ฉันเป็นดั่งนกไร้ขา บินไปบินมาไร้จุดหมาย โอกาสลงดินนั้นไซร้ ต่อเมื่อความตายมาเยือน
Group Blog
 
<<
กันยายน 2552
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
27282930 
 
16 กันยายน 2552
 
All Blogs
 
+-+-+-+-+บทวิจารณ์หนังเชิงการเมือง "Wonderful Town คนในไม่อยากออก คนนอกอยากเข้า"+-+-+-+-+

บทความนี้เป็นบทวิจารณ์ที่ผมส่งไปให้นิตยสารฉบับหนึ่งแต่ไม่ได้ลงตีพิมพ์
บทความนี้อาจมีข้อบกพร่องหลายอย่าง อาทิเช่น หลักทฤษฎีและการวิเคราะห์ ในหลายตอน ที่เข้าขั้น "แถ" อยู่บ้าง
แต่ถึงอย่างไร บทความนี้ก็เป็นบทความที่ผมพอใจในระดับหนึ่ง จนไม่อยากจะปล่อยให้มันถูกทิ้งไว้ในสายลม เลยขออนุญาตเอามาลงไว้ในบลอกนี้
อ่านหรือรู้สึกอย่างไร ชอบหรือไม่ชอบตรงไหน ก็ comment ทิ้งไว้ได้นะครับ อยากได้คำติมากๆ เพราะจะได้เอาไปปรับปรุงเวลาเขียนครั้งต่อไป
ขอบคุณครับ


********************





หมายเหตุ - บทความนี้มองเมืองตะกั่วป่าและผู้คนในเมืองในฐานะเมืองสมมติที่ผู้กำกับใช้สื่อเป็นสัญลักษณ์เท่านั้น ไม่ได้พิจารณาถึงสภาพที่ตัวเมืองนี้เป็นจริงๆ
บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อเรื่องบางส่วนของภาพยนตร์



คนทำหนัง


หากจะเปรียบภาพยนตร์เรื่อง Wonderful Town ของผู้กำกับอาทิตย์ อัสสรัตน์ด้วยสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพื่อให้เห็นภาพรวมของภาพยนตร์เรื่องนี้แบบง่ายๆ แล้ว …
ภาพยนตร์เรื่องนี้น่าจะเปรียบได้กับ สึนามิ

ด้วยความที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ดำเนินเรื่องด้วยชุดเหตุการณ์แบบเดิมๆ เรื่อยๆ ซ้ำไปซ้ำมา ไม่หวือหวา ดุจดังคลื่นทะเลที่ ซัดสาดชายหาดยามท้องทะเลสงบ
แต่บทจะลุกขึ้นมาอาละวาดเมื่อไร คลื่นที่เคยเงียบสงบก็พลิกผันกลับกลายเป็นกระแสคลื่นอันสุดแสนจะเกรี้ยวกราดเกินที่จะคาดเดา
หลังจากสร้างความเสียหายจนถึงที่สุดแล้ว ทันใดนั้นท้องทะเลก็พลันกลับคืนสู่ความสงบดังเดิม เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น
ราวกับว่า โศกนาฏกรรมที่เพิ่งผ่านไปเป็นเพียงฝันร้ายในชั่วค่ำคืนเท่านั้น

เรื่องเล่าเรื่องของต้น (ศุภสิทธิ์ แก่นเสน) สถาปนิกหนุ่มผู้เดินทางมาที่ อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา หลังเกิดเหตุโศกนาฏกรรมสึนามิที่ชายหาดบริเวณนั้นไม่นาน
ต้นมาที่ตะกั่วป่าเพื่อคุมงานซ่อมแซมรีสอร์ทที่ถูกทำลายจากคลื่นสึนามิ ระหว่างนั้น เขาเลือกที่จะพักอยู่ในโรงแรมเก่าๆ ในเมือง ซึ่งไม่ค่อยมีคนมาพักสักเท่าไร โดยโรงแรมแห่งนี้มี นา (อัญชลี สายสุนทร) และครอบครัวเป็นคนดูแลกิจการ
ด้วยลักษณะนิสัยที่ต่างกัน โดยต้นเป็นคนพูดเก่ง ชอบชวนคุย และนาเป็นหญิงสาวขี้อาย เงียบขรึม แต่พอคนทั้งคู่ได้รู้จัก พูดคุย ใกล้ชิดกัน สุดท้ายก็เกิดเป็นความรักขึ้นมา
โดยเรื่องราวความรักของทั้งคู่ ถูกจับตามองโดยวิทย์ (ดล แย้มบุญยิ่ง) น้องชายของนา และชาวบ้านในเมือง ที่ไม่ว่าอย่างไร ต้นก็เป็นได้แค่คนนอกสำหรับพวกเขา
และด้วยความเกลียดชังที่ก่อขึ้นในจิตใจของใครบางคน ทำให้เรื่องราวทั้งหมดจบลงแบบโศกนาฏกรรม

หากจะมองทางด้านการตลาด ภาพยนตร์ Wonderful Town ผลงานกำกับของอาทิตย์ อัสสรัตน์เรื่องนี้มีความพิเศษอย่างหนึ่ง ซึ่งถ้าจะอธิบายคงต้องหยิบยืมคำเดียวกับคำที่ใช้กล่าวถึงจิตร ภูมิศักดิ์
นั่นคือ Wonderful Town เป็นภาพยนตร์ที่ “เกิดใหม่ 2 ครั้ง”
โดยครั้งแรก ภาพยนตร์เรื่องนี้ถูกฉายในรูปแบบทั้งจำกัดโรงและจำกัดรอบ1 มีผู้ชมผ่านตาไม่มาก และสุดท้ายก็ลาโรงไปอย่างรวดเร็ว แต่ถึงกระนั้น จากการจัดอันดับหนังยอดเยี่ยมแห่งปีของนักวิจารณ์และผู้ชมส่วนใหญ่ต่างก็ยอมรับว่า นี่เป็นหนังไทยที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่งแห่งปี
ตอนหลัง Wonderful Town ได้เกิดใหม่เป็นครั้งที่สอง เมื่อหนังเรื่องนี้กลายเป็น “ม้ามืด” คว้ารางวัลสุพรรณหงส์ สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมไปครองได้สำเร็จ จนหนังเรื่องนี้ได้เข้าสู่กระแสสังคมอีกครั้ง มีคนพูดถึงหนังเรื่องนี้มากมาย หลายคนอยากลองดูภาพยนตร์เรื่องนี้ ส่งผลให้ภาพยนตร์เรื่องนี้กลับมาฉายที่โรง SF World Cinema อีกครั้ง ด้วยจำนวนรอบที่มากกว่าเดิม คือ วันละ 2 รอบ
แต่ก็นั่นก็ส่งผลให้เกิดข้อกังขาเกี่ยวกับภาพยนตร์เรื่องนี้มากมาย บ้างก็บอกว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้มีการดำเนินเรื่องที่ราบเรียบเกินไป ดูไม่รู้เรื่อง บ้างก็ว่า Wonderful Town ไม่เหมาะกับรางวัลเหตุเพราะภาพยนตร์เรื่องนี้ค่อนข้างมีลักษณะเฉพาะแนว เกินกว่าที่จะคว้ารางวัลในสายประกวดกระแสหลักได้
ความจริง ถ้าเป็นในปีอื่น ผมเชื่อว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้คงไม่ได้รับการเหลียวแลจากเวทีรางวัล เพราะลักษณะการแจกรางวัลภาพยนตร์ในประเทศไทยมีแนวโน้มจะมอบรางวัลให้กับภาพยนตร์ที่อยู่ในกระแสหลักและมีการดำเนินเรื่องที่เข้าถึงคนส่วนใหญ่มากกว่าหนังที่เรียกร้องความสนใจในการรับชมจากผู้ชมอย่างสูงเรื่องนี้ (จะเห็นได้จากภาพยนตร์เรื่อง สัตว์ประหลาดของอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุลที่ได้รางวัล Jury Prize จากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์แต่กลับไม่ถูกนำมาพิจารณาในรางวัลชมรมวิจารณ์บันเทิง มีคณะกรรมการท่านหนึ่งให้เหตุผลว่า ก่อนอื่นอภิชาติพงศ์ต้องพิสูจน์ให้ผู้ชมเห็นว่า เขาทำหนังเป็นก่อน) น่าจะเป็นเพราะปี 2551 เป็นปีที่คุณภาพของภาพยนตร์ไทยลดลงฮวบฮาบอย่างน่าใจหาย จนแค่หาผู้เข้าชิงให้ครบ 5 เรื่องก็ยากเต็มที่นี้ Wonderful Town จึงสามารถหลุดเข้ามาชิงจนพลิกกลายมาเป็นฝ่ายชนะได้
ความจริงที่ผมใช้คำว่าม้ามืดก็ไม่น่าจะถูกต้องนัก เพราะถ้าเราคิดว่า รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมควรถูกมอบให้กับภาพยนตร์ที่ “ยอดเยี่ยม” จริงๆ ไม่คิดถึงปัจจัยอื่น Wonderful Town ก็ถือเป็น “ตัวเต็ง” ที่สมควรได้รับรางวัลนี้จริงๆ

