณก้อง-ทรงกลด บางยี่ขัน บก. a day ได้ประกาศรับสมัครผู้ร่วมทริปที่ชื่อ "น้ำต้มผักก็ว่าหวาน" ขึ้น เพื่อไปศึกษาวิถีชีวิตของคุณโจน จันใดที่ศูนย์เรียนรู้เพื่อการพึ่งตนเองและศูนย์เก็บเมล็ดพันธุ์ ‘พันพรรณ’ อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ตามรายละเอียดนี้
//www.lonelytrees.net/?p=1781

ดูจากชื่อผู้จัดแล้ว ทริปนี้จึงมีชื่อเรียกขำๆ อีกชื่อนึงว่า ทริปโจ-ก้อง รวมกันเฉพาะกิจ

ผมซึ่งเป็นคนหนึ่ง ที่จองกฐินเข้าร่วมทริปคุณทรงกลดมาตลอด อีกทั้งสนใจในความคิดของคุณโจนมานาน จึงใช้เวลาไม่นาน ในการตัดสินใจสมัครขอเข้าร่วมในทริปนี้ แม้ว่าทริปนี้จะเลือกวันจัดได้แบบไม่แคร์สื่อ นั่นคือ วันที่ 12-14 กพ. 2553 ซึ่งเป็นทั้งวันตรุษจีนและวาเลนไทน์ แต่นั่นก็เป็นปัจจัยที่ไม่สะเทือนต่อผมเลย เพราะผมไม่มีทั้งเชื้อสายจีน (พิจารณาจากหน้าตาผมก็น่าจะพอทราบ) อีกทั้งยังเป็นคนโสด (อันนี้พิจารณาจากหน้าตาผมแล้ว บางคนอาจจะไม่เชื่อ...หรือเปล่า?) จึงไม่ขัดข้องกับกำหนดการแบบนี้

ความจริงแล้ว สถานที่ที่เรากำลังจะไป นั่นคือ บ้านคุณโจน อ.แม่แตง เชียงใหม่ อยู่ห่างจากบ้านผมไม่กี่กิโล นั่งรถไปประมาณ 30-40 นาทีก็ถึง แต่ผมก็ไม่เคยไปเลยสักครั้ง (ใกล้เกลือกินด่างสุดๆ) ครั้งนี้ก็ถือเป็นโอกาสดี เพราะถ้าหากประทับใจ อยากมาอีกก็จะได้ไม่ลำบากในการมามากนัก

ชาวกทม.นัดรวมพลกันตอนเย็นของวันที่ 11 กพ. ที่หัวลำโพง ส่วนชาวเชียงใหม่นัดรวมพลกันในเช้าวันเสาร์ที่ 12 กพ. ที่สถานีรถไฟเชียงใหม่ สะดวกสบายกว่า เสียแต่ไม่มีโอกาสได้ร่วมพูดคุยกับชาวคณะบนรถไฟเท่านั้นเอง
หาอะไรกินรองท้องเสร็จแล้ว ชาวคณะก็ได้จัดการเหมารถแดงเพื่อเดินทางไปที่ศูนย์พันพรรณ ซึ่งใช้เวลาเดินทางประมาณ 30-40 นาที (แต่เดินทางจริงนานกว่านั้น เพราะหลงทางเล็กน้อย)



ทางเดินเข้าไปพันพรรณ


จากการสำรวจสภาพโดยรวมถือว่า เป็นการมาอยู่กับธรรมชาติ ไม่ลำบากแต่ก็ไม่สบายนัก บรรยากาศรอบตัวคึกคัก มีทั้งคนไทย ชาวต่างชาติ ซึ่งคุณโจนบอกว่า ชาวไทยคุณโจนยินดีให้มาศึกษาฟรี บริจาคแล้วแต่จิตศรัทธา แต่ชาวต่างชาติต้องเสียเงิน แต่ช่วงหลังเนื่องจากมีคนมาเยี่ยมชมที่นี่มากขึ้น จนทำให้ผักที่ปลูกกินกันเองในศูนย์ไม่พอ จนต้องไปซื้อผักเพิ่มเติมจากชาวบ้านที่อยู่รอบๆ อีกทั้งบางกลุ่มมีผู้มาเยี่ยมชมมากแต่กลับไม่บริจาคให้กับที่นี่ จนทางศูนย์ต้องควักเนื้อออกเงินเอง ทำให้คุณโจนกำลังจะมีมาตรการเก็บเงินคนไทยในเร็วๆ นี้ (ซึ่งผมเห็นด้วย เพราะถือเป็นการสแกนคนให้เหลือแต่ผู้สนใจจริงๆ ไปในตัว)

เก็บข้าวของเสร็จ ก็ได้เวลาทำงาน...ซะที่ไหน โบราณเขาว่า กองทัพต้องเดินด้วยท้อง ก่อนทำงานต้องขอกินข้าวก่อน
อาหารที่นี่เป็นอาหารมังสวิรัติ ไม่มีเนื้อ แต่มีไข่ เนื่องจากผักและวัตถุดิบของที่นี่ สด กรอบ หวาน และปลอดสารพิษ ทำให้ขนาดคนที่หลีกเลี่ยงอาหารมังสวิรัติมาทั้งชีวิตอย่างผม ยังสามารถเพลิดเพลินไปกับรสชาติมังสาหารได้ ซึ่งแม้จะไม่ใช่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านอาหาร และถูกประณามว่าเป็นพวกลิ้นจระเข้มาตลอด แต่ผมก็รู้สึกถึงความแตกต่าง ระหว่างผักสดของที่นี่กับผักเหี่ยวๆ ตามซูเปอร์มาเก็ตว่า รสชาติมันต่างกันจริงๆ
งานนี้ ใครที่เคยถูกสาวทักว่า ไม่ชอบกินผักทำไมไม่บอก ลองมาที่นี่ดู แล้วจะรู้ว่า ผักที่นี่ เมพขิงๆ ขนาดผมที่ไม่ชอบกินผักยังรู้สึกอร่อยและอยากกินอีกเรื่อยๆ เลย (แม้ว่าตอนกลับจากทริป ผมจะฟาดหมูกระทะไปสองมื้อซ้อนก็ตาม)

กินเสร็จแล้ว ก็มานั่งล้อมวง แนะนำตัวเองว่าเป็นลูกเต้าเหล่าใครกันบ้าง ชื่ออะไร ทำงานที่ไหน ทำไมถึงอยากมาทริปนี้ ซึ่งมีบางส่วนที่ผมคุ้นหน้า เพราะเคยร่วมทางกีันในทริปก่อนๆ แต่ก็มีบางคนที่เพิ่งเคยเจอกันครั้งแรกซึ่งแน่นอนว่าการจำสมาชิกทริปทั้งหมด 40 กว่าคนด้วยการแนะนำตัวครั้งเดียว เป็นสิ่งที่ยากไม่ใช่เล่น (ซึ่งทุกวันนี้ ผมขอสารภาพว่า เพิ่งจำชื่อของเพื่อนร่วมทริปบางคนได้ ก็ด้วย facebook นี่เอง ขอขอบคุณผู้ก่อตั้ง Social Network ชนิดนี้เป็นอย่างยิ่ง)



