ฉันเป็นดั่งนกไร้ขา บินไปบินมาไร้จุดหมาย โอกาสลงดินนั้นไซร้ ต่อเมื่อความตายมาเยือน
Group Blog
 
<<
กุมภาพันธ์ 2554
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728 
 
13 กุมภาพันธ์ 2554
 
All Blogs
 
+-+-+-+Movie Review - "ชิงหมาเถิด" : หมานคร (สองดาว)+-+-+-+

ชิงหมาเถิด
หมานคร สองดาว



บทความนี้ได้รับการเผยแพร่ครั้งแรกในนิตยสาร Starpics ปักษ์หลังพฤศจิกายน 2553
ทางผู้เขียนขอขอบคุณทางกองบก.นิตยสาร ที่เอื้อเฟื้อพื้นที่ให้บทความนี้ มา ณ โอกาสนี้ด้วยครับ
บทความนี้มีการเปิดเผยเรื่องราวในตอนจบของหนัง

ด้วยหน้าหนัง โปสเตอร์ และสป็อตโฆษณาที่ออกมาในแนวขำขัน บวกกับการได้นักแสดงตลกชื่อดังอย่าง โก๊ะตี๋ อารามบอยมารับบทเป็นหนึ่งในตัวเอกของหนัง น่าจะทำให้ผู้ชมหลายคนตีตนไปก่อนเข้าโรงว่า ชิงหมาเถิด (The Dog) ผลงานการกำกับเรื่องที่สามของผู้กำกับพงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง น่าจะออกมาเป็นหนังตลกเฮฮา ว่าด้วยเหตุการณ์ชิงหมาแบบขำๆ แต่ผลลัพธ์ที่ออกมากลับผิดคาด เพราะตัวหนังออกมาในลักษณะของหนังดราม่าชวนหดหู่ผสมกับฉากรุนแรงและตลกร้ายในสไตล์หนังของพี่น้องโคเอนไปตลอดทั้งเรื่อง (ตัวละครนักฆ่าในเรื่องที่เล่นโดยตัวพงษ์พัฒน์เองนั้น มีดีกรีความโหดไม่แพ้แอนตัน ชิเกอร์ตัวละครมือปืนใน No Country for Old Men เลย) แล้วยิ่ง หนังซีเรียสในระดับที่ทำให้มุกตลกหลายมุกที่แทรกเข้ามาแบบทู่ๆ หรือฉากตัวละครเต้นอย่างร่าเริงสุดชีวิตในตอนเอนด์เครดิตกลายเป็นส่วนเกินของหนังที่ชวนให้รู้สึกทะแม่งๆ ไปเลย
หากจะให้พิจารณาตามตรง คงต้องบอกว่า ชิงหมาเถิด ไม่ใช่หนังที่สมบูรณ์แบบ เอาเข้าจริงๆ แล้ว หนังมีช่องโหว่เยอะไปหมด ทั้งการยัดเยียดฉากดราม่าเข้ามาแบบอัดล้นจนละครหลังข่าวหรือหนังเมโลดราม่ายังต้องอาย บทภาพยนตร์ที่ขาดความลื่นไหลและไร้เหตุผล การแสดงที่ไม่เป็นทีมเดียวกันจนเหมือนจับเอาตัวละครจากหนังคนละเรื่องมาอยู่ด้วยกัน ยิ่งบวกกับงานสร้างของหนังที่ออกมาราคาถูกจนไม่น่าเชื่อว่านี่เป็นเหตุการณ์คอขาดบาดตายระดับประเทศ ด้วยภาพรวมของหนังทั้งหมดนี้ทำให้ผู้ชมต้องใช้ความพยายามมากกว่าปกติถึงจะเชื่อและเกิดอารมณ์ร่วมไปกับหนังได้ ซึ่งเมื่อเทียบกับหนังเรื่องก่อนๆ ของพงษ์พัฒน์อย่าง Me, Myself หรือ Happy Birthday ที่เขาสามารถควบคุณภาพรวมของหนังได้อย่างดีเยี่ยมแล้ว ทำให้ผู้ชมหลายท่านอดรู้สึกไม่ได้ว่า มาคราวนี้ผู้กำกับมือตก และทำให้หนังเรื่องนี้มีสิทธิ์เข้าข่าย หนังที่น่าผิดหวังที่สุดแห่งปี ไปอีกเรื่อง (หลังจากที่ตลอดปีมานี้ ผู้ชมหนังไทยต้องผิดหวังกับหนังไทยมากมายหลายเรื่องในปริมาณที่ใช้นิ้วมือบวกนิ้วเท้านับได้ไม่หมด)