แต่คิดอีกแง่ การที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ “ถูก” โยนเข้ามาอยู่ในสป็อตไลท์ มีข้อดีตรงที่ทำให้ผู้ชมคนไทยได้เห็นว่า ยังมีภาพยนตร์ไทยที่มีลักษณะต่างจากกระแสหลักที่น่าสนใจ และสมควรถูกจัดให้อยู่ในเรต ควรได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐ มากกว่าหนังประเภทชาตินิยมหรืออะไรนิยมก็ตามที่มีการเกณฑ์นักเรียนเข้าโรงหนังเสียอีก

เรามาพูดถึงตัวหนังกันบ้าง Wonderful Town ของอาทิตย์ อัสสรัตน์มีองค์ประกอบหลายอย่างที่ชวนให้ผมนึกถึงภาพยนตร์ของอภิชาติพงษ์ วีระเศรษฐกุล (แสงศตวรรษ, สัตว์ประหลาด, สุดเสน่หา) ไม่ว่าจะเป็นบรรยากาศของหนัง การแสดง การตัดต่อ การถ่ายภาพ เสียงประกอบและดนตรีประกอบ แต่นั่นน่าจะเกิดจากมุมมองทางศิลปะของทั้งคู่ที่คล้ายคลึงกันมากกว่าการลอกเลียน

สาเหตุใหญ่อีกสาเหตุที่ทำให้ผมอดคิดถึงภาพยนตร์ของอภิชาติพงษ์ไม่ได้ ก็คือ โครงสร้างของ Wonderful Town มีการแบ่งออกเป็นสองตอนอย่างชัดเจน และเป็นสองตอนที่มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน คล้ายกับภาพยนตร์ของอภิชาติพงษ์หลายๆ เรื่อง
ซึ่งถ้าใครได้ดู Wonderful Town แค่เพียงครึ่งแรก อาจจะคิดว่า นี่เป็นภาพยนตร์รักโรแมนติกเรื่องหนึ่ง เพราะบรรยากาศโดยรวมของภาพยนตร์ช่วงแรกดูสดใส มีความหวังเสียเหลือเกิน ด้วยภาพในส่วนนี้มีความสว่าง ประกอบกับดนตรีประกอบฟังสบายหู ยิ่งได้เพลงของธีร์ ไชยเดชมาประกอบด้วย ยิ่งทำให้ผู้ชมคาดเดาว่า Wonderful Town น่าจะเป็นภาพยนตร์ตระกูล Feel Good ที่มีการผลิตออกมามากมายในช่วงนี้อีกเรื่องหนึ่ง
แต่อาทิตย์ก็ไม่ได้ทำในสิ่งที่ผู้ชมคาดหวัง บรรยากาศในครึ่งหลังเปลี่ยนจากครึ่งแรกจากหน้ามือเป็นหลังมือ ภาพยนตร์ดูหมองหม่นลงอย่างเห็นได้ชัด แสงในหนังมืดลง ดนตรีประกอบให้ความรู้สึกเหมือนถูกคุกคาม บรรยากาศโดยรวมชวนอึดอัดจนคนดูหายใจไม่ทั่วท้อง
และนั่นก็เป็นความมืดมิดที่ทอดยาวต่อไปตลอดเรื่อยๆ ราวกับผู้ชมติดอยู่ในอุโมงค์ที่ไม่เห็นทางออก และกลายเป็นความมืดมิดที่สุดเมื่อถึงช่วงท้ายของภาพยนตร์ เมื่อความคาดหวังของคนดู ที่หนังช่วงต้นๆ ปูเอาไว้ถูกทำลายเสียจนหมดสิ้น

จุดเด่นที่ใครที่ได้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้น่าจะสังเกตเห็นคือ Wonderful Town เป็นภาพยนตร์ที่เรียบง่าย สมจริง มีพลัง บรรยากาศในภาพยนตร์นิ่ง เงียบ มีการเว้นช่องว่างค่อนข้างมาก ช่องว่างมีมากขนาดไหนจะเห็นได้จาก แม้ Theme หลักของหนังจะกล่าวถึงความเสียหายหลังเกิดเหตุสึนามิแต่ตัวหนังก็ไม่เคยถ่ายให้เห็นถึงเหตุการณ์สึนามิโดยตรง ซึ่งอย่าว่าแต่เห็นตัวเหตุการณ์จริงเลย กว่าตัวละครในเรื่องจะพูดถึงเหตุการณ์นี้ก็ปาไปหลังครึ่งเรื่องแล้ว แต่ถึงกระนั้นบรรยากาศของความสูญเสียก็ลอยตลบอบอวลให้ผู้ชมสัมผัสได้ตลอดทั้งเรื่อง
อีกทั้งเหตุการณ์ส่วนมากในภาพยนตร์ล้วนแต่ดูซ้ำๆ เหมือนไม่มีอะไรคืบไปข้างหน้า แต่จริงๆ แล้วใต้เหตุการณ์ซ้ำๆ นั้นมีอะไรซ่อนอยู่เต็มไปหมด และคืบไปข้างหน้าในรูปแบบคลื่นใต้น้ำ เพียงแต่ภาพยนตร์เรียกร้องให้ผู้ชมต้องค้นหาเอง
อีกทั้งบรรยากาศที่ถ่ายให้เห็นความเวิ้งว้างว่างเปล่าของเมืองโดยแทบไม่มีชาวเมืองหลุดเข้ามาในกล้องเลย
นักแสดงที่เล่นแบบน้อยได้มาก การกระทำของตัวละครหลายอย่างที่หาสาเหตุแน่นอนไม่ได้ ส่งผลให้พอภาพยนตร์จบแล้ว ผู้ชมจะรู้สึกเหมือนตกอยู่ในภวังค์ ประเภทหนังจบคนไม่จบ และยิ่งเวลาผ่านไปไป ตัวหนังก็จะยิ่งติดค้างอยู่ในหัวผู้ชมชนิดที่เรียกว่า สลัดไม่หลุด