โฉมหน้าผู้ก่อการ พี่โจ-ก้อง


แต่จากการฟังการแนะนำตัว ทำให้พอรู้สึกได้ว่า แต่ละคนล้วนมีธาตุเดียวกัน และน่าจะคุยกันรู้เรื่องถูกคอ
เสร็จแล้ว กิจกรรมแรกของเรา คือ ศึกษาการทำอาหาร เครื่องใช้ส่วนตัวจากวัสดุธรรมชาติด้วยตนเอง ซึ่งมีทั้งซุ้มทำแชมพู สบู่ น้ำยาล้างจาน โยเกิร์ต (เอาหัวโยเกิร์ตมาหมักกะนมสด นึ่งไว้แล้วทิ้งค้างคืน) น้ำสลัด เก็บกระเจี๊ยบมาทำแยม (โดยการกวนกระเจี๊ยบกับน้ำตาลทรายแดง เคี่ยวจนข้น เปนน้ำเหนียวๆ หมุนเวียนกันไป) ซึ่งวัสดุส่วนใหญ่ก็หาได้จากในศูนย์ อีกทั้งมีวิธีทำเขียนอยู่ ไม่แน่ทำไปทำมาอาจมีหลายคนติดใจ ลองกลับเอาไปทำที่บ้านดูก็เป็นได้
เวียนตามซุ้มครบหมดแล้ว ก็มานั่งจิบกาแฟ ชิมน้ำผลไม้ปั่นให้พอหายเหนื่อย (สรุปคือ พักมากกว่าทำงาน)
มีชาวคณะบางส่วนปลีกตัวไปเก็บผัก รดน้ำต้นไม้ แต่เนื่องจากมีเสียงลือเสียงเสียงเล่าอ้างว่า อ่างเก็บน้ำซึ่งอยู่แถวนี้ สวย เหมาะกับการไปยืนฝั่งตะวันตก เก็บภาพ Before Sunset ที่นั่น พวกเราจึงไม่รอช้า รีบเดินไปที่อ่างเก็บน้ำแห่งนั้นให้ทันก่อนพระอาทิตย์ตกทันที



ทางเดินไปอ่างเก็บน้ำ


ระหว่างทางแอบสังเกตว่ามีร้านขายโค้ก ขายก๋วยเตี๋ยวหมูน้ำตกด้วย แอบคิดในใจว่า ถ้าเอาตัวไม่รอดจริงๆ ค่อยมาหาที่พึ่งพิงแหล่งสุดท้ายที่นี่ก็ได้ (แต่หวังว่าคงไม่เกิดเหตุการณ์เช่นนั้นขึ้น)
ถามชาวบ้านแถวนั้นว่าไกลไหม พี่เขาบอกว่า อยู่ใกล้นิดเดียว เดินไประยะไกลพอสมควร ก็ยังไม่ถึงสักที เลยนึกว่ามาผิดทาง เลยถามลุงที่ขี่มอเตอร์ไซค์ผ่านมา ลุงแกเลยชี้ไปที่ยอดเนินเขาซึ่งอยู่ลิบๆ ว่า อยู่ตรงนั้น อือ แถวบ้านผมเขาไม่เรียกว่าใกล้นิดเดียวนะึครับพี่
ในที่สุดก็มาถึงซะที พอมาถึง ก็อดซาบซึ้งไปกับความสวยงามของธรรมชาติไม่ได้ นี่แหละหนา บางทีความสุขของคนเรา บางครั้งก็เป็นสิ่งง่ายๆ เช่นนี้แล



กลับไม่ได้ แต่ไปถึง



ตะวันชิงพลบ


ตกเย็น กินข้าว และล้อมวงเพื่อนั่งฟังคุณโจนเล่าถึงความคิดและชีวิตที่ผ่านมา
คุณโจนเป็นคนเล่าเรื่องดี ลำดับความคิดเก่ง คำพูดเรียบนิ่งแต่มีพลังและชวนให้ขนลุกมากกว่าอ่านจากตัวหนังสือหลายเท่า
ชีวิตที่ผ่านมาของคุณโจนมีหลายสิ่งที่น่าสนใจมาก เนื่องจากคุณทรงกลดได้ถ่ายทอดไว้ดีมาก ผมจึงขออนุญาตนำมาถ่ายทอดต่อในที่นี้
ที่มา //www.lonelytrees.net/?p=1071
"พี่โจมาสนใจงานเก็บเมล็ดพันธุ์ได้ยังไงครับ
ตอนแรกผมก็เป็นชาวไร่ชาวนาธรรมดา เข้าไปทำงานในกรุงเทพฯ 7 ปี เป็นยามบ้าง เสิร์ฟอาหารบ้าง เป็นพนักงานโรงแรมบ้าง ปูเตียง ทำความสะอาดห้อง ค่าแรงขั้นต่ำวันละร้อยบาท ผมก็ได้วันละร้อยบาท แต่อยู่โรงแรมก็ได้ทิปบ้าง แต่ผมไม่ชอบเพราะรู้สึกว่ามันเป็นงาน รู้สึกว่าเมื่อไหร่จะเที่ยง เมื่อไหร่จะเลิก ผมทำงานมาก วันละ 8-12 ชั่วโมงทุกวัน อาหารที่กินก็ก๋วยเตี๋ยวมื้อละถ้วย ไม่ก็กระเพราไก่ไข่ดาว เป็นอย่างนี้ตลอด 7 ปี เป็นเรื่องที่ทำให้คิดมากว่า ทำไมคนต้องทำงานวันละ 8 ชั่วโมง ทำไมคนทำงานหนักแล้วไม่พอกิน ผมเริ่มคิดมาก คิดย้อนกลับไปสมัยเป็นเด็ก พ่อแม่ปู่ย่าตายาย ไม่เคยมีใครทำงานวันละ 8 ชั่วโมง คนไม่ใช้คำว่าทำงานด้วยซ้ำไป คนใช้คำว่า ไปดำนา ไปเกี่ยวข้าว ไม่มีใครใช้คำว่า ‘จน’ คนใช้คำว่า ‘ทุกข์’ เมื่อเป็นทุกข์ก็มีวิธีแก้คือการหาความสุข ใครๆ ก็แก้ได้ แต่พอสมัยที่เราเริ่มพัฒนา เราก็เอาคำว่าจนมาใช้ การแก้ไขความจนคือต้องหาเงินทำให้รวย

สมัยก่อนคนมีความสุข แล้วก็สบายมาก ทำงานปีละ 2 เดือน เกี่ยวข้าวเดือน ดำนาเดือน ที่เหลือคือเวลาว่าง คนสมัยก่อนมีเวลาว่างมาก ทำให้คนได้อยู่กับตัวเองมาก คนที่ได้อยู่กับตัวเองคือคนที่เห็นตัวเอง พอเห็นตัวเอง คนก็สามารถรู้ว่า ชีวิตเกิดมาทำไม ชีวิตต้องการอะไร คนสมัยก่อนก็เลยเห็นความสุขสำคัญมาก คนก็แสวงหาความสุข คนก็อยู่อย่างสุขสบาย

ในสมัยนั้นมีคนนอนกลางวันกันเยอะมาก เพราะมีเวลาว่างมาก ตื่นนอนขึ้นมาก็นั่งนินทากัน โอ้ ลูกสะใภ้เป็นไง ลูกเขยเป็นไง หัวเราะตลกโปกฮากันตลอดเวลา ผมคิดถึงชีวิตอย่างนั้น คิดว่าชีวิตมันน่าจะเป็นแบบนั้นมากกว่าจะมาเป็นหุ่นยนต์ในเมือง ในที่สุดผมก็กลับไปอยู่บ้าน ไปลองใช้ชีวิตแบบคนสมัยก่อนดู

พอกลับไปอยู่บ้านที่ยโสธรใหม่ๆ ผมก็คิดว่าต้องพึ่งตัวเองในด้านปัจจัย 4 ให้ได้ อาหาร บ้าน ผ้า และยา 4 อย่างนี้ต้องง่ายสำหรับทุกคน ที่ไหนก็ตามถ้าอาหาร บ้าน ผ้า และยา แพงสำหรับทุกคน ถือว่าที่นั่นผิด ที่นั่นพัฒนาไปในทางที่เสื่อม ที่นั่นไม่มีความก้าวหน้าในการมีชีวิตอยู่