แต่ถึงกระนั้น สิ่งที่ทำให้ชิงหมาเถิดมีความพิเศษและไม่ใช่หนังที่ดูจบแล้วจบเลยเหมือนหนังไทยที่ชวนให้ผิดหวังเรื่องอื่น นั่นคือ การเสียดสีสังคม-การเมืองอย่างหนักหน่วง (ซึ่งชวนให้คิดถึงหนังอีกเรื่องที่มีคำว่าหมาอยู่บนชื่อเรื่องเหมือนกัน นั่นคือ “หมานคร”) ถึงแม้ว่าเหตุการณ์ในเรื่องจะเกิดที่ประเทศสมมติและสถานการณ์หลักในเรื่องอย่างการขโมยสัตว์สำคัญของชาติจะไม่มีอะไรเชื่อมโยงกับสถานการณ์ปัจจุบันเลย แต่ด้วยความที่หนังมีการจำลองลักษณะของคนในสังคมกลุ่มต่างๆ ผ่านทางตัวละครเอกแต่ละตัวในหนัง (ทำให้ผมอดคิดเล่นๆ ไม่ได้ว่า หรือว่านี่คือสาเหตุที่ทำให้ตัวละครเอกในหนังเรื่องนี้ดูไม่สมจริง เหตุเพราะผู้สร้างต้องการสร้างให้ตัวละครมีสถานะเป็นแค่หุ่นโชว์สัญลักษณ์แทนที่จะสร้างให้เป็นมนุษย์ที่มีเลือดเนื้อ?) อีกทั้งยังมีการแฝงความคิดทางการเมืองอย่างเด่นชัดจนแทบไม่ต้องเสียเวลาถอดรหัส จึงไม่น่าแปลกใจถ้าในอนาคต หนังเรื่องนี้จะกลายเป็นเหมือนจดหมายเหตุแห่งยุคกลายๆ ในการบันทึกเหตุการณ์และความคิดของคนหลากหลายกลุ่มในสังคมได้เป็นอย่างดี (ซึ่งคนหลากหลายกลุ่มนั้น มีทั้งตัวละครที่อยู่ในหนังและอยู่นอกหนังนั่นคือความคิดของ “ผู้สร้าง”หนังเรื่องนี้รวมไปด้วย)

เรื่องราวในหนังเกิดขึ้น ในช่วงเวลาที่ใกล้ถึงงานฉลองครบรอบวันเกิด 1 ปีของ “หมาหิมะ” หมาพันธุ์พิเศษซึ่งกำลังเป็นขวัญใจของคนทั้งประเทศ ที่ประเทศทางหิมาลัยมอบให้เป็นของขวัญระหว่างประเทศ แต่ก็ใช่ว่าทุกคนในประเทศจะรักหมาตัวนี้ เมื่อคนสามคนที่มีภูมิหลังต่างกันแต่เกลียดหมาหิมะเหมือนกันอย่าง เด่น (โก๊ะตี๋ อารามบอย) หนุ่มหาเช้ากินค่ำ, อาร์ท (มาริโอ เมาเร่อ) หนุ่มเนิร์ดอัจฉริยะ, แบ๊งค์ (ปกรณ์ ฉัตรบริรักษ์) ลูกชายคนใหญ่คนโตที่ชอบเอาแต่ใจตัวเอง มาเจอกัน ในที่สุดทั้งสามคนนี้ก็ได้ตกกระไดพลอยโจนร่วมกันลักพาตัวหมาหิมะไปจากโดมที่พักอาศัยของมัน จากนั้นเหตุการณ์ชุลมุนก็ได้เริ่มต้นขึ้น เมื่ออาชญากรรมที่พวกเขามองว่าเป็นเรื่องเล็กๆ กลับลุกลามใหญ่โตจนถึงระดับประเทศชาติและร้ายแรงจนถึงระดับความเป็นความตาย