สิ่งที่โดดเด่นและส่งผลต่อภาพรวมของหนังมาก ได้แก่ สถาปัตย์ของหนัง ทั้งตัวตึกรามบ้านช่องที่เสื่อมโทรมลงหลังจากเกิดโศกนาฎกรรม ภูมิสถาปัตย์ (Landscape) และพื้นที่ว่างในเรื่อง มีหลายครั้งที่ฉากและทัศนียภาพในเรื่องมีความเด่นจนกลบนักแสดงให้กลายเป็นตัวประกอบฉากไปเลย
ผมเคยได้สอบถามกับตัวอาทิตย์เองในรอบ Q & A อาทิตย์บอกว่า จุดเด่นนี้น่าจะเกิดมาจากการที่เขาลงไปดูสถานที่ถ่ายทำก่อนเขียนบทภาพยนตร์ ทำให้ฉาก ภาพและบรรยากาศโดยรวมสามารถกลมกลืนและ fit in ไปกับตัวหนังได้อย่างลงตัว จนสามารถทำให้เมืองนี้กลายเป็นอีกตัวละครสำคัญไปเลย
ยิ่งถ้าเรานำ Wonderful Town ไปเปรียบเทียบกับหนังที่เน้น “เมือง” อีกเรื่องหนึ่ง นั่นคือ สะบายดีหลวงพะบาง จะเห็นว่า แม้เหตุการณ์ในเรื่องหลังจะเกิดที่เมืองต่างๆ ในประเทศลาว แต่ผู้กำกับกลับเลือกที่จะนำเมืองในประเทศลาวมาเป็นฉากหลังให้กับการเดินทางของคู่พระนางมากกว่าจะสื่อถึงตัวเมืองนั้นๆ อย่างจริงจัง
แต่ถึงอย่างไร ได้อย่างก็ต้องเสียอย่าง ใช่ว่า การทำให้เมืองกลายเป็นตัวละครจะมีแต่ข้อดี ข้อเสียของมันคือ ด้วยความที่ต้องการให้เมืองส่งอิทธิพลต่อหนังไม่แพ้ตัวละคร ส่งผลให้ ภาพยนตร์เรื่องนี้จึงต้องมีการสร้างแคแรคเตอร์ของเมืองให้ชัดเจน เมืองใน Wonderful Town จึงดูไม่เหมือนตะกั่วป่าหรือเมืองที่อยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง ทำให้เมืองในเรื่องกลายเป็นเมืองในจินตนาการที่อาทิตย์จงใจสร้างมากกว่าจะอิงตามความเป็นจริง บวกกับช่องโหว่ในเรื่องอย่างเช่น ตัวละครในเรื่องไม่มีใครพูดภาษาท้องถิ่นเลย ตัวละครตัวรองและชาวบ้านดูแข็งๆ ไม่มีชีวิตจิตใจ ส่งผลให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่เหมาะกับการรับชมเพื่อศึกษาหาแง่มุมที่เป็นจริงของตัวเมืองตะกั่วป่า แต่นี่ก็ไม่ใช่อาชญากรรมร้ายแรงอะไร เพราะมันก็ไม่ต่างกับการที่ผู้กำกับหนังหลายคนดัดแปลงตัวละครในภาพยนตร์อัตชีวประวัติ เพื่อให้เข้ากับตัวภาพยนตร์มากกว่าเดิม ซึ่งอาจจะมองได้ว่า บิดเบือนความจริงหรือดัดแปลงเพื่อให้หนังดีขึ้นก็ได้ สุดแล้วแต่มุมมองของผู้มอง

อีกหนึ่งจุดเด่นของภาพยนตร์เรื่องนี้ คือ นอกจาก Wonderful Town จะเป็นภาพยนตร์ที่ขับเคลื่อนด้วยตัวละคร (Character-Drive Movie) เนื่องจากชุดของเหตุการณ์ในเรื่องมีไม่เยอะ เหตุการณ์ในเส้นเรื่องหลักจึงเดินหน้าไปด้วยการกระทำของตัวละครเพียงเท่านั้น ส่งผลให้ตัวละครหลักในเรื่องทั้งสามคนจึงมีความลึกเป็นพิเศษ ต้องชมอาทิตย์ที่สร้างตัวละครหลักทุกตัวออกมาได้อย่างลึกซึ้ง และนักแสดง โดยเฉพาะอัญชลี สายสุนทรที่เพิ่มเติมความลึกให้กับการแสดงที่สุดแสนจะเป็นธรรมชาติด้วย
ระหว่างนั้น อาทิตย์ยังสามารถทำให้ตัวละครมีความเป็น Symbolic หรือมีความเป็นสัญลักษณ์ไปอย่างควบคู่กันได้อย่างน่าประทับใจ
ที่ต้องชมตรงนี้ เพราะภาพยนตร์ส่วนใหญ่ ตัวละครที่เป็น Symbolic มักจะเป็นตัวที่ไม่เด่น เช่น The Host, Mulholland Drive หรือถ้ามีการใช้ตัวหลักเป็น Symbolic ตัวละครมักจะออกมาไม่ลึกมาก ยกตัวอย่างเช่น ตัวละครของหนัง M.Night Shyamalan ใน The Happening, Unbreakable หรือ Lady in Water ที่พยายามจะใส่ความเป็นสัญลักษณ์มากเกินไปจนผู้ชมไม่รู้สึกผูกพันกับชะตากรรมตัวละคร

แต่ Wonderful Town สามารถทำให้ตัวละครแค่ไม่กี่ตัว ถ่ายทอดถึงทั้งระบบได้ทั้งระบบ และถูกนำไปตีความได้หลายแนวคิด ดังต่อไปนี้

ก่อนอื่น ผมจะขอแบ่งตัวละครในภาพยนตร์เรื่องนี้ออกเป็นสองกลุ่ม ดังนี้





คนใน


คนกลุ่มนี้ ได้แก่ กลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในเมืองตะกั่วป่า ได้แก่ นา, วิทย์ รวมไปถึง ครอบครัวของนา, เพื่อนแก๊งมอเตอร์ไซค์ของวิทย์และชาวบ้านคนอื่นๆ
คนกลุ่มนี้อยู่ในพื้นที่ปิดล้อม ตามที่นาได้กล่าวไว้ในตอนหนึ่งของหนังว่า ที่ที่เธออาศัยอยู่นั้น ด้านหนึ่งก็เป็นภูเขา อีกด้านหนึ่งก็ถูกปิดล้อมด้วยทะเล ไม่มีโอกาสได้ออกไปไหน
ซึ่งลักษณะการอยู่กับที่และถูกปิดกั้นแบบนี้ ย่อมถูกคนนอกเข้ามากระทำได้ง่ายโดยไม่มีปากเสียง

การอยู่ในพื้นที่ลักษณะนี้ ย่อมส่งผลต่อลักษณะนิสัยของคนที่อยู่ในพื้นที่ไปด้วย นั่นคือ คนในเมืองนี้ส่วนใหญ่มีกิจวัตรประจำวันซ้ำๆ เดิมๆ ทั้งโดยไม่ตั้งใจ เช่น การที่คุณตาของนาหาไม้กวาดไม่เจอตลอดเวลา หรือโดยตั้งใจ เช่น แก๊งมอเตอร์ไซค์ของวิทย์ที่ได้แต่ขี่มอเตอร์ไซค์ไปมาเพราะไม่มีอะไรให้ทำ หรือนางเอกของเรื่องอย่าง นา ที่ผู้ชมจะเห็นการกระทำของเธอไม่กี่อย่าง นั่นคือ ผู้ชมจะได้เห็นเธอตากผ้า เก็บผ้า ตากผ้า เก็บผ้า จัดห้องพัก ซ้ำไปซ้ำมาอยู่อย่างนั้น ซึ่งถ้าต้นไม่เข้ามาในชีวิตเธอ คาดว่าเธอก็ยังคงทำกิจวัตรเดิมๆ อย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ จนผู้ชมหลายคนยังอดรู้สึกเบื่อแทนเธอไม่ได้