ผมก็เลยลองไปทำนาปีละ 2 เดือน ปรากฏกว่าได้ข้าว 4 ตัน คน 6 คนกินข้าวไม่ถึงครึ่งตันต่อปี ที่เหลือก็ยังได้ขาย ผมทำบ้านไม้ไผ่อยู่ ก็อยู่ได้สบายไม่มีปัญหา

ผมใช้เวลารดน้ำผักวันละ 30 นาที ก็มีผักเลี้ยงคน 6 คนต่อวันสบาย ยังมีพอให้แม่เอาไปขายที่ตลาดอีกได้วันละ 50 บาท 100 บาท มีบ่อปลา 2 บ่อ ก็รู้สึกว่าทำไมชีวิตมันง่ายอย่างนี้ ไม่มีอะไรยากเลย ทำไมผมไปอยู่กรุงเทพฯ 7 ปีแล้วไม่เคยกินอิ่มเลย ผมไปอยู่กรุงเทพฯ 7 ปี ไปทำงานอะไร ให้ใคร เราไม่ได้อะไรเลย จะกลับมาเยี่ยมบ้านทีนึงก็ต้องขอเงินแม่กลับมากรุงเทพฯ มันตลกมาก

หลังจากนั้นก็มีโอกาสได้ไปเห็นบ้านดินในอเมริกา ก็ลองเอามาทำดู พอลองทำก็รู้สึกว่ามันง่าย แต่ก่อนผมไม่คิดว่าในชีวิตนี้จะสามารถมีบ้านที่มั่นคงได้ แต่พอมาทำบ้านดิน ผมใช้เวลาแค่ 2 ชั่วโมงต่อวัน ตีห้าถึงเจ็ดโมงเช้า 3 เดือนผมได้บ้าน 1 หลัง ในขณะที่เพื่อนคนหนึ่งเป็นครูพละตื่นตื่นห้าไปวิ่งเหมือนกัน 3 เดือนเป็นหนี้สหกรณ์ครู 7 แสน ตอนนี้ยังจ่ายไม่หมด สร้างบ้านหลังหนึ่งหมด 7 แสน ผมก็เริ่มคิดว่า ทำไมคนถึงทำให้ชีวิตยากขึ้นๆ ทำไมไม่ทำให้มันง่ายขึ้น

พอผมพึ่งตัวเองได้พอสมควร ต่อมาก็เลิกซื้อเสื้อผ้า ผมไม่ได้ซื้อเสื้อผ้ามาเกือบ 20 ปีแล้ว ใช้แต่ของเก่า คนเห็นผมใช้เสื้อผ้าเก่าๆ เขาก็สมเพช เอาของใหม่มาให้ พอเป็นของใหม่ผมก็ไม่อยากใส่เพราะมันใหม่ ไม่สมกับผม ผมก็เลยเอาของใหม่ไปให้คนอื่นใช้ก่อน

มันก็เป็นการเผชิญกับตัวเองในเรื่องของแฟชั่น แต่ก่อนผมรู้สึกว่าผมเป็นคนลาวไม่มีดั้ง ไปไหนก็อายคน คนอื่นเขาต้องพยายามไม่เป็นลาว คือใส่เสื้อผ้าให้เหมือนคนกรุงเทพฯ ผมกลับมองตรงกันข้าม คนลาวเนี่ยไม่ว่าจะใส่เสื้อผ้าราคาแพงขนาดไหน ยี่ห้อดีขนาดไหน ก็ไม่มีดั้งเหมือนเดิม ดั้งมันไม่ได้โด่งขึ้น ผมก็เลยไม่จำเป็นต้องวิ่งตามแฟชั่น ถ้าเราวิ่งตาม เราจะไม่ทันเลย แต่ถ้าเราไม่ตามแฟชั่น เราจะเป็นตัวของตัวเอง คิดดูอย่างนี้แล้วก็ทำให้ชีวิตง่ายขึ้น ทำไมคนต้องใส่เสื้อผ้าเหมือนกัน ทำไมผู้หญิงต้องใส่เสื้อผ้ารัดหน้าอกรัดตัวเหมือนกันหมด ทำไมคนต้องใส่กางเกงยีนส์เหมือนกันหมด ถ้าอยากใส่เหมือนกัน ทำไมไม่ไปเป็นทหาร เป็นตำรวจ หรือเป็นพระซึ่งจะได้ใช้ชุดเหมือนกันหมด ความหลากหลายคือความงาม ความต่างคือความงาม หลังจากนั้นก็ไม่ได้ห่วงเรื่องแฟชั่น ไม่ได้ห่วงเรื่องอะไรอีกเลย ใส่อะไรก็ได้ ขอให้มี มันก็สบายไป

แล้วเรื่องยารักษาโรค มาอยู่แบบนี้โรคภัยมันก็น้อยลงเพราะไม่มีหนี้สิน ไม่มีภาระให้คิด ถ้ามีภาระให้คิดมาก โรคนั่นโรคนี่มันรุมครับ เพราะว่าจิตใจเราอ่อนแอ ร่างกายก็อ่อนแอด้วย พอมาอยู่อย่างนี้สบาย อยากตื่นเวลาไหนก็ตื่น อยากทำอะไรเวลาไหนก็ทำ อยากไปเที่ยวก็ไป ไม่ต้องขอลา สบายมาก"

ความคิดของคุณโจนมีหลายอย่างที่น่าสนใจ เช่น เรื่องวิถีชีวิต การแข่งขันในสังคม เรื่องทิศทางการพัฒนา
ทุกวันนี้ ด้วยสังคมที่วุ่นวายทำให้หลายคนค้นพบว่า วิถีทางที่เป็นอยู่อาจไม่ใช่ทางออกของชีวิต
ทำให้วิถีชีวิตในรูปแบบเรียบง่ายและพึ่งพาตนเองของคุณโจน กลายเป็นทางสายใหม่มาแรงที่หลายคนให้ความสนใจ
ของคุณ จนทำให้มีผู้สนใจหลายคนแห่กันมาศึกษาความสงบจากที่นี่ (คุณโจนเล่าให้ฟังว่า เขาต้องรับแขกทุกวัน) จนทำให้สถานที่นี้ไม่สงบ ซึ่งฟังแล้วเกิดเป็นความรู้สึกลักลั่นย้อนแย้ง (Irony) มาก

แต่ถึงกระนั้น คุณโจนก็ยินดีเปิดบ้านให้ผู้สนใจเข้ามา learning by doing
ซึ่งปัจจุบันนี้ มีชาวต่างชาติและโรงเรียนนานาชาติสนใจเข้ามาศึกษาที่นี่เป็นจำนวนมาก ต่างจากโรงเรียนไทยที่ไม่ค่อยส่งเด็กนักเรียนเข้ามาเท่าไร อาจเป็นเพราะยังยิดติดกับอุดมคติที่ว่า งานเกษตรเป็นงานที่ชนชั้นกลางไม่จำเป็นต้องเรียนรู้ก็ได้