สิ่งที่น่าสนใจ คือ หนังไม่ได้สร้างให้มีตัวละครฝ่ายพระเอก-ผู้ร้ายที่มีลักษณะขาว-ดำชัดเจน ตัวละครทุกตัวล้วนแต่มีข้อบกพร่อง หนังมีท่าทีตั้งคำถามกับสังคมและมองทุกฝ่ายด้วยสายตาตำหนิเหมือนกันหมด และเนื่องจากเส้นเรื่องหลักของหนังเรื่องนี้ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าการไล่ล่ากัน สิ่งที่น่าสนใจมากกว่าและสมควรนำมาพูดถึงและวิเคราะห์ต่อ ก็คือ แง่มุมของตัวละครแต่ละตัวซึ่งเหมือนเป็นตัวแทนจากคนละกลุ่มของสังคม ดังจะสามารถอธิบายได้ดังต่อไปนี้
ตัวละครที่เป็นตัวเดินเรื่องหลักและมีเวลาบนจอมากที่สุด ได้แก่ แบ๊งค์ ในบรรดาทีมขโมยหมาทั้ง 3 คน เขาถือเป็นแกนนำและเป็นคนกำหนดแผนการนี้ทั้งหมด เขาเป็นลูกคนใหญ่คนโตที่ทำหน้าที่ดูแลหมาหิมะ (โกวิทย์ วัฒนกุล) แบ๊งค์มีฐานะร่ำรวย และคิดว่าเงินจะสามารถจัดการกับทุกปัญหาได้ ปมที่ทำให้เขาเกลียดหมาหิมะ ก็คือ การที่พ่อของเขาสนใจแต่หมาตัวนี้แต่ไม่เคยสนใจลูกชายตัวเองเลย เขาจึงคิดที่จะฆ่าหมาหิมะเพื่อล้างแค้น ซึ่งหากเราวิเคราะห์ให้ลึกลงไปจะพบว่า หมาหิมะเป็นสิ่งที่ช่วยในการถืออำนาจของพ่อแบ๊งค์ (ถ้าหมาหิมะตายหรือประชาชนจับได้ว่าหมาตัวนั้นเป็นของปลอม พ่อของแบ๊งค์ก็จะหมดสิ้นอำนาจลงในทันที) ซึ่งการกระทำของแบ๊งค์นั้นถือว่า มาจากปมโอดิปุส (Oedipus complex) ที่ต้องการทำลายพ่อของตัวเอง เหตุการณ์พลิกผันจากในตอนแรกที่เขาคิดจะฆ่าหมาหิมะด้วยความแค้น แต่ตอนหลังเมื่อเขาพบว่าหมาหิมะสามารถถูกใช้เป็นเครื่องมือเปิดโปงความจอมปลอมของพ่อตัวเองได้ เขาเลยตัดสินใจใช้มันเพื่อแบล็คเมล์ แต่ช่างเป็นเรื่อง irony ที่ทั้งๆ ที่เขาตาสว่างเรื่องหมาแล้ว แต่แล้วในตอนจบเขากลับตัดสินใจทิ้งอาวุธของเขาเองคือ “การเปิดโปง” หรือ “ความจริง” กลับไปยอมตาบอดอีกครั้ง เหตุเพราะไม่อยากทำให้ประชาชนที่รักหมาหิมะผิดหวัง ทำให้พ่อเขาสามารถใช้เขาเป็นเครื่องมือในการเสริม “Propaganda” ให้หมาหิมะเพื่อใช้มันหลอกลวงประชาชนได้อีกครั้ง ซึ่งนั่นแปลว่า สิ่งที่เขาทำมาทั้งหมดสูญเปล่า และการที่แบ๊งค์ยอมจำนนต่อความลวงนั้น ผลลัพธ์ที่เขาได้รับก็คือ การถูกกำจัดเพื่อให้ความลับนั้นยังอยู่ต่อไป