อย่างไรก็ดี แม้จะเป็นคนในเหมือนกัน แต่นากับวิทย์ก็เป็นคนในที่มีการโต้ตอบสิ่งที่มากระทำต่างกัน
นาเป็นคนที่ยอมจำนนกับสิ่งรอบข้าง ไม่ต่อต้านหรือขัดขืนอะไร แค่ใช้ชีวิตไปตามวิถีทางที่ควรจะเป็น
แต่มีฉากหนึ่งในภาพยนตร์ ตอนที่วิทย์ทักท้วงนาถึงความสัมพันธ์ที่มีกับต้น
นาถามวิทย์ว่า จะปล่อยให้เธอไปมีความสุขไม่ได้หรือ นั่นแสดงว่า นาเบื่อสภาพการเป็นคนในของเธอ เธออยากออกไปจากสภาวะนี้แล้ว แต่น่าเศร้าที่สิ่งนั้นเป็นฝันที่ไม่มีทางเป็นจริง เพราะต้นไม่คิดจะจริงใจกับนาอยู่แล้ว

ตรงข้ามกับวิทย์ที่เหมือนเป็นอีกด้านในกระจกของนา วิทย์ไม่ต้องการให้ใครเข้ามาเป็นผู้กระทำจนทำให้สภาวะ (Condition) ของเมืองนี้เปลี่ยนไป วิทย์ต้องการให้สภาวะของเมืองนี้อยู่ต่อไป ซึ่งการลุกขึ้นมาตอบโต้กับสิ่งที่เข้ามารุกรานวิถีชีวิตของพวกเขาก็ไม่ได้เป็นวิธีไม้อ่อนแบบนา
วิทย์เลือกที่จะใช้ไม้แข็งโต้ตอบกลับไป


คนนอก


คนนอกที่ผมกล่าวถึงในที่นี้ ประกอบไปด้วย บุคคลภายนอกที่เข้ามาผลประโยชน์จากการเป็นเมืองท่องเที่ยวของเมืองนี้ ซึ่งตอนแรกอาจจะเริ่มต้นด้วยนักท่องเที่ยวที่เข้ามาบุกเบิกเท่านั้น
แต่แน่นอน พอมีนักท่องเที่ยวเข้ามา ผลประโยชน์ย่อมเกิดขึ้น กลุ่มที่จะตามแห่เข้ามาอีกที คือ กลุ่มทุนที่เข้ามาสร้างรีสอร์ทและกลุ่มทุนที่เข้ามาทำธุรกิจอื่นๆ ที่อิงกับการท่องเที่ยวบวกกับอำนาจรัฐจากส่วนกลาง โดยทั้งหมดนี้มีต้นเป็นตัวแทนของกลุ่มคนนอก

ลักษณะเด่นของต้นที่เห็นได้ชัดคือ
เขา เป็นสถาปนิก มีเสน่ห์ พูดเก่ง หว่านล้อมเก่ง
น่าสนใจตรงที่บทของอาทิตย์กำหนดให้ต้นเป็นสถาปนิกที่เข้ามาซ่อมแซมรีสอร์ท เพราะรีสอร์ทนั้น เป็นสิ่งก่อสร้างที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจท่องเที่ยวโดยตรง การที่รีสอร์ทถูกทำลายนั่นหมายความถึงธุรกิจท่องเที่ยวที่พังลงไป ถ้ารีสอร์ทถูกซ่อมแซมกลับมาใช้งานได้ดีเหมือนเดิม นักท่องเที่ยวก็จะแห่กันมาเที่ยวที่นี่อีกครั้ง
มองผิวเผิน ต้นเป็นคนนอกที่พยายามเข้ามาช่วยเหลือฟื้นฟูเมืองที่เสียสภาพไปเพื่อให้กลับมาคืนสภาพอีกครั้ง

แต่เขาเข้ามาในเมืองนี้เพื่อทำประโยชน์ต่อคนอื่นด้วยความจริงใจจริงๆ หรือ

จะเห็นได้ว่า ต้นเข้ามาในเมืองนี้ ด้วยข้ออ้างที่บอกกับคนอื่นว่า ต้องการฟื้นฟูเมืองที่ผุพัง แต่ตอนท้าย ภาพยนตร์ก็เฉลยว่า เขามาที่นี่เพื่อต้องการหนีปัญหาจากบ้านของเขา (ความจริง ไม่แน่ว่าพระเอกอาจจะมีความตั้งใจในการฟื้นฟูเมืองนี้อยู่จริงๆ ก็ได้ แต่นั่นไม่ใช่เหตุผลหลัก)
เขาเข้ามาจีบนา บอกว่าเขารักนา แต่สุดท้าย หนังก็เฉลยว่า จริงๆ แล้วเขาไม่ได้รักนา แต่เขาทำไปเพราะหวังประโยชน์ส่วนตัวจากนา นั่นคือ ต้องการตัวและหัวใจของนาเพื่อให้รู้สึกว่าตัวเองมีค่า เอามารักษาแผลใจเพื่อให้ลืมคนรักเก่า(ความจริงต้นอาจจะมีใจให้นา แต่ในที่สุดเขาก็เลือกที่จะกลับไปหาคนรักเก่า)

ด้วยเหตุนี้ ด้วยการกระทำและทัศนคติของเขา ทำให้ยังไงเขาก็เป็นได้แค่คนนอกสำหรับชาวเมืองตะกั่วป่า2 ที่เข้าเพื่อตักตวงผลประโยชน์แล้วก็จากไปเท่านั้นเอง

เช่นเดียวกับกลุ่มทุนจากภายนอกและภาครัฐจากศูนย์กลางที่ไม่ได้เข้ามาเพื่อดูแลชาวตะกั่วป่าด้วยความจริงใจ แต่มาหาผลประโยชน์จากการที่ตะกั่วป่าเป็นเมืองท่องเที่ยว




การกระทำของคนนอกต่อคนใน


สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือ การให้คนในที่เป็นผู้หญิงอย่างนา เสียความบริสุทธิ์ให้กับคนนอกที่เป็นผู้ชายอย่างต้น
ในระดับบุคคล ต้นเห็นความ Exotic ในตัวของนา นามีลักษณะเรียบร้อย ไม่มีจริตจะก้าน มีเสน่ห์โดยธรรมชาติ (ต้องขอชมอัญชลี สายสุนทรอีกครั้งที่รับบทนาได้อย่างมีเสน่ห์และเป็นธรรมชาติอย่างยิ่ง) ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้นไม่เคยเห็นมาก่อนในหญิงสาวในเมือง
แต่สุดท้ายความจริงปรากฏว่า ต้นยังไม่ลืมแฟนเก่าและต้องการกลับไปหาเธอ นาเป็นเพียงแค่ที่พักใจที่ต้นไม่คิดจะจริงจังด้วยเท่านั้นเอง

ถ้าแทนความสัมพันธ์นี้ด้วยภาพรวมใหญ่ๆ ในสังคม การกระทำของต้นไม่ต่างกับนักท่องเที่ยวที่เห็นความ Exotic ในแหล่งท่องเที่ยวอย่างเมืองตะกั่วป่า การที่นักท่องเที่ยวเข้ามาตักตวงความสุขในเมืองนี้ ดูแล้วไม่ต่างกับการที่นักท่องเที่ยวพยายามจะ orgasm กับสถานที่นั้นๆเพราะติดใจในความบริสุทธิ์และความเป็นธรรมชาติที่สุดแสนจะ Exotic
แต่สุดท้าย การเปิดช่องให้บุคคลภายนอกเข้ามาปู้ยี่ปู้ยำแหล่งท่องเที่ยวนั้นๆ โดยไม่มีการควบคุมวางแผนที่ดี นั่นย่อมทำให้ความ Exotic ของที่นั่นหายไป สูญเสียความบริสุทธิ์กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวโหลๆ โทรมๆ ไป
ต้องรอให้มีนักบุกเบิกกลุ่มใหม่ค้นหาแหล่งท่องเที่ยวแหล่งใหม่ที่ Virgin กว่าเดิม นักท่องเที่ยวจึงจะแห่กันไป Orgasm กับสถานที่ใหม่โดยไม่เหลียวแลสถานที่เดิมที่สูญเสีย Virgin อย่างไม่มีวันหวนกลับไปแล้ว