บ้านหลังนี้ทำจากดิน


นั่งคุยกันเสร็จแล้วก็ได้เวลาอาบน้ำ ห้องน้ำและห้องส้วมที่นี่ออกแนวธรรมชาติ
อาบน้ำใต้แสงจันทร์ มีเพียงท่อนไม้และผ้าปิดบังเอาไว้
อีกทั้งห้องส้วมที่ไม่ต้องใช้น้ำราด แต่ใช้แกลบโยนกลบในหลุม ทิ้งไว้ สามารถนำมาใช้เป็นปุ๋ยได้
แต่ใครที่กำลังทานผักอยู่แล้วอ่านถึงบรรทัดนี้ อย่าเพิ่งคิดมาก สบายใจได้ เพราะพี่โจนแกยืนยันว่า ปุ๋ยจากส่วนนี้ จะไม่เอาไปรดใส่ผักที่เรากินเด็ดขาด แต่จะเอาไปรดพวกต้นไม้อื่นๆ มากกว่า
(คงไม่ได้พูดเพื่อให้พวกผมสบายใจใช่ไหมครับ พี่โจน ฮือๆ)



ห้องน้ำห้องท่า


เสร็จแล้ว คุณทรงกลดก็ชวนออกไปดูดาว ซึ่งได้ความรู้ใหม่ๆ มากมาย เช่น ตำแหน่งของดาว ทำไมถึงต้องตั้งชื่อดาวเป็นชื่อนี้ คำสำคัญของดวงดาว และความรู้ทางดาราศาสตร์เบื้องต้น เช่น พระอาทิตย์ไม่ได้ขึ้นหรือตกที่จุดเดิมทุกวัน ดังนั้นเราจึงสามารถดูพระอาทิตย์ตกแล้วให้ความรู้สึกสดใหม่ได้ทุกวัน (ยืมคำพูดนี้จากคุณหมอคุ หนึ่งในชาวคณะ ขอบคุณครับ)

จากนั้น ก็ถึงเวลาปิดไฟนอน ซึ่งก็นอนตรงชั้นสองของอาคารบ้านดินที่เราประชุมนั่นแหละ ชายหญิงนอนรวมกัน
ทำให้รู้หมดเลยว่า ใครกรน ใครนอนดิ้น หรือใครใช้เสียงปลุกเป็นเพลงอะไร



อลังการไม่แพ้หนัง Synecdoche, New York


ด้วยความที่อากาศหนาว และไม่มีถุงนอน ทำให้เป็นการนอนที่ทรมานสำหรับผมพอสมควร อีกทั้งห้องน้ำอยู่ไกล ทางไปค่อนข้างน่ากลัว และไม่มีแสงไฟ ทำให้การไปห้องน้ำแต่ละครั้งจึงชวนให้ตื่นเต้นเร้าใจพอสมควร ทำให้ถ้าไม่ปวดสุดกลั้นจริงๆ คงไม่มีใครอยากลุกไปห้องน้ำแน่นอน

ถือเป็นการเปลี่ยนบรรยากาศการนอนไปอีกรูปแบบ

*****************

วันที่ 2
การเปลี่ยนสถานที่นอน มักจะทำให้เราตื่นเร็วขึ้น
เช่นเดียวกับเช้านี้ ซึ่งผมตื่นนอนเร็วกว่าปกติ
อากาศที่นี่เย็นสบาย มีหมอกลงบางๆ และทำให้เยือกเย็น แสนจะเย็นสบายเมื่อยามเช้า
พี่โจเดินเข้ามา เชิญชวนให้สมาชิกทริปที่ตื่นแล้วนั่งสมาธิ
พอนั่งสมาธิเสร็จก็ีเล่นโยคะกันต่อโดยมีอาสาสมัครต่างชาติเข้ามาช่วยสอนให้

แน่นอนว่าตัวผมซึ่งจากสถิติสามารถนั่งสมาธิได้ไม่เกิน 5 นาที และตัวอ้วนกลมเกินกว่าจะเล่นโยคะได้ จึงถอนตัวจากกิจกรรมทั้งหมด ขอนั่งดูอย่างสงบเสงี่ยมเจียมตัวเพียงอย่างเดียว
นั่งดูได้สักหน่อยก็เบื่อ เลยขอออกไปเยี่ยมชมแปลงผัก
แปลงผักที่นี่สวยงามมาก จัดเรียงสวยงามไม่แพ้ดอกไม้
ทำให้เกิดพุทธปัญญาว่า วาเลนไทน์ปีหน้า เรามารณรงค์ เปลี่ยนจากมอบดอกไม้ เป็นมอบผักให้กันดีกว่า
ทำเป็น fanpage ใน facebook เลย รับรองว่ามีสาระมากกว่า fan page กลุ่ม
"ผมขอท้า ชายไทยบนเฟสบุ๊คถึง 1 แสนคนก่อนผู้หญิง" "หนูขอท้า หญิงไทยบนเฟสบุ๊คถึง 1 แสนคนก่อนผู้ชาย" หรือ "เดี๊ยนขอท้า กระเทยไทยบนเฟสบุ๊คถึง 1 แสนคนก่อนผู้ชายและผู้หญิง" แน่นอน (ซึ่งจากการใช้เวลาคิดเกือบ 3 เดือน ผมก็ยังคิดไม่ออกว่าหน้า fanpage กลุ่มนี้มีประโยชน์ต่อมนุษยชาติยังไง)



ถ่ายรูปบ้างอะไรบ้าง


เดินเล่นชมวิวจนเหนื่อย (กว่าตอนทำงานเสียอีก) ในที่สุดก็ได้เวลาอาหารเช้า ซึ่งอาหารเช้ามื้อนี้เป็นน้ำเต้าหู้และธัญพืชต่างๆ อารมณ์เหมือนคอร์นเฟลค แต่เปลี่ยนจากนมเป็นน้ำเต้าหู้ และเปลี่ยนโกโก้ครั้นช์เป็นพิชผักนานา
กินแล้วอร่อย ได้รสชาติและแร่ธาตุอาหารครบถ้วนทุกอย่าง ขาดไปอย่างเดียวคือ ความอยู่ท้อง (อ้าว!)



เครื่องเคียงใส่น้ำเต้าหู้



แบบว่าโลกนี้มีน้ำเต้าหู้กับครูระเบียบ (เล่นมุขบ่งบอกอายุมาก)


ทานเสร็จแล้ว ก็ได้เวลาออกไปทำบ้านดินเสียที
โดยขั้นตอน คุณโจนได้เลคเชอร์หลักการคร่าวๆ ของการทำบ้านดินให้ฟัง โดยคุณโจนยืนยันว่า ทำง่ายจริงๆ อย่างบ้านดินที่พันพรรณ คุณโจนก็ใช้เวลาทำแค่วันละ 2 ชั่วโมง นั่นคือ 5.00-7.00 ซึ่งน้อยกว่าเวลาเล่นเฟซบุคของใครหลายคนเสียอีก (ยิ่งเขียนยิ่งเข้าตัว แหะๆ) เป็นเวลา่ 3 เดือน ก็ได้บ้านดินขึ้นมา 1 หลังแล้ว คุณแอนดรูว บิ๊กส์เห็นยังต้องอุทานว่า ทำบ้านดิน ง่ายนิดเดียว (แต่ยากเยอะ..ไม่ใช่แล้ว)