ตัวละครเด่นอีกตัวที่มีลักษณะตรงข้ามและเหมือนเป็นคู่เปรียบเทียบกับแบ๊งค์ นั่นคือ “เด่น” ช่างซ่อมรถที่ถูกให้ออกจากงานด้วยสาเหตุเรื่องความขี้เกียจและขี้โกง เขาเป็นตัวละครที่เสียงดัง โวยวายน่ารำคาญ เรียกร้องความสนใจจากตัวละครอื่นในหนังและเรียกร้องความสงสารจากคนดูหนังมากที่สุด (สิ่งที่ชวนให้รู้สึก irony ก็คือ ผู้ชมคาดหวังจะได้เห็น โก๊ะตี๋ ในบทนี้ปล่อยมุกตลกเยอะๆ แต่เอาเข้าจริงๆ เขากลับได้บทที่เครียดและชวนให้หดหู่มากที่สุด) มุมมองที่หนังมีต่อตัวละครตัวนี้น่าสนใจ และสะท้อนให้เห็นถึงมุมมอง (หรือมายาคติ?) ที่ชนชั้นกลางในปัจจุบันมองชนชั้นล่างได้ดี นั่นก็คือ เป็นมุมมองในเชิง Dramatize เห็นใจเด่นในความลำบาก และรับรู้ถึงปัญหาในชีวิตที่เด่นต้องพบเจอ แต่ขณะเดียวกันก็มองตัวละครนี้ว่าขี้เกียจขี้โกง และตำหนิตัวละครตัวนี้ผ่านปากหมอเมย์ ว่าสาเหตุที่ออกมาประท้วงหมาหิมะจนลุกลามไปถึงขั้นขโมยนั้น เกิดจากเด่นถูกหลอกและเห็นแก่เงินเพียงอย่างเดียว (ซึ่งประเด็นนี้ขัดแย้งกับสิ่งที่เมียของเด่นพูดตอนแรกว่า เด่นประท้วงจนทำให้ตัวเองเดือดร้อน ไม่มีเวลาหาเงิน นั่นทำให้เกิดเป็นความซับซ้อนโดยไม่ตั้งใจว่า ตกลงแล้วสิ่งใดเป็นตัวจุดประกายให้เด่นประท้วงกันแน่ ระหว่างเงินกับอุดมการณ์ หรือทั้งคู่?) และสิ่งที่ตัวละครตัวนี้ทำมาตลอดทั้งเรื่องคือ การแส่หาเรื่อง ถ้าอยู่เฉยๆ เด่นก็คงไม่ถูกยิงตาย นั่นสอดคล้องกับสิ่งที่หลายคนในสังคมสมัยใหม่มีต่อชนชั้นล่าง นั่นคือ เห็นใจ หรือถ้าเดือดร้อนก็ช่วยเหลือด้วยของบริจาค (ดังจะเห็นจะจากกรณีที่คนกทม.ส่งเงินหรือสิ่งของไปช่วยเหลือผู้เดือดร้อนจากโศกนาฏกรรมสึนามิหรือน้ำท่วม แต่หากจะปล่อยให้น้ำไหลมาท่วมกทม.นั้น ไม่มีวันซะหรอก) แต่หากคนจนคนนั้นคิดจะประท้วงหรือก่อความวุ่นวายเพื่อความเชื่อหรือเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง ปฏิกิริยาที่เขาจะได้รับไม่ได้เป็นการโต้แย้งประเด็นที่พวกเขาชึ้นมาแต่เป็นพวกเขาจะถูกตราหน้า (ด้วยน้ำเสียงเห็นใจ?) ว่าถูกหลอกหรือถูกจ้างมา และผลกรรมของการแส่หาเรื่องและสร้างความเดือดร้อนให้สังคมจนเกินควรคือ การถูกกำจัดตามแบ๊งค์ไปอีกคน