ตามหลักธรรมชาติแล้ว มีแรงกดย่อมมีแรงผลัก ไม่มีผู้ถูกกระทำคนไหนที่ยอมให้กระทำตลอดไป
การโต้ตอบจากคนในจึงเริ่มขึ้น


การโต้กลับของคนในต่อคนนอก


ส่วนใหญ่ เมื่อภาพยนตร์เรื่องนี้จบลง คำถามที่โผล่เข้ามาในหัวผู้ชมส่วนมาก คือ เหตุใดวิทย์ น้องชายของนาถึงต้องฆ่าต้น ทั้งที่ก่อนหน้านี้ไม่นาน วิทย์ก็ได้ฝากนาให้อยู่ในความดูแลของต้นแล้ว
แม้ผู้กำกับจะไม่ชี้ชัดไปทางใดทางหนึ่ง เหมือนว่าต้องการให้ผู้ชมคิดเอง ซึ่งการที่ผู้ชมแต่ละท่านเลือกจะตีความอย่างไร ก็แล้วแต่มุมมองและภูมิหลังของแต่ละคนไม่มีใครผิด ไม่มีใครถูก

เพื่อความหลากหลายในการวิเคราะห์ว่า ทำไมวิทย์ถึงฆ่าต้น ผมจะขอประมวลความเป็นไปได้ทั้งหมด 3 แบบ ซึ่งทั้ง 3 แบบนี้จะสื่อถึงแนวคิดในการพิจารณาตัวหนังได้ 3 แนวคิด ดังนี้


1. วิทย์ฆ่าต้น เพราะรู้ข้อมูลว่า ต้นไม่จริงใจกับนา

แม้จะเป็นแนวคิดที่ออกแนวคิดเองเออเองไปหน่อย เพราะในเรื่องไม่มีอะไรชี้นำว่าวิทย์รู้ข้อมูลนี้เลย แต่ก็ใช่ว่า วิทย์จะไม่มีทางรู้ เบาะแสอาจจะมาจาก รถต้นที่ถูกทุบเป็นฝีมือของวิทย์ และวิทย์รู้จากเอกสารในรถต้นว่าต้นมีพันธะแล้ว
ยิ่งวิทย์เคยฝากฝังนาให้ต้นดูแล แต่ตอนหลังต้นกลับมาหักหลังวิทย์แบบนี้ ยิ่งทำให้วิทย์แค้น ทั้งแค้นแทนตัวเองและแค้นแทนพี่สาว จึงเกิดการตอบโต้กลับไป

การตีความอย่างนี้ สื่อได้ว่า คนในตอบโต้คนนอกด้วยเหตุผลส่วนตัวเป็นหลัก นั่นคือ ตอบโต้เพราะถูกหักหลัง ถือว่าเป็นการแก้แค้นที่พฤติกรรม ไม่เกี่ยวกับตัวบุคคลว่าเขาเป็นใครมาจากไหน ต่อให้ต้นเป็นคนในวิทย์ก็จะทำแบบนี้
ถ้าเราเลือกที่จะมองมุมมองนี้เพียงมุมเดียวโดดๆ มองมุมนี้ถือเป็นมุมมองที่เข้าใจง่ายไม่ซับซ้อนที่สุด แต่นั่นก็จะเป็นตัดมุมมองทางด้านสังคม และสถาปัตย์ออกไปหมด เหลือเพียงแต่มุมมองทางด้านความรักความแค้นแต่เพียงอย่างเดียว
อันที่จริง มุมมองนี้ถือเป็นมุมมองที่น่าสนใจมุมมองหนึ่ง ถ้าหากเรามองมันด้วยมุมมองเชิงจิตวิทยา แต่เนื่องจากบทวิจารณ์นี้ ต้องการเน้นที่ไปเรื่องของความเป็นคนนอกคนในมากกว่า ผมจึงขอข้ามไม่กล่าวถึงประเด็นนี้อย่างละเอียด


2. วิทย์ฆ่าต้น เพราะ วิทย์ไม่ต้องการสูญเสียนาซึ่งเป็นคนในให้กับต้นซึ่งเป็นคนนอก

ถ้าเราเลือกตีความมุมนี้ นั่นก็หมายความว่า การที่วิทย์ฝากนาให้ต้นดูแล เป็นเพียงฉากหน้าที่หลอกลวง ซึ่งจริงๆ แล้ว วิทย์ไม่ได้คิดเช่นนั้น (หรือไม่ เขาอาจจะหมายความตามที่พูดจริง แต่เปลี่ยนใจตอนหลังก็ได้)
วิทย์อาจมองว่า เขาและครอบครัวอยู่ในเมืองนี้มานาน ทุกอย่างในเมืองนี้เสถียรลงตัว (ไม่ได้หมายความว่าวิทย์ชอบเมืองนี้ แต่เขาอาจจะชอบให้สิ่งต่างๆ คงที่ ไม่เปลี่ยนแปลง)
แต่พอคนนอกอย่างต้นเข้ามาเมืองนี้ทั้งในฐานะคนรักของพี่สาวและสถาปนิกผู้ทำการฟื้นฟูรีสอร์ท เมืองนี้ก็พลันสูญเสียความเสถียรไป
ในฐานะคนรักของพี่สาว ต้นอาจจะพาตัวนาออกไปจากที่นี่ (ทำให้นาเปลี่ยนจากคนในกลายเป็นคนนอก) หรือทำให้เขาเข้ามาแทรกซึมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของคนในได้ (ต้นเปลี่ยนจากคนนอกกลายเป็นคนในไปซะเอง)
ในสถานะสถาปนิก เขาช่วยฟื้นฟูรีสอร์ท ซึ่งเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการชุบชีวิตการท่องเที่ยว เพราะเป็นสิ่งที่ช่วยให้นักท่องเที่ยวซึ่งเป็นบรรดาเหล่าคนนอก เข้ามาในเมืองปิดเมืองนี้มากขึ้น
ซึ่งต้นทั้งสองสถานะภาพนั้น ล้วนเป็นสิ่งที่วิทย์ไม่ต้องการเพราะเขาสามารถทำให้เมืองปิดที่วิทย์อยู่นี้เกิดการเปลี่ยนแปลง
วิทย์จึงทำทุกอย่างเพื่อให้เมืองที่เขาอาศัยอยู่ยังคงสภาพเดิมไว้

มุมมองนี้มีอะไรที่เชื่อมโยงไปถึง “ฟ้าบ่กั้น” หนังสือรวมเรื่องสั้นของลาว คำหอมที่ส่งอิทธิพลต่อความคิดของอาทิตย์ 3 ซึ่งชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์กล่าวถึง ฟ้าบ่กั้น ไว้ว่า “ล้วนมีเนื้อหาร้อยเรียงอยู่กับประเด็นเรื่องผลกระทบจากการพัฒนาให้เป็นสมัยใหม่ที่มีต่อวิถีชีวิตของชาวอีสานในชนบท”4
ซึ่งการพัฒนาให้เป็นสมัยใหม่นี้สามารถโยงมาถึงการพัฒนาระบบการท่องเที่ยวที่ผลักดันให้การท่องเที่ยวให้เป็นอุตสาหกรรมเรียกรายได้เข้าประเทศได้ โดยมีอำนาจทุนเป็นตัวการและมีอำนาจรัฐเป็นเหมือนมือที่เปิดประตูให้5
การที่นายทุนจากส่วนกลางเข้ามาได้ ส่งผลให้มีทั้งนักท่องเที่ยวซึ่งเป็นคนนอกทั้งหลายตามแห่เข้ามาที่นี่ ส่งผลให้วิถีชีวิตของคนในเมืองเปลี่ยนไป ส่งผลให้ชาวเมืองที่ถึงจะไม่อยากเปลี่ยนแปลงก็ต้องจำใจเปลี่ยน แม้ชาวเมืองจะอยากอยู่ในแบบสิ่งแวดล้อมแบบเดิมๆ ของเขาแต่สุดท้ายก็หนีไม่พ้นต้องมี “มือที่มองเห็น” จากคนนอกเข้ามาเปลี่ยนสภาพแวดล้อมของชาวเมืองไปโดยที่ไม่มีใครเคยไปถามพวกเขาสักคำว่าอยากเปลี่ยนหรือเปล่า
ในเมื่อระบบเอื้อประโยชน์ให้คนนอกมากกว่าคนใน ลากฝั่งหนึ่งได้ได้เปรียบและฉุดอีกฝ่ายให้เสียเปรียบอยู่วันยังค่ำ จึงไม่แปลกที่การโต้กลับจากคนในมีแนวโน้มจะเป็นไปด้วยวิธีนอกระบบได้