โดยหลักการของการสร้างบ้านดิน มีดังต่อไำปนี้
-ปัจจัย 4 ของคนเรา ได้แก่ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัจจัยที่หามาเป็นของตัวเองยากที่สุด คือ ที่อยู่อาศัย เพราะทุกวันนี้ การจะซื้อบ้านหรือคอนโด ไม่ง่ายเหมือนซื้อเสื้อสายเดี่ยว กระเพราหมูหรือยาทิฟฟี่ แต่การซื้อบ้านหนึ่งหลังนั่นหมายความถึง ภาระทางการเงินที่เราต้องรับผิดชอบไปอีกหลายปี ซึ่งคนที่ไม่มีเงินถุงเงินถังแล้วอยากมีบ้า่น ก็จำเป็นต้องกู้เงินก้อนใหญ่มาใช้ ไม่ก็ต้องเช่าบ้านไปตลอดชีวิต ยิ่งคนจนแล้วการมีบ้านสักหลังดูจะเป็นความฝันที่ไกลจนเกินเอื้อม
แต่บ้านดินนั้น ทำง่ายกว่าที่คิด เหมาะสำหรับคนที่อยากมีบ้างสักหลัง แต่มีทุนทรัพย์ไม่เพียงพอ
-ขั้นตอนในการทำ คือ ทำอิฐจากดิน โดยใช้แม่พิมพ์ แล้วตากให้แห้ง
-จากนั้นนำอิฐที่ตากจนแห้งสนิทมาก่อผนัง โดยใช้ดินเดียวกับที่ทำอิฐอต่เหลวกว่ามาทำเป็นปูน
-ใส่หน้าต่าง ประตู หรือช่องเปิดต่างๆ
-มุงหลังคา ซึ่งไม่ใช้ดินมุง เพราะกันน้ำไม่ดี จึงนิยมใช้วีสดุเหมือนที่ใช้กับบ้านทั่วไปมากกว่า คือ สังกะสี หรือซีเมนต์
-ฉาบผิวและตกแต่งผนังให้เรียบ เพื่ออุดรอยแตก และป้องกันผนังจากฝน
-ทำพื้น อาจทำจากคอนกรีตหรือดินก็ได้
-ทาสี โดยสีที่เราใช้จะไม่ใช่สีทีโอเอ แต่เป็นสีจากดิน
-หัวใจของบ้านดินคือ ใช้สิ่งที่มีอยู่ เราสามารถควบคุมมันได้ ถ้าใช้วัสดุจากภายนอกเราจะควบคุมมันไม่ได้ ใช้แนวคิดพึ่งตนเอง
-การสร้างบ้านดิน ไม่เหมาะกับการใช้คนเยอะ เพราะจะวุ่นวาย เหมาะกับการใช้คนน้อยๆ ค่อยๆ ทำมากกว่า
-อย่าเลือกทำเลที่ชอบมีน้ำขังหรือน้ำท่วม
-อย่าคิดว่า บ้านดินจะออกมาง่ายๆ เชยๆ ดูจนๆ เพียงอย่างเดียว ถ้าถ้าได้รับการออกแบบและตกแต่งที่ดี บ้านดินหลังนั้นจะออกมาอลังการงานสร้างได้เหมือนกัน
-สิ่งที่ต้องระวังอย่างนึง คือ ปลวก เพราะมันจะมาทำลายบ้านดินได้ ควรฉีดยากันปลวกหรือควรตรวจตราให้ดีอยู่เสมอ

หลังจาก Learning by listening แล้ว ก็ได้เวลา Learning by doing ออกไปสร้างบ้านดินกับเขาบ้างสักที
คุณโจนให้เราลองทำอิฐ โดยวิธีทำ คือ
-เตรียมบ่ิอย่ำดิน โดยขุดหลุมให้ลึก 30 เมตร
-ใส่ดินเหนียว จากนั้นใส่น้ำลงไป
-จากนั้นก็เป็นขั้นตอน รุมยำตีน นั่นคือ ใช้เท้าย้ำให้เป็นเนื้อเดียวกัน
-ใส่ทรายและแกรบ แล้วย่ำต่อ
-นำแม่พิมพ์อิฐมาวาง แล้วตักดินใส่แม่พิมพ์ เกลี่ยให้เนื้อดินเรียบเสมอกัน แล้วยกแม่พิมพ์ออก
-ตากอิฐไว้กลางแดดให้แห้ง ใช้เวลา 3-4 วัน แล้วนำไปใช้ได้



ตั้งใจประหนึ่งจะมีออกข้อสอบ



ได้อารมณ์เหมือนกระทืบคนมาก


โคลนนี่มันเย็นสบายจริงๆ จนข้าพเจ้าอยากแปลงร่างเป็นควายลงเกลือกกลิ้ง


เนื่องจากเวลาน้อย (หรือพี่โจนกลัวว่าพวกเราจะทำให้บ้านดินเขาพังก็ไม่รู้) พวกเราจึงได้ทำแค่ขั้นตอนเดียว
ส่วนขั้นตอนอื่น ก็ไปยืนสังเกตการณ์จากชาวต่างชาติที่มาสร้างบ้านดินอีกกลุ่มนึงเอา แต่ดูแล้วพวกเขาทำงานกันด้วยประสิทธิภาพสูง พวกเราถึงได้แต่มองดูอยู่ห่างๆ อย่างไม่ห่วง

ดูๆ ไปก็ไม่ยากเท่าไร คิดไปก็คันไม้คันมือ อยากสร้างบ้านดินกับเขาซะแล้วสิ (แต่คงได้แต่คันต่อไป เพราะช่วงนี้ความขี้เกียจเข้าครอบงำชีวิตอยู่)



This is อิฐ



คบฝรั่งสร้างบ้าน


เสร็จแล้วได้เวลากินข้าวกลางวัน มื้อนี้มีไข่พะโล้ (ข้าพเจ้ากินไป 4 ลูก เพื่อทดแทนโปรตีนที่สึกหรอ)
ก็ไปนั่งฟังคุณโจนพูดเรื่องเมล็ดพันธุ์
คุณโจนเล่าให้ฟังว่าเมล็ดพันธุ์แท้เริ่มน้อยลง เมล็ดพันธุ์ส่วนใหญ่เป็นพืช GMO



พี่โจน จันใด


เนื่องจากผมไม่ได้จดไว้ (อีกแล้ว!) จึงขออนุญาตคัดลอกข้อความจากบลอก lonelytree ของคุณทรงกลด มาให้อ่านกัน ณ ที่นี่
ที่มา
//www.lonelytrees.net/?p=1082

"ปัญหาที่รุนแรงที่สุดที่เกิดกับเมล็ดพันธุ์คืออะไรครับ
ผมเห็นปัญหาหลักๆ อยู่ 3 ปัญหา อันที่หนึ่ง คือการสูญหายไปของเมล็ดพันธุ์แท้ อันที่สองคือ พันธุ์ถูกพัฒนาให้อ่อนแอลง สาม อาหารของมนุษย์ไม่ปลอดภัยเพราะมีอะไรต่างๆ เกิดขึ้นหลายอย่าง ผมคิดว่า 3 อย่างนี้อาจทำให้มนุษย์สูญพันธุ์ได้

ถึงเมล็ดพันธุ์สูญหายไปบ้าง แต่เราก็กินที่เหลืออยู่ได้ไม่ใช่หรือครับ
เมล็ดพันธุ์ที่เราเอามาปลูกเพื่อใช้กินอยู่ทุกวันนี้ 80-90 เปอร์เซ็นต์มาจากพันธุ์ผสม หมายถึงพันธุ์ที่เอาไปปลูกต่อจะไม่ได้ผลผลิตเหมือนเดิม มันจะกลายพันธุ์ แล้วเมล็ดพันธุ์ที่มีในตลาดตอนนี้ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์เป็นพันธุ์ที่จำกัดการงอก คือ มีการพัฒนาพันธุ์แบบใหม่ด้วยการฉายรังสีเข้าไป หรือเอายีนบางตัวออกเพื่อให้ไม่มีเมล็ดเลย ทำให้คนปลูกต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ทุกครั้งที่ปลูก นี่คือการพัฒนาเมล็ดพันธุ์เพื่อการตลาด เพื่อการผูกขาดเป็นหลัก ไม่ได้พัฒนามาเพื่อให้คนกิน