ตัวละครหลักอีกตัวที่บทน้อยกว่าอีก 2 คน คือ อาร์ท ซึ่งถูกนำเสนอในรูปแบบของ nerd เต็มตัว เขาเป็นเซียนคอมพิวเตอร์ ที่ไม่สามารถปรับตัวอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริงได้ และใช้วิธีอื่นในการสื่อสารแทนการพูด (จนทำให้สิ่งที่ผู้ชมลุ้นที่สุดในหนัง ไม่ใช่ว่าแก๊งค์ขโมยหมาจะหนีจากกระสุนของนักฆ่าสำเร็จหรือไม่ แต่เป็นว่า ตัวละครนี้จะอ้าปากพูดตอนไหนเสียมากกว่า) เขาเป็นอัจฉริยะคอมพิวเตอร์ซึ่งเมื่อก่อนเคยได้รับรางวัลโล่เกียรติบัตรมากมายและเคยโด่งดังอยู่ในกระแสสังคม (เหมือนกับหมาหิมะในปัจจุบัน) แต่ในตอนนี้กลับถูกคนในสังคมลืมประหนึ่งสิ่งที่ตกกระแส ซึ่งนั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้เขาลุกขึ้นมาแก้แค้นสังคมด้วยการขโมยหมามาชั่วคราวแล้วจะเอากลับไปคืน แต่สุดท้ายเรื่องราวกลับลุกลามไปมากกว่าที่เขาคิดและทำให้เขาตระหนักว่า ความเป็นอัจฉริยะของเขาก็ไม่ได้ทำให้เขาได้รับการยอมรับจากสังคมหรือหลุดพ้นจากความตายไปได้



จะเห็นว่า ตัวละครหลักทั้งสามคนนั้นมีสถานะภาพและมีจุดประสงค์ต่อการขโมยหมาที่ต่างกัน แต่ถึงกระนั้นทั้งสามคนก็มีจุดร่วมบางประการที่เหมือนกัน คือ มีปมในจิตใจที่ไม่อยากเป็นคนที่ถูกลืม อยากเป็นคนที่สังคมจดจำได้ ผ่านบทพูดที่ตัวละครหลักทั้งสามพร่ำบอกแต่ประโยคนี้ซ้ำๆ (ซึ่งเป็นไปที่แอนดี้ วอร์ฮอล์ ศิลปะร่วมสมัยเคยทำนายไว้ถึงปมอยากดังของคนในสังคมสมัยใหม่) นอกจากนั้นแล้วทั้งสามคนยังมีปมปัญหาเดียวกันนั่นคือ เรื่องปัญหาพ่อ-ลูก ขณะที่เด่นไม่สามารถทำหน้าที่เป็นพ่อที่สมบูรณ์แบบของลูกสาว (ซึ่งก็ไม่ใช่ลูกสาวแท้ๆ ของเขา) ได้ด้วยสภาวะบีบคั้นหลายอย่าง อาร์ทและแบ๊งค์นั้นก็เป็นลูกไม่ได้รับการดูแลจากพ่อเพียงพอจนทำให้ทั้งคู่เกิดปมปัญหาในใจขึ้น (พ่อของอาร์ทบ้าคอมพิวเตอร์-พ่อของแบ๊งค์บ้าหมาหิมะจนไม่สนใจลูก) ซึ่งนอกเหนือจากปมอยากดังแล้ว ปมเรื่องพ่อลูกและครอบครัวที่ไม่สมบูรณ์ก็ถือเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ผลักดันให้ตัวเอกทั้งสามคนขโมยหมาตัวนี้