3.วิทย์ฆ่าต้น เพราะ ถือว่าเป็นการโต้กลับจากผู้ที่ถูกกระทำไปสู่ผู้กระทำ

เป็นการลดมุมมองของการเมืองของพื้นที่ เพื่อเข้าสู่มุมมองของรัฐศาสตร์มากขึ้น ซึ่งมุมมองนี้ อาจเป็นมุมมองที่ค่อนข้างนามธรรม ลดความมีเลือดเนื้อวิญญาณของตัวละครเพื่อทำให้ตัวละครมีความเป็นปัจเจกลดลง แต่ข้อดีคือ เราสามารถมองตัวละครเพื่อสื่อถึงแนวคิดได้ชัดเจนมากกว่า
และเพื่อให้ง่ายต่อการตีความ ผมจะขอแทน วิทย์และพวกเป็น Plain citizen หรือชาวเมืองตะกั่วป่าธรรมดาทั่วไป โดยไม่นึกถึงลักษณะเฉพาะตัวของคนกลุ่มนี้ เช่น เพศ วัย การเป็นนักเลง แรงกดดันจากปัจจัยต่างๆ เป็นต้น
กล่าวคือ ตัวละครในเมืองตะกั่วป่า เป็นตัวละครที่ถูกกระทำทั้งจากสองปัจจัย แบ่งเป็น ปัจจัยที่ต่อกรได้กับต่อกรไม่ได้
ปัจจัยที่ต่อกรไม่ได้ในที่นี้ คือ ปัจจัยทางธรรมชาติ อย่างสึนามิ
สึนามิเป็นภัยพิบัติที่ธรรมชาติกระทำต่อมนุษย์ ถึงแม้มนุษย์จะโอหังอวดดีเพียงใด แต่สุดท้ายก็ต้องพ่ายต่อภัยธรรมชาติที่ก่อให้เกิดความสูญเสียต่อชาวเมืองตะกั่วป่า
(นี่เป็นการมองแบบหยาบๆ เพราะมีหลายทฤษฎีบอกว่า ธรรมชาติกระทำต่อมนุษย์เพราะมนุษย์ทำลายธรรมชาติก่อน แต่มีเกร็ดเล็กน้อยที่ชวนให้คิดต่อว่า มนุษย์ทำร้ายธรรมชาติทุกพื้นที่ แต่โศกนาฏกรรรมสึนามิเกิดขึ้นแค่บางพื้นที่ ไม่ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดที่มนุษย์ทำร้ายธรรมชาติ)

และปัจจัยที่ต่อกรด้วยได้ นั่นคือ อำนาจจากศูนย์กลางอย่างต้น, พวกนายทุนที่ทำทำรีสอร์ต และนักท่องเที่ยว หรือเรียกง่ายๆ ว่ากลุ่มคนนอกนั้นเอง

ชาวเมืองถูกกระทำทั้งจากธรรมชาติ และฝ่ายคนนอก (ต้น , นายทุนผู้สร้างรีสอร์ต) เมื่อเขาไม่สามารถตอบโต้ปัจจัยที่ต่อกรไม่ได้ พวกเขาก็เลยเลือกที่จะระบายความแค้นทั้งหมดไปยังปัจจัยที่เขาสามารถจะตอบโต้ได้ นั่นคือคนนอกอย่างต้นนั่นเอง
การโต้ตอบจากกลุ่มของวิทย์มีหลายรูปแบบ ทั้งรูปแบบก่อกวนแบบโจ่งแจ้ง ด้วยการให้เพื่อนของวิทย์ขี่มอเตอร์ไซค์ไปโฉบรถยนต์ที่ต้นและนานั่งมาด้วยกัน หรือการตอบโต้แบบลึกลับด้วยการทุบรถของวิทย์
และแล้วความรุนแรงของการตอบโต้ก็พุ่งถึงขีดสุดแรง เมื่อวิทย์ตัดสินใจฆ่าต้นทิ้งซะ
การกระทำของวิทย์อาจจะดูรุนแรงถ้าคิดว่าบทลงโทษที่ต้นสมควรได้รับไม่น่าจะถึงขั้นประหารชีวิต แต่ถ้าเราพิจารณาว่า การที่วิทย์กระทำกับต้นนั้น กระทำในฐานะที่ต้นเป็นตัวแทนของคนนอกทั้งหมด และบวกด้วยแรงผลักจากปัจจัยที่ต่อกรไม่ได้อย่างธรรมชาติด้วยแล้ว ซึ่งการกระทำจากธรรมชาติที่ชาวเมืองได้รับอย่างสึนามิก็รุนแรงถึงขั้นประหัตประหารชีวิตชาวเมืองที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ การกระทำของวิทย์จึงพอเข้าใจได้ (แต่ถึงกระนั้น ที่บอกว่าเข้าใจได้ ก็ไม่ได้หมายความว่า สิ่งที่วิทย์ทำเป็นสิ่งที่ถูกต้อง)

น่าสังเกตว่า วิทย์และพวกโต้ตอบต้นในรูปแบบเดียวกับที่ธรรมชาติกระทำกับชาวเมือง นั่นคือ ลอยศพต้นลงไปในน้ำ ราวกับว่า วิทย์ต้องการให้ต้นเจอความรู้สึกแบบเดียวกับชาวตะกั่วป่าที่ได้รับความสูญเสีย

แนวคิดนี้ ไม่ได้ใช้วิเคราะห์ได้เฉพาะกับสถานการณ์นี้ แต่มันยังสามารถนำไปพิจารณาเรื่องของปัญหาความรุนแรงภาคใต้ หรือ ความขัดแย้งทางการเมืองของเสื้อสองสีก็ได้ แต่เนื่องจาผมกลัวว่าจะเกินขอบเขตของเนื้อหาที่เราต้องการจะพิจารณา เลยไม่ขอขยายความต่อ

และที่ผมต้องขอย้ำอีกอย่าง คือ แม้จะแยกแนวคิดออกเป็น 3 ข้อ แต่ก็ใช่ว่าแต่ละข้อจะแยกกันเดี่ยวๆ ไม่ยุ่งเกี่ยวกันเลย เราสามารถเอาแนวคิดทั้งหมดมาวิเคราะห์รวมกันได้ อันที่จริงเป็นสิ่งที่ควรทำด้วยซ้ำ เมื่อคิดว่า ในสถานการณ์จริง หลายครั้งปัจจัยในการตัดสินใจของคนเราก็ไม่ได้มีเพียงเหตุผลเดียวเท่านั้น


ยังมีความหวัง?