ในขณะที่ราคาเมล็ดพันธุ์แพงขึ้นๆ ตอนนี้เมล็ดพันธุ์ผักมากมายราคากิโลละเกินหนึ่งหมื่นบาท อย่างแตงโมนี่หมื่นสอง มะละกอหมื่นสามหมื่นสี่ พวกผักสลัดนี่บางพันธุ์กิโลละหกหมื่นบาท ชาวไร่ชาวนาที่มีรายได้เฉลี่ยปีละ 2-3 หมื่น ถ้าเขาต้องมาปลูกผักในราคาเท่านี้ เขาจะอยู่กันยังไง ถ้าเราซื้อเมล็ดพันธุ์ในราคาเท่านี้ แล้วรุ่นลูกเราต้องซื้อกิโลละเท่าไหร่ เมล็ดพันธุ์เป็นเรื่องที่มีความสำคัญ และเป็นประโยชน์กับคนรุ่นต่อไป ก็เลยอยากทำเรื่องนี้

การพัฒนาพันธุ์ข้าวที่เราได้ยินกันบ่อยๆ ก็ไม่ได้พัฒนาเพื่อคนหรือครับ
ข้าวทุกวันนี้ไม่ได้มีคุณค่าดีไปกว่าแต่ก่อนเลย เขาพัฒนาเพื่อให้ได้ผลผลิตมาก น้ำหนักดีเท่านั้นเอง แต่รสชาติมันเปลี่ยนไป คุณค่าทางอาหารมันเปลี่ยนไป ถ้ามองลึกๆ แล้วเขาไม่ได้พัฒนาเพื่อให้ได้อาหารที่มีคุณค่าขึ้น เขาพัฒนาเพื่อให้ได้ของแปลกเอาไปขายเท่านั้นเอง

สมัยจอมพลสฤษดิ์ เมืองไทยต้องการพัฒนาข้าวเพื่อส่งออก ต้องการเป็นผู้นำการส่งออกข้าวที่ใหญ่ที่สุดในโลก เขาก็ไปจ้างนักวิชาการจากสหรัฐมาคัดเลือกและพัฒนาพันธุ์ข้าว นักวิชาการคนนี้ก็สั่งให้รวบรวมพันธุ์ข้าวจากทั่วประเทศ ได้มาสองร้อยกว่าชนิดก็ลองปลูก เอาปุ๋ยไปใส่ แปลงไหนที่ตอบสนองต่อปุ๋ยดี คือใส่ปุ๋ยแล้วโตดี เขาก็เก็บไว้ แปลงไหนไม่ชอบปุ๋ยก็ตัดออก พันธุ์ข้าวที่ได้คือพันธุ์ที่ชอบปุ๋ยทั้งสิ้น มหาวิทยาลัยต่างๆ ก็สอนเทคนิคเดียวกันหมด ทุกวันนี้เราเลยพัฒนาแต่พันธุ์ที่ตอบสนองต่อสารเคมีทั้งสิ้น พันธุ์ที่เราปลูกกันอยู่ทุกวันนี้จึงอยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง เพราะเขาเลือกแต่พันธุ์อ่อนแอพวกนี้ไว้ คนปลูกจึงจำเป็นต้องใช้สารเคมีตลอด เวลาขายก็ขายเป็นเซ็ต ซื้อเมล็ดพันธุ์แล้วก็ต้องซื้อปุ๋ยกับยาฆ่าแมลงไปด้วย ไม่ใช้ก็ไม่ได้ เพราะมันจะไม่โต

อย่างข้าวหอมมะลิแท้ เมล็ดเล็กๆ ก้นเรียวๆ หุงแล้วหอมไกลมาก แต่ทุกวันนี้เราพัฒนาให้เมล็ดใหญ่ ให้รวงดก แต่กลิ่นไม่เหมือนเดิม ไม่หอม รสชาติก็ไม่เหมือนเดิม แต่ได้ผลผลิตสูง ปลูกแล้วขายได้ การพัฒนาพันธุ์ในปัจจุบันไม่ได้พัฒนาในคนกิน แต่เพื่อขาย เพื่อยึดครองตลาด เท่านั้นเอง

เวลาชาวบ้านเขาพัฒนาพันธุ์ข้าว เขาคัดเลือกพันธุ์ที่ดีจริงๆ เอามาปลูกต่อ แจกจ่ายต่อ แต่ภาคธุรกิจกับรัฐบาลกลับทำในสิ่งที่ตรงกันข้าม คือเขาพัฒนาพันธุ์ที่อ่อนแอที่สุด แต่ให้ผลผลิตมาก รสชาติไม่ต้องพูดถึง แย่ อายุก็สั้นมาก อย่างมะเขือเทศพื้นบ้าน ถ้าดินดีน้ำดีอาหารดีมันอยู่ได้เป็นปี พันธุ์ที่ผมปลูก ต้นเดียวเลี้ยง 2 ครอบครัวได้สบาย เก็บทีนึงเป็นถัง แต่พันธุ์ที่ไปซื้อเมล็ดมา ลูกมันจะดกมาก 3 เดือนกว่าๆ ลูกเต็มต้นเลย ออกครั้งเดียวแล้วก็ตายเลย รสชาติก็แย่

รู้ไหมว่าทำไมมะเขือเทศที่เรากินทุกวันนี้ถึงเหนียว เพราะว่าฟาร์มใหญ่ๆ ที่ปลูกมะเขือเทศมีพื้นที่เป็นพันไร่ มันเสียเวลามากที่จะใช้คนขนมะเขือเทศ เขาเลยใช้สายพานส่งมะเขือเทศจากปลายไร่กลับมาในโรงงาน มะเขือเทศก็กลิ้งมาตามสายพาน ถ้าเป็นมะเขือเทศปกติมันจะช้ำและแตก เขาก็เลยออกแบบให้มันเหนียว จะได้ขนส่งไกลๆ ได้ หรือบางอย่างก็ออกแบบให้มีสีแดง แต่ยังไม่สุก จะได้เก็บไว้ขายได้นานๆ รสชาติไม่ได้เรื่อง

รสชาติของอาหารคือสิ่งที่บอกถึงคุณค่าที่มีอยู่ในอาหาร ผักพื้นบ้านมีรสฝาด รสขม รสเปรี้ยว หลายๆ รส แต่ผักที่เราซื้อจากซูเปอร์มาร์เก็ตทุกวันนี้รสชาติเหมือนกันหมด คือจืด น้ำเยอะ เป็นผักที่เติบโตจาก NPK ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โปแตสเซียม ทุกวันนี้เราเหมือนกินพืชสังเคราะห์ ไม่ใช่พืชธรรมชาติ

เวลาคนแก่ตามบ้านนอกเข้ามาในเมืองเขาจะกินอะไรไม่ค่อยได้ กินปลาก็ไม่อร่อย เพราะเป็นปลาเลี้ยง ปลาเลี้ยงเนื้อมันยุ่ย กินไก่ย่างก็บอกว่าจืดเหมือนกินฟองน้ำ เพราะเป็นไก่ฟาร์ม คนที่โตมากับไก่ฟาร์มอาจจะบอกว่าไก่พื้นบ้านมันเหนียวเกินไป เพราะเราไม่คุ้น ทุกวันนี้เราไม่ได้สนใจเรื่องรสชาติอาหารแล้ว เราถูกฝึกให้บริโภคกินในสิ่งที่เขาอยากให้กิน ตอนนี้อะไรจะอร่อยหรือไม่อร่อยมันขึ้นกับผงชูรสกับซอส การปรุงอาหารเมื่อก่อนมีแต่เกลือ แต่ทุกวันนี้ซอสอะไรต่ออะไรเป็นแถวเลย เพราะอาหารที่เรากินมันไม่มีรสชาติ ต้องหารสชาติมาอันเข้าไปเยอะๆ จนไม่รู้ว่าวันนี้เรากินอะไรแล้ว