นอกจากนั้นแล้ว ยังมีตัวละครอื่นๆ ที่น่าสนใจอีกมากมาย ทั้งหมอเมย์ (ณัฐปภัสร์ ธนาธนมหารัตน์) สัตวแพทย์ผู้ดูแลหมาหิมะและเป็นแฟนเก่าของแบ๊งค์ ตัวละครตัวนี้มีสถานะเป็น “wake up call” หรือเสียงแห่งสามัญสำนึกให้กับตัวละครตัวอื่น เธอมีลักษณะทางความคิดที่ลอยตัวอยู่เหนือทุกปัญหา แม้เธอจะเห็นใจฝ่ายขโมยหมาแต่เธอก็มองความขัดแย้งทุกอย่างว่าเป็นเรื่องไร้สาระและเฝ้าคอยบอกตัวละครทั้งสามอยู่เรื่อยๆ ว่า การที่พวกเขาสนใจแต่ตัวเองโดยที่ไม่แคร์ว่าจะทำให้สังคมเดือดร้อนขนาดไหนนั้นไม่ใช่ผลดีและเสนอแนะให้ทุกคนกลับไปทำหน้าที่ของตัวเอง แล้วทุกอย่างจะกลับมาดีเอง (ซึ่งอ่านระหว่างบรรทัดได้ว่า ใครไม่ได้รับความเป็นธรรมในสังคมก็ให้กล้ำกลืนฝืนทนแล้วกลับไปทพะงานของตัวเองต่อ?)และสุดท้ายเธอก็ลอยตัวสำเร็จเมื่อเธอกลายเป็นตัวละครที่อยู่กับฝ่ายขโมยหมาเพียงคนเดียวที่รอดชีวิตจากนักฆ่ามาได้ถึงตอนจบ แต่ถึงกระนั้นก็น่าคิดว่าที่จริงแล้วเธอสามารถลอยตัวเหนือความขัดแย้งและไม่ยุ่งเกี่ยวกับปัญหาทุกสิ่งได้จริงไหม ในเมื่อเธอก็เป็นหนึ่งในกลไกของกระบวนการสร้างปัญหา จากการที่เธอมีส่วนร่วมในการปิดบังความจริงเรื่องหมาหิมะตั้งแต่ต้นแบบนี้

และที่จะพูดถึงไม่ได้ ก็คือ ตัวหมาหิมะเอง สิ่งที่เหนือชั้นที่สุดในบทหนังเรื่องนี้ คือ การกำหนดให้หมาหิมะจริงแล้วเป็นหมาปลอม ซึ่งผู้มีอำนาจหาตัวแทนมาแทนตัวจริงที่ตายไปแล้วเพื่อหลอกให้ประชาชนหลงเชื่อต่อไปแทนที่จะบอกความจริงกับประชาชนไปตรงๆ ซึ่งถึงแม้หมาตัวปัจจุบันจะเป็นของปลอม แต่ด้วยความที่หมาตัวนี้เป็นสิ่งที่นำความสุขมาให้คนทั้งประเทศ เป็นเหมือนที่ยึดเหนี่ยวจิตใจคน (ขนาดลูกสาวของเด่นผู้เกลียดชังหมาหิมะยังรบเร้าให้เด่นพาไปดูให้ได้) และเป็นสิ่งที่ผบ.ตร.ให้ความสำคัญยิ่งกว่าจังหวัดชายแดนที่กำลังจะถูกยึด (ซึ่งหนังพูดถึงประเด็นหลังในเชิงเสียดสีขำๆ) ซึ่งพอแบ๊งค์ตระหนักถึงความจริงข้อนี้ ก็เลยทำให้เขาที่รู้ความจริงทั้งหมด กลับต้องยอมสยบให้ความลวงอีกครั้ง เหตุเพราะความลวงนั้นสามารถสร้างความสุขให้ประชาชนได้ (ซึ่งพอผู้เขียนดูถึงฉากนี้ ผู้เขียนที่เป็นฟุ้งซ่านก็ดันทะลึ่งคิดไปถึงประเด็นในหนังไทยชื่อออกแนวหมาๆ อีกเรื่อง นั่นคือ “คนกราบหมา” ของผู้กำกับอิ๋ง เค ที่เคยโดนแบนจากรัฐบาลมาแล้ว) ซึ่งตอนจบของหนังเรื่องนี้ ทำให้ผมคิดถึงหนังอย่าง “15 ค่ำเดือน 11” ซึ่งตั้งคำถามเกี่ยวกับปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาคที่ยังหาข้อสรุปไม่ได้ ซึ่งตอนจบของหนังทั้งสองเรื่องนั้นอาจจะไม่ใช่ตอนจบที่ดีที่สุดแต่ก็เป็นตอนจบที่เหมาะสมกับสังคมในรูปแบบไทยๆ ดี คือ อะรุ่มอะหร่วย และทนอยู่กันไปในสไตล์หวานอมขมกลืน “แบบไทยๆ”