ภาพตอนจบของ Wonderful Town เป็นภาพ เด็กผู้หญิงสองคนใส่ชุดบัลเล่ท์สีชมพู ชวนให้ผมตีความว่า ยังไงชีวิตก็มีความหวัง หลังการปะทะจบลง ยังไงชีวิตต้องดำเนินต่อไป มีเกิดก็ต้องมีดับ มีการตายก็ต้องมีการเกิด มีความเศร้าก็ต้องมีความสุขมาคานกันเป็นสัจธรรมของมนุษย์
แม้จะจบลงด้วยความสูญเสีย แต่สุดท้ายนาก็กลับมาใช้ชีวิตเดิมๆ นามีความสุขกับความหลังอันสดใส ทั้งๆ ที่ไม่รู้ความจริงเลยว่า ที่จริงแล้ว นาโดนต้นหลอกมาตลอด
หรือภาพยนตร์ต้องการจะสื่อว่า การจะก้าวต่อไปอย่างมีความสุข การปิดตาไม่รับรู้ความจริงที่แสนเจ็บปวดน่าจะดีที่สุด

***********************************

1 หนังฉายแค่รอบ 19.00 น. ที่ SF World Cinema แค่ที่เดียวและวันละรอบเท่านั้น
2แต่ถึงกระนั้น ใช่ว่า สภาวะคนนอก/คนในจะเป็นสภาวะที่เสถียร ตรงข้าม มันกลับสามารถลื่นไหล เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา อย่างเช่น ที่ตะกั่วป่า ต้นเป็นคนนอกที่เป็นฝ่ายกระทำ แต่พออยู่ที่บ้าน ต้นกลายเป็นคนนอกที่ถูกกระทำ จากตอนหนึ่งที่ต้นเล่าว่า เขาเป็นคนนอกสำหรับครอบครัวเขา เพราะเขาเปิดร้านเหล้าและเล่นดนตรีกลางคืน ทำให้เข้ากับพ่อไม่ได้ เขากลายเป็นคนนอกในมุมมองของพ่อ และถูกกระทำโดยถูกผลักไสจากครอบครัว
3 “ตอนกลับมาก็ไปหาหนังสืออ่าน ก็มีโอกาสได้อ่านฟ้าบ่กั้น อ่านแล้วโดนใจ...มันก็ปลุกให้เราอยากทำหนังเกี่ยวกับชาวนา เกี่ยวกับชนบท” จากบทสัมภาษณ์ของอาทิตย์ อัสสรัตน์ในนิตยสาร Happening เล่ม 25 หน้า 71 จะสังเกตเห็นว่า หนังสั้นเรื่อง มอเตอร์ไซค์ หรือ Wonderful Town ของอาทิตย์ล้วนมีฉากหลังเป็นชนบท และมีสถานการณ์หลักเป็นความเจริญหรืออำนาจจากศูนย์กลางที่รุกคืบเข้าสู่ชนบท
4 ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ “ฟ้าบ่กั้น หยังว่าให้ห่างกัน”, อ่าน 1:3 ม.ค. 2552, หน้า 77 อนึ่ง ชูศักดิ์ได้ใช้ฟ้าบ่กั้นฉบับพิมพ์ครั้งที่ 1 ที่มีเรื่องสั้นทั้งหมด 7 เรื่องมาพิจารณา (ฉบับพิมพ์ครั้งล่าสุด ประกอบด้วยเรื่องสั้น 17 เรื่อง)
5 สามารถอ่านเรื่องราวที่น่าสนใจของการกระทำของรัฐที่เอื้อให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเข้ามาบุกรุกป่าหรือชายหาดได้ในหนังสือข้างหลังโปสการ์ดของหลานเสรีไทย (136) ภาค2 กลับบ้าน



Create Date : 16 กันยายน 2552
Last Update : 16 กันยายน 2552 17:56:56 น. 14 comments
Counter : 9565 Pageviews.

 
10 Things
10 สิ่งที่ทำแล้วมีความสุขช่วงนี้

-อ่านคอลัมน์เจ๊ง้อ ซ้อไบท์ใน Filmax
-ฟังเพลง The Beatles
-ฟังเพลง Soul After Six
-อ่านการ์ตูน กินทามะ
-ดูซีรี่ย์ Lost
-ขี่มอเตอร์ไซค์เล่นแถวมช.
-อ่าน website //www.joblo.com
-ดูหนังที่ Woody Allen กำกับ
-ไปจิบเบียร์ที่ Bombay Bar
-อ่านบลอกคุณแฟนผมตัวดำ, nanoguy, visually yours, บองเต่า, วิชัย, bickboon, ahohey และอื่นๆ


โดย: ฟ้าดิน วันที่: 16 กันยายน 2552 เวลา:6:52:16 น.  

 
อ่านคำวิจารณ์แล้วอยากไปดูครับ ท่าทางเนื้อหา การนำเสนอของหนังคล้าย ๆ งานเขียนที่คนดูแต่ละวัย แต่ละคนได้คิดและตีความแตกต่างกันไป ผมว่านี่คือเสน่ห์ของหนังครับ


โดย: p_pyai วันที่: 16 กันยายน 2552 เวลา:9:21:46 น.  

 


เข้ามาบล้อกนี้ชอบความหมายของหัวบล็อกจังเลยค่ะ

ขอบคุณมากค่ะที่แวะทักทายกัน
ไว้จะแวะมาอ่านเนื้อหานะค่ะ

ขอ..แอด..นะค่ะ..ชอบล็อกอินนี้ค่ะ
เหมือนไม่มีอะไรมาขวางกั้นดีค่ะ
จะได้เยือนหาง่ายหน่อย





โดย: catt... (catt.&.cattleya.. ) วันที่: 16 กันยายน 2552 เวลา:10:01:58 น.  

 
ผมว่าบทวิจารณ์นี้มันก็ดีใช้ได้นี่ครับ มีแง่มุมให้คิด วิเคราะห์ และตีความได้ชัดเจน ที่ไม่ได้ลงอาจจะเป็นเพราะ "ทาง" ของมันไม่เข้ากับหนังสือที่ส่งไปรึเปล่าครับ แบบว่าอาจจะหนักเกินไปสำหรับหนังสือเล่มนั้นๆ ไม่ลองส่งไปเล่มอื่นๆอีกล่ะครับ อาจจะได้รับการพิจารณาก็ได้

แต่ถ้าโดยส่วนตัวแล้ว ในฐานะที่ผมเป็นนักอ่านแบบบ้านๆ คือไม่ค่อยถนัดกับการอ่านบทความที่หนักแน่นหรือเป็นวิชาการเท่าไหร่ ผมมองว่าบทวิจารณ์นี้มัน "แน่น" ไปอ้ะครับ และหลายๆตอนที่มีการผูกโยงกับมุมมองด้านรัฐศาสตร์นี่ผมถึงขั้นมึนเลยทีเดียว

ย้ำว่านี่เป็นความรู้สึกของผม ผู้ไม่สันทัดกับอะไรๆที่เป็นวิชาการนะครับ ถ้าเป็นท่านอื่นอาจจะเห็นต่างจากนี้ (รวมทั้งหนังสือฉบับอื่นๆที่นิยมงานเขียนแนวนี้ก็ได้) แต่ที่เขียนมาทั้งหมด ไม่เกี่ยวกับการสรุปว่างานชิ้นนี้ "ดี" หรือ "ไม่ดี" แต่อย่างใดนะครับ

แหะๆ ผมเองก็ไม่ใช่คนเขียนหนังสือเก่งอะไร มาแสดงความคิดเห็นแบบนี้ไม่รู้ว่าคุณฟ้าดินจะขุ่นเคืองรึเปล่า แต่เดาเอาว่าคุณฟ้าดินน่าจะอยากได้ความคิดเห็นจริงๆมากกว่าคำอวยเรื่อยเปื่อยไปวันๆ ถ้าอ่านแล้วรู้สึกไม่ชอบใจยังไงก็ขออภัยด้วยนะครับ

อ้าว คุณฟ้าดินไม่ชอบ One Piece เหรอ ถือเป็นคนอ่านการ์ตูนคนที่สองที่ผมรู้จักนะที่ไม่ชอบเรื่องนี้ (เพื่อนผมบอกว่า มันรู้สึกว่าเรื่องและลายเส้นมันรกรุงรังไปหมด เห็นแล้วรำคาญตา) อยากอ่านที่คุณฟ้าดินเขียนเกี่ยวกับการ์ตูนเหมือนกันครับ อยากรู้ว่ามีมุมมองที่เหมือนหรือแตกต่างกันยังไง

โปรเจ็คต่อไปว่าจะเขียนเกี่ยวกับหนังเอวี คาดว่าน่าจะมีเพื่อนบล็อคมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างล้นหลาม 5555++ (กรูจะโดนปิดบล็อคมั๊ยเนี่ย?)