อาหารของเราอยู่ในภาวะวิกฤตมาก เมล็ดพันธุ์ของเราสูญหายไป และอยู่ในกำมือของคนไม่กี่คน แล้วก็คนไม่กี่คนก็พัฒนาเมล็ดพันธุ์มาเพื่อผูกขาด ไม่ได้พัฒนาเพื่อให้คนมีสุขภาพที่ดีขึ้น อันนี้ทำให้เราเห็นว่าจำเป็นต้องรีบทำอะไรสักอย่างเพื่อระงับวิกฤตที่จะตามมาในเร็วๆ นี้ วิกฤตทางอาหารถือว่าเป็นเรื่องใหญ่มาก ทุกชีวิตอยู่ได้เพราะอาหาร ไม่มีอาหารเราก็อยู่ไม่ได้

เมื่อก่อนชาวไร่ชาวนาสามารถพัฒนาพันธุ์เองได้ ทำไมยุคนี้ถึงไม่ทำกันแล้ว
พันธุ์ผสมมันอยู่ในมือของคนกลุ่มหนึ่งซึ่งคุมตลาดด้วย เขาก็บังคับให้ชาวบ้านปลูกพันธุ์ที่เป็นพันธุ์ผสมทั้งหมด ปลูกไป 2-3 ปี พันธุ์พื้นบ้านก็หมดไป จะกลับมาหาก็ไม่มีเมล็ดพันธุ์แล้ว ก็ไม่มีทางเลือก บริษัทบอกให้ปลูกอะไรก็ต้องปลูก อย่างแถวนี้เขาปลูกข้าวโพดกัน บริษัทก็เอาเมล็ดพันธุ์ เอาปุ๋ย เอายาฆ่าแมลงมาให้ ชาวนาแค่ใช้แรงแล้วก็ที่ดินของตัวเอง ปลูกเสร็จก็ขายคืนเขา เหมือจะได้เงินเยอะ แต่พอหักกลบลบหนี้แล้วก็ไม่เหลืออะไร บริษัทได้ผลประโยชน์ไป เอาไปแต่ผักดีๆ ผักที่ไม่ดีชาวบ้านก็ต้องรับผิดชอบ นอกจากต้องขายในราคาถูกแล้วชาวบ้านต้องรับผิดชอบความเสียหายเอง มันเป็นระบบใหม่ที่ทำให้ชาวไร่ชาวนาต้องกลายมาเป็นทาสบนผืนนาของตัวเอง ยิ่งทำงานมากก็ยิ่งจน ยิ่งขยันยิ่งหนี้มาก

ถ้าไปเอาพันธุ์อื่นมาปลูกเขาก็ไม่รับซื้อ นี่คือตัวบีบที่ทำให้เกษตรกรไม่สามารถปลูกพันธุ์พื้นบ้านได้ นอกจากจะปลูกแล้วเอาไปหาทางขายเอง ซึ่งเกษตรกรไม่ค่อยชอบ เพราะเขาชอบปลูกมากกว่าชอบขาย ทำให้ไม่มีใครคิดจะเก็บหรือเพาะเมล็ดพันธุ์เอง ใครๆ ก็รู้สึกว่าซื้อเอาง่ายกว่า ยื่นเงินให้ก็ได้มา แต่ไม่มีใครคิดว่า ต้องใช้เวลานานเท่าไหร่กว่าจะได้เงินมา"

ทุกวันนี้ เวลาพูดถึงสิ่งมีชีวิตที่ใกล้สูญพันธ์ เรามักจะพูดถึงสัตว์ป่า ละมั่ง สมัน เก้งกวาง (แต่อันหลังมีมากมายตามเมืองกรุง) แต่พวกเราอาจจะหลงลืมไปว่า นอกจากสัตว์แล้ว ยังมีเมล็ดพันธุ์หลายชนิดที่เริ่มหายไปจากโลก ศูนย์พันพรรณจึงได้ทำการรวบรวมเมล็ดพันธุ์ที่กำลังจะหายไป แล้วมีการแจกจ่ายให้ผู้สนใจ

เสร็จแล้ว ก็ไปนั่งฟังคุณโจนพูดเรื่องทั่วๆ ไปที่บ้านของแก เสร็จแล้วก็เดินเล่นรอบพันพรรณ
เพื่อเก็บบรรยากาศ ถ่ายรูปเพื่อนำมาใช้เป็นรูป profile เฟซบุค (วันๆ คิดแต่เรื่องแบบนี้หนอ ข้าพเจ้า)
นั่งพูดคุยกับมิตรสหาย ชมวิวที่ชั้นบนของหอประชุม และพักผ่อนตามอัธยาศัย



คอฟฟี่ชอปก็มีนะเธอว์



เพื่อนของเราชื่อความเหงา



ฺBird's Eye View


ตกกลางคืน มีการเปิดสารคดีเรื่องบ้านดิน ทำให้เห็นถึงการทำบ้านดินในที่ต่างๆ
ทำให้รู้ว่า บ้านดินกำลังเป็นที่นิยมไปทั่วโลก ทั้งในอเมริกา แอฟริกา และที่อื่นทั่วโลก
และได้เห็นถึงความคิดสร้างสรรค์ของบ้านดินในแต่ละที่
เสร็จแล้วก็เป็นเวลาพูดเปิดใจ ซึ่งหลายคนพูดตรงกันว่า ทำให้ได้รู้ถึงวิถีชีวิตอีกรูปแบบนึงที่น่าสนใจ
และเริ่มติดใจชีวิตแบบนี้ จนพี่ก้อง ทรงกลดต้องเอ่ยปากว่า รู้งี้เอาใบลาออกมาด้วยดีกว่า เพื่อที่ตอนจบทริป จะได้เอาให้คนที่สนใจเขียนแล้วกลับไปลาออกจากงานที่กทม.เลย
ช่วงนี้ มีสมาชิกทริปหลายคนใจดี เอาของมาแจกเพื่อนร่วมทริป ทั้งโปสการ์ด ทั้งของที่ระลึกน่ารักๆ
มีสมาชิกทริปท่านนึง นำชาที่เวลาโดนน้ำร้อน ชานั้นจะบานกลายเป็นดอกไม้ ซึ่งเป็นของเมืองจีนมาแจกทุกๆ คน ใครสนใจรายละเอียดเพิ่มเติม อ่านได้จากหนังสือ "ดาวหางเหนือทางรถไฟ" ของทรงกลด บางยี่ขันได้

พอล่วงเลยเข้าสู่เวลาดึกแล้ว แต่ละคนก็แยกย้ายกลับไปนอนพร้อมสู้ชีวิตวันใหม่ต่อไป

**********

วันที่ 3

วันสุดท้ายของการเดินทาง วันนี้ไม่มีอะไรมาก เนื่องจากต้องเดินทางกลับตั้งแต่เที่ยงๆ
กิจกรรมแรกที่เราทำ คือ เขียนโปสการ์ดหากัลยาณมิตรทั้งหลาย ที่ไม่ได้มากับเราด้วย



Please Mr.Postman


อาหารเช้าวันนี้เป็นโยเกิร์ตที่พวกเราทำ ซึ่งที่เด็ดอยู่ที่
เครื่องเคียงที่ใส่ เป็นผลไม้สดๆ อย่าง มะเฟือง ละมุด มะม่วง ซึ่งแน่นอนว่ามะม่วงหมดอย่างรวดเร็ว เพราะสมาชิกทริปหลายคนเอาไปกินเปล่าๆ โดยไม่ผ่านโยเกิร์ต