โดยสรุปแล้ว ทางออกของปัญหาเรื่องหมาปลอมนี้ หนังเรื่องชิงหมาเถิดเสนอแนะทางออกว่า เราควรกินยาเม็ดสีน้ำเงินของมอร์เฟียสต่อไป เพราะการกินยาเม็ดสีแดงให้หลุดออกจาก The matrix เพื่อปลุกคนที่ถูกหลอกนั้นไม่ได้ประโยชน์อะไร เพราะโลกแห่งความเป็นจริงนั้นโหดร้าย สู้อยู่ในโลกแมทริกซ์ ชิลๆ ขำๆ แบบเดิมดีกว่า พิจารณาถึงตรงนี้คงไม่ผิดนักถ้าจะบอกว่า หนังเรื่องนี้มันช่างเป็นอะไรที่ “ไทยๆ” เสียเหลือเกิน

ชิงหมาเถิด (The Dog) กำกับ –พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง แสดง – ปกรณ์ ฉัตรบริรักษ์, โก๊ะตี๋ อารามบอย, มาริโอ้ เมาเร่อ, พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง, โกวิทย์ วัฒนกุล, ณัฐปภัสร์ ธนาธนมหารัตน์ บทภาพยนตร์ – วรรคทอง อำนวยการสร้าง – ธัญญา วชิรบรรจง, ปิยะลักษณ์ มหาธนทรัพย์ กำกับภาพ -สยมภู มุกดีพร้อม ออกแบบงานสร้าง – ขวัญชัย แก้วมาก ออกแบบเครื่องแต่งกาย - นพดล เตโช เรต น 18+



Create Date : 13 กุมภาพันธ์ 2554
Last Update : 13 กุมภาพันธ์ 2554 6:43:38 น. 2 comments
Counter : 5365 Pageviews.

 
ก่อนดูไม่ได้คาดหวัง ไม่เคยดูหนังของพี่อ๊อฟ พอดีช่วงนั้นไม่มีอะไรจะดู พอได้ดูแล้ว ก็รู้สึกชอบค่ะ สนุกดี


โดย: lemon t IP: 125.25.113.112 วันที่: 13 กุมภาพันธ์ 2554 เวลา:9:02:44 น.  

 
จะทำหนังตลก หรือหนังชีวิต ก็เลือกเอาซักอย่าง หนังมั่วๆ เสียดายโก๊ะตี๋ไม่น่ามาเล่นให้เสียราคา..อีกอย่าง ภาษาที่ใช้มีแต่คำหยาบ..เ.ี้ย ทั้งเรื่อง ยกให้เป็นหนังสุดห่วยแห่งปี


โดย: เสียดายเวลา IP: 124.122.145.214 วันที่: 13 กุมภาพันธ์ 2554 เวลา:15:05:17 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ฟ้าดิน
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]




ความจำสั้น ความฝันยาว.....
Friends' blogs
[Add ฟ้าดิน's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.