โดย: แฟนผมฯ (แฟนผมตัวดำ ) วันที่: 16 กันยายน 2552 เวลา:10:06:13 น.  

 
เห็นด้วยกับคุณแฟนผมฯ ว่าคุณฟ้าดินเขียนบทวิจารณ์หนังได้ดีค่ะ

เราชอบตรงที่คุณฟ้าดินเรียงลำดับความคิดที่จะอธิบายได้ดี ช่วยให้คนอ่านเข้าใจได้ง่าย และยังแบ่งแนวคิดในการอธิบายการกระทำของตัวละครที่เป็นจุดพลิกผันของหนังเรื่องนี้เป็น 3 แนวคิดพร้อมกับจาระไนเหตุผลรอบด้าน ช่วยให้คนที่อ่านและคิดตามไปด้วยอย่างเรา มองอะไรได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

แต่เนื้อหาอัดแน่นมากจริงๆ เราเลยต้องใช้วิธีแบ่งทยอยอ่านไปเรื่อยๆ จนจบ เพราะถ้าอ่านรวดเดียวจบ กลัวจะเก็บประเด็นดีๆ ได้ไม่ครบถ้วน


โดย: ThE BooK@HoLiC วันที่: 16 กันยายน 2552 เวลา:16:06:11 น.  

 
แจ้งพิกัดของเด็กชายหอยนางรมค่า

http:bookweb.kinokuniya.co.jp/guest/cgi-bin/bookseaohb.cgi?ISBN=057122444X&AREA=07&LANG=E


โดย: ThE BooK@HoLiC วันที่: 16 กันยายน 2552 เวลา:17:23:51 น.  

 
เช็คหลังไมค์ด้วยค่ะ


โดย: ThE BooK@HoLiC วันที่: 16 กันยายน 2552 เวลา:17:30:49 น.  

 
ป่ะ
ดูหนังกัน
พักผ่อน


โดย: ดีเจ..เมวิกา หน้าหวาน วันที่: 17 กันยายน 2552 เวลา:1:07:20 น.  

 
ถ้าดูแบบไม่ตีความอะไร
หนังเรื่องนี้มีผลกระทบต่อความรู้สึกมากๆ ดูจบแล้วเหมือนมีอะไรค้างๆอยู่ในหัว เหมือนเศร้าและสูญเสีย แต่ก็พอมีความหวัง และชีวิตก็ต้องดำเนินต่อไป....





โดย: calcium_kid วันที่: 17 กันยายน 2552 เวลา:19:01:50 น.  

 
อ่านแล้วได้แต่ทำตาปริบๆครับ...

ผมก็เป็นเหมือนกับคุณแฟนผม ที่พอเจอบทความวิชาการมากๆแล้วหัวร้อนทันที แต่พออ่านจบแล้วก็ให้ความรู้สึกอยากดูหนังนะ ^^


โดย: BloodyMonday วันที่: 19 กันยายน 2552 เวลา:0:32:19 น.  

 
คุณ p_pyai
I think so krub

คุณcatt...
ด้วยความยินดีครับ

คุณแฟนผมตัวดำ
ไม่รู้ว่าจะเอาไปลงที่ไหนดีนะสิครับ จะพิมพ์แจกอ่านกันเองก็ดูจะเวอร์เกินไป ฮ่าๆๆ
จะรออ่านบลอก AV นะครับ แล้วอย่าลืมลงภาพประกอบสวยๆ นะครับ
ปล. นอกจาก One Piece แล้ว ผมยังไม่ชอบ Death Note อีกด้วย แปลกดีไหม

คุณ The Book@Holic
เนื้อหาอัดแน่นแบบโอเวอร์มากครับ ผมยังงงตัวเองเลยว่า เขียนเข้าไปได้ยังไง

คุณดีเจ..เมวิกา หน้าหวาน
มาดูที่เชียงใหม่สิครับ 

คุณ calcium_kid
หนังเรื่องนี้ติดค้างอยู่ในหัวผมนานมากเช่นกัน

คุณ Bloody Monday
ลองไปหามาดูสิครับ หนังดีมาก


โดย: ฟ้าดิน วันที่: 20 กันยายน 2552 เวลา:5:37:18 น.  

 
ดูจบแล้ว หนังยังคงตามหลอนอยู่ในหัวผมไปสามวันเจ็ดวันทีเดียว เป็นหนังไทยที่ชอบมากที่สุดในหลายปีให้หลังมานี้

ผมชอบบรรยากาศและอารมณ์ของหนัง ชอบดนตรีประกอบโดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงกลางๆ ที่กำลังจะเปลี่ยนเข้าสู่ครึ่งหลัง มันรู้สึกได้ตลอดเวลาว่าอะไรบางอย่างที่ไม่น่าไว้ใจกำลังจะมาเยือน

ทฤษฏีที่ 1 ผมมีความเห็นอีกอย่างว่า วิทย์อาจรู้ประวัติของต้นได้จากเครือข่ายผู้คน มีหลายจุดในเรื่องที่ส่อนัยให้เห็นว่าวิทย์รู้จักคนเยอะ อาจโทรถามกันอะไรกันจนสืบรู้พฤติกรรมของต้นได้

นางเอกกับน้องชายนางเอกเล่นดีจริงๆ ฉากถูกคุกคามด้วยแก็งค์มอเตอร์ไซด์ให้ความรู้สึกอึดอัดน่ากลัวมากๆ


โดย: เอกเช้า IP: 124.122.152.182 วันที่: 20 กันยายน 2552 เวลา:20:10:31 น.  

 
แวะเข้ามาบอกว่า เม้นที่คุณไปทิ้งไว้ล่าสุดนี่ผมชอบมาก โคตรฮาเลย อ่านแล้วฮึกเหิมสุดๆ

นี่อยากอ่านขนาดนั้นเลยรึ?


โดย: แฟนผมตัวดำ วันที่: 20 กันยายน 2552 เวลา:22:01:32 น.  

 
+ แวะเข้ามาตามเก็บหน้าที่พลาดไปครับ ... อ่านแล้วไม่น่าเชื่อว่าจะไม่ได้ลง (นิตยสารอะไร เปิดเผยได้มั้ยครับ) เพราะเป็นบทวิเคราะห์หนังเรื่องนี้ในเชิงลึกที่ลงลึกถึงพฤติกรรมของแต่ละตัวละครมากๆ (ขนาดตอนผมดูจบ ก็ยังไม่ได้มานั่งวิเคราะห์ให้ลึกซึ้งขนาดนี้เลยนะเนี่ย) (... หรือจะเป็นเพราะมันลึกมากเกินไปแบบที่นายโอ๊ตว่าแฮะ ) ... นับว่าทำให้มุมองของผมต่อหนังเรื่องนี้กระจ่างขึ้นอีกมากเลยครับ

+ คนทำหนังไทยอารมณ์นี้ (แบบคุณอาทิตย์) มีไม่เยอะเนอะครับ อาจต้องเรียกว่าเป็นคุณเจ้ยเวอร์ชันที่ดูรู้เรื่องมากขึ้นได้รึเปล่าครับเนี่ย (ผมดู สุดเสน่หาในเคเบิลไม่จบแฮะ แบบว่าความอดทนไม่มากพอ เผลอหลับไปก่อน)


โดย: บลูยอชท์ วันที่: 24 กันยายน 2552 เวลา:15:43:21 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ฟ้าดิน
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]




ความจำสั้น ความฝันยาว.....
Friends' blogs
[Add ฟ้าดิน's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.