จากนั้นก็ออกไปเดินสำรวจธรรมชาติอีกรอบ



Windows Live



น่าใช้เป็นแบบวาดภาพมาก


ก่อนจากไป คุณโจน อธิบายให้เราฟังเกี่ยวกับการเพาะเมล็ดพันธุ์เพิ่ม
พวกเราก็นั่งฟังไปด้วย หยิบ friendship มาให้เซ็นไปด้วย ได้อารมณ์ย้อนยุค เสมือนกลับไปสู่ช่วงม.ปลายเมื่อสมัย...ปีที่แล้ว (ขออนุญาตเซ็นเซอร์เนื่องจากสะเทือนใจผู้เขียน)

เสร็จแล้ว นั่งรถแดงคันเดิมไปที่สถานีรถไฟ เพื่อนั่งรถไฟกลับไปกทม.รอบบ่ายสอง
แต่ผมไม่ได้ไปด้วย เพราะบ้านอยู่ที่เชียงใหม่อยู่แล้ว

พวกเราร่ำลากัน และได้แต่หวังว่า ทริปนี้คงไม่ใช่ทริปสุดท้ายที่เราจะได้ร่วมทางกัน
ซึ่งแน่นอนว่า แต่ละคนย่อมมีวิถีชีวิตเป็นของตัวเอง บางคนก็อาจจะได้เจอกันบ่อยๆ บางคนก็อาจจะได้เจอกันในทริปนี้เป็นทริปแรกและทริปสุดท้าย

แต่อย่างน้อย สิ่งที่จะยัีงคงติดค้างอยู่ตลอดไป คือ ความทรงจำ
เจอกันเมื่อเจอกันครับ




Into the Light



ข้อมูลอ้างอิง
-www.lonelytrees.net
-A Day ฉบับที่ 111
-หนังสือ จากดินสู่บ้าน สร้างบ้านด้วยดิน โดย ธนา อุทัยภัตรากูร สนพ.สวนเงินมีมา


จบบริบูรณ์ครับ
คิดเห็นอย่างไร ฝากคอมเมนต์ไว้ได้นะครับ




 

Create Date : 01 เมษายน 2553
16 comments
Last Update : 2 เมษายน 2553 8:19:11 น.
Counter : 9903 Pageviews.

 

จบตอนที่ 1
โปรดติดตามตอนที่ 2 ภายในคืนนี้ครับ

 

โดย: ฟ้าดิน 1 เมษายน 2553 7:57:09 น.  

 

กลัวห้องน้ำ

น่านับถือคนที่มีแนวคิดอย่างคุณโจน จันได จริงๆ

 

โดย: เอ๋ IP: 125.24.213.71 1 เมษายน 2553 9:21:53 น.  

 

อยากไปบ้าง TT มิ้วๆ

 

โดย: Choco-pai IP: 118.172.73.125 1 เมษายน 2553 9:25:52 น.  

 

เราชอบมากกับการใช้ชีวิตแบบพึ่งพาตนเอง..

อยากมีบ้านดินเป็นของตัวเองบ้างจังเลยค่ะ

 

โดย: OKANEMOCHI 1 เมษายน 2553 9:38:23 น.  

 

สนใจบ้านที่ทำด้วยดินค่ะ การสร้างเหมือนประกอบด้วยวัสดุที่เเข็งทนทาน

ห้องนอนเรียกว่าดีมาก หลังจะเเข็งไปนิด เเต่ห้องน้ำไม่เเน่ใจว่ามาทำปุ๋ยให้รับทานหรือเปล่า?
เพราะฝังไปก็คงมากมายก่ายกอง น้ำฝนคงต้องชำระไหลลงสู่ต้นไม่เป็นเเน่ค่ะ

 

โดย: YUCCA 1 เมษายน 2553 9:38:28 น.  

 

ผมอ่านเรื่อง irony แล้ว ผมรู้สึกคล้ายกับที่ปายโดยย่ำยี (และน่านกำลังจะโดน)

 

โดย: I will see U in the next life. 1 เมษายน 2553 10:16:59 น.  

 

น่าสนใจมากๆเลย

 

โดย: อินทรีทองคำ 1 เมษายน 2553 12:06:24 น.  

 

แล้วจะมาตามอ่านตอนที่ 2 ต่อนะคะ

 

โดย: thainurse@norway 1 เมษายน 2553 17:02:29 น.  

 

การเดินทาง
สามารถ
เปลี่ยนชีวิตได้จริงๆ

 

โดย: iamjar IP: 203.131.211.132 1 เมษายน 2553 18:00:46 น.  

 

update ตอน 2 เรียบร้อยแล้วนะครับ

@เอ๋
คุณโจน เป็นคนที่เท่มากครับ ถ้ามี work shop หรือทริปไปบ้านคุณโจนอีก ลองสมัะครดูนะครับ เข้าไปอ่านกันได้

@Choco-pai
ว่างๆ ลองหาโอกาสไปสิครับ

@OKANEMOCHI
ล้านดินสร้างไม่ยากครับ พี่โจนบอกไว้
ผมว่าจะสร้างสัก 3-4 หลังเหมือนกัน (เริ่มเวอร์แล้ว)

@Yucca
เขามีระบบห้องน้ำอยู่น่ะครับ หรือไม่ บางทีถ้าไม่ได้เอาอุจจาระมาทำเป็นปุ๋ย ก็อาจจะทำเป็นเหมือนห้องส้วมทั่วไป มีโถ มีชักโครกปกติก็ได้

@I will see U in the next life.
เมืองไทย เป็นเมืองแห่ง irony จริงๆ

@อินทรีทองคำ
ขอบคุณที่สนใจครับ

@thainurse@norway
ตอน 2 เสร็จเรียบร้อยครับ

@iamjar
I think every step of journey can change your life.

 

โดย: ฟ้าดิน 2 เมษายน 2553 8:18:54 น.  

 

อ่านแล้วรู้สึกเย็นอย่างประหลาดครับ น่าไปมากๆ

อาหารเช้าน่ากินมากๆ (แม้ดูท่าว่าจะไม่อยู่ท้องจริงๆ ==')

 

โดย: Seam - C IP: 58.9.195.9 9 เมษายน 2553 12:24:32 น.  

 

น่าสนใจมากเลย

 

โดย: ..... IP: 114.128.136.81 5 พฤษภาคม 2553 10:34:52 น.  

 

อยากทราบงบประมาณในการสร้างบ้านดินหลังนี้ค่

 

โดย: 1111 IP: 114.128.136.81 5 พฤษภาคม 2553 10:36:22 น.  

 

น่าจะอยู่ในหลักหมื่นนะครับ ไม่ค่อยชัวร์เท่าไร เพราะมันจะไปแพงตรงค่าทำหลังคาครับ

 

โดย: ฟ้าดิน 21 พฤษภาคม 2553 12:40:16 น.  

 

น่าไปเที่ยวจังค่ะฝากเว็บท่องเที่ยวหน่อยนะค่ะสถานที่ท่องเที่ยว

 

โดย: Attractions (loveyoupantip ) 27 กรกฎาคม 2554 12:51:21 น.  

 

แนะนำเว็บท่องเที่ยวสถานที่ท่องเที่ยวอันสวยงาม

 

โดย: attractions (loveyoupantip ) 7 สิงหาคม 2554 4:25:52 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


ฟ้าดิน
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]




ความจำสั้น ความฝันยาว.....
Friends' blogs
[Add ฟ้าดิน's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.